Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ คร่าชีวิตคนรวม 188 ราย

ครบรอบ 30 ปี โศกนาฏกรรมครั้งร้ายแรง กับเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานผลิตตุ๊กตาเคเดอร์ ย่านพุทธมณฑล สาย 4 คร่าชีวิตผู้คนรวม 188 ราย

เหตุเพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 เวลา 16.00 น. ที่ โรงงานของบริษัท เคเดอร์อินดัสเตรียล ไทยแลนด์ จำกัด ถนนพุทธมณฑล สาย 4 อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสินค้าของเล่นสำหรับเด็กส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ตุ๊กตา เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยมีผู้เสียชีวิตรวม 188 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีก 469 คน 

ก่อนหน้านี้ โรงงานของเล่นดังกล่าว เคยเกิดเพลิงไหม้อาคารแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2532 เพลิงไหม้บริเวณชั้น 3 อาคารได้รับความเสียหายมาก สาเหตุเกิดจากอุปกรณ์ไฟฟ้าเสื่อมไฟฟ้าลัดวงจร ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2534 เพลิงไหม้ที่โรงเก็บตุ๊กตา และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2536 เกิดเพลิงไหม้อาคารหลังที่ 3 ชั้น 2 และชั้น 3 ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย

จากการสืบสวน พบว่าเพลิงไหม้ครั้งนี้เกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้ตามมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรม และไม่มีการซักซ้อมการรับมือกับอัคคีภัยให้แก่พนักงาน ภายหลังเกิดเพลิงไหม้ ประมาณ 15 นาที โรงงานก็ได้ยุบตัวพังทลายลงมา นอกจากนี้ยังพบว่า โรงงานดังกล่าวไม่ได้สร้างบันไดหนีไฟ หรือสำรองเอาไว้ ประตูทางเข้า-ออกมีน้อย และคับแคบเกินกว่ากฎหมายกำหนด ไม่มีระบบการเตือนภัยที่สมบูรณ์และได้มาตรฐาน 

ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากพนักงานรักษาความปลอดภัยได้ปิดประตูโรงงาน เพราะกลัวคนงานจะขโมยทรัพย์สินในอาคาร เจ้าหน้าที่ระบุว่าสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้เกิดจากคนงานทิ้งก้นบุหรี่ไว้ แล้วเกิดการติดไฟกับผ้าในโรงงาน

สืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคมของทุกปี เป็น วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2540

9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามอนุสัญญาโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน

วันนี้ในอดีต เมื่อ 82 ปีก่อน ไทยกับฝรั่งเศส ลงนามในอนุสัญญาสันติภาพระหว่างกันที่กรุงโตเกียว หลังสิ้นสุดกรณีพิพาทสงครามอินโดจีน ผลทำให้ไทยได้ดินแดนฝั่งขวาของหลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนมาจากฝรั่งเศส 

แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ไทยมีความจำเป็นต้องเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม นำไปสู่ ความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่เรียกกันว่า 'ความตกลงวอชิงตัน' มีผลให้อนุสัญญากรุงโตเกียวสิ้นสุดลง โดยไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับประเทศฝรั่งเศสตามเดิม 

8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทย

วันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดแรกของไทยขึ้นบริหารประเทศ เรียกการบริหารงานของรัฐมนตรีชุดนี้ว่า สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแต่งตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ 1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) (รัฐมนตรีสภา) มีสมาชิกจำนวน 12 คน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ-ออกกฎหมาย 

2. สภาที่ปฤกษาในพระองค์ (ที่ปรึกษาในพระองค์) หรือ ปรีวีเคาน์ซิล (Privy Council) มีสมาชิกจำนวน 49 คน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2417 สมาชิกส่วนใหญ่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและดูแลบ้านเมือง-ราษฎรต่างพระเนตรพระกรรณ

ถือเป็นต้นกำเนิดของคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงไว้วางพระราชหฤทัยและเป็นที่ปรึกษาพระเจ้าแผ่นดิน 

สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ประกอบไปด้วย สมาชิกผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความคิดเห็นต่าง ๆ ในด้านนิติบัญญัติ และเมื่อข้อราชการใดที่ประชุมสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมีมติเห็นชอบ ก็ให้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป

7 พฤษภาคม พ.ศ. 2419 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

ประชาชนคนไทยรู้จัก ‘พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท’ กันเป็นอย่างดี ซึ่งในวันนี้เมื่อ 147 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีวางศิลาฤกษ์ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ขึ้นอย่างเป็นทางการ

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งในหมู่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมมหาราชวัง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นท้องพระโรง การณ์นี้ได้มีการว่าจ้าง นายยอน คลูนิช ชาวอังกฤษ เป็นนายช่างหลวงออกแบบพระที่นั่งฯ 

ทั้งนี้เป็นการออกแบบที่ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมไทย กับสถาปัตยกรรมยุโรป โดยตัวอาคารพระที่นั่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรป แต่หลังคาพระที่นั่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย จนเป็นที่มาของชื่อ ‘ฝรั่งสวมชฎา’ 

6 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ในหลวง ร.9 เสด็จฯ พร้อมด้วยกรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันนี้ เมื่อ 18 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดสระสุวรรณชาด ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานสระว่ายน้ำสำหรับการรักษาแบบธาราบำบัด ให้สุนัขที่ป่วยด้วยโรคข้อกระดูก และโรคระบบประสาท จำนวน 2 สระ โดยพระราชทานเงินรายได้จากการจำหน่ายเสื้อคุณทองแดง สุนัขทรงเลี้ยง พร้อมทั้งพระราชทานชื่อสระว่ายน้ำว่า ‘สระสุวรรณชาด’ ตามชื่อของ ‘คุณทองแดง’ โดยเริ่มทำการก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548 ในการสร้างสระนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำในการออกแบบตามหลักวิชาการและได้ใช้สระว่ายน้ำของสุนัขทรงเลี้ยงมาเป็นต้นแบบ ซึ่งได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2548

๕ พฤษภาคม วันคล้ายวันประสูติ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
เกล้ากระหม่อม คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ ประสูติเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ หรือพระนามลำลองว่าพระองค์ติ๊ด ประสูติเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 เป็นพระธิดาพระองค์เล็กในสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี กับนาวาอากาศเอกวีระยุทธ ดิษยะศริน มีพระเชษฐภคินีหนึ่งพระองค์คือพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระองค์และพระกนิษฐภคินีมีฐานันดรศักดิ์เป็น 'พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้า' ตั้งแต่ประสูติ ตามพระบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งพระยศดังกล่าวเทียบเท่าตำแหน่ง 'พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า'

วันฉัตรมงคล ๔ พฤษภาคม ทรงพระเจริญ

ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า คณะผู้บริหาร และพนักงาน สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES

วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรีและราชอาณาจักรไทย

ในหลวงรัชกาลที่ 10 โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"

ทั้งนี้ คำว่า 'ฉัตรมงคล' หมายความว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร จะกระทำในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษก สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า 'พระบาท' นำหน้า 'สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว' และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า 'พระบรมราชโองการ' และอีกประการหนึ่งคือ ยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น

3 พฤษภาคม ของทุกปี วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก ตระหนักถึงเสรีภาพการแสดงออกของสื่อมวลชน

ย้อนเวลากลับไปราว 30 ปีก่อน เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1991 (หรือ พ.ศ.2534) องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้เสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

สาเหตุของการมีวันสำคัญนี้ เกิดจากการที่มีนักข่าวภาคสนามมากมาย ต้องเสียชีวิต หรือถูกจับเป็นตัวประกัน และรวมไปถึงถูกคุกคาม จากการทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาของการสร้างสัญลักษณ์ของความมีเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน โดยจัดตั้งให้ทุก ๆ วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก

2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ‘ปรีดี พนมยงค์’ ถึงแก่อสัญกรรม หลังลี้ภัยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2490

ครบรอบ 40 ปี ‘ปรีดี พนมยงค์’ อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย 3 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นผู้ก่อตั้งและผู้ประศาสน์การเพียงคนเดียวของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง และเป็นผู้ก่อตั้งธนาคารชาติไทย (ปัจจุบัน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย)

1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ระลึกถึงความสำคัญผู้ใช้แรงงาน

ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็น 'วันแรงงานแห่งชาติ' หรือที่เรียกว่า 'Labour Day' ถือเป็นวันหยุดประจำปีที่มีผลมาจากการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เพื่อเฉลิมฉลองผลงานทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ใช้แรงงาน

ในสมัยก่อนประเทศแถบยุโรปจะถือเอา 'วันเมย์เดย์' (May Day) เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ทางเกษตรกรรม จึงมีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวงขอให้ปลูกพืชได้ผลดี รวมถึงขอให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข อีกทั้งทางภาคเหนือของยุโรปก็จะมีการจัดงานรอบกองไฟในวันนี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังมีสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

จากตอนแรกที่เป็นเพียงวันหยุดพักผ่อนประจำปี ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศจึงถือเป็นวันหยุดตามประเพณีทั่วไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตือนใจให้ประชาชนตระหนักถึงผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ 

ความหมายของ วันเมย์เดย์ (May Day) จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี พ.ศ. 2433 ได้มีการเรียกร้องในหลายประเทศทางตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันแรงงานสากล' ทำให้หลายประเทศได้เริ่มฉลองวันแรงงานเป็นครั้งแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2433 และได้สืบทอดมาจนถึงในปัจจุบัน 

ในประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานมีปัญหามากขึ้น รวมทั้งแรงงานมีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยริเริ่มมีการบริหารจัดการแรงงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

กระทั่งวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึก ได้จัดประชุมขึ้น พร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็น 'วันที่ระลึกแรงงานไทย'


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top