Monday, 12 May 2025
ECONBIZ

‘BOI’ กางยอด 8 เดือน ไต้หวันแห่ลงทุนในไทย 3 หมื่นล้านบาท พร้อมยกเป็นฐานการผลิตด้านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งออกทั่วโลก

เมื่อไม่นานมานี้ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นับเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่บีโอไอให้ความสำคัญมาก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงและเป็นฐานการพัฒนาที่สำคัญของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ ดิจิทัล อุปกรณ์การแพทย์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เป็นต้น 

ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลกขยายตัวอย่างมาก โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่น ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ระบบไฟฟ้ามีความเสถียร พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมีความพร้อมรองรับการลงทุนได้อีกมาก บุคลากรมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซัปพลายเชนครบวงจร และภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก โดยเฉพาะจากไต้หวัน ตัดสินใจเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก

โครงการลงทุนจากไต้หวันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คอมพิวเตอร์พกพา (Notebook) และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่นำระบบเซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT) หรือระบบสมองกลฝังตัว (Embedded System) มาใช้ เช่น ลำโพงอัจฉริยะ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable Device) เป็นต้น 

ซึ่งบีโอไอได้มองเห็นถึงโอกาสและศักยภาพของไทยในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนจากไต้หวันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประสานงานนำสมาชิกสมาคมผู้ผลิต PCB รายใหญ่จากไต้หวัน เดินทางสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการลงทุนในประเทศไทยอย่างเร่งด่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทำให้มีบริษัท PCB จากไต้หวัน ทยอยเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคมานานกว่า 40 ปี และได้พัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในกลุ่มชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ จนแข็งแกร่งและครบวงจร ทั้งยังผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกับบริษัทระดับโลกมาแล้ว จึงมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น การผลิตเวเฟอร์ และการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยไต้หวันเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ไทยจะดึงการลงทุน เนื่องจากเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก” นายนฤตม์ กล่าว

ปัจจุบันไต้หวันเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดถึงกว่าร้อยละ 65 ของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยมีบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Corporation (TSMC) เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ สำหรับการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งเป็นหัวใจของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ บริษัทไต้หวันก็เป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งในตลาดโลกร้อยละ 35 โดยปัจจุบันผู้ผลิต PCB ไต้หวัน 20 อันดับแรก ได้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว 10 ราย เช่น WUS PCB, APEX, Dynamic Electronics, Gold Circuit, APCB เป็นต้น 

เมื่อรวมกับผู้ผลิต PCB จากประเทศอื่น เช่น จีน และญี่ปุ่น ที่เข้ามาลงทุนด้วย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นคลัสเตอร์ PCB ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยประเทศเวียดนามและมาเลเซีย สำหรับผู้ผลิต PCB รายใหญ่ที่เหลือ เป็นเป้าหมายสำคัญที่บีโอไอจะเร่งเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยบางรายได้ตอบรับและอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเร็ว ๆ นี้

“การเข้ามาลงทุนของกลุ่มผู้ผลิต PCB จากไต้หวันในรอบนี้ ถือเป็นคลื่นการลงทุนสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินจำนวนมากให้ประเทศเท่านั้น แต่จะช่วยยกระดับซัปพลายเชนในประเทศ เกิดการจ้างงานและการพัฒนาบุคลากรด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่มีศักยภาพได้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ของโลก ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงอุตสาหกรรมของบีโอไออีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม - สิงหาคม 2566) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวม 20 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท โดยเป็นการผลิต PCB 7 โครงการ เช่น บริษัท Gold Circuit Electronics, ITEQ Corporation, Taiwan Union Technology และเป็นการผลิตโน้ตบุ๊กให้กับ HP บริษัทคอมพิวเตอร์อันดับ 2 ของโลก จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ บริษัท QMB และ Inventec นอกจากนี้ ยังมีบริษัทรายใหญ่จากไต้หวันในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้เข้ามาลงทุนก่อนหน้านี้แล้ว เช่น บริษัท Delta Electronics, Tatung, Cal-Comp, Techman, Chicony, Primax เป็นต้น

‘สนค.’ ชี้เป้าผู้ประกอบการไทย เล็งขายสินค้าออนไลน์เจาะ ‘ตลาดจีน’ หลังพบมีการเติบโตต่อเนื่อง จากการที่คนจีนใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น

(12 ก.ย.66) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการศึกษาการเติบโตของการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน หรือ Cross-border e-Commerce (CBEC) พบว่า มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทย โดยมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยปี 2565 มีจำนวน 1.067 พันล้านคน เพิ่มขึ้น 35.49 ล้านคน เมื่อเทียบกับปี 2564 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หันมาใช้ e-Commerce มากขึ้น

ทั้งนี้ ยังพบว่า รัฐบาลจีนมีมาตรการและนโยบายสนับสนุน เช่น การจัดตั้งเขตนำร่องบูรณาการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน จำนวน 165 แห่ง ครอบคลุม 33 เมือง อาทิ หางโจว ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง และเฉิงตู เชื่อมโยงระหว่างทางบก ทางทะเล ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าของ SMEs จีน ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ในต่างประเทศและส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อมาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในจีน โดยผู้ประกอบการจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและมีขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่ง่ายกว่าการค้าระหว่างประเทศแบบปกติ และมีการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างจีนกับต่างประเทศผ่านการลงนามในสัญญาความร่วมมือระยะยาวระหว่างรัฐบาลจีนกับบริษัทด้านการค้าระหว่างประเทศและบริษัทด้านการขนส่งทางทะเล รวมทั้งการส่งเสริมบริษัทคลังสินค้าในต่างประเทศให้เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ทั้งของจีนและต่างประเทศ

สำหรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศสู่ตลาดจีนผ่านทางแพลตฟอร์ม CBEC แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.) การนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บน (Bonded Warehouse Import) ผู้ประกอบการจากทั่วโลกสามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องผ่านพิธีการศุลกากรและยังไม่ต้องเสียภาษี จนกว่าผู้บริโภคจะสั่งซื้อสินค้า โดยการนำเข้ารูปแบบนี้มีข้อดี ดังนี้ (1) ลดระยะเวลาการรอคอยสินค้า การนำเข้าสินค้ามาเก็บไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บนสามารถจัดส่งสินค้าถึงผู้บริโภคได้ภายใน 3-7 วัน (2) ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการคัดแยก บรรจุหีบห่อใหม่และการติดฉลากสินค้าในคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร (3) รักษาสภาพคล่องได้ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการจะต้องชำระอากรและภาษีเมื่อมีการนำสินค้าออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บน จึงทำให้ธุรกิจสามารถรักษากระแสเงินสดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีข้อจำกัด ดังนี้

(1) ข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ อาทิ ขั้นตอนพิธีการศุลกากรที่เพิ่มขึ้นในการขอเก็บสินค้าในคลัง และข้อจำกัดในการจัดเก็บสินค้าในคลัง (2) ต้นทุนการดำเนินงาน อาทิ ค่าเช่า ค่าประกันภัย และค่าบริหารจัดการ

2.) การส่งสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรง (Direct Mailing Mode) ผู้ประกอบการสามารถส่งสินค้าจากประเทศต้นทางไปยังผู้บริโภคที่อยู่ในจีนโดยตรงผ่านระบบโลจิสติกส์ การชำระเงิน และการเสียภาษีที่ร่วมมือกับแพลตฟอร์ม โดยจะมีความสะดวกของผู้บริโภคและผู้ประกอบการในด้านระบบโลจิสติกส์ เนื่องจากของแพลตฟอร์มกับบริษัทโลจิสติกส์ร่วมมือกันโดยตรง และยังมีต้นทุนต่ำจากการหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายคลังสินค้าทัณฑ์บนในจีน แต่ก็ยังมีข้อจำกัด คือ อาจต้องใช้ระยะเวลาผ่านพิธีการศุลกากรประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยาวนานกว่าการนำเข้าสินค้าผ่านคลังสินค้าทัณฑ์บนที่ใช้เวลาดำเนินการพิธีทางศุลกากรเพียง 1-2 วัน

นายพูนพงษ์กล่าวว่า โอกาสของผู้ประกอบการไทยจากการที่ตลาด CBEC ของจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการซื้อสินค้าในตลาดอยู่จำนวนมาก ประกอบกับมีสินค้าไทยหลายชนิดที่สามารถทำยอดขายในจีนได้อย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว อาทิ อาหารแปรรูป อาหารพร้อมรับประทาน ขนมขบเคี้ยว สินค้าเพื่อสุขภาพ ผลไม้สด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวธรรมชาติ ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยค้าขายผ่านช่องทาง CBEC มากขึ้น และมุ่งเน้นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีศักยภาพ และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคจีน ตอบสนองคุณภาพชีวิตยุคใหม่ก็จะสามารถเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดในจีนได้โดยการค้าผ่าน CBEC มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีทางศุลกากรที่ถูกและง่ายกว่าการค้าแบบปกติ หากเป็นคำสั่งซื้อสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 5,000 หยวน ต่อคำสั่งซื้อ และมูลค่ารวม ไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี/ต่อราย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีศุลกากรและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตเพียงร้อยละ 70 จากอัตราปกติ

“ด้วยแนวโน้มการซื้อขายสินค้าผ่าน CBEC ที่เติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและพิธีศุลกากรที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการซื้อขายในช่องทางปกติ จะทำให้ CBEC เป็นช่องทางสำคัญในการเพิ่มโอกาสและขยายช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเครื่องสำอางและสิ่งของที่ใช้ทำความสะอาดร่างกายและบำรุงผิว รวมไปถึงอาหารสด โดยผู้ประกอบการควรศึกษาตลาดจีนให้ลึกซึ้งทั้งในด้านกฎหมาย ภูมิประเทศ และวัฒนธรรมของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนเลือกแพลตฟอร์มให้เหมาะกับตัวสินค้าเพื่อให้สื่อสารได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และสามารถใช้ช่องทาง CBEC เป็นกุญแจสำคัญในการขยายธุรกิจสู่ตลาดจีนต่อไป” นายพูนพงษ์กล่าว

ปัจจุบัน กรมศุลกากรจีน ระบุว่า มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ในปี 2565 มีมูลค่า 2.06 ล้านล้านหยวน (2.83 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC สูงถึง 1.1 ล้านล้านหยวน (1.50 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 แบ่งเป็น การส่งออก 8.21 แสนล้านหยวน (1.12 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และการนำเข้า 2.76 แสนล้านหยวน (3.78 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ซึ่งเมื่อพิจารณาแนวโน้มมูลค่าการนำเข้าและส่งออกผ่าน CBEC ของจีนแล้วจะเห็นว่ามีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นตั้งแต่ปี 2563

‘Forbes’ มอบรางวัลแก่ ‘เจ้าสัวธนินท์’ ทำประโยชน์เพื่อสังคม ชี้ เป็นต้นแบบชีวิต ขึ้นแท่นหนึ่งในบุคคลที่น่าเคารพแห่งเอเชีย

(12 ก.ย. 66) ‘Forbes Media’ มอบรางวัลเกียรติยศ ‘MALCOLM S. FORBES LIFETIME ACHEIVEMENT’ แก่ ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ประธานอาวุโสและผู้นำสูงสุดของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยรางวัลนี้มอบเพื่อเป็นเกียรติและเป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จในการประกอบธุรกิจตลอดชีวิต ทั้งด้านความสำเร็จในการทำธุรกิจ การเป็นต้นแบบการใช้ชีวิต และการทำประโยชน์เพื่อสังคม

‘มัลคอม สตีฟ ฟอร์บส์’ ประธานกรรมการและบรรณาธิการบริหารของ ‘Forbes Media’ กล่าวว่า ในรอบ 6 ทศวรรษในการทำธุรกิจของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์ จากธุรกิจครอบครัวที่เริ่มต้นจากธุรกิจด้านอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทย จนเป็นธุรกิจครอบคลุมหลากหลายอุตสาหกรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ธุรกิจเกษตรและร้านสะดวกซื้อ ไปจนถึงธุรกิจโทรคมนาคม ยา และบริการทางการเงิน นายธนินท์เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจและเป็นที่น่าเคารพของนักธุรกิจในเอเชีย ถือเป็นบุคคลที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง 

ทั้งนี้ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอบคุณฟอร์บส์ที่มอบรางวัลนี้ให้กับชีวิตการทำงาน ตนเชื่อว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด การเปิดโอกาส เปิดเวทีให้คนดีและคนเก่งได้แสดงความสามารถเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างและแบ่งปันคุณค่าทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมได้

นายธนินท์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำธุรกิจตั้งแต่อายุเพียง 25 ปี และการได้รับโอกาสให้ขับเคลื่อนงานสำคัญตลอดช่วงชีวิตการทำงาน ทั้งการนำธุรกิจผ่านวิกฤตต้มยำกุ้ง ความยากลำบากในช่วงโควิด-19 ได้สร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศที่ไปลงทุน สร้างประโยชน์ให้กับผู้บริโภคและประชาชนในประเทศนั้น เจ้าสัวซีพีย้ำว่า การทำงานเป็นเหมือนการเล่นกีฬาที่มีความท้าทาย ต้องคิดว่าปัญหาเป็นความท้าทาย ต้องสนุกในการแก้ปัญหา และต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ได้รับรางวัล ‘MALCOLM S. FORBES LIFETIME ACHIEVEMENT’ ในอดีต ได้แก่ ลี กา-ชิง ประธานกรรมการ Cheung Kong (Holdings) และ Hutchison Whampoa (2006), แซม รอบสัน วอลตัน ประธานกรรมการคณะกรรมการของ ‘Wal-Mart Stores Inc’ (2009), คาร์โลส สลิม เฮลู ประธานกรรมการ Fundacion Telmex, Fundacion Carlos Slim, Impulsora del Desarrollo del Empleo en America Latina และ Cicsa (2010) และ แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้ง Alibaba Group (2019) รวมถึงผู้อื่นอีกมากมาย 

อนึ่ง ‘Malcolm S. Forbes Lifetime Achievement Award’ เป็นรางวัลที่มอบให้แก่บุคคลที่มีผลงานและความสำเร็จน่าประทับใจตลอดชีวิต โดยที่มาของรางวัลถูกตั้งชื่อตาม ‘มัลคอม สตีฟ ฟอร์บส์’ (Malcolm S. Forbes) ทายาทรุ่นที่ 2 ของ ‘Forbes Media’ สื่อชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนายมัลคอมเป็นบิดาของ ‘สตีฟ ฟอร์บส์’ ประธานกรรมการของฟอร์บส์

ม.อ. - อินโนบิก ผนึกกำลังต่อยอดการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ เสริมความมั่นคงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทย

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ดร.ณัฐ อธิวิทวัส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด พร้อมด้วย รศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ และ ผศ.คำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ระหว่าง บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

เพื่อมุ่งต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์จริงเชิงพาณิชย์ โดยจะนำผลงาน ที่มีศักยภาพมาวิเคราะห์และทดสอบการใช้งานจริงผ่านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผสานความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของอินโนบิก เพื่อสนับสนุนให้นวัตกรรมจากการวิจัยของคนไทยสามารถเข้าสู่ตลาดที่เพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนําเข้า สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน 

‘ชาวต่างชาติ’ ยก ‘รถไฟฟ้าไทย’ ดีที่สุดในอาเซียน เทียบชั้นสิงคโปร์ 'สะอาด-ใช้งานง่าย-เส้นทางครอบคลุม’ อนาคตแซงหน้าชาติชั้นนำ

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 66 จากช่องยูทูบ ‘สะท้อนไทย’ ที่มักจะคอยมาเล่ามุมมองของชาวต่างชาติ ที่แสดงความคิดเห็นต่อประเทศไทยในด้านต่างๆ โดยล่าสุด ชาวต่างชาติต่างยกให้รถไฟฟ้าของประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน เมื่อพวกเขาเคยมาท่องเที่ยวและได้ลองใช้บริการ โดยระบุว่า…

ชาวต่างชาติต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารถไฟฟ้าของประเทศไทย มีระบบที่ดีเยี่ยม ทั้งเรื่องความสะดวกในการใช้งาน ความสะอาดของสถานี แม้นํามาเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าของชาติตะวันตกแล้ว ระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่าดีเยี่ยมเลยทีเดียว ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่นักท่องเที่ยวจากชาติตะวันตกเท่านั้นที่ชื่นชอบรถไฟของประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของไทยต่างก็ชื่นชมรถไฟฟ้าของประเทศไทยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นลาว, พม่า, เวียดนาม และสิงคโปร์ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกัน “รถไฟฟ้าของประเทศไทยดีที่สุดในอาเซียน”

โดยจุดกําเนิดของรถไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น เริ่มต้นจากรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศที่เปิดให้บริการครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยเปิดสองเส้นทาง รวมทั้งสิ้น 23 สถานี ซึ่งคือ ‘สายสุขุมวิท’ มีระยะทางทั้งหมด 17 กิโลเมตร จากสถานีหมอชิต - สถานีอ่อนนุช และสายที่สองคือ ‘สายสีลม’ มีระยะทาง 6.5 กิโลเมตร จากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สถานีสะพานตากสิน และนี่คือสถานีทั้งหมดในช่วงแรก

แต่ในปัจจุบันมีการขยายสถานีออกไปเป็นจํานวนมาก ซึ่งสามารถช่วยเหลือเรื่องการคมนาคมของคนในชานเมืองได้เป็นอย่างมาก โดยระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ มีความจุสูงแบบมาตรฐานสากล ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเมืองใหญ่ทั่วโลก สามารถให้บริการแก่ผู้โดยสารได้มากกว่า 1 พันคนต่อขบวน

ในขณะที่การเดินทางด้วยรถยนต์ต้องใช้รถยนต์จํานวนมากถึง 250 คัน เพื่อขนส่งผู้โดยสาร นอกเหนือจากนี้การให้บริการที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์รวมของธุรกิจการค้า ย่านที่พักอาศัย และแหล่งช็อปปิ้งชั้นนํา อีกทั้งยังมีโครงการส่วนต่อขยายเพื่อขยายพื้นที่สําหรับให้บริการ และยังเข้าถึงผู้โดยสารได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งครอบคลุมการเดินทางหลายจังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล สำหรับประเด็นนี้ได้มีชาวต่างชาติจํานวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม 

โดยมุมมองแรกต่างกล่าวว่า รถไฟฟ้าใต้ดินของไทยดูดีที่สุดแล้วในแถบนี้ ทั้งที่เปิดมาเกือบ 20 ปี แต่สภาพยังดูดี ดูสวย และสะอาดอยู่เลย อย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะอายุที่ไม่มาก ค่าโดยสารจึงแพง แต่ก็สามารถคัดกรองคนได้ในระดับหนึ่ง เคยไปหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา ทั้งเหม็น ทั้งสกปรก

จากนั้น ได้มีความคิดเห็นนึงได้เผยว่า “ผมอยู่ออสโล บัตรเดียวใช้ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง รถเมล์ และเรือ แต่เรื่องความสะอาดออสโลสู้ไม่ได้เลย เพื่อนของผมชาวนอร์เวย์ที่เดินทางไปที่กรุงเทพฯ ยังตกใจ ทําไมประเทศไทยสะอาดเช่นนี้ สุดยอดมาก… แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือเรื่องตั๋ว ถ้าใช้ได้หมดจะสุดยอดมาก”

โดยคนส่วนหนึ่งต่างรู้สึกว่า สิงคโปร์และไทย มีคุณภาพใกล้เคียงกัน แต่ติดอยู่เรื่องเดียวคือของไทยไม่ค่อยมีห้องน้ำเหมือนของสิงคโปร์ และด้วยที่สิงคโปรอาจจะสร้างมานานกว่าประเทศไทย จึงทําให้สภาพดูเก่ากว่า แต่เรื่องความสะอาดในตอนนี้ ต้องยอมรับว่ารถไฟฟ้าของไทยดูใหม่จริงๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือเรื่องของ ‘ห้องน้ำ’ ซึ่งพวกเขาหวังอยากให้ประเทศไทยมีห้องน้ำทุกสถานีเหมือนญี่ปุ่น เพราะอยากเข้าแบบอิสระ โดยไม่ต้องไปขอแม่บ้าน

“ตอนนี้ดิฉันอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ประเทศไทยพัฒนามาก อีกสิบปีดิฉันจะเกษียณ และอยากไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดของประเทศไทย เชื่อว่าอีกสิบปีข้างหน้า จะสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ เพราะรถไฟฟ้าของประเทศไทยครอบคลุมทั่วประเทศ อยากบอกลูกหลานทุกคนว่า ควรภูมิใจกับประเทศไทยตอนนี้ ยอดเยี่ยมมาก” ชาวต่างชาติท่านหนึ่งกล่าว

และนี่เป็นเพียงความคิดเห็นบางส่วนที่ได้หยิบยกขึ้นมา โดยความคิดเห็นนั้นมองออกเป็นสองมุม แต่โดยหลักๆ ต่างยกให้ไทยและสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีรถไฟฟ้าดีที่สุดในอาเซียน

‘สุริยะ’ สัญญาทำรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เร่งผลักดัน ‘สายสีแดง-สีม่วง’ เป็นของขวัญปีใหม่

(12 ก.ย. 66) การแถลงนโยบายรัฐบาลช่วงค่ำวานนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ชี้แจงปัญหาการดำเนินโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ว่า เมื่อตนมารับตำแหน่งรมว.คมนาคมแล้ว หลายโครงการต้องทบทวน อะไรดีก็ทำต่อ อะไรมีปัญหาก็ต้องทบทวน เพื่อประโยชน์ประชาชน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำต่อไป นโยบายนี้จะเริ่มทันที เพื่อสร้างโอกาสความเท่าเทียมให้ผู้มีรายได้น้อย โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสายมาเจรจา ขั้นตอนเจรจาอาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดง ‘ตลิ่งชัน-รังสิต’ ราคา 14-42 บาท และสายสีม่วง ‘บางซื่อ-คลองบางใหญ่’ ราคา 14-42 บาท จะปรับราคาตลอดเส้นทางเป็น 20 บาท จะเร่งผลักดันภายใน 3 เดือน เป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน ขณะที่สายสีเขียวที่อยู่ในความรับผิดชอบของกทม. ต้องให้กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กระทรวงคมนาคมพร้อมจะสนับสนุน ยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับสายสีส้ม เนื่องจากตนเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ขอเวลาพิจารณารายละเอียดทุกมิติ ทั้งข้อกฎหมาย ผลประโยชน์ประชาชน จะทำด้วยความโปร่งใส เพื่อผลประโยชน์ประเทศ ทราบว่าที่ผ่านมาในรัฐบาลชุดที่แล้ว ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม เคยเชิญนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เคยออกมาเปิดเผยความไม่โปร่งใสเรื่องรถไฟฟ้า มารับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง แต่นายสุรเชษฐ์ไม่เคยรับคำเชิญ ดังนั้นในครั้งนี้จะขอเชิญท่านไปให้ข้อมูลอีกครั้ง

ด้านนายสุรเชษฐ์ ปวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่เคยได้รับหนังสือเชิญจากกระทรวงคมนาคมให้ไปรับฟังข้อมูลเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด ขอให้ทำหนังสือเชิญมา พร้อมจะไปรับฟังข้อมูล ซึ่งนายสุริยะตอบกลับว่า จะทำหนังสือเชิญนายสุรเชษฐ์มารับฟังข้อมูลต่อไป

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 11-15 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดว่าทั้งสองประเทศจะขยายเวลาออกไปถึงเดือน ต.ค. 66

ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มทุเลาลง หลังจากวันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ Onshore Private Bond ของบริษัท Country Garden ที่ออกขายภายในประเทศและจำกัดเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ลงมติเห็นชอบเลื่อนกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินหยวน มูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (537 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีกำหนดให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมมีกำหนดจ่ายภายในวันที่ 2 ก.ย. 66 อีกทั้งบริษัท Country Garden สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 ทันกำหนดระยะผ่อนผัน 30 วัน

วันที่ 10 ก.ย. 66 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation: NOC) ประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf, Zueitina, Brega และ Es Sider กำลังการผลิตรวม 6.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน หลัง Arab Regional Weather Center คาดการณ์พายุเฮอริเคน Daniel จะพัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ลิเบียภายในวันที่ 12 ก.ย. 66 อนึ่ง ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ติดตามพายุเฮอริเคน Lee และพายุโซนร้อน Margot ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หรัฐฯ โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center: NHC) คาดว่าพายุ Lee ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 1 (ความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะเพิ่มกำลังกลายเป็นเฮอริเคนระดับที่ 5 (ความเร็วลม 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดว่าพายุ Margot จะยกระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุเฮอริเคนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ พายุทั้งสองยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

‘S&P’ ผุดนิวโมเดลไซส์ย่อ เจาะปั๊ม ปตท. รับเทรนด์ ‘ซื้อกลับ-สั่งด่วน’ มาแรง

‘เอส แอนด์ พี’ ผุดสาขารูปแบบใหม่ นำร่องเจาะปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขาแรก เบเกอรี่ครบไลน์ อาหารเน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว เผยแผนทั้งปีนี้ลุยเปิดเบเกอรี่ช็อป 25 สาขา และร้านอาหาร 3 สาขา โชว์ครึ่งปีแรกรายได้รวมโต 12% ส่วนช่องทางนั่งทานในร้านพุ่ง 66%

(11 ก.ย.66) นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจเอสแอนด์พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวธุรกิจร้านโมเดลใหม่ ‘คอนเซ็ปท์ ฟุ้ด แอนด์ เบเกอรี่’ (Food and Bakery) ซึ่งเป็นร้านที่มีบริการทั้งเบเกอรี่ เครื่องดื่มครบไลน์ และบริการอาหารด้วย โดยเปิดสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. พระรามสี่ใกล้กล้วยน้ำไท พื้นที่ประมาณ 100ตารางเมตร เปิดบริการเมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา และเตรียมที่จะเปิดสาขาที่สองอีกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นปั๊มที่สร้างใหม่

“รูปแบบของสาขาโมเดลใหม่นี้ จะมีขนาดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีบริการเบเกอรี่เครื่องดื่มครบไลน์ ส่วนอาหารจะไม่ครบไลน์เหมือนร้านอาหารมาตรฐานเดิม จะเป็นลักษณะคล้ายนั่งทานอาหารหน้าเคาน์เตอร์บาร์ เน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว และเน้นเทคอะเวย์กับเดลิเวอรีด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับปั๊มน้ำมันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำเลและขนาดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่” นายอรรถ กล่าว

ทั้งนี้ การเปิดตัวร้านรูปแบบใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ โดยปีนี้วางแผนที่จะเปิด ร้านเบเกอรี่ช็อป ประมาณ 25 สาขา ลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อสาขา เปิดไปแล้ว 15 สาขา และจะเปิดอีก 10 สาขาต่อถึงสิ้นปีนี้ ส่วนร้านอาหาร ลงทุนเฉลี่ย 8-10 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งจะเปิดเล็กลงประมาณ 150 ตารางเมตร จากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 200 ตารางเมตร จะเปิดปีนี้ 3 สาขา โดยเปิดไปแล้วที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเตรียมจะเปิดอีกที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข และอีกแห่งจะเปิดในเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลสาขา

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครือข่ายร้านค้ารวม 437 สาขา โดยแบ่งเป็น ร้านเบเกอรี 300 สาขา และร้านอาหาร 137 สาขา อีกทั้งยังไม่ได้นับรวม ร้านเดลโก้ ที่่เป็นจุดบริการเดลิเวอรีโดยเฉพาะ อีก 33 สาขา ซึ่งก็ยังคงมีการเติบโตที่ดีแต่อาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิด-19ระบาดหนัก ที่ความต้องการเดลิเวอรีสูงมาก ส่วนแผนการรีโนเวทร้านเดิมก็ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาด มีการรีโนเวทไปมากกว่า 100 สาขาแล้ว ใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วเปิดร้านใหม่ประมาณ 35 สาขา

นายอรรถ กล่าวต่อว่า บรรยากาศการจับจ่ายในภาพรวมขณะนี้ ถือว่าในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑลกลับมาดีมากขึ้นแล้ว ขณะที่ในตลาดต่างจังหวัดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เพราะกำลังซื้อลดลง แต่คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการเติบโตที่ดี โดยในไตรมาสที่2ปี2566 รายได้รวมทั้งกลุ่ม 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือเติบโต 12% จากไตรมาสสองปีที่แล้ว ส่วนกำไรมีประมาณ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท

ส่วนช่วงครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวมทั้งกลุ่ม 2,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 350 บาท หรือเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกที่ 194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท เติบโต 14% โดยสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% มาจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ในประเทศ ส่วนอีก 20% มาจากกลุ่มรีเทลฟู้ดกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกพบว่า รายได้จากช่องทางร้านอาหารนั่งทานในร้านเติบโตมากถึง 66% ช่องทางเทคอะเวย์ เติบโต 7% และช่องทางเดลิเวอรี เติบโต 5% สาเหตุหลักที่นั่งทานในร้านเติบโตมากเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาทานอาหารในร้านมากขึ้นแล้ว รวมทั้งกลยุทธ์ตลาดที่บริษัทฯ ทำด้วยในช่องทางร้านอาหาร เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จัดเทศกาลเมนูข้าวแช่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เดือนพฤษภาคมเริ่ม แคมเปญฉลอง 50 ปี 50 เมนู ซึ่งกิจการจะครบ 50 ปีในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ล่าสุดเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่คือ ใส้เกาลัดและชาอู่หลง ใส้บัวมันม่วง พร้อมโปรโมชั่นมากมาย

“ปีนี้คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโต 15% ซึ่งขณะนี้รายได้รวมกลับไปถึงปี 2562 แล้วประมาณ 80% และคาดว่าปีหน้าน่าจะกลับคืนมา 100% ได้แน่นอน” นายอรรถ กล่าว

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปลื้ม!! งาน SMART Local ของดีพื้นถิ่น ดันซอฟต์พาวเวอร์ผ้าไทยขายได้กว่า 10 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโชว์ผลจัดกิจกรรม SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ประสบความสำเร็จ สามารถดัน Soft Power ผ้าไทย เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ สร้างยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

(11 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ ว่า กรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี เมื่อเดือนส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัด 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่…

1. SMART Local Events จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในความส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย และกลุ่มสมุนไพร รวมจำนวน 30 ราย เพื่อส่งเสริมตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงตลาดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มขึ้น

2. SMART Local Display โดยจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้าง Soft Power ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมิติใหม่ จากภูมิปัญญาสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อย่างมีสไตล์ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถผลักดัน Soft Power ผ้าไทย ภาพลักษณ์มุมมองใหม่ ที่มีความทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ หวังปลุกกระแสนิยมแฟชันผ้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หันมาเลือกสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าการค้ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มขึ้น” นายทศพล กล่าว 

ในปี 2566 กรมได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เน้นชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ท้องถิ่นที่แตกต่างมาสร้างจุดขาย ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตลาด ในการวิเคราะห์ตลาด เลือกตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการจัดแสดง และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างมีศักยภาพ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการค้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าชุมชน สู่การเป็นธุรกิจชุมชนยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

บสย. ผนึก SET เปิดโครงการ SME Platform  เชื่อม Start up - SMEs พร้อมเข้าตลาดทุน

บสย.- SET ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผนึก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เพื่อการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและเตรียมความพร้อมการเติบโตไปสู่โอกาสการระดมทุนในตลาดทุนต่อไป

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  และ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการ SME Platform เพื่อพัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการทั้งภาคการเงิน การผลิต เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดย 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันเชื่อมโยงบทบาทการทำงานของตลาดเงินและตลาดทุน ในการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่ม Start up และ SMEs ผ่านโครงการ SME Platform  รองรับการเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อเตรียมสร้างความพร้อมสู่การระดมทุนในตลาดทุน

บสย. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะร่วมกันบ่มเพาะเติมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้แก่ Start up และ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่แหล่งทุนและการระดมทุน ผ่านหลักสูตร e-Learning  และ Scaling Up Platform หลักสูตรการอบรมเชิงลึก การจัดระบบงาน จับคู่ธุรกิจและให้คำปรึกษาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange และผ่าน บสย. Business School ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center

นายสิทธิกร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. จะให้ความช่วยเหลือ SMEs และ Start up ใน 3 มิติ คือ 

1. มิติการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินผ่านกลไกผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ SMEs เข้มแข็ง (PGS10)

2. ด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความรู้ทางการเงิน  (Financial Literacy) ผ่าน บสย. F.A. Center และ Live Platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET

และ 3.มิติการบริหารหนี้ ช่วย SMEs แก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยการค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ให้กับ SMEs ซึ่งมีมูลค่าต่อ GDP 30-35% และรักษาการจ้างงานกว่า 70%

ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ขยายความช่วยเหลือโดยใช้ศักยภาพและกลไกของทั้ง 2 หน่วยงานเชื่อมโยงช่วยเหลือให้ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งทุน จากทั้งตลาดเงิน และการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดย บสย. มีฐานลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มากกว่า 8 แสนราย ซึ่งมี SMEs ที่มีโอกาสขยายกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ประมาณร้อยละ 30 หรือราว 240,000 ราย โดยภายใต้โครงการนี้ คาดว่าจะช่วยเชื่อมโยงให้ SMEs ได้รวมตัวกันและ scale up ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาและเติบโตไปเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ใน SET ต่อไป

‘การบินไทย’ เพิ่มเที่ยวบินจีน รับฟรีวีซ่า  พร้อมเปิดบินในปท.เข้าภูเก็ตไวขึ้น 1 ต.ค.นี้

(11 ก.ย. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติยินดีและมีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่า Free Visa ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ที่กำลังจะมาถึง

การบินไทยจึงได้ปรับแผนเริ่มทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ-ภูเก็ต ไป-กลับ เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ด้วยเครื่องบินลำตัวกว้าง ซึ่งมีความจุ 292 ที่นั่ง ให้บริการในชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 262 ที่นั่ง ด้วยความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยมีรายละเอียดเที่ยวบินดังนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต : เที่ยวบินที่ TG201 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 08.00 น. ถึงภูเก็ตเวลา 09.25 น.
- เส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ : เที่ยวบินที่ TG202 ออกจากภูเก็ต เวลา 10.20 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.50 น.

โดยเมื่อรวมกับเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ไป-กลับ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 สัปดาห์ละ 49 เที่ยวบิน รวมเป็นจำนวน 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

อีกทั้ง บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีนจาก 25 เที่ยวบิน เป็น 35 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง ไป-กลับ ทำการบิน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-กวางโจว ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง ไป-กลับ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เฉิงตู ไป-กลับ ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดตารางการบิน พร้อมทั้งสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ thaiairways.com หรือ สำนักงานขายการบินไทยและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือ THAI Contact Center 0-2356-1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ขยายการลงทุน-สร้างโอกาสเติบโตในสหรัฐฯ  เข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ 

(11 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ (Compass Portfolio) กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะสามารถรับรู้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ทันที

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี (EGCO Compass II, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดและจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยมาร์คัส ฮุก เอ็นเนอร์ยี่ แอลพี (มาร์คัส ฮุก) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่มิลฟอร์ด พาวเวอร์ แอลแอลซี (มิลฟอร์ด) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน พาวเวอร์ (ไดตัน) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ ‘พอร์ตโฟลิโอคัมแพซ’ ได้รับประโยชน์จากการที่โรงไฟฟ้ามาร์คัส ฮุก มีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ลองไอส์แลนด์ พาวเวอร์ ออธอริที (The Long Island Power Authority - LIPA) และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) ในขณะที่โรงไฟฟ้ามิลฟอร์ดและโรงไฟฟ้าไดตันขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คือ PJM และ ISO-NE

“การลงทุนใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ จะสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะสำเร็จหลังจากดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปิดรายการซื้อขายแล้วเสร็จ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ยานยนต์ไทยใต้เงายุค EV ทางสองแพร่ง ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่สิทธิด้านภาษี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 10 ก.ย.66 ในประเด็นอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ทิศทางใดเพื่อผลักไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของเอเชียได้อย่างแท้จริง ดังนี้...

อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ซึ่งครองความเป็นเจ้าถนนมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก นับจาก Benz ได้จดสิทธิบัตร Motorwagen ครั้งแรกเมื่อปี 1880 และพาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไทย

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเจอกับ Technological Disruption ครั้งใหญ่ที่สุด ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแบบถอนรากถอนโคน เมื่อ Tesla ของ Elon Musk ได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EV) ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 จนผ่านมาถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ EV ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดผลิต/จำหน่ายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดและน่าจะเติบโตต่อไปอีกมาก เพราะความสนใจของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญใน Hardware และความเป็นเลิศทางยนตรกรรม มาเป็น Software และประสบการณ์ทางดิจิทัลผ่านยานพาหนะมากขึ้น

แน่นอนว่า ประเทศไทยซึ่งประสบความสําเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสัดส่วนใน GDP กว่า 10% พิจารณาได้จากการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน และถึงขั้นได้รับสมญานามว่าเป็น Detroit of Asia เมื่อปี 2017 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน ถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากเป็นอันดับ 13 ของโลก

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญ หากยังยึดโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนที่ได้กลายเป็นผู้นำในรถยนต์ EV และในการผลิตแบตเตอรี

ทิศทางการส่งออกรถยนต์ (สันดาป) ไปตลาดสำคัญๆ ของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตลาดที่เคยเป็นฐานหลักของไทยเริ่มหันเหไปมองหารถยนต์ EV มากขึ้น

ครั้นจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาด EV ก็น่าห่วงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งยังไม่สามารถเทียบได้กับจีนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่มีสินแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า

ดังนั้น จากนาทีนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เคยมุ่งเน้นแต่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ก่อนที่เราจะไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือให้พัฒนา

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

‘ชัยวุฒิ’ ร่วมยินดีครบรอบ 5 ปี ‘ทีทรี เทคโนโลยี’ ยกเป็นองค์กรที่มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีของไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงานในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ปี ของบริษัท ทีทรี เทคโนโลยี จำกัด พร้อมกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานครบรอบ 5 ปีของบริษัทที ทรี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระบบเทคโนโลยีของประเทศไทย ผมขอแสดงความยินดีกับบริษัทที ทรี เทคโนโลยี ในความสำเร็จครั้งนี้ด้วย

ในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา บริษัท ที ทรี ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งนวัตกรรม การเชื่อมต่อระหว่างความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ และการแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการส่งเสริมเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองและการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ถึงกันในทุกมิติ 

‘บริษัท ที ทรี เทคโนโลยี’ มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟิกส์บรอดแบนด์ (FBB), โมบาย บรอดแบนด์ (MBB), Internet of things (IoT), และโซลูชั่นระดับองค์กร เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน  และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัลนี้ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top