11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ‘กบฏบวรเดช’ การก่อกบฏครั้งแรกของชาติไทย ศึกชิงอำนาจ ‘ขุนนางเก่าฝ่ายอนุรักษ์ฯ กับ คณะราษฎร’
เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เกิดขึ้นในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ถือเป็นการก่อกบฏครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมกับฝ่ายคณะราษฎรผู้ทำการอภิวัตน์การปกครองในปี 2475
โดยคณะทหารในนาม “คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดย “พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม “พลตรี พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ)” “พลตรี พระยาทรงอักษร (ชวน ลิขิกร)” และ “พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)” ได้นำกองกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา บุกเข้ายึดดอนเมืองและพื้นที่ทางด้านเหนือของพระนคร โดยตั้งกองอำนวยการใหญ่อยู่ที่สโมสรทหารอากาศ กรมอากาศยาน ดอนเมือง ระหว่างวันที่ 11 - 25 ตุลาคม 2476
แล้วยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่พอใจที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์)” ซึ่งคณะผู้ก่อการมองว่ามีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ กลับมาร่วมคณะรัฐบาล
“พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ตอบปฏิเสธและส่งกำลังกองผสมนำโดย “หลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป.พิบูลสงคราม)” เข้าปราบปรามจนได้ชัยชนะในวันที่ 25 ตุลาคม 2476
จากนั้น “พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช” ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้าง “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ “อนุสาวรีย์หลักสี่”) ขึ้นที่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฏในครั้งนี้