Sunday, 11 May 2025
ECONBIZ

‘INTERLINK’ เปิดบ้านนำนักลงทุนทัวร์กิจการ-สอบถามเชิงลึก มั่นใจ!! รัฐบาลชุดใหม่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจ หนุนภาคธุรกิจเติบโต

(5 ก.ย. 66) ‘INTERLINK’ โดยคุณสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่ม บมจ. อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชัน (ILINK) เปิดบ้านต้อนรับนักลงทุนกว่า 35 ท่าน พร้อมแถลงผลประกอบการผ่านงาน Opportunity Day จากนั้นได้พากลุ่มนักลงทุนเยี่ยมชมกิจการ และสอบถามผลประกอบการในเชิงลึก

โดยในงานนี้ คุณสมบัติยังกล่าวอีกด้วยว่า กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ มีความมั่นใจว่า ในภาคธุรกิจจะสามารถดำเนินได้อย่างราบรื่น เติบโตทั้งรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และมีคุณภาพ ตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัท

คุณสมบัติได้ตอบคำถามที่นักลงทุนถามว่า เหตุใดตนถึงมั่นใจว่าภาคธุรกิจจะสามารถเติบโตได้อย่างแน่นอน? ว่า…

“ผมมั่นใจว่า ภายหลังเมื่อสามารถตั้งรัฐบาลเสร็จ โดยการบริหารงานภายใต้การนำของ ‘นายกเศรษฐา’ ครั้งนี้ ปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ

1.) ความรู้สึกหรือความเชื่อว่า เศรษฐกิจภายหลังจากนี้จะดีกว่ารัฐบาลที่แล้วอย่างแน่นอน

2.) งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนและงบก่อสร้างปรับปรุง ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20% จะถูกเร่งรัดให้เกิดการก่อสร้างและปรับปรุง อันจะส่งผลต่อการสั่งซื้อสายสัญญาณของบริษัทไปติดตั้งเพิ่มเติม

3.) คู่แข่งโรงงานผลิตสาย Sola Cable, สายโทรศัพท์ และสาย Control รายใหญ่ของประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องของตลาดทุน ทำให้ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามเวลา ส่งผลให้ลูกค้าต้องเปลี่ยนมาสั่งซื้อจากบริษัทอย่างมากมาย

4.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนมีความต้องการกับชีวิตที่ดีขึ้น และมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกได้มากขึ้น ทำให้กระแสสัญญาณของสาย FTTR (Fiber To The Room) ถูกบังคับให้ต้องเตรียมการติดตั้งในคอนโดมิเนียม หรือบ้านพักที่สร้างใหม่

ซึ่งผลิตภัณฑ์ LINK มาตรฐานอเมริกา ของบริษัท มี Outlet รุ่นใหม่ที่มีขนาดเท่ากับหน้ากากไฟฟ้า สามารถติดตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สวยงามในห้อง และใช้งานได้อย่างทรงประสิทธิภาพ คาดว่า หลังจากนี้จะเกิดกระแสการรับอย่างมาก

5.) เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ทุกคนต้องการความปลอดภัยและใช้ชีวิตด้วยความสะดวกสบาย โดยบริษัทมีผลิตภัณฑ์สายสัญญาณในหมด Security and Control มารองรับการก่อสร้างอาคาร Intelligent และที่พักอาศัยของคนรุ่นใหม่ รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาของสายคอนโทรลที่โรงงานในประเทศไทย จำเป็นต้องหยุดการผลิต

“สุดท้ายต้องขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง และเป็นบรรยากาศการพบปะระหว่างประธานบริษัทฯ กับนักลงทุนที่คุยกันอย่างเป็นกันเองในทุกเรื่อง และยืนยันว่า นอกจากนักลงทุนจะทราบข้อมูลเชิงลึกแล้ว บริษัทฯ ยังได้รับคำแนะนำดีๆ จากนักลงทุนอีกด้วย” คุณสมบัติ กล่าว

OR เล็งธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน วางเฟสแรก 20 แห่ง รายได้ 1,000 บาท /ห้อง/คืน

เมื่อเช้านี้ มีกระแสข่าวว่า OR กำลังสนใจเข้าลงทุนในธุรกิจโรงแรมสไตล์ญี่ปุ่นเพื่อเปิดบริการในสถานีบริการน้ำมัน แบบราคาประหยัด 1,000 บาทต่อคืน

โดยผู้บริหารให้ข้อมูลว่าอยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กในสถานีบริการน้ำมัน โดนคาดว่าระยะแรกจะเปิดให้บริการ 20 แห่ง แต่ละแห่งมีห้อง 60-80 ห้อง คาดว่า จะมีรายได้ราว 1,000 บาทต่อห้องต่อคืน

รวมถึงการเข้าลงทุนในธุรกิจ Health & Beauty โดยนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขายในไทย

คำถาม คือ ถ้าเราเห็นธุรกิจโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน PTT จริงๆจะถือเป็น New S Curved มากแค่ไหนต่อกลุ่ม OR

คำตอบคือ ไม่ได้เยอะมาก ...

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์หยวนต้า มองว่าธุรกิจโรงแรมในช่วงระยะเริ่มต้น น่าจะสร้างรายได้ให้ OR ราว ๆ 200 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่า 1% ของรายได้ทั้งรวมทั้งหมด ทำให้ไม่มีนัยสำคัญอะไรมากนักในระยะสั้น จนถึงกลางต่อภาพรวมธุรกิจ

อีกทั้ง ธุรกิจนำเข้าสินค้าประเภท Health & Beauty ก็มีคู่แข่งจำนวนมาก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นไม่สูง ไม่น่าจะสร้างกำไรที่มีนัยสำคัญอะไรให้กับ OR

ดังนั้น มีความเป็นไปได้ไหมที่เราจะเห็นโรงแรมในสถานีบริการน้ำมัน แต่ในภาพของธุรกิจ ไม่น่าจะส่งผลเชิงบวกมากนักในระยะแรก

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รักษารวดเร็ว

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ติดตามผลการดำเนินงานในโครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน ของศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26(1)

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน” ของ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการมีวัตถุประสงค์ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบที่ใช้ในการรักษาบนรถโมบายสโตรคยูนิตรวมทั้งระบบการปรึกษาทางไกลของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองผ่านระบบ Telestroke ให้กับพื้นที่เป้าหมายใน 6 จังหวัดนำร่อง คือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราชบุรี กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงราย และนครพนม และพัฒนาระบบส่งต่อข้อมูลทางการแพทย์ ก่อนนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือหน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ในเขตพื้นที่บริการ ให้เป็นต้นแบบในการให้บริการการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันโดยใช้รถโมบายสโตรคยูนิตและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจร เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันมีผลการดำเนินงานในโครงการในการพัฒนาระบบเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างการเก็บผลการให้บริการจริงในพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ พบว่า ผลเป็นที่น่าพอใจ การดำเนินการให้บริการของรถโมบายสโตรคยูนิตในการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหลอดเลือดสมอง ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยประสานกับหน่วยส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ. ในการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินมาที่รถโมบายสโตรคยูนิต ที่สามารถให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที ในวินิจฉัยโรคและการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Telestroke ตลอดจนการส่งต่อข้อมูลภาพถ่ายผลการสแกนสมองที่แม่นยำเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในการใส่สายสวนหรือการให้ยาสลายลิ่มเลือดได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตและลดอัตราความพิการของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ก่อนนำส่งตัวไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลเครือข่ายต่อไป 

'พีระพันธุ์' เตรียมเสนอปรับราคา 'น้ำมัน-ไฟฟ้า' ลดค่าใช้จ่าย ปชช. พร้อมเปิดทางนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ในราคาที่เป็นธรรม-เหมาะสม

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการลดราคาพลังงานตามนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนว่า ความจริงแล้วนโยบายดังกล่าวเป็นนโยบายหลักที่สำคัญของพรรครวมไทยสร้างชาติด้วยอยู่แล้วและตนได้แจ้งต่อที่ประชุมร่วมกับพรรคเพื่อไทยในการประชุมทำนโยบายรัฐบาลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนไม่ใช่เฉพาะแค่ราคาพลังงานแต่รวมไปถึงค่าครองชีพอื่น ๆ ด้วย เพราะพลังงานเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค การปรับลดราคาพลังงานให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมจึงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจึงได้กำหนดนโยบายดังกล่าวไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วเช่นกัน และมั่นใจว่า เมื่อนโยบายตรงกันทั้งในส่วนของนโยบายรัฐบาลและนโยบายของพรรครวมไทยสร้างชาติที่ตนรับผิดชอบอยู่ด้วยก็จะทำให้นโยบายนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นและเร็วขึ้น

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า แนวทางการดำเนินการในเรื่องราคาพลังงานนั้นมีเรื่องหลัก ๆ ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ ราคาน้ำมัน และ ราคาไฟฟ้า ซึ่งมีองค์ประกอบของราคาหลายอย่าง เช่น เรื่องภาษี เรื่องค่าการตลาด เรื่องภาระการเงินและเงินกู้ และอีกหลายเรื่องที่มาประกอบกัน บางองค์ประกอบเป็นเรื่องที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า หรือต้นทุนของราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่สิ่งที่สามารถพิจารณาดำเนินการได้คือ โครงสร้างและองค์ประกอบที่มารวมกันจนเป็นราคาขายของพลังงานเหล่านี้ จะต้องมาดูว่าส่วนไหนที่สามารถตัดทิ้ง หรือปรับลดลงได้ก็จะทำทั้งหมด และเมื่อค่าใช้จ่ายลดลง ราคาของพลังงานต่าง ๆ ก็จะสามารถปรับลดลงได้ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน

ในขณะเดียวกันยังมองถึงเรื่องของราคาน้ำมันราคาถูกพิเศษสำหรับประชาชนบางกลุ่ม เช่น ปัจจุบันกลุ่มชาวประมง สามารถซื้อน้ำมันที่เรียกว่า น้ำมันเขียวในราคาพิเศษ จึงเห็นว่า น่าจะดำเนินการเช่นเดียวกันนี้กับกลุ่มอื่น ๆ ด้วย เช่น กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวต่อว่า นโยบายหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง ตนเห็นว่า ควรจะให้โอกาสเสรีในการหาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่การนำน้ำมันดิบเข้ามากลั่นจนทำให้มีต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่ควบคุมลำบาก แต่หากเป็นการนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ ไม่ต้องมีค่าการกลั่น หรือค่าใช้จ่ายอื่น เพราะราคาทุกอย่างคำนวณจบแล้ว และถ้าหากใครสามารถนำพลังงานราคาถูกเข้ามาได้ ก็ควรเปิดโอกาสให้ทำได้ โดยภาครัฐควรจะเป็นผู้กำกับดูแลให้การจัดหาพลังงานเป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว ไม่ใช่วางกฎกติกาจนทำไม่ได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะทำงานด้านกฎหมาย แต่ก็มีความสนใจเรื่องของพลังงานของไทย และศึกษาหาข้อมูลเรื่องพลังงานมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องน้ำมันของประเทศไทยมีประวัติน่าสนใจและได้รับรู้เรื่องราวของพลังงานมาจากบิดาคือ พลโท ณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงเศรษฐการ (ปัจจุบันคือกระทรวงพาณิชย์) และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ที่ได้รับมอบหมายจาก จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัตชต์ ให้ไปสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย

กระทั่งค้นพบแหล่งน้ำมันที่ อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ สามารถขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาและสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทยขึ้นมากลั่นน้ำมันดิบนั้น จนประสบความสำเร็จโดย นอกจากจะจัดหาน้ำมันให้กับหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังสามารถขายน้ำมันราคาถูกให้กับประชาชนด้วย นำมาสู่การก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร  ซึ่งปัจจุบันองค์การเชื้อเพลิงของกรมการพลังงานทหารและปั๊มน้ำมันสามทหารได้ถูกแปรเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และเป็น บริษัท ปตท.จำกัด ในปัจจุบัน

“ที่มาของพลังงานในประเทศไทยมี 2 เรื่อง คือเรื่องความมั่นคงของประเทศ และ การหาน้ำมันราคาถูกให้ประชาชนใช้ ผมจึงคิดว่าภารกิจหน้าที่ของรัฐบาลและของกระทรวงพลังงานวันนี้ ไม่ใช่เรื่องของการทำธุรกิจน้ำมันแต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศและการหาพลังงานให้ประชาชนในราคาที่เป็นธรรมและเหมาะสม ส่วนเรื่องการทำธุรกิจของบริษัทที่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของกระทรวง แต่กระทรวงพลังงานมีหน้าที่กำกับดูแล ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมถูกต้องแล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าถึงการหาพลังงาน หาน้ำมัน หาเชื้อเพลิงมาใช้ได้อย่างเสรี จะต้องไม่ปิดกั้นต้องให้โอกาสเพื่อให้ราคาถูกลงให้ได้ เป็นการลดต้นทุน เพราะพลังงานเป็นต้นทุนต่าง ๆ ในชีวิต ถ้าสามารถลดต้นทุนตรงนี้ลงได้ ค่าครองชีพก็จะลดลงตาม ฉะนั้นผมจึงคิดว่านี่คือภารกิจของกระทรวงพลังงาน ไม่ใช่การทำธุรกิจ” นายพีระพันธุ์กล่าว

ปตท. ฉลองการนำเข้า ‘ก๊าซปิโตรเลียมเหลว’ ‘15 ปี 15 ล้านตัน’ ณ คลังก๊าซเขาบ่อยา 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และนายวรจักร สถาพรภิญโญ นายอำเภอศรีราชา ร่วมงานฉลองการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว 15 ปี 15 ล้านตัน สายงานแยกก๊าซธรรมชาติ ณ คลังก๊าซเขาบ่อยา ปตท. จ.ชลบุรี เพื่อร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่คลังก๊าซเขาบ่อยา ปตท. ได้พัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) แก้วิกฤตการณ์ความต้องการที่เพิ่มสูงตั้งแต่ปี 2551 จวบจนปัจจุบันเป็นเวลา 15 ปี ด้วยปริมาณถึง 15 ล้านตัน

ทั้งนี้ คลังก๊าซเขาบ่อยา เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2528 และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ ปตท. ในการนำเข้า เก็บสำรอง และเป็นศูนย์กลางในการกระจาย LPG สู่ภาคครัวเรือน และภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมพันธกิจ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ

'พงศ์กวิน' ชี้!! รัฐต้องเร่งผุดสนามบินใหม่ 'ภูเก็ต-เชียงใหม่' พร้อมปรับโฉมท่าเก่า  หลังต่างชาติไหลเที่ยวไทยไม่หยุด หากช้าจะกลายเป็นปัญหาใหญ่เกินแก้

(3 ก.ย. 66) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด19 คลี่คลาย ประเทศไทยก็กลายเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวต่างชาติไหลกลับมา และกลับมามากกว่าเดิม จนตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวครอง GDP ไทยไปแล้วกว่า 20% ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นข่าวดีของภาคการท่องเที่ยวของประเทศมากๆ

ทว่า สิ่งที่น่าห่วงในตอนนี้ คือ แม้เศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวจะเป็นไฮไลต์ที่ไม่เคยแผ่วของไทย แต่ความสามารถในการรองรับของประเทศ โดยเฉพาะความพร้อมของสนามบินต่างๆ กำลังเจอปัญหาที่ท้าทายอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินหน้าด่านแห่งเมืองท่องเที่ยวฝั่งเหนือ-ใต้ของไทยที่วันนี้ดูจะเกินกำลังในการรับมือนักท่องเที่ยวที่ล้นทะลักเข้าสู่ไทยแบบไม่หยุด

ฉะนั้นการขยายสนามบินใหม่ให้เมืองท่องเที่ยวหน้าด่าน และการปรับปรุงสนามบินเดิมทั่วประเทศ จึงเป็นภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่ต้องเร่งทำ เพราะไหนกว่าจะเริ่ม กว่าจะเสร็จ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ถอดรหัสข้อมูลด้านการท่องเที่ยวไทยในมิติต่างๆ ที่เป็นตัวเร่งในการขยับขยายสนามบินในเมืองไทยไว้อย่างน่าสนใจ ว่า...

การท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อปากท้องของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถกระจายรายได้สู่พี่น้องประชาชนได้ดีและรวดเร็วที่สุด

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ บ่งบอกว่าในช่วง 2552-2562 (ก่อนโควิด) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อให้เกิด GDP จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม เฉลี่ย 2,131,088 ล้านบาท/ปี คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย 15.50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

เกิดการจ้างงานเฉลี่ยปีละ 4,147,640 คน คิดเป็น 10.88% ของการจ้างงานทั้งประเทศ โดยที่สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวต่อ GDP ของประเทศไทยได้เพิ่มสูงขึ้นมาตลอด ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนมากถึง 20% ของ GDP รวม และมีการคาดการณ์จากสภาพัฒน์ว่าสัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในปี 2573 

นอกจากนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ประเทศไทย 'ถนัด' และเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง และมีการเติบโตมาอย่างยาวนานต่อเนื่องก่อนช่วงโควิด และตอนนี้ที่สถานการณ์โควิดได้คลี่คลายแล้ว การท่องเที่ยวก็เรียกได้ว่ากระโดดขึ้นมาจากวิกฤติในทันที

โดยในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 2506% (25 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 164.6% ในปีนี้ ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2565 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 สูงถึง 868.5 (8.6 เท่า) และเพิ่มขึ้นอีก 255.9% ในปีนี้

เห็นได้ชัดว่าการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งในเสาหลักของเศรษฐกิจไทย!!

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจะทะยานได้อย่างยั่งยืน ก็ต้องได้โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นั่นก็คือท่าอากาศยานประเทศไทย ซึ่งตอนนี้มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ

อย่างหลายๆ ท่านเอง ก็คงเคยเจอประสบการณ์ความแออัดของสนามบินในประเทศไทยที่บางครั้งต้องต่อแถวกันเป็นร้อยเมตร เพราะท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นมีการใช้งานล้นความจุไปมากมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะสนามบินภูเก็ตและเชียงใหม่ที่เป็นหน้าด่านแรกของแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคใต้

✈️ สนามบินภูเก็ต รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 12.5 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 12.8 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 18 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 5.2 ล้านคน เกินความจุไป 41.6%

✈️ สนามบินเชียงใหม่ รองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 8 ล้านคนต่อปี และมีผู้ใช้งานล้นความจุตั้งแต่ปี 2558 โดยในปีนั้นมีผู้ใช้งานถึง 8.3 ล้านคน และยังมีอัตราการการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2562 (ก่อนโควิคระบาด) มีผู้ใช้งานพุ่งสูงถึง 11.3 ล้านคน เกินความจุไปมากถึง 3.3 ล้านคน เกินความจุไป 41.25% 

และถึงแม้ว่าตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเพราะสถานการณ์โควิด-19 แต่จากที่ทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้คาดการณ์จากตัวเลขปริมาณการจราจรทางอากาศที่เกิดขึ้นจริงและการประมาณการของ AOT สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ที่พบว่าปริมาณผู้โดยสารในช่วงปี 2566 - 2567 จะกลับมาเทียบเท่ากับปี 2562 และจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หากเราย้อนกลับไปดูสถิติผู้โดยสารท่าอากาศยานที่กล่าวไปข้างต้นจะพบว่ามีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10% นั่นก็หมายความความว่าภายในอีก 4 ปี สนามบินแต่ละแห่งจะต้องรองรับผู้โดยสารเกินความจุถึง 2 เท่า ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ และจะกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินแก้อย่างแน่นอน

ดังนั้นรัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มโครงการขยายสนามบิน และศึกษาแนวทางการสร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ภูเก็ตและเชียงใหม่อย่างเร่งด่วน เพราะการสร้างหรือการขยายสนามบินนั้นต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อเรามีโครงสร้างพื้นฐานทางการบินที่ดีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเชียงใหม่และภูเก็ตจะมีรายได้และชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน และนี่คือ 'ความเจริญ' อย่างแท้จริงที่กำลังจะมาถึง

‘อบจ.เชียงใหม่’ ยกมือหนุน ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’  จุดเริ่มต้น สู่การแก้ปัญหา PM2.5 อย่างยั่งยืน

ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ไม่สามารถทำให้สำเร็จด้วยคน ๆ เดียว ความร่วมมือร่วมแรงร่วมใจเท่านั้นที่จะนำพาให้งานลุล่วง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยแก้ปัญหา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่

นั่นเพราะที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการระดมสรรพกำลังจากทางภาครัฐเข้าไปแก้ปัญหา แต่ทว่าฝุ่นพิษก็ยังปกคลุมพื้นที่เชียงใหม่ทุกปีในช่วงหน้าแล้ง

อย่างไรก็ดี การที่มีภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน 50 องค์กร ได้ร่วมมือกันดำเนินโครงการ ‘หยุดเผาเรารับซื้อ’ ด้วยการเข้าไปตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล โดยการเปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษใบไม้ให้เป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแนวทางและเป็นความหวังที่ช่วยลดปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ค่อนข้างกว้างใหญ่ โดยมีทั้งหมด 24 อำเภอที่ติดผืนป่า เพราะฉะนั้นจึงเกิดปัญหาไฟป่าทุกปี และทางอบจ. ได้จัดสรรงบประมาณในการดูแลจัดการปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง ในปี 2564 จำนวน 13 ล้านบาท ปี 2565  จำนวน 13 ล้านบาท และในปี 2566 อีกประมาณ 10 ล้านบาท  โดยให้แต่ละหมู่บ้านมาบูรณาการทำงานร่วมกัน ตั้งเป็น ‘สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่’ เพื่อช่วยกันดูแลและแก้ปัญหา รวมถึงระมัดระวังป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่า โดยเฉพาะในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นปัญหาระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน อาศัยเพียงหน่วยงานในจังหวัดคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดการผสานความร่วมมือ เพื่อทำโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ด้วยการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล จากซังข้าวโพดและเศษใบไม้ ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่า จะช่วยลดปัญหาการเผาของเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน และหากสามารถสร้างแรงจูงใจด้วยการกระจายจุดรับซื้ออย่างทั่วถึงและราคาที่เกษตรกรมองว่าคุ้มค่า จะช่วยให้การแก้ปัญหาเกิดได้เร็วยิ่งขึ้น

Kazakh Thai Alliance ชวนผู้ประกอบการไทย เปิดตลาดใหม่ ในงาน Food Business Matching

ailandfestival.cจากรายการ THE TOMORROW ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 2 ก.ย.66 ได้พูดคุยกับ คุณแอสเซล เบคบาเยวา ประธานชมรมพันธมิตรคาซัคไทย และ คุณพีระพล พิภวากร รองประธานชมรมพันธมิตรคาซัคไทย ซึ่งมาเล่าถึงงานใหญ่ที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรพลาดในเดือนกันยายนนี้ ว่า…

ในเดือนกันยายนนี้ ทาง Kazakh Thai Alliance ในการสนับสนุนของสถานทูตคาซัคสถาน ประจำประเทศไทย จะจัดงาน Food Business Matching ขึ้นที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน โดยในงาน ทางสถานทูต, หอการค้า และ สมาคมนักธุรกิจอัลมาตี้ ได้เชิญ Importer, Distributor และ Buyer ของ Modern Trade / Local Modern Trade รายใหญ่ ๆ ในคาซัคสถานมาพร้อมหน้า เพื่อเจรจาธุรกิจ กับ ผู้ผลิตสินค้า และผู้ส่งออกจากประเทศไทย 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Business Networking หลังงาน, การประชุมร่วมกับ Kazakh Invest และ เยี่ยมชม Almaty Industrial Zone ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ 

“งานนี้จะมีการพาทุกท่านไปสำรวจห้างสรรพสินค้า และ ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกแบรนด์ชั้นนำ รวมถึง ร้านค้าปลีกในท้องถิ่นเพื่อให้เข้าใจในบริบทของตลาดมากยิ่งขึ้น ผู้กลุ่มซื้อทางคาซัคสถาน กำลังมองหาสินค้าในหมวดต่าง ๆ เช่น สินค้าหมวดน้ำจิ้ม ซอสต่าง ๆ น้ำจิ้มไก่ ซอสต้มยำ ผลไม้ ผลไม้แปรรูป มะพร้าว ข้าวโพด สับปะรด TropicalFruit EnergyDrink Snack อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็ง อาหารเสริม เครื่องสำอาง น้ำตาล ขนมหวาน ไก่ปลอดสาร อีกด้วย” คุณแอสเซล กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.thailandfestival.co 
 

ศาลฯ เห็นชอบเเผนฟื้นฟูกิจการ 'ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์' เริ่มจ่ายคืนเงินผู้โดยสาร-เจ้าหนี้ช่วงโควิด พร้อมเพิ่มฝูงบินในปี 71

(1 ก.ย. 66) รายงานจากสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ตามที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งได้รับการแก้ไขตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เตรียมนำเครื่องเข้าประจำการฝูงบิน ขยายเส้นทางใหม่ เพิ่มกระเเสเงินสดและรายได้ ควบคู่การบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะสามารถเริ่มทยอยจ่ายหนี้เเละคืนเงินตามคิวให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากความจำเป็นในการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิดได้ ตามแผนที่วางไว้

นายธรรศพลฐ์ เเบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ กล่าวว่า การที่ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้รับความเห็นชอบด้วยแผนการฟื้นฟูกิจการ ในฐานะตัวแทนของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ขอขอบคุณการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ทุก ๆ ราย และคำสั่งของศาลล้มละลายกลางในครั้งนี้

ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ดำเนินการมาในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการที่ดี เป็นประโยชน์ทั้งต่อเจ้าหนี้และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นใจในการให้บริการ พร้อมสำหรับการแข่งขันและเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน

“หลังสถานการณ์โควิด ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้กลับมาให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง โดยรักษาจุดแข็งในการเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัด ให้บริการเส้นทางระยะไกลในตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยตั้งเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณที่นั่ง (Capacity) ให้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดภายในสิ้นปี 2567 พร้อมทั้งเร่งการเติบโตในตลาดออสเตรเลียเเละจีน โดยยังเเสวงหาโอกาสในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ ตลาดอินเดียและตะวันออกกลาง ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีแน่นอน” นายธรรศพลฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เเผนฟื้นฟูกิจการได้รับความเห็นชอบจากศาล สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้วางกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโต คือ

การเพิ่มฝูงบินสร้างรายได้ ในปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ มีฝูงบินประจำการ 6 ลำ และจะเดินหน้าเพิ่มจำนวนเครื่องบินตามเเผนฟื้นฟูกิจการ อย่างน้อย 3-5 ลำ ภายในปี 2567 และ รวมเป็น 17 ลำ ภายในปี 2571 ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์มีฝูงบินขนาดใหญ่พร้อมขยายเส้นทางและสร้างเครือข่ายการบินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ณ ฐานการบินหลักที่สนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจคาร์โก้

การลดต้นทุนการดำเนินงาน โดยการเจรจาปรับโครงสร้างสัญญาเช่าเครื่องบิน เเละสัญญาบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้เหมาะสม

การบริหารจัดการหนี้ที่มีประสิทธิภาพ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะทยอยชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งรวมไปถึงการคืนเงินให้กับผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินช่วงโควิด-19 โดยจะทยอยคืนเงินให้ตามคิวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับเเผนธุรกิจที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารที่ประสงค์จะเปลี่ยนการรับข้อเสนอจากรับเงินคืน (Refund) เป็นรับมูลค่าบัตรโดยสารสะสม (Travel Voucher) สามารถทำได้ทันที โดยใช้วงเงินเดินทางกับสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ (รหัสเที่ยวบิน XJ) สู่เส้นทางหลากหลาย ทั้งประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย เเละจีน โดยผู้โดยสารสามารถอีเมล์มาเพื่อยื่นความจำนงในการรับบัตรโดยสารสะสมได้ที่ [email protected]

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า “ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของสายการบินไทยแอร์เอเชีย (รหัสเที่ยวบิน FD) และ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) เนื่องจากเป็นคนละบริษัท คนละสายการบิน ที่มีการบริหารงานแยกจากกันชัดเจน และมีเส้นทางบินที่ไม่ทับซ้อนกัน

‘เอ็มวีทีวี’ จับมือ ‘วอร์เนอร์ฯ’ ทุ่ม 200 ล้าน ซื้อช่อง ‘บูมเมอแรง’ ลั่น!! ขอยกให้เป็นของขวัญแก่เด็กไทย ได้ดูการ์ตูนในดวงใจฟรี!!

(31 ส.ค. 66) ‘บริษัท เอ็มวีทีวี ไทยแลนด์’ และ ‘วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ดิสคัฟเวอรี’ ได้ประกาศความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อเปิดช่องบูมเมอแรงต่อ โดยการทุ่มงบก้อนใหญ่ซื้อลิขสิทธิ์ช่องบูมเมอแรง เป็นของขวัญให้เด็กไทย และยังคงดำเนินกิจการดูแลคอนเทนต์และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของช่อง ให้แฟน ๆ ได้ชมกันอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 เป็นต้นไป

ซึ่งจะมีการนำการ์ตูนเรื่องใหม่ ๆ ที่ได้รับลิขสิทธิ์มาจาก ‘การ์ตูนเน็ตเวิร์ค’ และ ‘วอร์เนอร์ บราเธอร์ส’ เข้ามาให้ได้ชมกัน เช่น แบทวีล, บักส์บันนี่ บิวเดอร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ส่วนการ์ตูนที่เป็นหลักของช่อง เช่น พาวเวอร์พัฟเกิร์ล, จัสติส ลีก แอ็คชั่น, สกูบี้ดู, ทีน ไททัน โก, เบนเทน, ทอมแอนด์เจอร์รี่ ในนิวยอร์ก, และ วีแบร์แบร์ สามหมีจอมป่วน จะยังคงมีฉายเหมือนเดิมที่ช่องบูมเมอแรง หมายเลข 89

คุณวรวุฒิ ทวีปวรเดช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มวีทีวี ไทยแลนด์ จำกัด ได้กล่าวว่า “ภารกิจของเราที่เข้ามาดูแลช่องนี้ก็เพื่อจะมอบเป็นของขวัญให้กับเด็กไทย เพราะกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา มีเด็กหลายรุ่นมากที่โตขึ้นมาพร้อม ๆ กับการดูช่องบูมเมอแรง และบูมเมอแรงก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำต่าง ๆ ของคนทุกวัย ด้วยตัวคอนเทนต์ของช่องก็ได้สร้างความสุขให้กับคนในครอบครัว พวกเราจึงเล็งเห็นว่าควรที่จะทำช่องนี้และให้ออกอากาศต่อไป พร้อมทั้งจะมีกิจกรรม อีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสสำหรับผู้ชมและลูกค้าโฆษณาแบรนด์ต่าง ๆ อีกด้วยเช่นกัน”

‘ช่องบูมเมอแรง’ เป็นช่องอันดับ 1 ในกลุ่มเด็กและครอบครัวของช่องทีวีทั้งหมด และยังเป็น อันดับ 1 (4+) ของกลุ่มช่องเคเบิ้ลดาวเทียม มีผู้ชมเข้าถึงมากกว่า 13 ล้านคนดูในทุก ๆ เดือน

‘อลงกรณ์’ ลุยตรวจตลาดจีน เร่งแก้ปัญหาหนอนเจาะทุเรียน ปลื้ม!! ยอดส่งออกผลไม้ไทยพุ่ง สะท้อนความเชื่อมั่นในคุณภาพ

(31 ส.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้แห่งชาติ (ฟรุ้ทบอร์ด) พร้อมด้วย นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด และนายณฐกร สุวรรณธาดา คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ รวมทั้งนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ลงพื้นที่ตรวจทุเรียนที่ตลาดเชียงหนานในเมืองกว่างโจว

กรณีเกิดปัญหาหนอนเจาะทุเรียน กระทบการส่งออกทุเรียนไทย จากนั้นได้ร่วมประชุมหารือกับผู้ประกอบการค้าของจีนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการตรวจตลาดเชียงหนานและพบหารือประเมินสถานการณ์ การแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียนกับผู้ประกอบการจีนว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ด ได้สั่งการเร่งแก้ไขปัญหาทันทีที่เริ่มมีรายงานการตรวจพบหนอนเจาะทุเรียน ที่ด่านตรวจโรงพืชเช่นด่านโหยวอี้กวนที่พรมแดนเวียดนาม-จีน และด่านโมฮ่านที่พรมแดนลาว-จีน เป็นต้น รวมทั้งมีผู้ประกอบการค้าทุเรียนของจีน ได้รับการร้องเรียนจากลูกค้าตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งการจัดการปัญหาที่สวน และผู้ประกอบการค้าส่งออก โดยเน้นนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในระดับพื้นที่ เช่น ทุเรียนในจังหวัดยะลา

ทั้งนี้ มีกลไกระดับจังหวัดคือคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักบริหารจัดการมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน โดยการสนับสนุนของกรมวิชาการและกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะฝ่ายเลขานุการของฟรุ้ทบอร์ด ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังมอบหมายกงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจําสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความมั่นใจกับผู้ประกอบการและผู้บริโภคชาวจีน ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาหนอนเจาะทุเรียน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยที่ครองใจ ครองตลาดจีนอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน โดยผู้ประกอบการจีนที่ตลาดเชียงหนาน ซึ่งเป็นตลาดผลไม้ใหญ่ที่สุดในมณฑลกว่างตุ้งและภาคตะวันออกของจีน แสดงความชื่นชมต่อการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วของทางการไทย

นายอลงกรณ์ยังแสดงความพอใจ ต่อรายงานการส่งออกผลไม้และทุเรียนผลสด ที่ยังครองแชมป์ในตลาดจีน โดยกล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีนครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น คิดเป็นปริมาณรวมกว่า 1.1 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

สำหรับการส่งออกทุเรียนไปจีนครึ่งปีแรก มีปริมาณกว่า 6 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท

‘EA’ คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence Award’ จาก ‘APEA 2023’ ตอกย้ำ ‘ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด’

EA ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด คว้ารางวัลใหญ่ ‘Corporate Excellence’ Category-Energy ในเวทีระดับสากล Asia Pacific Enterprise Awards (APEA) แห่งปี 2023 เชิดชูเกียรติกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ ในฐานะองค์กรที่เป็นเลิศด้านการบริหารงานและสร้างการเติบโตทางธุรกิจด้วยนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง จัดโดย Enterprise Asia Enterprise Asia ซึ่งได้คัดเลือกองค์กรที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนทั่วภูมิภาคเอเชีย

นายวสุ กลมเกลี้ยง Executive Vice President บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า EA มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้านพลังงานสะอาด ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยรางวัล Corporate Excellence Award APEA 2023 เป็นอีกหนึ่งรางวัล สะท้อนถึงการที่บริษัทฯ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการองค์กรที่ดีเลิศ มีพัฒนาองค์กรการเติบโตที่มั่นคงแข็งแกร่งและยั่งยืน การันตีความสำเร็จของกลุ่ม EA จากการขับเคลื่อนองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีพัฒนานวัตกรรมด้วยฝีมือคนไทยในด้านพลังงานสะอาด สู่เวทีระดับสากล

โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้น มีรากฐานจากกลยุทธ์การบริหารธุรกิจแบบ ‘Green Produt’ เพื่อประโยชน์ต่อสังคมที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมในทุกมิติด้านพลังงานสะอาด ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ที่มีการวิจัยและพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันสู่ผลิตภัณฑ์ Biodiesel, Glycerin, Green Diesel และ Bio-PCM ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานจากลม (Wind) และแสงอาทิตย์ (Solar) กำลังการผลิต 664 เมกะวัตต์ (MW) ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจที่จะยกระดับนวัตกรรมฝีมือถือคนไทยสู่ระดับนานาชาติ 

โดย EA มุ่งมั่นสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร โดยมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กำลังผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ที่มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ต่อยอดสู่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ครบวงจรกำลังผลิตสูงสุดที่ 9,000 คันต่อปี อีกทั้งธุรกิจสถานีอัดประจุไฟฟ้า EA Anywhere มีสถานีชาร์จไฟฟ้าให้บริการทั่วประเทศกว่า 500 สถานี หรือกว่า 2,500 หัวชาร์จ ทั้งยังมีอาคารจอดรถ ‘รามาธิบดี-พลังงานบริสุทธิ์’ อาคารต้นแบบด้านการจัดการพลังงานสำหรับการชาร์จแห่งแรก ที่มีหัวชาร์จมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้ EA ยังเดินหน้าพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง ทั้งหัวรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (EV on Train) ซึ่งสามารถเพิ่มตู้แบตเตอรี่แยก (Power Car)  เพิ่มระยะทางการวิ่งรวมแบตเตอรี่ขนาด 4.1 MWh วิ่งได้ระยะกว่า 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ พร้อมมีการพัฒนาสถานีชาร์จขนาดใหญ่แห่งแรกของโลก 

“EA พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม สร้าง Champion Product : Commercial EV ยกระดับขนส่งสาธารณะให้มีความสะดวก สบายและทันสมัย ทั้ง รถ-เรือ-ราง ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และด้วยกลยุทธ์บริหารธุรกิจ EA Ecosystem จะเป็นกุญแจสำคัญให้อุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ได้เติบโตพร้อมกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานสะอาด สร้างโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมให้ประเทศ ด้วยผลงานนวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ภาคภูมิใจ” นายวสุกล่าวทิ้งท้าย

JKN ส่อผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ 443 ล้านบาท เตรียมขอผ่อนผันชำระ หลังครบกำหนด 1 ก.ย.นี้

JKN เผยไม่สามารถหาแหล่งเงินชำระเงินต้นและดอกเบี้ย หุ้นกู้ รุ่น JKN239A มูลค่า 609 ล้านบาท แต่มียอดค้างชำระ 443 ล้านบาท ครบกำหนด 1 ก.ย.นี้ จ่อเปิดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ 29 ก.ย.นี้ ขอมติผ่อนผันจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ย ป้องกันปัญหาผิดนัดชำระหุ้นกู้รุ่นอื่นๆ ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ

บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)ว่า ตามที่หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2566 (หุ้นกู้รุ่น JKN239A) ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ในวันที่ 1 กันยายน 2566 จำนวนเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งสิ้น 609,981,369.6 บาท 

อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่สามารถชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ดังกล่าวได้โดยบริษัทจะชำระเงินต้นบางส่วนจำนวน 146,618,630.14 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 9,981,369.86 บาท รวม156,600,000 บาท ในวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (1 กันยายน 2566) โดยคงเหลือยอดค้างชำระจำนวน443,400,000 บาท 

จึงไม่เป็นไปตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ สำหรับ หุ้นกู้ของบริษัท เจเคเอ็นโกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 2/2563 ครบกำหนดไถ่ ถอนปี 2566 ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิไถ่ถอนก่อนครบกำหนดไถ่ถอน ภายใต้โครงการตราสารหนี้ (Medium Term NoteProgram)  ปี พ.ศ. 2563 วงเงินหุ้นกู้ทั้งสิ้นไม่เกิน 2,500,000,000 บาท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง (Revolving Basis) (ซึ่งรวมถึงการเพิ่มวงเงินเสนอขาย (ถ้ามี) ที่ได้มีการเปิดเผยเพิ่มเติมในแบบ 69-Supplement) (ข้อกำหนดสิทธิ)

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวข้างตัน ส่งผลให้บริษัทจะต้องมีการดำเนินการตามที่กำหนดในข้อกำหนดสิทธิก่อน ได้แก่ (1) ผู้ออกหุ้นกู้ได้รับการร้องขอเป็นหนังสือจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่ารายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นกู้หรือถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอนทั้งหมด หรือ (2) มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ให้ถือว่าบริษัทตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และให้หุ้นกู้ถึงกำหนดชำระโดยพลันในการนี้ 

บริษัทได้จัดเตรียมแผนการชำระหนี้ตามหุ้นกู้รุน JKN239A โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ที่คาดว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 29 กันยายน 2566 ต่อไป เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้พิจารณาอนุมัติ (1) แผนการชำระเงินตัน และดอกเบี้ยหุ้นกู้การแก้ไขเปลี่ยนปลงข้อกำหนดสิทธิ รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และ (2) การขอผ่อนผันให้การผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ถือเป็นเหตุผิดนัดตามข้อกำหนดสิทธิ และ ไม่เรียกชำระหนี้ตามหุ้นกู้โดยพลัน(Call Default) หากได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ บริษัทเชื่อมั่นว่า บริษัทจะสามารถเสนอเงื่อนไขในการชำระเงินตันและดอกเบี้ยตามแผนที่กำหนดไว้ได้

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจถึงการผิดนัดชำระเงินต้น ดังกล่าว โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้พิจารณาสรรหาแหล่งเงินทุนหลากหลายวิธีการ อย่างไรก็ตาม การเจรจากับผู้ร่วมทุนของบริษัทไม่เป็นไปตามที่บริษัทคาดหวัง ในการนี้บริษัทยืนยันและรับรองว่า บริษัทมีความตั้งใจและขอให้ความเชื่อมั่นว่าบริษัทมีเจตนาที่จะชำระคืนเงินดัน และดอกเบี้ยทั้งหมดของหุ้นกู้รุ่น JKN239A รวมถึงหุ้นกู้ใด ๆ ของบริษัททั้งหมด โดยบริษัทจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

‘ปาริน นาคเสน’ ชี้ ธุรกิจสตาร์ตอัปไทยรอวันเจ๊ง เหตุหาเงินทุนหนุนยาก หลัง Investor เริ่มไม่เชื่อมั่น

ปาริน นาคเสน CEO & Founder OneDee.ai โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า "สิ้นสุดยุค Startup เมื่อ Startup หมดมนต์ขลัง"... ถามว่าทุกวันนี้ หลายคนยังเชื่อในคำว่า Startup อยู่ไหมนะ? ด้วยกระแสที่ผู้ก่อตั้ง Startup ระดับโลกเป็นข่าวเรื่องหลอกลวงอย่าง Theranos และอีกหลายๆ เจ้าในระดับโลก แต่ในไทย กลับไม่เป็นข่าว กลายเป็นแค่เรื่องซุบซิบนินทา กันเฉพาะคนวงใน กันบางกลุ่มแค่นั้น .. 

ถามว่า Startup เป็นเรื่องหลอกลวงหรือไม่ .. โดยหลักการแล้วมันไม่ใช่เรื่องหลอกลวง มันมีแนวคิดที่ดี วิธีการที่ดี แต่ตัวคนต่างหาก ที่เอากระแสมาใช้ประโยชน์จนมันฉิบหายเป็นโดมิโนกันอยู่ทุกวันนี้ .. เอาเป็นว่า สรุปความฉิบหาย กันเป็นเรื่องๆ ละกัน

จุดเริ่มต้นจากนักเรียนนอก มาเผยแพร่ Startup ในไทยจากเด็กจบนอกไปทำงานบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ ออกมาทำ Startup ในอเมริกา เจ๊งภายใน 3 เดือน ซมซานกลับมาเมืองไทย เป็นผู้บุกเบิก Startup ในไทย ทุกคนชื่นชมเป็นกูรู กูรู้ ประหนึ่ง เคยทำ Startup สำเร็จมาก่อน ... สร้าง Community และมีสื่อที่เป็น Connection ในมือ แม้แต่ผมก็อดชื่นชม ติดตามไปด้วย จริงๆ ก็น่าชื่นชมนะครับ เพราะก็ช่วยให้หลายๆ คนลืมตาอ้าปากได้ รวมถึงผมด้วย แต่แค่กระดุมเม็ดแรกก็ไม่น่ารอดแล้ว สุดท้ายก็เป็นการ Leverage จาก Connection กันเอง สื่อพวกเดียวกัน ก็ยกหางกันเอง

คำว่าการลงทุน Startup ต้องดูที่ Founder!!! ซึ่งมันก็จริง แต่สำหรับเมืองไทยคือ มรึงลูกใคร.. บ้านรวยไหม มีชื่อเสียงหรือป่าว อยู่ค่ายไหน มันทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect (ไปหาอ่านกันเอาเอง ) เอาสั้นๆ ก็คือเกิดความลำเอียงในใจนั้นแหละ ประเภทเขาหน้าตาดี ชาติตระกูลดี คนรู้จักเยอะ น่าจะเก่ง แล้วก็จบลงด้วยคำพูดหล่อๆ ว่า เราลงทุนเพราะ Founder ครับ เอาจริงๆ คือเพราะก็แค่ พวกเดียวกัน ช่วยกันต่อยอดก็แค่นั้นแหละ สาสสส.. 

ถามว่าทุกวันนี้ ชั้นแนวหน้าที่บอกว่าเป็น Idol startup อยู่ไหนกันหมดล่ะ แมร่งก็โดดออกกันไปหมดแล้ว เอาชื่อเสียงต่อยอด ไปเป็นผู้บริหาร Corporate ยักษ์ใหญ่บ้างล่ะ แม้แต่ระดับ Idol startup ไทย แตกบริษัทแล้ว แตกบริษัทอีก ยอดขายยังแพ้ SME ที่ทุกวันนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ไปแล้วอย่างเช่น MEB ... แต่กับ Startup Idol ได้รับเงินลงทุนหลายร้อยล้าน ไปอยู่ไหนกันหมดล่ะ?

สื่อ Startup ในไทยก็ขยัน "making stupid people famous" กันจัง เพียงเพราะก็สนิทชิดเชื้อกันเอง สรุปในไทยอาจจะใช้ Connection กันพร่ำเพรื่อเกินไป จนมองข้าม Skill จริงๆ กันไป โดยที่พวกเขาก็ไม่รู้ตัวกันเท่าไหร่ เพราะ Halo effect ยิ่งเป็นคนฉลาด ยิ่งสามารถหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองจนปฏิเสธไม่ได้นั่นแหละ

เรื่องต่อมา แนวคิดการทำธุรกิจในไทย ที่คิดว่า มีเงินทำได้ทุกอย่าง และต้องการควบคุมความเป็นเจ้าของสูง ผมได้ยินคำ ๆ นึงจนอยากจะอ๊วก คือ แอพแค่นี้ พี่ไปจ้างโปรแกรมเมอร์ แค่ สามสี่แสน ก็ได้แล้ว ไม่เห็นต้องลงทุนกับน้องเลย หรือบริษัทพี่มี Dev เป็นร้อย ทำเองก็ได้... ผมก็ได้นึกในใจว่า แล้วที่ผ่านมา .. พวกมรึงทำเหี้ยไรกันอยู่อะ?.. แล้วสุดท้ายผ่านไปเป็นปี กูก็ไม่เห็น Corporate ที่ว่า ทำเสร็จนะ มี Dev เป็นร้อยไอ้สัส..

หรือคำพูดแบบว่า เนี่ย พี่เคยลงทุนกับ Startup แล้ว คนนั้นคนนี้ แนะนำมา ไม่เห็นได้เรื่องได้ราวอะไร มันก็วนกลับมาเรื่องเดิม ใคร? แนะนำพี่อะ กลุ่มไหน สุดท้ายก็กลุ่มข้างบนนั่นแหละ ก๊วนเดียวกัน พวกเดียวกัน หลอกแดกเงิน Investor ล๊อตแรกกันจนอิ่ม... ได้กันเป็น สิบล้านร้อยล้าน ทำห่าไรไม่ได้สักอย่าง.. ผลมันก็มาตกกับรุ่นหลังๆ ก็จะเจอคำว่า เมื่อก่อนพี่เคยลงทีเดียว เป็นสิบๆ ล้าน เด่วนี้พี่ไม่เชื่อละ อะ ลงล้านเดียวพอนะ ไปทำมาให้ Success นะน้อง เดฟแอพยังไม่เสร็จดี ค่า Marketing ไม่ต้องพูดถึง ไม่พอแดกหรอก..

ธุรกิจแบบ Startup สุดท้ายมันก็กึ่งๆ เป็น Money game ที่อาศัยปัจจัยทั้งด้านนวัตกรรม และการทุ่มตลาด การที่ระดมทุนไม่ได้มากพอ มันก็เหมือนเบี้ยหัวแตก การได้เงินไม่มากพอ ในการแข่งขันที่สูง ก็ยากละที่จะเดินในวิถี Startup ยิ่งช่วงหลังๆ Corporate ต่างๆ ก็เอาเงินไปจ้าง Dev เป็นร้อยมาวิ่งเล่นในออฟฟิศ กูจะจ้างคนละเจ็ดแปดหมื่นอะ ทำไมอะ กูรวย

CVC คือความฉิบหายของ Startup ไทย.. เอาพนักงานประจำที่ไม่เคยทำธุรกิจห่าอะไร มาตัดสินอนาคตธุรกิจ Startup มันจะได้อะไรไหมอะ? ความจริงใจของ CVC ไทยที่ลงทุนแค่จะเอาหน้า หรือแค่ต้องการซื้อตัว Dev ไปเป็นลูกจ้าง ส่วน Product ก็เอาไปเผาทิ้ง ถามว่า ทุกวันนี้มี CVC ไหนในไทยยัง Active อยู่เหรอ บาง CVC ถึงขนาดเอาเงินมาจ้าง Dev เอง แล้วบอก Dev จะเอาแบบ Startup เจ้านั้นเจ้านี้ แล้วก็บอก กูเป็น Incubator 

รวมถึงนักลงทุนที่ตั้งตัวเป็น Investor ออกข่าว ออกสื่อ แต่ผ่านไป 3 ปี ไม่เคยลงทุนห่าอะไร ตอบหล่อๆ ว่า พอดียังไม่เจอ Startup ที่ใช่ .. เอาจริงๆ มรึงว่าง... แค่จะเอาป้าย Investor มาแปะหน้า แล้วก็เดินหล่อๆ ในงาน ให้ Startup ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไร ไปยกมือไหว้ปะหลกๆ ทุกวันนี้หายไปไหนหมดอะ บางคนยังออกสื่อ เป็นไลฟ์โค้ชสบายๆ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยลงเหี้ยไรเลย งงไหมล่ะ

หลายคนบอกว่า Startup สมัยนี้ เน้นความยั่งยืน ต้องมีรายได้จริง ลูกค้าจริง ค่อยๆ โต... ... มรึง SME ไอ้สัส... 
ตอนต่อไป Startup หนีตาย ไปทำคริปโต เร็วกว่า แรงกว่า เชี่ยกว่า ทะลุนรก..


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top