‘S&P’ ผุดนิวโมเดลไซส์ย่อ เจาะปั๊ม ปตท. รับเทรนด์ ‘ซื้อกลับ-สั่งด่วน’ มาแรง

‘เอส แอนด์ พี’ ผุดสาขารูปแบบใหม่ นำร่องเจาะปั๊มน้ำมัน ปตท. 2 สาขาแรก เบเกอรี่ครบไลน์ อาหารเน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว เผยแผนทั้งปีนี้ลุยเปิดเบเกอรี่ช็อป 25 สาขา และร้านอาหาร 3 สาขา โชว์ครึ่งปีแรกรายได้รวมโต 12% ส่วนช่องทางนั่งทานในร้านพุ่ง 66%

(11 ก.ย.66) นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฎิบัติการธุรกิจเอสแอนด์พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ S&P เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวธุรกิจร้านโมเดลใหม่ ‘คอนเซ็ปท์ ฟุ้ด แอนด์ เบเกอรี่’ (Food and Bakery) ซึ่งเป็นร้านที่มีบริการทั้งเบเกอรี่ เครื่องดื่มครบไลน์ และบริการอาหารด้วย โดยเปิดสาขาแรกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. พระรามสี่ใกล้กล้วยน้ำไท พื้นที่ประมาณ 100ตารางเมตร เปิดบริการเมื่อประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา และเตรียมที่จะเปิดสาขาที่สองอีกที่ปั๊มน้ำมัน ปตท. วิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นปั๊มที่สร้างใหม่

“รูปแบบของสาขาโมเดลใหม่นี้ จะมีขนาดที่ไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่มีบริการเบเกอรี่เครื่องดื่มครบไลน์ ส่วนอาหารจะไม่ครบไลน์เหมือนร้านอาหารมาตรฐานเดิม จะเป็นลักษณะคล้ายนั่งทานอาหารหน้าเคาน์เตอร์บาร์ เน้นเมนูสะดวกรวดเร็ว และเน้นเทคอะเวย์กับเดลิเวอรีด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ได้ผูกติดเฉพาะกับปั๊มน้ำมันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำเลและขนาดพื้นที่ที่มีความเหมาะสมหรือไม่” นายอรรถ กล่าว

ทั้งนี้ การเปิดตัวร้านรูปแบบใหม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ โดยปีนี้วางแผนที่จะเปิด ร้านเบเกอรี่ช็อป ประมาณ 25 สาขา ลงทุนเฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อสาขา เปิดไปแล้ว 15 สาขา และจะเปิดอีก 10 สาขาต่อถึงสิ้นปีนี้ ส่วนร้านอาหาร ลงทุนเฉลี่ย 8-10 ล้านบาทต่อสาขา ซึ่งจะเปิดเล็กลงประมาณ 150 ตารางเมตร จากเดิมเฉลี่ยมากกว่า 200 ตารางเมตร จะเปิดปีนี้ 3 สาขา โดยเปิดไปแล้วที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเตรียมจะเปิดอีกที่โรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข และอีกแห่งจะเปิดในเครือข่ายค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัลสาขา

ปัจจุบัน บริษัทฯ มีเครือข่ายร้านค้ารวม 437 สาขา โดยแบ่งเป็น ร้านเบเกอรี 300 สาขา และร้านอาหาร 137 สาขา อีกทั้งยังไม่ได้นับรวม ร้านเดลโก้ ที่่เป็นจุดบริการเดลิเวอรีโดยเฉพาะ อีก 33 สาขา ซึ่งก็ยังคงมีการเติบโตที่ดีแต่อาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วงโควิด-19ระบาดหนัก ที่ความต้องการเดลิเวอรีสูงมาก ส่วนแผนการรีโนเวทร้านเดิมก็ยังมีต่อเนื่อง ซึ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่โควิดระบาด มีการรีโนเวทไปมากกว่า 100 สาขาแล้ว ใช้งบไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ส่วนปีที่แล้วเปิดร้านใหม่ประมาณ 35 สาขา

นายอรรถ กล่าวต่อว่า บรรยากาศการจับจ่ายในภาพรวมขณะนี้ ถือว่าในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑลกลับมาดีมากขึ้นแล้ว ขณะที่ในตลาดต่างจังหวัดยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควร เพราะกำลังซื้อลดลง แต่คาดว่าจากนี้น่าจะดีขึ้นบ้างจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่มีรัฐบาลชุดใหม่แล้ว

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นไปในทิศทางที่ดี มีการเติบโตที่ดี โดยในไตรมาสที่2ปี2566 รายได้รวมทั้งกลุ่ม 1,457 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156 ล้านบาท หรือเติบโต 12% จากไตรมาสสองปีที่แล้ว ส่วนกำไรมีประมาณ 89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6 ล้านบาท

ส่วนช่วงครึ่งปีแรกพบว่า มีรายได้รวมทั้งกลุ่ม 2,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 350 บาท หรือเติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และมีกำไรสุทธิครึ่งปีแรกที่ 194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท เติบโต 14% โดยสัดส่วนรายได้หลักกว่า 80% มาจากร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ ในประเทศ ส่วนอีก 20% มาจากกลุ่มรีเทลฟู้ดกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ ครึ่งปีแรกพบว่า รายได้จากช่องทางร้านอาหารนั่งทานในร้านเติบโตมากถึง 66% ช่องทางเทคอะเวย์ เติบโต 7% และช่องทางเดลิเวอรี เติบโต 5% สาเหตุหลักที่นั่งทานในร้านเติบโตมากเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคกลับมาทานอาหารในร้านมากขึ้นแล้ว รวมทั้งกลยุทธ์ตลาดที่บริษัทฯ ทำด้วยในช่องทางร้านอาหาร เช่น ช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน จัดเทศกาลเมนูข้าวแช่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก เดือนพฤษภาคมเริ่ม แคมเปญฉลอง 50 ปี 50 เมนู ซึ่งกิจการจะครบ 50 ปีในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ล่าสุดเทศกาลขนมไหว้พระจันทร์ ซึ่งปีนี้เปิดตัว 2 รสชาติใหม่คือ ใส้เกาลัดและชาอู่หลง ใส้บัวมันม่วง พร้อมโปรโมชั่นมากมาย

“ปีนี้คาดว่ารายได้รวมน่าจะเติบโต 15% ซึ่งขณะนี้รายได้รวมกลับไปถึงปี 2562 แล้วประมาณ 80% และคาดว่าปีหน้าน่าจะกลับคืนมา 100% ได้แน่นอน” นายอรรถ กล่าว