วันนี้ (18 ม.ค. 65) เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ศจร.ตร.) พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.เชษฐา โกมลวรรธนะ จตร.(หน.จต.)/หัวหน้าคณะทำงาน งานตรวจสอบติดตามประเมินผล ศจร.ตร. พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี ผบช.ศ./หัวหน้าคณะทำงาน งานพัฒนามาตรฐานระบบงานจราจร ศจร.ตร. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. พร้อมด้วย คุณกานดา วัฒนายิ่งสมสุข ที่ปรึกษาฝ่ายการตลาด บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ผู้แทนสถานีวิทยุพิทักษ์สันติราษฎร์ สวพ.91 และสถานีวิทยุ จส.100 ร่วมแถลงผลการพิจารณามอบรางวัลและเกียรติบัตรในโครงการอาสาตาจราจร “7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ให้แก่เจ้าของคลิปวีดีโอที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 7 คลิป

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีประชาชนได้ส่งคลิปวีดีโอเข้าร่วมโครงการ“7 วัน 7 คลิป 7 หมื่น” ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของโครงการดังกล่าว คือ ให้ประชาชนทุกคนร่วมเป็นอาสาตาจราจร ประชาชนสามารถส่งข้อมูลพยานหลักฐานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือ การกระทำความผิดบนท้องถนนต่าง ๆ ผ่านทางกล้องหน้ารถ หรือโทรศัพท์มือถือ โดยสามารถส่งคลิปวีดีโอผ่านช่องทางมูลนิธิเมาไม่ขับ ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. จส.100 และ สวพ.91ในช่วง 7 วันของการควบคุมเข้มข้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จำนวนกว่า 30 คลิป ซึ่งมูลนิธิเมาไม่ขับได้เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกคลิปวิดีโอโดยมีหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือ
1) กรณีการกระทำผิดกฎจราจรสำคัญ - เป็นคลิปวิดีโอที่สามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี หรือเป็นข้อมูลให้เข้มงวดกวดขันจับกุมการกระทำผิด หรือเป็นตัวอย่างอุทาหรณ์ไม่ให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย
2) คดีอุบัติเหตุจราจร – เป็นคลิปที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในทางคดีให้กับพนักงานสอบสวน
เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด สามารถชี้ตัวคู่กรณีฝ่ายที่กระทำผิดได้
ซึ่งผลการพิจารณาของมูลนิธิเมาไม่ขับ มีคลิปวิดีโอที่ได้รับรางวัลจำนวน 7 คลิป ดังนี้
(1) คลิปกล้องหน้ารถ - รถฟอร์จูนเนอร์ ชนรถหลายคันและขับหลบหนี /สน.พหลโยธิน
(2) คลิปโทรศัพท์มือถือ - ผู้ขับขี่มีอาการเมาสุรา ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ /สภ.คูคต
(3) คลิปกล้องหน้ารถ - อุบัติเหตุรถกระบะเฉี่ยวชน รถจักรยานยนต์ /สภ.เชียงขวัญ จว.ร้อยเอ็ด
(4) คลิปกล้องหน้ารถ - รถยนต์และรถจักรยานยนต์ ขับขี่ย้อนศรถนนคู้บอน /สน.คันนายาว
(5) คลิปโทรศัพท์มือถือ - รถจักรยานยนต์ ขับขี่บนทางด่วนกาญจนาภิเษก
(6) คลิปกล้องติดหมวกนิรภัย - รถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกัน แล้วขับหลบหนี /สน.หลักสอง
(7) คลิปโทรศัพท์มือถือ - ผู้ขับขี่ขับรถเกิดอุบัติเหตุและมีอาการเมาสุรา /สภ.เมืองเชียงใหม่
ซึ่งทางคณะทำงานเสริมสร้างภาพลักษณ์ ของศูนย์บริหารงานจราจร ตร. ได้ส่งข้อมูลให้สถานีตำรวจพื้นที่รับผิดชอบดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ทั้งนี้ โครงการนี้ยังมีการดำเนินการต่อเนื่องและมอบรางวัล ให้เป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 10 คลิป รวมเป็นเงิน 50,000 บาทต่อเดือน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ส่งข้อมูลพยานหลักฐานเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หรือการกระทำความผิดบนท้องถนนต่าง ๆ ผ่านทางกล้องหน้ารถ หรือโทรศัพท์มือถือ พร้อมแจ้งข้อมูลชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ผู้แจ้งข้อมูล ตามช่องทางดังกล่าวข้างต้นได้ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้ง

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) มีค่าสูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้น กทม. ซึ่งในส่วนงานจราจร ศจร.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเพิ่มมาตรการตรวจจับรถที่มีค่าควันดำเกินมาตรฐาน โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพื้นที่ เพื่อตั้งจุดตรวจรถควันดำ ทั้งรถบรรทุก รถสาธารณะ และรถกระบะส่วนบุคคล สำหรับในเขตพื้นที่กทม. นั้นมีการตั้งจุดตรวจ จำนวน 20 จุด แบ่งเป็น จุดตรวจตั้งถาวร จำนวน 15 จุด และจุดตรวจแบบเคลื่อนที่ (Mobile) จำนวน 5 จุด
โดยสถิติที่ผ่านมาในปี 2564 มีการเรียกตรวจรถรถบรรทุกและรถสาธารณะ รวมจำนวน 125,974 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 51,625 คัน รถกระบะส่วนบุคคล รวมจำนวน 127,141 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 52,176 คัน รวมมีรถควันดำเกินกำหนดทั้งสิ้น 103,802 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้รถรวมทั้งสิ้น จำนวน 4,689 คัน และในปีนี้เฉพาะในช่วงวันที่ 1- 15 ม.ค.65 มีการเรียกตรวจรถบรรทุกและรถสาธารณะรวมจำนวน 3,748 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 1,482 คัน รถกระบะส่วนบุคคล รวมจำนวน 4,667 คัน มีค่าควันดำเกินกำหนด 919 คัน รวมมีรถควันดำเกินกำหนด 2,401 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้รถรวมทั้งสิ้น จำนวน 88 คัน ทั้งนี้ บช.น. ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับรถที่มีค่าควันดำ โดยหากเป็นรถบรรทุกหรือรถสาธารณะจะมีโทษปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท (ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก) ส่วนรถส่วนบุคคล จะมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท (ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก) และจะถูกออกคำสั่งห้ามใช้รถตามกฎหมายทั้งห้ามใช้ชั่วคราวและห้ามใช้เด็ดขาด
ในส่วนของมาตรการการดำเนินคดีกับรถจักรยานยนต์นั้นในช่วงวันที่ 15 พ.ย.64 ถึง 16 ม.ค.65 มีผลการจับกุมข้อหา ขับรถย้อนศร รวม 53,403 ราย ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 27,466 ราย ขับรถรถจักรยานยนต์บนทางเท้า 7,293 ราย ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว 2,284 ราย และดำเนินคดีข้อหาขับรถโดยไม่คำนึ่งถึงความปลอดภัยเป็นจำนวน 70 ราย รวมผลการดำเนินการทั้ง 4 ข้อหา จับกุมรวมทั้งสิ้น 90,446 ราย แบ่งเป็น รถ จยย.ทั่วไป 74,832 ราย รถ จยย.เดลิเวอรี่ 10,869 ราย และรถ จยย.สาธารณะ 4,718 ราย