Wednesday, 2 July 2025
ECONBIZ

สปส. เตือนภัย ผู้ประกันตน ม33 ระวัง “มิจฉาชีพ” หลอกขอข้อมูลรับเงินเยียวยา ผ่าน google form และ sms ปลอม

​นางสาวลัดดา แซ่ลี้ รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงการรับสิทธิรับเงินช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม รวม 13 จังหวัด 9 ประเภทกิจการ ว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนกว่า 3.1 ล้านคน ที่มีสัญชาติไทย จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลคนละ 2,500 บาท สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายครั้งเดียวโดยโอนผ่านบัญชีพร้อมเพย์เลขบัตรประชาชนเท่านั้น ซึ่งเงินเยียวยาจะเริ่มโอนเงินรอบแรกในวันที่ 4 - 6 สิงหาคม 2564 นี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยโอนให้ ทุกวันศุกร์ ของสัปดาห์ถัดไป โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถตรวจสอบสิทธิรับเงินเยียวยา ผ่านเว็บไซต์ www.sso.go.th

รองโฆษกสำนักงานประกันสังคม กล่าวเตือนไปยังผู้ประกันตนมาตรา 33 ว่า ขณะนี้พบพวกมิฉาชีพได้จัดทำ google form และส่งข้อความผ่าน SMS ปลอม ไปสอบถามข้อมูล ส่วนตัว เพื่อหลวกลวงให้ผู้ประกันตนแจ้งความประสงค์รับเงินเยียวยา 2,500 บาท และให้กรอกเลขบัตรประจําตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ จนนำไปกดลิงค์เพื่อยืนยัน ซึ่งเป็นการใช้ความสับสนของผู้ประกันตนมาเป็นกลลวง ที่อาจนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งทรัพย์สิน และการโจรกรรมข้อมูลส่วนบุคคล ของพวกมิฉาชีพจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ สำนักงานประกันสังคมจึงขอเตือนให้ผู้ประกันตน โปรดระมัดระวังอย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานประกันสังคม หากผู้ประกันตนมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สายด่วนสำนักงานประกันสังคม 1506

ก.แรงงาน ร่วม อินเตอร์ลิงค์และเครือข่าย เฟ้นหาสุดยอดเยาวชนด้านเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมเคเบิลลิงค์ไทย ยกระดับทักษะเยาวชนไทย จัดการแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9 ชิงถ้วยพระราชทาน พร้อมรับเงินรางวัล 400,000 บาท 

นางดรุณี  นิธิทวีกุล  รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า นายสุชาติ  ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล  ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายด้านการบูรณาการร่วมภาคีเครือข่ายตามแนวทางประชารัฐในการพัฒนาทักษะนักเรียน นักศึกษาให้มีความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพในอนาคต ได้มอบหมายให้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ บริษัท อินเตอร์ลิงค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสมาคมเคเบิลลิงค์ไทย ส่งเสริมการเรียนรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านวิศวกรรมระบบสายสัญญาณและอุปกรณ์การสื่อสาร และอุปกรณ์กระจายสัญญาณได้อย่างถูกต้อง สามารถต่อยอดการใช้งานแนวทางใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้พัฒนาทักษะความรู้ในการใช้ทรัพยากรที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศอย่างคุ้มค่า และช่วยกระตุ้นสถาบันการศึกษาให้พัฒนา ผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนี้ให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต 
   
รองอธิบดี กล่าวต่อไปว่า ในปี 2564 กพร.ได้ร่วมจัดการแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์ก ปีที่ 9 ชิงถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  และเงินรางวัล 400,000 บาท ซึ่งจะมีพิธีเปิดการแข่งขันในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ณ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ผ่านโปรแกรมออนไลน์ Zoom Meeting โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย รอบคัดเลือก จะคัดเลือกผู้ชนะในแต่ละภูมิภาคจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนกรกฎาคม – พฤศจิกายน 2564 จำนวน 55 คน จากทั้งหมด 5 ภาค ได้แก่ ภาคกลางและกรุงเทพฯ ภาค ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ เพื่อเข้าค่ายทำกิจกรรม CSR เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 25-27 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์ทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้เข้ารอบทั้ง 55 คน จะได้รับมอบชุดเครื่องมือ มูลค่า 2,000 บาท พร้อมใบประกาศนียบัตร และจะได้รับการพิจารณาเข้าทำงานในเครือของบริษัทฯ ภายหลังจากจบการศึกษาด้วย และรอบชิงชนะเลิศ  โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลพระราชทานฯ และประกาศเกียรติคุณ รองชนะเลิศ รับทุนฯ 30,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลจากนายกรัฐมนตรี รางวัลที่ 3 รับทุนฯ 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และรางวัลชมเชย รับทุนฯ 5,000 บาท 
        
คุณสมบัติผู้สมัครต้องเป็นนิสิต นักศึกษาตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาขึ้นไป จนถึงนักศึกษามหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีอายุไม่เกิน 25 ปี  ต้องมีสถาบันการศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษารับรองโดยเป็นตัวแทนของสถาบันไม่เกิน 2 คนต่อสถาบัน ซึ่งผู้สมัครจะต้องกำลังศึกษาอยู่ในเขตพื้นที่ของภูมิภาคนั้นๆ ผู้ที่เคยผ่านการแข่งขันในรอบคัดเลือกในปีอื่น ๆ ไม่สามารถสมัครเข้าร่วมแข่งขันซ้ำได้อีก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ฝ่ายการตลาดและสื่อสารองค์กร 02-6661111 ต่อ 368-374 หรือสมัครออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ http://cablingandnetworkingcontest.com อีเมล [email protected] รองอธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

พรบ. ทุนรัฐวิสาหกิจเปิดทางให้มูลค่าสินทรัพย์รัฐบาลเพิ่มกว่า1 ล้านล้านบาท จาก ปตท. และ ทอท.

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ คือ ปตท. การไฟฟ้าทั้ง 3 ทีโอที+กสท. กสทช. การท่าอากาศยาน และ องค์การเภสัช

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ในฐานะรองประธาน ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ และขอให้แต่ละแห่งต้องบริหารการเงินให้ดีเพราะงบประมาณของรัฐในอนาคตจะไม่มีงบเพื่อสนับสนับสนุนรัฐวิสาหกิจเช่นในอดีต ปตท. และการท่าอากาศยานได้รับความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่น่าเสียดายที่ไฟฟ้าและโทรคมนาคมพลาดโอกาส เมื่อ 20 ปีก่อนที่ตนผลักดันพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ได้ถูกต่อต้านอย่างมาก จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกฎหมายขายชาติ 

แต่ผลในปัจจุบันปรากฏว่ามูลค่าทุนของ ปตท. ที่รัฐเคยถือไว้ก่อนเข้าตลาดได้เพิ่มจาก 30,000  ล้านบาท เป็น 600,000 ล้านบาท ในปัจจุบันและทุนของการท่าอากาศยานได้เพิ่มจาก 5,747 ล้านบาทเป็น 575,000 ล้านบาท รวมทั้งสองแห่งเท่ากับว่า พรบ. ทุนฯ ได้เปิดทางให้มูลค่าทุนของรัฐบาลเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกเหนือจากเงินปันผลที่ได้รับอีกกว่า 1 ล้านล้านบาทในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยที่กระทรวงการคลังยังถือหุ้นใน ปตท. และ ทอท. 60 % และ 70 % ตามลำดับ

ดร.พิสิฐ กล่าวชม ปตท. ในความสำเร็จที่ผ่านมาจนได้เป็นบริษัทที่มี ฐานะเป็นอันดับ 1 ในตลาดหลักทรัพย์ โดยได้ขยายสัดส่วนในตลาดน้ำมันจาก 10% มาเป็น 40% ในปัจจุบัน นอกจากการเน้นการค้า LNG ปตท. ยังพยายามสร้างธุรกิจใหม่ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการผลิตรถ EV 
ส่วนการไฟฟ้าทั้ง 3 ผลจาก COVID-19 ทำให้กำไรลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ดร.พิสิฐ ขอให้มุ่งหน้าพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

สำหรับการควบรวมทีโอทีและ กสท. จะมีการลดพนักงานโดยการให้สมัครใจลาออกพร้อมค่าสอบแทนเป็นแรงจูงใจถึง 6,000 นายในรอบ 3 ปี ดร.พิสิฐ ขอให้มีการดูแลให้คนที่ออกมีการยกระดับความรู้ (reskill) เพื่อกลับเข้าตลาดแรงงานอย่างมีคุณภาพและขอให้พิจารณาการให้บริการ free WiFi โดยเฉพาะเพื่อการศึกษาในยุคของ WFH และให้ดูตัวอย่างของออสเตรเลียที่สามารถชักนำให้ Facebook ต้องจ่ายเงินเพื่อช่วยสื่อสารมวลชนที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สำหรับการท่าอากาศยานในรอบ 3 ปี มีความเสียหายจากคนไม่เดินทางเพราะ COVID-19 รวมเป็นการตกต่ำของรายได้ถึง 100,000 ล้าน แต่ฐานะการเงินของ ทอท. ก็ยังมั่นคง อาจไม่จำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากรัฐ

กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน

กกร. ปรับลดการเติบโตจีดีพีของไทยปี 2564 อีกครั้งจากเดิมอยู่ในกรอบ 0-1.5% เหลือ -1.5 - 0% หลังรัฐขยายระยะเวลาล็อกดาวน์ แต่ปรับการส่งออกเพิ่มจาก 8-10% เป็น 10-12% จากการฟื้นตัวของศก.โลก แต่ยังคงต้องคุมไม่ให้เกิดการระบาดในโรงงาน ค้านรัฐหากเดินหน้า Full Lockdown

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยวิกฤติและถลำลึกกว่าที่คาดไว้และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว เพราะเรายังไม่สบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ยังไม่อาจกระจายวัคซีนได้มาก แม้มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ มา 14 วันแล้วก็ตาม ทำให้ภาครัฐต้องขยายมาตรการ Lockdown ออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม และขยายวงกว้างออกไปหลายจังหวัดซึ่งประเมินว่ากระทบคิดเป็น 300,000-400,000 ล้านบาท เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจึงอยู่ในภาวะที่ฟื้นตัวได้ยาก ธุรกิจทุกส่วนได้รับผลกระทบรุนแรงทั้ง เอสเอ็มอี แรงงาน ไม่เว้นแม้กระทั่งส่งออก และจากการหารือต่างเห็นพ้องกันว่ารัฐบาลไม่ควรดำเนินมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดย Full lockdown โดยควรต้องอยู่กับมันให้ได้แต่ต้องมีวัคซีนและชุดตรวจเชื้อเร่งด่วน (Antigen Test Kit) หรือ ATK ที่เพียงพอ

นอกจากนี้ รัฐต้องเตรียมมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจให้พร้อมเพราะภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงโดยภาคครัวเรือนเผชิญภาระหนี้ที่เพิ่มสูงกว่า 90% ต่อจีดีพี และต้องการการเยียวยาเพื่อชดเชยรายได้ที่หดหายไปและการฟื้นฟู การเตรียมพร้อมงบประมาณซึ่งเพดานหนี้สาธารณะควรขยายให้มากกว่า 60% ต่อจีดีพี เป็น 65-70% เพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต รวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องพิจารณาแนวทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินและมาตรการกับสถาบันการเงินเพิ่มเติมภายใต้ข้อจำกัดที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ใกล้ระดับ 0% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ

ขณะเดียวกันกกร.เห็นว่าควรขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษี ปีภาษี 2565 (ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565) เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็น 60% ขึ้นไป ขอกรมสรรพากร ยกเว้นภาษี SMEs 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 และให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ

โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือ อย. เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่น ๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายา "ฟาวิพิราเวียร์" ที่กำลังมีความต้องการสูง เป็นต้น

นายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กกร.ได้เน้นย้ำมาโดยตลอดว่าการจัดหาวัคซีนเป็นหัวใจของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเห็นว่าวัคซีนทางเลือกควรจะมีเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้เอกชนมีค่าใช้จ่ายในการป้องกันดูแลสูงขึ้นโดย ATK ต้องซื้อไว้ตรวจพนักงานอย่างเพียงพอจึงเห็นว่ารัฐควรจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายดังกล่าวส่วนหนึ่งซึ่งคิดว่าเป็นเงินไม่มากเมื่อเทียบกับจำนวนเงินที่รัฐต้องใช้เยียวยาซึ่งภาคเอกชนยืนยันว่าไม่เห็นด้วยหากรัฐจะมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบโดยห้ามออกจากบ้าน หรือ Full Lockdown เพราะจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจที่ขณะนี้ก็ย่ำแย่อยู่แล้วและเศรษฐกิจไทยอาจต่ำสุดในภูมิภาค

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่ววว่า วัคซีนยังเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งจัดหา รวมไปถึง ATK ที่เอกชนมองว่ารัฐควรจะช่วยเหลือเอกชนในส่วนนี้ และยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับ Full Lockdown เพราะหากไม่สามารถจัดวัคซีนแยกคนป่วยที่กลุ่มสุ่มเสี่ยงออกจากกัน ระบบสาธารณสุขเอาไม่อยู่ เศรษฐกิจก็พังลงได้เช่นกัน

จุรินทร์ กำชับ ดึงประโยชน์ FTA ช่วยผู้ประกอบการส่งออก ลดต้นทุนการผลิต-การส่งออก นำรายได้เข้าประเทศ เพราะสถานการณ์นี้ประเทศต้องพึ่งพาส่งออกเป็นขาหลัก

วันที่ 3 ส.ค. นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามนโยบายด้านเขตการค้าเสรี หรือ Free Trade Area หรือ FTA ที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ทั้งนี้เพื่อประกอบเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ส่งออกในการหาตลาดที่เป็นประโยชน์และลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนการส่งออกได้นับจากนี้

นางมัลลิกา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่ไทยมี FTA กับ 18 ประเทศ โดยในปี 2563 มีการค้ากับประเทศที่มี FTA รวม 276,005 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 8,044,703 ล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 63 ของการค้าไทยกับทั้งโลก สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 คือระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน 2564 การค้าของไทยกับประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 167,372 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,297,055 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ FTA มีมูลค่ารวม 81,961 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

ซึ่งในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการค้ามีการขยายตัวในประเทศที่มีการทำ FTA โดยเฉลี่ยประมาณ 150-200% ในขณะที่ประเทศที่ไม่มี FTA มีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 50-100%โดยการใช้สิทธิประโยชน์ผ่าน FTA ในปี 2563 มีมูลค่า 58,077.19 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 76.5 ของการส่งออก ที่ได้รับสิทธิ FTA

"ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 คือ มกราคม-เมษายน 2564 มีการขอใบรับรองเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกด้วย FTA มูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ ร้อยละ 74.91 ของมูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ FTA เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ร้อยละ 18.09 และประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกภายใต้สิทธิ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย" นางมัลลิกา กล่าว

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ กำชับให้กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลผู้ประกอบการทุกระยะเพื่อได้ใช้ประโยชน์ทางการค้าและเพิ่มตลาดส่งออกที่สำคัญ โดยในช่วงที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ในฐานะประธานการประชุมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP ระหว่าง 15 ประเทศ

ประกอบด้วยกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และบวกอีก 5 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยที่ถือว่าเป็นความตกลงทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่า GDP 1 ใน 3 ของโลกและมีประชากรรวมกัน 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในการเปิดการค้าเสรีเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยให้ห่วงโซ่มูลค่าการผลิตโลกเพิ่มสูงขึ้น ในส่วนนี้คาดว่าจะเริ่มต้นได้ในต้นปี 2565 จึงอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมสามารถเข้าใช้บริการของ RCEP Center ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โดยสอบถามข้อมูลผ่าน Call Center ที่หมายเลข 02-507-7555 รวมทั้งสามารถสืบค้นข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่ www.dtn.go.th และเว็บไซต์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ www.moc.go.th


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!

A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!!

>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท

>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ

>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต

>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย

***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ไฟเขียวเยียวยาลูกจ้าง-นายจ้าง 29 จังหวัด ช่วยแท็กซี่-วินจยย.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. ได้เห็นชอบให้ขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ เพิ่มเติมอีก 16 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมเป็น 29 จังหวัด โดยแรงงานกลุ่มเดิม 13 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากประกาศไปแล้วห่อนหน้านี้จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มอีก 1 เดือน ในเดือนส.ค.นี้ พร้อม ๆ กับอีก 16 จังหวัดที่เพิ่มเข้ามาด้วย โดยวงเงินที่ใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ขยายกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 3 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท 

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา ลูกจ้างและนายจ้าง ในระบบประกันสังคมครั้งนี้จะครอบคลุม 9 กลุ่มอาชีพ โดยจะได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลในลักษณะเดียวกับ 13 จังหวัดก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นแรงงาน ตามมาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยารายละ 2,500 บาท ขณะที่นายจ้างจะได้รับชดเชยตามจำนวนลูกจ้างคิดเป็นรายหัวหัวละ 3,000 บาท แต่ไม่เกิน 200 คน หรือไดรับเงินเยียวยาสูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท ส่วนแรงงาน ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเยียวยารายละ 5,000 บาท

พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังยังเห็นชอบให้ช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ และมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีอายุเกิน 65 ปี ซึ่งอยู่ในพื้นที่ 29 จังหวัด แต่สมัครเข้ามาเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อรับการเยียวยาไม่ได้ ก็ให้สามารถเข้ามารับการเยียวยาตามมาตรการนี้ได้ด้วย ซึ่งในรายละเอียดทางกระทรวงคมนาคมจะไปจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยพิจารณาจากฐานข้อมูลการจดทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปตามความเหมาะสม สามารถยืนยันตัวตนและตรวจสอบได้

ครม. อนุมัติ 32,000 ล้าน ช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของศธ.-อว.ภาคเรียน ที่ 1 /2564

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แลถงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ว่า ครม.โครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาคการเรียน ที่ 1 ปีการศึกษา 2564 วงเงิน 32,000 ล้านบาท โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการ 22,000 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง มีรายละเอียดดังนี้ 1.การใช้จ่ายของกระทรวงศธ. เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียนนักศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอก 2,000 บาทต่อคน จำนวน 10,952,960 คน วงเงิน 22,000 ล้านบาท  โดยใช้จ่ายจากพ.ร.ก. เงินกู้ ฯและสนับสนุนสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ให้โรงเรียนละไม่เกิน 10,000 บาท จำนวน 34,887 แห่ง เป็นสถานศึกษาของรัฐ 30,879 แห่ง สถานศึกษาเอกชน ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อีก 4,008 แห่ง วงเงิน 94.08 ล้านบาท โดยให้ใช้เงินจากงบประมาณแทน เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขการใช้เงินกู้

2. โครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยนิสิต นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายจำนวน  1,788,522 คน เป็นนิสิต นักศึกษาของสถาบันฯของรัฐในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา ฯ  จำนวน 1,458,978 คน และนิสิต นักศึกษาของสถาบันฯภาคเอกชนในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯจำนวน 285,000 คน  และนักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ นอกสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯจำนวน 44,544 คน  โดยช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจำนวน 100 แห่ง ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 50 ส่วนตั้งแต่ 50,001–100,000 บาท ช่วยเหลืออัตราร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 10โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4 นอกจากนั้นช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน จำนวน 72 แห่ง เยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 5,000 บาท และช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาอื่น เช่น การให้ทุนศึกษา ขยายเวลาการชําระ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ขยายเวลาสําเร็จการศึกษา ลดและคืนค่าหอพัก รวมทั้งการจ้างงาน ส่งเสริมรายได้ให้กับนักศึกษา เป็นต้น 

นายอนุชา กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งของกระทรวงศึกษาฯและกระทรวงการอุดมศึกษาฯมุ่งช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ให้บุตรหลานยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้  ส่วนกรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครม.ขอให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรกปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรกก่อน

สภาผู้ส่งออก หวังส่งออกยังพอโตต่อไปได้แม้เจอโควิด-19

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. คงคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 เติบโต 10% โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ ทั้ง สหรัฐ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น, ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าใกล้เคียง 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องถึงระดับ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ทั่วโลกปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง 

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 64 คือ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด–19 ภายในประเทศยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่สามารถควบคุมและลดการแพร่ระบาดได้อาจจะกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะภาคการส่งออกซึ่งถือเครื่องจักรตัวสุดท้ายที่ยังขับเคลื่อน เช่นเดียวกับ กรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิต และการส่งมอบสินค้า ทำให้การส่งออกเติบโตได้เพียง 10% จากที่คาดว่ามีโอกาสเติบโตได้ถึง 15% ประกอบกับมาตรการ Bubble & Seal ซึ่งโรงงานขนาด SMEs ส่วนใหญ่ อาจไม่สามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ปริมาณการหมุนเวียนของตู้สินค้ายังไม่เพียงพอ ประกอบกับค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น  รวมไปถึงปัญหาแรงงานขาดแคลน เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ความต้องการแรงงานในกระบวนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศและยังไม่ได้เดินทางกลับเข้ามา ประกอบกับยังไม่สามารถจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้เพียงพอกับจำนวนแรงงานในภาคการผลิต ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงานให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และ ปัจจัยการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น  

ครม.เตรียมเยียวยาต่อเนื่อง ลูกจ้าง – นายจ้าง ประกันสังคม 16 จังหวัด

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมเตรียมพิจารณาวาระที่เกี่ยวข้องกับด้านเศรษฐกิจจากหน่วยงานต่าง ๆ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เตรียมเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการอันเนื่องมาจากข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) เพื่อช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างใน 9 กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากประกาศฉบับนี้ เพิ่มเติมอีก 16 จังหวัดที่เป็นสีแดงเข้ม 

สำหรับการช่วยเหลือเยียวยา ลูกจ้างและนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยาจากทางรัฐบาลในลักษณะเดียวกับ 13 จังหวัดก่อนหน้านี้ แบ่งเป็นแรงงาน ตามมาตรา 33 จะได้รับเงินเยียวยารายละ 2,500 บาท ส่วนแรงงาน ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเยียวยารายละ 5,000 บาท จำนวน 1 เดือน ขณะที่นายจ้างจะได้รับชดเชย แรงงานหัวละ 3,000 บาท สถานประกอบการละไม่เกิน 200 คน หรือสูงสุดไม่เกิน 6 แสนบาท โดย สศช.เตรียมเสนอการขยายกรอบวงเงินที่จะใช้ในการเยียวยาครั้งนี้ เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยเสนอขอไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท

ส่วนวาระอื่น ๆ กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอร่างกฎกระทรวงยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องเสียง วีดิทัศน์ และเครื่องใช้ อิเล็กทรอนิกส์ที่คล้ายกัน : คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัยต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ.2564 พ.ศ. .... กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอ ร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องหลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ของผู้ให้บริการ พ.ศ. ....

สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รวมทั้งมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณี ฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินงานโครงการอบรมและส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรม และรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review : UPR ) รอบที่ 3 และโครงการทุนอุดหนุนนักเรียนดีมีความสามารถในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

“ศักดิ์สยาม” ขานรับนโยบายนายกรัฐมนตรี เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยมีนายกฯ เป็นประธาน ผ่านระบบออนไลน์

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล และสถานีกลางบางซื่อ (ผ่านระบบ Video Conference) ให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ ปลายปี 2564 

โดยรถไฟสายดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงระบบขนส่งทางรางกับระบบขนส่งอื่น ๆ ของประเทศอย่างเป็นระบบครบวงจรทั้งบางบก อากาศ และทางถนน เพื่อให้ประชาชนเดินทางออกสู่ภูมิภาคและเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และแก้ปัญหาการจราจรติดขัด โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น ร่วมเป็นสักขีพยานครั้งนี้ด้วย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวรู้สึกยินดีที่ได้ทำพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งช่วงบางซื่อ - รังสิต และช่วงบางซื่อ – ตลิ่งชัน ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบ ในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ พร้อมย้ำว่ารัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทางราง ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจึงได้ส่งเสริมผลักดันให้ระบบคมนาคมทางรางเป็นรูปแบบการเดินทางหลักของประเทศ ที่ผ่านมารัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางในทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง เพื่อช่วยยกระดับการเดินทางของประชาชนสะดวก รวดเร็ว ยิ่งขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล บรรเทาปัญหาการจราจร รวมถึงพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่ง และโลจิสติกส์ ในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ขณะเดียวกันก็รักษาสภาวะแวดล้อมของโลกในเรื่องของการลดการใช้พลังงานที่ทำให้เกิดมลพิษด้วย

สำหรับสถานีกลางบางซื่อ และโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง นอกจากจะเป็นทางเลือกให้ประชาชนสามารถเดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยแล้ว ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ ก่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง นอกจากนี้ ในระยะยาวจะขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน นับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งต่อไปจะมีการเร่งรัดการดำเนินการในพื้นที่ต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคอีกด้วย

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้ใช้บริการสถานีกลางบางซื่อและรถไฟชานเมืองสายสีแดงในวันนี้ ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 2564 และเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

เดินหน้า “บิ๊กตู่” เป็นประธานเปิดเดินรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ยกระดับการเดินทาง พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพขนส่งเชื่อมต่อโลจิสติกส์ระหว่างภูมิภาค ทดลองบริการฟรีก่อนเปิดบริการเต็มรูปแบบ พ.ย.นี้

ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมือง สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ผ่านระบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้าร่วม

โดยพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ทั้งช่วงบางซื่อ-รังสิตและช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งได้ดำเนินการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดให้บริการประชาชนอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพ.ย. 2564 นี้ จากการที่รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี 2561-2580 ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตเมือง เพื่อช่วยยกระดับการเดินทางให้ประชาชนมีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล บรรเทาปัญหาการจราจร รวมทั้งพัฒนารถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางขนส่งและโลจิสติกส์มีการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาค ขณะเดียวกันรักษาสภาวะแวดล้อมของโลกไปด้วย ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนรับเป็นก้าวย่างสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ในการพัฒนาระบบรางและการพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งต่อไปจะมีการเร่งรัดการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆในแต่ละภูมิภาค 

สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง เปิดให้บริการเส้นทางสายเหนือช่วงบางซื่อ-รังสิต มีจำนวน 10 สถานี ระยะทาง 26 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทาง 25 นาที สายตะวันตกช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีจำนวน 3 สถานี ระยะทาง 15 กิโลเมตร ใช้ระยะเวลาเดินทาง 15 นาที ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย มอบหมายให้รฟท.จำกัดซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เปิดให้ประชาชนให้บริการฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไปจนถึงประมาณปลายปี 2564 ซึ่งจะเป็นการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ 

ทั้งนี้จะเปิดให้บริการตั้งแต่ 06.00 น -20.00 น และในช่วงเวลาเร่งด่วนจะมีการเดินรถในเวลาทุกๆ 15 นาที ในเวลาปกติเดินรถทุก 30 นาที โดยท่ามกลางการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มีการจัดให้บริการจำกัดจำนวนผู้โดยสารทุกประเภทไม่เกินร้อยละ 50 ตามมาตรการรักษาระยะห่างนอกจากนี้ยังมีการบูรณาการร่วมกับการเดินทางอื่นๆเพื่อเพิ่มความสะดวกและการเข้าถึงของประชาชนและมีการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ

สำนักงบฯ แนะทุกหน่วยงานใช้งบต้องคิดถึงผลกระทบโควิดรุนแรง

สำนักงบประมาณได้รายงานรายงานผลการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 64 ในช่วงไตรมาสที่ 3  โดยจากวงเงินรวม 3.2 ล้านล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้วประมาณ 2.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 69.49%  มีการก่อหนี้แล้วจำนวน 2.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 75.03% โดยในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลงทุนทั้งในมิติของพื้นที่และการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐยังเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐซึ่งมีการก่อหนี้สูงกว่าเป้าหมายอย่างมากในปีนี้  

ทั้งนี้เพื่อให้การเบิกจ่ายและจัดสรรงบประมาณในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ (ก.ค. - ก.ย.) มีประสิทธิภาพสำนักงบประมาณจัดทำข้อเสนอข้อให้หน่วยงานราชการใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ คือหน่วยรับงบประมาณควรเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณ และการบริหารงบประมาณที่ได้รับ การจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดผลกระทบหรือกระทบต่อการปฏิบัติงานและการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างเหมาะสม และให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน่วยรับงบประมาณควรพิจารณากำหนดทิศทางหรือแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ในส่วนช่องงบประมาณที่เป็นรายจ่ายประจำส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ควรมีการวางแผนอย่างเหมาะสม เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศโดยรวม 

ผู้บริหารเอกชนหวั่นโควิดกระจายกระทบภาคการผลิต

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI เดือนก.ค. 2564 เรื่อง การจัดการปัญหาแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. จำนวน 166 คน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 75 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในโรงงานอุตสาหกรรม 

รวมทั้ง ปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานเข้มข้น จนส่งผลทำให้กำลังการผลิตลดลงและกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้นจึงเสนอให้ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน ม.33 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการ รวมทั้ง รักษาศักยภาพในการผลิตและการส่งออกของประเทศ 

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังมองว่ามาตรการที่ภาคเอกชนมีความพร้อมและสามารถที่จะดำเนินการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ในสถานประกอบการได้ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ การมีระบบคัดกรองแรงงานก่อนเข้าโรงงาน และการเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงานที่เป็นกลุ่มเสี่ยงตามมาตรการ Bubble & Seal คิดเป็น 83.1% รองลงมา การจัดหาวัคซีนทางเลือกให้แก่แรงงานในสถานประกอบการ คิดเป็น 68.1% และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด คิดเป็น 65.7%

รัฐบาล เร่ง แก้ปัญหาราคามังคุดตกฮวบ ด้านพณ.ช่วยค่าส่งผลไม้ฟรีผ่านไปรษณีย์ไทย- อุดหนุนเกษตรกรรายย่อย

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนมังคุดภาคใต้และภาคตะวันออก ที่ผลผลิตปีนี้มีจำนวนมากจนล้นตลาด ราคาตก ได้รับผลกระทบไม่สามารถส่งผลผลิตไปขายพื้นที่ต่างๆหรือส่งข้ามพรมแดนได้ช้า โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รณรงค์ให้บริโภคผลไม้ไทยและช่วยกระจายสินค้าผ่านหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยมีมาตรการช่วยเหลือเกี่ยวข้องกับการขนส่งที่ล่าช้า การข้ามพรมแดนไปจีน เนื่องจากขนส่งทางรถผ่านด่านโหยวอี้กวนและด่านโม่ฮานติดขัดมาก ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาภาคใต้ไม่ทัน ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน รวมถึงปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย ส่งเสริมการขายผ่านระบบออนไลน์ ช่วยเกษตรรายย่อยส่งผลไม้ฟรีทั่วประเทศถึงมือผู้บริโภค โดยกระทรวงฯจะสนับสนุนค่าขนส่ง ค่ากล่องไปรษณีย์ จำนวน 2แสนกล่อง บรรจุผลไม้น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ตั้งเป้าช่วยกระจายผลไม้ 2พันตัน และมีมาตรการเร่งกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อกระจายมังคุด 1.7 หมื่นตัน

ส่วนปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ส่งสินค้าไปจีน ได้หารือกับสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ ซึ่งภายในเดือนส.ค.นี้ ปัญหาจะคลี่คลาย ขณะที่ปัญหาขาดแรงงาน กระทรวงมหาดไทย จะผ่อนผันให้ล้งและแรงงานเคลื่อนย้ายไปซื้อมังคุดที่จ.จันทบุรี นครศรีธรรมราช ชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ได้ภายใต้มาตรการควบคุการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด  ทั้งนี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ โดยนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการดำเนินการของทุกหน่วยงานอยู่ตลอด และรับทราบถึงการบูรณาการของทุกกระทรวงเป็นอย่างดี เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็วๆนี้

เร่งกระจายมังคุดส่งไปรษณีย์ช่วยแก้ล้นตลาด

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีมังคุดเกิดภาวะล้นตลาด-ราคาตกต่ำ ว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ส่งเสริมการขายผ่านระบบออนไลน์ โดยส่งผลไม้ฟรีทั่วประเทศถึงมือผู้บริโภค โดยกระทรวงฯ จะสนับสนุนค่าขนส่ง ค่ากล่องไปรษณีย์ จำนวน 2 แสนกล่อง แต่ละกล่องบรรจุผลไม้รับน้ำหนักได้ 10 กิโลกรัม เป้าหมายช่วยกระจายผลไม้ 2,000 ตัน พร้อมมีมาตรการเร่งกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท เพื่อกระจายมังคุด 1.7 หมื่นตัน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในส่วนของปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งสินค้าไปจีน ทางกระทรวงเกษตรฯ ได้หารือกับสมาคมผู้ประกอบการค้าผลไม้ ซึ่งมีการรายงานว่าในเดือนส.ค.นี้ ปัญหาจะคลี่คลาย ขณะที่การขาดแคลนแรงงาน ทางกระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาอำนวยความสะดวก โดยจะผ่อนผันให้ล้งและแรงงานเคลื่อนย้ายไปซื้อมังคุดที่จังหวัดจันทบุรี นครศรีธรรมราช ชุมพร และจังหวัดอื่นๆในภาคใต้ได้ ซึ่งจะอยู่ภายใต้มาตรการควบคุการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“รัฐบาลได้เร่งเข้าแก้ปัญหาราคามังคุดตกต่ำ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ติดตามการดำเนินการของทุกหน่วยงานอยู่ตลอด และได้รับทราบถึงการบูรณาการของทุกกระทรวงเป็นอย่างดี เชื่อว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ว ๆ นี้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top