(7 มี.ค. 67) กลายเป็นไวรัล ถกสนั่นไปทั่วโลกโซเชียลฯ เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง โพสต์ลงในกลุ่ม ‘พวกเราคือผู้บริโภค’ แชร์ประสบการณ์การทานร้าน ‘ข้าวมันไก่’ แต่กลับข้องใจไม่กล้ากิน เพราะเนื้อไก่มีลักษณะเนื้อสีชมพู ดูเหมือนไม่สุก
โดยระบุว่า “รบกวนสอบถามพี่ๆ หน่อยครับแบบนี้กินได้ไหม พอดีไปกินประจำของพี่ที่รู้จัก เรามองแล้วไม่สบายใจเลยไม่กินแต่พี่แกบอกว่ามันกินได้เลยอยากรู้ว่ามันทานได้จิงๆ หรอครับ”
งานนี้เมื่อโพสต์ดังกล่าวแชร์ออกไป ชาวเน็ตก็ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นล้นหลาม หลายคนบอกว่า เส้นบางๆ ระหว่างคอลลาเจนกับดิบ, ยังไม่สุกดีเลยนะนั้น, ไม่กล้ากินค่ะ, อันนี้คิดว่าไม่สุกเลยค่ะ
เรื่องของเมนู ‘ไก่ดิบ’ นั้นเป็นประเด็นมาหลายครั้งแล้ว และหากถามว่ากินได้จริงหรือไม่? คำตอบคือ มีการกินเมนูนี้จริงๆ ที่ประเทศญี่ปุ่น ทั้งแบบซาชิมิ และแบบทาทากิ (คือการย่างเนื้อสัตว์ให้ผิวด้านนอกสุกแต่ด้านในดิบ) โดยร้านที่ขายจะต้องมีประสบการณ์ และต้องเลือกใช้ไก่จากฟาร์มไก่แบบพิเศษ ปลอดสาร ปลอดเชื้อ และได้มาตรฐาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีชาวญี่ปุ่นที่ป่วยจากการกินไก่ดิบเป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี
ขณะที่ในเมืองไทย ยังไม่พบว่ามีฟาร์มไก่ที่ได้มาตรฐานจนถึงขนาดสามารถกินดิบได้ และนอกจากนี้ ที่มีคำแนะนำว่าไม่ควรกินเนื้อไก่ดิบก็เนื่องจากไก่เป็นพาหะของเชื้อแบคทีเรีย ‘ซัลโมเนลลา’ ซึ่งไก่สามารถมีเชื้อตัวนี้อยู่ในตัวเองโดยไม่แสดงอาการอะไร หากเราเอาเนื้อหรือไข่ดิบของไก่ที่มีเชื้อตัวนี้มากิน ก็อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรง หรือผู้ใดที่ไม่มีภูมิต้านทาน อาจถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด เสียชีวิตได้ นอกจากซัลโมเนลลา ยังมีเชื้ออีกตัวที่น่ากลัวไม่ต่างกัน คือ แคมไพโลแบคเตอร์ ที่ทำให้ท้องเสียขั้นรุนแรงได้หากกินเข้าไป รวมถึง เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ต้นเหตุของอาหารเป็นพิษ
เนื่องจากไก่ดิบมักมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนมาด้วย ซึ่งเป็นต้นเหตุของการท้องร่วง อาหารเป็นพิษ หรือการติดเชื้อในลำไส้ และในไก่ดิบ มักมีตัวอ่อนของพยาธิตัวจี๊ด เมื่อกินเข้าไปจะกลายเป็นตัวแก่ในกล้ามเนื้อ ส่งผลให้มีอาการคัน บวมแดง หรือบวมๆ ยุบๆ และเคลื่อนที่ได้ สำหรับบางคนอาจจะร้ายแรงถึงขั้นตาบอด หรือสมองอักเสบ จึงแนะนำให้กินแบบสุกเท่านั้น
กินไก่อย่างไรให้ปลอดภัย เมื่อซื้อไก่สดมา ไม่ต้องล้าง เนื่องจากการล้างไก่สดอาจทำให้เชื้อโรคที่ปะปนอยู่บนเนื้อหรือน้ำที่ซึมออกจากเนื้อไก่ กระจายออกไปปะปนสู่ภาชนะหรือวัตถุดิบอื่นๆ หากจะเก็บในตู้เย็น ให้ซ้อนถุงอีกชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ซึมออกจากเนื้อไก่ปนเปื้อนกับอาหารอื่น แนะนำให้รีบแช่ไก่สดในตู้เย็นภายใน 1 ชั่วโมง และที่สำคัญที่สุดคือควรกินไก่สุก โดยใช้อุณหภูมิสูงกว่า 75 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 5 นาที
สรุปแล้ว ไม่ควรกินเมนู ‘ไก่ดิบ’ โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และด้วยอุณหภูมิในบ้านเราที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อมากขึ้นไปอีก ฉะนั้น กินไก่สุกปลอดภัยกว่า