Friday, 9 May 2025
ECONBIZ NEWS

'รมว.ปุ้ย' สั่ง สมอ.คุมเข้ม 'สินค้าด้อยคุณภาพ-ราคาถูก' แพลตฟอร์มข้ามชาติ พร้อมเดินหน้าจัดเก็บภาษี 'อีคอมเมิร์ซ' สร้างความเป็นธรรมในการแข่งขัน

(14 ส.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติได้เข้ามาบุกตลาดสินค้าไทย ได้ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อธุรกิจ SME รวมถึงความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กระทรวงอุตสาหกรรม ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเร่งดำเนินการตามภารกิจ 'Quick win' เพื่อสกัดกั้นสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ทั้ง 144 รายการ ที่ สมอ. สามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของประชาชน 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังไม่ครอบคลุมสินค้าที่มีการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 รายการ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการควบคุมและกำกับติดตาม ทั้งกระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงดิจิทัลฯ,  กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมทั้ง พิจารณาให้มีการจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. ได้เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งภารกิจ 'Quick win' กวาดล้างสินค้าด้อยคุณภาพที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 จนถึง เดือนกรกฎาคม 2567 ได้ยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานเป็นมูลค่า 322,420,097 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน มูลค่า 92,767,374 บาท คิดเป็น 29% จากทั้งหมด

นอกจากนี้ สมอ. ยังได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเพิ่มในปีนี้อีกจำนวนกว่า 1,400 มาตรฐาน จากเดิมที่ประกาศใช้แล้วจำนวน 2,722 มาตรฐาน และอยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมอีกจำนวน 52 มาตรฐาน เพิ่มเติมจากเดิมจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ภาชนะและเครื่องใช้สแตนเลส กระทะ/ตะหลิว/หม้อ/ช้อน/ส้อม/ปิ่นโต/ถาดหลุม/ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร/ถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ/เตาหุงต้มในครัวเรือนใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลว/ท่อยางและท่อพลาสติกสำหรับใช้กับก๊าซหุงต้ม/ฟิล์มติดกระจกสำหรับรถยนต์/ภาชนะพลาสติกสำหรับบรรจุน้ำบริโภค/ที่รองนั่งไฟฟ้าสำหรับโถส้วมนั่งราบ/ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก และแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

นอกจากการดำเนินการข้างต้น สมอ. ยังมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อป้องกันการเข้าถึงแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหม่เพิ่มเติม ดังนี้...

1) เร่งทำความเข้าใจและชี้แจงข้อกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ให้บริการขนส่งสินค้า และให้บริการดำเนินพิธีการศุลกากร (Shipping) เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 
2) สร้างความตระหนักให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายมาตรฐานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ 
3) บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพื่อการนำเข้าสินค้าที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 
4) บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) เกี่ยวกับการควบคุมแพลตฟอร์มออนไลน์  
และ 5) บูรณาการการทำงานกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างยั่งยืน

ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ EA รุ่น EA249A เลื่อนโหวตไปเป็น 23 สิงหาคม เหตุไม่ครบองค์ประชุม

(14 ส.ค. 67) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ได้มีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น EA249A  เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ไปปรากฏว่ามีจำนวนผู้ถือหุ้นกู้และผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมไม่ครบเป็นองค์ประชุม 

สำหรับการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2567 ของหุ้นกู้รุ่น EA249A ในวันนี้มีจํานวนผู้เข้าร่วมประชุม 889 คน คิดเป็น 1,900,600 หน่วย หรือ คิดเป็นร้อยละ 47.5 ตามกำหนดต้องมีผู้ถือหุ้นเป็นจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 66 ของทั้งหมดจึงจะครบองค์ประชุม 

จึงจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ออกไปเป็นการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2567  ในวันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 10:00 น. ซึ่งบริษัทจะส่งหนังสือเชิญประชุมให้กับผู้ถือหุ้นกู้อีกครั้ง โดยในครั้งถัดไปจะต้องมีองค์ประชุมมาเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของหุ้นกู้ที่ยังไม่ได้ไถ่ถอน ทั้งนี้ มั่นใจว่าในครั้งหน้าจะครบองค์ประชุม และได้รับการอนุมัติ

'สุริยะ' ชวน 'ญี่ปุ่น' ลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย พร้อมดึงร่วมพัฒนาระบบ AGT 'สายสีน้ำตาล-เทา-สีเงิน'

เมื่อวานนี้ (13 ส.ค. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้การต้อนรับ นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ณ ห้องรับรอง กระทรวงคมนาคม โดยได้หารือถึงความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยและหน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น พร้อมติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า วันนี้ได้มีโอกาสหารือในประเด็นการขอรับความช่วยเหลือด้านการซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงจากญี่ปุ่น โดยให้ความสนใจกับกลุ่มบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านรถไฟที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง การบำรุงรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย อีกทั้งได้เชิญชวนญี่ปุ่นพิจารณาร่วมลงทุนในโครงการส่วนต่อขยายรถไฟสายสีแดง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ 

1) บางซื่อ - พญาไท - มักกะสัน - หัวหมาก และบางซื่อ - ห้วยลำโพง 
2) รังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 
และ 3) ศิริราช - ตลิ่งชัน - ศาลายา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งเมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นจะเป็นโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟของญี่ปุ่นในการพิจารณาลงทุนก่อสร้างต่อไป 

นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ด้วยความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีระบบขนส่งมวลชนนำทางอัตโนมัติ (AGT) มาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีทอง เราจึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับญี่ปุ่นในการต่อยอดเทคโนโลยีนี้ไปยังโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล, สายสีเทา และสายสีเงิน และขอขอบคุณญี่ปุ่นสำหรับความร่วมมือในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะบางซื่อ ระหว่างองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองแห่งญี่ปุ่น (UR) กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งผลลัพธ์ของโครงการได้เน้นย้ำถึงความสำคัญการพัฒนาโครงการที่ผสมผสานการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีขนส่ง (TOD) ในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศในการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์และการขนส่งในภูมิภาคอาเซียน"

ในส่วนของความร่วมมือระหว่างกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) กับกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ภายใต้ความตกลงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย - ญี่ปุ่นด้านการจัดการจราจรและเทคโนโลยีทางถนนนั้น ที่ผ่านมาได้มีการหารือและการเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ ระบบ SCADA (ระบบตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลแบบ Real-Time) และโครงการก่อสร้างอุโมงค์และสะพาน โดยกระทรวงคมนาคมจะให้การสนับสนุนการศึกษาดูงานระหว่างกันอย่างต่อเนื่องต่อไป

'นายกฯ' ไม่ฟันธง!! 'เทสลา' ปรับแผนลงทุนในไทย ยัน!! ตอนคุยผู้บริหาร มีระบุ 'จะลงทุนในอินเดีย-สนใจลงทุนไทย'

(13 ส.ค. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีข่าวที่เทสลาปรับเรื่องแผนการลงทุนในไทย นายกฯ ทราบเรื่องนี้หรือไม่ ว่าไม่ทราบ ทางทีมงานยังคุยอยู่ ปัจจุบันเรื่องความอ่อนไหวทางด้านตลาดดีมานด์ของรถอีวีมีสูง เข้าใจว่าตอนนั้นที่คุยกันอยู่เขาเลือกดูอินเดียอยู่ และเขาคงไปแน่นอน เพราะมีตลาดความต้องการปริมาณสูงมาก ซึ่งเป็นประเทศที่เขาดูอยู่ แต่ถ้าเขาจะสร้างก็สร้างที่ประเทศไทย ตนทราบแค่นี้

‘รัฐบาล’ ยัน!! ‘ทุนจีน’ ซื้อกิจการรถทัวร์ในประเทศไทยไม่ได้ เหตุใบอนุญาตประกอบกิจการขนส่งไม่สามารถโอนต่อได้

(13 ส.ค.67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อกรณีที่เป็นกระแสความสงสัยในสังคม ว่า ทุนจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยทำให้คนไทยเสียผลประโยชน์นั้น ขอให้ทุกฝ่ายในสังคมพิจารณาอย่างถ้วนถี่โดยใช้หลักการและเหตุผล โดยขอชี้แจงตามข้อมูลจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ต่อกรณีการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างประเทศในธุรกิจร้านอาหาร และมีการกล่าวอ้างว่า ธุรกิจร้านอาหารปิดกิจการถึง 50% นั้น ไม่เป็นความจริง แม้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลาย แต่ยังมีการจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ไทยมีนิติบุคคลดำเนินธุรกิจร้านอาหารอยู่ 23,414 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก 97.46% (22,819 ราย)

ในช่วง 7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม 2567) มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารใหม่ 2,472 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 926 ราย ชลบุรี 258 ราย ภูเก็ต 192 ราย เชียงใหม่ 165 ราย และสุราษฎร์ธานี 122 ราย

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ดูแลช่วยเหลือภาคธุรกิจร้านอาหาร ด้วยการเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการร้านอาหารของไทยสามารถปรับตัว แสวงหาโอกาส และรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยให้ร้านอาหารเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือผู้เชี่ยวชาญธุรกิจร้านอาหารร่วมกันสร้างสรรค์ 7 กิจกรรม ดังนี้

1) ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจร้านอาหารอย่างมืออาชีพ ผ่านหลักสูตร Smart Restaurant Plus ปัจจุบันมีร้านอาหารผ่านการพัฒนาจากกรมแล้วกว่า 3,000 ราย

2) ยกระดับมาตรฐานร้านอาหารไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thai SELECT

3) กระตุ้นยอดขายเพิ่มรายได้ร้านอาหาร ผ่านแคมเปญ “เที่ยว ฟิน กิน Thai SELECT” โดยร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Soft Power อาหารไทย

4) ส่งเสริมช่องทางการตลาด ผ่านการจำหน่ายอาหารในงานเทศกาลอาหารต่าง ๆ และแพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรีชั้นนำ

5) เสริมสร้างการรับรู้ให้แก่ร้านอาหารไทยและตราสัญลักษณ์ Thai SELECT ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านผู้ทรงอิทธิพลบน Social Media (Influencer)

6) การเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวกับร้านอาหาร โดยได้นำร่องแล้ว 10 เส้นทาง อาทิ จ.นครราชสีมา เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น และมีเป้าหมายเพิ่มขึ้นให้ครบทุกภูมิภาคต่อไป

7) สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร ผ่านกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจของผู้ประกอบร้านอาหาร และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การเพิ่มคู่ค้าและต่อยอดธุรกิจ

นอกจากนี้ ได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น โดยนำกิจการมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น

ส่วนประเด็นรถทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลกลุ่มทุนต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จ คือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งเดินหน้าทำงานกับหน่วยงานพันธมิตรด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อกำกับดูแลให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทย จากการเข้ามาแข่งขันและจัดตั้งธุรกิจโดยผิดกฎหมายของต่างชาติ ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบธุรกิจที่มีลักษณะนอมินี หรือให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อหลีกเลี่ยงการขออนุญาตประกอบธุรกิจตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจบริการตามบัญชีท้าย พ.ร.บ. และต้องการถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ต้องเข้าสู่กระบวนการขออนุญาตโดยถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทจากประเทศจีน ซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและเดินรถ เริ่มเข้ามาเจรจาจะขอซื้อกิจการรถทัวร์ในประเทศไทย ว่าไม่สามารถทำได้

โดยกรมการขนส่งทางบกได้ชี้แจงว่า ใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางและใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร ไม่สามารถโอนใบอนุญาตประกอบการขนส่งจากนิติบุคคลรายหนึ่งไปให้นิติบุคคลอีกรายหนึ่งได้ รวมทั้งได้ชี้แจงด้วยข้อกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสาร กรณีที่เป็นนิติบุคคลว่าจะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและมีสำนักงานใหญ่อยู่ในราชอาณาจักรไทย รวมถึงกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทยและทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุญาตโดยถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ห่วงใยต่อความรู้สึก กำลังใจของประชาชนในการดำรงชีวิต เข้าใจดีว่าประชาชนมีความท้าทายที่หลากหลาย และไม่ต้องการให้กำลังใจของประชาชนถูกบั่นทอนด้วยข่าวบิดเบือน รวมทั้งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รักษาสิทธิประโยชน์ของคนไทยอย่างสูงสุด” นายชัย กล่าว

‘รมว.พาณิชย์’ รับ!! แพลตฟอร์ม ‘TEMU’ สะเทือน SME ชี้ ไม่นิ่งนอนใจ ลุยถก 8 หน่วยงาน วางมาตรการรับมือ

(13 ส.ค. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยผ่านเฟชบุ๊กวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ว่า การเข้ามาของ TEMU ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก ในประเทศไทยถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างมาก

ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เนื่องจาก TEMU เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง

ซึ่งผมคิดว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SME

นี่คือ แนวโน้มและทิศทางการค้าของโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงซึ่งเราจะต้องทำความเข้าใจ รู้ทัน และ ปรับตัว ในยุคที่เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าใหม่โดยเฉพาะ E-commerce ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การปรับตัวเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความตระหนักที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องให้ความสำคัญเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตในตลาดที่แข่งขันสูงขึ้น

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทหลักในการกำกับดูแลและส่งเสริมการค้าออนไลน์ให้มีความเป็นธรรมและยั่งยืนในภาพรวมทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มใด ๆ ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้จัดประชุมร่วมกับตัวแทนจาก กระทรวงการคลัง, กระทรวงดิจิทัลฯ, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงสาธารณสุข, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)

เพื่อหารือและพิจารณาถึงผลกระทบของผู้บริโภค และผู้ประกอบการ จาก E-Commerce ทุก platform ที่ส่งเข้ามานั้นว่าได้มาตรฐานตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศไทยหรือไม่ อาทิ มาตรฐาน มอก. มาตรฐานของ อย. เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

รวมทั้งยังพิจารณาถึง การจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน โดยการกำหนดนโยบายการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เสียภาษีอย่างถูกต้องและไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กัน คือการส่งเสริมและสนับสนุน SME ทั้งการพัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงตลาดใหม่โดยสร้างช่องทางการตลาดใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ในการบุกตลาดใหญ่อย่างประเทศจีน เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SME

อาทิ การจัดมหกรรม Live – Commerce ในช่วงเดือนกันยายน โดยให้ Influencer จากต่างประเทศ เข้ามาคัดเลือกสินค้าไทย นำไปจัด Live เพื่อขายสินค้าจากประเทศไทยไปยังผู้บริโภคในประเทศจีน

ซึ่งขณะนี้ได้มีการสำรวจสินค้าไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของคนจีนจำนวนกว่า 500 รายการสินค้า เพื่อทำการซื้อขายดึงเม็ดเงินจากการส่งออกสินค้าเข้าสู่ประเทศ ซึ่ง เป้าหมายครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณมากกว่า1,500 ล้านบาท

การค้าของโลกในปัจจุบันกำลังปรับเปลี่ยน ผมคิดว่าเมื่อเราต้องเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องอยู่ในคลื่นของการเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องมีมาตรการคุ้มครองตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้อยู่ในสถานะที่มีความสามารถแข่งขันได้ หลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้แต่มุ่งแสวงหาความร่วมมือ อันน่าจะเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับการค้าในโลกปัจจุบัน

การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติต่าง ๆ ในประเทศไทยนั้นรัฐบาลจึงจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพื่อช่วยปกป้องดูแลภาคธุรกิจไทย และพิจารณา ให้ครอบคลุมเพื่อรับมือกับผลกระทบและส่งเสริมโอกาสที่เกิดขึ้น เพื่อการสร้างความสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภค การสนับสนุน SME และการส่งเสริมการค้าเสรีและนวัตกรรม ซึ่งจะช่วยให้การเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว

“ขอให้มั่นใจรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเร่งประสานทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเร่งด่วนที่สุด”

‘กรมโรงงานฯ’ เผยสถิติโรงงาน ใกล้เคียงค่าเฉลี่ย 5 ปี มีแนวโน้มที่ดี ส่งสัญญาณบวก 7 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินลงทุนเพิ่มกว่า 1.6 แสนล้าน จ้างงานเพิ่มกว่า 2.5 หมื่นคน

(12 ส.ค. 67) นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สถิติการปิดโรงงาน (เลิกประกอบกิจการ) ในช่วง7เดือนแรกในปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม 2567 )พบว่า มีโรงงานเลิกประกอบกิจการ จำนวน 667 โรง และมีโรงงานเปิดใหม่ แจ้งประกอบกิจการแล้ว จำนวน 1,260 โรง คิดเป็นอัตราส่วนร้อยละ 54 ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

"เมื่อหักลบโรงงานที่ปิดตัวลง ใน 7 เดือนแรกของปีนี้ จากยอดโรงงานใหม่ มีเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 167,691 ล้านบาท และมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 25,663 คน" นายจุลพงษ์กล่าว

ส่วนสถิติการปิดโรงงาน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยปีละ 1,254 โรง ในขณะที่มีการเปิดโรงงานใหม่ (รับใบอนุญาตและแจ้งประกอบแล้ว) เฉลี่ยปีละ 2,360 โรง คิดเป็นอัตราส่วนเฉลี่ยร้อยละ 53 หากคิดรายปีพบว่า ตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2566 อัตราส่วนการเลิกประกอบกิจการเท่ากับร้อยละ 69 ร้อยละ 36 ร้อยละ 28 ร้อยละ 52 และร้อยละ 84 ตามลำดับ

ก่อนหน้านี้ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าสถานการณ์ภาคการผลิตของไทยหดตัว ถึงแม้ว่า 6 เดือนแรกของปี 2567 จะมีการเปิดโรงงานกว่า 1,009 โรง เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.67 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติที่ย้ายฐานผลิตมาไทยไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ PCB และรถอีวีจากจีนที่เข้ามาลงทุนผ่าน BOI ขณะที่ตัวเลขพบว่ามีโรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้นกว่า 667 โรง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 86.31 หรือเฉลี่ย 111 โรงต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก(SMEs )ที่มีมูลค่าโรงงานเฉลี่ยต่อโรงอยู่ที่ 27.12 ล้านบาท

'อ.พงษ์ภาณุ' ชี้ 3 ตัวแปร Black Monday ตลาดหุ้นทั่วโลก 'AI ไม่ปังดังหวัง-ญี่ปุ่นปรับขึ้นดอกเบี้ย-สหรัฐฯ ว่างงานพุ่ง'

จากรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 11 ส.ค.67 ได้พูดคุยในประเด็น 'Black Monday ตลาดหุ้นทั่วโลก: ไทยเตรียมรับแรงกระแทกอย่างไร?' โดยมี 'อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์' อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ได้พูดถึงประเด็นนี้ ว่า...

ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญที่สุดกลไกหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม แต่การที่ตลาดทุนมีอารมณ์ผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อวันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม และ 2-3 วันก่อนหน้า ทั้ง ๆ ที่ 2 สัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดโตเกียวต่างก็ทำสถิติ New High มาด้วยกัน บรรยากาศความโลภ (Greed) ถูกแทนที่ด้วยความกลัว (Fear) ภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ จึงต้องถือว่าตลาดทุนได้ส่งสัญญาณบางอย่าง ซึ่งผู้วางนโยบายเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมิอาจที่จะละเลยได้

ประการแรก Artificial Intelligence-AI คือทางออกของโลกจริงหรือไม่ ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นนิวยอร์กได้รับอานิสงส์จากความคาดหวังในอนาคตของธุรกิจ AI และบริษัท Tech Firms ต่าง ๆ อาทิ Apple, Amazon, Alphabet, Meta และ Microsoft เมื่อผลประกอบการที่ประกาศออกมาไม่เป็นไปตามคาด ประกอบกับแนวโน้มความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์โลกซึ่งจะมีผลต่ออุตสาหกรรมผลิต Chips จึงก่อเกิดผลกระทบรุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก

ประการที่สอง ตลาด Unwind Yen Carrytrade การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในรอบหลาย 10 ปี ในสถานการณ์ที่ธนาคารกลางสำคัญรวมทั้ง Fed กำลังและเตรียมที่จะลดดอกเบี้ย ได้ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลสำคัญของโลกเคลื่อนไหวอย่างรุนแรง และได้ก่อให้เกิดการปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุน (Portfolio Rebalancing) ของนักลงทุนทั่วโลก ที่เคยกู้เงินเยนมาลงทุนในตราสารสกุลดอลลาร์ แต่ตลาดที่ได้รับผลโดยตรงและแรงที่สุดก็คือ ตลาดนิวยอร์กและตลาดโตเกียว ซึ่งมีดัชนีร่วงลงกว่า 10%

ประการสุดท้ายและน่าจะเป็นสาเหตุสําคัญที่สุด คือความกลัว Recession แม้ สหรัฐฯ รอดพ้นจาก Recession มาตลอดระยะเวลา 2 ปีกว่าที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยจาก 0 มาเป็น 5.5% ในปัจจุบัน แต่ความกลัวดังกล่าวเริ่มเข้าใกล้ความจริงยิ่งขึ้นเมื่อตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ ประจำเดือนกรกฎาคมมีการประกาศออกมาอยู่ที่ 4.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี การที่ Fed ไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบที่แล้วก็ทำให้ตลาดผิดหวังมาทีหนึ่งแล้ว แม้ว่า ประธาน Jerome Powell จะได้ออกมาปลอบว่า Fed เตรียมพร้อมลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งหน้าในเดือนกันยายน โดยตลาดเชื่อว่าอาจจะมีการลดถึง 50%

ในด้านของตลาดไทย ถึงจะได้รับผลกระทบอยู่บ้างในช่วงแรก แต่ก็สามารถตีกลับสู่ปกติอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ในระยะปานกลาง-ยาว แต่ตลาดไทยก็น่าจะได้รับผลบวกจากความผ่อนคลายแรงกดดันต่าง ๆ จากการลดดอกเบี้ยของ Fed 

ส่วน ‘ธนาคารแห่งประเทศไทย’ แม้จะไม่ค่อยจะมีความห่วงใยต่อปากท้องชาวบ้านเท่าไหร่ ก็ควรจะเลิกทำตัวเป็นตัวตลก และกลับตัวกลับใจมาทำหน้าที่ของตนที่ควรจะเป็นในการร่วมมือกับรัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชาติเสียที มิเช่นนั้นคนไทยอาจจะลืมว่าประเทศไทยก็มีธนาคารกลางกับเขาเหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา ธปท.ทำตัวเหมือนจ่าเฉยที่มีอยู่ตามแยกจราจรทั่วไป แทนที่จะเป็นธนาคารกลางที่ดีเช่นธนาคารกลางชั้นนำอื่น ๆ

‘เศรษฐา’ ปลื้ม ‘ค่ายซินบีมวยไทย’ ที่ภูเก็ต นักท่องเที่ยวต่างชาติ เรียนกันแน่นค่าย เล็งต่อยอดซอฟต์พาวเวอร์ ดันศิลปะการต่อสู้ สร้างรายได้ ให้เป็นห่วงโซ่ทางธุรกิจ

(11 ส.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพการฝึกซ้อมมวย พร้อมระบุข้อความผ่าน x หรือทวิตเตอร์ ว่า ...

“ภูเก็ตมีฝรั่งปิดซอยต่อยกันแล้วครับ”

เพื่อนคนภูเก็ตบอกผมและให้ดูรูปค่ายมวยไทย ฟังแล้วน่าสนใจ จุดประกายต่อยอดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ การท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและธุรกิจเกี่ยวกับ Mixed martial arts ได้มากเลยครับ

ในภูเก็ตมีค่ายมวยกว่า 300 แห่ง ทั้งค่ายใหญ่ค่ายเล็ก มีรูปแบบการสอนหลากหลาย อย่างในรูปนี่คือ ‘ค่ายซินบีมวยไทย’ ที่หาดในหาดเป็นค่ายมวยขนาดกลางมีครูประมาณ 30 คน

ทำให้ผมรู้ว่าที่ภูเก็ตมี Muay Thai Village ซึ่งตั้งอยู่ใน ‘ซอยตาเอียด’ ต.ฉลอง ในซอยนั้นมีค่ายมวยหลายสิบค่าย และค่ายที่ใหญ่สุดคือค่ายมวยไทเกอร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก ไทเกอร์มวยไทยมีครูกว่า 100 คน มีนักเรียนลงทะเบียนเรียนตลอด 1 ปีที่ผ่านมากว่า 80,000 คน มีเวที 12 เวที สำหรับจัดการแข่งขัน คิดดูครับค่ายมวย 1 ค่ายนี้จะนำมาสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขนาดไหน

อย่างแรกเลย นักเรียนมวยเหล่านี้ มาเรียนชกมวยคอร์สเริ่มต้น ก็ 15 วันแล้ว และมีคอร์ส 1 เดือน จนไปถึงหลายเดือน บางทีก็มาเรียนกันทั้งครอบครัว รวมเด็กเล็กๆ ก็มาเรียนกับพ่อแม่ด้วย และนี่ทำให้เราได้นักท่องเที่ยวแบบ ‘พำนักระยะยาว’ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่คุ้มค่ากับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เราต้องลงทุนไปกับการท่องเที่ยว

เมื่อพำนักระยะยาวแล้วก็มีธุรกิจตามมาหลายอย่าง แค่ใน ‘ซอยตาเอียด’ ที่เดิมเป็นพื้นที่สวนยาง ชาวบ้านก็ปรับเปลี่ยนบ้านตัวเองเป็นที่พักอาศัย มีร้านอาหาร ร้านขายของ ร้านซักผ้า เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับรากฝอย กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน

สินค้าที่เกี่ยวข้องกับค่ายมวยก็เป็นที่นิยม เช่น กางเกงมวยจากค่ายดังๆ อย่างไทเกอร์มวยไทย ใส่กันไปทั่ว เป็นของขายที่มีราคา กางเกง เสื้อชื่อค่ายมวย ประเจียดคล้องคอ ประเจียดรัดแขน และมงคลประเจียด (ที่คาดหัว) สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศ ทำเงินให้กับผู้ผลิตและผู้ขายอย่างมหาศาล

เมื่อนักเรียนมวยเรียนจบแล้วก็มี ‘เวที’ ให้ขึ้นชก ขายบัตรเข้าชมได้ และเมื่อนักเรียนได้แต่งตัว ไหว้ครูขึ้นชกเหมือนเป็นมืออาชีพ มีรูปลงโซเชียลมีเดียก็ทำให้คนอยากมาเรียนกันอีก

สุดท้ายที่น่ายินดี คือ ‘ครูมวย’ คือ นักมวยอาชีพที่เลิกชกแล้ว พวกเขาได้ทำหน้าที่สืบสานศิลปะการต่อสู้ของไทยอย่างมีศักดิ์ศรีและมีรายได้ นักมวยที่มีดีกรีได้ครองเข็มขัดแชมป์จากสนามมวยลุมพินี หรือสนามมวยราชดำเนิน ก็สามารถหารายได้ได้ถึงชั่วโมงละ 2,000 บาท เท่ากับว่า อายุงานของนักมวยอาชีพไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นนักมวย แต่คือการเป็นเทรนเนอร์มวยไทยที่ยิ่งมากประสบการณ์ค่าตัวยิ่งสูงยิ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

มวยไทยอยู่ใกล้ตัวคนไทยและเราชินที่จะเห็นมวยไทยเป็นแค่กีฬาขึ้นชกบนเวที แต่การเติบโตของค่ายมวยอย่างไทเกอร์ที่ตอนนี้เปิดที่สิงคโปร์ ที่จีน หรือค่ายซินบี ทำให้เรามองมวยไทยในฐานะที่เป็นหนึ่งใน Mix martial arts และมีโอกาสขยายเป็นธุรกิจท่องเที่ยว กีฬา แฟชั่น ไปจนถึงเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาวิทยาศาสตร์การกีฬาในประเทศไทย

ทั้งหมดคือห่วงโซ่ทางธุรกิจที่จะสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับผู้คนได้กว้างขวาง ผมอยากให้ทั้ง ฝรั่ง จีน แขก ไทย อยากมาปิดซอยเรียนต่อยมวยที่ประเทศไทยครับ นายเศรษฐา ระบุทิ้งท้าย 

‘เศรษฐา’ สั่งติดตามการค้าชายแดน หนุนจัด ‘มหกรรมการค้า’ ชี้!! 6 เดือน ขยายตัวดีขึ้น ส่งสัญญาณบวก ทำมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่ม

(11 ส.ค. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการหน่วยงานเกี่ยวข้อง ดำเนินนโยบายระหว่างประเทศด้วยความเป็นมิตร ส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันในทุกระดับ เพื่อเพิ่มตัวเลขมูลค่าการค้าชายแดน-ผ่านแดน โดยให้ติดตามสถานการณ์การค้าอย่างใกล้ชิด เชื่อว่าเป็นตลาดที่สำคัญของการส่งออกสินค้าของไทย เพื่อต่อยอดเพิ่มพูนประโยชน์ทางด้านการค้าระหว่างประเทศกับเพื่อนบ้านและประเทศคู่ค้าและความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชนในพื้นที่ และเพิ่มมูลค่าการค้าให้เศรษฐกิจไทย

โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 การค้าชายแดน-ผ่านแดน ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งสัญญาณบวก ขยายตัวที่ 3.6% จึงสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดนใน งานมหกรรมการค้าชายแดนปี 2567 กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน สร้างพันธมิตรทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศคู่ค้า สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทย

นายชัย กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินนโยบายตามแนวทางของนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์การค้าชายแดนและผ่านแดนอย่างใกล้ชิด จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 ที่มีสัญญาณที่ดี อยู่ในแดนบวก มีมูลค่าการค้ารวม 912,283 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไทยส่งออก 534,316 ล้านบาท ส่วนมูลค่าการนำเข้าของไทยอยู่ที่ 377,968 ล้านบาท โดยที่ไทยได้ดุลการค้า 156,348 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ในช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการค้ารวม 493,470 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าสูงสุดตามลำดับ ได้แก่ ลาว มีมูลค่าสูงสุด 150,697 ล้านบาท มาเลเซีย 149,361 ล้านบาท เมียนมา 106,630 ล้านบาท และ กัมพูชา 86,783 ล้านบาท ซึ่งจากมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออก 305,452 ล้านบาท ในส่วนของการนำเข้าอยู่ที่ 188,019 ล้านบาท ทำให้ไทยได้ดุลการค้ารวม 117,433 ล้านบาท จากสินค้าส่งออกชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล 23,109 ล้านบาท น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ 10,432 ล้านบาท และน้ำยางข้น 8,221 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม ช่วงครึ่งปีแรก มีมูลค่าการค้ารวม 418,813 ล้านบาท โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุดที่ 244,175 ล้านบาท สิงคโปร์ 53,137 ล้านบาท และเวียดนาม 36,269 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งจากมูลค่าการค้ารวมทั้งหมด แบ่งเป็นการส่งออก 228,864 ล้านบาท และการนำเข้า 189,949 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.0% โดยสินค้าส่งออกผ่านแดนสำคัญ ได้แก่ ทุเรียนสด 67,601 ล้านบาท ฮาร์ด ดิสก์ ไดรฟ์ 40,957 ล้านบาท และยางแท่ง TSNR 19,500 ล้านบาท

นายชัย กล่าวว่า มูลค่าทางการค้าเพิ่มมากขึ้น เป็นข้อพิสูจน์ถึงการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดกิจกรรม ส่งเสริมการค้าชายแดน-ผ่านแดน งานมหกรรมการค้าชายแดนปี 2567 ระหว่างวันที่ 15 – 18 ส.ค.ที่จ.สงขลา บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าภายใน ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เข้าร่วม โดยจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า ประชุมติดตามสถานการณ์การค้าชายแดน เจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์ และสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top