‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! ปรากฏการณ์แปลก โลกเจอทั้งเงิน ‘เฟ้อ-ฝืด’ ตะวันตกเผชิญเงินเฟ้อต่อเนื่อง ส่วนจีนเสี่ยง 'วิกฤตเงินฝืด'

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เมื่อวันที่ 3 ก.ย.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ขณะนี้กำลังเกิดปรากฏการณ์แปลกที่โลกมีภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) และภาวะเงินฝืด (Deflation) เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน โดย เงินเฟ้อ และ เงินฝืด ต่างก็เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่กลับทิศกัน อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ยุโรป ที่เกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรงเมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ภายหลังจากคลายล็อกดาวน์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าโภคภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างรุนแรง 

โดยอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และยุโรปหลายประเทศพุ่งสูงกว่า 10% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องใช้นโยบายการเงินเข้มงวดและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรุนแรงและรวดเร็วอย่างไม่มีมาก่อน ลามมาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยที่ก็จำต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นจาก 0.5 % เป็น 2.25% ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะปรับเป็น 2.5% อีกครั้งเร็วๆ นี้

ในทางตรงกันข้าม จีน ก็กำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด (Deflation) ครั้งใหญ่ และอาจเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์หลังจีนเปิดประเทศกว่า 40 ปีมาแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วภาวะเงินฝืดมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังวิกฤตหนี้และวิกฤตทรัพย์สิน ซึ่งแน่นอนว่าตอนนี้ตัวแปรอยู่ที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน หลังเกิดภาวะฟองสบู่มาหลายปี และเอาเข้าจริงฟองสบู่ก็แตกก่อนการระบาดของโควิดเมื่อปี 2020 เสียอีก

นั่นก็เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เช่น การแทรกแซงธุรกิจ, การวางตัวเป็นศัตรูกับชาติตะวันตก ซ้ำด้วยการล็อกดาวน์ประเทศเป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปี เข้าไปอีก เหล่านี้ล้วนซ้ำเติมวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัวได้ในเร็วๆ นี้ และนั่นก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจีนติดลบและอาจจะติดลบต่อเนื่องไปอีกนานด้วยในเวลาเดียวกัน

ทีนี้หันมามองประเทศไทยในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้เอนเอียงและเชื่อมโยงกับจีนอย่างมีนัยสำคัญ โดยจีนเป็นทั้งคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ดังนั้นเหตุการณ์ในจีนย่อมก่อแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจแก่ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเตรียมสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ไทยตามรอยจีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืดและเศรษฐกิจถดถอย โดยการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Fiscal Stimulus) ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ควรจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้แล้ว เพราะขณะนี้อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงต่ำกว่า 1% และอาจจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ