Monday, 29 April 2024
ECONBIZ NEWS

‘นายกฯ’ ปลื้ม!! ‘AWS-Google-Microsoft’ ลงทุนในไทย หวังยกระดับภาคอุตฯ ไทย ให้ได้รับการยอมรับในเวทีโลก

(15 พ.ย. 66) เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน (ตามเวลาท้องถิ่น นครซานฟรานซิสโก สหรัฐ ซึ่งช้ากว่าประเทศกรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงผลหารือกับ ผู้บริหาร Walmart ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Walmart มีความต้องการที่จะเปิดตลาดในไทยมากขึ้น จึงได้มีการพูดคุยถึงซอฟพาวเวอร์ของไทย ที่เป็นอาหารพื้นเมือง ให้เข้าไปขายใน Walmart รวมทั้งอาหารฮาลาล ที่มีขายอยู่ในหลายรัฐในสหรัฐฯ

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการพบปะกับ เวสเทิร์น ดิจิทัล บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความต้องการลงทุนเพิ่มในไทย และต้องการจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศฟิลิปปินส์ มาที่ประเทศไทย 

นอกจากนั้นได้พูดคุยกับผู้บริหารบริษัท AWS ซึ่งเป็นบริษัทในเครือแอมาซอน จัดทำคลาวเซอร์วิส ได้เซ็นสัญญาที่จะเข้ามาลงทุนแล้ว และจะเปิดดำเนินการเร็ว ๆ นี้เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เป็นบริษัทแรกที่ลงทุนแล้ว และจะลงทุนเพิ่มอีกด้วย

ขณะที่การหารือกับ Google เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้มีการลงนามเอ็มโออยู่กันเรียบร้อยแล้วที่จะมาทำดาต้าเซ็นเตอร์ เช่นกัน

นายเศรษฐา กล่าวว่า สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่ 3 ราย ของโลก 3 ราย ที่มาทำดาต้าเซ็นเตอร์ได้แก่ AWS Google และไมโครซอฟท์ ที่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทย จะยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ให้ได้รับการยอมรับในอนาคตอันใกล้นี้

ทั้งนี้การเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ ถือว่ามีความพอใจ หลายอย่างจากที่ได้พบปะภาคเอกชนรายใหญ่ สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ เช่น คุณภาพโรงเรียน โรงพยาบาลระดับโลก นักลงทุนต่างพูดว่าเป็นความสบายใจที่จะได้มาใช้ชีวิตที่ไทย ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยสามารถยืนหยัดและแข่งขันได้ในเวทีโลก เป็นความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทยและจะทำงานต่อไป

นายกฯ กล่าวว่า ตนได้สั่งให้ทีมงานสรุปแผนการชักชวนนักลงทุนต่างชาติในรอบ 3 เดือน ว่านักลงทุนรายใดลงทุนแล้ว ใครอยู่ลำดับไหน ใครเพิ่งจีบกัน หรือใครได้ชวนไปดูหนังแล้ว แต่ไม่อยากพูดถึงผลงาน หรือการตัดเกรดการทำงานของตนเอง ขอให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ส่วนหน้าที่ของตนคือตื่นเช้าไปทำงาน

‘VRANDA’ เตรียมโอนโครงการ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ’ มั่นใจ!! ‘ธุรกิจโรงแรม-รีสอร์ท’ ไตรมาส 4/66 คึกคักรับไฮซีซั่น

(15 พ.ย. 66) บมจ.วีรันดา รีสอร์ท หรือ VRANDA ประกาศผลประกอบการมีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ลบ. แม้ว่าจะมีผลขาดทุนสุทธิ 20 ลบ. ในไตรมาส 3/66 หลังได้รับผลกระทบจากธุรกิจโรงแรมช่วงโลว์ซีซั่นซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดการณ์ ประกอบกับอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งตลาดได้ทยอยรับรู้ปัจจัยลบดังกล่าวไปบ้างแล้ว ชี้ตลาดธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ในไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มคึกคัก รับนักท่องเที่ยวไทย-ต่างชาติช่วงไฮซีซั่น ประกอบกับธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เตรียมโอนโครงการใหม่ ‘วีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน-ชะอำ’ เริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีหนุนรายได้ ต่อเนื่องไปถึงปี 2567

นายภวัฒก์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ VRANDA ผู้นำธุรกิจโรงแรม รีสอร์ทและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไลฟ์สไตล์การพักผ่อนแบบ Exclusive เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทของไทยในไตรมาส 3 ปี 2566 ได้รับผลกระทบจากการธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังมีปัจจัยลบจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนยังเดินทางมายังประเทศไทยน้อยกว่าคาดประกอบกับ VRANDA อยู่ในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2566 นี้ 

อย่างไรก็ตามจากโดยสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยของ ททท. ในช่วง 9 เดือนแรก 19 ล้านคน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 28 ล้านคน ซึ่งมั่นใจได้ว่าในไตรมาส 4/66 ช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยวที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่เช่าเครื่องบินเหมาลำเดินทางมาประเทศไทย ฯลฯ เสริมให้ภาพรวมธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ทกลับมาคึกคักอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ VRANDA ยังคงมีปัจจัยพื้นฐานสนับสนุนการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยในไตรมาส 4/2566 จะเริ่มรับรู้รายได้จากการโอนกรรมสิทธิ์โครงการวีรันดา พูลวิลล่า หัวหิน ชะอำ ด้านการเปิดขาย ‘โครงการวีรันดา วิลล่า แอนด์ สวีท ภูเก็ต’ ประกอบด้วย วิลล่า 6 หลัง และคอนโดมิเนียม 12 ยูนิต มูลค่าโครงการรวมประมาณ 850 ล้านบาท ที่มียอดจองแล้วกว่า 70% รวมทั้งยังได้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยของภาครัฐ อาทิ มาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจากจีน คาซัคสถาน อินเดีย และใต้หวัน ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มีนโยบายผลักดันรายได้การท่องเที่ยวไทยจากตลาดยุโรปให้มากกว่า ‘5 แสนล้านบาท’ ภายในปี 2567 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ VRANDA 

สำหรับผลการดำเนินงานของ VRANDA ในช่วง 9 เดือนปี 2566 (มกราคม-กันยายน) มีรายได้รวม 1,026 ล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 219 ล้านบาท โดยมีขาดทุนสุทธิ 28 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจาก VRANDA อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มซึ่งจะสิ้นสุดภายในปีนี้ ขณะที่ไตรมาส 3/2566 มีรายได้รวม 329 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 20 ล้านบาท เนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซันและอยู่ระหว่างปรับโครงสร้างธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 60 ล้านบาท

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ขึ้นแท่น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ อนาคตจ่อเทียบชั้น ‘สถานีไทเป’ เล็งยกระดับบางซื่อสู่ ‘ชินจูกุเมืองไทย’

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 66 นายชัชวาลย์ วัฒนะโชติ หรือ ‘อ.คิม’ นักลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของบริษัท W ASSET (Thailand) และเป็นเจ้าของช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ รวมถึงแฟนเพจเฟซบุ๊ก ที่มีผู้ติดตามรวม 500,000 คน ได้ออกมาโพสต์คลิปวิดีโอผ่านทางช่องยูทูบ ‘Property Expert Live’ ในหัวข้อ ‘เทียบสถานีกลางไทยเป! สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทำให้แถวนี้กลายเป็น ชินจูกุเมืองไทย?’ โดยระบุว่า…

‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ ซึ่งในอดีตมีชื่อว่า ‘สถานีกลางบางซื่อ’ นั่นเอง หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ ว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กลายเป็น ‘สถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน’ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละ 136,000 คน เรียกได้ว่า เป็นชุมทางสายรถไฟขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยรถไฟฟ้าและรถไฟจากทางหัวเมืองทางเหนือ ที่เมื่อก่อนหลายๆ คนอาจจะมีภาพจำ คือ ‘รถไฟหัวลำโพง’ นั่นเอง

แต่เนื่องจากที่สถานีหัวลำโพงเดิมนั้น มีขนาดค่อนข้างเล็ก จึงได้มีการโยกย้ายมายังฝั่งของบางซื่อแทน ทำให้การเดินทางต่างๆ นั้นเปลี่ยนไปจากในอดีตพอสมควร โดยสถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นี้ จะมีรถไฟฟ้าเชื่อมเข้ามาหลายสาย เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, สายสีเขียว, สายสีแดง, สายสีม่วง และสายสีแดงอ่อน ซึ่งหมายความว่า หากผู้คนที่อยู่ต่างจังหวัดเดินทางผ่านทางรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟทางคู่ต่างๆ ลงมาจากทางเหนือ ก็จะมาเชื่อมต่อการเดินทางที่ชุมทางสายรถไฟตรงนี้ จากนั้นจึงเดินทางต่อด้วยรถไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่ใจกลางเมืองและเขตธุรกิจได้ทันที

และด้วยพื้นที่ที่มีค่อนข้างมหาศาล รวมถึงอยู่ใกล้กับขั้วต่อแหล่งการเดินทางเชื่อมไปยังรถไฟฟ้าสายต่างๆ มากมายหลากหลายสาย จะเดินทางเชื่อมต่อไปยังสนามบินก็ง่ายดาย จึงทำให้เกิดโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ขึ้นมา ที่สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตรงนี้นั่นเอง

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหากดูจากตำแหน่งจริงๆ นั้น จะเห็นว่า ตัวสถานีกลางบางซื่อนั้น มีขนาดค่อนข้างกว้างใหญ่มาก และกินพื้นที่ไปหลายสถานีเลยทีเดียว

และด้วยเทรนด์รถไฟในต่างประเทศที่ส่วนใหญ่นั้นออกมาแบบมาให้ใช้งานสะดวก หลากหลาย ต้องมีการเชื่อมต่อได้หลายการเดินทาง เชื่อมต่อกับสนามบินให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสู่ตัวเมืองได้อย่างง่ายดาย และรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางได้ในปริมาณมหาศาล หรือแม้แต่ประชาชนที่เดินทางไปทำงาน ก็จะเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ รถไฟและสนามบินเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้นั่นเอง ในปัจจุบันสนามบินดอนเมืองนั้น ไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับรถไฟที่ทันสมัย เมื่อลงเครื่องมาจึงต้องหารถแท็กซี่ หรือรถโดยสารอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดตามมาเป็นทอดๆ อีกด้วย

หากพูดถึงเรื่องขนาดแล้ว สถานีกลางบางซื่อ หรือสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นับเป็นสถานีที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากพูดถึงในเรื่องของจำนวนผู้ใช้บริการก็คงต้องบอกว่ายังไม่ได้เป็นอันดับ 1 ขนาดนั้น เพราะเมื่อเทียบกัน จริงๆ แล้ว ‘สถานีรถไฟไทเป’ ที่เป็นสถานีรถไฟใต้ดินและสถานีรถไฟหลักในเมืองหลวงไทเป ของไต้หวัน ซึ่งมีผู้คนมาใช้บริการเฉลี่ยแล้ว 600,000 คนต่อวัน หรือเมื่อเทียบแล้ว คือ มากกว่าตัวของสถานีกลางบางซื่อถึง 4 เท่าเลยทีเดียว

หากพูดถึงเรื่องของทำเลนั้น ค่อนข้างคล้ายคลึงกัน คือ สามารถเข้าถึงสนามบินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีรถไฟฟ้าหลากหลายสายมาบรรจบในบริเวณพื้นที่รอบๆ สถานีเหมือนกัน ทำให้เดินทางเข้าสู่เมืองสะดวก เนื่องจากสถานีรถไฟไทเปนั้นตั้งอยู่ตรงกลาง เป็นเหมือนจุดเซ็นเตอร์เพื่อเชื่อมไปยังสถานที่อื่นๆ ต่อได้ อีกทั้งยังมีจุดแข็งที่โดดเด่น คือ มี ‘ห้างสรรพสินค้า’ อยู่ในสถานีรถไฟถึง 5 ห้าง ทำให้ผู้คนที่มาใช้บริการ นอกจากจะมาที่นี่เพื่อเดินทางแล้ว ยังเดินทางมาเพื่อจับจ่ายใช้สอย มาเพื่อชอปปิง มาเดินเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่นี้ได้มากขึ้นจริงๆ

เพราะในส่วนของสนามบินหรือสถานีรถไฟฟ้านักท่องเที่ยว นักเดินทางแต่ละคนก็ล้วนแต่โฉบมาและโฉบไป ลงเครื่องบินเสร็จก็ขึ้นรถบัส ขึ้นรถไฟออกเดินทางต่อ ไม่ได้อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นมากนัก แต่เมื่อมีห้างสรรพสินค้า ก็จะสามารถตรึงผู้คนให้อยู่ที่นี่ได้นานมากขึ้นนั่นเอง จึงทำให้ภายในสถานีรถไฟไทเปนั้น ถือเป็น ‘ศูนย์รวมขนส่งมวลชนทุกประเภท’ ตั้งแต่ MRT 2 สาย, รถไฟเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติไต้หวันเถา-ยฺเหวียน 2 สาย และยังมีรถไฟทั้งแบบธรรมดาและรถไฟไฮบริด รวมถึงมีสถานีรถโดยสารประจำทาง (Bus station) อีกด้วย เรียกว่า มีครบทุกอย่างในสถานีเดียว สมกับเป็นสถานีกลางจริงๆ

หากย้อนกลับไป สถานีรถไฟไทเปแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในปี 1891 เมื่อเทียบกับประเทศไทยบ้านเรา คือ ในช่วงก่อนหน้าที่จะสร้าง ‘สถานีรถไฟหัวลําโพง’ เพียงแค่ 19 ปีเท่านั้น ต่อมา ไต้หวันก็เติบโตอย่างรวดเร็ว ประชากรชาวไต้หวันก็เติบโตขึ้นมาปรับปรุง พัฒนาประเทศมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1980 GDP ของไต้หวันนั้น เติบโตจนถึงขีดสุด ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการสถานีรถไฟไทเปแห่งนี้หนาแน่นขึ้นอย่างมาก

จนทำให้ในปี 1985 ทางรัฐบาลไต้หวันตัดสินใจรื้อสถานีรถไฟเก่า และสร้างสถานีรถไฟใหม่ตรงบริเวณเดิม แต่จัดวางโครงสร้างทั้งหมดขึ้นมาใหม่ โดยนำเอาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงรางรถไฟไปไว้ในใต้ดิน ทำให้ระบบใหม่นี้ สามารถเชื่อมโยงเมืองอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ในไต้หวัน ดำเนินกิจการไปอย่างราบรื่น และเติบโตอย่างรวดเร็ว ผู้คนไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ เพราะว่าระบบขนส่งสาธารณะ การเดินรถไฟของเขานั้นดีมาก ทำให้การออกแบบผังเมืองถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย ยิ่งผลักดันให้ไต้หวันเจริญมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งตรงจุดนี้ต่างจากเมืองไทยบ้านเรา เนื่องจากผู้คนในไทยนั้นยังคงชื่นชอบการขับรถยนต์อยู่ จึงทำให้โครงสร้างคมนาคมนั้น อยู่ที่ตัวถนนหนทางนั่นเอง ส่งผลให้เวลาสร้างตึก อาคาร สำนักงานต่างๆ ทุกที่จึงจำเป็นต้องมีที่จอดรถไว้เพื่อรองรับ ในขณะที่ในไต้หวัน ไม่ได้มีความจำเป็นต้องสร้างพื้นที่จอดรถ ทำให้สามารถนำเอาพื้นที่ส่วนนั้นมาทำเป็นสถานที่เอาไว้ปล่อยเช่าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ไต้หวันมีสัดส่วนที่จอดรถค่อนข้างน้อยกว่าเมืองไทยนั่นเอง

ทุกอย่างเหมือนเป็น ‘ผลกระทบแบบโดมิโน่’ (Domino Effect) เพราะการที่มีพื้นที่เพิ่มขึ้น ก็สามารถรองรับผู้คนได้มากยิ่งขึ้น คนก็หันมานั่งรถไฟกันมากขึ้น ธุรกิจกิจการโดยรอบสถานีก็เจริญเติบโตมากยิ่งขึ้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาคการท่องเที่ยว จนช่วยสร้างรายได้อย่างมหาศาลให้กับประเทศอีกด้วย เรียกว่าเป็นเอฟเฟกต์ที่ดีด้วยกันทั้งระบบ และนอกเหนือจากการวางโครงข่ายการเดินทางที่ดีแล้ว ยังทำให้เกิดความเป็นเมือง สร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวของมันเองอีกด้วย

ซึ่งไอเดียหรือโมเดลนี้นั้น ก็มีความคล้ายคลึงกับทางประเทศอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น เนื่องจากสถานีรถไฟของญี่ปุ่นนั้น สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ด้วยตัวของมันเอง โดยสถานีที่โดดเด่นที่สุด คือ ‘สถานีรถไฟชินจูกุ’ ซึ่งถือเป็นสถานีที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก โดยมีผู้ใช้บริการสูงสุดอยู่ที่ 3.59 ล้านคนต่อวัน ทิ้งอันดับนำโด่งห่างจากทั้งสถานีรถไฟไทเปของไต้หวัน และสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของไทยเราแบบไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

ความพิเศษของสถานีรถไฟชินจูกุนี้นั้น นอกจากจะมีขนาดที่ใหญ่มากแล้ว ยังเต็มด้วยสำนักงาน หรือก็คือแหล่งของคนวัยทำงาน ทำให้ในช่วงเช้าจะมีผู้คนวัยทำงานอยู่ในบริเวณนี้กันอย่างคับคั่ง แต่ในช่วงกลางคืนก็จะกลายเป็นแหล่งชอปปิงที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีห้างสรรพสินค้าอีกมากมาย หลากหลายที่ให้นักท่องเที่ยวได้เดินเลือกจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้ สถานีรถไฟชินจูกุ ยังขึ้นชื่อในเรื่องความซับซ้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวสถานีแห่งนี้มีทางเข้า-ออกมากถึง 200 ทางเลยทีเดียว

ทำให้หลายๆ คนมองว่า หากโปรเจกต์ ‘เมืองอัจฉริยะ’ บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เกิดขึ้นจริงๆ พื้นที่นี้อาจจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ก็เป็นได้ เพราะว่าบริเวณโดยรอบก็มีคอมมูนิตี้ สำนักงาน แหล่งทำงาน แหล่งชอปปิง อีกทั้งการเดินทางก็แสนจะสะดวกสบาย เพราะมีชุมทางสายรถไฟเชื่อมต่อไปยังสนามบินต่างๆ มีรถไฟฟ้าหลายสายเชื่อมการเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองและเขตเศรษฐกิจมากมายอีกด้วย และที่สำคัญ คือ มีพื้นที่ใช้สอยขนาดใหญ่ไม่แพ้ใคร เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน

ถึงแม้โครงสร้างของไทยจะแตกต่างจากโครงสร้างของประเทศอื่น แต่ว่าประชากรของไทยนั้นก็มีมากกว่าเช่นกัน โดยไทยมีประชากรมากกว่าไต้หวันถึง 3 เท่าเลยทีเดียว ดังนั้น หากวางระบบให้ดี สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์อาจมีผู้ใช้บริการสะพัดมากกว่า 600,000 คน อย่างสถานีรถไฟไทเปก็เป็นได้…

นอกจากนี้ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ยังมีจุดแข็งอีกอย่าง คือ ไม่เพียงแค่เชื่อมกับฝั่งของกรุงเทพมหานครอย่างเดียว แต่ยังเป็นการจุดศูนย์รวมของ ‘รถไฟความเร็วสูง’ ที่เชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศจีน และยังเชื่อมการเดินทางกับอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม, สปป.ลาว และเมียนมา จนสุดท้ายมาบรรจบจุดสิ้นสุดที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง จากนั้นจึงรวมสายการเดินทางเชื่อมลงไปสู่ภาคใต้ ซึ่งมีทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย ซึ่งหมายความว่าเส้นทางการเดินรถนี้ สามารถเติบโตต่อไปได้อีกมากเลยทีเดียว

และเรื่องของการเช่าพื้นที่ภายในสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้น ก็ได้มีธุรกิจมากมายหลายเจ้า เช่น ทางเครือซีพีเอ็น หรือ ‘เครือเซ็นทรัล’ รวมถึงคิงเพาเวอร์ และแพลน บี มีเดีย เข้ามาขอยื่นซองประมูลบริหารพื้นที่เช่นเดียวกัน

ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่า ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ นั้น จะสามารถเทียบชั้น ‘สถานีรถไฟไทเป’ หรือจะกลายเป็น ‘ชินจูกุเมืองไทย’ ได้หรือไม่

‘ครม.’ เคาะงบฯ 5.37 ล้านเหรียญฯ พัฒนาพลังงาน ‘ไทย-มาเลย์ฯ’ หวังสร้างความมั่นคง-เสถียรภาพด้านพลังงาน-เศรษฐกิจให้ประเทศ

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ จำนวน 5,375,000 เหรียญสหรัฐ และแผนการดำเนินงานประจำปี 2567 ขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย

แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 5,250,900 เหรียญสหรัฐ และค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน จำนวน 124,100 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 375,000 เหรียญสหรัฐ

-ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) เพิ่มขึ้น 8.6% เทียบเท่า 414,800 เหรียญสหรัฐ
-ค่าใช้จ่ายที่เป็นทุน (CAPEX) ลดลง 24.3% เทียบเท่า 39,800 เหรียญสหรัฐ

นางรัดเกล้ากล่าวว่า โดยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ประกอบด้วย ด้านการสำรวจและการประเมินผล ด้านการพัฒนาปิโตรเลียม และด้านการผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย - มาเลเซีย เช่น เจาะหลุมพัฒนา จำนวน 8 หลุม รักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 869 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดำเนินการเจาะหลุมพัฒนาตามแผนพัฒนาแหล่งในระยะที่ 6 จำนวน 17 หลุม รักษาระดับอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติที่เรียกรับสูงสุดในอัตรา 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซ่อมแซมหลุมผลิตเดิมและเจาะผนังหลุมเพิ่ม เพื่อรักษาอัตราการผลิตของหลุม

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ทั้งนี้ให้รับความเห็นของกระทรวงการคลังที่ให้คำนึงถึงประเด็นความคุ้มค่า ต้นทุนและผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดการเสนองบประมาณและแผนการดำเนินงานประจำปีขององค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ต่อคณะรัฐมนตรีตามกรอบระยะเวลา ข้อ 3 แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2536) ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย พ.ศ. 2533 กำหนด ไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

‘รมช.คลัง’ เตรียมออกใบอนุญาต ‘เกาหลีใต้’ จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในไทย พร้อมเดินหน้ายกระดับความร่วมมือ-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(14 พ.ย. 66) นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC FMM) ครั้งที่ 30 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา (H.E. Janet L. Yellen) เป็นประธาน ได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินการคลังในปัจจุบัน เช่น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการก่อหนี้สาธารณะ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อกำลังการผลิตในระบบเศรษฐกิจลดลง และภาระงบประมาณในการสนับสนุนด้านสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังร่วมหารือทวิภาคีกับสาธารณรัฐเกาหลี โดยได้พูดคุยกับทาง ‘H.E. Ji-young Choi’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการเงิน สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งได้แจ้งว่า ทางสถาบันการเงินของเกาหลี มีความสนใจขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Banking) ในไทย ซึ่งในขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการให้ใบอนุญาตดังกล่าว คาดว่าสามารถออกประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้

อีกทั้ง สาธารณรัฐเกาหลียังขอให้ไทยสนับสนุน ในการเป็นประธานร่วมภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน+3 ในปีหน้า และขอเสียงสนับสนุนจากไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘World Expo 2030’ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังแจ้งว่า ไทยพร้อมสนับสนุนและจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนดังกล่าวอีกด้วย

‘ครม.’ เคาะ!! หนุนเงินช่วยชาวนา ไร่ละ 1 พันบาท ไม่เกิน 20 ไร่ พร้อมไฟเขียวขึ้นราคา ‘น้ำตาล’ 2 บาท/กก. หลังต้นทุนชาวไร่อ้อยพุ่ง

(14 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า สำหรับส่วนที่ตนดูและรับผิดชอบก็คือเรื่องข้าวและน้ำตาล ในเรื่องราคาข้าวนั้น เป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายข้าว ได้มีการประชุมกันและได้ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทำการหารือกัน ซึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้หารือและนำสรุปเข้า ครม.วันนี้ ได้ข้อสรุปว่า เงินค่าช่วยบริหารจัดการ ที่จะให้เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ทั้งหมดจำนวนไม่เกิน 20 ไร่ เกษตรกรแต่ละครัวเรือนก็จะได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ตรงนี้ก็ได้ประชุมเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการตั้งแต่มติ ครม.ออก ซึ่งจะรอให้ ธ.ก.ส.เคลียร์รายละเอียดประชุมเสนออีกครั้งหนึ่ง เข้าใจว่าอย่างเร็วก็จะเป็นวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน หรือวันจันทร์ที่ 20 พฤศจิกายนนี้ แต่อยู่ภายในกรอบหนึ่งเดือน ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินตรงนี้ต่อเนื่องไป

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนเรื่องน้ำตาล ตนก็ได้รับฟังจากที่ประชุม ซึ่งตนได้มีการประชุมกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) และได้พูดคุยกับเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และอธิบดีกรมเจรจาการค้าต่างประเทศ ก็ได้ประชุมหารือร่วมกันไปถึง 2 ครั้ง และได้ข้อสรุปว่าเราจะดำเนินการ ในการที่จะพิจารณาอย่างเหมาะสม ตามความเป็นจริง ประเด็นแรก คือ ดูต้นทุนของเกษตรกรชาวไร่อ้อย แล้วเห็นว่าก็สมควรให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขึ้นราคา 2 บาท ตามที่ต้นทุนมีอยู่

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ส่วนกรณีของเรื่องอีก 2 บาท ที่ขอขึ้นเพื่อจะใช้ในกองทุนเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม อันนี้เรายังไม่ให้ขึ้น ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม และกรรมการที่เกี่ยวข้องไปหารือกันว่า เรื่องนี้ไม่ควรจะให้ผู้บริโภครับผิดชอบคนเดียว ให้ไปดูว่าเรื่องนี้เกี่ยวพันกับใครอย่างไร มีช่องทางในการดำเนินการจัดการอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นที่ยังไม่อนุมัติ และขอให้ดำเนินการตามนี้

เมื่อถามถึง ปัญหาเรื่องน้ำตาลขาด นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ได้คุยกับที่ประชุมที่เกี่ยวข้องทุกส่วนแล้ว ยืนยันว่า น้ำตาลจะไม่ขาด

เมื่อถามว่า การประชุมมีเรื่องอื่นด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า คิดว่าเอาเรื่องเฉพาะหน้า ที่เกษตรกรกำลังเดือดร้อน และก็จะได้คุมราคาน้ำตาลขึ้นสองบาท แล้วก็สามารถดำเนินการได้ ให้ส่วนที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นๆ สำหรับอนาคตที่จะต้องมีการปรับอะไรต่างๆ ก็ค่อยว่ากัน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องฉุกเฉิน ที่มีปัญหาอยู่ และเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่ประชาชนกำลังรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า จะมีผลตั้งแต่วันนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ครม.ได้กำหนดเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่เกี่ยวข้องก็ไปดำเนินการต่อ จะมีผลตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

‘Jet Delivery’ เปิดแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่บริการ 100 สาขาทั่วประเทศในปี 68

เมื่อไม่นานมานี้ บริษัท ศิริอริย จำกัด ผู้บริหาร แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่น Jet Delivery เตรียมแผนรุกตลาดธุรกิจส่งอาหาร ตั้งเป้าขยายพื้นที่เปิดบริการ 100 สาขาอำเภอ ทั่วประเทศ ภายในปี 2568

 

แอปพลิเคชัน Jet Delivery แพลตฟอร์มของคนไทย เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจส่งอาหารในช่วงปลายปี 2564 จวบจนปัจจุบัน มีสาขามากกว่า 30 สาขา ทั่วประเทศ ได้เตรียมแผนธุรกิจเชิงรุก เพื่อรองรับการขยายสาขาในปี 2567 โดยตั้งเป้าหมาย มีพื้นที่เปิดบริการสาขา รวมไม่น้อยกว่า 60 สาขา และในปี 2568 ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้ ครบ 100 สาขา ปัจจุบัน มีร้านค้าเข้าร่วมขายอาหารบนแพลตฟอร์ม มากกว่า 5,000 ร้านค้า 

2 ปี ที่ผ่านมา Jet Delivery กระตุ้นให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นหมุนเวียน สร้างอาชีพให้คนในท้องถิ่น ทั้งในส่วนของร้านค้ามีช่องทางการขายมากขึ้น มีรายได้จากการขายอาหารเพิ่มขึ้น มีอัตราการจ้างแรงงานมากขึ้น มีพนักงานส่งอาหารซึ่งเป็นคนในพื้นที่ มีรายได้โดยไม่ต้องจากถิ่นฐานบ้านเกิด

ในการให้บริการ Jet Delivery มีนโยบายการคิดค่า GP (Gross Profit) ที่ต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ให้สามารถใช้บริการสั่งอาหารได้ประหยัด ตาม Concept ‘ส่งถูก ส่งดี ส่งฟรี ส่งไกล’

รูปแบบการดำเนินงานของ Jet Delivery จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ การเปิดสาขาบริการ ที่บริหารงานโดยบริษัทฯ เอง และ การหาพาร์ตเนอร์ลูกค้าที่มีความพร้อม ความสนใจที่ต้องการสร้างธุรกิจ ในท้องถิ่น โดยการซื้อแฟรนไชส์ ไปเปิดบริการในพื้นที่อำเภอที่ตนสนใจ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี สาขาแฟรนไชส์หลายสาขา สามารถสร้างผลตอบแทน และคืนทุนได้ภายใน 4-6 เดือน

ล่าสุด ผู้บริหาร ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม ในโครงการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ ผ่านโครงการ WE RISE Together สนับสนุนโดยรัฐบาลออสเตรเลียผ่านความร่วมมือแม่น้ำโขง-ออสเตรเลีย จัดโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แสดงให้เห็นถึงการให้โอกาสกับทุกเพศ อย่างเท่าเทียมในการทำงาน และการสร้างองค์กรธุรกิจด้วยความเสมอภาค

จากนโยบายของบริษัทฯ ที่ต้องการสร้างโอกาสให้คนไทย มีธุรกิจเป็นของตนเอง ส่งเสริมการสร้างอาชีพในท้องถิ่น สามารถสร้างรายได้ ด้วยการกำหนดราคาแฟรนไชส์ราคาประหยัด เพื่อให้ผู้สนใจ สามารถเข้าถึงธุรกิจแพลตฟอร์มแอปฯ เดลิเวอรี่ได้ และมุ่งเน้นทำตลาดในพื้นที่ โดยใช้เงินทุนที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับการต้องสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจขึ้นมาใหม่ ย่อมเป็นการเริ่มต้นในการลงทุนที่ดี สำหรับผู้ที่กำลังมองหาธุรกิจใหม่ ๆ และอยากทำธุรกิจที่บ้านเกิดของตนเอง

‘3BB’ ผนึกกำลัง ‘AIS’ พร้อมยกระดับเน็ตบ้านให้คนไทย หลัง กสทช.อนุญาตให้ซื้อกิจการ ย้ำ!! ลูกค้าปัจจุบันใช้งานได้ปกติ

เมื่อวานนี้ (13 พ.ย.66) นายสุพจน์ สัญญพิสิทธิ์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB กล่าวถึง กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาอนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB (TTTBB) และการซื้อหน่วยลงทุนบางส่วนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บรอดแบนด์ - JASIF ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแก่ 3BB เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

โดยหลังจากนี้ จะเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ส่วนการให้บริการของ 3BB ลูกค้าในปัจจุบันนั้น จะยังคงสามารถใช้บริการได้ตามปกติ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ซึ่งทั้ง AIS และ 3BB จะร่วมผนึกกำลังและนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัท มาร่วมกันส่งมอบให้ลูกค้าได้รับบริการที่ยกระดับไปอีกขั้น ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีโครงข่าย การขยายพื้นที่ให้บริการ บริการหลังการขาย ดิจิทัล คอนเทนต์ นวัตกรรม ฯลฯ โดยจะทยอยส่งมอบบริการพร้อมสิทธิพิเศษที่หลากหลาย และสะดวกมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

“การที่ 3BB ได้เข้าไปเป็น 1 ในกลุ่มธุรกิจของ AIS ที่เป็นผู้นำทางด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการดิจิทัล นอกจากจะเป็นผลดีแก่ลูกค้าแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ตามนโยบาย กสทช. ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการพัฒนาอุตสาหกรรม Fix Broadband หรือ เน็ตบ้าน อาทิ ความชำนาญในการพัฒนาบริการเน็ตบ้านในพื้นที่ห่างไกลของ 3BB หรือ ความชำนาญของ AIS เกี่ยวกับบริการดิจิทัล และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจะช่วยให้เติมเต็มซึ่งกันและกัน พร้อมทำให้บริการเน็ตบ้าน ก้าวสู่ความเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอัจฉริยะ ที่จะทำให้ทั้งระดับประชาชน ผู้ประกอบการในทุก ๆ อุตสาหกรรม ตลอดจนเศรษฐกิจประเทศแข็งแกร่ง พร้อมรับมือความท้าทายที่ท่ามกลางความแปรปรวนของเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป” นายสุพจน์ กล่าว

'อ.พงษ์ภาณุ' หวั่น!! นโยบายการเงินแบงก์ชาติซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย หลังเงินเฟ้อตุลาติดลบ และเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีน

(11 พ.ย. 66) อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ให้มุมมองต่อภาวะความเสี่ยงเงินฝืดกับอิสรภาพธนาคารกลาง ไว้ว่า...

สมัยก่อนระบบการเงินโลกตั้งอยู่บนมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) เงินตราสกุลต่าง ๆ มีค่าคงที่อิงอยู่กับน้ำหนักทองคำ ต่อมาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 มีการใช้ระบบ Bretton Woods ค่าเงินก็ยังคงที่แต่อิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายการเงิน (Monetary Policy) มักจะไม่ค่อยมีบทบาททางเศรษฐกิจเท่าไหร่ 

หน้าที่หลักของนโยบายการเงินคือ การรักษาระดับคงที่ (Parity) ของอัตราแลกเปลี่ยน ต่อเมื่อระบบการเงินโลกเปลี่ยนมาเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นโยบายการเงินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคา และเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าธนาคารกลางจะต้องมีอิสรภาพในการทำหน้าที่นี้โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ความเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลางและการใช้ Inflation Targeting มาเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน ได้ช่วยให้เงินเฟ้อของโลกที่เคยสูงถึงกว่า 20% ลดลงมาอยู่ระดับไกล้ศูนย์มาเป็นเวลานาน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ยึดมั่นในหลักความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ได้มีการแก้กฎหมายธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อประกันความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินและทำให้การปลดผู้ว่าการฯ ยากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะกระทำไม่ได้หากผู้ว่าการฯ บกพร่องต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง

1 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่านโยบายการเงินได้สร้างความผันผวนอย่างรุนแรงให้กับเศรษฐกิจไทย เมื่อโลกมีเงินเฟ้อสูงเมื่อไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ธนาคารกลางทุกประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างรวดเร็วตามกรอบ Inflation Targeting ขณะที่ทางการไทยกลับรี ๆ รอ ๆ ปรับดอกเบี้ยช้ากว่าประเทศอื่น จนอัตราเงินเฟ้อของไทยในปีที่แล้วขึ้นไปสูงถึงกว่า 6% ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในอาเซียนและสูงกว่ากรอบ Inflation Targeting ที่เห็นชอบร่วมกับรัฐบาล ถึงกว่า 2 เท่า 

พอมาถึงปีนี้ ภายหลังการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงมาเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ดูเหมือนว่าการดำเนินการนี้จะสายเกินไปและผิดที่ผิดเวลา จนซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้เงินเฟ้อมีอัตราติดลบในเดือนตุลาคม และมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดตามประเทศจีนไป และก็ถือเป็นการหลุดกรอบ Inflation Targeting 2 ปีติดต่อกัน เราไม่เคยได้ยินคำขอโทษของธนาคารแห่งประเทศไทยสักครั้งเดียว

เรายังเชื่อในอิสรภาพของธนาคารกลาง แต่อิสรภาพนี้จะต้องมีควบคู่ไปกับ Accountability ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งต้อง Accountable ต่อประชาชนที่เลือกตั้งเข้ามา แต่ธนาคารกลาง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและได้รับการคุ้มครองอิสรภาพตามกฎหมาย ควรจะต้องมี Accountability มากกว่านี้ อย่างน้อยก็ควรจะต้องเคารพเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเปรียบเสมือนสัญญาประชาคม

‘พีระพันธุ์’ ขอบคุณทุกฝ่ายร่วมแก้ปัญหา ลั่น!! ตอนนี้ทุกปั๊มมีน้ำมันพร้อมให้บริการ

(13 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า จากกรณีที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดปัญหาน้ำมันในสถานีบริการมีไม่เพียงพอต่อการจำหน่ายเนื่องจากประชาชนตอบรับนโยบายลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน ทำให้ก่อนวันลดราคาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนชะลอการเติม และมาเติมพร้อมกันในวันที่ 7 พฤศจิกายน ซึ่งมียอดเติมน้ำมันเบนซินทุกชนิดรวมกันสูงถึงเกือบ 70 ล้านลิตรในวันเดียว จากปกติมีการเติมเฉลี่ยวันละ 30 ล้านลิตร

โดยจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังทราบปัญหา จึงได้มีการสั่งการตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที และมีการจัดประชุมในเย็นวันเดียวกันเพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งสำนักงานพลังงานจังหวัด พาณิชย์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ก็ได้เร่งลงพื้นที่ พร้อมกำชับสถานีบริการน้ำมันที่มีน้ำมันไม่เพียงพอจำหน่ายเร่งซื้อน้ำมันเข้ามาเติมเพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบ 

ทั้งนี้ ต้องขอบคุณทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ทุกฝ่าย ที่เร่งดำเนินการแก้ปัญหา รวมทั้งขอบคุณเจ้าของสถานีบริการน้ำมันและผู้ค้าน้ำมัน ที่เร่งดำเนินการ ทั้งการเพิ่มรอบส่งน้ำมัน การปรับแผนกระจายน้ำมันให้ทั่วถึง จากการตรวจสอบก็พบว่า สถานีบริการที่อยู่ในเมือง สามารถแก้ปัญหาได้ภายใน 1-2 วัน ยกเว้นสถานีบริการน้ำมันที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่จำเป็นต้องจ้างรถเอกชนเพิ่มเติม ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ใน 3-4 วัน

"ผมยังยึดมั่นคำเดิม อะไรที่ทำได้ ทำก่อน อย่างกรณีวันแรก (7 พ.ย.66) ทันทีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่องสถานีบริการมีน้ำมันไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ผมได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานตรวจสอบการจำหน่ายน้ำมันขึ้นทันที ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานีบริการน้ำมัน และส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง เพื่อแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงานให้เร่งประสานผู้ค้าน้ำมันในการเพิ่มรอบการส่ง กระจายปริมาณน้ำมันจากคลังให้เพียงพอและทั่วถึง ซึ่งบางสถานีบริการอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงอาจเกิดความล่าช้าในการขนส่ง และบางสถานีระบบสั่งจ่ายน้ำมันก็เกิดเหตุขัดข้อง ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัย ผมขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาและสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ถึงแม้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติแล้ว กระทรวงพลังงานจะยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง หากประชาชนพบว่าปัญหาเรื่องการจำหน่ายน้ำมัน สามารถแจ้งเรื่องได้ที่ศูนย์บริการร่วมกระทรวงพลังงาน โทร 02-140-7000” นายพีระพันธุ์กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top