Saturday, 18 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘พาณิชย์ฯ’ เผยตัวเลขส่งออกไทย ก.ย.66 พลิกบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง

(24 ต.ค.66) นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนกันยายน 2566 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 25,476 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวร้อยละ 2.1 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากตลาดคาดว่า หดตัวร้อยละ 1.75-2.00

ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 23,383 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 8.3 ส่งผลให้เดือนกันยายน ไทยเกินดุลการค้า 2,093 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 213,069 ล้านดอลลาร์ ลดลงร้อยละ 3.8 การนำเข้า มีมูลค่ารวม 218,902 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ 9 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 5,833 ล้านดอลลาร์

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกของไทย ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้ไปจีน อาทิ ทุเรียน และมังคุด รวมทั้งการส่งออกข้าวที่ขยายตัวได้ดีในตลาดแอฟริกาใต้และอินโดนีเซีย ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมดาวรุ่งที่ขยายตัวต่อเนื่อง ยังคงเป็นสินค้าที่เติบโตตามเมกะเทรนด์ เช่น โซลาร์เซลล์ และโทรศัพท์มือถือ

'ก.อุตฯ' เผย!! โครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ฉะเชิงเทรา รุดหน้า!! เตรียมพาอุตฯ ยานยนต์ไทยทะยาน หลังได้ผู้รับเหมาครบ 'ตอบโจทย์-ราคาเหมาะสม'

เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว โดยดำเนินอยู่บนพื้นที่ 1,235 ไร่ บริเวณเขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยการลงทุนของภาครัฐทั้งหมดภายใต้กรอบวงเงิน 3,705.7 ล้านบาท

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 55% ใช้งบประมาณไปแล้ว 2,038 ล้านบาท คงเหลือการดำเนินงานอีก 45% ในวงเงินประมาณ 1,667.69 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569 หากแล้วเสร็จสมบูรณ์ศูนย์ทดสอบแห่งนี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก

การก่อสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญ ในภูมิภาคอาเซียนมีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศที่ไม่ต้องส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศ

สำหรับงบประมาณที่ได้รับอนุมัติมาในปี 2566 อีก 1,667.69 ล้านบาทนั้น จะใช้สำหรับการก่อสร้าง ได้แก่

1. สนามทดสอบสมรรถนะและความเร็ว และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อตามมาตรฐาน UN R117  
2. สถานีสำหรับเตรียมสภาพรถ (Work Shop) 
3. ทางวิ่ง (Run-In) ส่วนต่อขยายจากสนามทดสอบยางล้อเพื่อการทดสอบมาตรฐาน UN R117
4. LAB ทดสอบการชน 

รวมทั้งจัดซื้อชุดเครื่องมือทดสอบ 3 รายการ ได้แก่ ชุดเครื่องมือทดสอบการยึดเกาะถนนขณะเข้าโค้ง  ชุดเครื่องมือทดสอบอุปกรณ์เลี้ยวสำหรับยานยนต์ และชุดเครื่องมือทดสอบการป้องกันผู้โดยสารเมื่อเกิดการชนด้านหน้าและด้านข้าง

ทั้งนี้ ตามแผนที่วางไว้ศูนย์ทดสอบฯ นี้จะกลายเป็นฮับการทดสอบมาตรฐานอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 11 ของโลก คาดว่าศูนย์ทดสอบฯ จะมีรายได้ไม่น้อยกว่าปีละ 968 ล้านบาท รวมทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศประมาณ 30-50% และสร้างเม็ดเงินสะพัดในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 148 ล้านบาทต่อปี

ล่าสุดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดให้มีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างสนามทดสอบความเร็วและสมรรถนะ และการป้องกันดินสไลด์สู่สนามทดสอบยางล้อ ตามมาตรฐาน UN R117 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีข้อมูลอยู่ในระบบอีบิดดิ้ง มีผู้แข่งขัน 2 รายและมีผู้รับการคัดเลือกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทผู้รับคัดเลือกมีราคาต่ำสุดอยู่ที่ 844,230,000 บาท โดยคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อบริษัทที่ชนะการประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ให้สามารถดำเนินโครงการในแต่ละระยะให้แล้วเสร็จทั้งโครงการและเปิดใช้บริการได้ในปี 2569 ตามกรอบเวลาของโครงการทั้งหมดได้

‘ทิพานัน’ ชี้!! ผลงาน ‘บิ๊กตู่’ 9 ปี มีเพียบ ยกผลงานเจรจาการค้าเด่น หนุนเปิดประเทศ-เปิดโอกาส ชู ‘ศักยภาพผู้นำที่ดี’ พาไทยแกร่งรอบด้าน

‘ทิพานัน’ ติงนักวิชาการ ให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน ยกผลงานเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยุค ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ผลงานเพียบ เปิดประเทศ เปิดโอกาส และเปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาคสุดปัง ชู ‘ภาวะผู้นำที่ดี’ ทำทีมไทยแกร่ง 6 ด้าน

(23 ต.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘อ้น ทิพานัน ศิริชนะ’ ถึงกรณีที่นักวิชาการแสดงความเห็นเปรียบเทียบ การเจรจาการค้าระหว่างประเทศระหว่าง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า…

ลุงตู่มีวิสัยทัศน์ที่ดี ทั้งเปิดประเทศ เปิดโอกาส เปิดแนวทางใหม่การลงทุนในภูมิภาค

ที่สำคัญเพราะ ‘ภาวะผู้นำที่ดี’  จึงมีดังนี้

#รัฐบาลลุงตู่ มีผู้แทนการค้าไทยที่แข็งแกร่ง

#รัฐบาลลุงตู่ มีทูตทางการค้าที่เข้าใจลูกค้า

#รัฐบาลลุงตู่ มีนโยบายจากBOIที่ชวนมาลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ มีกฎหมายอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะ

#รัฐบาลลุงตู่ เดินหน้าเจรจาการค้ากับต่างประเทศมาตลอด 9 ปี

#รัฐบาลลุงตู่ พัฒนาทุกมิติไม่ใช่แค่หิ้วกระเป๋าไปขายของ

สิ่งเหล่านี้คือ ‘รากฐาน’ สำหรับการไปขายของในอนาคต

บทความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์ จาก รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2566 ว่า…

“เพราะถ้ามีการเปรียบเทียบทั้งสองคน ในแง่การไปเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมัย พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องการเจรจาพูดคุยอะไรต่างๆ กับต่างชาติติดลบ”

“และการเดินสายต่างประเทศคงเป็นความพยายามหลังจากที่ขาดหายไปนานในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นความพยายามอีกอย่างหนึ่งท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจที่หลากหลาย”

การนำเสนอตรงนี้อาจไม่ครบถ้วน ตรงตามหลักวิชาการ และคนอาจเชื่อตามข้อมูลนั้นไปแบบไม่ครบถ้วน จึงขอนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วนอีกด้าน เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องครบถ้วนทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่า ลุงตู่วางรากฐานการลงทุนที่จับต้องได้ ไม่ขายฝัน และ #มีคนทำงานแต่ละด้านที่เป็นมืออาชีพ จนสำเร็จลุล่วง และเดินหน้าพบปะกับต่างชาติทั่วโลกมาตลอดระยะเวลา 9 ปี และมีผลงานโดดเด่นมากมาย เช่น ซาอุฯ จีน เป็นต้น

การเดินทางพบผู้นำและประชุมระดับโลกและอาเซียน ของลุงตู่ เพื่อการค้าและการลงทุน และมิติอื่นๆ มีอะไรบ้าง ขอยกตัวอย่างดังนี้

- 12-15 ธ.ค. 65 ประชุมสุดยอดอาเซียน–สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ ที่บรัสเซลส์ เบลเยียม

- 25-27 พ.ค. 65 ประชุมInternational Conference on the Future of Asia (Nikkei Forum) ครั้งที่ 27 ที่โตเกียว ญี่ปุ่น

- 12-13 พ.ค. 65 การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ วอชิงตันดี.ซี สหรัฐอเมริกา

- 25 ม.ค. 65 เยือนซาอุดีอาระเบีย เป็น ‘ความสำเร็จในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย - ซาอุดีอาระเบีย’ ให้กลับมาอยู่ใน ‘ระดับปกติ’ อย่างสมบูรณ์ ถือเป็นการสิ้นสุด 3 ทศวรรษแห่งความห่างเหิน และเป็นก้าวแรกของ ‘โอกาสอันมากมายมหาศาล’ 9 ด้าน คือ

1.) การท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.) พลังงาน (เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของ 2 ประเทศ) ร่วมลงทุน-วิจัยพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน

3.) แรงงานไทย สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ใน ‘วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030’ (Saudi Vision 2030)

4.) อาหาร ผลิต-ส่งออกอาหารฮาลาลให้แก่ซาอุดีฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง GCC

5.) สุขภาพ-การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ของไทย

6.) ความมั่นคง ไทยจะได้รับประโยชน์จากซาอุดีฯ ประเทศมหาอำนาจในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) เช่น ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง การต่อต้านการก่อการร้าย

7.) การศึกษาและศาสนา ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิม

8.) การค้าและการลงทุน ลู่ทางธุรกิจและหุ้นส่วนทางการค้าในซาอุดีฯ และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการดึงดูดซาอุดีฯ ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ ของไทยด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ

9.) กีฬา เช่น มวยไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง

- 1 พ.ย. 64 เข้าร่วมประชุม ‘UN Climate Change Conference’ (COP 26) ครั้งที่ 26 ที่เมืองกลาสโกว์ อังกฤษ และประกาศคำมั่นสัญญาใหม่ของไทยอย่างเป็นทางการในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ภายในปี 2065 #จนเป็นที่มานโยบายด้านนี้ในไทย ที่ขับเคลื่อนจริง และนักลงทุนสนใจมาลงทุน

- 24 ก.ย. 64 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 76 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 24-27 พ.ย. 62 เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกหลีใต้ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 และการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับเกาหลีใต้ ครั้งที่ 1 ที่ปูซาน เกาหลีใต้

- 21-27 ก.ย. 62 เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ที่ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

- 28-29 มิ.ย. 62 ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมผู้นำ G20 ประจำปี 2562 ที่โอซากา ญี่ปุ่น

- 25 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ที่ฝรั่งเศส

- 20 มิ.ย. 61 หารือทวิภาคีกับนางเทรีซา เมย์ นายกฯ อังกฤษ ที่อังกฤษ

- 2-4 ต.ค. 60 หารือทวิภาคีกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่สหรัฐอเมริกา

- 14-16 ต.ค. 59 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 11 ที่อูลานบาตอร์ มองโกเลีย

- 16-18 มิ.ย. 59 เยือนอินเดีย เพื่อความร่วมมือด้านการค้า-ความมั่นคง

- 17-21 พ.ค. 59 เยือนรัสเซีย ฟื้นความสัมพันธ์ในรอบ 11 ปี

- 9-11 พ.ย. 57 เข้าร่วมประชุมเอเปค ครั้งที่ 22 ที่ปักกิ่ง จีน

- 16-17 ต.ค. 57 เข้าร่วมการประชุมผู้นําเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting - ASEM) ครั้งที่ 10 ที่มิลาน อิตาลี

รัฐบาลลุงตู่ต้อนรับผู้นำที่มาเยือนไทย แสดงให้ต่างชาติเห็นศักยภาพบ้านเมืองไทยที่เจริญ และน่าลงทุนจริงๆ

- 14 ก.พ. 66 นายกฯ มาเลเซีย

- 10 ก.ค. 65 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา และไทยและสหรัฐฯ ลงนามร่วมกันในแถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์

- 4-5 ก.ค. 65 มนตรีแห่งรัฐ และ รมว.ต่างประเทศของจีน

- ส่งเสริมการลงทุนใน EEC

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยง

- รถไฟความเร็วสูงจีน-ลาวกับระบบรางและรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนของไทย

- ปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

- ลงนาม MOU ด้านการรรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

- 13 มิ.ย. 65 รมว.กลาโหมของอเมริกา

- 1-2 พ.ค. 65 นายกฯ ญี่ปุ่น

- 20-23 พ.ย. 62 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

- 8 ส.ค. 60 รมว.ต่างประเทศของอเมริกา

- 27 ม.ค. 60 ผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศของอังกฤษ

ความสำเร็จที่โดดเด่น และปังที่สุด คือ

- 18-19 พ.ย. 65 ลุงตู่ เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมเอเปค ‘APEC2022’ ต้อนรับผู้นำจาก 21 เขตเศรษฐกิจ และได้รับคำชมเชยจาก ผอ.เลขาธิการเอเปค ยกย่องไทย จัดประชุม APEC2022 ได้ยอดเยี่ยม ระดับ world class และผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” สำเร็จในเวทีโลก

- 15 พ.ย. 63 ไทยร่วมก่อตั้งและลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค #RCEP กับ 14 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน (30% ของ GDP โลก) เพิ่มโอกาสและศักยภาพในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยให้ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 65

- 16 ธ.ค. 62 ‘ประเทศแรกในเอเชีย’ ไทยประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

- ปี 61-66 ไทยคงสถานะอันดับสูงสุดในอาเซียน 5 ปีซ้อน สำหรับดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index)

- ปี 58-61 ไทยได้รับเลือกให้เป็นประเทศผู้ประสานงานระหว่างอาเซียนกับ EU
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ รัฐบาลลุงตู่ วางรากฐานความเชื่อมั่น เปิดประเทศและไปแนะนำประเทศ ให้คนทั่วโลกรู้จักและมาลงทุนในไทย

ดังนั้น อาจมีใครหลายคนที่อาจจะยังไม่ทราบข้อมูลและวิจารณ์บนพื้นฐานไม่รู้… จะได้รู้เพิ่มเติมค่ะ

ข้อมูลจาก https://www.soc.go.th/?page_id=10338

รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ (1) ปีที่ 1-4 และ (2) ปีที่ 1-3 
#ลองหาอ่านดูเผื่อใครสนใจค่ะ

23 ตุลาคม 2566
Cr. เพจ อ้น ทิพานัน ศิริชนะ

ไขรหัส-มองไทม์ไลน์ ‘ทรู คอร์ปอเรชั่น’ ภายใต้แนวคิด ‘Future Ready True’ กับการพิชิตเป้าหมาย ‘บริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี’ สู่องค์กรแห่งอนาคต

นับเป็นครั้งแรกสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ได้มีการจัดงาน Capital Markets Day ณ ทรูดิจิทัลพาร์ค นับเป็นเวลาราว 7 เดือนหลังจากที่ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ควบรวมกิจการสำเร็จ ในวันที่ 1 มีนาคม 2566 โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุน นักวิเคราะห์จากสถาบันการเงินไทยและต่างชาติเข้ารับฟังทิศทางธุรกิจ ตัวชี้วัดทางการเงิน เป้าหมาย และกลยุทธ์อย่างคับคั่ง

ในโอกาสนี้ True Blog ได้เข้าร่วมรับฟังข้อมูลจากคณะผู้บริหาร โดยขอย่อยข้อมูลให้เห็นกันชัดๆ พร้อมกับอธิบายถึงนัยสำคัญของความเคลื่อนไหวจากงาน Capital Markets Day ต่อทิศทางธุรกิจในอนาคต

Capital Markets Day (CMDs) ถือเป็นโอกาสอันดีให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนได้พบปะกัน อัพเดทข้อมูลทางธุรกิจเชิงลึก ภาพรวมธุรกิจและเป้าหมายระยะยาว นอกฤดูรายงานข้อมูลการเงินต่อสาธารณะ (off-season) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของบริษัทจดทะเบียน สอดรับกับเทรนด์การลงทุนที่นักลงทุนให้ความสำคัญกับแนวคิดด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG ซึ่งในที่นี้ มีความเกี่ยวข้องกับมิติธรรมาภิบาล (Governance) ในแง่การส่งเสริมความโปร่งใสการรายงานข้อมูลต่อนักลงทุน นำมาซึ่งชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในบริษัทจดทะเบียน

เปิดไทม์ไลน์ ‘Telecom-Tech Company’
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ด้วยวิสัยทัศน์ในการเป็น ‘ผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมของไทย ที่จะเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตคนไทย และขับเคลื่อนธุรกิจ ให้ก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัลระดับโลก’ ทำให้การรวมพลังทั้งกำลังเงินและกำลังคน มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด” โดย ทรู ได้เผยผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) 2.5 แสนล้านบาท

ทรัพยากรการเงินมูลค่าดังกล่าว จะช่วยเดินหน้าโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ให้ถึงฝั่งฝัน ซึ่งสามารถเเบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.) Growth การเติบโตที่มากกว่าบริการโทรคมนาคม รวมถึงพัฒนาบริการต่างๆ ที่ช่วยให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น ตลอดจนยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

2.) Value Creation พัฒนาโครงข่ายให้เหนือระดับด้วยการรวมโครงสร้างเสาสัญญาณด้วย ‘ระบบโครงข่ายเดียว’ (Single Grid) ตั้งเป้าสู่การเป็นผู้นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ตลอดจนกำหนดมาตรฐานการบริการให้เกิดประสบการณ์เหนือระดับ

3.) Organization เพื่อให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง ก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและพฤติกรรมลูกค้า จึงได้กำหนดให้ทรูเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้ทันสมัย เท่าทันเทคโนโลยีด้วยมิชชั่น Future Ready True

4.) Sustainability เพราะการประกอบธุรกิจมีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อชุมชนและสังคม ด้วยเหตุนี้ ทรู จึงยึดถือแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยหลักความยั่งยืนตามแนวคิด ESG โดยกำหนดเป้าหมายดังต่อไปนี้

- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment: E) ไว้ 3 ด้าน ได้แก่ ลดการฝังกลบขยะให้เป็นศูนย์และพิชิตความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 พร้อมทั้งตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593

- ด้านสังคม (Social: S) ตั้งเป้าขยายโครงข่าย 4G และ 5G ให้ครอบคลุมอย่างน้อย 99% และ 97% ของประชากรไทยในปี 2569 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังวางเป้าเพิ่มพูนทักษะให้คนไทยผ่านการเรียนออนไลน์ 34 ล้านคน และสร้าง 2,700 สตาร์ทอัพผ่านอีโคซิสเต็มของทรูดิจิทัลพาร์ค

- ด้านธรรมาภิบาล (Governance: G) ได้สร้างการตระหนักรู้และพนักงานทุกคนจะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรธรรมาภิบาล ขณะที่ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ได้พัฒนาให้สอดรับกับมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับการกำกับคู่ค้าที่จะต้องมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับมาตรฐานของทรู โดยคู่ค้าระดับที่ 1 จะต้องผ่านการตรวจสอบด้าน ESG ส่วนคู่ค้าโครงข่ายทุกรายจะต้องปฏิบัติตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมตามฐานทางวิทยาศาสตร์ (Science Based Target initiative: SBTI)

ไขกลยุทธ์ ‘Beyond Connectivity’
นายชารัด เมห์โรทรา รองประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมโครงการ Single Grid ว่า “โปรเจ็คดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุงโครงข่ายและระบบไอทีให้ทันสมัยยิ่งขึ้น (Network and IT Modernization) ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรโครงข่ายและสรรพกำลังอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างเสริมและพัฒนาประสบการณ์ลูกค้าด้วย นอกจากนี้ ยังได้ก้าวออกจากบริการโทรคมนาคมสู่ vertical services ต่างๆ เช่น API Enablement ระบบไอทีที่ให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงทางไซเบอร์ ตลอดจนบริการที่เกี่ยวข้องกับคลาวด์คอมพิวติ้ง อันมีความสำคัญอย่างมากในยุคดิจิทัล ถือเป็นการเปิดฉากทรานสฟอร์มสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี”

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานทรานส์ฟอร์มแล้ว ถือเป็นโอกาสอันดีที่กลุ่มธุรกิจจะได้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และนี่ถือเป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโต (Growth Engine) ในยุค 5G โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2569 รายได้จากกลุ่มธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ‘เท่าตัว’ จากบริการอื่นๆ ที่ต่อยอดจากโทรคมนาคม เช่น โซลูชันด้านโครงข่าย ไอโอที ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสมาร์ทโซลูชันต่างๆ ที่ต่อยอดกับอุตสาหกรรมแนวดิ่ง (Vertical Industries) เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการต่อยอดบริการใหม่ๆ ที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น เศรษฐกิจ API แพลตฟอร์มสำหรับเอสเอ็มอี ระบบคลาวด์รุ่นใหม่ และโซลูชันที่พัฒนาจาก Generative AI

ซินเนอร์ยี่มูลค่า 2.5 แสนล้าน
นายนกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมว่า มากกว่า 100 ปัจจัยจะช่วยสร้างผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการมูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดย 15 อันดับแรกจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการคิดเป็น 85% ของมูลค่ารวม ส่วนค่าใช้จ่ายหลักในการควบรวมจะเกิดขึ้นภายในปี 2567 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทบรรลุผลประโยชน์ที่ได้จากการควบรวมกิจการสุทธิเป็นบวกในปี 2568 และมีกำไร โดยทรู คอร์ปอเรชั่นคาดว่าจะสามารถรับรู้การประหยัดกระแสเงินสดได้ในระดับคงที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

มูลค่าเพิ่มจากรวมพลัง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.) เทคโนโลยีและไอที รวมถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินการโครงการ Single Grid ด้วยประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นและการบรรลุเป้าหมายจากการลงทุน CAPEX การรวมเครือข่ายสองระบบร่วมกัน รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างระบบไอที

2.) ผสานองค์กรและการดำเนินงานรวมกัน โดยมุ่งถึงประโยชน์สูงสุดจากการปรับปรุงองค์กรและรูปแบบการดำเนินงานผ่านระบบออโตเมชั่น ดิจิทัล และการลดความซ้ำซ้อน เช่นศูนย์บริการที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การใช้อัตราค่าคอมมิชชั่นที่ดีที่สุดระหว่างดีแทค และทรู รวมถึงแนวทางการดำเนินงานที่ดีที่สุด สำหรับการบริหารทรัพยากรบุคคลและการบริหารงานสำหรับการลดความซ้ำซ้อนของสถานที่ทำงาน ลดพื้นที่ และค่าใช้จ่าย รวมถึงยุติการใช้งานแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน

3.) การจัดซื้อจัดจ้างด้วยสเกลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุดของดีแทคและทรู รวมถึงการเจรจากับผู้จำหน่ายหลัก (vendors) โดยได้จากประโยชน์ของขนาดและปริมาณการสั่งซื้อของบริษัทใหม่เอีกทั้ง ประโยชน์จากข้อตกลงผู้ผลิตตามข้อเสนอที่ดีที่สุดจากพันธมิตรระดับโลก เช่น เทเลนอร์กรุ๊ป

4.) ปัจจัยอื่นๆ จากผสานรวมกัน โดยปัจจัยหลักมาจากรายได้ที่เพิ่มโอกาสการนำเสนอการขายแบบ cross-selling ให้กับลูกค้าดีแทคและทรู สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มยิ่งขึ้น

ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้างของต้นทุนอย่างต่อเนื่อง การใช้สินทรัพย์เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุด และการเติบโตแบบมีกำไร EBTIDA จะเติบโตเร็วกว่ารายได้จากการให้บริการ โดยคาดว่าอัตรา EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการจะดีขึ้น 11 จุด (Percentage point) ภายในปี 2570 ทั้งนี้ ด้วยผลประโยชน์จากการรวมการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบโครงข่ายเดียว (Single Grid) รวมถึงการรวมคลื่นความถี่ และความมีวินัยในการบริหารจัดการเงินลงทุนซึ่งฝังอยู่ในวิถีการทำงานของเรา ค่าใช้จ่ายการลงทุน CAPEX ของทรู คอร์ปอเรชั่นหลังจากการรวมเครือข่ายเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงก่อนควบรวม ทั้งนี้ ในฐานะผู้นำในการให้บริการด้าน เทคโนโลยีที่มีจุดแข็งจากผู้ถือหุ้นของเรา ทรู คอร์ปอเรชั่นพร้อมที่จะผลักดันประเทศไทยให้เข้าถึงโอกาสใหม่และส่งมอบคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกคน

นับหนึ่งเส้นทางแห่งการทรานส์ฟอร์ม
นางสาวศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น อธิบายเพิ่มเติมว่า “ด้วยเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี ทำให้วาระด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่และการทรานส์ฟอร์ม (Culture and Transformation) ถือเป็นพันธกิจหลักของทรู โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยผลงาน (Performance Driven Culture) และการพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างก้าวกระโดด (Leapfrogging people capability)”

โดยปัจจุบัน มีการดำเนินตาม 4 เสากลยุทธ์ ได้แก่
1.) ขนาดและโครงสร้างองค์กรที่สอดคล้องกับการทิศทางและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ

2.) องค์กรแห่งอนาคตผ่านโมเดลการปฏิบัติงานรูปแบบใหม่ ได้แก่ Modernization, Simplification และ Automation โดยเน้นกระตุ้นการทำงานแบบ Cross Functional

3.) พัฒนาศักยภาพพนักงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดผ่านโปรแกรมปรับและเพิ่มพูนทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการ

4.) เพิ่มความแข็งแกร่งของ talent ผ่านการวางแผนผู้สืบทอด (Succession Plan) การรักษาบุคลากร (Retention) ให้สอดรับกับภูมิทัศน์ด้านแรงงานแห่งอนาคต (Future Workforce)

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์มองค์กรนั้นจะเป็นลักษณะของการ ‘ร่วมสร้าง’ (Co-Creation) จากล่างขึ้นบน (Bottom-up) กล่าวคือ พนักงานทุกคนมีส่วนในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร พฤติกรรม โดยมีเป้าหมายการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาค โดยดำเนินงานผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Organization Health Survey, Mirror Workshop และ Value Workshop นอกจากนี้ การประเมินความพึงพอใจของพนักงานจะยึดความโปร่งใสเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ได้ยินเสียงความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง พร้อมกับการมีส่วนร่วมของพนักงานต่อกิจกรรมภายใน

จะเห็นได้ว่า มูฟของทรูฯ หลังการควบรวมกิจการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งด้านความเร็วและประสิทธิภาพ การมีมาสเตอร์แพลนที่ชัดเจน รวมถึงคุณค่าและวัฒนธรรมจากล่างขึ้นบน รับฟังและให้โอกาสในการพูด แนวทางการทำงานที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง การเปลี่ยนแปลงจากฐานรากนี้ใม่ง่ายเลยสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ แต่ด้วยความแข็งแกร่ง ศักยภาพ และความเชี่ยวชาญของผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย คือเครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์ ได้ทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น บทใหม่นี้ก้าวสู่ความพร้อมในฐานะองค์กรแห่งอนาคต Future Ready True เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม–เทคโนโลยีแถวหน้าของภูมิภาคต่อไป

‘พีระพันธุ์’ เปิดแผน ‘รื้อ-ทุบ-ปลด-สร้าง’ แก้กฎหมายเอื้อกำกับราคาน้ำมัน เร่งปรับโครงสร้างตั้งแต่ฐานราก พร้อมยัน!! ลดโซฮอล์ 91 ก่อน ชนิดอื่นต่อคิว

(23 ต.ค. 66) นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงข้อเสนอแนะจากประชาชนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการลดราคาน้ำมันเบนซิน แก๊สโซฮอล์ 91 และเสนอลดโซฮอล์ 95 แทน ว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังยืนยันลดโซฮอล์ 91 อัตรา 2.50 บาทต่อลิตร เพราะการลดครั้งนี้เป็นการเริ่มต้นลดน้ำมันเบนซิน หลังจากนั้นจะทยอยลดสูตรอื่น อาทิ โซฮอล์ 95 เป็นต้น ไม่ได้แปลว่าไม่ลดชนิดอื่นแล้ว

ทั้งนี้ มี 2 เหตุผลในการเลือกลดโซฮอล์ 91 เพราะ 1.) เป็นน้ำมันที่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ใช้กันมากสุด จึงจำเป็นที่ต้องเยียวยาไวกว่ากลุ่มอื่น 2.) เป็นน้ำมันที่ราคาหน้าโรงกลั่นถูกที่สุดคือ 22.21 บาทต่อลิตร ต้นทุนถูกกว่าทั้งน้ำมัน อี 20 และ อี 85 โดยนายพีระพันธุ์เข้าใจความเป็นห่วงของทุกฝ่าย แต่การลดราคาเชื้อเพลิงนั้นเป็นแค่มาตรการระยะสั้นที่จะทำให้พลังงานเป็นธรรมสำหรับทุกคน

นายพงศ์พลกล่าวว่า ขณะนี้นายพีระพันธุ์มีแผนลดราคาพลังงานทั้งระยะสั้น กลาง ยาว วางไว้ทุกสเต็ป โดยระยะสั้นคือ ลดค่าพลังงาน ชนิดไหนทำก่อนจะทำเลยอย่างน้อยได้ประวิงหนี้ ลดค่าใช้จ่ายค่าไฟน้ำมัน ต่อลมหายใจให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย

ขณะที่ระยะกลางจะเดินหน้าแก้กฎหมายอุปสรรค เรื่องนี้ใช้เวลาแต่จะเห็นผลชัดภายในปีนี้แน่นอน เพราะจะมีการรื้อ ทุบ ปลด สร้าง คือ แก้กฎหมายที่เอื้อให้มีการกำกับโครงสร้างราคาน้ำมันให้โปร่งใส ราคาไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เพิ่มกฎหมายใหม่น้ำมันราคาถูกเฉพาะทาง มี พ.ร.บ.น้ำมันเพื่อการเกษตรและการแก้กฎเรื่องมาตรฐานน้ำมัน ฯลฯ

ระยะยาวจะวางโครงสร้างเพื่ออนาคต เน้นปฏิวัติแบบแผนเพื่อความยั่งยืน จะวางรากฐานเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน อาทิ ระบบสำรองน้ำมันประเทศเพื่อความมั่นคงโดยกระทรวง การเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่ยุคผลิตพลังงานสะอาดเต็มตัว ศึกษาระบบเน็ต-บิลลิ่ง ระบบกริดแบบใหม่

‘มือเศรษฐกิจจุลภาค’ ซาวเสียง!! คนส่วนใหญ่หวัง Digital Wallet แต่แอบห่วงที่มาเงิน ยกคำแนะ ‘ดร.กิตติ’ แจกบางส่วน หากกระตุ้น GDP ได้ +5% มุมหนี้สาธารณะจะลดลง

(23 ต.ค. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Ta Plus Sirikulpisut’ เกี่ยวกับกรณีข้อดี-ข้อเสียของ ‘Digital Wallet’ ในปัจจุบันที่ได้ฟังจากเสียงประชาชนมากขึ้น ว่า...

วันนี้ขอแสดงความเห็นเรื่องเงิน Digital Wallet อีกครั้งครับ

หลายวันนี้ลงพื้นที่พบปะประชาชน ได้รับฟังความต้องการว่าอยากได้เงินแจก 10,000 บาท จริงครับ บางครอบครัวมีสมาชิก 4-6 คน จะได้รับแจกถึง 40,000-60,000 บาท นับเป็นเงินมากสำหรับคนตัวเล็กๆ หลายคนคิดว่าจะนำไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปั๊มน้ำ บางคนจะซ่อมหลังคา และหากเป็นกลุ่มเกษตรกรรวมตัวกัน เขาอยากได้เครื่องอบ เพราะช่วยไล่ความชื้น เวลาเอาของไปขายราคาจะดีขึ้น บางที่อยากรวมกันทำโรงสีขนาดเล็ก ไม่มีใครทราบเงื่อนไขว่าจะซื้ออะไรได้บ้าง แต่หากเราได้สามารถช่วยให้เขาซื้อ Durable goods หรือ อุปกรณ์เพิ่มการผลิต/คุณภาพจะยอดเยี่ยมไปเลยครับ

ข้อห่วงใย ผมเองก็ห่วงใย และได้คุยกะผู้ใหญ่หลายท่านก็ห่วงใยโดยเฉพาะด้านการคลังที่หากแหล่งที่มาของเงินดังกล่าวจะมาจากเงินกู้ ซึ่งเราติดตามได้ครับ อย่างน้อยรัฐบาลลุงตู่เองก็เก็บภาษีมาได้เกินเป้า รายสองแสนล้าน เกือบครึ่งทางของงบเงิน Digital ครับ หากแจกบางส่วนก่อนแล้วเอาภาษีที่หมุนได้มาแจกต่อ อย่างที่ท่าน ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ว่าไว้ก็ลดความเสี่ยงได้มาก และหากกระตุ้น GDP ได้ +5% หนี้สาธารณะก็ลดลงครับ

มีนักวิชาการบอกว่างานวิจัยจากที่ญี่ปุ่นบ้าง ไต้หวันบ้างบอกไม่ประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นได้ตัวทวีคูณน้อย และซื้อสินค้าได้เล็กน้อยครับ

ผมต้องเรียนว่าเทียบกันไม่ได้ ไทยเรามีคนมีรายได้น้อยกว่า การแจกแบบนี้จะได้ผลลัพธ์สูงกว่า แถมของเราหลายอย่างถูกกว่าจะซื้อของเพิ่ม Productivity ได้ดีกว่าครับ 

บางคนบอกว่าเราใช้ Government กระตุ้นมากไป ผมก็เรียนว่า การที่รัฐเก็บภาษีจากประชาชนมานี่ มาจากหลายทางครั้งส่วนหนึ่งมาจากเราบริโภคแล้วเสีย Vat นี่แหละครับ เป้าหมายการเก็บภาษี ก็เพื่อไปสร้างถนน จ่ายค่าเรียนฟรี รักษาฟรี และลงทุน ฯลฯ 

แต่อีกเป้าหมายคือการลดความเหลื่อมล้ำครับ คนรวยกำไรมากก็เสียภาษี เราก็เอามาให้คนด้อยกว่าใช้ การที่อยู่ๆ เราบอกประชาชนว่าที่ผ่านมารัฐเก็บภาษีแล้วไปตัดสินใจแทนประชาชนว่าจะเอาเงินไปทำอะไร คราวนี้รัฐยกเงินภาษีของท่านให้ท่านตัดสินใจแทน เป็นการกระจายอำนาจทางการคลัง ที่ผ่านมาก็เคยทำมาก่อน 

นโยบายดังกล่าวมีข้อดี และข้อเสียเราต้องรอบคอบครับเพื่อประเทศที่เรารัก และลูกหลานของเรา

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘กรมราง’ เผย!! รถไฟฟ้าสาย ‘สีม่วง-สีแดง’ ปังไม่หยุด  ชี้!! ราคา 20 บาท ดันผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

(22 ต.ค. 66) นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรกหลังจากมีนโยบายอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท มีผู้ใช้บริการระบบรางรวมทั้งสิ้น 1,199,196 คน-เที่ยว จากเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 1,124,698 คน-เที่ยว ประกอบด้วย

1.) รถไฟระหว่างเมืองของ รฟท. ให้บริการเดินรถไฟ 213 ขบวน มีผู้ใช้บริการรวม 75,524 คน-เที่ยว โดยเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคม มีจำนวน 72,634 คน-เที่ยว แบ่งเป็น ขบวนรถเชิงพาณิชย์ 30,072 คน-เที่ยว และขบวนรถเชิงสังคม 45,452 คน-เที่ยว

2.) รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1,123,672 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 71,608 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81 เทียบเมื่อเสาร์ที่ 14 ตุลาคมมีจำนวน 1,052,064 คน-เที่ยว

โดยรถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 174 เที่ยววิ่ง จำนวน 54,703 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายสีแดง ให้บริการ 294 เที่ยววิ่ง จำนวน 22,317 คน-เที่ยว รวมผู้โดยสารรถไฟทางไกลใช้บริการสายสีแดงฟรี 12 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 44,417 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ให้บริการ 324 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 9 เที่ยววิ่ง) จำนวน 367,629 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้า BTS สายสีเขียว (สายสุขุมวิทและสายสีลม) ให้บริการ 1,102 เที่ยววิ่ง จำนวน 594,520 คน-เที่ยว ,รถไฟฟ้า BTS สายสีทอง ให้บริการ 217 เที่ยววิ่ง จำนวน 8,063 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองให้บริการ 216 เที่ยววิ่ง จำนวน 30,023 คน-เที่ยว

“จากข้อมูลข้างต้น พบว่าวันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์แรก ภายหลังจากดำเนินการตามนโยบายอัตราค่าโดยสารสายสีแดงและสายม่วงสูงสุด 20 บาท เมื่อเทียบกับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้บริการสายสีแดง 22,317 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5,946 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.32 ส่วนสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 44,417 คน-เที่ยวเพิ่มขึ้น 6,880 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.33” นายพิเชฐกล่าว

นายพิเชฐกล่าวว่า นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ใช้บริการสายสีน้ำเงิน367,629 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 32,909 คน-เที่ยวหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.83 เนื่องจากมีสถานีเชื่อมต่อกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน และมีการจัดกิจกรรมที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์นี้ ได้แก่ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 งาน Thailand Gameshow 2023 และงาน Homepro Living Expo โดยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมสายสีน้ำเงินได้จัดขบวนรถเสริมรวม 9 เที่ยววิ่ง

นายพิเชฐกล่าวว่า สำหรับในวันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม นี้ กรมได้ประสานผู้ให้บริการรถไฟฟ้า ติดตามสถานการณ์ผู้ใช้บริการระบบราง และพิจารณาเพิ่มความถี่ ขบวนรถเสริม รวมทั้งเพิ่มบุคลากรในการบริหารจัดการภายในสถานีรถไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการหนาแน่น โดยเฉพาะช่วงเย็นถึงหัวค่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่กรมสุ่มลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานการแก้ไขปัญหาหน้างานอีกด้วย

'อ.พงษ์ภาณุ' ห่วง!! สังคมไทยสูงวัยไม่พอ แต่คนรุ่นใหม่ เมินมีลูก เพราะห่วงภาระบาน

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น สังคมไทยใต้ปีกสังคมสูงวัย และ สถานการณ์ในยุโรปที่ต้องจับตา เมื่อวันที่ 22 ต.ค.66 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

10 ปีที่แล้วโลกเริ่มมีประชากรสูงวัยจากประเทศที่ร่ำรวย เช่น ประเทศญี่ปุ่น สังคมผู้สูงอายุจึงเริ่มเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ได้แก่ คนเสียชีวิตช้าลง คนเกิดน้อยลง ซึ่งปัญหาเด็กเกิดน้อยลงเป็นปัญหาสำคัญในปัจจุบัน โดยอัตราที่เหมาะสมคือแต่ละครอบครัวต้องมีบุตร 2.1 คน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่ปัจจุบันนี้อัตราการเกิดต่ำกว่า 2.1 คน 

สำหรับประเทศไทยอัตราการเกิดเหลือเพียง 1.3 คน ต่อครอบครัว แสดงว่า Generation ถัดไปประชากรจะเริ่มลดลง 

นิด้าโพลสำรวจพบกลุ่มตัวอย่างคนไทย ปรากฏว่าสาเหตุที่ไม่อยากมีลูก…

- ร้อยละ 38.32 ระบุว่า ไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก และเป็นห่วงว่าลูกเราจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน 
- ร้อยละ 37.72 ระบุว่า ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก 
- ร้อยละ 33.23 ระบุว่า ต้องการชีวิตอิสระ 
- ร้อยละ 17.66 ระบุว่า กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี 
- ร้อยละ 13.77 ระบุว่า อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า 
- ร้อยละ 5.39 ระบุว่า สุขภาพตนเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี 
- ร้อยละ 2.10 ระบุว่า กลัวพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย
- และร้อยละ 0.90 ระบุว่า กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อ แม่ 

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงมาตรการที่รัฐควรสนับสนุนเพื่อให้คนไทยมีลูก…

- ร้อยละ 65.19 ระบุว่า สนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก
- ร้อยละ 63.66 ระบุว่า รัฐอุดหนุนค่าเลี้ยงดูลูกจนถึงอายุ 15 ปี 
- ร้อยละ 30.00 ระบุว่า ลดภาษีเงินได้สำหรับคนมีลูก 
- ร้อยละ 29.47 ระบุว่า เพิ่มวันลาให้แม่และพ่อในการเลี้ยงดูลูก 
- ร้อยละ 21.91 ระบุว่า มีเงินรางวัลจูงใจที่สูงสำหรับเด็กแรกเกิด 
- ร้อยละ 19.92 ระบุว่า อุดหนุนทางการเงินแม่ พ่อเลี้ยงเดี่ยว 
- ร้อยละ 17.18 ระบุว่า พัฒนาและอุดหนุนการเงินศูนย์เลี้ยงเด็กเล็ก 
- ร้อยละ 9.85 ระบุว่า มีบริการฟรี ศูนย์ผู้มีบุตรยาก 
- ร้อยละ 7.48 ระบุว่า เพิ่มภาษีเงินได้สำหรับคนไม่มีลูก 
- ร้อยละ 5.50 ระบุว่า รัฐเปิดช่องทางในการอุ้มบุญมากขึ้น
- ร้อยละ 4.89 ระบุว่า รัฐมีหน่วยงานจัดหาคู่ให้กับคนไทย 
- ร้อยละ 2.75 ระบุว่า รัฐไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใด ๆ 
- และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

อาจารย์พงษ์ภาณุ กล่าวถึงตัวอย่างมาตรการที่รัฐควรสนับสนุน เช่น ประเทศสิงคโปร์ มีลูกจ่ายทันที 10,000 เหรียญ และจากผลการสำรวจของนิด้าโพลข้างต้นนี้ สรุปได้ว่าคนไทยอยากให้รัฐจัดสวัสดิการให้ แต่ถ้าเป็นการให้ทุนการศึกษาบุตรหลาน น่าจะเหมาะสมกว่าการสนับสนุนการศึกษาฟรีในประเทศจนถึงขั้นสูงสุดสำหรับคนมีลูก ส่วนปัญหาผู้สูงอายุที่ส่งผลกระทบ ได้แก่...

1.แรงงาน ดูผลของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กำลังแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เห็นว่าจะเกิดภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงวัยขึ้น ถ้าไม่ได้เก็บออมไว้ก่อนอาจประสบปัญหาได้ 

2.ทุน ถึงแม้ผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้เกิดการออมจากกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นก็เป็นไปได้ แต่บางส่วนที่ไม่มีรายได้ ไม่มีบำนาญก็ไม่สามารถลงทุนได้ 

3.เรื่องเทคโนโลยี ผู้สูงวัยมีประสบการณ์มากกว่า แต่เด็กรุ่นใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าต้องผสมผสานให้ดี โดยรัฐควรมองว่าทำอย่างไรให้มีแรงงานเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้คนเกิดมากขึ้นได้หรือไม่ หรือขยายอายุเกษียณราชการให้ช้าลง ซึ่งควรพิจารณาโดยเร็ว 

อีกประเด็นคือ ควรเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาในไทยโดยเฉพาะแรงงานมีฝีมือ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ควรเปิดเสรีแรงงานระดับมืออาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ถ้ารัฐไม่เร่งแก้ไขจะประสบปัญหากับการขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะในภาคบริการในอนาคต

นอกจากเรื่องสังคมผู้สูงวัยแล้ว อาจารย์พงษ์ภาณุ ได้เล่าถึง สถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปในปัจจุบัน โดยกล่าวถึงที่มาของการรวมกันของสหภาพยุโรปหรือ EU ซึ่งยุโรปในอดีตเกิดสงครามเยอะมาก การรวมตัวกันของ EU ก็เพื่อป้องกันการเกิดสงคราม และทำให้ยุโรปมีอำนาจต่อรองมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่มีขนาดเล็ก เกี่ยวกับการค้าขายและการลงทุน 

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็ยังมีข้อเสีย โดยมีวิกฤตเกิดขึ้นมาเป็นครั้งคราว เช่น วิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป ประสบปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง ซึ่งวันนี้ต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจของจีนและสหรัฐอเมริกาขึ้นมาโดดเด่นกว่ายุโรปแล้ว เพราะธุรกิจยุโรปยังอยู่ในอุตสาหกรรมเก่า ซึ่งจีนและสหรัฐอเมริกา มีธุรกิจไอที ที่ก้าวนำยุโรปไปแล้ว 

ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นแกนกลางของยุโรป เช่นเยอรมนี ตอนนี้เศรษฐกิจก็กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์หดตัวลงอย่างรวดเร็ว และมีคู่แข่งรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV จากจีน ซึ่งแตกต่างกับประเทศฝรั่งเศส ที่ลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐานอย่างมหาศาล เศรษฐกิจเข้มแข็ง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้า Luxury แถมยังได้ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่เพื่อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศส รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ทำรายได้หลัก ซึ่งฝรั่งเศสมีนโยบายหลายอย่างที่สนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง 

ขณะที่นโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มของฝรั่งเศสก็ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต ซึ่งแตกต่างกับไทยที่มีนโยบายเก็บภาษีเครื่องดื่มแพงมาก เพราะฉะนั้นประเทศไทยควรมองจุดนี้ แล้วหันมาส่งเสริมนโยบายด้านอาหารและเครื่องดื่มให้มากขึ้นด้วย 

ส่วนบทบาทของไทยกับยุโรป มองว่าควรเจรจาเปิดการค้าเสรี ไทย-ยุโรป อย่างเร่งด่วนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก

‘เพย์ โซลูชั่น’ ผนึก ‘GHL Thailand’ ยกระดับเครื่อง EDC All-in-One เสิร์ฟผ่อน 0% แก่ 9 บัตร 6 ธนาคาร ผ่านเครื่องรูดบัตรเครื่องเดียว

ไม่นานมานี้ 'เพย์ โซลูชั่น' ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของประเทศไทย เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่ง จับมือพันธมิตร 'จีเอชแอล ประเทศไทย' ผู้นำในการให้บริการรับชำระเงินผ่านเครื่องรูดบัตร ชูนวัตกรรมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ แบ่งชำระ 0% ให้ผู้ถือบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดในไทยจาก 6 ธนาคารหลักผ่านเครื่องรูดบัตร All-in-One เพียงเครื่องเดียว หวังช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าทั่วประเทศ

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด (Pay Solutions) ผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินออนไลน์เปิดเผยว่า จากฐานข้อมูลของเพย์โซลูชั่น พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคนับจากสถานการณ์โควิด-19 นั้น มีการชะลอการซื้อสินค้าและนิยมการจ่ายเงินแบบผ่อนชำระเป็นหลัก เห็นได้จากสัดส่วนที่เติบโตมากขึ้นถึง 84% 

อย่างไรก็ตามสำหรับร้านค้าที่ต้องรับการเปิดระบบผ่อนชำระบัตรเครดิต ต้องดำเนินการทีละธนาคาร ซึ่งสิ้นเปลืองการนำเข้าเครื่องรูดบัตรต่างประเทศมาเป็นจำนวนมาก 

นายภาวุธ กล่าวอีกว่า เมื่อต้นปี 2566 เป็นต้นมา พฤติกรรมของผู้บริโภคได้เริ่มปรับคืนสู่วิถีออฟไลน์ คนไทยเริ่มออกไปจับจ่ายซื้อของด้วยตนเองตามหน้าร้านค้าต่างๆ เนื่องด้วยสภาวะแวดล้อมมีความผ่อนคลาย รวมทั้งมีการเปิดประเทศ ส่งผลให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 

โดยผู้บริโภคมีพฤติกรรมในการใช้บัตรเครดิตแทนเงินสดเป็นส่วนใหญ่ เห็นได้จากข้อมูลการชำระเงินด้วยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเครื่องรูดบัตร (EDC) ที่ร้านค้า ดังนี้...

ปี 2565 มีสัดส่วนปริมาณ Offline 73.6% Online 26.4% / จำนวนการใช้บัตรพลาสติกเพื่อการชำระเงิน ณ จุดขายมี 53,323,000 รายการ มูลค่า 139,000,000 ล้านบาท 

ปี 2566 มีสัดส่วนปริมาณ Offline 79.6% Online 20.4% / จำนวนการใช้บัตรฯ 56,118,000 รายการ มูลค่า 151,000,000 บาท 

จากแนวโน้มดังกล่าว ทำให้ 'เพย์โซลูชั่น' ซึ่งเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงินออนไลน์ เชื่อมต่อได้ทั้งหน้าเว็บไซต์แอปพลิเคชัน และโซเชียลมีเดีย ครอบคลุมการรับชำระเงินทุกช่องทางแบบ Omni Channel จึงได้ร่วมมือกับบริษัท จีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด นำนวัตกรรมบริการผ่อนชำระช่องทางออนไลน์มาให้บริการผ่านเครื่อง EDC All-in-One ของจีเอชแอล ซึ่งรองรับได้ถึง 6 ธนาคารหลัก จำนวน 9 บัตรเครดิต ได้แก่...

ธนาคารกสิกรไทย / ธนาคารกรุงเทพ / ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต / กรุงไทย / คาร์ดเอกซ์ / ธนาคารกรุงศรีอยุธยา / เทสโกมันนี่ / กรุงศรีเซ็นทรัลเดอะวัน เเละกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ 

"การที่ลูกค้ามีทางเลือกในการจ่ายเงินที่ตอบสนองความต้องการ ก็จะเพิ่มการตัดสินใจซื้อได้ดีกว่า เป็นโอกาสช่วยเพิ่มรายได้ให้ร้านค้าทั่วประเทศ โดยกลุ่มประเภทสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยม ได้แก่ คลินิกและสถานเสริมความงาม, สินค้าไอที อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เฟอร์นิเจอร์, สินค้าตกแต่งบ้าน, โรงแรมและที่พัก, ร้านอาหาร เเละสินค้าแบรนด์เนม เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงเครื่องรูดบัตรได้ดีขึ้น ลดความยุ่งยาก ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายค่าเครื่อง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต" นายภาวุธ กล่าว

ด้าน นายปริญญา จินันทุยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอชแอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว ว่า GHL เป็นผู้นำในการให้บริการรับชำระเงินในภูมิภาคอาเซียน ได้เปิดดำเนินการธุรกิจในประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี โดยให้บริการผ่านเครื่อง EDC แบบครบวงจร ให้บริการรับชำระเงินทุกรูปแบบทั้งบัตรเดบิต/เครดิต, QR พร้อมเพย์ และ e-wallets ทั้งในและต่างประเทศไว้ใน EDC All-in-One เพียงเครื่องเดียว 

โดยในปัจจุบันมีจุดให้บริการรวมกว่า 15,000 จุด อาทิ กลุ่มร้านค้าปลีก ร้านอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มโรงแรมและการบริการต่างๆ ทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการยกระดับเครื่อง EDC All-in-One จึงได้ร่วมมือกับ Pay Solutions ในการพัฒนาการบริการ Multi-Bank Installment เพื่อตอบโจทย์ร้านค้าในการรับผ่อนชำระได้มากยิ่งขึ้น 

"จากเดิมที่ต้องสมัครขอใช้บริการกับแต่ละธนาคารโดยตรงหนึ่งต่อหนึ่ง ซึ่งมีขั้นตอนและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ต้องวาง EDC หลายเครื่อง และแต่ละเครื่องก็ใช้งานต่างกัน แต่ปัญหาเหล่านี้จะหมดไปด้วย EDC All-in-One ของ GHL เพียงเครื่องเดียว ที่สามารถให้แบ่งจ่าย 0% ด้วยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดของธนาคารหลักในประเทศไทยได้ถึง 6 ธนาคาร และในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อรองรับบัตรของธนาคารอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ที่ช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านค้านอกจากการรับชำระเงินแบบเต็มจำนวน ประหยัดเวลาดำเนินการ ประหยัดพื้นที่ในการวางเครื่อง และตรวจสอบรายการได้ง่าย" นายปริญญา กล่าวเสริม

ปัจจุบัน EDC All-in-One ของ GHL ได้เริ่มให้บริการที่กลุ่มร้านค้า อาทิ วินเซนต์คลีนิก, โฮมพลัส เฟอร์นิเจอร์ มอลล์, และศูนย์จำหน่ายสินค้าแม่และเด็กมัมแอนด์มีสโตร์ เป็นต้น และคาดว่าจะขยายการให้บริการมากกว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

ด้าน นพ.พงษ์ธีระ เศรษฐ์ธนาวรากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วินเซนต์คลินิก ศูนย์ศัลยกรรมความงามและดูแลผิวหนังครบวงจร ที่มีสาขาเปิดให้บริการ 7 แห่งทั่วประเทศไทย ซึ่งเป็นร้านค้าผู้ใช้งานเครื่องรูดบัตร EDC All-in-One ได้สะท้อนถึงบริการดังกล่าวไว้ด้วย ว่า...

"วิสัยทัศน์ของบริษัทฯ คือ Innovation VINCENT ซึ่งได้มีการนำเทคโนโลยีด้านศัลยกรรมใหม่ๆ มาให้บริการลูกค้า นอกจากนั้นก็ยังได้นำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารงานเเละดำเนินธุรกิจ ตอกย้ำการก้าวสู่คลินิกศัลยกรรมอันดับ 1 ในด้านนวัตกรรมอย่างแท้จริง" สอดคล้องกับ พญ.ปราณปริยา อึ้งตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ที่ได้กล่าวเสริมถึงบริการผ่อนชำระแบบ Multi-Bank Installment ด้วยบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดผ่านเครื่อง EDC ว่า "การมีตัวช่วยทางการเงิน การให้ทางเลือกชำระเงินที่มีความยืดหยุ่น จะเป็นการสนับสนุนให้ลูกค้าได้ดูเเลตัวเองตามที่ต้องการ โดยเชื่อมั่นว่าภาพลักษณ์เเละบุคลิกภาพที่ดีจะช่วยเสริมความมั่นใจ เสริมดวงชะตาตามหลักความเชื่อ เเละส่งเสริมการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น"

สำหรับโดยผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.paysolutions.asia หรือติดตามข่าวสารอื่นๆ ได้ที่ www.facebook.com/paysolutionsdotasia โทรศัพท์ 0 2821 6163, 081 145 5996, 081 752 8722 ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ชู THAItertainment ต่อยอดความสนุกหน้าเตาแก่ทุกชนชาติ เดินหน้าดัน 'GON กระทะ รวมดาวบันเทิงรส' ชิงใจนักท่องเที่ยวช่วงสิ้นปี

(21 ต.ค.66) ปัจจุบันเมื่อพูดถึง ‘หมูกระทะ’ มีหลากหลายแบรนด์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาและกลายเป็นที่นิยมมากทั้งในหมู่ลูกค้าไทยและลูกค้าต่างชาติ เมื่อมาเยือนประเทศไทย จนนับได้ว่าเป็นหนึ่งสิ่งที่กลายเป็น Soft Power สำหรับชาวไทย

เฉกเช่นเดียวกันกับ ‘บาร์บีคิวพลาซ่า’ ปิ้งย่างเจ้าดัง ที่ได้นำส่วนผสมและความบันเทิงต่างๆ ของหมูกระทะมาถ่ายทอดในแบบฉบับของตนเองในช่วงที่ผ่านมา และล่าสุดกับเป็น ‘GON กระทะ รวมดาวบันเทิงรส’ ชุดอาหารใหม่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ THAItertainment ความสนุกแบบไทยๆ ให้บันเทิงทุกสัมผัส โดยเปิดตัวทีเซอร์ไปก่อนหน้านี้ ที่เจ้า GON พาสำรวจลงพื้นที่ตามแหล่งหมูกระทะต่างๆ และการทำโฆษณาแบบดั้งเดิมตามฉบับคนไทยที่แปะประกาศขายตรงตามเสาไฟฟ้าริมถนน

รัฐ ตระกูลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด กล่าวว่า หมูกระทะคือ รสชาติที่คนไทยคุ้นเคยและชื่นชอบมาโดยตลอด ประกอบกับความสนุกหน้าเตา เมื่อได้กินของอร่อยที่ถูกปาก และใช้เวลาอยู่กับคนตรงหน้าที่ถูกใจ ซึ่งตรงกับสิ่งที่แบรนด์พยายามจะสื่อสารมาตลอด และอีกเป้าหมายที่สำคัญ ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์คนไทย เราจึงอยากยกระดับอาหารไทยให้เป็น Soft Power ผนวกความเป็นไทยเข้าไว้ด้วย คือ คนไทยรักความสนุก สุขง่ายๆ ไม่ต้องไว้เชิงกัน หรือ THAItertainment 

ดังนั้น แคมเปญนี้ จึงมัดรวมความสนุก ตั้งแต่โมเมนต์การกินให้ลูกค้าบันเทิงรสไปกับประสบการณ์ใหม่ของหมูกระทะ ที่มาพร้อมกับ 2 น้ำจิ้มสูตรเด็ดสไตล์ไทย บันเทิงลิ้นไปกับกิจกรรม Challenge ที่ดึงเอาความขี้เล่นของคนไทยจากหลายๆ ภาคมาไว้ด้วยกัน และการบันเทิงเสิร์ฟจากพนักงานที่มีใจรักบริการ พร้อมส่งมอบความสุขผ่านมื้ออาหาร 

สุดท้ายนี้ เราคาดหวังว่าความสนุกระดับประเทศครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแรงกระเพื่อมสำคัญ ที่ส่งไปถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี รวมถึงขยายผลต่อไปยังภาคเศรษฐกิจของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top