Monday, 19 May 2025
NEWS FEED

สแกนสิงคโปร์ 70% ของคนส่วนใหญ่เป็นคนชนชั้นกลาง ไม่รวยพอจะซื้อบ้าน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่แพงมากในสิงคโปร์

(6 มี.ค.67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความแชร์มุมมองของคนสิงคโปร์ ที่คนชาติอื่นมักมองว่ามีฐานะกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่จริงเสมอไป จากช่อง YouTube 'Asian Boss' ไว้ว่า...

70% ของคนสิงคโปร์เป็นคนชนชั้นกลาง ไม่รวยพอจะซื้อบ้านซึ่งถือเป็นสิ่งที่แพงมากในสิงคโปร์

บ้านสามห้องนอนพื้นที่ใช้สอย 135 ตารางเมตร ราคาอยู่ที่ 37 ล้านบาท คนสิงคโปร์ส่วนมากซื้อไม่ไหว และไม่คิดว่าชาตินี้จะมีทางซื้อไหว

ถ้าคิดจะซื้อบ้านจริง ๆ ชนชั้นกลางสิงคโปร์มองว่าต้องไปหาซื้อที่ประเทศอื่น เช่น ไทย, เวียดนาม, อินโดฯ

แม้แต่คนที่ทำงานในวงการแพทย์ (ทำงานด้านฉายรังสี) บอกเองว่า ไม่น่าจะมีปัญญาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตัวเอง ถ้าป่วยหนักถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล

ดู ๆ แล้วชนชั้นกลางไทยสบายกว่าชนชั้นกลางสิงคโปร์ โอกาสมีบ้านหลังเล็กมีมากกว่าคนสิงคโปร์ที่ถ้าไม่รวยจริงอยู่คอนโดทุกคน

มองได้ว่าสิงคโปร์คล้าย ๆ เกาหลี คือ ทำประเทศพัฒนาไปเร็วมาก จนคนส่วนมากรวยตามไม่ทัน 

รัฐบาลได้โม้ว่าประเทศเจริญ แต่คนในประเทศไม่ได้รู้สึกว่าชีวิตอยู่สบาย อยู่เพื่อทำงาน ไม่ได้อยู่เพื่อสบาย

เวลาคนเกาหลีหรือสิงคโปร์โม้เรื่องประเทศ ให้ถามว่ามีบ้านอยู่ป่าว หน้าจะจ๋อยขึ้นมาทันที

'ดร.หิมาลัย' แชร์มุมมอง!! หลัง 'วุฒิสภา' ลงมติลับขวาง 'บิ๊กจ้าว' นั่ง 'ป.ป.ช.' เหตุใดจึงยกเกณฑ์เทียบตำแหน่ง 'ผบช.น.' ไม่เทียบเท่า 'อธิบดี' มาชี้วัด

จากกรณี วุฒิสภา ลงมติลับ มีมติ 88 ต่อ 80 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่เห็นชอบให้ 'บิ๊กจ้าว' พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย สว.ส่วนหนึ่ง มองว่า ตำแหน่ง 'ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล' ไม่เทียบเท่าได้กับตำแหน่ง 'อธิบดี' และคุณสมบัติต่างๆ ไม่เข้าเกณฑ์นั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตอบโต้ สว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ตำแหน่ง ผบช.น ไม่เทียบเท่าอธิบดี ระบุว่า...

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับกรณีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว  

โดยตามข่าวมีการกล่าวอ้างว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ถกเถียงปัญหาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.ของ พล.ต.ท.ธิติฯ เพราะ มาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า...

“ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี” 

แต่ตำแหน่ง ผบช.น. นั้น สว.หลายคนเห็นว่าไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี 

ทั้งนี้ แม้จะอ้าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ. และระเบียบ ก.ตร. ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติฯ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 88 ต่อ 80 ไม่ออกเสียง 30 ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา 

ด้วยความเคารพต่อมติที่ประชุมของวุฒิสภา หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ปรากฏตามเนื้อหาข่าวข้างต้น โดยมีการยกประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติของ พล.ต.ท.ธิติฯ ผบช.น. มาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยเห็นว่าตำแหน่ง ผบช.น. ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี นั้น กระผมด้วยความบริสุทธิ์ใจขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

*** 1. พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 

มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย...

*** 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี...”    

มาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 9 ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย...

- ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
- ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
- ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
- บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 

ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา...”

มาตรา 16 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด 

พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 

- มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ
- มาตรา 4 ในการพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี อย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้...

(1) เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
(2) เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
(3) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ

มาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการเทียบตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี สำหรับใช้กับข้าราชการในส่วนราชการของตน โดยการวางระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในมาตรา 4 รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการเทียบตำแหน่งข้าราชการในส่วนราชการของตนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนั้น ...”

*** 3. ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563    

*** 4. การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้...

- เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
- เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
- เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยสามารถพิจารณาได้จากภารกิจ อำนาจหน้าที่ ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามที่ปรากฎในกฎหมาย และได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามกฎหมายว่าด้วยการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ

เมื่อพิจารณา มาตรา 9 วรรคสอง (2) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา มี 2 กรณี คือ...

(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี  หรือ 
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 

ซึ่งในกรณีของข้อ 1. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ไม่มีประเด็นหรือข้อสงสัย 

แต่ในกรณีของข้อ 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นั้นเห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานทางราชการของประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน ซึ่งมีโครงสร้างและมีชื่อเรียกหัวหน้าส่วนราชการแตกต่างกันไป และไม่ได้มีชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการว่าอธิบดี และบางหน่วยงานมีลักษณะของโครงสร้างหน่วยงานที่ใหญ่โต มีหน่วยงานหรือส่วนราชการในสังกัด และกำลังพลภายใต้การบริหารงานและการบังคับบัญชาจำนวนมาก แต่ละหน่วยย่อยได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถบริหารงบประมาณได้เองโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ ฯลฯ ซึ่งมีกำลังพลหลักแสนนาย 

ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า คือ ตำแหน่งใดบ้าง จึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ที่มีเจตนารมณ์ในการประกาศใช้คือ เป็นหลักเกณฑ์กลางในการเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการอื่นกับตำแหน่งอธิบดี เพื่อให้การปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ที่ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' (หมายถึง หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ) กับมาตรา 4 (หลักเกณฑ์การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) และ มาตรา 5 (กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) 

โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก.ตร. ได้ออกระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 แล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ทุกประการ โดยได้กำหนดบัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อ 27 เม.ย.63 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 16 มี.ค.63 สรุปได้ว่า...

'ตำแหน่งระดับ' >> "ผู้บังคับการ, ผู้บัญชาการ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเมื่อระเบียบดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่งแล้ว (คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ฯ) บัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป เทียบได้กับหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว 

การที่ สว. เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระนั้น จึงไม่อาจเห็นพ้องด้วย 

ดังนั้น ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ย่อมเป็นผู้มีคุณสมบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2661 มาตรา 9 วรรคสอง (2) 

นอกจากนี้ ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด โดยที่คณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการสรรหาแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่สำคัญของประเทศและมีตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน 

ดังนั้น หากมีประเด็นปัญหาข้อขัดข้องเรื่องการเทียบตำแหน่งอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาเทียบตำแหน่งจนได้ข้อยุติและเป็นที่สุด 

ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ออกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2561 ส่วน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ได้ออกบังคับใช้ปี พ.ศ.2562 ภายหลัง พ.ร.ป.ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลักการพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองตรวจทานเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เนื้อหาหรือข้อความขัดหรือแย้ง กับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้าแล้ว

เมื่อ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 มาตรา 3 ได้ให้นิยามของคำว่า 'ส่วนราชการ' หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ จึงสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) ที่บัญญัตติว่า ...

"......หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี" แล้ว ... กระผมจึงเห็นว่า พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และ ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ครอบคลุมถึง องค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ป.ป.ช. ด้วยการที่ สว. พิจารณาว่า พ.ร.บ.ฯ และระเบียบ ตร. ดังกล่าวซึ่งเทียบตำแหน่ง 'ผู้บังคับการ' และ 'ผู้บัญชาการ' ให้เทียบเท่าอธิบดีนั้นไม่สามารถใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้ 

กระผมเห็นว่าเป็นการตีความที่แคบจนเกินไป!! ... ทำให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเหลือเพียงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี และหมายความรวมถึงข้าราชการฝ่ายทหารที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยด้วย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถึง 5 ปี มีเพียงคนเดียว ทั้งตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้คำว่า ..อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า... ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะจำกัดแต่เฉพาะหัวหน้าหน่วยงานเท่านั้น 

ดังนั้น การพิจารณาตีความคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรที่จะพิจารณาตีความอย่างกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านความมั่นคง และด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประเทศชาติต่อไป  

อนึ่ง การลงบทความของกระผมครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย ไม่ได้พาดพิงหรือต้องการกระทำให้บุคคลใดได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการแสดงออกในแง่มุมของกฎหมายที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอบคุณครับ

สมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567

ที่สโมสรกองทัพบก ห้องเทวกรรมรังรักษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน กรุงเทพมหานคร สมาคมสื่อสร้างสรรค์ เพื่อสังคม จัดงานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ภายใต้โครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 ณ สโมสรกองทัพบก 

นายอภิรัฐ กุนกันไชย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม จัดโครงการ มอบโล่ประกาศเกียรติคุณ ภายใต้โครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดิน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยมีทางคณะผู้บริหารสื่อสิ่งพิมพ์ จำนวน 8 องค์กรเข้าร่วมในโครงการครั้งนี้ อาทิ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์สยามโฟกัสไทม์ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 4 เหล่าทัพ ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ ผู้บริหาร TODAY NEWS ผู้บริหารหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ ผู้บริหาร หนังสือพิมพ์ ข่าวกระทรวง  ผู้บริหาร สำนักข่าว ทั่วไทย New ผู้บริหาร สำนักข่าว ข้าราชการไทย ผู้บริหาร สำนักข่าว วิหคนิวส์ ชมรมสื่อออนไลน์สร้างสรรค์ 

ภายในงานยังได้รับเกียรติจากท่าน พล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตราชองครักษ์พิเศษ อดีตสมาชิกวุฒิสภาและอดีตที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน พร้อมทั้งเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แก่บุคคลที่ทำคุณประโยชน์เเก่สังคม จำนวน 38ท่าน

ได้แก่ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ท.วัชระ ฤทธาคนี อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ นายยุคล วิเศษสังข์ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการข่าวสถานีโทรทัศน์ เนชั่นทีวี นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ นักกฎหมาย นักวิชาการด้านกฎหมาย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยภาคที่ 4 นางสาวกิรัน บาลา ชานเกอร์ ประธานมูลนิธิ กิรัน แคร์ เป็นต้น

โดยทางด้าน นายอภิรัฐ กุนกันไชย นายกสมาคมสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม ในฐานะผู้ริเริ่มจัดงาน กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาส จัดโครงการ บุคคลสร้างสรรค์แห่งปี คนดีของแผ่นดินครั้งที่ 1 โดยร่วมกับ พันธมิตร 8 องค์กรสื่อ ร่วมกันจัดงานขึ้นในครั้งนี้ โดยรางวัลนี้ที่มอบให้แก่บุคคลที่ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่า และเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคคลที่อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวมโดยไม่หวังผลตอบแทน ผลักดันให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้า เปรียบเสมือนเสาหลักของสังคมเป็นผู้เสียสละอุทิศตนทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนรุ่นต่อไป

เชียงใหม่-คณะพยาบาลศาสตร์ มช. รับสมัครศึกษาต่อหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล (ภาคพิเศษ) ปีการศึกษา 2567

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธานี แก้วธรรมานุกูล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เป้าหมายในการผลิตผู้ช่วยพยาบาลแต่ละปีเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการให้บริการด้านระบบสาธารณสุขของประเทศไทย หลักสูตรนี้ได้การรับรองจากสภาการพยาบาล โดยผู้ช่วยพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาทุกคนจะสามารถช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยขั้นพื้นฐาน ในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ด้านการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากอันตรายต่าง ๆ สามารถติดตามและบันทึกความเปลี่ยนแปลงอาการแสดงของโรค รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์และสิ่งแวดล้อม ในการตรวจรักษาพยาบาล ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนมีทัศนคติและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลในหน่วยงานสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

คุณสมบัติ 1. เป็นผู้ที่กำลังศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่าตามหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง 2. อายุไม่ต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ นับถึงวันเปิดเรียน 3. มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งร่างกาย จิตใจ และปราศจากโรค อาการของโรค หรือมีความพิการอันเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา

หลักสูตร 1 ปี แบ่งเป็น 2 ภาคการศึกษาปกติ และ 1 ภาคการศึกษาฤดูร้อน ภาคทฤษฎี เรียนทุกวันพุธ-วันศุกร์ เวลา 16.30–20.30 น. และวันเสาร์-วันอาทิตย์ เวลา 08.30–16.00 น. ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคปฏิบัติ ตลอดสัปดาห์ในเวรเช้า บ่าย และ ดึก ณ โรงพยาบาล และ แหล่งฝึกต่าง ๆ ภายในจังหวัดเชียงใหม่ สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

สมัครผ่านระบบออนไลน์ ระบบเปิดตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ถึงวันพุธที่ 27 มีนาคม 2567 เวลา 16.00 น. 

ผู้สนใจชมรายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครออนไลน์ ได้ที่ https://mis.nurse.cmu.ac.th/pn/
สอบถามข้อมูลโทร. 053-935025 ต่อ 11 (ในวันและเวลาราชการ)

‘คนไทย’ สรรหาทำ!! ล่าสุดผุดเมนูแปลกใหม่ ‘ตำลอดช่อง’ หลังลูกค้ารีเควสมา ทำโซเชียลแตกตื่นอยากลองแซ่บบ้าง

(5 มี.ค.67) กลายเป็นที่ฮือฮาในโลกออนไลน์ สำหรับ “ส้มตำ” เมนูจานโปรดของเหล่าสายแซ่บซี๊ด ที่ก่อนหน้านี้ มีคนออกมาแชร์เมนูครีเอท “ตำลาวลูกชิด” ให้น่ารับประทานตามสไตล์ของตัวเอง จนกลายเป็นไวรัลดัง

ล่าสุด ก็ถือกำเนิดเมนูส้มตำรูปแบบใหม่ โดยทางเพจ ‘Very Good Coffee’ ได้โพสต์ภาพเมนูที่ลูกค้าสั่ง ตำลอดช่อง แถมใส่ไข่มุก และลูกชิด พร้อมระบุว่า “ไม่เคยขัด จัดให้ตลอด”

แน่นอนว่า เรื่องกินคนไทยไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก เมื่อแชร์ออกไปกลายเป็นเมนูไวรัล คนแห่กดไลก์กว่า 9,000 ครั้ง

โดยส่วนใหญ่ต่างตะลึง เพราะไม่เคยเห็นเมนูดังกล่าวมาก่อน หลายคนถึงกับน้ำลายแตก อยากลิ้มลองรสชาติที่คาดไม่ถึง

ถึงขั้นมีผู้ใช้ Tiktok ‘kp_talonlak’ ได้ทดลองทำเมนู ‘ตำลอดช่อง’ ลิ้มลองเลยทีเดียว

โดยเธออธิบายถึงรสชาติไว้ว่า “มีคนบอกให้ลองทำตำเส้นลอดช่องกินดูค่ะ เขาบอกว่ามันน่าจะอร่อยนะ

แต่แพรว่าเส้นลอดช่องที่เป็นสีขาวน่าจะอร่อยกว่ารสใบเตยนะ จากนั้นเราจะมาลองชิมกันดู มันมีกลิ่นใบเตยตอนที่เรากำลังเคี้ยวอยู่ด้วยค่ะ ส่วนตัวว่าก็พอได้นะคะ แต่อาจจะไม่ซ้ำค่ะ”

โดยคอมเมนต์บางส่วนบอกว่า…

- ตอนแรกมองเป็นพริก แอบตกใจ แต่น่าลองนะคะ ดูแปลก ๆ ดี
- ใครคิดเนี่ย หาทำมากก
- ตามไม่ทันละ
- ข่อยอยากไปกินเด้
- นึกว่าพริก

'รสนา' สงสัย!! จดหมายเปิดผนึกของผู้ใหญ่ 3 ท่านถึงนายกฯ สงสัยห่วงใยประชาชน หรือห่วงใยผลประโยชน์ของใครกันแน่

(5 มี.ค. 67) นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

ดิฉันออกจะผิดหวังกับข้อเสนอของผู้หลักผู้ใหญ่ 3 ท่านที่เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกรัฐมนตรี อ้างความห่วงใยในความเสียหายทางเศรษฐกิจของชาติที่เกิดจากนโยบายพลังงานของรัฐบาลจำนวน 5 ข้อ 

โดยภาพรวมของประเด็นความห่วงใยของพวกท่าน ล้วนเป็นความห่วงใยต่อผลประโยชน์ที่จะกระทบทุนพลังงานเป็นหลัก มิได้ห่วงใยประชาชนที่ต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ค่าไฟแพงและค่าก๊าซหุงต้มที่แพงเกินสมควรตลอดมา ใช่หรือไม่

ข้อที่ 1) ท่านห่วงกรณีเรื่องกองทุนน้ำมันติดลบเพราะรัฐบาลนำไปตรึงราคาดีเซล และลดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 1บาท/ลิตรในผู้ใช้เบนซิน เพื่อลดภาระบนหลังของผู้ใช้เบนซินลงบ้าง แต่พวกท่านไม่เห็นด้วย โดยอ้าง 'ตรรกะดึกดำบรรพ์' ที่ว่า น้ำมันราคาถูก จะทำให้ประชาชนไม่ประหยัด ซึ่งเข้าทางตลาดโลกของผู้ประกอบการ ที่หาทางล้วงส่วนต่างค่าน้ำมันที่มีราคาลดลงตามตลาดโลก แต่ไม่ลดให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โยกไปไว้ในค่าการตลาดบ้าง ย้ายไปไว้ในน้ำมันเอทานอลให้แพงขึ้นโดยไร้การตรวจสอบ จะได้ไม่ต้องลดราคาน้ำมันให้ประชาชน ตามราคาตลาดโลก ด้วยข้ออ้าง น้ำมันแพง ประชาชนจะได้ประหยัด ใช่หรือไม่ !?! 

ดิฉันขอย้ำว่ากองทุนน้ำมันตามกฎหมายคือ เงินที่ประชาชนสะสมไว้ช่วยเหลือตัวเองในยามราคาน้ำมันแพงจากตลาดโลก แต่ปัจจุบันน้ำมันแพงไม่ได้มาจากราคาตลาดโลก แต่มาจากกลไกบวกเพิ่มของผู้ประกอบการ ทั้งค่าการตลาด ราคาน้ำมันชีวภาพ และรวมถึงค่าการ กลั่นด้วย โดยมีกองทุนฯ เป็นเงินประกันกำไรให้ผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่

ถ้าพวกท่านห่วงใยประชาชน ไม่อยากเอากองทุนน้ำมันมาตรึงราคาดีเซล ก็ควรเสนอให้ตัดน้ำมันไบโอดีเซลที่เติมในดีเซล 7% ออกไปทำให้ลดราคาน้ำมันลงได้ 2.42 บาท/ลิตร สามารถคงราคาดีเซล 30 บาทโดยไม่ต้องขึ้นราคาดีเซลเป็น 32 บาท ให้เป็นภาระแก่ประชาชน

ราคาน้ำมันลดลงได้อีกถ้าให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันลดกำไรส่วนเกินของตนเองลงไปบ้าง เหมือนสมัยที่ปตท.ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ เวลาค่าการกลั่นพุ่งสูงขึ้นตามความผันผวนตลาดโลก กพช.ก่อนยุคปตท.ถูกแปรรูป เคยมีมติ (การประชุมครั้งที่ 8/2543) ว่า "ในช่วงที่ภาวะตลาดน้ำมันผิดปกติ ทำให้ค่าการกลั่นมีความผันผวนมาก ให้ ปตท.และโรงกลั่นไทยออยล์ ใช้หลักการบริหารค่าการกลั่นและค่าการตลาด โดยนำส่วนลดค่าการกลั่นมาช่วยตรึงหรือลดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงมิให้สูงขึ้น ซึ่งเป็นการบริหารความผันผวนของตลาด" โดยไม่ได้ใช้กองทุนน้ำมันมารับภาระชดเชยค่าน้ำมันแพงตลอดเวลา ผู้ประกอบการมีส่วนช่วยด้วย แต่ปัจจุบันล้วนแต่เงินกองทุนน้ำมันที่เป็นเงินประชาชน ผู้ประกอบการรับแต่กำไร ใช่หรือไม่

ช่วงปี 2566 ที่โรงกลั่นได้กำไรอู้ฟู่จากค่าการกลั่นที่ผันผวนในตลาดโลก กพช.และนายกฯ ในรัฐบาลก่อนไม่หือ ไม่อือ ทั้งที่ควรใช้เครื่องมือของกระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอยจากโรงกลั่นน้ำมันมาชดเชยให้น้ำมันถูกลง แต่รัฐบาลก็ปล่อยให้โรงกลั่นได้กำไรค่าการกลั่นสูงถึงลิตรละ 8 - 11 บาท ทั้งที่ค่าการกลั่นบวกกำไรในเวลาปกติ ลิตรละ 1.50 บาทก็ใช้ได้แล้ว พวกท่านก็ไม่เคยออกมาเรียกร้องสักแอะให้ประชาชนเลย ใช่หรือไม่ 

ประชาชนคงออกมาแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน ถ้าท่านจะแนะนำท่านนายกฯ ให้รัฐบาลยกเลิกการคิดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นที่บวกต้นทุนเทียมเสมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ (Import Parity) ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในประเทศไทย 100% ในอดีตรัฐบาลเคยให้แรงจูงใจโรงกลั่นสมัยแรกตั้งโรงกลั่น เพื่อให้มีกำไรมากขึ้นในช่วงเริ่มกิจการ แต่นั่นมันก็เป็นเวลาเกือบ 30 ปีมาแล้ว ปัจจุบันควรยกเลิกแรงจูงใจนี้ได้แล้ว จะได้ลดภาระบนหลังของประชาชนลงบ้าง ท่านก็ไม่เรียกร้องให้ประชาชนบ้างเลย ใช่หรือไม่ 

แม้ บมจ.ปตท.เป็นบริษัทเอกชนมหาชน แต่รัฐถือหุ้นเกิน 51% รัฐบาลสามารถสั่งการ บมจ.ปตท.ให้ควบคุมค่าการกลั่น ค่าการตลาดที่เหมาะสมตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ดีเซลลิตรละ 1.50 บาท และเบนซินลิตรละ 2 บาท ก็จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงได้ลิตรละ 2-3 บาทโดยไม่ต้องไปล้วงกองทุนน้ำมันเลยก็ได้ ใช่หรือไม่

ข้อที่ 2) ท่านวิจารณ์การลดค่าไฟ โดยการให้ กฟผ. ยืดหนี้ เป็นวิธีแก้ที่จะสร้างภาระหมักหมมหนี้ในอนาคต ข้อนี้ดิฉันเห็นด้วย 

การแก้ปัญหาค่าไฟแพงสำหรับประชาชน ไม่ควรต้องให้ กฟผ.มาแบกรับภาระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องชั่วคราว ท่านก็ควรเสนอวิธีแก้ปัญหาระยะยาวที่ต้นเหตุคือให้รัฐบาลหยุดทำสัญญาซื้อไฟเพิ่มจากเอกชน เพราะปัจจุบันเรามีสำรองไฟฟ้าเกินมาตรฐานมากกว่า 50% แล้ว ทั้งที่ควรมีสำรองไว้แค่ 15% ตามหลักเกณฑ์ทึ่เหมาะสม ประเด็นนี้ต่างหากที่เป็นสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ค่าไฟแพง เพราะการสำรองไฟมากเกินไป อุ้มเอกชนมากเกินไป โดยจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตลอดอายุสัญญา 25 ปีให้เอกชน จึงควรเสนอรัฐบาลเจรจาเอกชนที่ได้กำไรคุ้มทุนแล้ว ลดค่าความพร้อมจ่ายลง 

นอกจากนี้ควรสนับสนุนรัฐบาลให้รีบเปิดทางให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาผลิตไฟลดค่าใช้จ่ายซึ่งรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ รัฐบาลแค่ลดอุปสรรคให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์บนหลังคาได้สะดวก อนุมัติให้ใช้วิธีหักลบหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ กับไฟฟ้าที่ใช้ จ่ายเงินส่วนเกินที่ใช้ไฟจากการไฟฟ้า เรียกว่าระบบ Net Metering เพียงแค่นี้ประชาชนก็ลดภาระได้มากโขแล้วโดยรัฐบาลไม่ต้องเอาภาษีมาลดค่าไฟให้ 

ท่านควรสนับสนุนนายกเศรษฐาให้รีบปฏิบัติตามมติ ครม.สมัยที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ให้ใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ควรเร่งรัดรัฐบาลให้ช่วยลดค่าไฟประชาชนด้วยวิธีนี้ ก็จะลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างเป็นจริง ดีกว่าการบีบให้กฟผ.ชะลอหนี้สินออกไปเพื่อลดค่าไฟให้ประชาชนแบบชั่วคราว ใช่หรือไม่

ข้อ 3 และ ข้อ 4 ที่ท่านผู้ใหญ่แสดงความกังวลห่วงใยคุณภาพอากาศของประเทศ แต่มาสรุปท้ายให้รัฐบาลอนุมัติโรงกลั่น 6 โรงที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สามารถขึ้นราคาน้ำมันได้นั้น

เป็นข้อเสนอที่ทำให้ผู้ฟังสะดุดกึก และทำให้ประชาชนอดคลางแคลงใจไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด พวกท่านยอมใช้เครดิตตำแหน่งฐานะทางสังคมมาทวงเงินแทนโรงกลั่นเหล่านี้!? หรือท่านถือหุ้น? รับทุน? หรือเป็นกรรมการ ฯลฯ ในบริษัทเหล่านี้หรือไม่ อย่างใด !?

ในเมื่อพวกท่านเป็นห่วงคุณภาพอากาศจากคุณภาพน้ำมัน ดิฉันก็อยากให้ท่านช่วยสอบถามบริษัทพลังงานที่ขายก๊าซ NGV ว่าปัจจุบันยังเติมก๊าซ CO2 สูงถึง 18% ในก๊าซ NGV อยู่อีกหรือเปล่า? 

สมัยที่ดิฉันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (พ.ศ 2551-2557) เคยตรวจสอบเรื่องการเติม CO2 ในก๊าซรถยนต์ NGV 18% โดยมีข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงาน อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยแต่ละแหล่งมี CO2 สูงต่ำไม่เท่ากันตั้งแต่ 14-16 % และก๊าซบนบกมี CO2 ต่ำประมาณ 2-3% เพื่อไม่ให้ค่าความร้อนแตกต่างเกินไป เลยปรับให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 ลงไป 18% เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์มีปัญหา หรือเกิดการน็อก แทนที่จะใช้เทคโนโลยีเอา CO2 ออกจากก๊าซในทะเลออกไป ผู้บริหารในกระทรวงบอกกรรมาธิการว่า ที่ทำแบบนี้เพื่อให้ธุรกิจพอจะอยู่ได้ ?!!!? 

นี่ก็ผ่านมาหลายปีแล้ว ฝากท่านผู้ใหญ่ช่วยถามว่า ยังใส่ก๊าซขยะ 18% อยู่หรือเปล่า มาตรฐานต่างประเทศให้มี CO2 ในก๊าซ NGV ได้ไม่เกิน 3% และต้องลดลงเรื่อย ๆ จนเหลือไม่เกิน 1% แต่บริษัทพลังงานของไทยเติม CO2 ถึง 18% โดยกระทรวงพลังงานอนุญาต ดูแล้วก็มีความลักลั่นกับแนวทางปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร 5 หรือไม่?

การเติม Co2 18% นอกจากเอาเปรียบผู้ใช้ ที่จ่ายเงินซื้อก๊าซ NGV 100% แต่ได้เนื้อก๊าซไม่ถึง 100% เพราะคนขายใส่ก๊าซขยะมาให้ 18% และก๊าซขยะพวกนั้นถูกปล่อยเป็นก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลในแต่ละปีที่ทำให้โลกร้อน ดิฉันไม่ทราบว่าท่านผู้ใหญ่เหล่านี้ ทราบหรือไม่ และผู้กำกับดูแล ได้แก้ไขแล้วหรือยัง?

ประชาชนอดสงสัยมิได้ว่า การปรับปรุงคุณภาพทั้งที่เลวลง (กรณีเติม CO2 ใน NGV) และที่อ้างว่าดีขึ้น เช่นการปรับคุณภาพเป็นยูโร 5 เป้าประสงค์หลักคือการทำกำไรของผู้ประกอบการ ใช่หรือไม่?

และการปรับน้ำมันเป็นยูโร 5 เป็นวิธีการกีดกันทางการค้าหรือไม่ เป็นการกีดกันน้ำมันราคาถูกจากที่อื่นด้วยหรือไม่?

ข้อที่ 5) ท่านอ้างว่า “ตั้งแต่ต้นปี 2567 กระทรวงพลังงานใช้กลเม็ดการคิดเลขในการหาต้นทุนที่ต่ำลงสำหรับก๊าซใน Pool Gas ที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้า โดยมิได้เป็นการจัดหาและนำก๊าซต้นทุนต่ำมาเพิ่มเติมใน Pool Gas โดยนำราคาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย (ซึ่งมีราคาต่ำกว่าราคาก๊าซจากพม่าและก๊าซ LNG) ส่วนที่เคยส่งเป็นวัตถุดิบ ไปเข้าโรงแยกก๊าซเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์คืออีเทนและโพรเพนป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เอามารวมคำนวณเป็นราคาใน Pool Gas เพื่อให้ได้ราคาเฉลี่ยสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลง ผลที่ตามมาก็คือราคาของก๊าซส่วนที่แยกไปใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบในโรงแยกก๊าซ (GSP) เพิ่มสูงขึ้นทันที อันส่งผลต่อการทำผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของปิโตรเคมีทั้งระบบเพิ่มขึ้น” นั้น

ดิฉันผิดหวังจริง ๆ ที่ท่านเห็นว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยควรจะเป็นอภิสิทธิ์ของบริษัทปิโตรเคมีที่เป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท.ได้ใช้ก๊าซในราคาถูกเท่านั้น แล้วประชาชนทั้งประเทศล่ะ ท่านไม่คิดถึงเลยหรือ?

ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็นทรัพยากรของชาติ ประชาชนควรได้ใช้ในการดำรงชีพด้วยราคาในประเทศ ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชน ควรไปแข่งขันตามกลไกตลาดเสรี การใช้แต้มต่อต้นทุนก๊าซราคาถูกเพื่อทำกำไร แต่ผลักประชาชนไปใช้ก๊าซหุงต้มราคาแพงตามราคาตลาดโลก เเล้วเอากองทุนมาชดเชย เป็นหนี้สินวน ๆ กันไป ไม่มีวันจบ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรของประชาชนไปทำกำไรให้กลุ่มทุน

แทนการล้วงเงินจากกระเป๋าประชาชนไปใส่กองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาก๊าซหุงต้มราคาตลาดโลก การขายทรัพยากรก๊าซชั้นดีที่เป็นไม้สัก ควรได้ราคาไม้สัก จะได้นำกำไรจากการขายไม้สัก หรือก๊าซชั้นดีมาชดเชยราคาให้ประชาชน เพราะที่แล้วมาการใช้เงินจากกระเป๋าประชาชนในกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม วิธีแบบนั้นไม่ใช่การชดเชยราคา แต่เป็นวิธีหลอกขายก๊าซหุงต้มให้ประชาชนแบบผ่อนส่งราคาเพื่ออำพรางกำไรที่ฉกฉวยจากทรัพยากรก๊าซในประเทศไว้ในมือของคนฝ่ายเดียว ใช่หรือไม่

ด้วยวิธีนี้จะเป็นการจัดสรรทรัพยากรก๊าซในอ่าวไทยที่มีความเป็นธรรมต่อประชาชนในฐานะเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน ส่วนบริษัทเอกชนก็ขอให้ท่านใช้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดเสรีที่ท่านมักพร่ำพูดอยู่เสมอว่าราคาพลังงานในประเทศเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี 

การสร้างสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ไม่ใช่มาจากบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่มาจากการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ที่เป็นการบริโภคภายในประเทศของประชาชน ซึ่งมีมูลค่าถึงครึ่งหนึ่งคือ 50% ของ GDP เลยทีเดียว การทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ด้วยการลดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ราคาพลังงานไม่สูงเกินจริงลงไป จะเป็นการช่วยเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน 

จึงขอให้ท่านผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนี้ และท่านนายกรัฐมนตรีช่วยพิจารณาให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนคนเล็กคนน้อยในประเทศนี้ด้วย

นราธิวาส - กิจกรรมพบปะเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนรอมฎอนสันติสุข และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

ณ ห้องประชุมหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ค่ายกัลยาณิวัฒนา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส จัดกิจกรรมพบปะเพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนรอมฎอนสันติสุข และส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม ประจำปี ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยมี วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีที่ดี ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา กับพี่น้องประชาชนไทยมุสลิม และพี่น้องประชาชนไทยพุทธในพื้นที่ 

พร้อมทั้งเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจการปฏิบัติงาน ก่อนเข้าเดือนรอมฎอนที่จะนำความรู้ ทางด้านศาสนา วิธีชีวิตและหลักการปฏิบัติต่างๆในเรื่องข้อห้าม ข้อจำกัดตามประเพณีวัฒนธรรม เกี่ยวกับเดือนรอมฎอน และการส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรในพื้นที่ นำไปปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ และเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และลดเงื่อนไขในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ อันนำไปสู่การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลหนุนเสริมกระบวนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี อย่างยั่งยืนตลอดไป โดยมี นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชจังหวัดนราธิวาส เป็นประธาน พร้อมด้วย พระโสภณคุณาธาร เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ผู้แทนคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจหมายเลขประจำพื้นที่ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ ผู้แทนสถานีตำรวจภูธร และกลุ่มมวลชนในพื้นที่ เข้าร่วมกิจกรรม 

ทั้งนี้ พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส กล่าวว่า การพบปะสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ เป็นตามนโยบาย ของ พลโท ศานติ  ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  ที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการปฏิบัติศาสนกิจอันดีงามของพี่น้องมุสลิม ที่ปฏิบัติตนด้วยการแสดงความเคารพภักดี และเชื่อฟังอัลลอฮฺ ซึ่งในเดือนรอมฎอนมีความสำคัญสำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมเป็นอย่างยิ่ง เพื่อต้องการให้เราทำทานมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคัมภีร์กุรอ่านให้มากยิ่งขึ้น 

จึงถือเป็นเดือนที่จูงใจให้ผู้ศรัทธาทำความดีทั้งปวงกว่าเดือนอื่นๆ หัวใจจะจดจ่ออยู่กับการแสดงความเคารพภักดี หมั่นทำอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ หน่วยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนให้พี่น้องมุสลิมประกอบศาสนกิจอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการสร้างความรัก ความสามัคคี พร้อมที่จะส่งเสริม สนับสนุน การปฏิบัติศาสนกิจอันดีงามของพี่น้องไทยมุสลิมด้วยจิตใจที่เมตตา และเข้าใจต่อการปฏิบัติตนในห้วงเดือนรอมฎอนร่วมกันสร้างสันติสุข ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนี้ ได้มอบอินทผลัม และสิ่งของเครื่องบริโภค ให้แก่ผู้นำศาสนา เพื่อนำไปมอบให้แก่พี่น้องมุสลิมไว้ใช้การละศีลอด (เปิดปอซอ) ในช่วงเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445  ต่อไป

กองทัพเรือ เปิดการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567

วันนี้ 5 มี.ค.67 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกกอง ทัพเรือ ประจำปี 2537 ณ สนามฝึกกองทัพเรือ หมายเลข 15 หาดยาว แสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ และผู้บังคับบัญชาในกองอำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567  ให้การต้อนรับ ในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบโอวาทให้กับกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึก และร่วมชมการสาธิตการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งมีการประกอบกำลังจากหน่วยกำลังรบ และหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ ในกองทัพเรือมาเข้าร่วมปฏิบัติการฝึก เป็นการปฏิบัติการต่อต้านกำลังรบยกพลขึ้นบก กำลังปฏิบัติการพิเศษ และอาวุธจากเรือผิวน้ำและอากาศยาน นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการป้องกันพื้นที่สำคัญบนฝั่ง ด้วยกำลังต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อีกด้วย

กองทัพเรือได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปี มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยเป็นการฝึกในสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นการป้องกันประเทศ สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ในปีนี้ จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 20 พ.ย.66 - 1 ส.ค.67 โดยมีกำลังทางเรือประเภทต่าง ๆ เข้าร่วมการฝึก ได้แก่ เรือผิวน้ำ 20 ลำ เครื่องบิน 4 เครื่อง เฮลิคอปเตอร์  6 เครื่อง อากาศยานไร้คนขับ 2 ระบบ และกำลังพลจากหน่วยงานต่างๆของกองทัพเรือ ส่งเข้าร่วมการฝึก 1,500 นาย มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก แบ่งการฝึกเป็น 2 ส่วน คือ การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise: CPX) เพื่อฝึกการควบคุมบังคับบัญชา และทดสอบแนวความคิดในการใช้กำลังและหลักนิยมต่างๆ ของหน่วยบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ และการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (Field Training Exercise: FTX) เป็นการฝึกปฏิบัติจริงของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการ อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และการป้องกันฝั่ง ซึ่งกำลังทางเรือต้องฝึกการปฏิบัติทางยุทธวิธี ตามสาขาปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสารและสงครามไซเบอร์ ทั้งนี้ จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น - สู่ อากาศ แบบ ESSM การฝึกยิงตอร์ปิโด การฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน 

นอกจากอากาศยานของกองทัพเรือแล้ว กองทัพอากาศยังได้จัดส่งเครื่องบินขับไล่แบบ JAS-39 Gripen (บข.20) และเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนภัยทางอากาศ SAAB 340 AEW (บ.ค.1) เข้าร่วมในการฝึกการป้องกันภัยทางอากาศและการโจมตีเรือในทะเล นอกจากนั้นยังมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วยและการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศ ที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย 

โดยผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือนั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และเหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติ ได้อีกด้วย

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี รายงาน 0909535645

'บิ๊กฮั่น' รับ!! กลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ ซึ้งใจ 'มาดามแป้ง' รับฟังปัญหา-ทำงานโปร่งใส ขออนุมัติเงิน 40.5 ลบ. หนุนไทยลีก 2-3 ช่วยประคองหยาดเหงื่อทุกทีม

(5 มี.ค. 67) 'บิ๊กฮั่น' มิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสรสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Miti Tiyapairat' ยอมรับว่าตนถึงกับกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ เมื่อ 'มาดามแป้ง' นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ ขออนุมัติเงินจำนวน 40.5 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายให้กับเหล่าบรรดาทีมในศึกไทยลีก 2 และ ไทยลีก 3

โดย 'มาดามแป้ง' ยืนยันในที่ประชุมสภากรรมการ ว่า ทีมจาก ไทยลีก 3 ทางสมาคมฯ ได้อนุมัติเงินสนับสนุนงวดที่ 2-4 (ครบ) จำนวน 72 ทีม ๆ ละ 375,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000,000 บาท ขณะที่ทีมจาก ไทยลีก 2 อนุมัติเงินสนับสนุน งวดที่ 2-3 จำนวน 18 ทีมๆ ละ 750,000บาท รวมเป็นเงิน 13,500,000 บาท

"วันนี้เป็นการประชุมสภากรรมการครั้งแรก ที่มีพี่แป้งเป็นนายกสมาคม

"สิ่งที่ผมรู้สึกและรู้สึกประทับใจมาก ๆ คือความรวดเร็วในการทำงาน ความโปร่งใสในการนำข้อมูลทุกอย่างมาวางบนโต๊ะ และที่สำคัญคือการเปิดรับฟังความคิดเห็น ที่สภากรรมการได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

"เราได้เห็นปัญหา เราได้รับฟังข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลขทั้งรายรับ รายจ่าย รวมไปถึงเงินคงเหลือในแต่ละบัญชีของทั้งสมาคมและบริษัทไทยลีก

"เราได้รับรู้สัญญาของคู่สัญญาของสมาคมและไทยลีก เนื้อหาของสัญญาเป็นอย่างไร ปัญหาคืออะไร หักค่าหัวคิวเท่าไหร่

"โดยท่านนายกนวลพรรณ ได้นำมาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะตัวเลขในบัญชีที่คงเหลือเงินอยู่จำนวนหนึ่ง แล้วก็เป็นการนำเสนอของนายกสมาคม คุณนวลพรรณ ที่ได้ขออนุมัติในที่ประชุมถึงการขอมติให้นำเงินออกมาจ่ายให้กับทีมสโมสรในระดับ T2 และ T3 จำนวน 40.5 ล้านบาท

"ในแว่บแรกที่ท่านนายกได้นำเสนอตัวเลข 40.5 ล้านบาทและขออนุมัติสั่งจ่าย ผมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าแทบจะกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เพราะนี่คือหยาดเหงื่อของทุกทีม ประธานสโมสร นักเตะ สตาฟฟ์ คนดู ที่ถูกหมางเมินมานาน ในที่สุดทุกทีมก็ได้รับซักที

"นอกจากนี้อาจจะยังมีหลายเรื่องที่กำลังอยู่ในช่วงพิจารณาดังนั้นผมจึงขอเล่าคร่าว ๆ เท่านี้ก่อน

"ผมขอขอบพระคุณท่านนายกนวลพรรณ ล่ำซำ ที่ได้เล็งเห็นทุกหยาดเหงื่อของคนฟุตบอลมีค่าเป็นลำดับแรก ซึ้งใจมาก ๆ 40.5 ล้านก้อนนี้จะต่อชีวิตให้อีกหลายร้อยชีวิตได้มีกำลังใจในการทำอาชีพฟุตบอลต่อไปครับ

"รักฟุตบอลไทย ให้กำลังคนฟุตบอลไทยทุกคน

"เราจะสู้ไปด้วยกันครับ"

สืบนครบาล จับ ”เสี่ยสันต์” ลักลอบค้ากระสุนปืนเถื่อน เร่ขายให้ลูกค้าทางออนไลน์

จากสถิติอาชญากรรมที่มีการใช้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนก่อเหตุอาชญากรรมมีเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิ เหตุกราดยิงภายในห้างสรรพสินค้า , เด็กนักเรียนนักศึกษาต่างสถาบันนำอาวุธปืนไปใช้ยิงคู่อริ เป็นต้น โดยสืบสวนขยายผลจนทราบว่าผู้ก่อเหตุซื้ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเพื่อมาก่อเหตุผ่านช่องทางออนไลน์ 

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ได้ตระหนักและเน้นย้ำให้กำลังพลในสังกัดเฝ้าสืบสวนติดตามจับกุมกลุ่มเครือข่ายที่ลับลอบจำหน่ายอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนขนาดต่างๆ ทางออนไลน์และช่องทางอื่นให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง จนชุดลาดตระเวนออนไลน์ กก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ออกแกะรอยสืบสวน

วันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.พัชรพงษ์ กาญจนวัฏศรี , พ.ต.ท.นิธิ ปิยะพันธุ์ รอง ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สส.บช.น. ,พ.ต.ท.สมพงษ์ เกตุระติ สว.กก.วิเคราะห์ข่าวฯ ร่วมกันจับกุม นายสันติ์ (สงวนนามสกุล) อายุ 66 ปี ขณะขับรถกระบะส่วนตัว นำกระสุนปืนขนาดต่างๆ ไปจัดส่งพัสดุให้แก่ลูกค้าที่สั่งซื้อ บริเวณโกดังจัดส่งพัสดุบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ภายในซอยปรีดีพนมยงค์ 14 

ตรวจยึดของกลาง กระสุนปืนขนาดต่างๆได้ รวม จำนวน 31,800 นัด ซึ่งมีการบรรจุพัสดุจ่าหน้าซองผู้ส่ง – ผู้รับ เรียบร้อยเพื่อเตรียมจัดส่งให้แก่ลูกค้า นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นภายในรถกระบะซึ่งผู้ต้องหาขับมาส่งพัสดุพบ กระสุนปืนขนาด .45 จำนวน 2,500 นัด บรรจุอยู่ในกล่องห่อด้วยกระดาษที่น้ำตาลอำพราง

จากนั้นตำรวจได้นำตัวนายสันติ์ ไปที่บ้านเลขที่ 125 ซอยเจริญใจ ถนนเอกมัย แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ เพื่อตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญากรุงเทพใต้ ที่ ค 45/2567 ลงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2567 ผลการตรวจค้น พบ กระสุนปืน ขนาด .22 LR จำนวน 21,150 นัด ,กระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 1,050 นัด ,กระสุนปืน ขนาด .45 จำนวน 100 นัด ,กระสุนปืน ขนาด .38 จำนวน 1,300 นัด ,กระสุนปืน ขนาด 9 มม. จำนวน 1,650 นัด ,กระสุนปืน ขนาด .380 จำนวน 800 นัด ,กระสุนปืน ขนาด .32 จำนวน 150 นัด และกล่องพัสดุเปล่าสำหรับเตรียมบรรจุจัดส่งพัสดุ และอุปกรณ์สำหรับแพ็คส่งพัสดุ จำนวนหนึ่ง รวมกระสุนที่ตรวจค้นพบทั้งหมด จำนวน 31,800 นัด

สอบสวนนายสันติ์ หรือ สันติ์ ปรีดี ” ให้การภาคเสธ โดยให้การว่าเดิมทีตนเปิดบริษัทเกี่ยวกับขายวัสดุก่อสร้าง ต่อมาตนประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มีเพื่อนแนะนำให้เข้าไปทำงานเป็นเซลล์ในบริษัทจำหน่ายกระสุนรายหนึ่งจนมีความรู้ ทำได้ประมาณ 1 ปี จึงลาออก เนื่องจากตนมีฐานลูกค้าและได้รู้จักกับคนในวงการพอสมควรจึงสามารถติดต่อสั่งซื้อกระสุนปืนขนาดต่างๆ จากตลาดมืด เพื่อนำมาส่งขายให้แก่ลูกค้าต่างๆ ซึ่งสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top