Wednesday, 2 July 2025
ECONBIZ

“นายกฯ” แนะปรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายให้เหมาะกับสถานการณ์เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ ดึงเอกชนร่วมส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ สร้างกำลังซื้อภายในประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เน้นการทำงานร่วมกันในการตัดสินใจกำหนดแนวทางและมาตรการตามที่คณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ได้เสนอเข้ามาซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง และเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน ที่ทุกกระทรวงต้องดำเนินตามมาตรการอย่างทั่วถึง

ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการใน 2 ส่วนพร้อม ๆ กัน คือ ทั้งการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยมีความจำเป็นที่ศบค. และศบศ. จะต้องมีข้อมูลเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เน้นการสื่อสารที่เข้าใจง่าย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานโครงการภูเก็ตโมเดล และสมุยพลัสโมเดล ซึ่งเป็นการเดินหน้าตามเป้าหมาย 120 วันของรัฐบาลในการเปิดประเทศ ภายใต้ความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในระยะต่อไปจะมีการขยายโครงการต่อไปในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการติดเชื้อไวรัสในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี ได้เสนอในที่ประชุม ศบศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้พิจารณาปรับปรุงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งโครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” หรือพิจารณานำ “ช็อปดีมีคืน” กลับมาใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามเป้าหมายของโครงการ รวมทั้งยังอยากเห็นการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมาตรการของรัฐ เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อร่วมโครงการ ชี้แจงข้อสงสัย รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ  ซึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจในมาตรการรัฐในระดับพื้นที่ด้วย

ขณะเดียวกันก็ขอให้ ศบศ. นำผลการหารือกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนในการประชุม 40 ซีอีโอพลัส มาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ร่วมฟื้นฟูประเทศร่วมกับภาคเอกชน ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ๆ เช่น การดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย ผู้มีกำลังซื้อสูง ผู้เชี่ยวชาญ ผู้สูงอายุ เพื่อสนับสนุนกำลังซื้อภายในประเทศอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ได้สั่งการในที่ประชุมครม. ให้เร่งพิจารณาแผนงานของทุกกระทรวง ที่อยู่ภายใต้งบประมาณฯ ปี 2564 และ 2565  ที่เบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย หากโครงการใดที่ติดขัดเพราะสถานการณ์โควิด-19 ก็สามารถชะลอได้ และพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดตั้งสถานพยาบาลขนาดเล็ก ให้กระจายไปในทุกพื้นที่ ทุกเขต เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อรายวัน ลดการแพร่เชื้อในครอบครัวและชุมชน โดยให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยมุ่งจำกัดพื้นที่การแพร่ระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงเข้มเพื่อลดความสูญเสีย รักษาระบบสาธารณสุข

นายกรัฐมนตรียังยืนยันแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนตามเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านโดสในปีนี้ และขณะนี้ได้มีการอนุมัติการใช้ Antigen Test Kit ที่ได้รับการอนุญาตให้ประชาชนได้ใช้แล้วเพื่อเร่งตรวจหาเชื้อ การจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) รวมถึงสมุนไพรไทยเช่น ฟ้าทะลายโจร ให้กระจายไปทุกจังหวัดตามลำดับความรุนแรง ปรับระดับเตียงเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วย รวมทั้งการจัดรถรับส่งผู้ป่วยให้เข้าถึงสถานพยาบาลในระดับต่าง ๆ ทั้งโรงพยาบาลสนามและศูนย์คัดกรองแรกรับอย่างเร่งด่วนด้วย โดยให้เป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานที่ต้องออกมาช่วยเหลือประชาชน และจะต้องไม่มีภาพประชาชนที่ถูกทอดทิ้ง

สำหรับที่ประชุมศบศ. ได้มีการรับทราบการดำเนินการมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในพื้นที่นำร่อง ในโครงการ Phuket Sandbox และ Samui Plus Model รวมทั้งยังได้มีการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทยด้วย


ที่มา : https://www.naewna.com/politic/589764


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ยอดผลิตรถยนต์โตสวนวิกฤต คาดทั้งปีผลิต 1.55 -1.6 ล้านคัน

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้ปรับประมาณการยอดผลิตรถยนต์ปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.55 -1.6 ล้านคัน จากเดิมคาดไว้อยู่ที่ 1.5 ล้านคัน หลังเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ทำให้มีความต้องการรถยนต์เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เม็กซิโก และมาเลเซีย ขณะที่ยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกปีนี้ที่ คาดว่า จะอยู่ที่ 8-8.5 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดไว้ที่ 7.5 แสนคัน ตามยอดผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สูงขึ้น 

สำหรับยอดผลิตเพื่อส่งออกรวม 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2564) ผลิตได้ 486,237 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 40.37% ถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ภาพรวมการผลิต 6 เดือนอยู่ที่ 844,601 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 39.34% และหากไม่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์บางรุ่น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ก็มีโอกาสที่ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกได้ถึง 900,000 คัน 

ส่วนของยอดผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศปีนี้ ยังคงเป้าหมายอยู่ที่ 750,000 คัน เป็นระดับต่ำสุดที่คาดการณ์ไว้และต่ำกว่ายอดผลิตปีก่อนที่ผลิตได้ 790,000 คัน ภายใต้สมมติฐานที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ และปัญหาการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์บางรุ่นไม่เพียงพอแล้ว จึงไม่น่าจะมีการปรับประมาณการลดลงต่ำไปกว่านี้ โดยต้องติดตามสถานการณ์โควิด-19 และการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ป้อนโรงงานอย่างใกล้ชิด

 

ศบศ.เคาะเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เชื่อม “สุราษฎร์ฯ-กระบี่-พังงา” 1ส.ค.นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วม Phuket Sandbox เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยนักท่องเที่ยวพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน และสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่น ๆ อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ส.ค.นี้ 

โดยที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในพื้นที่ร่วมกัน และพิจารณาจัดเตรียมแผนการดำเนินการบนระเบียบหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกับการดำเนินการของ Phuket Sandbox เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ 

นอกจากนี้ยังสั่งให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดแผนการเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่น เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาต่อไป และให้พิจารณาจัดทำแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. และ ศบค. พิจารณาต่อไป

เกษตรยังรุ่งยุคโควิดยอดส่งออกปศุสัตว์ครึ่งปีเกือบทะลุแสนล้าน 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ยอดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ช่วงครึ่งปีแรก ของปี 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวของปี 2563 มีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 11 % โดยมีปริมาณ 1.04 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 95,000 ล้านบาท แบ่งเป็นส่งออกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูป 0.51 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.2% มูลค่า 56,494 ล้านบาท สินค้ากลุ่ม Non-frozen เช่น ไข่และผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ น้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์ รังนก ซุปไก่ และอื่นๆ 0.2 ล้านตัน  เพิ่มขึ้น 9% คิดเป็นมูลค่า 11,584 ล้านบาท และอาหารสัตว์เลี้ยง Petfood 0.33 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 28.7% คิดเป็นมูลค่า 26,922 ล้านบาท

ทั้งนี้ในด้านความปลอดภัยอาหาร ที่ผ่านมาได้มีการป้องกันโรคระบาดโควิดไม่ให้ปนเปื้อนกับสินค้า โดยมีมาตรการกำกับตรวจสอบดูแลความปลอดภัยอาหารตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มมาตรฐาน GAP โรงฆ่าสัตว์และโรงแปรรูปที่ถูกสุขอนามัย ซึ่งมาตรการป้องกันโรคโควิดในโรงงาน และตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ 

1. ด้านพนักงาน หรือผู้ที่ต้องสัมผัสอาหาร จะมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองและต้องผ่านการตรวจโรคโควิด-19 ก่อนเข้าปฏิบัติงาน 2. ด้านสถานที่ผลิต ให้รักษาความสะอาดเรียบร้อยตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิต (GMP) โดยมีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช่ในการผลิตด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อในไลน์การผลิต และ 3. ด้านสินค้า มีการตรวจสอบประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยอาหารอย่างเข้มงวด มีการเก็บตัวอย่างตรวจการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสินค้า อุปกรณ์ สิ่งแวดล้อม จุดสัมผัสและจุดเสี่ยงในอาคารผลิต เพื่อประกันการปลอดเชื้อ จากการสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าตรวจจำนวน 2,690 ตัวอย่าง ทุกตัวอย่างตรวจไม่พบการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส 

นอกจากนี้ยังกำกับดูแลกระบวนการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อการส่งออก โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนรับรองโรงงานผลิตอาหารสัตว์เพื่อการส่งออก ควบคุมคุณภาพมาตรฐานโรงงานให้มีระบบรับรองการปฏิบัติทางการผลิตที่ดี และมีระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม การตรวจสอบกระบวนการผลิต และการออกหนังสือรับรองสุขอนามัยสำหรับอาหารสัตว์เลี้ยง โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดและระเบียบของประเทศคู่ค้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประเทศคู่ค้า

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระยะยาว ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำการผลิต การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียน ย้ำ ต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามมติ ครม. วันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สศอ. ได้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของประเทศไทยอยู่ในเป้าหมายระยะกลาง จากข้อมูลในปี 2563 ประเทศไทยมีการลงทุนหุ่นยนต์ฯ จำนวน 116,676 ล้านบาท และมี SI ที่ขึ้นทะเบียนกับ CoRE จำนวน 74 ราย มีระดับการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรมประมาณร้อยละ 25 รวมถึงมีการผลิตหุ่นยนต์ภายในประเทศเพื่อลดการนำเข้าได้ร้อยละ 12

แม้ว่าช่วงนี้ประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยิ่งทำให้ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยการยกระดับการผลิตและเปลี่ยนวิกฤตสู่โอกาส เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่จะเติบโตในอนาคต ซึ่งในขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมทางด้านมาตรการรองรับอย่างมาก

โดยหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นอุปสงค์และการสร้างอุปทานที่สอดคล้องกัน เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รวมถึงกรมสรรพากรที่ให้ยกเว้นภาษีอากรตามประกาศและกระทรวงการคลังที่ยกร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศและการสร้างอุปทาน

ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการขึ้นทะเบียน System Integrator : SI จำนวน 74 ราย ฝึกอบรมยกระดับ SI รวมจำนวน 1,395 คน และบ่มเพาะ System Integrator (SI Startup) จำนวน 70 กิจการ และพัฒนาต้นแบบหุ่นยนต์ฯ รวม 185 ต้นแบบ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่ร่วมมือกับเครือข่าย ได้รับการสนับสนุนเครื่องจักรเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนากำลังคน นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติได้เสนอแผนดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนเพื่อให้บริการทดสอบจัดทำมาตรฐานสนับสนุนอุตสาหกรรม การเตรียมความพร้อม และยกระดับทักษะแรงงานเพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการมากที่สุดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และสถาบันไทย-เยอรมัน เป็นต้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันได้พัฒนาระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการของคณะกรรมการเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotic Excellence : CoRE) ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำ Platform เพื่อการบริหารจัดการเครือข่าย CoRE โดยจะยกระดับให้ครอบคลุมทั้งการบริหารจัดการ Supply Chain ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเชื่อมโยงกับ Platform ของหน่วยงานของรัฐและภาคเอกชนในลักษณะ Collaborative Platform เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติที่เหมาะสมกับความต้องการของภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ CoRE จะกำหนดมาตรฐานหลักสูตรการฝึกอบรม การทดสอบและวัดระดับของ SI ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเพิ่มจำนวน SI ในพื้นที่ต่างจังหวัด เพื่อรองรับการขยายตัวและตอบสนองความต้องการระบบ Simplify Automation ทั่วประเทศ โดยยกระดับโรงกลึง อู่ซ่อมรถ ร้านซ่อมเครื่องจักรในพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะเป็น Small shop ให้มีขีดความสามารถในการรับงานที่เป็น Automation มากขึ้น

รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงิน ธนาคารเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และประเมินการปล่อยสินเชื่อเงินกู้ เพื่อการลงทุนในหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบการได้ต่อไป


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

ธปท.สั่งรื้อค่าธรรมเนียมแบงก์ 300 รายการ

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เรื่องการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของธนาคารพาณิชย์ให้สะท้อนต้นทุนและรายได้ที่เกิดขึ้นจริง โดยทุกธนาคารจะต้องทบทวนและเปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบเลือกใช้บริการแต่ละธุรกรรมได้ว่า คิดค่าธรรมเนียมเท่าไรบ้าง

“การออกหลักเกณฑ์นี้ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุน และ รายได้ที่เกิดขึ้นจริง โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวทุกธนาคารจะต้องทบทวน และเปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ รวมทั้งให้ ธปท. ดึงข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบเลือกใช้บริการแต่ละธุรกรรมได้ แต่ ธปท.จะไม่กำหนดเป็นอัตราว่าค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทจะอยู่ในสัดส่วนเท่าใด เนื่องจากต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน และทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร  อย่างไรก็ดี หลังประกาศหลักเกณฑ์ไปแล้ว ธปท.จะสุ่มตรวจอีกครั้งว่า อัตราค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร สอดคล้องกับต้นทุนธนาคารหรือไม่” 

ส่วนการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ในปีหน้า ธปท. เตรียมที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรด้วย ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้พักชำระหนี้นั้น ธปท. ชี้แจงว่า การพักหนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ดีและ เหมาะสมมากกว่า ที่ผ่านมาธปท. ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ให้กับนายจ้างและลูกจ้าง ที่ได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่ ก.ค. นี้ ซึ่งถือมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างตรงจุด

รมช.แรงงาน เปิดสัมมนาออนไลน์ “ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ” เปิดมุมมองใหม่ เร่งช่วยเหลือคนพิการทุกกลุ่ม ให้มีอาชีพ มีรายได้ สู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดงานสัมมนา “ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เปิดมุมมอง ปรับแนวคิด เข้าใจคุณค่าของผู้พิการ” ผ่านระบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Microsoft Team และถ่ายทอดสดทาง Facebook Live เพจสำนักงาน ก.ล.ต.  กระทรวงแรงงาน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกล่าวว่า งานสัมมนาในวันนี้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เพิ่มการจ้างงานคนพิการ  เพิ่มการจัดสัมปทาน และเพิ่มกิจกรรมทางสังคม เพื่อให้คนพิการสามารถได้รับความช่วยเหลือในหลายๆ เรื่อง มีโอกาสที่จะพัฒนา หารายได้เลี้ยงดูตนเอง และได้รับโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคเอกชนและภาครัฐ และสร้างกลไกตลาดทุนเพื่อเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ โดยกระทรวงแรงงาน และคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพ มีความพร้อมที่จะร่วมดำเนินการเพื่อให้เรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 

รมช. แรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจัดสัมปทานตามมาตรา 35 และกิจกรรมด้าน CSR เพื่อพี่น้องคนพิการ เป็นความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการเพื่อสร้างโอกาสให้คนพิการมีอาชีพ มีรายได้ และมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน และในวันนี้ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมเสวนาผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วนจะช่วยให้พี่น้องคนพิการได้รับโอกาสทั้งในการทำงาน การพัฒนาตนเอง และการหารายได้เพื่อเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ขอขอบคุณ สำนักงาน ก.ล.ต. และทุกหน่วยงานที่ร่วมจัดงานเป็นอย่างสูง และขอให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จลุล่วงและเกิดประโยชน์แก่พี่น้องคนพิการอย่างแท้จริง

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การสัมมนาในวันนี้ ภายใต้ชื่อ “ให้กลไกตลาดทุนเกื้อหนุนผู้พิการสร้างงานสร้างอาชีพ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดกิจกรรมด้านสังคมเพื่อคนพิการให้มากขึ้น ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจจากตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนที่มีการจ้างงานคนพิการ ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมที่สามารถสนับสนุนและช่วยเหลือคนพิการและครอบครัวได้ ก.ล.ต. จึงคาดหวังว่า การร่วมกันจัดกิจกรรมในลักษณะนี้จะช่วยให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการเพื่อรองรับการประกอบอาชีพที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะฝีมือคนพิการ เพื่อรองรับการประกอบอาชีพ โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงนโยบายของรัฐบาล การจัดงานวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานช่วยเหลือคนพิการตามกลไกดังกล่าว ซึ่ง กพร. ดำเนินกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการมาโดยตลอด ทั้งการฝึกอบรมทักษะอาชีพเพื่อส่งเสริมการมีงานทำ รวมถึงการพัฒนาและรับรองหลักสูตรการฝึกเพื่อคนพิการ ตาม ม.35  นอกจากนี้ กพร.ยังมีภารกิจ และกิจกรรมที่สถานประกอบกิจการสามารถมีส่วนร่วมจัดกิจกรรม CSR ได้ เช่น การฝึกอบรม การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการจัดการแข่งขันฝีมือคนพิการ เป็นต้น

การสัมมนาผ่านระบบออนไลน์ในวันนี้ ยังมีผู้ร่วมเสวนาอีกหลายหน่วยงาน ได้แก่ คุณสมชาย มรกตศรีวรรณ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ในประเด็น ข้อกฎหมาย แนวทางการให้ความช่วยเหลือ และสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องสำหรับสถานประกอบการ  และคุณสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในประเด็น การให้ความช่วยเหลือคนพิการตาม พรบ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน ได้แก่ คุณชูศักดิ์ จันทนานนท์ ประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย คุณอภิชาต การุณกรสกุล ประธานมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม คุณดวงพร เที่ยงวัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดร.ชาติชาย นรเศรษฐาภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ในนามบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คุณกรณิศ ธนสุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานทรัพยากรบุคคล บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และคุณอาชินี ปัทมะสุคนธ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายสื่อสารองค์กรและเครือข่ายตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต.

“โฆษกศบศ.”เผย”นายกฯ”ถกศบศ.หารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน 22ก.ค.นี้  ยัน เยียวยานายจ้าง-ผู้ประกันตน ม.33,39,40 คาดต้น ส.ค.เงินเข้าบัญชี

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.)กล่าวว่า ในวันที่22ก.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.)ครั้งที่3/2564 หารือสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน รวมไปถึงมาตรการเยียวยาต่างๆ

สำหรับความคืบหน้ามาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการนายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานกลุ่มอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย  9สาขากิจการ ในพื้นที่ 10 จังหวัด ที่ครม.อนุมัติวงเงินโครงการเยียวยา ม.33 เพิ่มอีก10,985.316 ล้านบาท รวมเป็น 13,504 .696 ล้านบาท ทางสำนักงานประกันสังคมได้เปิดให้ผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 40 ตามลำดับ ภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เพื่อได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ และความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม สำหรับผู้ประกอบการในระบบ  161,839 ราย ลูกจ้างมาตรา 33 สัญชาติไทย จำนวน 2,871,592 ราย ที่เข้าสู่ระบบแล้ว ส่วนอีก 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และอยุธยานั้น จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามลำดับต่อไป 

นายธนกร กล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาลูกจ้าง นายจ้าง และผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33, 39 และ 40 เมื่อสำนักงานประกันสังคมได้รับจัดสรรเงินงบประมาณจากรัฐบาล และตรวจสอบข้อมูลถูกต้องครบถ้วนแล้ว จะโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชน ส่วนนายจ้างมาตรา 33 ที่เป็นนิติบุคคลที่เคยผูกบัญชีกับธนาคารเอาไว้แล้ว จะโอนเข้าบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ตั้งแต่แรก โดยรายละเอียดการจ่ายเงินให้กับลูกจ้างตามมาตรา 33 กระทรวงแรงงานจะจ่ายเงินกองทุนประกันสังคมเป็นเงินเยียวยา 50% ของเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท โอนเข้าบัญชีให้กับลูกจ้างที่กรอกมาในระบบ E-Service  และรัฐบาลจะสมทบเพิ่มเติมอีก 2,500 บาท ผ่านพร้อมเพย์  ส่วนนายจ้างตามมาตรา 33 รัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้นายจ้าง 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างไม่เกิน 200 คน ผ่านพร้อมเพย์  และผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 5,000 บาท โอนเงินผ่านพร้อมเพย์เช่นเดียวกัน คาดว่าจะโอนเงินช่วยเหลือรอบแรกได้ภายในต้นเดือนส.ค.นี้  

นายธนกร กล่าวว่า ผู้ที่มีอาชีพอิสระ ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีแต่ไม่เกิน 65 ปี ที่ยังไม่เคยเข้าระบบประกันสังคม สามารถลงทะเบียนมาตรา 40 เพื่อรับการช่วยเหลือและความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวสมัครผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส (7-11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) บิ๊กซี (Big C)หรือสมัครด้วยตนเองที่ www.sso.go.th โดยสามารถเลือกการจ่ายเงินสมทบเพื่อได้รับความคุ้มครองที่ต่างกันใน 3 ทางเลือก คือ จ่าย 70 บาท จ่าย 100 บาท และจ่าย 300 บาท ต่อเดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองทันทีเมื่อชำระเงินงวดแรก 

“ประยุทธ์” มอบทีมเศรษฐกิจหาทางเยียวยากลุ่มเพิ่มเติม “ระบุ”เห็นใจปชช.ใช้ชีวิตลำบากหลังยกระดับล็อกดาวน์ แนะรีบลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมโดยเฉพาะอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง Taxi รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่หาเงินวันต่อวัน ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะไปจ่ายเงินเพื่อเข้าระบบประกันสังคม ว่า ในส่วนการเยียวยาต่างๆ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ฝ่ายเศรษฐกิจไปพิจารณาในพื้นที่ที่มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติม โดยยืนยันว่านายกฯ พยายามจะดูแลอะไรที่สามารถเยียวยาได้เร็วก็จะนำเข้าพิธีการพิจารณาอนุมัติในที่ประชุมครม.เร็วที่สุด ดังนั้นสำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งนายจ้างลูกจ้างที่อยู่ในมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และแม้กระทั่งคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอให้รีบลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการ 

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มอื่นๆที่ยังไม่ได้รับการเยียวยานายกฯ ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาหาทางเยียวยาเพิ่มเติม จึงขอให้ทุกคนมีความมั่นใจว่านายกฯ มีความใส่ใจดูแลเพื่อให้มีการเยียวยาเพิ่มเติมในกลุ่มอื่นๆได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้นายกฯและครม. เห็นใจประชาชน โดยเฉพาะที่ไม่สะดวกสบายในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่คณะแพทย์ พยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดที่ขนาดนี้ต้องดูแลพี่น้องประชาชนต่างมีความเหน็ดเหนื่อย จึงต้องให้กำลังใจกัน 

นายอนุชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้นายกฯ ติดตามการดำเนินงานของทุกส่วนราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถสั่งการและมอบหมายนโยบายเพิ่มเติมให้ได้ตลอดเวลา โดยมีการประชุมพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นขอให้ทุกคนพิจารณาข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันด้วย ซึ่งรัฐบาลพยายามให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจนให้มากที่สุด

ออมสินช่วยลูกหนี้กู้ไม่เกิน 2 แสน “พักต้น-ดอก” นาน 6 เดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสิน ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ สูงสุด 6 งวด (พักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงสถานการณ์ยากลำบากให้กับลูกหนี้กลุ่มที่เป็นลูกค้ารายย่อย ซึ่งจากฐานข้อมูลลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร ประเมินว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่มีสิทธิ์พักหนี้ตามมาตรการนี้ ในจำนวนมากถึงกว่า 750,000 ราย เป็นยอดหนี้คงเหลือกว่า 50,000 ล้านบาท

สำหนับมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ได้รับผลกระทบทำให้ต้องเลิกกิจการ ถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ ฯลฯ (ยกเว้นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ) โดยพักเงินงวดผ่อนชำระให้สูงสุด 6 งวด เริ่มตั้งแต่งวดเดือนกรกฎาคม – เดือนธันวาคม 2564 หลังจากนั้นเมื่อสิ้นสุดระยะการพักชำระหนี้ ให้กลับมาจ่ายเงินงวดตามเงื่อนไขเดิม โดยเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักไว้ จะถูกนำไปรวมชำระในงวดสุดท้ายของสัญญาเงินกู้หรือข้อตกลงที่ทำกับธนาคาร 

ทั้งนี้ ช่วงระยะเวลาที่พักชำระหนี้ ไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระและไม่ส่งผลต่อข้อมูลเครดิตของลูกค้า รวมถึงไม่มีดอกเบี้ยผิดนัดชำระและค่าปรับใด ๆ โดยธนาคารแบ่งความช่วยเหลือเป็น 2 เฟส เริ่มเฟสแรกวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 และเฟสที่สองช่วงเดือนสิงหาคม ลูกค้าจะทยอยได้รับ SMS หรือ Notification แจ้งทางแอป MyMo ให้สามารถกดรับสิทธิ์เพื่อขอพักชำระหนี้ผ่านแอป MyMo จนเสร็จสิ้นกระบวนการ กรณีที่ลูกค้ายังไม่มีแอป สามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานด้วยตนเอง หรือ ติดต่อที่ธนาคารออมสินทุกสาขา

กรมการจัดหางาน  แนะประชาชนรับบริการผ่านระบบออนไลน์ ปลอดภัยจาก COVID-19

อธิบดีกรมการจัดหางาน แนะนำประชาชนใช้บริการช่องทางออนไลน์ของกรมการจัดหางาน เลี่ยงการเดินทางไปสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1 – 10 และสำนักงานจัดหางานจังหวัดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตามมาตรการล็อกดาวน์ 

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน  เปิดเผยว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติออกตามความในมาตรา 9  แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ . 2548 (ฉบับที่  28) ข้อ 9 ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สั่งการให้เจ้าหน้าที่และบุคลากรในความรับผิดชอบ ดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งขั้นสูงสุดเต็มจำนวน และมุ่งเน้นการปฏิบัติงานหรือจัดกิจกรรมโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากที่สุด เพื่อลดจำนวนและจำกัดการเคลื่อนย้ายการเดินทางของบุคล ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป 

“อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานได้เตรียมช่องทางการให้บริการประชาชน ผ่านทางออนไลน์ (E – Services) เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว ลดความเสี่ยงรับเชื้อโควิด -19 จากการเดินทางและการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก โดยสามารถใช้บริการผ่านช่องทางต่อไปนี้
1. ผู้ที่ต้องการหางานทำ หรือนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการหาคนทำงาน สามารถใช้บริการได้ที่ smartjob.doe.go.th หรือ ไทยมีงานทำ.com  
2. ขึ้นทะเบียน/รายงานตัวผู้ประกันตนกรณีว่างงาน  ใช้บริการได้ที่  empui.doe.go.th 
3. ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Co-Payment) ได้ที่ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com  
4. ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง /แจ้งการเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศ ใช้บริการได้ที่ toea.doe.go.th 
5. ระบบแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ทาง Application ชื่อ  e-inform

นอกจากนี้ยังมีสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694 ให้บริการตอบข้อซักถามแก่ประชาชน ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปติดต่อราชการ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ขอให้ตรวจสอบวันและเวลาให้บริการก่อนเดินทางเพื่อไม่เป็นการเสียเวลาหากมีการปิดสถานที่ให้บริการ รวมทั้งสวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ใช้บริการ และปฏิบัติตามมาตรการที่เจ้าหน้าที่แนะนำอย่างเคร่งครัด  ” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ครม.ปรับ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ขยายเวลาใช้สิทธิ์ถึง30พ.ย.-เพิ่มวงเงินคำนวณเป็น 10,000 บาทต่อคนต่อวัน- ลดคนใช้สิทธิ์-ลดงบประมาณเกือบ2หมื่นล้านบาทเหตุประกาศ ศบค. ทำคนเดินห้างน้อยลง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แหลงผลประชุมคณะรัฐมนตรีว่า(ครม.)ว่า ครม.อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้”โดยขยายระยะเวลาการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้รับการสนับสนุนบัตรกำนัลอิเล็กทรอนิกส์(  e-Voucher )จากเดิมระหว่าง 1 ก.ค.- 30 ก.ย.2564เป็นตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 พ.ย.2564 และเพิ่มวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิ ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. -30 พ.ย.นี้ โดยจำกัดวงเงินใช้จ่ายสูงสุดที่จะนำมาคำนวณสิทธิe-Voucher ไม่เกิน60,000 บาทต่อคน นอกจากนั้นปรับลดจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการฯ จากเดิมไม่เกิน  4 ล้านคน เป็นไม่เกิน 1.4 ล้านคน ทำให้กรอบวงเงินโครงการลดลงจาก 28,000 ล้านบาท เป็น 9,800 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 18,200 ล้านบาท

นายอนุชา กล่าวว่า จากประกาศข้อกำหนดของศบค.ที่ผ่านมา ให้ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ในเขตพื้นที่กทม.และปริมณฑล และในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ของประเทศ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 20.00 น.เฉพาะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ระยะเวลาอย่างน้อย 14 วัน ส่วนร้านค้าและร้านอาหาร ที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าต้องปิดชั่วคราว อาจมีผู้ใช้สิทธิ์น้อยลง จึงมีการปรับเปลี่ยนโครงการเพื่อความเหมาะสมด้วย

หวั่นเศรษฐกิจเจอผลกระทบล็อกดาวน์หนักสูญ 1.2 แสนล.

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ซึ่งหอการค้าไทยมีความเป็นห่วงสถานการณ์อย่างมาก โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดอีก 3 จังหวัด รวมเป็น 13 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่สายการผลิตเพื่อการส่งออก โดยต้องการให้รัฐบาลแยกผู้ติดแยกออกมาให้ได้ และเร่งกระจายการฉีดวัคซีนควบคู่ไปกับการเยียวยา โดยหากดูตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในปัจจุบัน มีความเป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะต้องขยายล็อกดาวน์เพิ่มมากกว่า 14 วัน 

นายสนั่น กล่าวว่า หากมีการขยายล็อกดาวน์ออกไปมากกว่า 14 วัน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ล่าสุดหอการค้าประเมินความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจเบื้องต้น คาดว่า จะเพิ่มจากเดิมที่ประมาณไว้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อวัน เป็นวันละ 3,000-4,000 ล้านบาทต่อวัน ถ้าคำนวณผลกระทบ 1 เดือน ประมาณ 90,000-120,000 ล้านบาท 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การล็อกดาวน์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น คนลดการเคลื่อนย้ายจริง ต้องมีมาตรการช่วยลดค่าใช้จ่ายและเสริมรายได้ในช่วงนี้ เงินกู้ที่เตรียมไว้ 500,000 ล้านบาท จำเป็นต้องนำมาเร่งใช้ในช่วงนี้ หรือภายในไตรมาส 3 และหากไม่พอรัฐบาลก็สามรถกู้เพิ่มเติมได้ เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลมีแผนจะกู้เพิ่ม 7 แสนล้านบาท แต่กู้เพิ่มล่าสุด 5 แสนล้านบาท ก็ยังมีกรอบที่จะดำเนินการเพิ่ม

“อนุชา” เผย รัฐ เร่งช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบางทั่วประเทศ “พักชำระหนี้ 2 เดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ เน้นช่วยธุรกิจที่ถูกปิดสั่งปิด ให้ยืนได้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมเข้าใจผลกระทบจากการออกมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงเร่งประสานหน่วยงานทางการเงินออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางโดยเร็ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ขนาดกลางและขนาดย่อม( SMEs )และรายย่อย ที่เป็นนายจ้างหรือลูกจ้าง ในสถานประกอบการที่ต้องปิดกิจการจากมาตรการหรือตามคำสั่งของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงระยะเวลาระยะเวลา 2 เดือนนี้  เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนก.ค. -ส.ค.2564 นี้ โดยมาตรการพักชำระหนี้ คือเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปเป็นระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเป็นเพียงมาตรการที่ช่วยเหลือระยะสั้น ช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ส่วนลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ แนะนำให้ชำระหนี้ต่อเนื่องไม่ให้ภาระหนี้ในอนาคต เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินในขณะนี้ ควรดำเนินการต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด

นายอนุชา กล่าวว่า สถาบันการเงินที่เข้าร่วม ครอบคลุมธนาคารพาณิชย์ไทย ต่างประเทศสถาบันและการเงินเฉพาะกิจ (Non-bank)ชมรมผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต จำนำทะเบียนรถ  ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภท รวมถึงหนี้บัตรเครดิตของลูกหนี้ขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกหนี้รายย่อย ซึ่งลูกหนี้สามารถติดต่อสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. เป็นต้นไป

นายอนุชา กล่าวว่า ธปท. ย้ำว่าที่สถาบันการเงินพักชำระหนี้ให้เป็นเวลา 2 เดือน เป็นการให้ลูกหนี้ไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่สถาบันการเงินในระยะเวลาดังกล่าว สถาบันการเงินต้องห้ามไปเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ได้พักชำระไว้จากลูกหนี้หลังพ้น 2 เดือนนี้แล้วทันที แต่ให้ทยอยเรียกเก็บเงินจำนวนนี้หรือเรียกเก็บในช่วงท้ายของสัญญา และจะไม่ถือว่าลูกหนี้มีสถานะผิดนัดชำระหนี้ และไม่เป็นหนี้ค้างชำระในเครดิตบูโร และสถาบันการเงินจะไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในการผิดนัดชำระหนี้ได้ เพราะยังถือว่าเป็นหนี้ดีอยู่

"การพักชำระหนี้ เป็นเพียงมาตรการเร่งด่วน ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ที่ธปท.และสถาบันการเงินร่วมกันช่วยลูกหนี้ที่ฐานะทางการเงินอ่อนแอ ยืดเวลา ชะลอภาระทางการเงินเป็นการชั่วคราว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะคนตัวเล็ก ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้อย่างเต็มที่ในช่วงเวลานี้ ให้รักษาและดำเนินกิจการได้ต่อไปในขณะที่ยังต้องมีการจำกัดกิจกรรม เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 อีกระยะหนึ่ง" นายอนุชา ฯ กล่าว

รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาสินเชื่อ-ไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้ อุ้มร้านค้า/ร้านอาหารฝ่าวิกฤต"โควิด"  พรุ่งนี้! เริ่มลงทะเบียนพักหนี้ ช่วยSMEและรายย่อย ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการรัฐ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ทุกภาคส่วนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้มีความสามารถประคับประคองธุรกิจให้ก้าวข้ามความยากลำบากช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด19 โดยเฉพาะผู้ประกอบการSME ซึ่งขณะนี้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ได้ขานรับโดยออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 2เดือน ช่วยSME และรายย่อย ที่ต้องปิดกิจการตามมาตรการของรัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นความประสงค์ที่ธนาคารเจ้าหนี้ ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. ถึง 15 ส.ค. บางแห่งถึง31ส.ค.นี้ สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ไม่ว่าจะเป็น ร้านตึกแถว ร้านในห้าง ฟู้ดทรัค บู๊ทขายอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบมาหลายระลอก  ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเป็นการเฉพาะ โครงการ ”สินเชื่ออิ่มใจ” ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย  ไม่ต้องใช้หลักประกัน ปลอดการชำระเงินงวด 6 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี นาน 5 ปี  โดยเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อแล้วจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. หรือจนกว่าจะครบวงเงินโครงการ

ขณะที่ กรมบังคับคดียังเร่งให้ความช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าและร้านอาหาร ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับเจ้าหนี้ ซึ่งจะมีถึงวันที่ 31 ส.ค.นี้ ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี และสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ จำนวน 116 แห่ง ซึ่งการช่วยเหลือดังกล่าวเป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ ได้เจรจากันด้วยความพึงพอใจ สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม เพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ และลูกหนี้ก็สามารถชำระหนี้ได้เช่นกัน อีกทั้งช่วยลดปัญหาหนี้สิน ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ถูกยึดทรัพย์ อายัดทรัพย์ หรือนำไปขายทอดตลาดในที่สุด จึงขอเชิญชวนประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้สินซึ่งศาลมีคำพิพากษาแล้ว และอยู่ระหว่างการบังคับคดี เข้าร่วมการไกล่เกลี่ย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านระบบออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์กรมบังคับคดีwww.led.go.th และแอปพลิเคชัน Session call หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กรมบังคับคดี หมายเลขโทรศัพท์ 02 881 4840 /02 887 5072 หรือสายด่วนกรมบังคับคดี 1111 กด 79 และสำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top