Saturday, 10 May 2025
ECONBIZ

กรมประมง เร่งออก Seabook แรงงานต่างด้าว 

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ประชุมครม. ได้มีมติเห็นชอบตามแนวทางการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว โดยให้กรมประมงใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มเหลือง) ให้กับแรงงานต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือ ตามมติครม. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2563 ออกไปอีก 1 ปี นับแต่วันที่หนังสือคนประจำเรือเดิมสิ้นอายุ 

ทั้งนี้ ล่าสุดนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมประมงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน โดยในวันที่ 1 กรกฎาคม นี้ กรมประมงจะได้จัดประชุมร่วมกับสำนักงานประมงจังหวัดชายทะเล สมาคมการประมงชายทะเลในพื้นที่ทั้ง 22 จังหวัด และสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เพื่อเร่งดำเนินการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือให้เสร็จสิ้นต่อไป

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่จะขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ (Seabook เล่มเหลือง) จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้ 

1.) ต้องเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563  

2.) เจ้าของเรือได้จัดทำหนังสือสัญญาจ้างตามแบบที่กำหนดในประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการฯ ได้ตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของสัญญาจ้างและลงลายมือชื่อกำกับไว้ 

3.) คนต่างด้าวต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพซึ่งครอบคลุมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และการประกันสุขภาพมีอายุคุ้มครองอย่างน้อยหนึ่งปี ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 

4.) คนต่างด้าวจะต้องยื่นคำขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกำหนด ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ได้รับใบรับคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือจากกรมประมง 

“กห.จับมือ กษ.” ช่วยเกษตรกรรับซื้อและกระจายสินค้าการเกษตร 42 พื้นที่ทั่วประเทศ 

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม (กห.) และ นาย ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)ได้เป็นผู้แทนระหว่างกระทรวง กห.และ กษ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและการสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตทางการเกษตร

บันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นการยืนยันความร่วมมือของทั้งสองกระทรวงในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรและสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตการเกษตร เช่น ผลผลิตทางปศุสัตว์ การประมง ผักผลไม้ตามฤดูกาล ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอื่น ๆ เป็นต้น 

โดย กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินการจัดการผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นไปตามกลไกลทางการตลาดเป็นลำดับแรก เมื่อผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาดและมีราคาตกต่ำ กระทรวงกลาโหมโดยทุกเหล่าทัพพร้อมให้การสนับสนุนการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรกระจายให้กับหน่วยทหารทั่วประเทศ รวมทั้งสนับสนุนพื้นที่จำหน่าย กระจายสินค้าการเกษตรให้กับประชาชนในชุมชนต่าง ๆ รอบหน่วยทหารทุกเหล่าทัพ จำนวน 42 พื้นที่ 26 จว.ทั่วประเทศ  โดยในขั้นต้นจะเร่งดำเนินการในพื้นที่นำร่องกระจายผลผลิตทางการเกษตรใน 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, นครสวรรค์, สุราษฎร์ธานี, กระบี่ และสงขลา

โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากระทรวงกลาโหม โดยทุกเหล่าทัพได้สนับสนุน กระทรวงเกษตรฯ รับซื้อสินค้าการเกษตรและสนับสนุนพื้นที่จำหน่ายและกระจายผลผลิตการเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่องที่ผ่านมา ทั้งนี้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว จะสามารถสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตร ลดค่าขนส่งและกระจายสินค้าการเกษตรได้เร็วขึ้น ในราคาที่เป็นธรรมกับทั้งเกษตรกรและประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบ กรณีผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด และมีราคาตกต่ำ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ต่างๆตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม
 

เปิดผลกระทบโควิดทำแรงงานท่องเที่ยวตกงาน 2 ล้านคน

น.ส.ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการเปิดบริการปกติเพียง 50% เท่านั้น โดยมีปิดกิจการชั่วคราว 35% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 22% และในจำนวนนี้มีกลุ่มที่ปิดกิจการถาวรถึง 4% เพิ่มขึ้นจากการระบาดในระลอกก่อน 1% โดยกิจการที่ปิดกิจการถาวรมากที่สุด คือ ร้านขายของที่ระลึก รองลงมาคือ สปา นวดแผนไทย, สถานบันเทิง และโรงแรม 

ทั้งนี้จากการสำรวจสถานภาพการประกอบกิจการ พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ แม้ว่าในภาพรวมธุรกิจต่าง ๆ จะเปิดบริการได้ 50% โดยเฉพาะบริการขนส่ง ซึ่งมีการเปิดบริการมากถึง 85% แต่ก็ไม่มีคนเข้าไปใช้ หรือเข้าไปใช้น้อยมาก ขณะที่การปิดกิจการชั่วคราวนั้น จากการสำรวจพบว่าธุรกิจประเภทต่าง ๆ มีสัดส่วนการปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ด้านสถานบันเทิงในช่วงของการสำรวจเป็นช่วงที่มีการปิดกิจการชั่วคราวค่อนข้างมาก โดยมีการเปิดบริการปกติเพียงแค่ 3% เท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงบางส่วนหันไปทำอาชีพอย่างอื่นแทน 

ส่วนรายได้ของธุรกิจนั้น พบว่ากว่า 75% มีรายได้ไม่เกิน 10% อีกทั้งสถานประกอบการ 68% มีจำนวนพนักงานเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่ง ส่วนเงินเดือนและการจ่ายค่าจ้างปรับลดลงเหลือ 65% จากไตรมาสก่อนที่ได้ 70% โดย 60% ของสถานประกอบการท่องเที่ยวที่ยังเปิดอยู่จ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานไม่เกิน 50% จากที่เคยจ่าย ซึ่งสถานประกอบการที่ยังเปิดบริการในไตรมาสนี้ 74% มีทุนสำรองให้ใช้ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน สะท้อนให้ในเห็นว่า หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น คาดว่าอีก 6 เดือนข้างหน้า จะมีสถานประกอบการเหลือรอดอยู่เพียงประมาณ 13% ของทั้งประเทศเท่านั้น

“หากดูภาวการณ์จ้างงานโดยเฉลี่ยของไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ก็ปรับลดลงโดยจำนวนพนักงานลดลงจาก 52% เหลือ 51% หมายความว่า ในระบบแรงงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งมีแรงงานอยู่ 4.2 ล้านคน ตอนนี้ถูกให้ออกจากงานไป 49% หรือประมาณ 2 ล้านคนแล้ว ส่วนการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวไตรมาสที่ 2 ปี 64 อยู่ที่ระดับ 11 ถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด และต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมาในระดับมาก แต่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับ 33 ในไตรมาสที่ 3” 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง คาดหลังก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการจะสร้างเม็ดเงินลงทุนในประเทศอีกประมาณ 64,000 ล้านบาท เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 คน! 

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) อนุมัติจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมในพื้นที่อีอีซี คาดหลังก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการจะสร้างเม็ดเงินลงทุนในประเทศอีกประมาณ 64,000 ล้านบาท เกิดอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 คน!  

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) อนุมัติให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 1 แห่ง โดยร่วมดำเนินงานกับบริษัท เอเพ็กซ์ ปาร์ค จำกัด ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี การขยายตัวของอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve และอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตอบสนองนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามยุทธศาสตร์ของประเทศเชิงพื้นที่ (Area based) โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาและให้บริการระบบสาธารณูปโภคภายใต้การกำกับของ กนอ.  

โครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเอเพ็กซ์กรีน อิสดัสเตรียล เอสเตท ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลหัวสำโรง และตำบลแปลงยาว อำเภอแปลงยาว จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 2,191 ไร่ โดยที่ตั้งของโครงการฯ อยู่ห่างจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 80 กิโลเมตร ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง ประมาณ 100 กิโลเมตร สนามบินอู่ตะเภา ประมาณ 120 กิโลเมตร ห่างจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 130 กิโลเมตร ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ ประมาณ 10 กิโลเมตร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ประมาณ 50 กิโลเมตร 

สภาพพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ดอนที่ไม่มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมถึง ในส่วนของตัวโครงการแบ่งพื้นที่เป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไปประมาณ 1,600 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว และแนวกันชนประมาณ 591 ไร่ 

โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี ซึ่งหลังจากเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 64,000 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 16,000 คน ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มเกษตรกรรมและผลผลิตจากการเกษตรที่มีความต้องการใช้น้ำต่ำ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา กลุ่มอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค กลุ่มการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการในพื้นที่อีอีซี  

“โครงการฯ ดังกล่าวสนองตอบต่อนโยบายการพัฒนาพื้นที่อีอีซีของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนและพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการวางโครงสร้างพื้นฐานในระบบสาธารณูปโภค อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สนามบินอู่ตะเภาเมืองการบินภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และชักจูงการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve และ New S-Curve โดย กนอ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดเตรียมพื้นที่เพื่อรองรับนักลงทุน 

ซึ่งจากการพิจารณาข้อเสนอของโครงการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าวแล้ว กนอ.เห็นว่า นอกจากศักยภาพของโครงการฯ ทั้งในด้านทำเลที่ตั้ง การเชื่อมโยงเครือข่ายด้านคมนาคมขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แล้ว บริษัทฯ ยังมีความพร้อม มีฐานลูกค้า และมีประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ ที่คาดว่าจะทำให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี” นายวีริศ อัมระปาล กล่าว

การจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว ได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ โดยจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนรอบพื้นที่โครงการฯ รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม และในส่วนของน้ำทิ้งได้นำไปผ่านการบำบัดและปรับปรุงคุณภาพก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) เพื่อลดอัตราการระบายน้ำทิ้งออกนอกพื้นที่ ใช้แนวคิดออกแบบอาคารแบบอารยสถาปัตย์ และออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน (Green Building) ลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหันมาใช้พลังงานทดแทนเสริมพลังงานหลัก ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามข้อบังคับของคณะกรรมการกนอ. ว่าด้วยมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสำหรับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พ.ศ. 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ครม.เคาะเยียวยาลูกจ้าง-นายจ้าง เจอปิดกิจการ 1 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดควบคุมไวรัสโควิด-19 ฉบับที่ 25 ทั้งแรงงานและผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และนอกระบบ ในกิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร กิจกรรมสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ และกิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ ในระยะเวลา 1 เดือน 

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือ กลุ่มแรก คือ แรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคมที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกจ้างและนายจ้างตามกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณี ว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ในอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่ แต่ไม่เกิน 90 วัน

กลุ่มที่ 2 ผู้ประกอบการหรือนายจ้าง จะได้รับความช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และกลุ่มที่ 3 ผู้ประกอบการหรือนายจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แยกเป็น 3 กรณี คือ กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน 

กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียน ผ่านแอปพลิเคชันถุงเงิน ผ่านโครงการคนละครึ่ง ภายในเดือนก.ค.เช่นกัน โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม ของโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง จะได้รับการช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในโครงการคนละครึ่งและมีลูกจ้างแต่ยัง ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.นี้ 

บริษัทประกันกุมขมับ! ยอดเคลม ‘ประกันโควิด’ พุ่งไม่หยุด เสี่ยงขาดทุนหนัก

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงต่อเนื่อง ทำให้คนไทยตื่นตัวหันมาทำประกันภัยโควิดเพิ่มแบบก้าวกระโดด ล่าสุดยอดการทำประกันโควิด ทั้งประกันใหม่และประกันต่ออายุในช่วงครึ่งปีแรก มีจำนวนมากถึงกว่า 10 ล้านกรมธรรม์ สูงกว่ายอดประกันตลอดทั้งปีที่แล้ว โดยมียอดเบี้ยประกันเกินกว่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับรูปแบบประกันที่นิยมจะคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบ หรือจ่ายค่าเคลมทันทีเมื่อพบติดเชื้อ รองลงมาเป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยเมื่อรักษาตัว และคุ้มครองเมื่ออาการโคม่า

ส่วนยอดเคลมหรือจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันโควิด ปีนี้มียอดพุ่งสูงกว่าปีก่อนเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์การระบาดและยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่กระจายทั่วประเทศ และส่งผลให้บริษัทประกันเริ่มขาดทุนจากรับทำประกันโควิด เพราะหากนับเฉพาะเบี้ยที่รับรู้รายได้ช่วง 2-3 เดือนของกรมธรรม์ (เม.ย.-มิ.ย.) มีเบี้ยรับเพียง 800-900 ล้านบาท แต่ยอดขอเคลมจากโควิดกับพุ่งเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ทำให้มีอัตราชดเชยค่าสินไหมสูงกว่าเบี้ยรับไปแล้ว

“ถ้าสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้หรือรุนแรงขึ้นกว่าเดิมอีก บริษัทประกันก็มีโอกาสขาดทุนมากกว่านี้แน่นอน”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า บริษัทประกันภัยหลายแห่ง ได้มีการแจ้งหยุดขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยโควิดแล้ว เนื่องจากพิจารณาแล้ว เห็นว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการรับประกันภัยประเภทดังกล่าว


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ธปท.ชี้ ! เศรษฐกิจไทยรออีกเกือบ 2 ปีถึงจะฟื้น

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานเสวนา “ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย” ว่า ธปท. คาดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา และอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1 ปี 2566 กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในระดับก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด ในหลายระลอก ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด ทั้งการจำกัดการเคลื่อนที่ การงดเดินทาง การเว้นระยะห่าง ลดการรวมตัว 

สำหรับการออกมาตรการทั้งหมดถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับภาคการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับผลกระทบอย่างมาก รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ทั้ง โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ภัตราคาร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน และอื่น ๆ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและยาวนาน จากการออกใช้มาตรการเพื่อยับยั้งการระบาดที่รุนแรงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การออกนโยบายและมาตรการอย่างต่อเนื่อง มองว่า ยังมีความจำเป็น เพื่อประคับประคองธุรกิจต่างๆให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤติไปได้และอยู่รอดจนถึงวันที่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และนักท่องเที่ยวเริ่มทยอยเดินทางมากขึ้นสถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับภาครัฐและเอกชน นับตั้งแต่โควิดเริ่มแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 63 ธปท. ได้เร่งออกมาตรการเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง และภาระหนี้ในหลากหลายทางเลือก ตั้งแต่ให้สถาบันการเงิน พัก หรือ ชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ ลดเงินต้น ลดดอกเบี้ย

ก.แรงงงาน เตรียมจ่ายเงินเยียวยาแรงงาน-นายจ้าง เดือดร้อนจากมาตรการคุมโควิด 6 จังหวัดเริ่ม 6 ก.ค.นี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แรงงานในระบบประกันสังคม 6 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ มีจำนวนประมาณ 6.9 แสนคน ส่วนแรงงานนอกระบบ ยังไม่ชัดเจน ต้องรอให้นายจ้างขึ้นทะเบียนระบบถุงเงินก่อน จึงจะทราบจำนวน โดยเงินเยียวยาในส่วนของประกันสังคม สามารถจ่ายได้ทันที คนละ สองพันบาท โดยนายจ้างจะได้ต่อหัว 3,000 บาท ซึ่งจะจ่ายทุก 5 วัน เริ่มวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ เป็นวันแรก โดยแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบจะแยกกัน “ประมาณการณ์แรงงานนอกระบบครั้งนี้เชื่อว่านายจ้างจะแจ้งและมีการลงทะเบียนมากขึ้น เนื่องจากจะได้รับการเยียวยา ซึ่งจะเป็นฐานข้อมูลต่อไป แรงงานต่างด้าว”

นายสุชาติ กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของนายกสมาคมภัตตาคารไทย ให้รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนการจัดทำข้าวกล่องวันละ 200,000 กล่อง คิดเป็นเงินวันละ 10 ล้านบาท เป็นเวลา 30 วัน ส่งให้กับแคมป์แรงงานที่ถูกปิด เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ต้องประสานหารือกับนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยที่มีแรงงานอยู่นับแสนคน เบื้องต้นทางผู้ประกอบการพร้อมจะดูแลเรื่องนี้เอง แต่รัฐบาลก็จะช่วยจัดหาสนับสนุนเพิ่มเติม เช่น ไข่ไก่ หรือ อาหารกระป๋อง โดยหลังจากดูแลเรื่องอาหารแล้ว จะเข้าไปตรวจเชื้อและฉีดวัคซีนในแคมป์แรงงานต่าง ๆ ก่อนจะส่งรายละเอียดให้ ศบค. ประเมิน เป็นรายกรณี ว่าสามารถเปิดทำงานได้ ก่อนครบกำหนด 1 เดือนหรือไม่

“บิ๊กตู่” เคาะเงินช่วยลูกจ้าง-นายจ้างเจอปิดกิจการ 1 เดือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากประกาศควบคุมที่ออกมา โดยจะเป็นมาตรการพิเศษที่จะทำในช่วง 1 เดือน ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 6 จังหวัด โดยช่วยเหลือลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ในสาขาก่อสร้าง สาขาที่พักแรมละบริการด้านอาหาร สาขาการบริการอื่น ๆ เช่น ร้านนวด สปา และสาขาศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ เช่น งานอีเว้นต์ งานกลางคืน รวม 6.9 แสนคน โดยกระทรวงแรงงานจะจ่ายค่าทดแทนกรณีเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท 

ขณะเดียวกันลูกจ้างกลุ่มนี้รัฐยังช่วยจ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้อีก 2,000 บาทต่อราย ซึ่งส่วนนี้จะได้รับเฉพาะลูกจ้างตาม ม.33 ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนประมาณ 6 แสนคน ส่วนนายจ้างเองจะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้าง โดยคิดรายหัวลูกจ้างที่อยู่ในบริษัทสูงสุดไม่เกิน 200 คน อีกส่วนหนึ่งผู้ที่เป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคม โดยพิจารณาจากจำนวนลูกจ้างและนายจ้างที่มาลงทะเบียนในระบบถุงเงิน หากต้องการรับความช่วยเหลือผ่านมาตรการที่จะออกมานี้ก็ต้องไปรีบลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม โดยกระทรวงแรงงานจะอำนวยความสะดวกให้

“มาตรการนี้จะใช้เงินรวม 7,500 ล้านบาท แยกเป็น เงินจากกองทุนประกันสังคม 3,500 ล้านบาท และใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน อีก 4,000 บาท ที่จะใช้ในส่วนที่รัฐช่วยเหลือรายละ 2,000 บาท โดยจะเสนอครม.วันที่ 29 มิ.ย.นี้ เห็นชอบหลักการ และจะเสนออนุมัติวงเงินในสัปดาห์ต่อไป เพื่อให้เริ่มต้นจ่ายเงินได้ในวันที่ 6 ก.ค.นี้ ส่วนระยะถัดไปจะมีมาตรการเพิ่มเติมไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีทั่วประเทศ” 

เอกชนขอรัฐต้องออกมาเยียวยาเพิ่มเติม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการครั้งนี้ เช่น คนงานในแคมป์ก่อสร้าง และลูกจ้างร้านอาหาร ให้อยู่รอดต่อไปได้ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องหยุดดำเนินงาน เช่น การช่วยเหลือการเงินเสริมสภาพคล่อง การช่วยชดเชยค่าแรง ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 

ส่วนห้างสรรพสินค้าหรือเอกชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่เช่า ก็ควรช่วยเหลือลดค่าเช่า หรือด้านอื่น ๆ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบใน 10 จังหวัดจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ หากเป็นธุรกิจที่มีหลักฐานจดทะเบียนถูกต้องควรได้รับความช่วยเหลือทันที ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนหากมีผู้ยืนยันตัวตนได้จริง ก็ควรได้รับความช่วยเหลือ

"มาตรการนี้ถือเป็นการเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับล็อกดาวน์ปิดพื้นที่ เพื่อลดความเสียหายด้านเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการควบคุมโรคได้มากขึ้น หากยังไม่ได้ผล รัฐบาลอาจจะขยายไปสู่การล็อกดาวน์บางธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ภาคเอกชนจะต้องเตรียมรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น" 

รมว.แรงงาน ถกสมาคมก่อสร้าง แจงมาตรการเยียวยาคนงานช่วงปิดแคมป์ 

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมระหว่างกระทรวงแรงงานกับผู้ประกอบการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวน 24 คน อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ฤทธา จำกัด บริษั ทวีมงคลก่อสร้าง จำกัด บริษัท ยูเวิร์ด 999 จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ฯลฯ เพื่อหารือในแนวปฏิบัติกรณีปิด (Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งในกลุ่มแรงงานไทยและต่างด้าว ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

โดย รมว.แรงงาน กล่าว่า ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการประชุมร่วมกับคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในคลัสเตอร์แคมป์คนงานนั้น และได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลค่าใช้จ่าย เงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างแทนผู้ประกอบการ

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในช่วงที่มีการปิดแคมป์ กระทรวงแรงงานจะจ่ายสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยโควิด-19 เนื่องจากสถานประกอบการถูกปิดตามคำสั่ง ศบค. โดยให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายเป็นเงินสด 50 เปอร์เซ็นของค่าจ้าง ให้คนงานทุก ๆ 5 วัน พร้อมดูแลเรื่องอาหารทุกมื้อด้วย ตลอด 1 เดือน ตามรายชื่อที่นายจ้างรับรองวันต่อวัน ตลอดเวลาการปิดแคมป์ก่อสร้าง

นอกจากนี้ ยังมีระบบการตรวจสอบว่าแรงงานที่จะได้รับการเยียวยาจะต้องอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง หากไม่อยู่ก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยดังกล่าว กระทรวงแรงงานจะประสานกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก (swab) แก่แรงงานในแคมป์คนงาน 100 เปอร์เซ็น หากตรวจพบเชื้อจะต้องแยกตัวแรงงานเพื่อมาเข้าสู่การรักษาตามขั้นตอนของสาธารณสุข ส่วนผู้ที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็จะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 

รวมทั้งการเฝ้าระวังตรวจสอบทุกโรงงานในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble and Seal 

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจตราทำความเข้าใจกับนายจ้างผู้ประกอบการให้เข้มงวดถึงมาตรการป้องกันโควิด-19 ของลูกจ้างในแคมป์คนงาน และกรมการจัดหางานเข้าไปตรวจสอบหากกรณีพบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายก็จะนำเข้าสู่ระบบทำให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมการค้าต่างประเทศ สามารถเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ให้กับรัฐบาลจีนได้เพิ่มอีก 20,000 ตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ภายใต้สัญญาการซื้อข้าวจีทูจีของ 2 ประเทศรวม 1 ล้านตัน ซึ่งไทยจะส่งมอบให้เร็ว ๆ นี้ โดยหลังจากนี้แล้ว ไทยจะพยายามเจรจาขายจีนให้ครบสัญญาโดยเร็ว ส่วนการขายข้าวจีทูจีให้กับบังกลาเทศ ล่าสุด บังกลาเทศได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) จะซื้อข้าวจากไทย 1 ล้านตัน น่าจะมีการเจรจาซื้อขายกันได้เร็ว ๆ นี้

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ข้าวขาว 5% ปริมาณ 20,000 ตัน ที่ไทยขายให้กับจีนล่าสุด อยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายจีทูจี 1 ล้านตัน ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน ควบคู่กับความร่วมมือในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่ผ่านมา โดยจีนนำเข้าจากไทยครั้งละ 100,000 ตัน และนำเข้าแล้ว 7 ครั้ง รวม 700,000 ตัน ยังเหลืออีก 300,000 ตัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2562 ไทยพยายามเจรจาให้จีนนำเข้าให้ครบสัญญา แต่จีนระบุว่าข้าวไทยราคาแพง และปริมาณข้าวในประเทศมีมาก จึงชะลอการนำเข้า แต่หลังจากที่ไทยใช้ความพยายามต่อเนื่อง และรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน คืบหน้ามากแล้ว จีนจึงยอมนำเข้า 20,000 ตัน ราคาเอฟโอบี ตันละ 520 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน ที่ตันละกว่า 400 เหรียญสหรัฐฯ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 10.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยทยอยส่งมอบภายในเดือนมิ.ย.-ก.ค.นี้

“ปกติไทยและจีนจะเจรจาซื้อขายกันครั้งละ 100,000 ตัน แต่ครั้งนี้ ไทยมีความยืดหยุ่นมาก เปิดกว้างให้จีนนำเข้าข้าวจากไทยได้ทุกชนิด ไม่จำกัดเพียงข้าวขาว และปริมาณก็ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100,000 ตัน จีนจึงได้ยอมนำเข้าที่ 20,000 ตัน ในราคาสูงกว่าราคาตลาด และหลังจากนี้ กรมฯ จะหารือกับคอฟโก (หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลการนำเข้าข้าวของจีน) เพื่อซื้อขายข้าวที่เหลืออีก 280,000 ตัน ให้เสร็จภายในปีนี้” นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ กรมฯ จะเดินหน้าเจรจาขายข้าวจีทูจี ภายใต้เอ็มโอยูที่ไทยลงนามกับบังกลาเทศและอินโดนีเซีย โดยมีกรอบเอ็มโอยูซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เพื่อให้การส่งออกข้าวไทยในปีนี้เป็นไปได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 6 ล้านตัน รวมถึงจะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ข้าว ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวนุ่มให้มีหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่นิยมบริโภคข้าวนุ่ม ในราคาไม่สูงมาก รวมถึงเพิ่มผลผลิตข้าวต่อไร่ และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันในตลาดโลกได้ ทั้งในเรื่องของคุณภาพ และราคา

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-23 มิ.ย. 2564 ไทยส่งออกข้าวแล้ว 2.2 ล้านตัน ลดลง 21.03% มีมูลค่า 1,382 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 28.14% เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งสำคัญมาก ทั้งเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน รวมถึงจีน อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และค่าระวางเรือที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก

 

ที่มา: https://www.thaipost.net/main/detail/107868


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“บิ๊กตู่” ประชุมบอร์ดบีโอไอ เพิ่มสิทธิประโยชน์ดึงนักลงทุน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2564 โดยคาดที่ประชุมจะพิจารณานโยบายสำคัญการปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมคุณค่าโครงการ (Merit-based Incentives) สร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทั้งสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน การกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

อีกทั้งที่ประชุมจะมีการพิจารณาในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ การปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ กาปรับปรุงการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานราชการอื่น 

ทั้งนี้ในการประชุมที่ผ่านมาที่ประชุมได้อนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100% ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) ด้วย

คลังเปิดความคืบหน้า คนละครึ่ง-ยิ่งใช้ยิ่งได้ ยังเหลือสิทธิ 

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 28.3 ล้านคน และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่เปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2564 มีประชาชนลงทะเบียนแล้วจำนวน 3.82 แสนคน

ทั้งนี้ ประชาชนยังสามารถลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ผ่านเว็บไซต์ www.ยิ่งใช้ยิ่งได้.com ได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เวลา 06.00 น.-22.00 น. ของทุกวันจนกว่าจะครบ 31 ล้านคน และ 4 ล้านคน ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐแล้ว สามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้อีกทางหนึ่ง

สำหรับ ประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนโครงการ ขอให้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 หรือโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ท่านต้องการเข้าร่วมผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 28 มิ.ย. 2564 เวลา 22.00 น. ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโครงการทำได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้น และถือเป็นการสละสิทธิโครงการเดิม สำหรับการใช้จ่ายของโครงการต่าง ๆ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยผู้ที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทย จะเริ่มใช้จ่ายได้เมื่อยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนเมื่อใดก็ได้ก่อนการใช้จ่ายโดยไม่ถูกตัดสิทธิโครงการ

ส่วนโครงการเราชนะ และ ม.33 เรารักกัน จะสิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.64 และจากข้อมูลพบว่ายังมีวงเงินสิทธิที่ยังไม่ได้ใช้จ่ายอีกจำนวนหนึ่ง จึงขอให้ประชาชนที่ยังมีวงเงินสิทธิเหลือ สำรวจวงเงินสิทธิคงเหลือของท่านและวางแผนใช้จ่ายให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด 

ไทยส่งออกทุเรียนสด ขึ้นอันดับ 1 ของโลก!

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดอันดับ 1 ของโลก โดยการส่งออกเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่ารายเดือนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 934.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 95.3% จากปีก่อน โดยส่งออกไปจีนที่เป็นตลาดหลักเติบโตสูงถึง 130.9% รวมแล้วตลอดช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ยังคงเร่งตัว 45.2% มีมูลค่า 1,839 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้การส่งออกทุเรียนกลายเป็นสินค้าเกษตรเศรษฐกิจส่งออกสำคัญในลำดับที่ 2 รองจากยางพารา แซงหน้าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปริมาณผลผลิตทุเรียนที่ออกสู่ตลาดในปีนี้มีเพิ่มขึ้นประกอบกับกระแสความต้องการทุเรียนจากตลาดจีนยิ่งหนุนราคาส่งออกทำให้การส่งออกทุเรียนสดของไทยในภาพรวมในปี 2564 น่าจะเร่งตัวได้ราวร้อยละ 35-40 มีมูลค่า 2,800-2,900 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดครั้งใหม่จากที่เคยทำไว้ในปีก่อนหน้า 

นอกจากนี้ ด้วยทุเรียนที่ได้รับกระแสตอบรับดีอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะสั้นปี 2564 ทุเรียนไทยยังคงทำตลาดได้ดีด้วยพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตที่ยังเพิ่มขึ้นได้อีก แม้ว่าทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านจะเริ่มรุกทำตลาดต่างประเทศ แต่ด้วยกำลังการผลิตยังมีน้อยและกว่าผลผลิตรุ่นใหม่จะเร่งตัวคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี 

สำหรับปัจจุบัน ไทยจะต้องเจอการแข่งขันมากขึ้นจากผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งมาเลเซีย เวียดนาม รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งระหว่างที่คู่แข่งกำลังเพิ่มผลผลิต ไทยก็จำเป็นต้องรุกนำเสนอทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นๆ ให้มีความหลากหลายเพื่อขยายตลาด พร้อมทั้งทำตลาดผ่านช่องทางสื่อโซเชียลและการค้าแบบอี-คอมเมิร์ซ รวมทั้งยกระดับทุเรียนไทยให้มีความพรีเมียมตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนการขนส่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประทานรสชาติเหมือนรับประทานที่ไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top