Saturday, 10 May 2025
ECONBIZ NEWS

'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กบง.ไฟเขียวพยุงราคาขายปลีก NGV 3 เดือน หลังมองเกม!! ราคาก๊าซธรรมชาติช่วงปลายปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

เมื่อวานนี้ (31 ก.ค.67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า

ที่ประชุม กบง. ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566

โดยในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม - 15 ตุลาคม 2567 โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด

โดยมีการทบทวนและปรับหลักการสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้น ให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง จำนวน 22 โครงการ ทำให้โครงการต้องชะลอการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ไปพิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร

ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 30-40% (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

'รัดเกล้า' เผย!! ไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม AALCO สมัยที่ 62 เล็งยก 'กฎหมายทะเล-การค้าระหว่างประเทศ' ขึ้นถกเพื่อประโยชน์ไทย

(1 ส.ค.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีขององค์การที่ปรึกษากฎหมายแห่งเอเชียและแอฟริกา (Asian - African Legal Consultative Organization: AALCO) (การประชุมประจำปีของ AALCO) สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567

รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า AALCO ตั้งขึ้นเมื่อปี 2499 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจากทวีปเอเชียและแอฟริกา รวม 48 ประเทศ โดยสำนักงานเลขาธิการของ AALCO ตั้งอยู่ ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มประเทศเอเชียและแอฟริกามีบทบาทในการประมวลและพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันพัฒนาการดังกล่าวให้สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศในเอเชียและแอฟริกา การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นเวทีที่ประเทศสมาชิกจะอภิปรายแสดงความเห็นและท่าทีในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการในกรอบคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission: ILC) และคณะกรรมการ 6 (กฎหมาย) ของสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทย ในฐานะสมาชิกของ AALCO ได้ใช้เวทีดังกล่าวในการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศ และผลักดันท่าทีประเทศไทยในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญเพื่อให้พัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับท่าทีและผลประโยชน์ของประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ในทวีปเอเชียและแอฟริกา

การประชุมประจำปีของ AALCO เป็นการประชุมที่มีหัวหน้าคณะระดับรัฐมนตรี โดยมีกำหนดจัดการประชุมในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของทุกปีก่อนการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (United Nations General Assembly: UNGA) โดยในการประชุมประจำปี AALCO สมัยที่ 61 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย ที่ประชุมเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี ของ AALCO ในสมัยที่ 62 โดย กต. เสนอให้จัดการประชุมประจำปี สมัยที่ 62 ระหว่างวันที่ 8 - 13 กันยายน 2567 โดยไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของ AALCO มาแล้ว 2 สมัย ได้แก่ สมัยที่ 8 เมื่อปี 2509 และสมัยที่ 26 เมื่อปี 2530

ทั้งนี้ AALCO ครั้งที่ 62 จะมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือเทียบเท่าจากหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านกฎหมายระหว่างประเทศของประเทศสมาชิก ผู้แทนประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากสาขาต่าง ๆ และผู้แทนจากหน่วยงานของประเทศไทย รวมทั้งสิ้นประมาณ 250 - 300 คน โดยประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา อาทิ เรื่องกฎหมายทะเล และกฎหมายการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ เป็นต้น

‘ปชช.’ แห่ลงทะเบียน 'ทางรัฐ' รับสิทธิเงินดิจิทัล จนขึ้นเทรนด์ X หลายรายโอด!! แอปฯ ‘ค้าง-เด้งออก’ หลังเปิดให้กรอกมา 1 ชม.

(1 ส.ค. 67) วันนี้เป็นวันแรกของการเปิดให้ลงทะเบียนยืนยันรับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ซึ่งประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก โดยแฮชแท็ก #แอปทางรัฐขึ้นอันดับ 1 เทรนด์แอปพลิเคชัน X รวมถึง #ดิจิทัลวอลเล็ต ก็อยู่อันดับต้น ๆ เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดลงทะเบียนมาประมาณ 1 ชั่วโมง เริ่มมีหลายรายบ่นว่า แอปทางรัฐมีอาการค้าง หรือบางรายก็ล็อกอินเข้าระบบแล้วก็เด้งออก รวมถึงบางรายก็ได้รับข้อความ แจ้งขออภัย เนื่องจากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก แต่บางคนก็สามารถลงทะเบียนได้

ด้าน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลมีการให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอีเอส และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ตั้งวอร์รูม รองรับการแก้ไขปัญหาการลงทะเบียนที่อาจไม่คาดหมายที่จะเกิดขึ้น และหากประชาชนมีข้อสงสัย หรือติดปัญหาใด สามารถติดต่อ Call Center ได้ที่หมายเลข 1111

‘ธอส.’ ออกมาตรการช่วยเหลือ ‘ลูกหนี้’ รักษาบ้านของตนเอง ปรับดอกเบี้ยเหลือ 3.55% ต่อปี-ขยายเวลาผ่อนชำระนาน 2 ปี

(31 ก.ค. 67) นายกมลภพ วีระพละ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส.ได้จัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกค้านานสูงสุด 2 ปี จำนวน 2 มาตรการ ประกอบด้วย

>> 1. มาตรการช่วยเหลือ ‘DC1’ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ SM, ลูกค้าสถานะ NPL และลูกหนี้สถานะมีโจทก์นอก ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี 

สามารถผ่อนชำระเงินงวดที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 3.55% ต่อปี และ +100 บาท เป็นระยะเวลา 2 ปี กรณีลูกค้าชำระเกินกว่าที่ธนาคารกำหนด ให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี)

>> 2. มาตรการช่วยเหลือ ‘DC2’ สำหรับกลุ่มลูกค้าสถานะ NPL และลูกหนี้สถานะมีโจทก์นอก ที่กู้เงินกับธนาคารมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ย 4 เดือนแรก 0% ต่อปี 

โดยผ่อนชำระเงินงวดเพียง 1,000 บาทต่อเดือน, เดือนที่ 5-8 ผ่อนชำระเงินงวดที่คำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 1.90% เพียง 50% และ +100 บาท และเดือนที่ 9-12 ผ่อนชำระเงินงวดคำนวณจากอัตราดอกเบี้ยที่ 3.90% เพียง 50% และ +100 บาท 

กรณีลูกค้าชำระเกินที่ธนาคารกำหนดให้นำไปตัดดอกเบี้ยค้างชำระ (หากมี) ทั้งนี้ ดอกเบี้ย 50% ของงวดที่ 5-12 ธนาคารจะพักชำระไว้ เมื่อลูกค้าผ่อนชำระครบตามเงื่อนไขจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ย 50% ช่วงที่อยู่ในมาตรการ

“การจัดทำมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของ ธอส. ในภาวะที่ลูกค้าได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือลูกค้าให้ได้มีบ้านเป็นของตนเองแล้ว ยังช่วยลูกค้ารักษาบ้านของตนเองได้ต่อไป ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดนี้ ในภาพรวมจะส่งผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ขยายตัวดีขึ้นตามไปด้วย” 

สำหรับลูกค้าที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการข้างต้น สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ผ่านทาง Application : GHB ALL BFRIEND โดยลูกค้าจะต้อง Upload หลักฐานยืนยันการได้รับผลกระทบทางรายได้เพื่อให้ธนาคารพิจารณาด้วย 

‘NETA’ หั่นราคา NETA V รุ่นแรก เหลือ!! 399,000 บาท พร้อมฟรีประกันภัยชั้น 1 - Wallbox พิกัดศูนย์ย่านนนทบุรี

(31 ก.ค.67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ‘ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า’ สะเทือนอีก เมื่อโลกออนไลน์เปิดเผยว่า ค่ายรถยนต์ EV ดังอย่างเนต้า (NETA) เตรียมลดราคาจำหน่าย เนต้า วี (NETA V) และ เนต้า วี-ทู (NETA V-II) จากเดิมลงไป 110,000-120,000 บาท

โดย NETA V รุ่น LITE จะลดราคาลงจากเดิม 120,000 บาท ทำให้ราคาขาย 549,000 บาท ลดราคาลงมาเหลือ 429,000 บาท ส่วน NETA V-II SMART จะลดราคาลง 110,000 บาท จากเดิม 569,000 บาท ทำให้ราคาลงไปอยู่ที่ 459,000 บาท

นอกจากนี้ NETA ลดราคา NETA V รุ่นแรก เหลือเพียง 399,000 บาทเท่านั้น โดยภาพดังกล่าว เป็นศูนย์ที่อยู่ย่านนนทบุรี ถือเป็นล็อตสุดท้ายราคาใหม่ ฟรีประกันภัยชั้น 1 และฟรี Wallbox อีกด้วย

‘OR’ ผนึกกำลัง ‘บาชุนดารา กรุ๊ป’ ขยายธุรกิจ ‘Café Amazon’ ในบังกลาเทศ ตั้งเป้าเปิดสาขาแรกไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมวางแผนต้องมีอย่างน้อย 100 สาขา

(31 ก.ค.67) นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และนายอาห์เมด อัคบาร์ โซบาน (Ahmed Akbar Sobhan) ประธานกรรมการ บาชุนดารา กรุ๊ป (Chairman of Bashundhara Group) ร่วมลงนามสัญญาการมอบสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ (Master Franchise) คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศบังกลาเทศอย่างเป็นทางการ โดยมี นายพสุศิษฏ์ วงศ์สุรวัฒน์ อัครราชทูต ณ กรุงไคโร ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ณ กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ และ นายโมฮัมหมัด มาซูมูร์ ราฮามาน (Mr. Md. Masumur Rahaman) อัครราชทูตที่ปรึกษา (Counsellor and Head of Chancery) สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ ประจำประเทศไทย ร่วมเป็นเกียรติในพิธี ณ ห้องกรุงเทพ 1 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร โดยวางแผนจะเปิดคาเฟ่ อเมซอน สาขาแรกภายในไตรมาส 4 ของปี 2567 และมีเป้าหมายเปิดร้านอย่างน้อย 100 สาขาต่อไป

โดยนายดิษทัต เปิดเผยว่า ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขยายธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน สู่ตลาดบังกลาเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ตลาดผู้บริโภคที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และวัฒนธรรมการบริโภคกาแฟที่กำลังเติบโตอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศยังมีความชื่นชอบในสินค้าและแบรนด์จากประเทศไทย เนื่องจากไว้วางใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีความเชื่อมั่นในแบรนด์ที่มาจากประเทศไทย และยังเป็นการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR แข็งแกร่งยิ่งขึ้น สอดคล้องกับหนึ่งในพันธกิจของ OR ที่มุ่งสร้างทางเลือกเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคทุกไลฟ์สไตล์อย่างครบวงจร

ทั้งนี้ การขยายธุรกิจครั้งนี้ OR หวังว่าด้วยความชำนาญในธุรกิจกาแฟของ OR ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพในการเติบโตของคาเฟ่ อเมซอน ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการบริหารธุรกิจหลากหลาย ซึ่งครอบคลุมธุรกิจด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของบาชุนดารา กรุ๊ป จะทำให้ คาเฟ่ อเมซอน ได้รับการต้อนรับจากผู้บริโภคในบังกลาเทศเป็นอย่างดี และสามารถร่วมกันสร้างโอกาสในการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดย OR จะเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่ง และจะยังคงพัฒนาธุรกิจคาเฟ่ อเมซอน อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอเครื่องดื่มและบริการที่ดีที่สุดแก่ผู้บริโภคชาวบังกลาเทศต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ OR ในการขยายฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันกับสังคม ชุมชน และเศรษฐกิจในพื้นที่ ตลอดจนสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวยังเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ OR คือ ‘Empowering All toward Inclusive Growth’ หรือ เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน 

'รมว.ปุ้ย' เสนอบังคับ 'มาตรฐานเหล็กเคลือบ' ผ่าน ครม. ฉลุย หลังประชาชนร้อง!! 'เหล็กเคลือบห่วย' เต็มท้องตลาด

(31 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรฐานเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการจำหน่ายเหล็กเคลือบไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด จึงได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการบังคับใช้มาตรฐานโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กเคลือบคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอย่างมาก 

โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2568  

นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง และควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (ยูโร 6) และพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับแล้ว สมอ. จะเร่งจัดทำกฎกระทรวง เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนาม และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบและรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินดังกล่าว จะต้องขอรับใบอนุญาตทำ นำเข้าจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ สำหรับความคืบหน้าของการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 ของรถยนต์ประเภทอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ สมอ. ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ และหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ตามกรอบระยะเวลาต่อไป  

'กกพ.' เคาะค่าไฟใหม่เป็นทางการ 4.18 บาท กลุ่มเปราะบาง 3.99 บาท หลัง 'พีระพันธุ์' สั่งตรึงราคา จบตัวเลขก่อนหน้าที่จ่อพุ่งแตะ 6 บาท

(31 ก.ค.67) แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมประชุมเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เรียกเก็บในงวดสุดท้ายของปี ก.ย.-ธ.ค. 67 อย่างเป็นทางการ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในกรณีต่าง ๆ ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 12-26 ก.ค. 67 ใน 3 กรณี คือ กรณีแรก หน่วยละ 4.65 บาท กรณี 2 หน่วยละ 4.92 บาท และกรณี 3 หน่วยละ 6.01 บาท แต่ละกรณีแตกต่างกันที่การชำระหนี้คงค้างจำนวน 98,495 ล้านบาท ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

อย่างไรก็ตาม แม้ กกพ.จะประกาศ 3 ราคา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นค่าไฟทั้งหมด จากงวดปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ได้ขอที่ประชุม ครม.พิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนให้ตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายไว้เท่าเดิม คือ หน่วยละ 4.18 บาท ซึ่งทาง ครม.วันที่ 23 ก.ค. 67 ได้อนุมัติแนวทางตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ กฟผ. และบมจ.ปตท. รวมถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่กรอบไม่เกินลิตรละ 33 บาท โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งขณะนี้ทาง กกพ.ได้รับหนังสือยินยอมภาระต้นทุนคงค้าง และจะทยอยคืนทีหลังจาก กฟผ.แล้ว และคาดว่า วันที่ 30 ก.ค. ทาง ปตท.จะส่งหนังสือรับภาระต้นทุนคงค้าง และทยอยจ่ายคืนทีหลังเช่นกัน

ทั้งนี้หากที่ประชุมบอร์ด กกพ. อนุมัติและประกาศเป็นทางการแล้ว คาดว่า ใช้เวลา 1-2 วัน หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 1 สัปดาห์หลังจากบอร์ดเห็นชอบ ส่งผลให้บิลค่าไฟฟ้าเดือน ก.ย.–ธ.ค. 67 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท ส่วนกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมหน่วยละ 3.99 บาท มีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือนเช่นเดิม โดย ครม.จะนำงบกลางมาชดเชย

อย่างไรก็ตามผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 67 อยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท จากที่ควรต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65-6.01 บาทต่อหน่วย ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือเอเอฟก๊าซ ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระแทนประชาชนไปก่อน 15,083.79 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้างที่เกิดขึ้นจริงเพียงหน่วยละ 5 สตางค์ จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท จะต้องรอทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง ซึ่งยังไม่รู้อนาคตว่า งวดแรกของปี 68 (ม.ค.-เม.ย.) จะต้องรับภาระยืดการชำระไปอีกหรือไม่ เนื่องจากทิศทางราคาพลังงานยังมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง

นับถอยหลัง 'วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ' ในประเทศไทย สถาบันการศึกษาเฉพาะด้านพลังงาน ใต้การผลักดันของ 'พีระพันธุ์'

ปัจจุบัน สถาบันการศึกษามากมาย ต่างพยายามแข่งขันกันเปิดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์ประเทศอย่างถึงที่สุด

นั่นก็เพราะ ในความเป็นจริงแล้ว ที่ผ่านมาการผลิต ‘บุคลากร’ ให้ตรงกับงาน โดยเฉพาะงานที่มีความเป็น ‘เฉพาะด้าน’ ในประเทศไทยนั้น ส่วนใหญ่มักจะได้สถาบันการศึกษา ‘เฉพาะด้าน’ ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ‘เฉพาะด้าน’ เป็นแรงหนุนสำคัญ

ตัวอย่างที่เห็นปรากฏอยู่ อาทิ คณะวิชาด้านการสาธารณสุขทั้งแพทย์, ทันตแพทย์, เภสัชกร, นักเทคนิคการแพทย์ และพยาบาล ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งต่างมีโรงพยาบาล เพื่อให้การศึกษาและฝึกฝน หรือแม้แต่ด้านทหาร ก็มีโรงเรียนนายทหารทั้งชั้นสัญญาบัตรและชั้นประทวนของเหล่าทัพต่าง ๆ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี และสถาบันการบินพลเรือน ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฯลฯ

ในส่วนของพลังงาน ภายหลังจาก ‘นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เข้ารับตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการลดราคาพลังงานทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า แก๊ส ให้ได้ราคาที่มีความถูกต้อง ยุติธรรม และเหมาะสม เพื่อให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์สูงสุด 

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ ‘พีระพันธุ์’ ได้ตระหนักควบคู่กันนั้นคือ การบริหารจัดการทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘พลังงาน’ โดยประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ ‘รู้จริง’ และ ‘ทำเป็น’ อีกเป็นจำนวนมาก และเพื่อให้ได้มาซึ่งบุคลากรเหล่านี้ ‘กระทรวงพลังงาน’ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่อง ‘พลังงาน’ โดยตรง สมควรจะเป็นหน่วยรับผิดชอบและดำเนินการในการจัดตั้งและบริหารจัดการ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ให้เกิดขึ้น

ปัจจุบัน ทุกครั้งที่ ‘พีระพันธุ์’ มีโอกาสได้เจรจาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชนต่างชาติ ซึ่งมีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ ก็มักจะหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเป็นประเด็นในการเจรจาหารืออยู่เสมอ อาทิ เมื่อ 7 มิถุนายน 2567 นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า CHANGAN (ฉางอาน) ได้เข้าพบ ‘พีระพันธุ์’

ครั้งนั้น ทางฉางอาน ได้แสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ ในการตั้งวิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ โดยกระทรวงพลังงาน โดยทางบริษัทจะร่วมให้การสนับสนุนด้วยการเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี และการศึกษาของภาคยานยนต์พลังงานใหม่ในประเทศไทย ด้วยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตยานยนต์ที่ยั่งยืนของประเทศไทย และเสริมสร้างทักษะแรงงานในท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ยุคใหม่ รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังกลุ่มผู้ประกอบการผลิตอะไหล่รถยนต์ภายในประเทศ และการจัดหาพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในอนาคต และร่วมผลักดันให้ไทยเป็น EV Hub ของอาเซียนต่อไป

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 นาย Sergey Mochalnikov รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ที่เข้าเยี่ยมคารวะ ‘พีระพันธุ์’ ก็มีการหยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือเช่นกัน โดยรัสเซียมีการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นถึงเรื่องของ ‘พลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy)’ ด้วยแนวคิดที่ว่า...

“ความยั่งยืนของพลังงานจะเกิดขึ้นได้ ต้องพิจารณาถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบเหล่านี้ มีตั้งแต่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ไปจนถึงความขาดแคลนด้านพลังงาน และของเสียที่เป็นพิษ จึงต้องเริ่มคำนึงถึงแหล่งพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานลม, พลังน้ำ, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมน้อย และมีความยั่งยืนมากกว่าแหล่งเชื้อเพลิงจากฟอสซิล พร้อม ๆ ไปกับแนวคิดในการอนุรักษ์พลังงานด้วย”

แม้กระทั่ง ในการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เมื่อ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ของ ‘พีระพันธุ์’ และคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทย ก็ได้หยิบยกเอาเรื่อง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ มาเจรจาหารือด้วย ซึ่งทางซาอุดีอาระเบียก็ยินดีให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ เช่นกัน 

ทั้งนี้เพราะซาอุดีอาระเบียตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งมีแหล่งพลังงานชนิดต่าง ๆ รวมทั้งพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม การศึกษาด้านวิศวกรรมพลังงานในซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งทรัพยากรของประเทศและยกระดับเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้พลังงานต่าง ๆ รวมถึงหมุนเวียนในระดับชาติได้ อันจะช่วยสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศต่อไป

แม้ ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ ตามแนวคิดของ ‘พีระพันธุ์’ อาจแลดูเหมือนเป็นการแข่งขันกับสถาบันศึกษาทั่วไป แต่เพื่อภารกิจการบริหารจัดการเรื่องของ ‘พลังงาน’ ให้ดีที่สุด จะช่วยเพิ่มบุคลากรที่นอกเหนือ ‘นักคิด-นักทฤษฎี’ แต่จะได้ ‘นักปฏิบัติ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อไทย

ดังนั้น จึงปฏิเสธไม่ได้ ที่ไทยจำเป็นต้องมี ‘วิทยาลัยพลังงานแห่งชาติ’ โดย ‘กระทรวงพลังงาน’ เพื่อให้สถาบันการศึกษาแห่งนี้ ผลิตบุคลากรด้านพลังงานทั้งระบบให้ได้ทั้ง ‘คุณภาพ’ และ ‘ปริมาณ’ แบบ ‘ทันเวลา’ สามารถรองรับต่อความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประเทศ และการใช้พลังงานในภาพรวมทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่และสูงสุดแก่พี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป 

‘ร้านชำ จ.ชัยนาท’ ประกาศไม่เข้าร่วมโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หวั่น!! ‘ทุนจม-ถอนเงินไม่สะดวก’ เผย รับเงินสดสบายใจกว่า

(31 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งในวันนี้มีเสียงสะท้อนจากร้านขายของชำในพื้นที่ จ.ชัยนาท ที่ส่วนใหญ่บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการเพราะกังวลกับสารพัดปัญหาที่จะต้องเจอ

รายแรกเจ๊โบ๊ะ แม่ค้าร้านชำประจำหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท บอกกับทีมข่าวว่า ตนเองจะไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน เพราะเป็นการขายที่ไม่ได้รับเป็นเงินสด ซึ่งตนกังวลว่าจะจมทุน เพราะเงินดิจิทัลที่ได้มา ไม่สามารถเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้สะดวกนัก เพราะถ้าจะแปลงเป็นเงินสดก็ต้องใช้เวลา ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการจมทุนเสียเปล่า ๆ ยิ่งร้านตนเป็นร้านเล็ก ๆ ทุนน้อย ยิ่งจะเอาทุนไปจมกับเงินดิจิทัลก็จะเกิดความเสี่ยง จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมดีกว่า ขายเงินสดก็เพียงพอที่จะมีกำไรและอยู่ได้

ด้านเฮียเป้า เจ้าของร้านขายของชำหน้าวัดท่าช้าง อ.เมืองชัยนาท ก็พูดทำนองเดียวกันว่า ตนเคยเหนื่อยกับโครงการบัตรคนจนมาแล้ว และจะไม่ขอเหนื่อยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกอย่างแน่นอน เพราะตนมองเห็นปัญหาล่วงหน้า ทั้งระบบการสแกนจ่าย การยืนยันตัวตน ที่ระบบจะมีปัญหาเวลาคนใช้พร้อมกันมาก ๆ และที่สำคัญตนเองจะต้องเอาเงินสดลงทุนไปก่อน จึงจะมาขาย รับเป็นเงินดิจิทัล ที่จะดึงออกมาเป็นเงินสดก็ไม่สะดวกตามที่ต้องการ ดังนั้นตนจึงไม่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเห็นความยุ่งยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนลุงจงเจ้าของร้านชำอีกแห่งหนึ่งก็ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลกับการแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินสดในโครงการนี้ แต่เมื่อนึกถึงว่า ลูกค้ามีเงินอยู่ในมือคนละ 10,000 บาท นั่นหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลที่รออยู่ จะปฏิเสธรายได้จุดนี้โดยไม่เข้าร่วมก็น่าเสียดาย ตนจึงจะลงทะเบียนร่วมโครงการในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top