Sunday, 5 May 2024
TODAY SPECIAL

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ประสูติ เมื่อ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ (พระนามเดิม หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร) เป็นธิดาพระองค์ใหญ่ของหม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร กับท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร พระองค์เป็นทั้งพระภาติยะและอดีตพระสุณิสาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องจากอภิเษกสมรสกับพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระองค์มีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรชายาฯ ถือเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระวรชายา มีพระธิดาพระองค์เดียวคือสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

ภายหลังการหย่าในปี พ.ศ. 2534 พระองค์ยังมีสถานะเป็นเจ้านายและได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติและทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริให้ ‘เลิกทาส’

วันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417 หรือวันนี้ เมื่อ 149 ปีก่อน คือจุดเริ่มต้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริที่จะ "เลิกทาส" 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศพระราชดำริของพระองค์ว่าจะ ‘เลิกทาส’ กลางที่ประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ อันเป็นสถานที่พระราชสมภพของพระองค์เอง ในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2417

จนถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 หรือ 31 ปีต่อมา พระองค์จึงจะทรงสามารถออก ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ อันเป็นการสิ้นสุดระบบทาสโดยถาวรไปจากสยามประเทศ

40 วัน หลังจากทรงประกาศพระราชดำรินี้ คือวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 รัชกาลที่ 5 ทรงออก ‘พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย’ คือการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ เพื่อกำหนดเกณฑ์มาตรฐานของค่าตัวทาส ซึ่งมักจะมีการโก่งและขึ้นราคา เนื่องจากนายทาสมักจะนิยมสะสมทาสเพื่อแสดงศักดิ์ และบารมีของตนเอง โดยพระราชบัญญัตินี้บังคับให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ แต่จะมีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมาเท่านั้น และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก

1 เมษายน พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ และ ‘พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร ร.ศ. 124’ ถือเป็นการเลิกระบบทาสและระบบไพร่ในสยามประเทศ โดยในส่วนของทาสนั้น ‘พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124’ ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก ทำให้วันที่ 1 เมษายนเป็นที่รู้จักกันใน ‘วันเลิกทาส’

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์

11 กรกฎาคม ครบรอบ 135 ปี วันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่ 27 ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ทรงมีหลายพระนาม คือ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 หรือ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสรรเพชรญ์ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวีสิริกัลยาณี พระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2175

ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่าว่าเมื่อแรกเสด็จพระบรมราชสมภพนั้น พระญาติเห็นพระโอรสมีสี่กร พระราชบิดาจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า "พระนารายณ์ราชกุมาร" ส่วนในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เล่าว่าเมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก พระโอรสเสด็จไปช่วยดับเพลิง ผู้คนเห็นเป็นสี่กร จึงพากันขนานพระนามว่า พระนารายณ์ 

พระราชประวัติของสมเด็จพระนารายณ์นั้นเกี่ยวกับเรื่องปาฏิหาริย์อยู่มาก แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของพราหมณ์ เมื่อเทียบกับกษัตริย์องค์ก่อน ๆ ด้วยเหตุนี้เองพระราชประวัติของพระองค์จึงกล่าวถึงปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ตามลำดับ คือ

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 5 พรรษา ขณะเล่นน้ำ พระองค์ทรงถูกอสนีบาต พวกพี่เลี้ยง นางนม สลบหมดสิ้น แต่พระองค์ไม่เป็นไรแม้แต่น้อย

เมื่อพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ 9 พรรษา พระองค์ทรงถูกอสนีบาตที่พระราชวังบางปะอิน แต่พระองค์ก็ปลอดภัยดี

สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงในพระราชวัง และพระอาจารย์พรหม พระพิมลธรรม รวมทั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์และพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ระดับสูงในพระนคร

สมเด็จพระนารายณ์มีส่วนสำคัญในการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา โดยพระองค์ได้ร่วมมือกับสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาในการชิงราชสมบัติจากสมเด็จเจ้าฟ้าไชย ซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระองค์ หลังจากที่พระองค์ช่วยสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้แล้วนั้น สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาทรงแต่งตั้งให้พระองค์ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชและให้เสด็จไปประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล หลังจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาขึ้นครองราชสมบัติได้ 2 เดือนเศษ พระองค์ทรงชิงราชสมบัติจากสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อเวลาสองนาฬิกา วันพฤหัสบดี แรม 2 ค่ำ เดือน 12 จุลศักราช 1018 ปีวอก (ตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2199) มีพระนามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 เป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 แห่งกรุงศรีอยุธยา ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา

หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ 10 ปี พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2209 และเสด็จไปประทับที่ลพบุรีทุกๆ ปี ครั้งละเป็นเวลานานหลายเดือน

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างยิ่ง ทรงสร้างความรุ่งเรือง และความยิ่งใหญ่ให้แก่กรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างมาก โดยทรงยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ และหัวเมืองพม่าอีกหลายเมืองได้แก่ เมืองจิตตะกอง สิเรียม ย่างกุ้ง แปร ตองอู หงสาวดี และมีกำลังสำคัญที่ทำให้สมเด็จพระนารายณ์นั้นสามารถยึดหัวเมืองของพม่าได้คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก)

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในสมัยสมเด็จพระนารายณ์รุ่งเรืองขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีการติดต่อทั้งด้านการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา มีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้รวมถึงเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ชาวกรีกที่รับราชการตำแหน่งสูงถึงที่ สมุหนายก ขณะเดียวกันยังโปรดเกล้าฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถึง 4 ครั้งด้วยกัน ผู้ที่เขียนเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยา และสยามมากที่สุดในสมัยนี้ก็คือ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์

ในช่วงปลายรัชกาล ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์จะสวรรคตนั้น เกิดเหตุการณ์วุ่นวายมากมายขึ้นในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2231 ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ พระเพทราชา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการ ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์ ฯ ประทับอยู่ที่ลพบุรี และทรงประชวรหนัก พระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์ ฯ แล้วจับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ประหารชีวิต และได้ส่งกำลังไปควบคุมทหารฝรั่งเศสที่ประจำอยู่ที่ป้อมบางกอก คือ ป้อมวิชัยดิษฐ์ในปัจจุบัน

พระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2231 ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา 32 ปี มีพระชนมายุ 56 พรรษา

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 วางระเบิด ‘เรนโบว์ วอร์ริเออร์’ เรือของกรีนพีซ ฝีมือ ‘สายลับฝรั่งเศส’

เมื่อปี วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528 สายลับของฝรั่งเศส ได้วางระเบิดสองลูกเพื่อจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซ เป็นเหตุให้ช่างภาพชาวโปรตุเกสเสียชีวิตหนึ่งราย

ย้อนไป วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2528  เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ของกรีนพีซทอดสมออยู่ที่เมืองโอคแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมความพร้อมออกปฏิบัติการต่อต้านการทดลองนิวเคลียร์ของรัฐบาลฝรั่งเศสที่หมู่เกาะปะการังโมรูรัว

ขณะนั้นเป็นเวลาเกือบเที่ยงคืน กัปตันพีท วิลล์คอกซ์ และลูกเรือคนอื่น ๆ กำลังจะเข้านอน มีลูกเรือสองสามนายรวมทั้งเฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพประจำเรือ ยังนั่งคุยและดื่มเบียร์สองขวดสุดท้ายกันอยู่ที่โต๊ะเอนกประสงค์ของเรือ

ทันใดนั้น มีแสงสว่างวาบขึ้น ตามด้วยเสียงกระจกแตก และเสียงโครมของน้ำ ในนาทีแรกพวกลูกเรือคิดว่าเรืออาจถูกเรือโยงชน

หลังจากนั้นก็เกิดระเบิดลูกที่สอง

ลูกเรือที่อยู่บนดาดฟ้าเรือรีบกระโจนขึ้นบันไดหรือกระโดดหลบในที่ปลอดภัยบนท่าเรือ ภายในเวลาไม่กี่นาที พวกเขาเห็นเสากระโดงเรือที่เป็นเหล็กบิดงอไปต่อหน้าต่อตา 

เหตุการณ์ระเบิดได้คร่าชีวิต เฟอร์นานโด เปเรรา ช่างภาพชาวโปรตุเกส ซึ่งเขาขึ้นเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ในฐานะลูกเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ที่มีหน้าที่ถ่ายภาพการทดลองนิวเคลียร์ของฝรั่งศส เพื่อนำไปเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์ ร่างของเขาพูดน้ำพัดและจมไปในคืนนั้น

แน่นอนว่า เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ไม่ได้ถูกเรือโยงชน แต่เป็นฝีมือสายลับของฝรั่งเศส ที่ได้พยายามขัดขวางแผนการรณรงค์ของเรือ โดยวางระเบิดหุ้มพลาสติกไว้สองลูก ลูกหนึ่งซ่อนไว้ในใบพัด อีกลูกหนึ่งอยู่นอกกำแพงห้องเครื่อง

ในตอนแรก รัฐบาลฝรั่งเศสปฏิเสธการเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการนี้ แต่สุดท้ายแล้วก็ชัดเจนว่า รัฐบาลฝรั่งเศสมีส่วนรู้เห็น จนในที่สุดนายโลรองต์ ฟาบัวส์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ปรากฎตัวทางโทรทัศน์และกล่าวกับสาธารณชนว่า “สายลับ DGSE ได้ปฏิบัติการจมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ทั้งนี้ เป็นปฏิบัติการตามคำสั่ง”

โดมินิเก พริเยอร์ และ อแลงน์ มาฟาร์ต ซึ่งครั้งนั้นอยู่ในสถานะของนักท่องเที่ยวชาวสวิส เป็นสายลับเพียงสองนายที่เข้ารับการไต่สวน และยอมรับในข้อกล่าวหาฆาตกรรมและทำลายทรัพย์สินโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุก 10 และ 7 ปี แต่มีการเจรจาในกรอบของสหประชาชาติที่มีผลให้ทั้งสองคนย้ายไปต้องโทษที่หมู่เกาะ Hao ซึ่งเป็นฐานทัพทหารของฝรั่งเศสในเฟรนซ์โปลินิเซีย

และทั้งสองคนได้รับการปล่อยตัวในช่วงไม่ถึงสองปีหลังจากนั้น

คริสติน กาบอง เป็นสายลับอีกหนึ่งคนที่แทรกซึมเข้าไปในสำนักงานของกรีนพีซนิวซีแลนด์ก่อนมีการวางระเบิดที่เรือ เธอหลบหนีก่อนจะถูกจับได้ในอิสราเอลและไม่มีใครเห็นเธออีกเลย ส่วนฌอง-มิเชล แบร์เตโล หนึ่งในนักประดาน้ำสองคนที่เชื่อว่า เป็นผู้วางระเบิด ก็ไม่มีใครพบเห็นเช่นกัน 

คนที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ที่ท่าเรือโอคแลนด์ ในคืนนั้น ล้วนหายตัวไปพร้อม ๆ กันอีกด้วย 

9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ ถูกปรับ 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกแบน จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ‘ไมค์ ไทสัน’ เจ้าของฉายามฤตยูดำ ถูกปรับเงิน 3 ล้านดอลลาร์ พร้อมถูกยึดใบอนุญาตชกมวย จากเหตุการณ์ช็อกโลกกัดใบหู ‘อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์’ ในการชกชิงแชมป์โลก รุ่น เฮฟวีเวท

ซึ่งชนวนเหตุ เริ่มขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ไมค์ ไทสัน หรือที่ทั่วโลกรู้จักเขาในฉายา มฤตยูดำ ต้องพบกับความพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 ในการชกมวยอาชีพ ด้วยน้ำมือของ อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์ ด้วยการถูกน็อกในยก 11 พร้อมกับทำให้ ไทสัน เสียเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นเฮฟวีเวทของสมาคมมวยโลก (WBA) ไปแบบสุดเจ็บช้ำ ซึ่งจากความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น ทำให้ไทสันพยายามที่จะขอรีแมตช์เพื่อแย่งแชมป์โลกคืนมา และในที่สุดทั้งคู่ก็ตกลงดวลกำปั้นกันอีกครั้งในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2540 ที่สังเวียน เอ็มจีเอ็ม แกรนด์ ลาสเวกัส พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก

เมื่อเริ่มยกแรก โฮลีฟิลด์ คู่ปรับเดินหน้าเข้าใส่ทันที และทำได้ดีจนกระทั่งเข้าสู่ยกที่ 2 โฮลีฟิลด์ ได้เอาหัวไปโขกไทสันจนบริเวณตาขวาบวมขึ้นมา แต่กรรมการ มิลล์ เลน ไม่ได้ลงโทษใด ๆ เนื่องจากมองว่าเป็นอุบัติเหตุ ซึ่งจากอุบัติเหตุครั้งนี้ก็ทำให้ ไทสัน เริ่มออกอาการหัวเสีย

เมื่อเข้าสู่ยกที่ 3 ไทสัน ดูจะฟิวส์ขาดอย่างชัดเจน เพียงแค่ 40 วินาทีสุดท้ายก่อนหมดยก ในขณะที่ทั้งคู่กำลังคลุกวงในอยู่ ไทสันที่ฟิวส์ขาดจนฉุดไม่อยู่ ก็ได้สร้างเหตุการณ์ช็อกโลก ไทสันแอบคายฟันยางและกัดเข้าที่ใบหูข้างขวาของ โฮลีฟิลด์ จนขาดติดปาก ก่อนจะถ่มลงพื้นเวที ทำเอา โฮลีฟิลด์ กระโดดไปทั่วด้วยความเจ็บปวดปนช็อกที่ไม่คิดว่าจะมาเจออะไรแบบนี้บนสังเวียน และการชกก็ต้องหยุดลงไปหลายนาทีเพื่อปฐมพยาบาล 

โดยเมื่อแพทย์ได้ห้ามเลือดและดูบาดแผลแล้วก็ยังอนุญาตให้ชกได้ กรรมการจึงประกาศหักคะแนนไทสัน 2 แต้ม จากการทำผิดกติกาก่อนจะให้ชกกันต่อ แต่ดูเหมือนไทสันจะยังไม่หนำใจ เพราะเขาได้ทิ้งรอยแผลที่หูอีกข้าง ด้วยการกัดไปอีกหนึ่งรอบ ก่อนระฆังจะหมดยก ซึ่งกรรมการ มิลล์ เลน ก็ได้ ปรับให้ไทสันแพ้ฟาวล์ในการกัดหูรอบที่สอง

8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 ท่านพุทธทาสภิกขุ มรณภาพ ผู้ที่ยูเนสโก ยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก

ครบรอบ 30 ปี ท่านพุทธทาสภิกขุ (2449-2536) มรณภาพอย่างสงบที่สวนโมกขพลาราม วัดธารน้ำไหล อ. ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญโญ) หรือรู้จักในนาม ท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 เริ่มบวชเรียนเมื่ออายุได้ 20 ปี ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ท่านได้ตัดสินใจมาปฏิบัติธรรมที่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านพร้อมปวารณาตนเองเป็น พุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

ท่านพุทธทาสภิกขุได้บวชเรียนตามประเพณี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 ที่โรงอุโบสถวัดอุบล หรือวัดนอก ก่อนจะย้ายมาประจำอยู่ที่วัดพุมเรียง มีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมาโล) รองเจ้าคณะเมืองในสมัยนั้น และมีพระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดอุบล และ พระครูศักดิ์ ธมฺรกฺขิตฺโต เจ้าอาวาสวัดวินัย หรือวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับฉายาว่า อินทปญฺโญ ซึ่งแปลว่าผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ผลงานเด่นของทาสพุทธทาสคืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม ตามรอยพระอรหันต์ และคู่มือมนุษย์ และยังมีผลงานอื่น ๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อชนรุ่นหลังในการศึกษาศาสนาพุทธเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ท่านยังเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ

พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินฺทปญฺโญ) ได้ละสังขารอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี 67 พรรษา

หลังจากท่าพุทธทาสภิกขุมรณภาพไปแล้ว ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548 องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านส่งเสริมขันติธรรม สันติธรรม วัฒนธรรม ความสัมพันธ์และความเข้าใจอันดีของมวลมนุษย์

7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510  ‘สะพานสารสิน’ เปิดใช้งานครั้งแรก  เชื่อมแผ่นดินพังงา - ภูเก็ต 

วันนี้เมื่อ 56 ปีก่อน เป็นวันเปิดใช้งาน สะพานสารสิน เป็นครั้งแรก เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต

สะพานสารสิน เปิดใช้ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 หรือเมื่อ 55 ปีที่แล้ว เป็นสะพานแรกที่สร้างเพื่อข้ามจากจังหวัดพังงาไปจังหวัดภูเก็ต โดยเชื่อมต่อระหว่างบ้านท่านุ่นของจังหวัดพังงาและบ้านท่าฉัตรไชยของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งสะพานสารสินมีความยาวทั้งหมด 660 เมตร รับผิดชอบดูแลโดย กรมทางหลวง

สะพานแห่งนี้ตั้งชื่อตามนามสกุลของ นายพจน์ สารสิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น เริ่มสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2494 โดยเปิดให้บริษัทรับเหมาทำการก่อสร้าง แต่ปรากฏว่าการก่อสร้างในระยะแรกมีปัญหาเพราะขาดความชำนาญ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 จึงเริ่มทำการก่อสร้างสะพานอีกครั้งจนสำเร็จ และเปิดทำการได้ในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2510 โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 28,770,000 บาท

ปัจจุบัน สะพานสารสิน ไม่ให้รถยนต์สัญจรไปมาแล้ว โดยให้รถยนต์ใช้สะพานสารสิน 2 และ สะพานท้าวเทพกระษัตรีแทน

สะพานสารสินเดิม หรือ สะพานสารสิน 1 นั้นจึงถูกปรับปรุงให้เป็นสะพานคนเดินและสร้างหอชมวิวทิวทัศน์ สะพานแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัด

ทั้งนี้ สะพานสารสิน เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นสถานที่ที่เป็นตำนานความรักของหนุ่มสาวสองคนที่ไม่สมหวัง คือ โกดำ (ดำ แซ่ตัน) กับ กิ๊ว (กาญจนา แซ่หงอ) ที่มีความแตกต่างกันทางฐานะ ด้วยโกดำเป็นเพียงคนขับรถสองแถวรับจ้างและรับจ้างกรีดยาง

ขณะที่กิ๊วมีฐานะที่ดีกว่า และเป็นนักศึกษาวิทยาลัยครู โดยที่ผู้ใหญ่ทางบ้านของกิ๊วได้กีดกั้นทั้งสองคบหากัน ในที่สุดทั้งคู่จึงตัดสินใจกระโดดน้ำตายที่กลางสะพานสารสิน ด้วยการใช้ผ้าขาวม้ามัดตัวทั้งสองไว้ด้วยกัน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ซึ่งเรื่องราวของทั้งคู่โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่ว และมีการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ คือ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2530 นำแสดงโดย รอน บรรจงสร้าง และจินตรา สุขพัฒน์ และ สะพานรักสารสิน ในปี พ.ศ. 2541 นำแสดงโดย นันทวัฒน์ อาศิรพจนกุล และคทรีน่า กลอส ซึ่งเป็นละครโทรทัศน์

นอกจากนี้แล้ว ยังมีเรื่องเล่ากันว่า ในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง จะมีกระต่ายสีขาวตาสีแดงคู่หนึ่ง ออกมาอยู่คู่กันที่สะพานแห่งนี้ เชื่อว่าเป็นวิญญาณของทั้งคู่อีกด้วย

‘หลุยส์ ปาสเตอร์’ นักเคมีชาวฝรั่งเศส ทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ

วันนี้ เมื่อ 138 ปีก่อน หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ 

ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย 

จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ 

ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหน ๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น 

จากนั้นในปี พ.ศ. 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย

5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยือนนครนิวยอร์ก ปชช.กว่า 7.5 แสนคน รับเสด็จแน่นถนนบรอดเวย์

ภาพแห่งความทรงจำไทย-สหรัฐ: นครนิวยอร์กถวายการต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อย่างสมพระเกียรติ ด้วยขบวนพาเหรดสายรุ้งอันสวยงาม เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 โดยมีชาวนิวยอร์กกว่า 750,000 คนมาคอยเฝ้าชมพระบารมี แน่นถนนบรอดเวย์

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 ประชาชนกว่า 750,000 คน (จากการประเมินของเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ได้มาเฝ้ารอรับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ซึ่งประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุนมาพร้อมกับขบวนพาเหรด บนถนนโลเวอร์บรอดเวย์ (Lower Broadway) นครนิวยอร์ก โดยมีแถบกระดาษขนาดเล็กจำนวนมากโปรยปรายลงมาระหว่างการเคลื่อนขบวนเสด็จ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของการต้อนรับขบวนพาเหรดในนครนิวยอร์ก

ขบวนพาเหรดดังกล่าวกินเวลาประมาณ 20 นาที นำเสด็จจากถนนโลเวอร์บรอดเวย์ ไปถึงศาลาว่าการนครนิวยอร์ก เมื่อเวลาประมาณ 12.25 นาฬิกา

“มันอลังการมาก เราเคยเห็นการต้อนรับแบบนี้ในภาพยนตร์หลายเรื่อง และเราก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการต้อนรับแบบเดียวกัน” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสกับ โรเบิร์ต แวกเนอร์ (Robert Wagner) ผู้ว่านครนิวยอร์กในขณะนั้น

ในช่วงเวลาดังกล่าวยังอยู่ในภาวะสงครามเย็น สื่อสหรัฐฯ จึงตั้งคำถามต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งพระองค์ได้ทรงตอบว่า

“ประชาชนชาวไทยต้องการสันติภาพ สันติภาพอันมีเกียรติ…เราไม่เคยยั่วยุผู้ใด แต่เราพร้อมที่จะปกป้องตนเองจากการรุกรานจากภายนอก”

4 กรกฎาคม วันคล้ายวันประสูติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประสูติเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

พระนาม จุฬาภรณ์ หมายถึง การอัญเชิญพระนาม 'จุฬา' ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาเป็นคำต้นพระนามของพระองค์ เนื่องด้วยในวันประสูตินั้น เป็นวันมหาปีติของนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาระดับอนุบาลที่โรงเรียนจิตรลดา ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ทรงได้รับการปลูกฝังทางศิลปะ นาฏศิลป์และดนตรี จากพระอาจารย์ทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทั้งยังทรงสนพระทัยวิชาคำนวณและวิทยาศาสตร์ ขณะเดียวกันโปรดศึกษาวิชาภาษาต่างประเทศ และวิชาศิลปะควบคู่กันไป โดยทรงเลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ ในระดับมัธยมปลาย เพื่อนำความรู้มาต่อยอดทำประโยชน์เพื่อความสุขของประชาชน

เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลาย ทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาอินทรีย์เคมี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทรงสอบได้ที่ 1 ในวิชาเคมีและชีววิทยา ทั้งยังทรงได้รับรางวัลเรียนดีจากมูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ

พ.ศ.2528 ทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอินทรีย์เคมี มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ยังทรงสำเร็จการอบรมระดับหลังปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยอูล์ม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

พ.ศ.2550 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

พ.ศ.2557 ทรงสำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพสัตวแพทย์ (หลักสูตรนานาชาติ) จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำความรู้ไปช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ

ทรงมีพระธิดา 2 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอทิตยาทรกิติคุณ

สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ทรงอุทิศพระวรกายเพื่ออาณาประชาราษฎร์ให้มีความสุข อยู่ดีกินดี และร่วมพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ไม่ว่าจะในแขนงใด

ด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์นั้น ทรงมีพระราชปณิธานในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาประเทศ โดยทรงแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับต่างประเทศในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ ทำให้เป็นที่ประจักษ์ของชาวโลก

ทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ จากยูเนสโก ในปี พ.ศ.2530

ทรงก่อตั้งมูลนิธิจุฬาภรณ์ขึ้น ก่อนพัฒนาเป็นสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ต่อมา เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัย ทั้งทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ให้บริการทางการแพทย์และการเงินแก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ ทำให้ทรงได้รับการยกย่องเป็น เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์

ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) และได้เสด็จฯไปทรงร่วมกับหน่วยแพทย์เคลื่อนที่มูลนิธิ พอ.สว. ให้การรักษาแก่ผู้ป่วยทุกภูมิภาคของไทย

ทรงมีพระเมตตาแผ่ถึงบรรดาสัตว์ป่วยอนาถา ทรงรับเป็นประธานกรรมการขับเคลื่อนการดำเนิน “โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ทั้งยังมีพระดำริให้ก่อตั้งโรงพยาบาลสัตว์ขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศด้วย

พระอัจฉริยภาพด้านศิลปวัฒนธรรมของพระองค์ยังได้ฉายชัด ทรงดนตรี ทรงขับร้องเพลง ทรงนิพนธ์เพลง ทรงวาดภาพ และทรงออกแบบเครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย ทรงเชี่ยวชาญเปียโน และกีตาร์

พ.ศ.2543 ขณะเสด็จฯ ไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐบาลจีนได้บรรเลง 'กู่เจิง' ถวาย ทำให้ทรงประทับใจและมุ่งมั่นศึกษา ฝึกซ้อมอย่างจริงจัง จนถึงระดับสูงสุด โดยทรงมีพระดำริให้จัดการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม 'สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน' กระชับสัมพันธไมตรีไทยกับจีน

ทรงออกแบบเครื่องประดับผนวกกับงานการกุศล เช่นโครงการ 'ถักร้อย สร้อยรัก' และโครงการ 'ดร.น้ำจิต' นำรายได้สมทบทุนมูลนิธิจุฬาภรณ์ ทั้งยังทรงจัดนิทรรศการภาพวาดฝีพระหัตถ์ของพระองค์เองด้วย

ด้านการศาสนา ทรงดำรงพระองค์เป็นพุทธมามกะ และพุทธศาสนูปถัมภก เอาพระทัยใส่ในพุทธศาสนา ทั้งยังทรงเป็นประธานของโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมเจดีย์ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน) ณ วัดป่าบ้านตาด

เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศกระแสพระบรมราชโองการเฉลิมพระนาม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เป็น "สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี" เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ใบมะตูม ทรงเจิม พระราชทานพระสุพรรณบัฏและเหรียญรัตนาภรณ์ ร.10 ชั้นที่ 1


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top