Wednesday, 7 May 2025
ECONBIZ NEWS

'สรวงศ์' เล็งดึง 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน' กระตุ้น ศก.โลว์ซีซั่นปีหน้า ลั่น!! นโยบายของรัฐบาลใดที่ทำไว้แล้วดี เอากลับมาใช้แน่นอน

เมื่อวานนี้ (27 ก.ย.67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยถึงแผนกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวปี 68 ว่า ขณะนี้กำลังไล่รื้อแผนในช่วงโลซีซันในปีหน้า โดยจะฟื้นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพราะแอปพลิเคชันเองก็ยังอยู่ และจากตัวเลขการเดินทางเข้ามาก็ค่อนข้างมาก ซึ่งชัดเจนว่าช่วยได้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค

ขณะที่การกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วงปลายปี 67 นายสรวงศ์ ยอมรับว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์อุทกภัยทำให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินมากพอสมควร แต่เชื่อไตรมาสสุดท้ายของปีนี้การจองจะยังเหมือนเดิมยังไม่มีการยกเลิกเข้ามา เป็นเครื่องยืนยันได้ว่านักท่องเที่ยวยังมองว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายอยู่ และตัวเลขนักท่องเที่ยวปีนี้จะได้ตามเป้าหมายหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า จะพยายามให้เต็มที่ โดยจะอัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวและนักลงทุน พร้อมกับหวังว่าอย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบอุทกภัยเกิดขึ้นอีก และยืนยันว่าจะพยายามอย่างยิ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมยอมรับว่าตัวเลขด้านรายได้การท่องเที่ยวยังขาดอีก 8 แสนล้านบาท เป็นเรื่องที่เหนื่อย แต่จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น จีน และอินเดีย พบว่านักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายเยอะพอสมควร จึงอาจจะมีการเพิ่มไฟลต์บินตรงให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย ขณะที่จีนก็อาจจะมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยการไปเปิดเชิญชวนยังมณฑลต่าง ๆในประเทศจีน เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจีนที่มีคุณภาพให้กลับมามากขึ้น

ส่วนช่วงโกลเด้นวีคของประเทศจีนคือวันที่ 1 ตุลาคม จะมีแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างไร? นายสรวงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ดูจากตัวเลขไฟลต์บินที่มาจากจีนยังเยอะเหมือนเดิม และหากดูจากจำนวนก็ไม่น่าห่วง แต่เรามุ่งจัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการใช้จ่ายต่อหัวให้มากขึ้น พร้อมยืนยันว่าไม่ห่วงเรื่องจำนวนแล้ว แต่การใช้จ่ายต่อหัวต้องกระตุ้น อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้จีนมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจทำให้การใช้จ่ายน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อถามว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในไทยจะมีการนำโครงการนำคนละครึ่งกลับมาด้วยหรือไม่? นายสรวงศ์ กล่าวว่า พยายามอยู่ เพราะนโยบายไหนที่เป็นของรัฐบาลใดก็ตามที่ทำไว้แล้วดี เราเอากลับมาใช้แน่นอน แต่ต้องปัดฝุ่นให้ดีว่าตรงไหนเป็นข้อเสียก็เรียนรู้จากประสบการณ์ ซึ่งแคมเปญกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซั่นอาจจะออกราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน และใช้ในช่วงหน้าฝน

ขณะที่แผนกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้า นายสรวงศ์ กล่าวว่า จะมีการจัดอีเวนต์กระตุ้นการท่องเที่ยว แต่จะต้องมีหลายส่วนที่เข้าไปเสริม เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา และเพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ ซึ่งจะเป็นแผนที่ค่อย ๆ ประกาศออกมา ขณะที่นายกฯเองจะมีแผนภาพใหญ่ของประเทศในปีหน้า และในส่วนของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาจะทำตามแนวนโยบาย

ทั้งนี้ จะมีการประเมินผลกระทบจากอุทกภัย และค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นหรือไม่ นายสรวงศ์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบตอนนี้ถึงปลายปีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่กระทบ แต่จะกระทบในส่วนของการใช้จ่ายรายหัวของนักท่องเที่ยว แต่จะไม่กระทบเรื่องของจำนวน และเราต้องมีมาตรการช่วยเหลือนักท่องเที่ยวด้วย อาทิ การคืนภาษีให้ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมยืนยันว่าเป้าของรายได้ยังอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ขณะที่การประชุมบอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจนัดแรก ยังไม่มีการเรียกประชุม

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ชู 'บางระจันโมเดล' ปกป้องเศรษฐกิจไทย 700,000 ล้าน สนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทยจับมือสภาเอสเอ็มอี. รวมพลังสู้แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ต่างชาติ

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์( FKII Thailand ) รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ปชป.และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยวันนี้ว่า

ตลาดอีคอมเมิร์ซ (eCommerce ) ของไทยมีการซื้อขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซ(Social commerce)กว่า700,000ล้านบาทต่อปีถูกครอบครองตลาดโดยแพลตฟอร์มต่างชาติแบบครบวงจรเกือบ100% จากต้นน้ำถึงปลายน้ำตั้งแต่ระบบซัพพลายเชน (supply chain system) โรงงานผลิตสินค้า ,ระบบอี-มาร์เก็ตเพลส (eMarketplace) ,ระบบขนส่งโลจิสติกส์ (Logistics) จนถึงระบบการชำระเงิน (Payment Gateway) โดยสินค้าส่วนใหญ่มาจากต่างชาติทำให้เอสเอ็มอี. โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจค้าปลีกค่าส่งดั้งเดิม ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจขนส่งและบริการส่งถึงลูกค้า(last mile delivery)ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและเสียเปรียบดุลการค้ามากขึ้น

แนวทางหนึ่งในการแก้ไขสถานการณ์ที่เข้าขั้นวิกฤติคือการสนับสนุนบริษัทอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยโดยสร้าง ระบบนิเวศน์การค้า(Eco-System)ในการซื้อขายในประเทศไทยรวมทั้งผนึกความร่วมมือกันต่อสู้เรียกว่า 'บางระจันโมเดล' และขอให้ภาครัฐกำกับการค้าออนไลน์ข้ามชาติแบบเสรีและเป็นธรรมควบคุมมาตรฐานสินค้าต่างชาติและการเสียภาษีสินค้า-นิติบุคคลรวมทั้งการใช้มาตรการปกป้องคุ้มครองผู้ประกอบการไทยตามกฎกติกา WTO และยกหารือประเด็นการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนรูปแบบใหม่ F2C(Factory to Customer) กรณีเตมู (TEMU) ภายใต้กลไกข้อตกลงทวิภาคีไทย-จีน และพหุภาคี เอฟทีเอ.อาเซียน-จีน ความตกลงDEFA(Digital Economy Framework Agreement)และAEC (ASEAN Economic Community)บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีระหว่างไทย-จีนและความร่วมมือในกรอบอาเซียน

ทั้งนี้สถาบันเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ร่วมกับสถาบันทิวา (TVA) ได้จัดงาน 'รวมพลังไทย : สร้างอาชีพ สร้างชาติ' (Thai Power : Building Careers, Building the Nation) SME - E-COMMERCE COLLABORATION ณ สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพมหานครโดยได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ 5 องค์กรได้แก่

สถาบันทิวา (TVA) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย (สภาเอสเอ็มอี) บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด 

เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาอีคอมเมิร์ซไทยและเอสเอ็มอี.ไทยนอกจากนี้ยังมีการสัมมนาโดยนายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานกรรมการสมาคมสถาบันทิวาได้บรรยายถึงวัตถุประสงค์ของการผนึกความร่วมมือของ 5 องค์กร

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธาน FKII Thailand และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเปิดงานและบรรยายหัวข้อ 'สถานการณ์ตลาดและผลกระทบของอีคอมเมิร์ซและเอสเอ็มอีไทยกับแนวทางแก้ปัญหา การค้าออนไลน์ข้ามชาติ'

นายสุปรีย์ ทองเพชร ประธานสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยบรรยายพิเศษเรื่อง 'ศักยภาพเอสเอ็มอีไทยในการสนับสนุนอีคอมเมิร์ซไทย (Thai SME Potential and Strength for E-Commerce)' นายภาวัต พุฒิดาวัฒน์ CEO บริษัท โกชิปป์ จำกัดบรรยายหัวข้อ 'แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน (GoSell & GoShip - E-Commerce Platform : Thailand Situation)' ภญ.ภัสราธาดา วัชรธาดาอาภาภัค CMO บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัด Thailand’s NO.1 Complete Solutions for E-Commerce บรรยายหัวข้อ 'Thai Think, Thai Made, Thai Trade' โดยมีนายราม คุรุวาณิชย์ บอร์ดเอฟเคไอไอ.ไทยแลนด์ สรุปการสัมมนา

ทั้งนี้ภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง สมาคมสถาบันทิวา สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย บริษัท โกชิปป์ จำกัด และ บริษัท นีโอเวนเจอร์ โซลูชั่นส์ จำกัดได้มีการทำกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเอสเอ็มอี.กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทยด้วย

'เผ่าภูมิ' เผย ปชช. กดเงิน 10,000 ตู้ ATM ธ.ก.ส. พุ่ง 18.8 เท่าตัว ออมสินยอดกดเงินรวมพุ่ง 3.7 เท่าตัว ชี้กลุ่มนี้มีเท่าไหร่ใช้หมด กระตุ้น ศก. ทันที

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 25 ก.ย. มีการถอนเงิน ยอดเงิน 10,000 บาท จากตู้ ATM ของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้น 18.8 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย. 

ยอดถอนเงินตู้ ATM ธนาคารออมสิน วันที่ 25 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินพุ่ง 1.76 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 2.84 เท่าตัว วันที่ 26 ก.ย. มีจำนวนรายการถอนเงินเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จำนวนเงินเพิ่มขึ้น 3.72 เท่าตัว เทียบกับวันที่ 24 ก.ย.

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้หนึ่งว่าประชาชนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องใช้เงินสูง มีเงินไม่พอใช้ มีเท่าไหร่ต้องถอนมาใช้เกือบหมด เป็นกลุ่มที่มี MPC สูง ซึ่งนั่นหมายถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ทันทีและมีประสิทธิภาพ

'สุริยะ' หารือ 'Huawei' ดึงเทคโนโลยี AI แก้ปัญหาการจราจรติดขัด พร้อมช่วยผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง

(27 ก.ย. 67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ณ Huawei Da Vinci Exhibition Hall สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุริยะ เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมร่วมหารือกับคณะผู้บริหารบริษัท Huawei ในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในประเทศไทย ที่มีความยากลำบากในการแก้ไข ทั้งนี้หากเทคโนโลยีของ Huawei สามารถช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการจราจรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง มีเทคโนโลยีในการทำนายภัยพิบัติและเตรียมการล่วงหน้าได้ ก็เป็นทางเลือกที่ดีในการส่งเสริมไทยพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล และหาก Huawei สนใจจะเข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าว กระทรวงคมนาคมมีความยินดีที่จะให้ทั้งสองฝ่ายจัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทยต่อไป

Mr. Richard Liu ผู้บริหารบริษัท Huawei กล่าวว่า ภายหลังประเทศไทยประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารบริษัท Huawei ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิสัยทัศน์ดังกล่าว จึงได้มีการเดินทางเข้ามาศึกษาและเสริมสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยหลายหน่วยงาน และนำเสนอเทคโนโลยีระบบ IoT (Internet of thing) ระบบ Cloud และ AI ของ Huawei ซึ่งได้นำไปใช้ในการบริหารจัดการจราจรทางบก น้ำ ราง และอากาศ ตลอดจนตรวจจับหรือคาดการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการใช้งานระบบดังกล่าวในมณฑลต่าง ๆ ของประเทศจีน โดยระบบดังกล่าวลดการใช้แรงงานคนไปได้ถึง 66% ลดต้นทุนได้ถึง 30% และลดการใช้พลังงานได้ถึง 17% 

ทั้งนี้ บริษัท Huawei ประสงค์จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยวของภูมิภาค ผ่านระบบ Smart Plan ซึ่งจะลดระยะเวลาเตรียมการในการขนส่งจากหลักชั่วโมงเหลือเพียงไม่กี่นาที Intelligent Security Protection เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการขนถ่ายสินค้า Ultra remote control ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบต่าง ๆ ได้มากถึง 80% และระบบ Intelligent horizontal transportation

ขณะเดียวกันจะช่วยลดการใช้พลังงานได้ถึง 10% ควบคู่ไปกับระบบอัตโนมัติ ที่สามารถทำให้การขนย้ายสินค้ามีประสิทธิภาพได้ตลอด 24 ชม. โดยดำเนินการผ่านระบบจัดเก็บข้อมูลส่วนกลางที่รวบรวมข้อมูล และถ่ายทอดสถานการณ์สดจากถนน ท่าเรือสนามบิน และสถานีรถไฟ ผ่านศูนย์ Transportation Operation Coordination Center (TOCC) เพื่อเชื่อมโยงทุกช่องทางการขนส่งเข้าไว้ด้วยกัน และวิเคราะห์โดย AI เพื่อบริหารจัดการการจราจรและการขนส่งให้มีความคล่องตัว ซึ่งจะสอดคล้องนโยบายของกระทรวงคมนาคมในการเสริมสร้างด้าน Connectivity ในการขนส่ง อีกทั้ง สอดรับกับความต้องการของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติในปัจจุบัน

'รมว.เอกนัฏ' ส่งเสริมสถานประกอบการยุคใหม่ ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

(27 ก.ย.67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลได้วางนโยบายเร่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเกิดฟื้นตัวและสร้างความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการดูแลคุณภาพชีวิต ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่สำคัญ คือ การสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 พร้อมกับการสร้างการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจากกฎกติกาสากลและคู่ค้าสำคัญของไทยที่มีแนวโน้มเข้มข้นมากขึ้น และครอบคลุมในหลายสาขาอุตสาหกรรม จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะนำมาสู่ความต้องการนำเข้าสินค้าคาร์บอนต่ำ และเป็นกติกาทางการค้าที่อุตสาหกรรมไทยจำเป็นต้องปรับตัว ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสามารถด้านการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในเวทีโลก

ด้วยความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การผลิตอย่างยั่งยืนและสังคมคาร์บอนต่ำดังกล่าว จึงได้มอบนโยบาย 'การขับเคลื่อนปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส' และเน้นย้ำให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งส่งเสริมและกำกับดูแลภาคอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อม ๆ กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนครอบคลุมการยกระดับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ เพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่มีศักยภาพ ตลอดจนต้องการยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินโครงการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้ค่าใช้จ่ายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภูมิภาคให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยกรอบแนวคิด BCG ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ขึ้น เพื่อให้สถานประกอบการหรือวิสาหกิจนำองค์ความรู้และเทคโนโลยี มาประยุกต์ใช้ในการยกระดับผลิตภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีการใช้ทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 

โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด นำร่อง 12 จังหวัด อาทิ จังหวัดแพร่, เชียงราย, พะเยา, ชัยภูมิ, สุรินทร์, เพชรบุรี, หนองบัวลำภู, ลำปาง, นนทบุรี, ยะลา, ภูเก็ต และร้อยเอ็ด เพื่อยกระดับสถานประกอบการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 32 ราย และคัดเลือกสถานประกอบการที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต มีความเป็นไปได้ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามกรอบแนวคิด BCG ซึ่งนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จำนวน 12 ราย ซึ่งการดำเนินโครงการสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 764 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 22,709 ตันคาร์บอนต่อปี

GULF ปลื้ม!! หุ้นกู้ 2.5 หมื่นล้าน ยอดจองเพียบ สะท้อนความเชื่อมั่นในบริษัทฯ จากของนักลงทุน

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกัน มูลค่ารวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท โดยเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors) และ/หรือผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นจำนวนมาก โดยแสดงความจำนงในการจองหุ้นกู้ของบริษัทฯ มากถึง 1.96 เท่าของจำนวนที่ประสงค์จะเสนอขาย (Oversubscription) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในศักยภาพและความแข็งแกร่งของบริษัทฯ

สำหรับหุ้นกู้ที่บริษัทฯ เสนอขายในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 5 ชุด ได้แก่ 

1) หุ้นกู้อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.89% ต่อปี มูลค่า 2,500 ล้านบาท 
2) หุ้นกู้อายุ 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.15% ต่อปี มูลค่า 2,687 ล้านบาท 
3) หุ้นกู้อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.28% ต่อปี มูลค่า 10,013 ล้านบาท 
4) หุ้นกู้อายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.53% ต่อปี มูลค่า 4,800 ล้านบาท 
5) หุ้นกู้อายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.76% ต่อปี มูลค่า 5,000 ล้านบาท 

โดยเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ยคงที่เท่ากับ 3.37% และอายุเฉลี่ยหุ้นกู้เท่ากับ 6.08 ปี 

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ในระดับ ‘A+’ แนวโน้ม ‘คงที่’ และหุ้นกู้ได้รับการจัดอันดับในระดับ ‘A’ แนวโน้ม ‘คงที่’ จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด โดยบริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในครั้งนี้ ซึ่งได้เปิดจองซื้อหุ้นกู้ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2567 และได้ออกหุ้นกู้ในวันที่ 26 กันยายน 2567

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้จะยังคงมีความผันผวน ท่ามกลางความกังวลและความระมัดระวังในการลงทุนในหุ้นกู้ของนักลงทุน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาดจากนักลงทุน โดยยอดจองซื้อเกินกว่าจำนวนที่เสนอขายเกือบ 2 เท่า ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ และการเติบโตอย่างต่อเนื่องของธุรกิจของบริษัทฯ โดยการระดมทุนดังกล่าว ส่วนหนึ่งจะนำไปคืนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในเดือนกันยายน อีกส่วนหนึ่งนำไปคืนหนี้สินระยะสั้นของบริษัทฯ และส่วนที่เหลือเพื่อรองรับการขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทฯ ต่อไป  บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในหุ้นกู้ของบริษัทฯ และขอขอบคุณผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ร่วมทั้ง 7 สถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการจัดจำหน่ายหุ้นกู้จนประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมในครั้งนี้"

‘พลังงาน’ เล็งเสนอ กพช. ต่ออายุ ‘โครงการรับซื้อไฟฟ้าฯ’ อีก 2 ปี พร้อมปรับราคารับซื้อ จูงใจโรงงาน-อาคารธุรกิจขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ากรณีมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน และแบบทุ่นลอยน้ำ ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย สำหรับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ โดยมีกำหนดระยะเวลารับซื้อ ไม่เกิน 2 ปี (เริ่มต้นวันที่ 1 ม.ค. 2568 สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2569)

โดยระบุเหตุผลมาจากเมื่อปี 2565 เกิดปัญหาวิกฤติราคาพลังงาน เนื่องจากผลกระทบของสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ประกอบกับเป็นช่วงที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณยังผลิตก๊าซฯ เข้าระบบไม่เต็มที่ตามสัญญา ทำให้ไทยได้รับผลกระทบด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าทั้งด้านราคาและปริมาณ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วงนั้นเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เหลือใช้ของผู้ประกอบการ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า และลดปัญหาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ช่วงนั้นมีราคาแพงมาก

จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศโครงการ “รับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน ทั้งจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาและไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า” ในปี 2565 ต่อมา กพช. ได้ขยายเวลาโครงการดังกล่าวต่อไปอีก ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 นี้

โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 64 เมกะวัตต์ ตามข้อกำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าดังนี้ เชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพและขยะ ที่ราคา 2.20 บาทต่อหน่วย และโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลม กำหนดอัตรารับซื้อไว้ที่ 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มนี้จะไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จะเป็นแบบไม่บังคับปริมาณซื้อขายไฟฟ้า (Non-Firm)

อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมานี้ กบง.ได้เห็นชอบตามที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เสนอต่ออายุโครงการดังกล่าวออกไปอีก 2 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2568- 31 ธ.ค. 2569 โดยเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จาก 50 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1 บาทต่อหน่วย เพื่อจูงใจผู้ประกอบการโรงงาน และอาคารธุรกิจให้ร่วมขายไฟฟ้าเข้าระบบมากขึ้น

ทั้งนี้เนื่องจากทางกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้อยู่ในช่วงของวิกฤตพลังงาน แต่โครงการดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์ เนื่องจากราคารับซื้อไฟฟ้าไม่แพง ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้ และลดการนำเข้า LNG ลงได้ประมาณ 1 ลำเรือ หรือประมาณ 60,000 ตัน 

นอกจากนี้ยังได้สอบถามความเห็นผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนก็พบว่า ยังมีความสนใจขายไฟฟ้าส่วนเกินดังกล่าวให้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่า 2 ปีจากนี้ น่าจะรับซื้อได้ประมาณเกือบ 100 เมกะวัตต์  

โดยการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จำเป็นต้องเสนอ กบง. ในครั้งนี้ก่อน จากนั้นจะนำเสนอ กพช. เพื่อพิจารณาอนุมัติขยายโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนส่วนเกินที่เหลือจากการใช้งานในทุกประเภทเชื้อเพลิง ไปอีก 2 ปี ซึ่งไฟฟ้าส่วนที่ไม่ใช่โซลาร์เซลล์จะยังคงใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิม ส่วนไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์จะปรับเพิ่มการรับซื้อเป็น 1 บาทต่อหน่วย โดยจะไม่มีการกำหนดปริมาณรับซื้อโดยรวมไว้

อย่างไรก็ตามหลังจากนี้ ทาง กกพ. จะต้องไปออกระเบียบหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว และออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นทางการต่อไป ซึ่งคาดว่าการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนดังกล่าว จะเปิดรับซื้อพร้อมกันทุกประเภทในวันที่ 1 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป

‘กกพ.’ เร่งเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รองรับการลงทุน-พัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ

เมื่อวานนี้ (26 ก.ย. 67) ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 (ครั้งที่ 165) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบสอง จำนวน 3,668.50 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยประเภทเชื้อเพลิง ดังนี้

(1) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 1,052 เมกะวัตต์) 

(2) พลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในรอบแรก จำนวน 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดเชิญชวนรับซื้อทั่วไป จำนวน 400 เมกะวัตต์) 

(3) ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย) จำนวน 6.50 เมกะวัตต์ และ 

(4) ขยะอุตสาหกรรม จำนวน 30 เมกะวัตต์ 

ซึ่งปัจจุบัน กกพ. ได้ออกระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2567 ซึ่งเป็นการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากกลุ่มรายชื่อเดิมที่เป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินที่ผ่านความพร้อมทางด้านเทคนิคและได้รับการประเมินคะแนนแล้ว แต่ไม่ได้รับคัดเลือก จำนวน 198 ราย ซึ่งเป็นผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาความพร้อมทางด้านเทคนิคขั้นต่ำ (Pass/Fail Basis) และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) แต่เนื่องจากการจัดหาครบตามเป้าหมายแล้วจึงไม่ได้รับการคัดเลือกในรอบที่ผ่านมา 

ในขั้นตอนต่อไป กกพ. อยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567 ภายในเดือนกันยายนนี้ โดยให้สิทธิ์กับกลุ่มรายชื่อเดิม จำนวน 198 ราย มายื่นแบบการแสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมการคัดเลือก 

ทั้งนี้ กกพ. จะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากผลการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพ (Scoring) ที่ได้จัดทำไว้ โดยไม่ต้องปรับปรุงแก้ไข คำเสนอขายไฟฟ้า ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งคาดว่าสำนักงาน กกพ. จะประกาศผลคัดเลือกได้ภายในสิ้นปี 2567 

ที่ผ่านมา กกพ. ได้ติดตามสถานะโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 - 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ได้แก่ (1) ก๊าซชีวภาพ 
(น้ำเสีย/ของเสีย) (2) ลม (3) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน และ 
(4) พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 (ครั้งที่ 158) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ และโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 - 2573 สำหรับขยะอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามมติ กพช. ในการประชุมครั้งที่ 4/2565 (ครั้งที่ 159) เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 รวมทั้งสิ้นจำนวน 100 เมกะวัตต์ หลังจากก่อนหน้านี้ ได้เกิดกรณีฟ้องร้องทางกฎหมายส่งผลให้ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม จำนวน 22 ราย ส่งผลให้การจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมออกไป มีผลต่อกระบวนการรับรองไฟฟ้าสีเขียวตามแนวทาง Utility Green Tariff (UGT) ของ กกพ. ที่ต้องอาศัยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในโครงการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

“ภายหลังจากที่เกิดข้อพิพาททางปกครอง และศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังงานลม ทำให้ กกพ. จะต้องชะลอโครงการเพื่อรอความชัดเจนจากผลของการอุทธรณ์คำสั่งทุเลาการบังคับดังกล่าว ซึ่งในระยะเวลาต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ทุเลาการบังคับตามประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกโครงการฯ ดังกล่าวแล้ว และล่าสุดบริษัท วินด์ กาฬสินธุ์ 2 จำกัด ได้ยื่นขอถอนฟ้องคดี โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้ว ส่งผลให้ในปัจจุบันกระบวนการรับซื้อไฟฟ้าในรอบใหม่ที่ได้ล่าช้าไปจากกำหนดเดิมสามารถเดินหน้าต่อไปได้” ดร.พูลพัฒน์ กล่าว

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการฯ ประเภทเชื้อเพลิงพลังลมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลปกครอง และมอบหมายให้ กกพ. พิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อน SCOD ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573 โดยให้ผู้ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 22 ราย แจ้งความประสงค์การขอปรับเลื่อน SCOD เสนอให้ กกพ. พิจารณาก่อนลงนามสัญญาต่อไป

“ด้วยการเร่งเดินหน้าการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อรองรับการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ และสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission)” ดร.พูลพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

‘พีระพันธุ์’ ร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 ชูแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ หนุน ‘พลังงานไทย’ มั่นคง-ยั่งยืน

(26 ก.ย. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน คณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง (The 42nd ASEAN Ministers on Energy Meeting and Associated Meetings: The 42nd AMEM) ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว 

โดยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ร่วมรับรองถ้อยแถลงร่วมทั้งหมด 3 ฉบับซึ่งระบุผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตของอาเซียนได้แก่ ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน ครั้งที่ 42 ถ้อยแถลงร่วมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านพลังงาน (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ครั้งที่ 21 และถ้อยแถลงร่วมสำหรับโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป.ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ฉบับที่ 5

ในโอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์เพื่อแสดงถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานของไทยซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานในอาเซียน โดยเน้นย้ำแนวทาง ‘รื้อ ลด ปลด สร้าง’ เพื่อปฏิรูประบบพลังงาน การผลักดันการสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน และการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการลดการใช้ถ่านหิน รวมทั้งกล่าวสนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

ที่ประชุมได้รายงานถึงทิศทางอนาคตพลังงานของอาเซียน ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้พลังงานมากขึ้นประมาณสามเท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2565 โดยภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมมีแนวโน้มใช้พลังงานมากที่สุด ในขณะที่ ภาคครัวเรือนจะเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานแบบดั้งเดิม สู่การใช้ LPG และไฟฟ้าในการประกอบอาหารมากขึ้นในปี พ.ศ. 2050 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงความก้าวหน้าใน 7 สาขาพลังงานของอาเซียน ได้แก่ ไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การจัดการถ่านหินและคาร์บอนประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน นโยบายและแผนพลังงาน และพลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน และเครือข่ายความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานโดยที่ประเทศไทยมีบทบาทนำในภูมิภาคในการดำเนินงานทางด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานซึ่งได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำหน้าที่เป็นประธานสาขาประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานซึ่งมีการดำเนินการสำคัญที่รายงานในปี 2567 คือการผลักดันการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้พลังงานของอาเซียน ได้ร้อยละ 24.5

นอกจากนี้ ไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับ สปป.ลาว และมาเลเซีย ถึงแนวทางการกระชับความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ และได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้ประกอบการจากประเทศไทยที่เข้ารับรางวัล ASEAN Energy Awards ประจำปี 2567 ซึ่งในปีนี้ไทยเป็นผู้ได้รับรางวัลมากที่สุด ด้านการอนุรักษ์พลังงาน 9 รางวัล ด้านพลังงานหมุนเวียน 10 รางวัล และได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นด้านการบริหารจัดการพลังงานอีก 5 รางวัลอีกด้วย

‘รมว.เอกนัฏ’ เยี่ยมชมโรงงานผลิตยา จ.ราชบุรี ชูต่อยอดอุตฯ ด้วยการวิจัย-เทคโนโลยีทันสมัย

เมื่อวานนี้ (25 ก.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าได้ร่วมมอบกายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ ประเภทรถเข็นนั่งวีลแชร์ (Wheelchair) ครั้งที่ 1 ภายใต้โครงการจัดหากายอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือคนพิการ 72,000 ชุด เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้อยู่ดีมีสุข มุ่งเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม 

นอกจากนี้ ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ได้สนับสนุนจัดหาถุงยังชีพแก่ครัวเรือนเปราะบางในจังหวัดราชบุรี จำนวน 500 ราย 

“รถเข็นนั่งวีลแชร์ที่พี่น้องคนพิการได้รับในวันนี้จะเป็นอุปกรณ์ช่วยการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ได้รับโอกาส สิทธิ สวัสดิการที่เท่าเทียม ทั่วถึงให้กับกลุ่มคนพิการ ส่วนถุงยังชีพที่ได้รับ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและครัวเรือนกลุ่มเปราะบางในเบื้องต้น และต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ ธพว. ที่ให้การสนับสนุนสิ่งของดังกล่าว ขอขอบคุณทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในพื้นที่ที่เข้ามาร่วมมือร่วมใจกันให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งเป็นการร่วมสืบสานพระราชประสงค์และพระราชปณิธานที่มุ่งมั่นแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการบำบัดทุกข์และสร้างความผาสุกร่มเย็น ให้แก่ปวงพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า รวมถึงพี่น้องคนพิการทุกคน”

ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ และคณะยังได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมสายการผลิต ศูนย์วิจัยและห้องปฏิบัติการผลิตสารสกัดจากธรรมชาติเพื่อสุขภาพ บริษัท บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค จำกัด (มหาชน) ตำบลน้ำพุ อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี เป็นผู้ผลิตและวิจัยผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ โดยบริษัทฯ ได้มีการยกระดับงานวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์วิจัย BLC (BLC Research Center) เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสูตรตำรับผลิตภัณฑ์ รูปแบบยาแผนปัจจุบัน ยาจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางและสารสกัด รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีที่ได้รับจากหน่วยงานภายนอกมาวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตได้ในระดับอุตสาหกรรม สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้สม่ำเสมอเท่าเทียมกันในทุกรุ่นการผลิตและเพิ่มคุณค่า คุณประโยชน์ให้กับผลิตภัณฑ์ มีผลิตภัณฑ์สุขภาพครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย ‘ปฏิรูปอุตสาหกรรม’ ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ยกระดับผลิตภาพการผลิต เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ 

นอกจากนี้ บริษัทเน้นการสร้างอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามแนวนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top