สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 4-8 ก.ย. 66  จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 11-15 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซาอุดีอาระเบียประกาศขยายกรอบเวลาลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแบบสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 และรัสเซียขยายกรอบเวลาลดปริมาณการส่งออก 3 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมสิ้นสุดเดือน ก.ย. 66 เป็นเดือน ธ.ค. 66 ซึ่งก่อนหน้านี้ ตลาดคาดว่าทั้งสองประเทศจะขยายเวลาออกไปถึงเดือน ต.ค. 66

ความกังวลต่อวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีนเริ่มทุเลาลง หลังจากวันที่ 1 ก.ย. 66 ผู้ถือหุ้นกู้ Onshore Private Bond ของบริษัท Country Garden ที่ออกขายภายในประเทศและจำกัดเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ ลงมติเห็นชอบเลื่อนกำหนดชำระหนี้หุ้นกู้สกุลเงินหยวน มูลค่า 3.9 พันล้านหยวน (537 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยมีกำหนดให้ผ่อนจ่ายในระยะเวลา 3 ปี จากเดิมมีกำหนดจ่ายภายในวันที่ 2 ก.ย. 66 อีกทั้งบริษัท Country Garden สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่า 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 5 ก.ย. 66 ทันกำหนดระยะผ่อนผัน 30 วัน

วันที่ 10 ก.ย. 66 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (National Oil Corporation: NOC) ประกาศปิดท่าส่งออกน้ำมันจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ Ras Lanuf, Zueitina, Brega และ Es Sider กำลังการผลิตรวม 6.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็นเวลา 3 วัน หลัง Arab Regional Weather Center คาดการณ์พายุเฮอริเคน Daniel จะพัดจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียนสู่ลิเบียภายในวันที่ 12 ก.ย. 66 อนึ่ง ลิเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ติดตามพายุเฮอริเคน Lee และพายุโซนร้อน Margot ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกใกล้หรัฐฯ โดยศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติสหรัฐฯ (National Hurricane Center: NHC) คาดว่าพายุ Lee ซึ่งเป็นพายุเฮอริเคนระดับที่ 1 (ความเร็วลม 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะเพิ่มกำลังกลายเป็นเฮอริเคนระดับที่ 5 (ความเร็วลม 249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) และคาดว่าพายุ Margot จะยกระดับจากพายุโซนร้อนเป็นพายุเฮอริเคนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ พายุทั้งสองยังไม่มีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกในสหรัฐฯ ซึ่งมีการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 88-93 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล