Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

'TIPCO' หยุดโรงงานผลิต 'สับปะรดกระป๋อง' ตั้งแต่ 25 ก.ย นี้ หลังเผชิญความผันผวนของปริมาณ-ราคาวัตถุดิบต่อเนื่อง

(25 ก.ย. 67) บมจ.ทิปโก้ ฟูดส์ (TIPCO) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้หยุดการดำเนินงานในธุรกิจผลิตและจำหน่ายสับปะรดกระป๋องของบริษัท ทิปโก้ ไพน์แอบเปิ้ล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 67 โดยมีสาเหตุหลักเนื่องจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่อง และสภาวะความผันผวนของปริมาณและราคาวัตถุดิบสำคัญคือผลสับปะรดสด มาตลอดในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ คณะกรรมการของบริษัทย่อยยังไม่ได้มีมติเลิกบริษัท ชำระบัญชีแต่อย่างใด โดยบริษัทย่อยกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแผนการสื่อสาร และแจ้งให้คู่ค้า เจ้าหนี้ ลูกจ้าง พนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ให้ทราบถึงเรื่องดังกล่าว และดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวให้เป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมาย

การหยุดดำเนินงานในธุรกิจดังกล่าวเป็นการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายในของบริษัทฯ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯ โดยธุรกิจนี้คิดเป็นประมำณ 22%ของรายได้รวม

'รมว.เอกนัฏ' ย้ำ!! ต้องเพิ่มรายได้ให้ระบบอุตฯ อ้อยและน้ำตาลไทย แง้ม!! เตรียมส่งเสริมมูลค่า 'ใบ-ยอดอ้อย' ช่วยเติมรายได้อีกทาง

(25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังผู้แทน 4 องค์กรชาวไร่อ้อยประกอบด้วย สถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน, สหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย, สหสมาคมชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย เข้าพบเพื่อขอรับทราบถึงความคืบหน้าการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ปีการผลิต 2566/2567 ซึ่งตนมีข้อกังวลในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และขอวางแนวทางไว้ 2 ประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลทราย เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องผลิตและนำส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล และโรงงานน้ำตาลจะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพได้ปริมาณตามมาตรฐาน เพื่อให้เกิดรายได้ที่มากที่สุดกับระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ซึ่งหากประสิทธิภาพการผลิตลดลง จะทำให้ผลผลิตน้ำตาลทรายลดลง ส่งผลให้รายได้และราคาอ้อยลดต่ำลงไปด้วย ซึ่งหากมีการเรียกร้องให้รัฐบาลต้องอุดหนุนราคาอ้อย ก็จะผิดกติกาการค้าโลก 

ประเด็นที่สอง การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้มีระยะเวลาในการปรับตัว และปรับพื้นที่ปลูกอ้อยให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร ประกอบกับปัญหาภัยแล้ง อาจจะส่งผลให้ราคาอ้อยในปีนี้ลดลงจากปีก่อน และผมได้ให้ สอน. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางความเป็นไปได้ในการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงงานที่ผลิตไฟฟ้าจากใบและยอดอ้อย เป็นแนวทางในการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบและยอดอ้อย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยลดการเผาอ้อย และถือเป็นการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจากประชาชนและชุมชนใกล้เคียง

"ผมเข้าใจความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย การใช้รถตัดอ้อยหรือการจ้างแรงงานคนตัดอ้อยสด ล้วนมีต้นทุนการผลิต เราต้องหันกลับมาช่วยลดต้นทุนการผลิตสำหรับเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดี และได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) หารือกับโรงงานน้ำตาลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน ก่อนการเปิดหีบฤดูการผลิตปี 2567/2568 เพื่อให้เกิดรายได้ในระบบอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพิ่มมากขึ้น และให้ สอน. หาวิธีการชดเชยต้นทุนให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งนำรายได้ที่เกิดจากการจำหน่ายใบอ้อยมาชดเชย" รมว.อุตสาหกรรม กล่าวปิดท้าย

แรงฉุดไม่อยู่!! เงินบาทแตะ 32.60 ต่อดอลลาร์ แข็งค่าแล้ว 12.4% ในช่วง 5 เดือน ส่อแววแตะ 32

(25 ก.ย. 67) ค่าเงินบาทวันนี้ เปิดตลาด 'แข็งค่า' ที่ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ 'กรุงไทย' ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังแย่กว่าคาด ตลาดหวังเฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot กดดันดอลลาร์อ่อนค่า และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์

สถานการณ์เงินบาทยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด หลังแข็งค่าขึ้นรุนแรงต่อเนื่อง โดยล่าสุดเช้าวันนี้ (25 ก.ย. 67) เงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 32.60 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นมากจากระดับปิดเมื่อวันก่อนหน้าที่ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ และหากนับจากจุดที่เงินบาททำสถิติอ่อนค่าสุดในปีนี้ที่ระดับ 37.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เท่ากับว่าระดับของค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาแล้ว 12.4% 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า เงินบาท 'แข็งค่าขึ้นมาก' จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 32.85 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.50-32.80 บาทต่อดอลลาร์ 

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 32.58-32.86 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ หลังดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดย Conference Board เดือนกันยายน ออกมาแย่กว่าคาดและสะท้อนความกังวลภาวะตลาดแรงงานของผู้บริโภคมากขึ้น ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยมากกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการกลับมาแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะ เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ได้แรงหนุนจากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน หลังทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่

อีกทั้ง เงินบาทยังคงได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ (All-Time High) ท่ามกลางความหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงความต้องการถือทองคำในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอยู่

"สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทนั้นมีกำลังมากกว่าที่เราประเมินไว้ ซึ่งต้องยอมรับว่า เกิดจาก 'Surprise' มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของทางการจีนในวันก่อนหน้า (เราเองก็ไม่ได้คาดคิดว่าทางการจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุนขนานใหญ่ในเร็ววันนี้) ที่พลิกมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน จนทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นร้อนแรง ขณะเดียวกันเงินหยวนจีน (CNY) ก็แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และหนุนการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชีย...

"ซึ่งเรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจยังคงช่วยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งเอเชียในช่วงนี้ ทำให้เงินบาทอาจพอได้รับอานิสงส์จากความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง กอปรกับในมุมของเงินดอลลาร์เองก็อาจยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจน จนกว่าตลาดจะปรับมุมมองใหม่ต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องอาศัยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด หรือ อย่างน้อยก็ดีกว่าบรรดาเศรษฐกิจอื่น ๆ เหมือนต้นสัปดาห์ที่ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ นั้นดูดีกว่าทั้งฝั่งยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น และที่สำคัญ เราคงมุมมองเดิมว่า ตราบใดที่ราคาทองคำยังคงสามารถปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ได้นั้น เงินบาทก็อาจทยอยแข็งค่าขึ้นต่อได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 32.50 บาทต่อดอลลาร์"

ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทะลุโซนดังกล่าวได้จริง จะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องไปยังโซน 32.00-32.25 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วนที่อาจมีมุมมองคล้ายกับเรา ที่ประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทควรจำกัดลงได้แล้วนั้น อาจต้องปรับสถานะถือครอง หรือ Cut Loss สำหรับสถานะ Short THB ในจังหวะที่เงินบาทแข็งค่าหลุดโซนแนวรับ

'พีระพันธุ์' ตอกย้ำ!! กฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ เดินหน้า!! แก้ปัญหาโครงสร้างพลังงานไทยสะสมยาวนานได้อย่างยั่งยืน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมงานเสวนา ‘สามย่านคาเฟ่’ ครั้งที่ 2 ย้ำชัด จะเดินหน้านโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' พลังงานไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยกฎหมายสำคัญด้านพลังงาน 3 ฉบับ ทั้งกฎหมายคุมกิจการค้าน้ำมัน กฎหมายส่งเสริมการติดตั้ง โซลาร์เซลล์ และกฎหมายตั้งคลังน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ จะยกร่างเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะยื่นเสนอสภาพิจารณาต่อ เชื่อจะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน

ไม่นานมานี้ (22 ก.ย.67) สำนักข่าวออนไลน์ UTN TODAY ได้จัดงานเสวนา จัดงานเสวนาอินฟลูฯ 'สามย่านคาเฟ่' แลกเปลี่ยน เรียนรู้ โลกออนไลน์ ซึ่งครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ณ KliqueXSomyan ชั้น 3 I'm Park สามย่าน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมพูดคุยอย่างเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน พร้อมตอบคำถามเรื่องพลังงานในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องโครงสร้างพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์ และการจัดตั้งระบบน้ำมันสำรอง การจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ (SPR)

นายพีระพันธุ์ ได้ย้ำถึงแนวทางการทำงานตามนโยบาย 'รื้อ ลด ปลด สร้าง' เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน พร้อมลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนและประเทศชาติ ผ่านการออกกฎหมายด้านพลังงานฉบับใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย...

(1) กฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง 
(2) กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ และ 
(3) กฎหมายการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve)

นายพีระพันธุ์ ระบุว่า กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะเข้ามาตอบโจทย์และไขปัญหาโครงสร้างพลังงานของประเทศไทยที่สะสมมาเป็นเวลายาวนาน พร้อมทั้งช่วยแก้ปัญหาราคาพลังงานได้อย่างยั่งยืน

โดยกฎหมายกำกับดูแลการประกอบกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะเน้นในเรื่องการคำนวณราคาน้ำมันตามต้นทุนจริงแทนการอิงราคาน้ำมันจากต่างประเทศ และการดึงอำนาจด้านกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา เพื่อดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่สำคัญจะไม่ให้ราคาน้ำมันขึ้นลงรายวันตามอำเภอใจอีกต่อไป ขณะเดียวกันกฎหมายฯ ยังจะครอบคลุมไปถึงโครงสร้างการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะปัจจุบันถูกเรียกเก็บภาษีหลายต่อ ทั้งภาษีการค้าน้ำมัน, ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีท้องถิ่น ไม่เพียงเท่านั้นยังเก็บเงินเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่เนื้อน้ำมันที่กลั่นแล้วราคาอยู่ที่ 20-21 บาทต่อลิตรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของภาษี อาจจะไม่สามารถลดได้อย่างเต็มที่ เพราะจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของประเทศ แต่จะเปิดโอกาสให้ภาคการเกษตร ธุรกิจขนส่ง และผู้มีรายได้น้อย ที่สามารถจัดหาน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาใช้แทนการซื้อภายในประเทศ เพื่อทางออกในการลดต้นทุนทางภาษี ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเปิดนำเข้าน้ำมันเสรี โดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างให้คณะทำงานตรวจสอบความเรียบร้อย

ส่วนในค่าไฟฟ้าแพง ที่เป็นปัญหาต่อประชาชนชาวไทยทั้งประเทศนั้น นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า แม้ว่าจะไม่สามารถลดราคาค่าไฟลงได้ แต่จะพยายามไม่ให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของประเทศมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะราคาก๊าซที่เป็นต้นทุนหลักยังมีราคาสูง เพราะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยไม่เพียงพอ 

แต่ปัญหาค่าไฟแพงจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ด้วยการหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใช้ในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยมีแสงอาทิตย์เพียงพอ แต่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่า การขออนุญาตในการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีความยุ่งยาก เพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และไม่มีกฎหมายในด้านนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น กฎหมายที่อนุญาตส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ขึ้นมา เพื่อให้การติดตั้งโซลาร์เซลล์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งร่างกฎหมายอยู่ระหว่างปรับปรุงเพิ่มเติม

ขณะที่กฎหมายฉบับที่ 3 จัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) นั้น อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยนายพีระพันธุ์ ย้ำว่า กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านน้ำมัน เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีการสำรองน้ำมันของประเทศเลย มีเพียงการสำรองเชิงพาณิชย์ของผู้ค้าน้ำมัน และมีปริมาณสำรองเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น หากเกิดวิกฤตน้ำมันเหมือนเมื่อปี 1973 ประเทศไทยจะไม่สามารถรับมือได้เลย

ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีคลังจัดเก็บน้ำมันสำรองในเบื้องต้น 90 วัน หรือประมาณ 9,000 ล้านลิตร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง ขณะเดียวกันหลักการของกฎหมายนี้คือจะนำน้ำมันสำรองนี้มาดูแลปัญหาราคาน้ำมันแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเปลี่ยนการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน มาเป็นเก็บน้ำมันเข้าคลังน้ำมันของรัฐบาลแทน และแน่นอนว่า จะทำให้กองทุนน้ำมันที่เคยเป็นหนี้สิน กลายเป็นทรัพย์สินของประเทศประมาณ 1.8 แสนล้านบาททันที

“กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีความคืบหน้าอย่างมาก และในฐานะนักกฎหมายต้องบอกว่า เป็นการยกร่างกฎหมายที่เร็วมาก และคาดว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งหมดภายในปีนี้ โดย 2 ฉบับแรก อาจจะเข้าสภาได้ทันภายในปี 2567 ส่วนฉบับที่ 3 การสํารองน้ำมันของประเทศ คาดว่า จะเข้าสภาได้ปี 2568 และเชื่อมั่นว่ากฎหมายทั้ง 3 ฉบับ จะได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นกฎหมายที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและประชาชน รวมถึงสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนอีกด้วย” นายพีระพันธุ์ กล่าว

'นายกฯ' คิกออฟ!! โอน 'เงินหมื่น' กระตุ้นเศรษฐกิจ หวัง!! พายุหมุนลูกนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

(25 ก.ย. 67) ที่ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานเปิดตัว (Kick Off) การโอนเงินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยมีคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมในงานอย่างพร้อมเพรียง

ซึ่งวันเดียวกันนี้เป็นจ่ายเงินในโครงการเติมเงิน 10,000 บาท กระตุ้นเศรษฐกิจ สำหรับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน ซึ่งเป็นเฟสแรก แบ่งเป็นผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ เริ่มโอนตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย.นี้ เป็นการโอนเงินเข้าสู่ระบบพร้อมเพย์ที่เชื่อมเลขบัตรประชาชน ซึ่งวันนี้ (25 ก.ย.) กรมบัญชีกลาง โอนเงินเข้าบัญชีผู้พิการ 2.1 ล้านคน และผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 0 วันที่ 26 ก.ย. / ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 1, 2, 3 วันที่ 27 ก.ย. / ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 4, 5, 6, 7 และวันที่ 30 ก.ย. ผู้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เลขหลังบัตรประชาชน 8, 9

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจมาอย่างเรื้อรังนานหลายปี และปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ไม่ได้มาจากปัจจัยภายในประเทศเท่านั้นยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก เศรษฐกิจทั่วโลกนั้นยังฟื้นฟูได้ช้ากว่าปกติและมากไปกว่านั้นยังมีเรื่องของปัญหาความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์ในหลาย ๆ ภาค และยังไม่รวมปัญหาสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้น ก็จะเห็นได้จากประเทศไทยของเราเองอย่างปัญหาอุทกภัยในปีนี้ที่เป็นปัญหารุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลย 

ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาเป็นเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจฝืดเคืองและไม่สามารถที่จะเพิ่มการลงทุนได้เราจะเห็นได้ชัดว่าเงินในระบบของเราก็หายไปตอนนี้เงินหมุนเวียนแทบจะเป็นสิ่งหายาก เงินไม่หมุน เศรษฐกิจฝืดเคือง ทำให้การลงทุนน้อยลง อุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เกิดขึ้นน้อยลง

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อยรวมถึงผู้พิการ ประเทศไทยต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบ ทำให้ประเทศไทยต้องมีความพร้อมต่อการลงทุนและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยและเราเองก็จะต้องสร้างรายได้ที่มั่นคงในระยะยาวเพื่อที่จะให้คนไทยมีความมั่นคงและหารายได้อย่างยั่งยืน

นโยบายต่าง ๆ ที่รัฐบาลเน้นย้ำที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐบาลของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้เรายังเน้นย้ำเรื่องนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เพราะเราทราบว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่และมีความสุขมีสิ่งที่ดีขึ้น ทำให้ชีวิตพัฒนาได้มากขึ้น แต่นโยบายหลายนโยบายอาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือบางนโยบายต้องใช้เป็นปีและต้องใช้เสถียรภาพทางการเมืองด้วย เพื่อทำให้นโยบายนั้นต่อเนื่องและพัฒนาไปถึงมือของพี่น้องประชาชนจริง ๆ

ทั้งหมดนี้คือความท้าทายของรัฐบาลและที่จะต้องเปลี่ยนทั้งหมดเป็นโอกาสเพื่อประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจและมีหลายนโยบายที่ออกไปแล้ว อย่างเช่น นโยบายพักหนี้เกษตรกร และเมื่อวานนี้ในที่ประชุมครม. ต่อนโยบายอีกหนึ่งปีเป็นปีที่สอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลดดอกเบี้ย รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านนโยบายฟรีวีซ่า ก็จะเห็นได้ชัดว่าตัวเลขการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีที่ผ่านมา แต่การกระตุ้นการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งประเทศได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยจะถูกกระตุ้นครั้งใหญ่ เงินสดถึงมือคนไทย ระบบเศรษฐกิจจะถูกเติมเงินหมุนเวียนกว่า 145,552.40 ล้านบาท สร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจลูกใหญ่ครั้งแรก ที่ทำให้คนไทยได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่ ต่อลมหายใจให้พี่น้องประชาชนรายเล็กที่กำลังเดือดร้อน

“นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้จะถึงมือพี่น้องประชาชนกลุ่มเปราะบาง จำนวน 14.55 ล้านคน โดยแบ่งเป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 12.40 ล้านคน และกลุ่มคนพิการจำนวน 2.15 ล้านคน ทุกคนจะได้รับเงินสดคนละ 10,000 บาท ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านช่องทางการรับเบี้ยเดิมของผู้พิการ ไม่ว่าจะเคยได้รับเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือได้รับเงินสดผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็จะได้รับเงินในวิธีการเดิม ที่สำคัญเงินจำนวนนี้ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ในการใช้ เมื่อเงินเข้าบัญชีสามารถนำไปใช้จ่ายได้ทันที เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด และถึงมือพี่น้องประชาชนมากที่สุด ซึ่งการโอนเงินจะทยอยโอนให้ถึงมือพี่น้องประชาชนภายใน 4 วัน โดยเริ่มที่วันนี้เป็นวันแรก” นายกรัฐมนตรีกล่าว

นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า นโยบายนี้จะช่วยกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชน สร้างโอกาส สร้างความหวัง นำไปสู่การพัฒนาเพื่อต่อยอดคุณภาพชีวิต ทำให้พี่น้อง มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้ เงินหนึ่งหมื่นบาทเป็นจำนวนที่จะทำให้พี่น้องประชาชนหลายคนมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่มากพอ รัฐบาลหวังว่าจะใช้เงินนี้มีประโยชน์ หรือบางครอบครัวที่มีมากกว่าหนึ่งคนก็นำเงิน 10,000 มารวมกัน ต่อยอดธุรกิจ สร้างธุรกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ รัฐบาลมีความเชื่อมั่นว่าพี่น้องประชาชนจะสามารถใช้เงินนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และขอเน้นย้ำว่านโยบายนี้เป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมาอีกมากมาย

“แน่นอนสิ่งที่ทุกคนรอคอยและถามถึง รัฐบาลยังคงเดินหน้าโครงการ Digital Wallet ต่อเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับคนไทย ให้ประชาชนมี Digital ID เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างรัฐบาลและประชาชน ทำให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐสะดวกขึ้น โปร่งใสตรวจสอบได้ เป็นการวางรากฐานตั้งแต่วันนี้เรากำลังพัฒนาระบบนี้อยู่ อีกหน่อยจะใช้เรื่องของการเยียวยารัฐจะสามารถโอนตรงสู่ประชาชนได้นี่คือสิ่งที่เราวางดิจิทัลเอาไว้เพื่อให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้นและรวดเร็วในการรับจากรัฐบาลได้ง่ายขึ้น และพี่น้องประชาชนสามารถติดตามข่าวสารและตรวจสอบข้อมูลได้ที่ทุกช่องทางของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าหมายสำคัญ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่จะเอื้อให้พี่น้องประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีความหวัง มีรอยยิ้ม และเป็นการต่อยอดให้พี่น้องประชาชนมีโอกาสในชีวิตเพิ่มมากขึ้น รวมถึงสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส และหวังเป็นอย่างยิ่งว่านโยบายนี้และอีกหลายนโยบายของรัฐบาลจะพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้กลับมาดีเหมือนเดิมให้พี่น้องประชาชนกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังเปิดงานได้นายกฯ ได้มีการพูดคุยกับประชาชนที่วิดีโอคอลมาจากจังหวัดต่าง ๆ เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่, สมุทรสาคร, มุกดาหาร และอุตรดิตถ์ โดยนายกฯ ได้มีการสอบถามว่า "ได้เงิน 10,000 หรือยัง ได้ตั้งแต่เวลาเท่าไหร่" ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนกลุ่มแรกได้รับเงินกันตั้งแต่ช่วงกลางดึกหลังเที่ยงคืน โดยตัวแทนภาคประชาชนขอบคุณนายกฯ และรัฐบาล โดยระบุว่า จะนำเงินไปใช้ของสำหรับประกอบอาชีพของตัวเอง การศึกษาของบุตรและเครื่องอุปโภคบริโภค

จากนั้นได้วิดีโอคอลพูดคุยกับกลุ่มผู้พิการจากจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมสอบถามว่า "ได้เงิน 10,000 เวลาเท่าไหร่" ผู้พิการจึงตอบว่า ตีสามสิบห้า นายกฯ จึงแซวกลับว่า "เลขเด็ดหรือไม่" พร้อมสอบถามว่าจะนำเงินไปทำอะไร และถามว่ามีอะไรอยากจะบอกรัฐบาลเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตัวแทนผู้พิการระบุว่า จะนำเงินที่ได้ไปซื้อเกี่ยวกับของอุปโภคบริโภคสำหรับผู้พิการ

ผู้สื่อข่าวถามว่าสำหรับโครงการเฟสสองและเฟสสาม เราจะเริ่มต่อทันทีเลยหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า "ตอนนี้กำลังวางเรื่องของระบบอยู่ ซึ่งทางกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียดทั้งหมด"

เมื่อถามย้ำว่ารู้สึกอย่างไรที่ประชาชนตั้งตารอตั้งแต่เที่ยงคืนเพื่อเช็กเงินหมื่น ถือเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจหรือไม่? นายกฯ กล่าวว่า "รู้สึกดีใจกับประชาชนด้วยและกับรัฐบาลทั้งหมดอยากให้พายุหมุนลูกนี้ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น"

'สุชาติ' หารือ 'ออสซี่' ชวนลงทุน EEC 'ด้านการศึกษา-พลังงานหมุน' พร้อมขอลดข้อจำกัด-อุปสรรคทางการค้า เอื้อสินค้าไทยไปออสเตรเลีย

(24 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานร่วมการประชุมยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ครั้งที่ 1 กับผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านการค้าเครือรัฐออสเตรเลีย (นายทิม แอร์) ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ณ กรุงเทพฯ โดยทั้งสองฝ่ายต่างยินดีที่การค้าไทยออสเตรเลียมีมูลค่าสูงสุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน พร้อมเดินหน้าขยายการค้าการลงทุน ยกระดับผู้ประกอบการให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นการค้าใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล และสิ่งแวดล้อม

นายสุชาติ กล่าวว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือกับไทยในหลากหลายด้านภายใต้วาระการดำเนินการของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและออสเตรเลีย หรือ เซก้า ทั้งเรื่องการยกระดับการเกษตรไทยโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การส่งเสริม Soft Power ของไทย การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพและการแพทย์ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการดึงดูดการลงทุนออสเตรเลียเข้ามาในไทย การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และความร่วมมือด้านพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและแนวทางผลักดันทางการค้าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) ที่เน้นเรื่องการขยายการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้า การเร่งเจรจาจัดทำ FTA และการยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทย

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้ขอให้ออสเตรเลียร่วมมือในการลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านกฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานในการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังออสเตรเลีย และขอให้ออสเตรเลียพิจารณาใช้มาตรการที่กำหนดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรถยนต์นำเข้าจากไทยไปยังออสเตรเลียอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลากับภาคอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไทยได้มีเวลาปรับตัว และเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว

“ออสเตรเลียกับไทยมีความสัมพันธ์อย่างยาวนานกว่า 70 ปี ผมได้ขอให้ออสเตรเลียเข้ามาลงทุนใน EEC ทั้งด้านการศึกษาและพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรหลัก จึงมีหารือในการส่งเสริมด้านการเกษตรทั้งใน WTO และในรูปแบบทวิภาคีด้วย” นายสุชาติกล่าว

ในส่วนของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย หรือ ทาฟต้า (TAFTA) มีส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าสองฝ่ายเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 200 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินการต่อไป ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียจึงได้ร่วมตัดเค้กเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ FTA ไทย-ออสเตรเลีย (ทาฟต้า) จะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2568 ด้วย

ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-กรกฎาคม) การค้าระหว่างไทยและออสเตรเลีย มีมูลค่า 10,827.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปออสเตรเลีย มูลค่า 7,234.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย มูลค่า 3,593.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น

ประชาธิปัตย์ประเดิม ก้าวใหม่เปิดเวที 'เดโมแครต ฟอรั่ม' ประเด็นฮ็อต 'เศรษฐกิจคาร์บอน : โอกาสในวิกฤตโลกรวนน้ำท่วมภัยแล้งสุดขั้ว'

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยวันนี้ว่าพรรคประชาธิปัตย์กำลังเดินหน้าสู่ยุคปรับเปลี่ยน (Democrat in Transformation) จากองค์กรพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดสู่องค์กรพรรคการเมืองของประชาชนที่ก้าวหน้าทันสมัยทันโลกเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศทุกมิติทั้งมิติการพัฒนา การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีตามนโยบายและวิสัยทัศน์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรคโดยเฉพาะประเด็นเมกะเทรนด์ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยตรงทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

ล่าสุดคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดอุทกภัยน้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายภูมิภาคของประเทศไทยและประเทศต่างๆจากภาวะโลกรวนโลกร้อนทะเลเดือดแบบสุดขั้ว พรรคประชาธิปัตย์จึง เปิดเวที 'เดโมแครต ฟอรั่ม' (Democrat Forum)ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ 'เศรษฐกิจคาร์บอน : โอกาสในวิกฤตโลกรวนน้ำท่วมภัยแล้งสุดขั้ว' ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ระหว่างเวลา 9.00 -11.00 ณ สำนักงานใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ มีเป้าหมาย 3 ประการ 
1.สร้างการรับรู้ถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
2.เปิดพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล สภาพปัญหา และแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 
3.การกำหนดมาตรการและนโยบายของพรรค

โดยมีวิทยากรทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคประชาชนเช่น ตัวแทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตัวแทนภาครัฐเช่นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตัวแทนสื่อมวลชน ตัวแทนภาคประชาสังคมและผู้แทนพรรคมาร่วมในการเสวนาครั้งนี้โดยมี ส.ส.ร่มธรรม ขำนุรักษ์เป็นผู้ดำเนินรายการ

อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์ ยังกล่าวต่อไปว่า “ความท้าทายสำคัญในปัจจุบันและอนาคตคือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)ที่รุนแรงและรวดเร็ว นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการ สหประชาชาติ กล่าวเตือนไว้เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมปีที่แล้วว่า สามสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2023 ทำสถิติ ร้อนที่สุดเท่าที่เคยวัดกันมา โลกร้อนขึ้น 1.5 องศา การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกิดขึ้นแล้ว เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก และนี่แค่จุดเริ่มต้น เป็นจุดจบของ ภาวะโลกร้อน และเป็น จุดเริ่มต้นของภาวะโลกเดือด (Global Boiling)

จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องเร่งขับเคลื่อนสู่เป้าหมายว่าความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์หรือซีโร่คาร์บอนภายในปี 2065 เพื่อรับมือกับภาวะโลกรวนโลกร้อนทะเลเดือดแบบสุดขั้วซึ่งเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของประเทศไทย ในมุมมองของพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเราสามารถสร้างโอกาสในวิกฤตโดยสร้างโมเดลเศรษฐกิจคาร์บอน(Carbon Economy)ครอบคลุมตั้งแต่คาร์บอน ฟุ้ตปริ้นท์(carbon footprint) คาร์บอน เครดิต(carbon credit)จนถึงมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้า พรมแดน (CBAM:Carbon Border Adjustment Mechanism)สามารถสร้างงานสร้างอาชีพสร้างเทคโนโลยีสร้างธุรกิจและสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศจึงได้จัดเวทีเดโมแครต ฟอรั่มในประเด็นดังกล่าว“

'รมว.เอกนัฏ' มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว 2024 เชิดชูผู้ประกอบการใส่ใจ 'ดูแลชุมชน-สิ่งแวดล้อม'

เมื่อวานนี้ (23 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน มอบรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปีงบประมาณ 2567 'ก้าวสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน..คู่ไปกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม..ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียว' ณ ห้องมัฆวานรังสรรค์ สโมสรทหารบก (วิภาวดี) กรุงเทพฯ

รมว.เอกนัฏ เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งระบบ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบ และทักษะคุณภาพแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้กำหนดนโยบายมุ่งเน้นการปฏิรูป 3 ด้าน ได้แก่...

(1) การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน 
(2) Save อุตสาหกรรมไทย
(3) การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ 

โดยจะดำเนินการใน 3 แนวทาง คือ 
(1) การสร้างความร่วมมือ พันธมิตรห่วงโซ่อุตสาหกรรมที่สมบูรณ์แบบ 
(2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูประบบอุตสาหกรรม 
(3) การปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business

การส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม มุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานให้บรรลุตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์อุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน ส่งเสริมและยกระดับสถานประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเป็นไปตามเป้าหมายการลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ตามแนวคิด BCG เพื่อการขับเคลื่อนสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก มีความรับผิดชอบต่อสังคมควบคู่กับการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนแข่งขันได้ในระดับสากล 

ด้าน นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักให้บุคลากรในทุกระดับมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และประสบการณ์จากองค์กรที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและแนวทางในการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแก่สถานประกอบการผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งการสร้างและพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ตรวจประเมิน และการให้บริการช่วยเหลือแก่สถานประกอบการให้สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีหรือแนวโน้มการค้าโลก 

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับงานรับรางวัลอุตสาหกรรมสีเขียวในครั้งนี้ ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 โดยในปีนี้เป็นการมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 และระดับที่ 5 ในปี พ.ศ. 2566-2567 จำนวน 325 ราย ประกอบด้วย อุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 36 ราย และอุตสาหกรรมสีเขียว ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 289 ราย เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสและส่งเสริมสถานประกอบการในการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม และชุมชนที่อยู่โดยรอบอย่างยั่งยืน 

สิทธิประโยชน์ สำหรับโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป เช่น การใช้โลโก้ GI บนผลิตภัณฑ์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ได้รับโอกาสทางการตลาด และการสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน 

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 กันยายน 2567) มีสถานประกอบการที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวจำนวน 57,663 ใบรับรอง แบ่งเป็น...

(1) ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) จำนวน 50,591 ใบรับรอง
(2) ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) จำนวน 3,112 ใบรับรอง 
(3) ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) จำนวน 3,455 ใบรับรอง 
(4) ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) จำนวน 429 ใบรับรอง 
(5) ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) จำนวน 76 ใบรับรอง 

‘เคทีซี’ จับมือพันธมิตรร้านมือถือและไอทีชั้นนำ จัดดีลเด็ดซื้อ iPhone16 ผ่อน 0% นานสูงสุด 24 เดือน

(23 ก.ย. 67) นายณัฐสิทธิ์ สุนทราณู ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Apple เป็นแบรนด์เลิฟที่เป็นที่นิยมและคอยติดตามกระแสความเคลื่อนไหวในสินค้าและบริการใหม่ ๆ อยู่เสมอ สำหรับประเทศไทยกลุ่มสาวก Apple มีทุกเจนเนอเรชั่น โดยเฉพาะไอโฟนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงมาก 

และในโอกาสเปิดตัว iPhone 16 ครั้งนี้ เคทีซีได้เตรียมสิทธิพิเศษเพื่อให้สมาชิกบัตรเคทีซีได้เป็นเจ้าของ iPhone 16 โดยสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีสามารถผ่อน 0% ได้นานสูงสุด 10 เดือนพร้อมรับเครดิตเงินคืนหรือส่วนลดรวมสูงสุด 35% และสมาชิกบัตรกดเงินสด ‘เคทีซี พราว’ สามารถผ่อน 0% ได้นานถึง 24 เดือน ด้วยซึ่งเป็นการสร้างความคุ้มค่าสูงสุด 

โดยสามารถรับสิทธิพิเศษได้ทั้งการซื้อผ่านช่องทางหน้าร้านและออนไลน์ ณ ร้านมือถือและไอทีชั้นนำที่ร่วมรายการ ได้แก่  Advice, Jaymart, True, Dtac, iStudio by Uficon, Power Mall, JIB, iStudio by Copperwired, .life, iStudio by SPVI, Studio7, BaNANA, IT city | CSC, Power Buy, AIS และ TG” 

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ktc.co.th/promotion/iphone16/index หรือติดต่อ KTC PHONE 02 123 5000 สำหรับผู้สนใจสมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภท คลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อ KTC PHONE โทร. 0-2123-5000 หรือศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ ทั้งนี้ ผู้ถือบัตรเครดิตควรใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้เต็มจำนวนตามกำหนด จะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี สำหรับผู้ถือบัตรกดเงินสด ‘เคทีซี พราว’ ควรกู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว 

'สุริยะ' ไฟเขียว!! ที่พักริมทางศรีราชา 121 ไร่บนมอเตอร์เวย์พัทยา ต้นแบบที่พักริมทางครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย

(23 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีลงนามสัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการพัฒนาและบริหารจัดการ โครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง ‘ช่วงชลบุรี-พัทยา’ ระหว่างกรมทางหลวง และบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวง ในฐานะตัวแทนภาครัฐ กับตัวแทนภาคเอกชน ประกอบด้วย ผู้บริหารและผู้แทนบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด, บริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด, บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด 

“ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับมาตรฐานที่พักริมทางสู่ระดับสากล โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ตามนโยบายคมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการสร้างโอกาสและการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่มีคุณภาพให้กับประชาชน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการเติมเต็มประสบการณ์การเดินทาง เพิ่มความสุขและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ทาง” 

ถัดมา สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา เป็นโครงการที่พักริมทางขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 93+500 ระหว่างทางแยกต่างระดับบางพระ (คีรี) กับทางแยกต่างระดับหนองขาม อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

รูปแบบมีการแบ่งพื้นที่บริการเป็น 2 ฝั่ง ทิศทางฝั่งขาออกกรุงเทพฯ มีพื้นที่ 62 ไร่ ทิศทางฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ มีพื้นที่ 59 ไร่ ปัจจุบันมีปริมาณจราจรผ่านพื้นที่โครงการมากกว่า 100,000 คันต่อวัน

โครงการนี้นับเป็นที่พักริมทางแห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการในรูปแบบ PPP โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ นำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์มาบริหารจัดการ และดูแลรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของที่พักริมทางอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรายละเอียดสัญญาสัมปทาน PPP เป็นการลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐ คือ กรมทางหลวงและภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด ซึ่งเป็นการผนึกกำลังของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ ประกอบด้วย บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด บริษัทในเครือของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด

เงื่อนไขสัญญามีระยะเวลาดำเนินงาน 32 ปี แบ่งเป็น 2 ระยะ หรือ 2 เฟส ดังนี้

เฟสที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลา 2 ปี โดยเอกชนมีหน้าที่ในการจัดหาแหล่งเงินทุน ออกแบบและก่อสร้างพัฒนาที่พักริมทาง และจัดให้มีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ภายในพื้นที่โครงการตามข้อกำหนด

เฟสที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษาระยะเวลา 30 ปี เมื่อโครงการเปิดให้บริการ เอกชนมีหน้าที่บริหารจัดการ ดูแลและบำรุงรักษาที่พักริมทาง ตลอดจนอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เดินทาง โดยจะต้องรักษาระดับการให้บริการให้เป็นไปตามเงื่อนไข KPI ที่กำหนด

ด้าน ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า ในนามบริษัท เดอะ เรส วิลเลจ จำกัด มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาศูนย์บริการทางหลวงศรีราชาให้เป็นต้นแบบของที่พักริมทางระดับโลก

และเป็น Landmark แห่งใหม่ของประเทศไทย มีสถาปัตยกรรมที่ทันสมัย พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่หลากหลาย

การออกแบบโครงการยึดหลัก Universal Design ผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับแนวคิดอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมสะอาด เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโครงการในระยะยาว

อีกหนึ่งจุดเด่นของโครงการ คือ อาคารยกระดับคร่อมเหนือมอเตอร์เวย์ (Crossover) พื้นที่กว่า 1,500 ตารางเมตร เชื่อมทั้งสองฝั่งของโครงการ รองรับการใช้พื้นที่ร่วมกัน โดยออกแบบให้มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความประทับใจและดึงดูดผู้ใช้บริการให้แวะพักมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ภายหลังจากลงนามสัญญาวันนี้ กรมทางหลวงจะเร่งรัดเอกชนให้เริ่มออกแบบเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปี 2567 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกบางส่วน เช่น ลานจอดรถ ห้องสุขา และพื้นที่พักผ่อนในปี 2568

ตามแผนแม่บท คาดว่าจะสามารถเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2569 นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top