Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘พิพัฒน์’ เมิน ‘นายจ้าง’ ไม่ร่วมประชุมถกขึ้นค่าแรง 400 บาท ลั่น!! 1 ต.ค.ขึ้นแน่ ส่วนฝั่งผู้ประกอบการมีแผนเยียวยารอแล้ว

(19 ก.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ครั้งที่ 2 วันที่ 20 กันยายน ฝ่ายนายจ้างทั้ง 5 เสียง จาก 15 เสียง จะเข้าร่วมประชุมด้วยหรือไม่ หลังการประชุมครั้งที่ 1 อ้างติดภารกิจว่า ได้ทำจดหมายเชิญแล้ว อยู่ที่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างจะเข้าร่วมประชุมหรือไม่ ซึ่งเป็นสิทธิส่วนบุคคล ตนไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ก็หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้คณะกรรมการฝ่ายนายจ้างเข้ามาหารือกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพราะตามนโยบายตนก็หาแนวทางที่ดีที่สุด และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงพูดคุยกับกระทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางเยียวยาแก่บริษัทที่ได้รับผลกระทบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันที่ 20 กันยายน 5 เสียงฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการไตรภาคีที่เหลือจะเดินหน้าพิจารณาเดินหน้าประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ใช่หรือไม่? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “หากนายจ้างไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งที่ 2 เราก็จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และดำเนินการประชุม โดยจะอ้างอิงเสียงโหวต 2 ใน 3 ซึ่งถ้าฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายข้าราชการ เข้าครบก็สามารถโหวตได้”

เมื่อถามว่า ยืนยันได้หรือไม่วันที่ 1 ตุลาคมจะได้ค่าแรง 400 บาท? นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ยืนยันครับ ชัดเจนครับ เพราะเมื่อประกาศไปแล้ว ก็พยายามทำให้สำเร็จ ซึ่งตนก็เชื่อว่าฝ่ายลูกจ้างก็รอ และยอมรับว่ากระทบต่อนายจ้างพอสมควร เพราะตนก็มาจากภาคธุรกิจ บริษัทในเครือก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะมีลูกจ้างประมาณ 30,000 คน ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 คน แต่ก็ยอมรับผลกระทบตรงนั้น แต่ก็ต้องดูว่ากระทรวงการคลัง จะเยียวยาผู้ประกอบการได้อย่างไร”

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ยืนยัน ขณะนี้มีมาตรการเยียวยาแล้ว โดยจะประกาศพร้อมกันวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งมาตรการเยียวยาที่ปรับตามประกาศ พ.ศ. 2555 เพื่อมาใช้ในปัจจุบัน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่หากประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท วันที่ 1 ตุลาคม อาจถูกนายจ้างและผู้ประกอบการร้องเรียนฟ้องร้องภายหลัง? รมว.แรงงาน กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ตนยินดีรับสิ่งที่พวกเรากระทำ และถือว่าตนทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ถ้าจะมีการฟ้องร้องหรือไปร้องเรียนศาลปกครอง เราก็พร้อมน้อมรับและยืนยันว่าไม่หนักใจเรื่องนี้”

‘รมช.สุชาติ’ ผลักดันแนวคิด ‘ข้าวไทย สู่อาหารโลก’ พร้อมพัฒนาเป็น ‘สินค้าพรีเมียม’ แข่งขันในตลาดโลก

(18 ก.ย. 67) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน Thai Rice Networking Forum 2024 ซึ่งเป็นงานที่กรมการค้าต่างประเทศจัดขึ้นต่อเนื่องทุกปี เพื่อส่งเสริมและผลักดันตลาดข้าวไทยและให้ผู้ส่งออกไทยและผู้นำเข้าได้มีเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูลตลาดค้าข้าวที่มีการเปลี่ยนแปลงไปว่า…

สินค้าข้าวของไทยเป็นข้าวที่มีคุณภาพ และถือว่าเป็นสินค้าพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวนาและรายได้ให้กับประเทศ และการจัดงานครั้งนี้เพื่อเป็นการเชื่อมโยงการค้าข้าว และรับรู้สถานการณ์การค้าข้าวทั่วโลก

นอกจากนี้ นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ยังต้องการส่งเสริมการค้าการส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศ และข้าวไทยยังเป็นสินค้าส่งออกสำคัญระดับต้น ๆ ของโลก จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องรักษาคุณภาพข้าวไทยเพื่อแข่งขันในตลาด ดังนั้น เพื่อต้องการขยายตลาดการค้าข้าวของไทย จำเป็นจะต้องพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ มาตรฐานข้าวไทยในตลาดโลกให้ได้ และต้องให้ทันกับโลกสมัยใหม่

“ต้องให้ตลาดหรือผู้นำเข้า เวลาคิดถึงข้าวให้คิดถึงประเทศไทย พร้อมชูข้าวไทย สู่อาหารโลก”

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจำเป็นจะต้องประชาสัมพันธ์ข้าวไทย เพื่อผลักดันการส่งออก แต่ละปีไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละกว่า 8 ล้านตัน และการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 นี้มั่นใจว่าไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 9 ล้านตัน เพราะผลผลิตของเราในปีนี้เพิ่มขึ้น และอนาคตกระทรวงพาณิชย์มองว่าสินค้าเกษตรของไทยจะต้องพัฒนาให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม เราจะต้องค้าขายไม่เน้นปริมาณ แต่เพื่อคุณภาพที่จะส่งเสริมรายได้ให้กับเกษตรกร

“โดยที่ผ่านมาผมได้มีการประชุมและหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายด้านสินค้าเกษตรที่ต้องการยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สินค้าต้องเป็นสินค้าที่ Premium และการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็น ทุกคนเห็นถึงความสำคัญว่าสินค้าเกษตรไทย ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้ประเทศไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้”

สำหรับกรณีปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดที่กระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร ต้องยอมรับว่ามีผลกระทบและสร้างความเสียหาย แต่อนาคตรัฐบาลพร้อมที่จะหามาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดโซนนิ่งในการปลูกพืชเกษตรที่ให้ความเหมาะสม โดยกระทรวงพาณิชย์พร้อมจะให้ข้อมูลด้านการตลาด เพื่อผลักดันเพื่อการส่งออกข้าวไทยโต ส่วนความเสียหายพื้นที่นาข้าวอาจจะกระทบผลผลิตและมีผลต่อการส่งออกบ้าง แต่น้อยมาก เพราะเราส่งออกตุนมามากแล้ว และไม่กระทบเป้าส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวไทยในปีนี้อยู่ในทิศทางที่ดี โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม-กรกฎาคม) ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 5.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 21.97 และมีมูลค่า 132,396 ล้านบาท (ประมาณ 3,703 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 50.97 เป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าว เพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบกับอินเดียยังคงใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว จึงคาดการณ์ว่าในปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.20 ล้านตัน

'ธนกร' หนุน!! 'สรวงศ์' ฟื้น 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน' ยุคลุงตู่ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ สร้างเงินสะพัดช่วงปลายปี

(18 ก.ย. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่ทั้งจังหวัดสงขลาภูเก็ตและนครศรีธรรมราช รวมถึงจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ พบว่า มีนักท่องเที่ยวทั้งจากต่างประเทศโดยเฉพาะมาเลเซียเดินทางเข้ามาพักผ่อนท่องเที่ยวในพื้นที่จำนวนมาก ส่วนพี่น้องประชาชนคนไทยต่างก็ฝากถึงรัฐบาล ให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี ที่เป็นช่วงไฮซีซั่น โดยเรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งที่ประสบความสำเร็จ ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งพี่น้องประชาชนต่างชื่นชอบ ให้การตอบรับและใช้สิทธิ์ในโครงการดังกล่าวเป็นอย่างดี จึงอยากให้มีการรื้อฟื้นโครงการนี้กลับมาใช้ในรัฐบาลปัจจุบันอีก 

ทั้งนี้เมื่อตนได้ติดตามการมอบนโยบายของนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็พบว่ามีแนวทางที่จะใช้มาตรการส่งเสริมไทยเที่ยวไทย โครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' หรือ 'คนละครึ่ง' กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งตนเห็นด้วยและขอสนับสนุนให้เป็นแคมเปญที่ช่วยดึงนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ร้านค้าขายขนาดเล็ก ร้านส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยว ที่ร่วมโครงการ ก็จะรับอานิสงส์ไปด้วย จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่รากฐานชุมชนไปจนถึงภูมิภาคและระดับประเทศ 

“เมื่อรัฐบาลไฟเขียวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการจ่ายเงินสด 10,000 บาท ช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคนในช่วงปลายเดือนนี้ เชื่อว่าจะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับที่น่าพอใจ เมื่อมาประกอบกับโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ที่รัฐบาลมีแนวคิดกำลังจะรื้อฟื้นกลับมาใช้อีกครั้ง มั่นใจว่า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวในช่วงปลายปีหรือไฮซีซั่นปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคใต้ จะมีเงินสะพัดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่คนไทยจะเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน“ นายธนกร กล่าว

‘GRD Catalyst’ จับมือ ‘วีระสุวรรณ’ ก่อตั้ง ‘Thailand Catalyst Consortium’ ใช้ความรู้-ความเชี่ยวชาญผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับ ตอบสนองอุตฯ ในไทย

(18 ก.ย. 67) ที่สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท จีอาร์ดี แคททาลิสต์ จำกัด (GRD Catalyst Co., Ltd.) และบริษัท วีระสุวรรณ จำกัด (Verasuwan Co., Ltd.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง Thailand Catalyst Consortium การค้าร่วมตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีประเทศไทย เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา

โดยภายใต้วัตถุประสงค์ของความร่วมมือนี้ดังกล่าว ทั้งสองบริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองความต้องการภาคอุตสาหกรรมในการใช้งานตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับ (Catalyst and Adsorbent) โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงในอุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี แต่ยังตอบสนองความต้องการไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมด้านเภสัชกรรม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีความต้องการการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับดังกล่าว โดยทั้งสองบริษัทใช้องค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การผลิตในระดับอุตสาหกรรม (Commercialized Scale) ในการผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตหรือดูดซับผลิตภัณฑ์เป้าหมาย (Target Product) ที่ดำเนินการภายใต้กระบวนการทางเคมีให้เพิ่มขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงานระหว่างกระบวนการผลิต

ดร.ก้องเกียรติ สุริเย CEO บริษัท จีอาร์ดี แคททาลิสต์ จำกัด กล่าวภายหลังการลงนามร่วมว่า “ทั้งสองบริษัทมุ่งหวังที่จะผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับที่มีปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระหว่างกระบวนการผลิตที่ต่ำ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีความมุ่งมั่นที่จะใช้การจัดตั้งกิจการค้าร่วมดังกล่าวนี้ในการพยายามลดการนำเข้าตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับจากต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันตลาดตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับในประเทศไทยมีการนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้การค้าร่วมนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยาและตัวดูดซับของประเทศไทย

ด้าน ดร.สัญญา บุญญาสุวัฒน์ CEO บริษัท วีระสุวรรณ จำกัด กล่าวเสริมว่า การลงนามใน MOU นี้เป็นการกระตุ้นให้องค์กรการศึกษา สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัยภายในประเทศมีการพัฒนางานวิจัยด้านตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีและตัวดูดซับเคมีอย่างจริงจัง เพื่อนำมาประยุกต์ใช้งานจริงและตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในเมืองไทย

ทางด้าน ดร.แสวง บุญญาสุวัฒน์ คณะกรรมการบริหาร วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสักขีพยาน กล่าวว่า ยินดีกับการก่อตั้งกิจการค้าร่วมครั้งนี้ ถือเป็นการนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีในเชิงอุตสาหกรรมที่มีอยู่มาใช้ในการเปลี่ยนทรัพยากรในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเคมีในประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการร่วมลงนามข้อตกลงดังกล่าวได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.ศิริพร จงผาติวุฒิ และ ผศ.ดร.อุทัยพร สุริยประภาดิลก อาจารย์ประจำวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.ดร.ตะวัน สุขน้อย และ รศ.ดร. กิตติศักดิ์ ชูจันทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเป็นสักขีพยานกิตติมศักดิ์ในงานนี้ด้วย

‘ดร.กอบศักดิ์’ ชี้!! 'Strength from Bottom' จะเป็นทางออกให้ไทย สู้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ

(16 ก.ย. 67) ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก สรุปช่วงหนึ่งในงานสัมมนา 'Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก...Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน' ของสำนักข่าวไทยพับลิก้าในหัวข้อ 'คนจนลง ภาพลวงตาของไทย ทางออกคือ? Move Forward, Just Do It' ระบุว่า...

ประเทศไทยหลงทางมานาน!!!

ยิ่งพัฒนา ยิ่งเหลื่อมล้ำ

ชุมชนยิ่งอ่อนแอ มีแต่หนี้ 

ทุกคนเรียกร้อง จะเอา 'สวัสดิการถ้วนหน้า'

แต่รัฐมีงบไม่พอ

แนวทางใหม่ในการพัฒนา

New Paradigm ที่เรียกว่า 'Strength from Bottom'

จะเป็นทางออกให้ไทย 

อ่านเนื้อหาเต็มเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ที่ >> งานสัมมนา ThaiPublica https://thaipublica.org/2024/09/kobsak-pootrakool-unleashing-power-of-communities/ 

จับตา ‘สรวงศ์’ เล็งคืนชีพ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ แคมเปญแรงยุค 'ลุงตู่' หวังกระตุ้น 'ไทยเที่ยวไทย' กระตุ้นการจับจ่ายช่วงโลว์ซีซัน

เมื่อวานนี้ (16 ก.ย. 67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยภายหลังเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่กระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นวันแรกว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ มีไอเดียนำโครงการ 'เราเที่ยวด้วยกัน' กลับมาดูอีกครั้ง เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการส่งเสริมตลาดไทยเที่ยวไทย เพราะเป็นแคมเปญที่ช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ แม้แต่ร้านอาหารขนาดเล็กก็ได้อานิสงส์ไปด้วย

"ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแคมเปญลักษณะนี้อย่างละเอียดอีกครั้งว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง"

ก่อนหน้านี้ นายเทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน ส.ค. 2567 จัดทำโดย สมาคมฯ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ระหว่างวันที่ 19-30 ส.ค. มีผู้ตอบแบบสำรวจ 106 แห่ง พบว่า หนึ่งในมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ต้องการจากภาครัฐคือ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย

โดยเน้นกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว และเที่ยววันธรรมดา (วันอาทิตย์-วันพฤหัสบดี) กระตุ้นการท่องเที่ยวของลูกค้ากลุ่มประชุมและสัมมนามากขึ้น มีมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซัน รวมถึงประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยให้กับลูกค้าต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

'ครม.ไฟเขียว!! 'คลัง' แจกหมื่นกลุ่มเปราะบาง 14.55 ล้านคน เริ่ม 25 ก.ย.นี้ พร้อมยืนยัน!! เดินหน้า 'ดิจิทัลวอลเล็ต' 10,000 บาท เฟส 2 แน่นอน

(17 ก.ย. 67) ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 ก.ย. 2567 มีมติเห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ โดยรัฐจะจ่ายเงินสดจำนวน 10,000 บาทต่อคน ให้กลุ่มเป้าหมายรวมประมาณ 14.55 ล้านราย ซึ่งสามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตโดยไม่จำกัดประเภทร้านค้า มั่นใจว่าสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบและกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศในช่วงปลายปี 2567 ได้อย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าการมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจ 145,552.40 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.35% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ

“เชื่อว่าโครงการนี้ จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ให้ขยายตัวได้ อาจไม่ถึง 3% แต่ก็ใกล้เคียง”

โดยรัฐจะจ่ายเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ประมาณ 12.40 ล้านราย ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนหรือผ่านบัญชีเงินฝากธนาคารตามที่ได้แจ้งความประสงค์เป็นหนังสือ ณ สำนักงานคลังจังหวัดหรือกรมบัญชีกลาง (เฉพาะกรณีผู้ป่วยติดเตียงและผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป)

ส่วนกลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นผู้เปราะบางที่ขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ประมาณ 2.15 ล้านราย  รัฐจะจ่ายเงินสด 10,000 บาทต่อคน ผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 

1.ช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการที่ได้รับข้อมูลจาก อปท. กทม. และเมืองพัทยา 
2.บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชนของคนพิการ (กรณีไม่ปรากฏข้อมูลช่องทางการรับเงินเบี้ยความพิการตามข้อ 1 ให้มีโอกาสเข้าถึงการใช้จ่ายที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการและความจำเป็นของคนพิการแต่ละประเภท

สำหรับการดำเนินการทั้ง 2 โครงการ กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางจะเริ่มทยอยจ่ายเงินให้แก่ กลุ่มเป้าหมายตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 2567 เป็นต้นไป โดยขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายเงิน กลุ่มคนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 0 จะได้รับเงินวันที่ 25 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 1-3 จะได้รับเงินวันที่ 26 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 4-7 จะได้รับเงินวันที่ 27 ก.ย. 2567

คนพิการ และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีเลขประจำตัวประชาชนหลักสุดท้ายเป็นเลข 8-9 จะได้รับเงินวันที่ 30 ก.ย. 2567

ในกรณีที่จ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมายไม่สำเร็จในครั้งแรก จะมีการดำเนินการจ่ายเงินซ้ำ (Retry) ให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าว 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ภายในวันที่ 22 ต.ค.2567 / ครั้งที่ 2 ภายในวันที่ 22 พ.ย.2567 และครั้งที่ 3 ภายในวันที่ 22 ธ.ค.2567 โดยเมื่อพ้นกำหนดการ Retry ครั้งที่ 3 แล้ว จะยุติการจ่ายเงินให้แก่กลุ่มเป้าหมาย และถือว่ากลุ่มเป้าหมายไม่ประสงค์รับเงินภายใต้โครงการ

อย่างไรก็ตาม ขอให้กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการและคนพิการตามเป้าหมายของโครงการดำเนินการตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ กับเลขประจำตัวประชาชนว่ายังสามารถใช้งานได้หรือไม่ หรือหาก มีบัญชีธนาคารเดิมอยู่แล้วแต่ยังไม่ได้ผูกพร้อมเพย์ ขอให้ดำเนินการผูกพร้อมเพย์ด้วยเลขประจำตัวประชาชน และสำหรับคนพิการที่ไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการหรือบัตรประจำตัวคนพิการหมดอายุ ขอให้ทำบัตรหรือต่ออายุบัตรให้เรียบร้อยภายในวันที่ 3 ธ.ค. 2567 เพื่อรับสิทธิตามโครงการดังกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพและเพิ่มศักยภาพของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ให้เข้าถึงการใช้จ่ายที่จำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้นจะช่วยก่อให้เกิดการผลิต การค้าขาย การจ้างงาน และการคมนาคมขนส่งตามมา ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อให้ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป

ส่วนการลงทะเบียนสำหรับผู้มีสิทธิรับเงินโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท แต่ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ตโฟนนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือและกำหนดรายละเอียดให้มีความชัดเจนหลังจากการจ่ายเงินกลุ่มเปราะบางเสร็จเรียบร้อยแล้วอีกครั้ง พร้อมยืนยันว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 2 ยืนยันจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของรัฐบาล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว

‘พีระพันธุ์’ ถก ‘เอกนัฏ’ ประสานความร่วมมือ ‘พลังงาน-อุตสาหกรรม’ แก้ช่องโหว่กฎหมายเอื้อโซลาร์ทั่วถึง-ดันนิคมฯ SME ช่วยรายย่อย

(17 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการหารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน วานนี้ (16 ก.ย.67) ว่า รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมหารือการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับบริการที่รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอน สร้างความสะดวก คล่องตัวให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อยกระดับธุรกิจให้เติบโต สร้างงานสร้างรายได้ เพื่อให้สามารถเดินต่อและแข่งขันได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในภาพรวมอีกด้วย 

รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ ยังกล่าวต่อว่า ยังมีแนวคิดที่จะทำนิคมอุตสาหกรรมเพื่อธุรกิจขนาดเล็กขึ้น (นิคมฯ SME) เพื่อช่วยลดต้นทุน สามารถส่งต่อวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้ ทำให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีทำได้สะดวกขึ้น รวมทั้งการเร่งแก้กฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดรับกับการดำเนินงานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนหรือพลังงานสีเขียว โดยได้มีการแก้กฎหมายในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จากเดิมที่กำหนดว่าหากมีกำลังผลิตเกินกว่า 1 เมกะวัตต์ เข้าข่ายเป็นโรงงานต้องขอรับใบอนุญาต โดยการแก้กฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ทุกภาคส่วนใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อยกระดับพลังงานไทยให้มีความเสถียร ยั่งยืน เป็นพลังงานสะอาด และราคาถูก ตอบสนองกติกาสากล ทั้งนี้ คาดว่าการปลดล็อกกฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในปี พ.ศ. 2567 

รมว.เอกนัฏ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย ตอบโจทย์การประกอบการและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย โดยการปรับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมทั้งระบบ ซึ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน การเพิ่มโทษอาญา พร้อมวางแนวทางในการปรับกฎหมายและภารกิจเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัล สร้าง Ease of Doing Business (ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ) โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายแก้ช่องโหว่ในการส่งเสริมการประกอบการที่ดี การมีระบบ Digital แบบ One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนให้กับผู้ประกอบการ และการจัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม ส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมสู่อนาคต สร้างความยั่งยืนและฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดจากการประกอบการ ให้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ถือเป็นการเพิ่มเครื่องมือหนึ่งในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม

'กนอ.' จัดงานใหญ่ ISB Forum & Awards 2024 ปลุกผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม

(16 ก.ย. 67) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ISB Forum & Awards 2024 ภายใต้โครงการยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสู่เกณฑ์ผลสัมฤทธิ์ทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ กนอ. ปี 2567 (I-EA-T Sustainable Business 2024) โดยปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ 'Inclusive and Sustainable Industrialization Towards New Growth' (การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครอบคลุมและยั่งยืนสู่การเติบโตครั้งใหม่) โดยมีผู้บริหาร กนอ. และผู้ประกอบการเข้าร่วมงาน

นายสุเมธ กล่าวว่า การจัดงาน งาน ISB Forum & Awards 2024 ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ไม่เพียงแต่สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ยังคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่...

1.การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุม (Inclusive Industrialization) เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมมีส่วนร่วมและเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมความหลากหลายในการทำงาน 

2.การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน (Sustainable Industrialization) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความเจริญเติบโตที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว 

และ 3.การปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย (New Industrialization) นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตภาพและมูลค่า ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมใหม่

“ผมเชื่อมั่นว่าผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ. ต่างมีกิจกรรมโครงการเพื่อสังคม ตลอดจนความรู้ความชำนาญ และทรัพยากรที่สนับสนุนลงไปยังชุมชนโดยรอบ หากมีการพัฒนาออกแบบแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งผลลัพธ์ และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ตลอดจนความร่วมมือร่วมกัน การผนึกกำลังของภาคอุตสาหกรรมจะพลิกวิกฤติ ช่วยสร้างโอกาสการพัฒนาสังคมเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างจับต้องได้ คุ้มค่า และเป็นรูปธรรม” นายสุเมธ กล่าว

สำหรับ โครงการ ISB (I-EA-T Sustainable Business) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อส่งเสริมความพร้อมของผู้ประกอบการในการยกระดับมาตรฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเปิดเผยข้อมูลผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ในระดับสากล โดยในปี 2567 กนอ. ขยายผลกลุ่มเป้าหมายไปสู่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม และผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน มีผู้เข้าร่วมโครงการ ISB Roadshow กว่า 61 สถานประกอบการ และผู้เข้าร่วม BIA/SIA Workshop จำนวน 45 ราย ซึ่งผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ ISB ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า มีการสนับสนุนงบประมาณในกิจกรรมทางสังคม รวม 575.87 ล้านบาท และเกิดผลตอบแทนทางสังคม (SROI) สูงถึง 4.87 เท่า คิดเป็นมูลค่ารวม 2,801.46 ล้านบาท

ภายในงาน ISB Forum & Awards 2024 มีการมอบรางวัล ISB List จำนวน 16 รางวัลให้แก่ สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม ผู้พัฒนานิคมฯ ผู้ประกอบการที่สะท้อนการรับรองตามเกณฑ์มาตรฐานผลสัมฤทธิ์ BIA และ SIA และมอบรางวัล ISB Awards 2024 แก่ผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จำนวน 11 ราย และมอบรางวัลแก่สำนักงานนิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม ในบทบาท ISB Accelerator จำนวน 8 ราย

“กนอ. มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ, โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม, โครงการ Smart I.E., โครงการพัฒนาและสนับสนุน SMEs, โครงการการพัฒนาแรงงานและทักษะ, โครงการพัฒนาท้องถิ่น, โครงการการสร้างนวัตกรรมและการวิจัย โดยเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราจะสร้างอุตสาหกรรมที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน ผลักดันทุกภาคส่วนให้เข้มแข็งไปด้วยกัน” รักษาการในตำแหน่ง ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวทิ้งท้าย

‘รมว.พิชัย’ แถลง 10 นโยบายพาณิชย์ เร่งเครื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ‘ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส’

(16 ก.ย. 67) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงทิศทางและนโยบายสำคัญของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์ ร่วมด้วยที่ห้องกิตติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ 

นายพิชัย กล่าวว่า ตนและท่านรัฐมนตรีช่วยทั้งสองท่าน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ที่ได้มอบหมายงานให้ตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ใช้ความรู้ความสามารถขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จและตนได้มาพบกับข้าราชการที่นี่เก่งมาก ประทับใจมีประสิทธิภาพสูง ท่านปลัดคล่องแคล่วมีแนวคิดที่ดี 

ตนได้ให้นโยบาย 10 ข้อ บางส่วนเป็นของท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำไว้ ตนจะสานต่อและเพิ่มบางเรื่องเข้าไป เพราะวันนี้โลกเปลี่ยนไปเร็วมาก กระทรวงพาณิชย์จำเป็นจะต้องมีการปรับตัว ปรับแนวคิด โดยคำนึงถึงการค้าและธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยนโยบาย 10 ข้อ ประกอบด้วย

1. ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เน้นการลดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ ผ่านการสร้างอาชีพ และช่องทางการจำหน่าย เร่งขยายโอกาส นำเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้ามาเสริมสร้างศักยภาพการค้าให้เป็นรูปธรรม 

2. บริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างผู้บริโภค เกษตรกร ผู้ประกอบการ โดยผู้บริโภคได้สินค้าดี ราคาเป็นธรรม ขณะที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายได้สุทธิเพิ่มพูนอย่างยั่งยืน

3. ทำงานเชิงรุก ระหว่างพาณิชย์จังหวัด และทูตพาณิชย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการนำสินค้าไทยไปขายในต่างประเทศ โดย ‘รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่’

4. แก้ไขข้อจำกัดของกฎหมายหรือปรับปรุงข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย ซึ่งพรรคเพื่อไทยเราเน้นแก้ปัญหาข้อกฎหมายที่เก่าล้าสมัย และต้องแก้ให้เร็วเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว และมีทั้งเรื่องใหม่ เช่น เรื่อง e-Commerce การปรับกฎหมายให้ทันเป็นเรื่องที่จำเป็น

5. ร่วมขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงตลาดและเชื่อมต่อกับการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก

6. เร่งผลักดันการส่งออกให้ตัวเลขเป็นบวกยิ่งกว่าเดิม ผ่านกลไกการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก เปิดตลาดการค้าใหม่ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์

7. ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จาก FTA เร่งเจรจาให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นส่งออกให้มากขึ้น หลังจากนี้จะมี FTA กำลังจะเกิดขึ้นอีกหลายประเทศ

8. พานักธุรกิจไทยไปบุกต่างประเทศ อยากเห็นนักธุรกิจไทยเข้มแข็งขยายธุรกิจไปในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้จริง

9. ปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย สินค้าส่งออกไทยเริ่มจะล้าสมัย ต้องทำในธุรกิจใหม่ เช่น เรื่อง PCB (แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์) ต้องเร่งให้เกิดมากขึ้น ปีที่แล้วมีการลงทุนแล้วกว่า 150,000 ล้านบาท เชื่อว่าอีกไม่นานจะเป็นหลายแสนล้านถึงล้านล้านบาท น่าจะมีธุรกิจที่ต่อเนื่องจากชิปเพิ่มขึ้นในไทยและสินค้าที่ใช้ PCB ไทย เช่น พวกสมาร์ตโฟน สมาร์ตทีวี เป็นต้น หรือ AI Big Data หวังว่าเราจะช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้สูง สามารถสร้างการจ้างงานได้เยอะและเงินเดือนสูง

10. ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้เข้าถึงตลาดสินค้ารักสิ่งแวดล้อม ต้องผลิตสินค้าที่โลกให้ความสำคัญ ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมต้องระมัดระวังต้องขายของที่รักษ์ธรรมชาติไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายทั้ง 10 ข้อ จะเป็นทิศทางการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ตนเชื่อว่าด้วยศักยภาพของข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ เราจะสามารถนำพาการค้าการลงทุนของประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้ เพราะมีทั้งคนหนุ่มสาวและคนอาวุโสให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งตนเปิดรับตลอดใครมีไอเดียและแนวคิดพร้อมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาช่วยพัฒนากระทรวงไปด้วยกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top