Friday, 26 April 2024
TODAY SPECIAL

22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยึดอำนาจรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) จนทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน

21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานเปิด อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง

อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง หรือ ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นหนึ่งในปราสาทหินในกลุ่มราชมรรคา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 2 (บ้านดอนหนองแหน) ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ลงมาทางทิศใต้ประมาณ 77 กิโลเมตร ประกอบไปด้วยโบราณสถานสำคัญ ซึ่งตั้งอยู่บนยอดภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว สูงประมาณ 200 เมตรจากพื้นราบ (ประมาณ 350 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง) คำว่า พนมรุ้ง นั้น มาจากภาษาเขมร คำว่า วนํรุง แปลว่า ภูเขาใหญ่

อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้ดำเนินการบูรณะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2531 มีพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน มีงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี ในครั้งนั้นอีกด้วย

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  สิ้นพระชนม์ ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่

นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงได้รับสมัญญานามว่า "องค์บิดาแห่งทหารเรือไทย"

ทรงเป็นนักยุทธศาสตร์ที่เล็งเห็นการไกล พระองค์ได้ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ สร้างเป็นฐานทัพเรือ เมื่อ พ.ศ. 2465 เนื่องจากทรงเห็นว่า อ่าวสัตหีบเป็นอ่าวที่มีขนาดใหญ่ น้ำลึกเหมาะแก่การฝึกซ้อมยิงตอร์ปิโด มีเกาะน้อยใหญ่รายล้อม สามารถบังคับคลื่นลมได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เมื่อเรือภายนอกแล่นผ่านบริเวณนี้จะไม่สามารถมองเห็นฐานทัพได้

พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคประจำพระองค์ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2465 ก่อนจะสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 เวลา 11 นาฬิกา 40 นาที สิริพระชันษา 42 ปี 151 วัน โดยมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2466 ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง

17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิด ‘เขื่อนภูมิพล’ อย่างเป็นทางการ

วันนี้ เมื่อ 59 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ทรงเปิดเขื่อนภูมิพลอย่างเป็นทางการ

โครงการสร้างเขื่อนภูมิพล เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยในระยะแรกนี้ใช้ชื่อว่า "เขื่อนยันฮี" ถือเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งและเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ แห่งแรกของประเทศไทยเลยทีเดียว ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระปรมาภิไธยให้ใช้เป็นชื่อเขื่อนนี้ว่า "เขื่อนภูมิพล"

ลักษณะของเขื่อนเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และเอเชียอาคเนย์ และใหญ่เป็นอันดับ 8 ของโลกในขณะนั้น สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณเขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 486 เมตรความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำสามารถรองรับน้ำได้สูงสุด 13,462  ล้านลูกบาศก์เมตร

ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วย งานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมและ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ตามลำดับ

ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 จากนั้นมาก็ได้มีการพัฒนาปรับปรุงการผลิตกระแสไฟฟ้าเรื่อยมา ๆ และให้ประโยชน์ในด้านชลประทานแก่พื้นที่ถึง 10 ล้านไร่ ต่อปี 

อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสามารถจุน้ำได้ 13,462 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 300 ตารางกิโลเมตร ความยาวของลำน้ำจากเขื่อนถึงอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นระยะทาง 207 กิโลเมตร นอกจากประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้าและชลประทานแล้ว เขื่อนภูมิพลยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทยอีกด้วย สิ้นค่าก่อสร้างในขณะนั้น 2,500 ล้านบาท

16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’ ละสังขาร

วันนี้เมื่อ 8 ปีก่อน ซึ่งตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 คือวันที่หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ แห่งวัดบ้านไร่ ด่านขุนทด ได้ละสังขารจากโลกนี้ไป เหลือไว้แต่คำสอนอมตะ ให้จารึกจดจำและปฏิบัติไปตลอดกาล

พระเทพวิทยาคม นามเดิม คูณ ฉัตร์พลกรัง หรือที่รู้จักในนาม หลวงพ่อคูณ พระเกจิอาจารย์ดัง อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ที่ลูกศิษย์ยกย่องเป็น ‘เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด’

หลวงพ่อคูณ ถือกําเนิดที่บ้านไร่ ม.6 ต.กุดพิมาน อ.อ่านขุนทด จ.นครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 ต.ค. 2466 มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน บิดามารดาของหลวงพ่อคูณเสียชีวิตลงในขณะที่ลูกๆ ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้องๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือกับพระที่วัดบ้านไร่ ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ยังได้สั่งสอนวิชาคาถาอาคมให้ด้วย

หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2487 โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอําเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า 'ปริสุทโธ' หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้วท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สํานักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา หลวงพ่อคูณได้อยู่ปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งให้การศึกษาพระธรรมควบคู่กับการปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน หลังจากนั้นหลวงพ่อคูณได้ออกธุดงค์ จาริกอยู่ในเขต จ.นครราชสีมา รวมทั้งธุดงค์ไปไกลถึงประเทศลาว และกัมพูชา

หลังจากที่พิจารณาเห็นสมควรแก่การปฏิบัติแล้ว หลวงพ่อคูณจึงออกเดินทางจากกัมพูชากลับมายังประเทศไทย เดินข้ามเขตด้าน จ.สุรินทร์ สู่ จ.นครราชสีมา กลับบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดําเนินการก่อสร้างถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2496 โรงเรียน กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมทั้งขุดสระน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคทำให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านโดยรอบดีขึ้นด้วย

หลวงพ่อคูณเป็นพระที่มีชื่อเสียงเรื่องการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งท่านได้สร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชได้ 7 พรรษา โดยเริ่มทําวัตถุมงคลซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคํา "ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคํากล่าวของท่าน

เมื่อปี 2556 หลวงพ่อคูณเคยอาพาธด้วยอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และมีอาการหลอดลมอักเสบติดเชื้ออย่างรุนแรง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาจนอาการดีขึ้นก่อนจะกลับไปรักษาตัวที่วัดบ้านไร่ โดยมีคณะแพทย์เฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณมีทั้งทรงตัวและแย่ลง จนกระทั่งมีอาการหมดสติเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558

ต่อมาวันที่ 16 พ.ค. 2558 เมื่อเวลา 10.00 น. คณะแพทย์รายงานผลว่าการเฝ้าตรวจติดตามอาการอาพาธของหลวงพ่อคูณ มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้นจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ทำให้เลือดออกในช่องอก ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลว ภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์ได้ทำการช่วยฟื้นคืนชีพ สำหรับภาวะไตไม่ทำงานได้ให้การรักษาโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ขณะนี้อาการโดยรวมทรุดลง จนกระทั่งเวลา 11.45 น. หลวงพ่อคูณ ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

วันนี้ เมื่อ 172 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาอภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ต.หว้ากอ จ. ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่นยำ จนได้รับการขนานพระนามว่า 'พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย' ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411

14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น วันอนุรักษ์ควายไทย ร่วมอนุรักษ์ – ส่งเสริมการเลี้ยงควายไทย

ตรงกับวันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดเป็น ‘วันอนุรักษ์ควายไทย’ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และดูแลควายไทย และส่งเสริมการเลี้ยงควาย ให้อยู่คู่คนไทยไปอีกแสนนาน

คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 14 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์ควายไทย เนื่องจากปัจจุบันจำนวนควายไทยและผู้เลี้ยงควายไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งควายยังเป็นสัตว์ที่ไม่ได้รับความเอาใจใส่จากทางภาครัฐในการส่งเสริมและสนับสนุนในการสร้างเสริมอาชีพ การกำหนดวันนี้ขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักให้กับคนไทยถึงความสำคัญของควายและช่วยกันอนุรักษ์ก่อนที่ควายไทยจะสูญพันธุ์ไป

ควาย หรือภาษาทางการเรียกว่า กระบือ ที่เรารู้จักกันนี้ น้อยคนแล้วที่จะได้เคยเห็นตัวจริง ได้รู้จักตัวเป็นๆ ของสัตว์สี่เท้าที่มีกีบเหล่านี้ ควายไทยถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของไทยมาอย่างช้านาน คนไทยเทียมควายไถนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ทวด ด้วยความที่เป็นสัตว์ที่มีความอดทน ทนแดด ทนร้อน ทนสภาพอากาศแห้งแล้งได้ ทำให้กลายเป็นเครื่องมือไถนาชั้นดี ก่อนที่จะมีรถไถเกิดขึ้นมา นอกจากนี้แล้วการเดินทางในสมัยก่อนก็ยังใช้ควายเทียมเกวียน เพื่อทุ่นแรงในการเดินทางไกลอีกด้วย แต่ปัจจุบันควายไทยถูกลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงเท่านั้น

เหตุที่ต้องกำหนดให้เป็นวันที่ 14 พฤษภาคม เนื่องมาจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงหลักการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือ เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นแนวทางในการอนุรักษ์ควายไทยสืบมา

13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

วันนี้เมื่อ 13 ปีก่อน ‘เสธ.แดง - พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล’ ถูกลอบยิงขณะกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ท่ามกลางการชุมนุมทางการเมืองที่ตึงเครียด และเสียชีวิต 4 วันต่อมา จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง

พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง เป็นชาวอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2494 จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 11, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 22 และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63  และจบปริญญาเอกสาขาบริหารรัฐกิจจาก UNIVERSITY OF NORTHERN PHILIPPINES

เสธ.แดง เข้ารับราชการครั้งแรกในกองพันทหารราบที่ 4 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ในยศร้อยตรี และได้ทำงานเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าช่วงปี พ.ศ.2529 ก่อนได้เลื่อนยศเป็นพันเอกพิเศษ เมื่อปี พ.ศ.2536  และได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อปี พ.ศ.2541 และได้เป็นผู้ชำนาญการกองบัญชาการทหารสูงสุด และกลายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกในปีถัดมา

เสธ.แดง เริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปก็มาจากคดีความรื้อบาร์เบียร์ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เมื่อ เสธ.แดง ได้กล่าวหา นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่นายหนึ่งว่าใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือนายชูวิทย์ ทำให้ นายตำรวจคนดังกล่าว ออกมาฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2553 ในการชุมนุมใหญ่ของ นปช.( เสื้อแดง) เพื่อขับไล่ ‘รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ และเกิดเหตุการณ์รุนแรงหลายครั้ง ขณะที่ หลายเหตุการณ์มีชื่อของเสธ.แดง เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

กระทั่งมาถึงวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 หลังจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศใช้มาตรการปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ โดยการตัดน้ำ ตัดไฟฟ้า งดบริการขนส่งสาธารณะ และห้ามผู้ชุมนุมเข้าไปในพื้นที่โดยเด็ดขาด 

ต่อมาเวลาประมาณ 19.20 น. ในขณะที่ เสธ.แดง กำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศบริเวณแยกศาลาแดง ได้มีสไนเปอร์ลอบยิงจากระยะไกล เป็นผลให้ เสธ.แดง ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงจากมุมสูงเข้าที่ศีรษะท้ายทอยด้านขวาและทะลุท้ายทอยด้านซ้าย กลุ่มคนเสื้อแดงได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว หลังจากนั้นทางญาติจึงตัดสินใจย้ายไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในกลางดึกของวันเดียวกัน อาการของ เสธ.แดง อยู่ในสภาพทรงตัวมาตลอด จนกระทั่งเสียชีวิตด้วยภาวะไตวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้วยวัย 59 ปี

วันที่ 12 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล (International Nurses Day) ระลึก ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพพยาบาล

นอกจากวันพยาบาลแห่งชาติ ที่ตรงกับวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีแล้ว สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพพยาบาลระดับโลก ได้กำหนดให้วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันพยาบาลสากล นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 

เหตุที่กำหนดให้ 12 พฤษภาคม เป็นวันพยาบาลสากล เพราะเป็นวันเกิดของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ผู้ให้กำเนิดวิชาชีพการพยาบาลแผนปัจจุบัน และเป็นผู้มีอุดมการณ์ ตั้งใจบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อมวลมนุษย์อย่างแท้จริง จนได้รับการยกย่อง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วันพยาบาลสากลจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณความดีของ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ที่สร้างประโยชน์ให้แก่มวลมนุษย์อย่างมากมาย รวมทั้งเพื่อยกย่อง ให้เกียรติ และยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือกันจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทางในการให้พยาบาลทั่วโลก ได้รณรงค์แก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอีกด้วย

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale) เป็นชาวอังกฤษ แต่เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 1820 ครอบครัวของฟลอเรนซ์ ไนติงเกล จัดว่าเป็นชนชั้นสูงที่มีฐานะดี ทำให้เธอได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เธอมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ จึงขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่เนื่องจากในยุคนั้น งานพยาบาลถือเป็นงานของชนชั้นแรงงาน และไม่ได้รับความนับถือจากคนในสังคมชั้นสูงนัก ครอบครัวของเธอจึงปฏิเสธ แต่ ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ก็ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อผู้ที่เจ็บป่วย และคอยหาโอกาสได้ไปเยี่ยมตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนเข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนีสมดังใจ

ต่อมาในปี 1857 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล อาสาไปช่วยดูแลทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม นอกจากเสียสละทรัพย์สินส่วนตัวแล้ว เธอยังขอเรี่ยไรจัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร และออกเยี่ยมเยียนเพื่อรักษา และให้กำลังใจทหารตั้งแต่เช้าจนค่ำ มักมีคนเห็นฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ถือตะเกียงเล็ก ๆ คอยเดินตรวจอาการของเหล่าทหารกลางดึกอยู่เสมอ จนผู้คนต่างพากันเรียกเธอว่า The Lady with the Lamp

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

หลังสงครามสิ้นสุดลง ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล ได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ วางแผนงานด้านสุขาภิบาลในประเทศอินเดีย ก่อนจะก่อตั้งโรงเรียนการพยาบาลที่เป็นต้นแบบของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

11 พฤษภาคม ของทุกปี ‘วันปรีดี พนมยงค์’ ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

11 พฤษภาคม ‘วันปรีดี พนมยงค์’ เป็นวันคล้ายวันเกิดของ ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของไทย ผู้สร้างคุณูปการมากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย การศึกษา จนได้รับยกย่องจากยูเนสโกว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ หรือ อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ณ บ้านวัดพนมยงค์ ตำบลท่าวาสุกรี อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นับว่าเป็นบุคคลสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของประเทศไทย โดยเป็นทั้งผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย

ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้ง มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (27 มิถุนายน 2477) และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรกและคนเดียวของมหาวิทยาลัย (ในระหว่างปี 2477-2495) ทั้งนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำขบวนการเสรีไทยต่อต้านกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และได้รับยกย่องเป็นรัฐบุรุษอาวุโสคนแรกของประเทศไทย แต่ต่อมา ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 8 โดยถูกกล่าวหาจากขั้วตรงข้ามทางการเมืองว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว

และเมื่อครั้งรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปต่างประเทศ รวมระยะเวลากว่า 30 ปี โดยไม่ได้กลับสู่ประเทศไทย แต่ระหว่างลี้ภัยทางการเมืองนั้น ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้ฟ้องร้องผู้ใส่ความหมิ่นประมาท ปรากฏว่าชนะทุกคดี และได้รับการรับรองจากทางราชการตลอดจนเงินบำนาญและหนังสือเดินทางของประเทศไทย กระทั่งถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 บนโต๊ะทำงาน ขณะกำลังเขียนหนังสืออยู่ในบ้านพัก ที่ประเทศฝรั่งเศส สิริรวมอายุ 83 ปี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top