'วิโรจน์' นำทีม ส.ก. จัดเวทีปราศรัย Flash meet โชว์กึ๋นหางบประมาณเพิ่มได้อีก 13,000 ล้านต่อปี

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเย็นเมื่อวานนี้ (23 เม.ย.) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล เปิดเวทีปราศรัยย่อย หรือ ‘Flash meet’ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 พร้อมผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) ฝั่งธนบุรี ทั้ง 15 เขต ซึ่งเป็นการปราศรัยรูปแบบมาไว ไปไว ไม่ยืดเยื้อ เพื่อให้สอดคล้องไลฟ์สไตล์คนกทม.

โดยนายวิโรจน์ ปราศรัยว่า หากมองด้วยมาตรฐานของสภาใหญ่ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ทำไว้ ในเรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณ คนกทม. ควรเลือก ส.ก. จากพรรคก้าวไกล เข้าไปทำหน้าที่ปกป้องภาษีที่มาจากประชาชน และเพื่อไปผลักดันให้มีการนำภาษีไปใช้เกิดประโยชน์สูงที่สุด เพราะตนเชื่อว่า ส.ก.ก้าวไกลจะสร้างมาตรฐานสภากรุงเทพฯ ให้เทียบเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรได้ งบประมาณกรุงเทพฯ รวมแล้วมีมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ส.ก. มีหน้าที่ดูแลเงินภาษีของพวกท่าน ถ้า ส.ก. เฮงซวย เงินภาษีของจะถูกใช้ไปแบบเฮงซวย ดังนั้น นี่คือเหตุผลที่ต้องเลือก ส.ก. จากพรรคก้าวไกล

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นโยบายต่างๆ ไม่ว่าจะผู้สมัครผู้ว่าฯ คนไหนโฆษณาไว้อย่างไร ล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินจากงบประมาณทั้งสิ้น ผู้ว่าฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารของเมือง หน้าที่แรกคือ การหาเงินงบประมาณ หากผู้ว่าฯ ไม่บอกวิธีการหาเงิน นโยบายต่างๆ ที่โฆษณาจะไม่สามารถทำได้อย่างแน่นอน การปราศรัยในครั้งนี้จึงต้องการมาบอกว่า กทม. จะหาเงินได้อย่างไร 

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า กรุงเทพฯ จะมีงบประมาณเพิ่มได้จากการเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง หรือที่เรียกว่าภาษีโรงเรือน ซึ่งกทม. มีตึกรามบ้านช่องมากมาย แต่ที่ผ่านมาเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้างได้เพียง 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งความจริงแล้วกทม. สามารถตั้งเป้าหมายการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้มากกว่าเดิมอีก 10,000 ล้านบาทต่อปี แต่ที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะว่าที่ดินบางแห่งย่านใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจจะถูกทำให้เป็นที่ตาบอด เพื่อทำให้ที่ดินตรงนั้นราคาประเมินถูกลง เพื่อทำให้เสียภาษีถูกลง เราจะไม่เห็นสภาพการณ์แบบนี้เกิดกับเมืองดังๆ ทั่วโลกเลย แต่เราเห็นได้ที่กทม. และที่ประเทศไทย ผมคิดว่าผู้ว่าฯ กทม. ต้องกล้าออกข้อบัญญัติหรือระเบียบในการจัดการเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมา ไม่ใช่อ่อนข้อให้นายทุนคนตัวใหญ่ หลบเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ประการต่อมา กทม. มีค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะถึง 7,000 ล้านบาท แต่เก็บภาษีจากขยะได้เพียง 500 ล้านบาทต่อปี ในเรื่องนี้ก็สามารถตั้งเป้าในการเก็บค่าขยะจากนายทุนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นจากห้างสรรพสินค้าหรือคอนโดหรู เพื่อนำเข้ามาเป็นภาษีเพิ่มได้อีก 2,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีภาษีจากป้ายบิลบอร์ดที่มีมูลค่ามหาศาลและป้ายอิเล็กทรอนิกส์ทั่วกรุงเทพ ที่ยังไม่มีระเบียบจัดเก็บได้อย่างชัดเจน ก็จะสามารถเก็บภาษีจากป้ายได้เพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท

"เมืองนี้จะต้องขับเคลื่อนด้วยการบริจาคไปอีกนานแค่ไหน แม้ว่าการบริจาคจะไม่ใช่ปัญหา แต่เราจะน้ำท่วมปากปิดตาข้างเดียว ยอมให้คนตัวใหญ่ตีตั๋วเด็ก หลบเลี่ยงภาษีแล้วเอาเปรียบคนกรุงเทพแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ หากเป็นแบบนี้ต่อไปเมืองนี้จะน่าอยู่เฉพาะกับคนที่มีเงินหรือมีเส้นสาย แต่จะไม่น่าอยู่สำหรับคนจน คนตัวเล็กตัวน้อยที่ทำมาหากิน เราขาดทุนกับประชาชนได้ แต่ขาดทุนกับนายทุนใหญ่ไม่ได้ และถ้ามีผู้ว่าฯ ชื่อ วิโรจน์ จะสามารถเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ เพิ่มขึ้นได้อีกกว่า 13,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อนำไปจัดเป็นสวัสดิการและขับเคลื่อนทั้ง 12 นโยบาย เพื่อให้กรุงเทพเป็นเมืองที่คนเท่ากันให้ได้" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวด้วยว่า สวัสดิการที่ต้องการจะสร้างขึ้นไม่ใช่การสงเคราะห์ ทั้งยังจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และดีสำหรับทุกคนทั้งคนตัวเล็กและคนตัวใหญ่ ถ้าไม่เริ่มทำรัฐสวัสดิการ ไม่คืนความเป็นธรรมให้กับเมือง ต่อให้เศรษฐกิจดี แต่เม็ดเงินส่วนใหญ่ก็จะถูกคนตัวใหญ่สูบเอาไป และเอารัดเอาเปรียบ นี่คือสิ่งที่หากผู้ว่าชื่อวิโรจน์ ต้องการจะทำ ทำแล้วจะเปลี่ยนแปลงเลย จะไม่วนลูปกลับมาเจอกับปัญหาเดิมๆ อีก