Sunday, 19 May 2024
TODAY SPECIAL

22 เมษายน ของทุกปี เป็นวัน 'คุ้มครองโลก' (Earth Day) ร่วมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้ ทุกวันที่ 22 เมษายน เป็นวัน 'วันคุ้มครองโลก' เพื่อให้ผู้คนบนโลกตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

22 เมษายน ของทุกปีเป็น 'วันคุ้มครองโลก' (Earth Day) ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ United Nations Environment Program (UNEP) เพื่อให้ผู้คนบนโลกได้ตระหนักถึงการกระทำต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในธรรมชาติ ผู้ที่ริเริ่มแนวคิดนี้เป็นคนแรกคือ เกย์ลอร์ด เนลสัน สมาชิกวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา 

โดยในปี พ.ศ. 2505 เกย์ลอร์ด เนลสัน ได้ขอให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ หยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี้เห็นด้วย จากนั้นได้ออกทัวร์ทั่วประเทศเป็นเวลา 5 วัน 11 รัฐในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม 'วันคุ้มครองโลก'

‘เจ้านิโคร’ หมาจรเดินตามพระธุดงค์ไทย จากอินเดีย เดินทางไกลเกือบพันกิโลเมตร ก่อนลาจากไม่หวนคืน

(21 เม.ย.66) จากกรณีโซเชียลให้ความสนใจเหตุการเสียชีวิตของสุนัขตัวหนึ่ง ที่ชื่อเจ้านิโคร วิ่งตามคณะพระธุดงค์ไทยที่ประเทศอินเดีย ไล่กลับยังไงก็ไม่ยอม จนทางพระสงฆ์ท่านมีความเมตตา ตัดสินใจรับเลี้ยงและนำกลับมาอยู่วัดที่ประเทศไทยด้วย 
.
ต่อมาเกิดเรื่องเศร้า เมื่อเจ้านิโครเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวริมถนน ที่จังหวัดมหาสารคาม เพราะแอบเดินตามหลวงตามาบิณฑบาต เกิดพลัดหลง เดินเร่ร่อนจากสุรินทร์ไปถึงมหาสารคาม
.
ล่าสุดเพจ วัดหนองบัว - เวือดตระเปียงโชค เปิดประวัติเจ้านิโคร ถึงเส้นทางพรหมลิขิตที่ทำให้มาเจอกับคณะพระธุดงค์ไทย ในระหว่างอยู่ที่อินเดีย ดังต่อไปนี้
.
ประวัติชีวิตนิโคร ... ตอนที่ ๑ เช้าวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ เป็นปกติที่พระธุดงค์ตื่นเช้า ตี ๓ เก็บเต็นท์และบริขาร
.
เตรียมออกเดินจากเขตเมืองกบิลพัสดุ์ เป็นวัดที่พระเจ้าสุทโธทนะ ถวายพระพุทธองค์เมื่อครั้งเสด็จนิวัติเมืองของพุทธบิดา ... และเป็นวัดที่บรรพชาสามเณรราหุลอีกด้วย ... นิโคร เริ่มตามเรามาตั้งแต่จุดนี้
.
นิโครธาราม - ลุมพินี (ประสูติ) - ชายแดนโสเนาลี-กุสินารา (ปรินิพพาน) - แม่น้ำอโนมาเสาอโศกคู่ -มหาสถูปเลารียา - เสาอโศกนันดานการ์ -เสาอโศกอเรราช - มหาสถูปเกสรียา – เมืองไวสาลี - สถานที่ปลงอายุสังขาร - เมืองปัตตนะ - วัดอโศการาม สังคายนาครั้งที่ 3 - วิกรมศิลา - นาลันทา - ราชคฤห์ - เขาคิชกูฏ - ต้นพระศรีมหาโพธิ์ (คยา) (สถานที่ตรัสรู้)

รวมระยะทาง เดินตามพระธุดงค์ ประมาณ 985 กิโลเมตร ผ่านพุทธสถานมากมาย ขออนุโมทนาบุญกับ นิโคร.


ที่มา : https://www.naewna.com/likesara/725821

21 เมษายน พ.ศ. 2325 วันสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานีแห่งที่ 4 ของสยาม

วันนี้ เมื่อ 241 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมมีพระราชพิธีฝังเสาพระหลักเมืองกรุงเทพมหานคร 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง 'พระราชวังหลวง' ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศ และเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ โดยการก่อสร้างพระราชวังหลวงเริ่มขึ้นพร้อมกับการสร้างพระนครเมื่อพุทธศักราช 2325

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ตรงกับวันที่ 21 เมษายน ปีพุทธศักราช 2325 เวลา 06.54 นาฬิกา

20 เมษายน พ.ศ.2454 วันคล้ายวันเกิด ‘ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช’ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทย

20 เมษายน พ.ศ. 2454 วันเกิด พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย 

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เป็นน้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของไทย) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 

จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในปี 2531

19 เมษายน พ.ศ. 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบ ‘เวคา’ เสด็จข้ามอ่าวไทย ด้วยลำพังพระองค์เอง

วันนี้เมื่อ 57 ปีก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบข้ามอ่าวไทย ด้วยลำพังพระองค์เอง จากพระราชวังไกลกังวล ไปยังหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน

เมื่อปี พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International O.K. Class) พระราชทานชื่อว่า เรือนวฤกษ์ แปลว่า ฤกษ์ใหม่ 

ต่อมาก็ทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นมาอีกลำ พระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) ความหมายว่าดวงดาวที่สว่างสุกใส หลังจากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นอีกหลายลำ เช่น เรือเวคา 1 เรือเวคา 2 เรือเวคา 3 เป็นต้น 

18 เมษายน พ.ศ. 2398 สยามลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ ต่อมารู้จักกันในชื่อ 'สนธิสัญญาเบาว์ริง'

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการลงนามในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ โดยมีเซอร์จอห์น เบาริ่ง เป็นราชทูต สนธิสัญญานี้รู้จักกันในชื่อ 'สนธิสัญญาเบาว์ริง', ไทยทำสัญญากับอังกฤษเรื่องอำนาจของกงสุลอังกฤษในไทย

หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษและประเทศสยาม หรือบนปกสมุดไทย ใช้ชื่อว่า หนังสือสัญญาเซอยอนโบวริงหรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) เป็นสนธิสัญญาที่ราชอาณาจักรสยามทำกับสหราชอาณาจักร ลงนามเมื่อ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรีย เข้ามาทำสนธิสัญญา ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดการค้าเสรีกับต่างประเทศในสยาม มีการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ โดยการสร้างระบบการนำเข้าและส่งออกใหม่ เพิ่มเติมจากสนธิสัญญาเบอร์นี สนธิสัญญาฉบับก่อนหน้าซึ่งได้รับการลงนามระหว่างสยามและสหราชอาณาจักรใน พ.ศ. 2369

สนธิสัญญาดังกล่าวอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้าเสรีในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในอดีตการค้าของชาวตะวันตกได้รับการจัดเก็บภาษีอย่างหนัก สนธิสัญญาดังกล่าวยังอนุญาตให้จัดตั้งกงสุลอังกฤษในกรุงเทพมหานครและรับประกันสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ตลอดจนอนุญาตให้ชาวอังกฤษสามารถถือครองที่ดินในสยามได้

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2393 มีพระราชปณิธานช่วยเหลือราษฎรด้านความเป็นอยู่ โดยมีพระราชดำริแตกต่างจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐา หลายอย่าง โดยทรงเห็นว่าการเปิดให้ค้าข้าวกับต่างประเทศได้อย่างเสรีจะสร้างประโยชน์แก่บ้านเมืองมหาศาล จะทำให้ข้าวราคาสูงขึ้น เพราะมีความต้องการซื้อข้าวจากต่างชาติ ชาวนาก็จะมีเงินมากขึ้น ข้าวจะกลายเป็นสินค้าส่งออกของไทย สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลเช่นกัน ตลอดจนทรงเห็นว่านโยบาย 'ปิดข้าว' สร้างรายได้ให้แก่คนส่วนน้อย ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

"แต่ก่อนในหลวงห้ามปิดเข้า [ข้าว] ไว้ไม่ให้เอาออกไปขายนอกประเทศ ยอมให้เอาไป แต่ภอเปนสเบียง คนทั้งปวงที่มิใช่ชาวนาแลพ่อค้าเรือต่างประเทศก็มีความสบาย ด้วยเข้าถูก [ข้าวมีราคาถูก] แต่ชาวนาไม่ชอบใจ เพราะขายเข้าได้น้อย ไม่ภอกิน ต้องทิ้งที่นาไปหากินอย่างอื่น ถึงพ่อค้าก็ไม่ชอบใจ ด้วยอยากจะขายเข้าออกไปนอกประเทศ ต้องลักลอบเอาไป ..."

หมายเหตุ : ทั้งหมดสะกดตามต้นฉบับ

การที่รัฐบาลไทยไม่ยอมแก้ไขหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าขายกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดความตึงเครียดใน พ.ศ. 2393 มิชชันนารีทั้งหลายถึงกับเกรงว่าจะเกิดสงครามขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงอันตรายจากการที่ไทยไม่ยอมประนีประนอมกับชาติตะวันตก โดยทรงดูจากจีนและพม่าที่ตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ ตลอดจนทรงตระหนักถึงความจำเป็นของวิทยาการสมัยใหม่สำหรับอนาคตของชาติ จึงได้ทรงประกาศเจตนาว่ายินดีจะทำสนธิสัญญาฉบับใหม่กับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สิงคโปร์ฟรีเปรสได้นำจดหมายของเรเวอเรนด์ ยอนเทเลอโยนส์ ลงพิมพ์ มีใจความว่า

"เจ้าฟ้ามงกุฎได้ตรัสอย่างชัดเจน ว่าทางการที่ปฏิบัติต่อคณะทูตเมื่อปีก่อนนั้นทั้งหมดเป็นไปด้วยความเห็นผิดเป็นชอบของคน ๆ เดียว และถ้าคณะทูตกลับมาอีก ก็คงจะได้รับความต้อนรับโดยเมตตา ไม่ต้องระแวงว่าความประสงค์อันสำคัญยิ่งของคณะทูตจะไม่สำเร็จดังปรารถนา..."

สนธิสัญญาเบาว์ริงนี้มีเนื้อหาคล้ายกับสนธิสัญญานานกิงซึ่งจีนลงนามร่วมกับอังกฤษภายหลังสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ใน พ.ศ. 2385 และก่อนหน้าสนธิสัญญาเบาว์ริงเพียงหนึ่งปี (พ.ศ. 2397) สหรัฐอเมริกาก็บังคับให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศด้วยการลงนามในสนธิสัญญาคะนะงะวะโดยใช้สนธิสัญญานานกิงเป็นต้นแบบ สนธิสัญญาเบาว์ริงถูกเรียกว่าเป็น "สนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม" หรือ "สนธิสัญญาที่เสียเปรียบ" เนื่องจากสยามไม่อยู่ในตำแหน่งที่จะเจรจาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเกรงกลัวในแสงยานุภาพทางทหารของอังกฤษในสงครามฝิ่นครั้งที่หนึ่ง ซึ่งได้ทำให้รู้สึกท้อถอยที่จะป้องกันมิให้มีการค้ากับชาติตะวันตก โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ระบุว่า ความต้องการสำคัญของอังกฤษก็คือการเข้ามาค้าฝิ่นได้อย่างเสรีในสยามและไม่ต้องเสียภาษี และอังกฤษพร้อมทำสงครามกับสยามอยู่แล้วหากการเจรจาไม่ประสบผล

เมื่อทราบว่าพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ใหม่ทรงแสดงความต้องการจะทำสนธิสัญญาด้วย รัฐบาลอังกฤษก็ได้ส่งจอห์น เบาว์ริงเข้ามาทำสนธิสัญญาฉบับใหม่ใน พ.ศ. 2398 โดยปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมไทย ให้ทูตเชิญพระราชสาส์นสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาถวายพระเจ้าแผ่นดินไทย จึงได้รับการต้อนรับดีกว่าทูตตะวันตกที่ผ่านมาทั้งหมด

17 เมษายน พ.ศ. 2277 วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

วันนี้ เมื่อ 289 ปีก่อน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระมหากษัตริย์ ผู้กอบกู้เอกราชจากพม่าภายหลังการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว ได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นกเอี้ยง (ภายหลังเป็นกรมพระเทพามาตย์)

16 เมษายน พ.ศ. 2557 ‘เรือเซวอล’ อับปาง ขณะเดินทางไปเกาะเชจูโศกนาฏกรรมคร่าชีวิตชาวเกาหลีใต้กว่า 304 คน

ในวันนี้เมื่อ 9 ปีก่อน ได้เกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สะเทือนใจคนทั้งโลก โดยเฉพาะชาวเกาหลีใต้ นั่นก็คือ โศกนาฏกรรม ‘เรือเซวอล’ อับปาง ที่คร่าชีวิตไปกว่า 304 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยม

โดยเหตุการณ์นี้ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2557 (ค.ศ. 2014) เรือเซวอลกำลังมุ่งหน้าจากเมืองอินชอนสู่เกาะเชจูตามตารางเวลาที่กำหนด โดยบนเรือส่วนใหญ่เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมของโรงเรียนดันวอน ที่กำลังออกไปทัศนศึกษา

เมื่อรวมจำนวนผู้โดยสารและลูกเรือแล้ว เรือลำนี้บรรจุผู้โดยสารกว่า 476 ชีวิต ซึ่งเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักผู้โดยสาร ที่เจ้าของเรืออ้างว่าเซวอลสามารถบรรทุกได้

ในวันเกิดเหตุ กัปตันอีจุนซอก วัย 69 ปี ผู้กุมชะตาชีวิตคนบนเรือเกือบ 500 คน กลับไม่ได้อยู่ในห้องควบคุมเรืออย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับสั่งให้ลูกเรือเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างแทน ซึ่งเมื่อเรือเข้าสู่ช่องแคบ ที่เต็มไปด้วยโขดหินและคลื่นแรงใต้ทะเล ลูกเรือที่ไม่มีประสบการณ์มากพอก็ตัดสินใจผิดพลาดได้หันหัวเรือกะทันหัน และกระปุกพวงมาลัยเรือที่ทำงานขัดข้อง จึงเป็นปัจจัยแรกที่ทำให้เซวอลศูนย์เสียการทรงตัว

นอกจากความหละหลวมในการทำหน้าที่ของเขาแล้ว เรือลำนี้ยังบรรทุกสินค้าที่ไม่สมดุลและเกินน้ำหนักมาตรฐาน คอนเทนเนอร์สินค้าที่จัดวางอย่างไม่รัดกุม รวมถึงน้ำอับเฉาที่มีน้อยกว่าที่ทางการกำหนด โดยเรือเซวอลนั้น แท้จริงแล้วเป็นเรือมือสองที่ซื้อต่อมาจากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งบริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้ซื้อมาเพื่อใช้งานต่อเมื่อปี 2012

หลังจากนั้น บริษัทชองแฮจินของเกาหลีใต้ ได้มีการปรับปรุงเรือและทำการต่อเติม เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้มากกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เองจึงกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ เพราะการต่อเติมเรือ ทำให้ศูนย์ถ่วงเรือมีปัญหา ยิ่งไปกว่านั้นทางบริษัทฯ ยังได้ยื่นขอบรรทุกสินค้าเกือบ 2,000 ตัน ซึ่งต่อมากรมทะเบียนเรือ ได้ปรับลดน้ำหนักบรรทุกสินค้าของเซวอลลงเหลือครึ่งหนึ่ง และกำหนดให้ต้องบรรทุกน้ำอับเฉาถึง 2,000 ตัน เพื่อให้เรือสามารถทรงตัวอยู่ได้

15 เมษายน พ.ศ. 2457 พิธีปล่อยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (ลำปัจจุบัน) ลงน้ำ ลำสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันกระทำพิธีปล่อยเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช (ลำปัจจุบัน) ลงน้ำ เป็นเรือพระที่นั่งสร้างใหม่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งบัลลังก์ในขบวนพยุหยาตราชลมารค เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง มีโขนเรือเป็นรูปพญานาค 7 เศียร ลงรักปิดทองทั้งลำ และประดับด้วยกระจก 

ลำปัจจุบันนี้มีการสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) แทนลำเดิม ซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว (รัชกาลที่ 4)

ลำเรือภายนอกทาสีเขียว ลวดลายไม้จำหลักของเรือเป็นลายก้านขดปิดทองประดับกระจกสีเขียว ตลอดทั้งลำเรือยังประดับลวดลายพญานาคเคลื่อนไหวอย่างพลิ้วไหวและทรงพลังหันเศียรไปยังโขนเรือ สีพื้นภายนอกของเรือประดับกระจกสีน้ำเงินสื่อความหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

14 เมษายน พ.ศ. 2418 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตราพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติ

วันนี้ นอกจากจะเป็นวันครอบครัวแล้ว ในทางราชการ ยังเป็นวันครบรอบ 148 ปี การสถาปนา ‘กระทรวงการคลัง’ อีกด้วย โดยเริ่มต้นเมื่อในรัชสมัยรัชกาลที่ 5

ภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นครองราชย์ ได้ทรงวางระเบียบและปรับปรุงแก้ไขการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความทันสมัยมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2416 ทรงเริ่มทำการปฏิรูปการคลัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ เป็นที่ทำการของเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ สำหรับรวบรวมบัญชีเงินผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากร


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top