Tuesday, 20 May 2025
NEWS FEED

“บิ๊กช้าง” ย้ำ ทหาร-ตร. คุมเข้มเฝ้าระวังชายแดนต่อเนื่อง สั่ง หนุนเสริม กทม. เร่ง จัดตั้งพื้นที่แยกรักษาตัวในชุมชน 50 เขต 

พล.ท.คงชีพ  ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่าพล.อ.ชัยชาญ  ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม  เหล่าทัพ และ ตร. ผ่านระบบ VTC เพื่อติดตามการสนับสนุนแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

 โดยภาพรวมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคง ทหารและตำรวจ ในพื้นที่ชายแดน ยังคงพบจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายได้ต่อเนื่อง โดย ก.ค.64 ที่ผ่านมา จับกุมได้ถึง 3,552 คน โดยพบชาวกัมพูชาและลาวมากขึ้น สำหรับพื้นที่ชั้นใน กำลังทหารตำรวจ ยังคงกระจายกำลังควบคุมโรคใน 593 แคมป์คนงาน และจัดตั้งจุดตรวจร่วมตามเส้นทางต่างๆกว่า 230 จุด พบประชาชนให้ความร่วมมือเดินทางลดลง แต่ยังพบผู้ฝ่าฝืนมาตรการรวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ขณะเดียวกันพบเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในการดูแลแคมป์คนงานติดเชื้อมากขึ้น

ทั้งนี้รมช.กลาโหม ได้เน้นย้ำ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้แสดงความขอบคุณและให้กำลังใจทหารตำรวจทุกคนที่สนับสนุนปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งที่ผ่านมา  และได้สั่งการให้ทุกเหล่าทัพ คงความต่อเนื่องคุมเข้มเฝ้าระวังพื้นที่ชายแดนมากขึ้นในสถานการณ์ที่ประเทศรอบบ้าน ยังพบการแพร่ระบาดของโรคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมียนมา  และขอให้สนับสนุน กทม.เร่งจัดตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัวในชุมชน ( Community Isolation ) ให้ได้ทั้ง 50 เขตใน กทม.โดยเร็ว เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก รพ.ระดับต่างๆ

โดยพล.อ.ชัยชาญ ยังได้กำชับการทำงานของกำลังทหาร ที่กระจายกันจัดตั้ง “จุดบริการประชาชน” ทั้ง 72 จุดในชุมชนต่างๆ ของ กทม.และปริมณฑล ให้สามารถประสานเชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองแก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และขอให้เร่งดำเนินการขยายขีดความสามารถ รพ.สนามและจัดตั้งเพิ่มเติม ในพื้นที่ กทม.ปริมณฑล และ จว.สีแดงเข้ม เพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีมากขึ้นโดยเร็ว

 พร้อมกันนี้ ขอให้ทุกค่ายทหาร จัดตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัว ( Community Isolation ) เพื่อช่วยเหลือดูแลกำลังพล ครอบครัวและชุมชนรอบข้างในทุกหน่วยทหาร และช่วยลดภาระทางสาธารณสุข  พร้อมทั้งให้ประสานขอรับวัคซีนมาสนับสนุนการทำงานของกำลังพลด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยงสูงให้เพียงพอ เพื่อรักษาสถานภาพกำลังพลสนับสนุนวิกฤตสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้น

มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม จัดความร่วมมือสามประสานกับ กมธ.วิสามัญพิทักษ์สถาบัน วุฒิสภา และภาคเอกชน ดำเนินโครงการ “Save Thai Fight Covid” เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยโควิด-19   

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  ที่กำลังระบาดหนักในประเทศทั่วโลกขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชากรโลกเป็นอย่างมาก สำหรับในประเทศไทยวิกฤติโควิด-19ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ โดยในขณะนี้ทุกภาคส่วนได้เร่งดำเดินการเพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดในครั้งนี้มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม (KPISE) ร่วมกับกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา  บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด และสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย จัดทำโครงการ “Save Thai Fight Covid” 
เพื่อช่วยเหลือและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 การปฏิบัติตัว และการดูแลผู้ป่วยให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 และครอบครัว โดยมี ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม (KPISE) ประสานความร่วมมือกับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ร่วมกับ นางกอบกุล อาภากร ณ อยุธยา ประธานคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมของเยาวชน วุฒิสภา นางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ ด้านการปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นายนพพล ชูกลิ่น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด และนายศรัณย์ เวชสุภาพร นายกสมาคมการค้าธุรกิจศูนย์บริการทางโทรศัพท์ไทย ร่วมดำเนินโครงการ ฯ ภายใต้วิสัยทัศน์ “รวมใจคนไทยสู้โควิด” ผ่านโครงการ “Save Thai Fight Covid” โดยมีเยาวชนพลังบวก SEED Thailand เยาวชนอาสาผู้นำท้องถิ่นจิตสาธารณะที่ผ่านการอบรมบ่มเพาะในโครงการ SEED Project เป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนดำเนินโครงการสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างเร่งด่วน โดยมีรายละเอียดการดำเนินโครงการ ฯ ดังนี้

1) ดำเนินการช่วยผู้ป่วยที่รอความช่วยเหลือเพื่อเข้ารับการรักษาตามกระบวนการทางสาธารณสุข ด้วยการจัดชุดยาสมุนไพรและอาหารเสริม อาทิ ยาฟ้าทลายโจร และวิตามินต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ตลอดจนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น อาทิ เครื่องวัดออกซิเจน ปรอทวัดไข้ ถุงสำหรับใส่ขยะติดเชื้อ อาหารแห้งและอื่น ๆ ในจำนวนเพียงพอสำหรับการดูแลตนเองภายใน 7 วัน โดยดำเนินการจัดส่งชุดกล่อง Save Thai Fight Covid ถึงบ้านผู้ป่วย

2) จัดทำสื่อและช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ความรู้กับผู้ป่วย ในการปฏิบัติตนเพื่อการดูแลตัวเอง และป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการรอความช่วยเหลือ อาทิ วิธีการกำจัดขยะติดเชื้อจากผู้ป่วย การป้องกันการแพร่เชื้อสู่ผู้ที่พักอยู่อาศัยร่วมกัน เป็นต้น

3)   จัดทำ Application รับข้อมูลการขอความช่วยเหลือ เพื่อนำข้อมูลประสานขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และเพื่อส่งกำลังใจให้กับผู้ป่วย 

4)   จัดทำอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงพยาบาลสนาม อาทิ เตียงสนาม ฉากกั้น ชั้นเก็บของ ตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสด้วยแสงยูวีซี และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้สนับสนุนในกิจกรรมของโรงพยาบาลสนาม 

อย่างไรก็ตามโครงการ “Save Thai Fight Covid” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นการส่งต่อกำลังใจและการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แบบขั้นพื้นฐานที่ไม่ขัดต่อกระบวนการบำบัดรักษาทางการแพทย์และระบบสาธารณสุข เพื่อประสิทธิภาพในการบำบัดรักษาโรคโควิด-19 และความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด และมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการบำรุงร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการให้ความรู้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จากผู้ป่วยที่รอการรักษาอย่างถูกต้อง ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกัน และสำหรับผู้มีจิตศรัทธาท่านใด ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวผู้ติดเชื้อระหว่างรอการรักษา สามารถร่วมบริจาคในโครงการนี้ โดยสนับสนุนได้ทั้งเงิน อุปกรณ์ อาหาร หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่จำเป็นได้ที่โครงการ “Save Thai Fight Covid” ชื่อบัญชี มูลนิธิ สปส. ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 405-523655-3 หรือโทรศัพท์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 084-668-7822 , 094-423-4852

“ในวิกฤติโควิด ทุกชีวิตไม่ทอดทิ้งกัน”

สายพันธุ์เดลตาถล่มย่านอาเซียนสาหัส มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อใหม่กว่า 17,045 ราย

Covid-19 สายพันธุ์เดลตา ยังถล่มย่านอาเซียนสาหัส ที่มาเลเซียมียอดผู้ติดเชื้อรอบ 24 ชั่วโมง ทำ New High อีกครั้ง ที่ 17,045 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศทะลุ 1 ล้านคน

ศูนย์กลางการระบาดหนัก ยังคงอยู่ที่ รัฐสลังงอร์และกรุงกัลลาลัมเปอร์ ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวมกันในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม ถึง 10,500 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกกว่า 180 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตรวมในมาเลเซียถึงกว่า 8 พันรายแล้ว

การระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ เดลตา ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะพยายามออกมาตรการเข้มงวด จนถึงระดับล็อกดาวน์ทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน แต่ยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนโรงพยาบาลในมาเลเซียต้องรับมือกับผู้ป่วยที่ยังติดเชื้อรอการรักษาอยู่ถึง 1.6 แสนราย และผู้ป่วย ICU มากกว่า 1,000 เคส

จากวิกฤติโรคระบาดครั้งรุนแรงนี้ ทำให้ฝ่ายค้านได้ยื่นแจ้งความฟ้องรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี มูห์ยิดดิน ยัสซิน ในข้อหาละเลยการจัดการแก้ไขปัญหา Covid-19 ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชน

ทางด้านรัฐบาลมาเลเซียก็เร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน ซึ่งจนถึงตอนนี้มีชาวมาเลเซียในกลุ่มผู้ใหญ่ ได้รับวัคซีนครบโดสไปแล้วถึง 23% และคาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มให้กับกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหมดในแถบกรุงกัลลาลัมเปอร์ และปริมณฑลได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคม

รัฐบาลมาเลเซียคาดหวังว่า หลังเร่งกระจายฉีดวัคซีนได้ทั่วประเทศแล้ว น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ และจะเริ่มคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้

และนอกเหนือจากมาเลเซีย ที่ทำสถิติ New High เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งไทย, เวียดนาม, พม่า ต่างมียอดผู้ติดเชื้อทุบสถิติเช่นเดียวกัน

ดังนั้นสถานการณ์การระบาดของ Covid-19 ในย่านอาเซียนจัดว่าน่าเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ที่ขยับขึ้นมาเป็นประเทศศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่ในเอเชียไปแล้วเช่นกัน


ผู้เขียน : ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง : The Straits Time / The Star Malaysia


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ทบ. ปรับรูปแบบการฝึกทหารใหม่ พร้อมดูแลความเป็นอยู่ของทหารใหม่อย่างใกล้ชิด สอดคล้องแนวทาง ศบค. สู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด

พ.ท.หญิง นุชระวี แจ่มจำรัส ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ทหารกองประจำการผลัด 1/64 ที่เข้าประจำการเมื่อต้นเดือน ก.ค. 64 ที่ผ่านมาได้ทำการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน และได้รับการฉีดวัคซีนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ไปตลอดทั้ง 6 สัปดาห์ หน่วยฝึกจะเริ่มดำเนินการฝึกควบคู่การดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้แนวทางการควบคุมโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ด้วยมาตราการ Bubble and Seal โดยครูฝึกและทหารใหม่ ตลอดจนเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทุกนายจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ภายในหน่วยฝึกที่เป็นระบบปิด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและปลอดเชื้อภายในหน่วยทหารอย่างสูงสุด 
  
ในส่วนของการฝึกจะทำการแยกฝึกเป็นกลุ่มย่อยในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก โดยจะฝึกจากขั้นพื้นฐานในเรื่องระเบียบวินัย แบบธรรมเนียมทหาร การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า การฝึกทางยุทธวิธี หน้าที่พลเมือง การบรรเทาสาธารณภัย และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น พร้อมสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ควบคู่กับการออกกำลังพัฒนาสมรรถภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์เพื่อให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจ
  
สำหรับการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ด้านปัจจัย 4 ของทหารใหม่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นอกจากทหารใหม่จะได้รับแจกจ่ายเครื่องแต่งกาย เครื่องนอน และของใช้ทั่วไป อาทิ เครื่องแบบสนามฯ ชุดนอน เสื้อยืด รองเท้าผ้าใบ รองเท้าแตะ ที่นอน หมอน มุ้ง หน่วยฝึกยังได้จัดเตรียมหน้ากากอนามัย และเจลแอลกออฮล์แจกจ่ายเป็นอุปกรณ์สำหรับดูแลและป้องกันตัวระดับบุคคลด้วย 

หน่วยฝึกได้ปรับอาคาร สถานที่ รวมถึงรูปแบบการดำเนินกิจวัตรประจำวันให้สอดรับกับมาตราการป้องกันโควิด-19 ในการแยกรับประทานอาหารด้วยถาดหลุม กระบอกน้ำและช้อนส้อมส่วนตัว ควบคุมการประกอบเลี้ยงให้ถูกสุขอนามัย และเน้นอาหารที่มีประโยชน์ครบ5หมู่ เสริมด้วยเครื่องดื่มหรืออาหารเสริมที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไข่ต้ม น้ำเต้าหู้ น้ำกระชาย น้ำผึ้งมะนาว และผักผลไม้ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย พร้อมจัดรายการอาหารพิเศษสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหารใหม่ในห้วงการฝึก 

และในห่วงการฝึกได้ขอความร่วมมือผู้ปกครองงดเยี่ยมเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โดยหน่วยฝึกได้เปิดช่องทางการติดต่อสื่อสารผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ระหว่างหน่วยฝึก ทหารใหม่และผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองได้ทราบถึงชีวิตและความเป็นอยู่อย่างใกล้ชิด คลายความกังวลใจและความห่วงใยที่มีต่อบุตรหลาน 
  
ทั้งนี้ การเตรียมความพร้อมในการดูแลทหารกองประจำการผลัด 1/64 ในเรื่องการฝึกและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ควบคู่กับแนวทาง ศบค. นั้น เป็นนโยบายที่ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้ความสำคัญและเน้นย้ำมาโดยตลอดสู่การเป็นหน่วยทหารปลอดโควิด เพื่อสร้างความปลอดภัย เสริมความมั่นใจให้กับทหารใหม่และครอบครัวอย่างดีที่สุด เพราะเราคือครอบครัวเดียวกัน 

“บิ๊กป้อม” กำชับ สทนช.เตรียมรับมือ ฝนตกหนัก 22 จว. รองรับประกาศกรมอุตุฯ  สั่ง ปภ.เตรียมช่วยเหลือปชช.ทันที  จี้กรมชลฯเตรียม ระบายน้ำ ป้องกันน้ำหลาก-น้ำท่วม  ควบคู่ แผนกักเก็บน้ำใช้ฤดูแล้ง

พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.กอนช. ได้สั่งการไปยัง สทนช. ,มหาดไทย ,กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานทหารในพื้นที่ต่างๆ ให้เตรียมการรับมือจากสถานการณ์น้ำ กรณี การพยากรณ์อากาศ ของกรมอุตุนิยมวิทยา ล่าสุดวันนี้ ( 26 ก.ค.) เกี่ยวกับการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ 22 จังหวัด ของไทย ที่อาจได้รับผลกระทบ จากสภาพอากาศที่จะมีฝนตกหนัก และอาจจะเกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  อันเนื่องมาจาก ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง บริเวณชายฝั่งทะเลเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรง ซึ่งจะส่งผลให้เกิด ภาวะฝนตกหนักบางแห่งบริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคตะวันออก ของประเทศไทย รวม 22 จังหวัด และ พื้นที่บางแห่งใน กทม.-ปริมณฑล

ทั้งนี้พล.อ.ประวิตร  ได้กำชับสั่งการให้ กระทรวงมหาดไทย หน่วยทหารในพื้นที่ เตรียมความพร้อมในการป้องกัน ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่ ทันที ที่อาจได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม รวมทั้งได้สั่งการกรมชลประทาน ให้ตรวจ ติดตามพื้นที่เตรียมระบายน้ำทุกสาย ทุกจังหวัด พร้อมสั่งการให้ กอนช.และสทนช. เร่ง กำกับ ติดตามการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม จากสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งมีแผนรองรับไว้แล้ว และให้รายงานให้ พล.อ.ประวิตร  ทราบความคืบหน้า อย่างต่อเนื่องด้วย ต่อไป

“องอาจ” เสนอใช้โรงเรียน-มหาวิทยาลัย ทั้งรัฐและเอกชน ทำโรงพยาบาลสนาม จุดพักคอย สกัดการแพร่เชื้อ ดีกว่าให้กักตัวที่บ้านหรือชุมชน 

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือดูแลประชาชนของตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์พบว่าการตรวจหาเชื้อเชิงรุกทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น ส่วนมากที่พบอาจจะยังไม่มีอาการ แต่ถ้าไม่บริหารจัดการแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกจากบ้าน หรือออกจากชุมชน โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่อยู่ในชุมชนแออัดของ กทม. ก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้เชื้อต่อไปอีก ถึงแม้ทางราชการจะพยายามมีมาตรการโฮมไอโซเลชั่น (Home isolation)  หรือ คอมมูนิตี้ไอโซเลชั่น (Community isolation) คือให้แยกกักตัวอยู่บ้านหรืออยู่ที่ชุมชน แต่การจัดการเรื่องนี้ในเชิงระบบก็ยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ หรือพวกที่พักอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดหนาแน่นของ กทม. ก็ไม่สามารถกักตัวอยู่บ้านได้ เพราะบ้านเป็นห้องที่อยู่รวมกันหลายคน

นายองอาจ กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยติดเชื้อแยกตัวออกจากบ้านหรือชุมชนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยติดเชื้อนำเชื้อไปแพร่ระบาดกระจายต่อไป ทางราชการจึงจำเป็นต้องมีโรงพยาบาลสนามและจุดพักคอยเพื่อมากขึ้นใน กทม. ซึ่งทาง ศบค.กทม. พยายามให้มีจุดพักคอยเขตละ 1 จุดรวม 50 เขต 50 จุด แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อให้การจัดตั้งจุดพักคอยและโรงพยาบาลสนามทันต่อความต้องการของผู้ป่วยติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้านหรือที่ชุมชนไม่ได้ จึงขอเสนอดังนี้ 1.ควรประสานขอใช้โรงเรียน สถานศึกษา มหาวิทยาลัย ทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้มทำเป็นจุดพักคอยและโรงพยาบาลสนาม 2.ประสานกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่นช่วยสนับสนุนให้ดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข 3.ขอความร่วมมือจากชุมชนและคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 4.ขอสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างคล่องตัวมีประสิทธิภาพ

“การทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อมีสถานที่ที่เหมาะสมในการกักตัว ไม่ว่าจะเป็นกักตัวที่บ้าน ที่ชุมชน หรือที่จุดพักคอย ที่โรงพยาบาลสนาม นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ จึงขอให้รัฐบาล ศบค. และ ศบค.กทม. เร่งช่วยกัน ทำให้เป็นจริงโดยเร็วด้วย จะได้ช่วยกันทำให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทุเลาเบาบางลงซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราคนไทยทุกคนอยากเห็นในเร็ววันนี้” นายองอาจ กล่าว

นฤมล ห่วงคนงานแคมป์ก่อสร้าง ส่งทีมมอบข้าวกล่องต่อเนื่อง 

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แคมป์คนงานถูกสั่งปิดตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีคำสั่งหยุดก่อสร้างและห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นระยะเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ซึ่งตนเองได้ส่งทีมงานนำข้าวกล่องไปส่งมอบให้ยังแคมป์คนงานต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ได้ส่งมอบข้าวกล่องไปยังแคมป์คนงานแล้วรวม 12 แห่ง ประกอบด้วย แห่งที่ 1 แคมป์คนงานบริษัท ทวีพรเทคโนโลยี จำกัด บริเวณข้างโรงแรมมณเฑียร ริเวอร์ไซด์ แห่งที่ 2 แคมป์คนงานบริษัท ซินเทค เทคโนโลยี คอนสตรัคชั่น จำกัด  บริเวณซอยมไหสวรรย์ 6 แห่งที่ 3 แคมป์คนงานบริษัท ซินเทค จำกัด (มหาชน) บริเวณสามแยกยานนาวา

แห่งที่ 4 แคมป์คนงานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการยานนาเวศ แห่งที่ 5 แคมป์คนงาน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริเวณข้างหอศิลปะวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 6 แคมป์คนงานบริษัท สยามมิทัล คอน จำกัด บริเวณซอยอินทามะระ 15 แห่งที่ 7 แคมป์คนงานบริษัท วิศวภัทร์ จำกัด บริเวณซอยวิภาวดี 1 แห่งที่ 8 บริษัท นวรัตน์พัฒนาการ จำกัด บริเวณแขวงรามอินทรา เขตคันนายาว แห่งที่ 9 แคมป์คนงานบริษัท พรพระนคร จำกัด บริเวณซอยรามคำแหง 7 

รมช.แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแคมป์คนงาน 3 แห่งที่ได้ส่งมอบข้าวกล่องในวันนี้ ประกอบด้วย แห่งที่ 10 แคมป์คนงานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)  บริเวณศูนย์การค้าโชว์ ดีซี พระราม 9 แห่งที่ 11 แคมป์คนงานบริษัท ไทยทาเคนาคาสากลก่อสร้าง จำกัด บริเวณถนนจตุรทิศ และ แห่งที่ 12 แคมป์คนงานบริษัท ฤทธา จำกัด บริเวณถนนพระราม 9 และในวันต่อไปจะได้กระจายไปยังแคมป์ต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ทั่วถึงได้มากที่สุด เพื่อส่งมอบกำลังใจและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว หากมีอะไรที่ต้องการให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม ตนเองยินดีที่จะรับฟังและพร้อมที่จะเป็นกระบอกเสียงส่งต่อไปยังรัฐบาล เพื่อร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องแรงงานทุกคน และฝากถึงพี่น้องแรงงานทุกคนในการปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยสบู่หรือฉีดพ่นแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง และเราจะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน

คุณกัลย์สุดา ยะมา พนักงาน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) แคมป์พระราม 9 กล่าวว่า  ทุกวันบริษัทจะจัดเตรียมอาหารสำหรับพนักงานในแคมป์ครบ 3 มื้อ  แต่จะมีบางมื้อที่หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาให้การสนับสนุน ซึ่งในวันนี้ต้องขอขอบคุณกระทรวงแรงงานเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการบรรเทาความเดือดร้อน  สำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัทฯ มีการตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยจะแบ่งโซนพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับผู้ติดเชื้อและผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หากพบผู้ติดเชื้อจะมีจุดพักคอยเพื่อนำตัวไปทำการรักษาต่อไป

“ธรรมนัส"ตรวจรพ.สนามพะเยา1,000เตียง รองรับ “พาพี่น้องพะเยากลับบ้าน" รักษาตัวจากโควิด-19

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)​ลงพื้นที่จ.พะเยา ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมจัดตั้งรพ.สนาม รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่สีแดงเข้ม และผู้ที่ตรวจพบติดเชื้อ ที่ต้องการกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา เนื่องจากไม่สามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลได้

โดยร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า โครงการ”พาพี่น้องพะเยากลับบ้าน"ทางองค์การบริหารส่วนจ.พะเยา ร่วมกับหลายหน่วยงาน ได้จัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลสนาม 1,000 เตียง โดยการสนับสนุนสถานที่ จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตพะเยา ซึ่งการดูจะเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโควิดอย่างเข้มงวด นอกจากนั้นจังหวัดอื่นที่ในพื้นที่ภาคเหนือ8 จ.ที่ตนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดูแล ได้จัดเตรียมความพร้อมไว้เช่นกัน หาก บุคคลใกต้องย้ายมารักษาตัวในพื้นที่จ.พะเยา ให้ปฏิบัติตามกระบวนการที่องค์การบริหารส่วนจ.พะเยา ประกาศไว้ หรือติดต่อศูนย์ประสานงานรับคนพะเยากลับบ้าน หมายเลข054-409123, 054-409124 ได้ทุกวัน โดยเบื้องต้นจะประสานกรมทางหลวงพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการเดินทาง ในการสนับสนุนจัดจุดพักระหว่างการเดินทางหนึ่งจุด ภายใต้มาตรการดูแลของสาธารณสุขอย่างเข้มแข็ง 

ทบ. ฉีดวัคซีนSINOVAC สร้างภูมิคุ้มกันทหารใหม่ครบทุกนาย-จนท.ปฏิบัติงานด่านหน้า พร้อมขอบคุณรัฐบาล มอบวัคซีนให้กำลังพล

พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก เปิดเผนฝยว่าตามที่กองทัพบกได้รับทหารใหม่ผลัด1/64เข้าประจำการในเดือนกรกฎาคม2564  ซึ่งอยู่ในช่วงของการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และพล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้สั่งการให้หน่วยทหารของกองทัพบกดำเนินตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด โดยเฉพาะได้เตรียมแผนการฉีดวัคซีน ให้กับทหารใหม่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกและดูแลทหารใหม่ทุกส่วน อาทิ ครูฝึก ผู้ฝึก ผู้ช่วยครูฝึก ส่วนสนับสนุนด้านอาหาร สถานที่ งานธุรการ เป็นต้น 
 
กองทัพบกได้นำวัคซีน SINOVAC ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ทหารใหม่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทหารใหม่ ครบทุกนายเรียบร้อยแล้วเมื่อ  23 ก.ค.64 แยกเป็น ทหารกองประจำการผลัด 1/64 จำนวน 34,822 นาย และ เจ้าหน้าที่หน่วยฝึกทหารใหม่จำนวน 312 หน่วยฝึก  15,635 นาย การฉีดวัคซีนเป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่พบกำลังพลเกิดอาการข้างเคียงรุนแรงหรือแพ้วัคซีน 
 
นอกจากนี้ที่ผ่านมากองทัพบกยังได้นำวัคซีนSINOVAC ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล ฉีดให้แก่กำลังพลส่วนอื่นๆเช่นกันได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า กองกำลังป้องกันชายแดนกองทัพบก ,บุคลากรทางการแพทย์ของกองทัพบก ในภาพรวมกำลังพลของกองทัพบกได้ฉีดวัคซีนSINOVAC ทั้งในส่วนกำลังพลด่านหน้า ทหารใหม่รวมทั้งกำลังพลและครอบครัวที่เข้ารับวัคซีนSINOVAC ตามระบบของรัฐบาลแล้วทั้งสิ้น 114,000นาย ทำให้กำลังพลสามารถปฏิบัติภารกิจในสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมาได้อย่างเข้มแข็งและปลอดภัย
 
ทั้งนี้ กองทัพบกขอขอบคุณรัฐบาลและ ศบค.ที่ได้สนับสนุนวัคซีน SINOVAC เพื่อการสร้างภูมิคุ้มกัน COVID-19 ให้กับทหารใหม่ กำลังพลและเจ้าหน้าที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์โควิด  ถือเป็นวัคซีนที่ได้รับในเวลาที่เหมาะสมและรวดเร็ว ทำให้เกิดผลในด้านการป้องกันโรคทันที สร้างความมั่นใจในเรื่องภูมิคุ้มกันและสุขภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าและในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด  ในส่วนของทหารใหม่ก็มีความมั่นใจในภูมิคุ้มกันของตนเอง ช่วยคลายความกังวลของครอบครัวทหารใหม่ และสร้างความพร้อมในการฝึกฝน เรียนรู้ เพื่อทำหน้าที่ทหารของชาติและประชาชนที่รออยู่ข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีน ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลของกองทัพบก และการปฏิบัติตนเองอย่างเคร่งครัดในเรื่องวินัยทหารต้านโควิด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย ใช้แอลกอฮอล์ ลดความแออัด รักษาระยะห่าง ล้างมือ  จะเป็นเกราะป้องกันโควิด ให้ทหารทุกนายมีความสมบูรณ์แข็งแรง พร้อมออกไปเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือทุกภาคส่วนดูแลสังคมและประชาชนในห้วงเวลาสำคัญของชาติที่ต้องเผชิญกับสงครามเชื้อโรคในขณะนี้

“ณัฎฐ์ชนน”  ดีใจแทนชาวบ้าน  “รมว.คมนาคม” สั่งจัดขบวนรถไฟส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวกลับภูมิลำเนาฟรี มั่นใจสะดวก-ปลอดภัย

นายณัฎฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา และรองโฆษกพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) จัดขบวนรถไฟโดยสารรับ-ส่ง ผู้ป่วยสีเขียวกลับภูมิลำเนาฟรี ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. ถึงวันที่ 31 ส.ค.64 เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วย และติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้ประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานใน กทม.และปริมณฑล ไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาล และโรงพยาบาลสนามได้ กระทรวงคมนาคมจึงเห็นว่า การใช้รถไฟรับ-ส่งตัวผู้ป่วยเป็นวิธีที่สะดวก ประหยัดและปลอดภัยที่สุด เนื่องจากมีห้องน้ำ-และโบกี้ที่กั้นระหว่างกัน ที่สำคัญแต่ละจังหวัดได้จัดเตรียมบุคลากรทางการแพทย์และรถขนย้ายผู้ป่วยประจำจุด เพื่อรอรับ-ส่งตัวผู้ป่วยทันทีที่ถึงสถานีรถไฟปลายทางอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ รถไฟสายใต้จะเริ่มเดินขบวนในวันที่ 27 ก.ค.นี้ ขบวน กทม.-หาดใหญ่ โดยผู้ป่วยจะต้องเดินทางมาถึงสถานีรถไฟจิตรลดา ถนนสวรรคโลกไม่เกินเวลา 06.00 น. ของแต่ละวัน เพื่อตรวจโรคก่อนเดินทาง ซึ่งจะจอด 6 สถานี  ได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช  พัทลุง และชุมทางหาดใหญ่  รายละเอียดขอให้สอบถามรฟท. ทั้งนี้ ขอขอบคุณพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข รวมทั้งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ตลอดจนผู้ว่าฯ การรถไฟที่ให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top