Sunday, 18 May 2025
NEWS FEED

เครือข่ายผู้ใช้ฯ เข้าให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า เผยบทลงโทษรุนแรงกว่าเสพยาบ้า

หนุนรัฐมนตรี 'พวงเพ็ชร' ปกป้องเด็กและเยาวชน เสนอแนวทางบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพจผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “มนุษย์ควัน” เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมยกกรณี อย.สหรัฐฯอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนและบุหรี่ไฟฟ้าขายได้อย่างถูกกฎหมาย เผยบทลงโทษจากการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนรุนแรงกว่าการเสพยาบ้า ทั้งที่ในกว่า 87 ประเทศทั่วโลกให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย

นายสาริษฏ์ สิทธิเสรีชน เจ้าของเฟซบุ๊กเพจ 'มนุษย์ควัน' ที่มีผู้ติดตามกว่า 20,000 ราย รวมทั้งเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญบุหรี่ไฟฟ้า สภาผู้แทนราษฎร พร้อมเสนอข้อมูลผลวิจัยและการศึกษาจากหน่วยงานสาธารณสุขชั้นนำ เช่น องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์อังกฤษ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา “หน่วยงานสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลกต่างชี้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนมีระดับสารพิษที่เป็นอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกายังได้ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้านั้นมีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สูบบุหรี่หากนำมาทดแทนบุหรี่มวน ข้อมูลเหล่านี้คนไทยไม่เคยได้ทราบเลย แถมมีโทษรุนแรงกว่าเสพยาบ้า” นายสาริษฏ์กล่าว

“องค์การอนามัยโลกไม่ได้บังคับให้ทุกประเทศแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่ให้แต่ละประเทศเลือกแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ ขณะนี้กว่า 87 ประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์ ล้วนอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อนถูกกฎหมาย ส่งผลให้ปัญหาในเรื่องของตลาดใต้ดินลดลง และตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนที่ลดลงในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากอย.สหรัฐนั้นเข้มงวดเรื่องการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น แต่ไม่ได้แบนเบ็ดเสร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้เข้าถึงและสามารถปกป้องเด็กและเยาวชนไปพร้อมๆ กัน ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากเด็กและเยาวชนเท่าใดนัก”

“ผมเห็นด้วยกับท่านรัฐมนตรีพวงเพ็ชรฯ ที่ประสานกับกระทรวงดีอีเอสเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้า แต่การแบนนั้นไม่สามารถทำได้จริง หากจะปิดร้านออนไลน์ 1,300 ร้านค้า วันรุ่งขึ้นก็จะมีการเปิดเพจออนไลน์ใหม่วนไปไม่รู้จบ ผมจึงขอเสนอให้ศึกษาแนวทางของอีก 87 ประเทศทั่วโลกที่บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ขณะที่ 30 กว่าประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินเดีย ออสเตรเลีย รวมถึงไทยที่แบนบุหรี่ไฟฟ้ามายาวนานกว่า 10 ปีนั้นล้วนเจอกับประเด็นปัญหามากมาย เช่นการลักลอบซื้อขายและนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า การเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือการสูญเสียรายได้ภาษีของรัฐบาล หากจะแบนต่อไปก็คงไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรให้ดีขึ้นอีกแล้วเพราะมีผู้ใช้เกือบ 1 ล้านคนในปัจจุบัน”

นายสาริษฏ์ได้ให้ความเห็นทิ้งท้ายว่า “ผู้สูบบุหรี่ไทยกว่า 10 ล้านคนกำลังคาดหวังกับคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่กำลังดำเนินการศึกษาเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบใช้ความร้อน เราหวังว่าจะได้เห็นกฎหมายการควบคุมยาสูบของไทยที่ใช้ผลวิทยาศาสตร์เป็นตัวตั้ง มีความเป็นสากล และหาจุดสมดุลให้ได้บนความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน”

'ศิษย์เก่าจุฬาฯ' ถามหามาตรฐานจุฬาฯ ปม 'ณัฐพล ใจจริง' ยังเชื่อ 'จุฬาฯ' เป็นเลิศด้านวิชาการ เคียงคู่คุณธรรม-จริยธรรม

(8 มี.ค. 67) ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Sompob Pordi’ หรือ ‘สมภพ พอดี’ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า…

“ผมเป็นนิสิตเก่าธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ไม่ได้เป็นครูอาจารย์ ไม่ได้เป็นนักวิชาการ ไม่ได้เป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา และไม่มีคุณสมบัติใด ๆ ที่จะเป็นครูอาจารย์ นักวิชาการ หรือผู้บริหารสถาบันการศึกษาได้แน่นอน

แต่ผมรู้ว่า หน้าที่และความรับผิดชอบคืออะไร ผมสามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดีได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ปกติทั่วไป

แล้วผมก็รู้ด้วยว่า จุฬาฯ ไม่ได้มีนโยบายผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพในด้านวิชาการเท่านั้น หากจุฬาฯ ยังได้ให้ความสําคัญในด้านคุณธรรม จริยธรรมของบัณฑิตที่จบจากจุฬาฯ

จุฬาฯ โดยสํานักบริหารกิจการนิสิตจึงได้ดําเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ด้านต่าง ๆ ให้แก่นิสิต เพื่อที่นิสิตจะได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกับส่วนรวมและสําเร็จการศึกษาออกไปเป็นบัณฑิตที่เปี่ยมคุณภาพทั้งความรู้และคุณธรรม 

ที่ผมรู้เพราะผมคัดลอกข้อความนี้มาจากหน้าแรกของคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ.2564 

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่าอย่างผม ตอบนิสิตเก่าคนอื่น ๆ ตอบสังคมไทยที่อุดหนุนกิจการของจุฬาฯ ผ่านภาษีของชาติด้วยว่า 

นิสิตจุฬาฯ ในระดับปริญญาเอกที่ใช้การโกหก ใช้ข้อมูลเท็จ ใช้การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ทำวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษา มีคุณธรรม มีจริยธรรม ตามเจตนารมณ์ของจุฬาฯ หรือไม่? วิทยานิพนธ์ดังกล่าวมีคุณภาพทางวิชาการตามมาตรฐานของจุฬาฯ หรือไม่?

และหากพฤติกรรมดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ วิทยานิพนธ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของจุฬาฯ จุฬาฯ จะปล่อยผ่าน จะวางเฉย จะไม่เพิกถอนปริญญาเอกที่ว่า หรือไม่? เพราะอะไร?

หากจุฬาฯ ตอบว่าไม่สามารถเพิกถอนปริญญาเอกนั้นได้ ไม่ว่าจะเพราะอะไรก็ตาม ผมขอให้จุฬาฯ เปิดคู่มือนิสิตจุฬาฯ พ.ศ. 2564 อ่านให้ดี ๆ ดูที่ข้อ 2) การสอบของนิสิต จะพบข้อความต่อไปนี้

2.2) แนวทางในการพิจารณาการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษา
1. ทุจริต และส่อทุจริตในการสอบ
 2. การคัดลอกผลงานทางวิชาการโดยไม่อ้างอิงแหล่งที่มา
 3. การให้ข้อมูลเท็จ การปลอมแปลงเอกสาร
 4. การแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ

การโกหก การใช้ข้อมูลเท็จ การแต่งเรื่องที่ไม่เป็นความจริง ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอกที่เป็นคดีความเป็นข่าวนั้น เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับการศึกษาตามข้อ 3 อย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัย

ถึงตรงนี้ จุฬาฯ ช่วยตอบนิสิตเก่ารวมทั้งผมด้วย นิสิตปัจจุบัน และสังคมไทยด้วยว่า 

จะเพิกถอนปริญญาเอกของผู้ที่กระความผิดทางการศึกษา ตามกฎ กติกา ของจุฬาฯ เอง หรือไม่? เมื่อไหร่? และหากไม่เพิกถอนปริญญาเอกดังกล่าว ทำไมถึงไม่เพิกถอน? ทำไมถึงไม่ปฏิบัติไม่บังคับใช้กฎกติกาที่จุฬาฯ กำหนดขึ้นมาเอง? และจะรับผิดชอบต่อความเสียหายของเกียรติภูมิ ชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของจุฬาฯ อย่างไร?

ผมแน่ใจและมั่นใจว่า คำถามของผมไม่ยากเกินความรู้ ความสามารถ และสติปัญญาของครูอาจารย์ ของนักวิชาการ ของผู้บริหารจุฬาฯ ที่มีหน้าที่ มีความรับผิดชอบต่อจุฬาฯ อย่างแน่นอน

“ผบ.ตร.” ชื่นชม 4 ตำรวจหญิง “พนักงานสอบสวนหญิง – ครู ตชด.” รับรางวัลสตรีดีเด่น ผลงานยอดเยี่ยม ควรค่าแก่การยกย่อง พร้อมส่งกำลังใจ ขอบคุณตำรวจหญิงทุกสายงาน เป็นกำลังสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมดูแลพิทักษ์รับใช้ประชาชน

วันนี้ (8 มี.ค.67) พ.ต.อ.หญิง ฉันฉาย รัตนพานิช รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ( ผบ.ตร. ) แสดงความชื่นชมและยินดีกับตำรวจหญิง 4 นาย ที่มีผลการปฏิบัติงาน และความประพฤติยอดเยี่ยมเป็นตำรวจหญิงที่ได้หน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อำนวยความยุติธรรม บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ควรแก่การยกย่อง ได้รับรางวัลสตรีดีเด่น เนื่องใน “วันสตรีสากล ประจำปี 2567”  ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม และในโอกาสนี้ขอแสดงความยินดีกับสตรีดีเด่นในสาขาอาชีพอื่น ๆ ด้วย

รอง โฆษก ตร. กล่าวว่า วันสตรีสากล ประจำปี 2567 มีตำรวจหญิงที่ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นสตรีดีเด่น 4 นาย จาก 2 ด้าน คือ สตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ  คือ ด.ต.หญิง จุฑาภรณ์ เคียนเขา ผู้บังคับหมู่ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 41 ปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านยางโพรง อ.ไชยา จว.สุราษฎร์ธานี และ สตรีดีเด่นด้านพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น มีพนักงานสอบสวนหญิงได้รับรางวัล 3 นาย ประกอบด้วย
ร.ต.ท.หญิง ภัทรนันท์ คำปวน รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จว.เชียงใหม่ ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับรองสารวัตร ด้านคดีอาญาทั่วไป  
ร.ต.อ.หญิง เพชรรพี พิมพ์พัฒน์ รองสารวัตร (สอบสวน) สภ.เมืองเลย จว.เลย ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับรองสารวัตร ด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เด็กหรือสตรี 
และ พ.ต.ท.หญิง เพชรรัตน์ เลิศวานิช สารวัตร (สอบสวน) สภ.บางปลาม้า จว.สุพรรณบุรี ได้รับรางวัลพนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ระดับสารวัตรขึ้นไป

“ผบ.ตร. ชื่นชมตำรวจหญิงทั้ง 4 นาย และขอบคุณความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่มาโดยตลอด มีความมุมานะ อุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสียสละ เสมอต้น เสมอปลาย มีความรับผิดชอบ รวมถึงเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม”  รอง โฆษก ตร. กล่าว

พ.ต.อ.หญิง ฉันฉายฯ กล่าวด้วยว่า ผบ.ตร.ได้เล็งเห็นความสำคัญของผู้หญิงในทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะตำรวจหญิง ซึ่งเป็นกำลังพลที่มีความสำคัญ เป็นหนึ่งฟันเฟืองหลักขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อดูแลสังคมและพี่น้องประชาชน ซึ่งตำรวจหญิงมีบทบาทในหลายสายงานทั้งในฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายสนับสนุน อาทิ พนักงานสอบสวนหญิง, ครู ตชด., นักวิทยาศาสตร์, ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน, ตำรวจจราจร, หน่วยแพทย์ พยาบาล, สันติบาล รวมถึงหน่วยปฏิบัติการพิเศษ

“เนื่องในวันสตรีสากล ผบ.ตร.ส่งกำลังใจ และแสดงความชื่นชม ไปยังข้าราชการตำรวจหญิงทุกนายในทุกสังกัดทั่วประเทศ ที่ร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่ และขอให้ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานในหน้าที่ตำรวจ เพื่อประโยชน์สุขของพี่น้องประชาชน ด้วยความสำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ต่อไป”  รอง โฆษก ตร. กล่าว

ด้าน พ.ต.ท.หญิง เพชรรัตน์ฯ กล่าวว่า ภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัล ปัจจุบันรูปแบบอาชญากรรมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ พัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดเวลาเพื่อให้รู้เท่าทันกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทำให้ประชาชนที่มาติดต่อราชการ มีความเชื่อมั่น ศรัทธา และรู้สึกปลอดภัย ทำงานให้สมกับคำว่า เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

ขณะที่ ร.ต.อ.หญิง เพชรรพีฯ กล่าวว่า ปัจจุบันคดีที่ผู้เสียหาย ผู้ต้องหาเป็นเด็กและสตรีมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น พนักงานสอบสวนเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม พนักงานสอบสวนหญิงจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่เด็กหรือสตรี การสอบสวนปากคำผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา โดยเฉพาะคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อป้องกันอาชญากรรมต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน แม้ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนหญิง แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ต่อความยากลำบาก ยึดมั่นในความถูกต้อง ให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกฝ่ายด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ และไม่เลือกปฏิบัติโดยการใช้ความรู้สึกหรือความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุผลของความแตกต่าง ไม่เอาประโยชน์ส่วนตนมาทำให้ประโยชน์ส่วนรวมต้องเสียไป

ด้าน ร.ต.ท.หญิง ภัทรนันท์ฯ กล่าวว่า ความเป็นผู้หญิงพื้นฐานแล้วจะมีความสุภาพ อ่อนโยนอยู่ในตัวเอง แต่ก็มีความเข้มแข็งรวมอยู่ด้วย ซึ่งบางครั้งในการปฏิบัติงานการใช้ความสุภาพ อ่อนโยนต่อประชาชนก็มักจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากประชาชนกลับมา พนักงานสอบสวนจะต้องแสวงหาพยานหลักฐานทั้งปวงเพื่อพิสูจน์ทั้งความบริสุทธิ์ และความผิดของผู้ต้องหา และยังต้องช่วยเหลือผู้เสียหายที่เสียหายจากการกระทำของผู้ต้องหาด้วย ความซื่อตรงจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในการทำงาน เพราะหากเราเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งแล้ว ย่อมจะทำให้มีฝ่ายหนึ่งที่เสียหาย ตนจึงยึดมั่นในความถูกต้องเป็นหลักในการทำงาน เพื่อจะทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ขณะที่ ด.ต.หญิง จุฑาภรณ์ฯ กล่าวว่า ตนเข้ามาเป็นตำรวจหญิง ทำหน้าที่ ครู ตชด. ในโครงการครุทายาท ของ ตชด. เพื่อให้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด ตั้งปฏิญาณกับตัวเองไว้แล้วว่าจะกลับมาพัฒนาทั้งด้านการศึกษา ความเป็นอยู่ อาชีพ ความมั่นคงต่าง  ๆ เท่าที่จะทำได้ ได้ดูแลทุกข์สุขของลูกศิษย์ ได้ทำหน้าที่ตำรวจรับใช้ประชาชนให้การช่วยเหลือยามที่ประชาชนเดือดร้อน เช่น การลักเล็กขโมยน้อย การช่วยเหลือประชาชนเจ็บท้องคลอด อุบัติเหตุ เพราะเป็นพื้นที่ห่างไกลจากโรงพักและโรงพยาบาล  ต้องขอขอบพระคุณพ่อแม่ที่สอนให้จักช่วยเหลือคนอื่นช่วยเหลือสังคมมาตั้งแต่เด็กๆ ขอบคุณโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนคุณครูทุกท่านที่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์คนนี้ให้เป็นคนดี ขอขอบพระคุณผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นที่ให้โอกาส

“ป่อเต็กตึ๊ง เสริมสร้าง อนาคตเด็กไทย” จัดพิธีมอบทุนการศึกษาแก่เยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน

ระหว่างวันที่ 6-8 มีนาคม 2567  มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการฯ เป็นประธานในพิธี  พร้อมด้วย นางสาวดวงชุตา ติยะพจนพรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์  นำทีมลงพื้นที่มอบทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดารในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน รุ่นที่ 2 ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 ทั้งในระดับมัธยมศึกษา และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ประกอบด้วย โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 21  โรงเรียนเพียงหลวง 11 โรงเรียนบ้านแพะพิทยา  โรงเรียนบ้านห้วยโผ  โรงเรียนบ้านห้วยสิงห์  โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 33 โรงเรียนสบเมยวิทยาคม โรงเรียนสังวาลย์วิทยา  วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ และ วิทยาลัยการอาชีพแม่สะเรียง  รวม 10 สถาบัน 67 ทุน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 450,000 บาท (สี่แสนห้าหมื่นบาทถ้วน) พร้อมทั้งได้สนับสนุนเงินค่าพาหนะ และอาหารกลางวัน(ข้าวกล่อง) พร้อมน้ำดื่มสำหรับครูและนักเรียนที่เดินทางมารับทุนฯในครั้งนี้ด้วย รวมมูลค่าทั้งสิ้น 14,500 บาท (หนึ่งหมื่นสี่พันห้าร้อยบาทถ้วน)  โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานรัฐแต่ละแห่งเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ

นายนิพนธ์ ลีละศิธร กรรมการมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า การมอบทุนการศึกษาเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง เพื่อช่วยเหลือสังคม ให้เยาวชนมีโอกาสเท่าเทียมทางการศึกษา เติมเต็มความหวังเป็นอนาคตของครอบครัว และสังคมประเทศชาติ  โดยมีการมอบทุนระดับชั้นประถมศึกษา ทุนต่อเนื่องในทุกระดับชั้น ทุนทุกระดับชั้นปีสุดท้าย  และ ทุนสำหรับนักเรียนในโรงเรียนถิ่นทุรกันดาร 

ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลาย ๆ ทาง รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป

#ป่อเต็กตึ๊ง #ช่วยชีวิต #รักษาชีวิต #สร้างชีวิต 
#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418

อัปเดตแผนที่สัญญาณ 5G ในอาเซียน ประเทศไทยครอบคลุมที่สุดในย่านนี้

เมื่อไม่นานมานี้ ookla.com ได้เปิดเผยแผนที่ 5G ภูมิภาค แสดงให้เห็นชัดเจน ประเทศไทย สัญญาณแรงชัด และครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจสมัยใหม่อย่างมาก ด้วยความเร็วและประสิทธิภาพในการสื่อสารที่สูงกว่าสร้างโอกาสให้ประเทศไทยในหลาย ๆ ด้านดังนี้

1.เพิ่มความเร็วและประสิทธิภาพในการสื่อสาร โดย 5G มีความเร็วสูงถึง 100 เท่าของเครือข่าย 4G ซึ่งช่วยให้การสื่อสารและการส่งข้อมูลเร็วขึ้นมากขึ้น ทำให้ธุรกิจสามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ 5G เปิดโอกาสให้ธุรกิจและผู้สร้างเทคโนโลยีใหม่ได้ใช้งานเครือข่ายที่มีความเร็วสูง เช่น รถยนต์ไร้คนขับ (self-driving cars) หรือการใช้งาน Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว

3. สร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจ เครือข่าย 5G เปิดโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ และธุรกิจเดิมสามารถพัฒนาและขยายธุรกิจได้ในรูปแบบใหม่ เช่น การให้บริการ Internet of Things (IoT) หรือการพัฒนา Smart Cities

4.สร้างงาน การพัฒนาเครือข่าย 5G ต้องการความชำนาญและแรงงานที่มีความรู้ความสามารถที่สูง ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ในการจ้างงานและสร้างงานใหม่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการสื่อสาร

นิสิตเก่าจุฬาฯ ร่อนหนังสือถึงอธิการบดีฯ จุฬาฯ ถาม 6 ข้อคืบหน้าถอดถอนวิทยานิพนธ์ 'ณัฐพล ใจจริง'

(8 มี.ค. 67) นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 ทำหนังสือถึง นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเนื้อหาดังนี้…

เรียน อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์  

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2567 ศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีนายณัฐพล ใจจริง ยื่นฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องที่ ศ.ดร.ไชยันต์ ได้วิพากษ์วิจารณ์นายณัฐพล ว่าใช้ข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริงมาอ้างอิงเป็นส่วนหนึ่งในวิทยานิพนธ์ และพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อสร้างกระแสความรู้สึกให้ผู้อ่านเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์

ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่าคณะกรรมการสอบสวนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่เชี่ยวชาญและเป็นกลาง ขึ้นมาตรวจสอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 โดยผู้ทรงคุณวุฒิได้ส่งผลการสอบสวนให้ท่านประธานคณะกรรมการฯ เรียบร้อยแล้ว เรื่องดังกล่าวได้ถูกนำเข้าสู่สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสภาฯ ได้มีมติรับรองผลการสอบสวนวิทยานิพนธ์แล้ว

บัดนี้เวลาได้ผ่านไป 3 ปี จนศาลอาญายกฟ้อง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร แล้ว แต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังไม่มีการประกาศผลการสอบสวนออกมาเพื่อเปิดเผยให้สังคมที่กำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมากได้รับทราบ ข้าพเจ้าเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของประเทศ การเก็บเรื่องที่สำคัญมากเช่นนี้อย่างเงียบโดยไม่ชี้แจงแสดงผล และการที่มีข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ทำให้มีผู้กล่าวถึงผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทางที่เสียหาย ข้าพเจ้าในนามนิสิตเก่า คณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเรื่องนี้ไม่เพียงทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง และผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกติฉินนินทา แต่เป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนของชาติเข้าใจสถาบันพระมหากษัตริย์ผิด ซึ่งจะมีผลลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และความมั่นคงของชาติ จึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรสำเหนียกให้มาก

เพื่อรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเพื่อสืบสานพระปณิธานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงประดิษฐานให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุถึงภารกิจหลักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยมี "คุณธรรมกำกับความรู้ เพียบพร้อมด้วยสติปัญญาและจริยธรรม ใฝ่รู้ กอปรด้วยวิจารณญาณ จิตใจเสียสละ และความสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม” จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงต้องดำเนินการโดยยึดหลัก ความมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรฐานและคุณภาพทางวิชาการอันเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ การนําความรู้ที่ถูกต้องสู่สังคม ความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคม ตลอดจนประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารที่โปร่งใส เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบและสามารถตรวจสอบได้ตามนโยบายการบริหารงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิด ‘Open to Transparency’

ข้าพเจ้าจึงขอกราบเรียนท่านอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนี้ :

1. ขอให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยมติของคณะกรรมการสอบสวนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของนายณัฐพล ใจจริง เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้ระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491 - 2500)’ ให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนทราบ

2. ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง หลังสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับรองมติดังกล่าว

3. ถ้ายังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ขอทราบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะดำเนินการเมื่อใด และอย่างไร

4. ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบให้ถอดถอนปริญญาในกรณีตกแต่งข้อมูลเท็จ ข้าพเจ้าขอทราบว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะ ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ ของนายณัฐพล ใจจริง แทนได้หรือไม่ เนื่องจากการถอดถอนวิทยานิพนธ์ก็น่าจะมีผลต่อวิทยฐานะของของนายณัฐพล ใจจริง โดยไม่ต้องถอดถอนปริญญา ข้าพเจ้าจึงขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ‘ถอดถอนวิทยานิพนธ์’ นั้นโดยเร็วที่สุด แล้วแจ้งให้ข้าพเจ้าและสาธารณชนรับทราบด้วย 

5. ถ้าข่าวลือว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไม่สามารถถอดถอนปริญญาดุษฎีบัณฑิตของนายณัฐพล ใจจริง เนื่องจากไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ เป็นความจริง ข้าพเจ้าขอร้องเรียนให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปรับปรุงระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้รัดกุมและครอบคลุมบทลงโทษเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

6. ขอทราบนามอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ใจจริง

จึงกราบเรียนมาเพื่อขอคำตอบทุกข้อภายใน 15 วัน ตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ. 2540

ขอแสดงความนับถือ
นางวิรังรอง ทัพพะรังสี            
นิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30
หมายเหตุ : หนังสือนี้ทำ 2 ฉบับ
ส่งถึงอธิการบดี 1 ฉบับ
และสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 1 ฉบับ
มีเนื้อหาข้อความตรงกัน

ปปร.26 สถาบันพระปกเกล้า บินลัดฟ้าศึกษาเมืองเศรษฐกิจนครซัวเถา-ย้อนรอยต้นตระกูล 'แซ่แต้' ของพระเจ้าตาก

คณะหลักสูตร ประกาศนียบัตรชั้นสูงการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับผู้ บริหารระดับสูง (ปปร.) รุ่นที่ 26 นำโดย…ดร.วิกร ภูวพัชร์ ประธานรุ่น ปปร.26 พร้อมด้วย นายสมชาย ศุภสัญญา กรรมการรุ่น และรองปธ.สภา วัฒนธรรมไทยจีน นำคณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ศึกษาดูงานที่นครซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยเชื้อสายจีนและ สมาคมคนจีนโพ้นทะเลของนครซัวเถา

ทั้งนี้ได้มีผู้แทนจากนครซัวเถา ให้การต้อนรับ และอธิบายถึงประวัตินครซัวเถา หรือซานโถว (汕头) เป็นเมืองท่าชายฝั่งตะวันออกของจีน ตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ในสมัยราชวงศ์ซ้อง นครซัวเถาเคยเป็นเมืองท่าของเมืองถัวเจียง ในปี พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) นครซัวเถาเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเฉิงไห่ หรือเถ่งไฮ่ (ภาษาแต้จิ๋ว) ในเมืองเฉาโจวหรือเมืองแต้จิ๋วในปัจจุบัน 

ในอดีตนครซัวเถาเป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ เมื่อเริ่มมีการขยายตัวของเมืองและเป็นท่าเรือในการคมนาคม เริ่มมีร้านค้ากิจการต่างๆ จนต่อมาถูกยกระดับฐานะขึ้นเป็นเมืองท่านานาชาติ ในศตวรรษที่ 18 ก่อนจะกลายมาเป็น 1 ใน 4 เมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนในปัจจุบัน

นอกจากศึกษาดูงานที่ทำการนครซัวเถาแล้ว ได้ดูงานที่เมืองแต้จิ๋ว และเยี่ยมชม สุสานพระเจ้าตากสินมหาราช

สำหรับที่เถ่งไฮ่ ซัวเถา เป็นบ้านเกิดบิดาของพระเจ้าตากสินมหาราช คนจีนแต้จิ๋วในยุคนั้น จึงภูมิใจและรักพระเจ้าตากสินดังเช่นคนไทย ชื่อจีนของพระเจ้าตากสินมีชื่อว่า แต่อ๊วง ตระกูลของพระเจ้าตากสินจึงมีแซ่ว่า ”แต้”
ที่เมืองนี้มีหลุมฝังศพของพระเจ้าตากสิน แม้ว่าจะเรียกว่าเป็นหลุมศพ แต่เป็นเพียงที่ฝังเสื้อผ้าของท่านเท่านั้น สุสานแห่งนี้จึงมีความหมายต่อใจของคน ในเถ่งไฮ่ เพราะอุตส่าห์ส่งเสื้อผ้าของท่านข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากไทย เพื่อมาสร้างหลุมศพที่นี่ ก็แสดงให้เห็นว่าคนจีนในไทยให้ความสำคัญกับพระเจ้าตากสินมาก

ดร.วิกร ภูวพัชร์ กล่าวถึงการศึกษาดูงานครั้งนี้ว่า เป็นโอกาสที่คณะนักศึกษาหลักสูตร ปปร.26 ได้ศึกษาประวัติศาสตร์และการเจริญเติบโตวิวัฒนาการของ นครซัวเถา เมื่อครั้งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ที่ยากจน อีกทั้งเป็นแหล่งกำเนิดคนไทยเชื้อสายจีน ที่อพยพไปอยู่ในประเทศไทยเมื่อราว 100 ปีก่อน พร้อมทั้งเยี่ยมชมโรงงานผลิตพลาสติกตัวต่อที่ทันสมัยควบคุมด้วยระบบโรบอตและเอไอ ที่ใหญ่ อันดับต้นๆของจีน

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) เผยแพร่ประกาศพร้อมภาพวาด 'นางมโหธรเทวี' นางสงกรานต์ พุทธศักราช ๒๕๖๗

วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๖๗ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมเผยแพร่ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ จากฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ดังนี้

ประกาศสงกรานต์ ปีพุทธศักราช ๒๕๖๗ ปีมะโรง (เทวดาผู้ชาย ธาตุทอง) ฉอศก จุลศักราช ๑๓๘๖ ทางจันทรคติ เป็น ปกติ มาสวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน

วันที่ ๑๓ เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ เวลา ๒๒ นาฬิกา ๒๔ นาที นางสงกรานต์ ทรงนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จไสยาสน์ลืมเนตรมาเหนือหลัง มยุรา (นกยูง) เป็นพาหนะ

วันที่ ๑๖ เมษายน เวลา ๐๒ นาฬิกา ๑๕ นาที ๐๐ วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น ๑๓๘๖ ปีนี้ วันอังคาร เป็น ธงชัย , วันพฤหัสบดี เป็น อธิบดี , วันจันทร์ เป็น อุบาทว์ , วันเสาร์ เป็น โลกาวินาศ

ปีนี้ วันอังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๓๐๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๓๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๖๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๙๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๑๒๐ ห่า นาคให้น้ำ ๗ ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ ๕ ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ จะได้ผลกึ่ง เสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย

สสป.จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เครือข่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์

วันที่ 6 มีนาคม 2567 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้ นางสาวมะลิ ไพฑูรย์เนรมิต ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (สสป.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเครือข่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร ภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสื่อมวลชน ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนเกิดความรู้ ความเข้าใจในการเลือกใช้บริการระบบบริการสุขภาพที่ปลอดภัย พร้อมทั้ง มีการอภิปรายประเด็น “ทิศทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ” มีผู้อภิปราย ได้แก่ 

นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมคลินิกไทย ,นางพิมพ์พันธุ์  นรากุลมงคล นายกสมาคมผู้ประกอบการสปาไทย , นายเลิศศักดิ์  รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค , นายพชรพรรษ์  ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และดร.นิตินันท์ พันทวี นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการพิเศษ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย โดยมีนางสาวชุติพันธุ์ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนางจินตนา ชูชาติ กรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าร่วมการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเครือข่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้

‘มาดามแป้ง’ จัดให้!! จ่ายเงินหนุนสโมสร ‘ไทยลีก 2 - 3’ ย้ำ!! เว้นทีมที่มีข้อพิพาท หากเคลียร์ปัญหาจบขอรับได้เลย

(7 มี.ค.67) ‘มาดามแป้ง’ นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ สั่งอนุมัติจ่ายเงินสนับสนุนสโมสร สมาชิกไทยลีก 2 และ ไทยลีก 3 ประจำฤดูกาล 2566/67 เป็นที่เรียบร้อย หลังเพิ่งผ่านความเห็นชอบจากสภากรรมการ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

โดยไทยลีก 2 จ่ายเพิ่มงวดที่ 2-3 แก่ 18 สโมสร ทีมละ 750,000 บาท เป็นเงิน 13,500,000 บาท โดยยังเหลืออีก 1 งวด และ ไทยลีก 3 จ่ายอีก 3 งวดให้ครบ แก่ 72 สโมสร ทีมละ 375,000 บาท เป็นเงิน 27,000,000 บาท

อย่างไรก็ตาม ภายใน 2 วัน ล่าสุด ‘มาดามแป้ง’ ส่งทีมงานติดต่อตรงทุกสโมสรเพื่อยืนยันการรับเงิน โดยปรับเกณฑ์เป็นการเฉพาะกิจ เพื่อให้ทุกสโมสรได้เงินสนับสนุนอย่างรวดเร็ว ซึ่งฝ่ายบัญชีได้ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา เหลือเพียงบางสโมสร ที่ยังมีข้อพิพาททั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งหากสโมสรยุติข้อพิพาทได้แล้ว สามารถยื่นหลักฐานขอรับเงินสนับสนุนจำนวนนี้ได้ทันที

ปัจจุบัน การแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 2 เหลืออีก 7 นัด ในฤดูกาลปกติ ส่วน ไทยลีก 3 กำลังเข้าสู่รอบแชมเปี้ยนส์ลีก เพื่อหา 3 ทีม เลื่อนชั้นสู่ไทยลีก 2 โดยเตรียมเริ่มทำการแข่งขัน วันที่ 9 มีนาคม 2567


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top