Monday, 29 April 2024
ECONBIZ NEWS

'พีระพันธุ์' แง้มไอเดีย!! เข้าถึงน้ำมันเสรี ลดต้นทุน ช่วยผู้ประกอบการสถานีน้ำมันให้มีทางเลือกที่ดีกว่า

จากรายการ 'ทัวร์มาลง' ทางช่อง MONO29 เมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยสามพิธีกรตัวตึง พชร์ อานนท์, เป็กกี้-ศรีธัญญา และ อาร์ต-พศุตม์ บานแย้ม ได้พูดคุยกับ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่มาเคลียร์ทุกคำถามเกี่ยวกับการแก้ปัญหาพลังงานค่าไฟแพง น้ำมันขึ้น โดยประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจถูกโฟกัสไปที่ ‘น้ำมันเสรี’

ทั้งนี้นายพีระพันธุ์ ได้เน้นย้ำว่ารูปแบบโครงสร้างที่เป็นอยู่เป็นมา 20-30 ปี ไม่เป็นที่น่าพอใจของตน 

“ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ต่อไปผมจะเสียความรู้สึกเอง ผมจะพยายามทำให้คล้ายกับประเทศมาเลเซีย ไม่ได้ลอกเขามานะ แต่ทำยังไงให้รัฐสามารถเข้าไปช่วยเหลือเข้าไปกำกับดูแลกำหนดราคาน้ำมันได้” 

พร้อมยันต่อว่า ให้ใช้เวลานานหรือไม่นานก็ต้องทำ ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย จะเร็วจะช้าไม่สำคัญ ขอลงหลักปักฐานให้ตั้งแต่วันนี้ ถามว่าเป็นไปได้ไหม…เป็นไปได้ 

“เชื่อมั้ยหลาย ๆ อย่างที่ทำมาไม่ว่าจะเป็นเรื่องไฟฟ้าเรื่องน้ำมัน ภายใต้โครงสร้างแบบปัจจุบันอำนาจรัฐมนตรี อำนาจรัฐบาลแทบไม่มีเลยนะ อยู่กับผู้ประกอบการอยู่กับอธิบดีทางนั้นหมด เพราะกฎหมายเป็นแบบนี้ไง ผมจะแก้หมดทั้งระบบเลย ให้เวลาผมนิดนึงผมจะทำให้ดูครับ” 

เมื่อถามถึงประเด็นเปิดไอเดียเสรีน้ำมัน นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า…จริง ๆ ต้องพูดเต็ม ๆ ว่า ‘เสรีภาพ’ ยกตัวอย่างทุกวันนี้ หากต้องการซื้อน้ำมัน เราก็ต้องไปปั๊ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการเล็กใหญ่แค่ไหน ก็ต้องเข้าปั๊ม แต่หากว่าคุณสามารถหาน้ำมันมาใช้เองได้ ซึ่งหาจากต่างประเทศและพอคำนวณราคาใช้จ่ายแล้ว มันถูกกว่าที่ซื้อจากในประเทศ …แบบนี้จะไปห้ามเขาทำไมล่ะ?

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า อย่างเรื่องรถบรรทุก ต้นทุนของเขาคือน้ำมัน หากเขาหาน้ำมันที่ราคาถูกกว่าในเมืองไทยได้ เราจะไปห้ามเขาได้อย่างไร ผมไม่บังคับให้ซื้อของแพงมาใช้ ยิ่งเขาหาน้ำมันถูกมาใช้ได้ ต้นทุนเขาก็จะยิ่งลด แบบนี้คือการเปิดเสรีภาพให้เข้าถึงน้ำมัน 

มีคนแย้งว่า ปกติก็เสรีอยู่แล้ว ตามมาตรา 7 หรือ 10 อะไรก็ว่าไป แต่นั่นคือกฎหมายเรื่องการค้าขาย แต่ที่จะเปิดเสรีนี้คือให้ซื้อมาใช้เอง ไม่ได้ให้นำเข้ามาขาย เรื่องประสิทธิภาพก็ต้องดูและรับผิดชอบเอง

เมื่อถามถึงประเด็นการลักลอบค้าน้ำมันเถื่อน หากมีการเปิดเสรี นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีหรือไม่ มันมีมาตลอดอยู่แล้ว สาเหตุก็เพราะน้ำมันในประเทศแพง จึงต้องนำน้ำมันเถื่อนเข้ามา เพราะมีราคาถูก ซึ่งคนละเรื่องกับของเถื่อนนะ แต่ถ้าเปิดเสรีน้ำมัน คนหาน้ำมันราคาถูกมาใช้ได้เอง น้ำมันเถื่อนก็ขายไม่ได้ เพราะไม่มีคนซื้อ

‘รัฐบาล’ ชวนประชาชนเที่ยวงาน ‘OTOP City 2023’ กระตุ้นเศรษฐกิจ ชม-ชิม-ชอป สินค้าฝีมือคนไทย 16-24 ธค.นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

(22 พ.ย. 66) นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาขุมชน กระทรวงมหาดไทย กำหนดจัดงาน OTOP City 2023 เพื่อจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเพื่อสร้างการเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

นายคารม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย กำหนดเป้าหมายในการจัดงาน คือ ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP พี่ผ่านการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปีพ.ศ 2565 ระดับ 3-5 ดาวจาก 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร และผู้ประกอบการ OTOP ชวนชิม เข้าร่วมจำหน่ายไม่น้อยกว่า 2,000 กลุ่ม/ราย และสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท สำหรับรูปแบบการจัดงานในครั้งนี้ จะมีการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP ระดับ 3-5 ดาว และอาหารชวนชิม กิจกรรมส่งเสริมการขายและการบริการ กิจกรรม Highlight ได้แก่ ศิลปิน OTOP นำเสนอผลงานที่มีอัตลักษณ์บ่งบอกถึงภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า ผ้าไทยใส่ให้สนุก ตลาดกลางเส้นไหมและเส้นใยธรรมชาติ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี OTOP Trader และหมู่บ้านคนรักษ์ช้าง

นายคารม กล่าวว่า รัฐบาลขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมสนับสนุนสินค้าจากผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ชม ชิม ช้อป และร่วมภาคภูมิใจไปกับสุดยอดสินค้า OTOP ทั่วไทย ที่สุดแห่งภูมิปัญญา ตั้งแต่ระหว่างวันที่ 16 - 24 ธันวาคม 2566 ที่อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

 

‘JETRO’ ชื่นชม ‘ไทย’ ให้ความสำคัญด้านความร่วมมือทาง ศก. พร้อมยกระดับห่วงโซ่อุตสาหกรรม ‘EV ไทย-ญี่ปุ่น’ อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 66 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เผยผลหารือกับ นายคุโรดะ จุน (Mr.KURODA Jun) ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ณ กรุงเทพฯ (Japan External Trade Organization : JETRO Bangkok) ว่า ประธานเจโทรชื่นชมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการยกระดับห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ

พร้อมกันนี้ ได้ขอบคุณในความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งบริษัทข้ามชาติและบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งจะเป็นรากฐานสำหรับการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอื่นๆ โดยประธานเจโทรได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับนโยบายการสนับสนุนการลงทุนของไทยเพื่อให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่บริษัท Startup และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

นางนฤมล กล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นในฐานะมิตรประเทศสำคัญขนาดใหญ่ร่วมกับจีนและสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดกับไทยมาอย่างยาวนาน โดยหวังว่าจะสามารถกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

โดยได้ชี้แจงถึงนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN EV hub) กองทุนสีเขียว (Green Fund)

นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกับ OECD โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้มีมีการดำเนินโครงการ Country PRogramme ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566-2568) ร่วมกับ OECD ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และการพัฒนาขัดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใส และการปฏิรูปกฎระเบียบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 13 - 17 พ.ย. 66  จับตาปัจจัย ‘บวก-ลบ’ พร้อมแนวโน้ม 20 - 24 พ.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากนักลงทุนเทขายทำกำไรและความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย 

-ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐฯ และจีนผ่อนคลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ย. 66 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Joe Biden และประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ได้ตกลงที่จะฟื้นฟูการเจรจาทางทหารระดับสูงตลอดจนการหารือระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประชุม Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ

-สำนักสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานโรงกลั่นนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Throughput) ในเดือน ต.ค. 66 ลดลงจากเดือนก่อน  2.8% MoM อยู่ที่ 15.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากอุปสงค์ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวและค่าการกลั่นลดลง ส่วนปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในประเทศลดลงจากเดือนก่อน 0.6% อยู่ที่ 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซื้อน้ำมันดิบปริมาณรวม 1.2 ล้านบาร์เรล เพื่อเติมคลังสำรองปิโตรเลียมเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) โดยได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัท 2 ราย ด้วยราคาเฉลี่ย 77.57 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจะออกประมูลซื้อเพิ่มเติมอย่างน้อยจนถึงเดือน พ.ค. 67

-รายงานฉบับเดือน พ.ย. 66 ของ OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  2.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 102.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน) และในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 104.36 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์ครั้งก่อน)

-คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ $80-85/BBL ติดตามบันทึกการประชุม FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 20 พ.ย. 66 ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา นาย Jerome Powell ส่งสัญญาณว่า Fed ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจับตาการประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC และพันธมิตร (OPEC+) ในวันที่ 26 พ.ย. 66 โดย ตลาดคาดการณ์ซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติม 1 MMBD จากเดิมสิ้นสุดเดือน ธ.ค. 66 (เริ่มต้นเดือน ก.ค. 66) ไปจนถึงอย่างน้อยไตรมาส 1/67 หรืออาจขยายถึงครึ่งแรกของปี 2567 และมองว่า OPEC+ จะมีมติคงนโยบายลดการผลิตน้ำมันดิบรวม 3.66 MMBD ไปจนถึงสิ้นปี 2567

‘รมว.พิมพ์ภัทรา’ บุกเมืองคอน งัดบิ๊กอีเวนต์ จัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ฯ’ จับคู่ธุรกิจ-เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ คาดเงินสะพัดกว่า 200 ลบ.!!

(21 พ.ย. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผนึกกำลังภาครัฐและเอกชน เตรียมจัดงาน ‘อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเปิดเป็นพื้นที่ส่งเสริมสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กิจกรรมจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 5 วันจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท

“เราจะมีกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีทั้งการจำหน่ายสินค้าคุณภาพ การจัดสัมมนาให้องค์ความรู้ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่จะทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ และระยะต่อไปมีแผนในการขยายพื้นที่การจัดงานในภาคอื่น ๆ ในอนาคต” รมว.อุตสาหกรรมกล่าว

นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ‘งานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช’ จะจัดภายใต้แนวคิด ‘การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้’ (Southern Industrial Fair) โดยกิจกรรมภายในงานแบ่งออกเป็น 5 โซนต่าง ๆ ได้แก่ โซนที่ 1 การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพกว่า 300 บูธในราคาสุดพิเศษ อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเกษตรแปรรูป พร้อมโปรโมชันพิเศษเฉพาะภายในงาน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับประชาชนในพื้นที่ โซนที่ 2 นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกล การจัดแสดงต้นแบบรถยนต์ EV ต้นแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และนวัตกรรมต่าง ๆ

โซนที่ 3 การบริการให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน โซนที่ 4 การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาองค์ความรู้การประกอบธุรกิจในยุคใหม่ และโซนที่ 5 กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงานในพื้นที่ภาคใต้ เป็นต้น

นอกจากนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้จัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐาน (สมอ.) และมอบใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก.เอส) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องบงกชรัตน์ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช

รวมถึง กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ยังจัดกิจกรรมวิ่งเพื่อสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรม ‘Walk & Run for Ozone and Climate 2065 Net zero’ และ ‘จิตอาสาเพื่อพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์’ ในวันที่ 2 ธันวาคม 2566 ณ เขาพลายดำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

'มือเศรษฐกิจจุลภาค' ห่วง!! GDP ไทย Q3/66 โตต่ำ 1.5% แนะ!! ใช้คนให้ถูกกับงาน เพราะคนเก่งไม่กี่คนแบกประเทศไม่ได้

(21 พ.ย. 66) นายพลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์ มือเศรษฐกิจจุลภาค อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Ta Plus Sirikulpisut' ระบุว่า…

GDP Q3 ประเทศไทยที่เรารัก โต 1.5% ซึ่งต่ำมาก ๆ ครับ เรามาแกะตัวเลขกันว่าปัญหาอยู่ตรงไหนต้องแก้อะไรบ้าง

1.โครงสร้าง GDP ประกอบไปด้วย การบริโภคภาคเอกชน การบริโภคภาครัฐ การลงทุน และการส่งออก หักการนำเข้า เป็นความรู้พื้นฐานด้านเศรษฐศาสตร์มหภาค โดยเราควรติดตาม Capital flow ในส่วน Leakage and injection ด้วย

เราอยากให้ประเทศมีเศรษฐกิจเติบโต และกระจายไปอย่างทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน

2.ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ไม่ดี เราอยู่ในภาวะ Perfect strom ที่มีปัญหารุมมากมาย แต่ละประเทศก็แก้ไขต่างกัน แต่เรายังแก้ไขไม่ดีครับ ปัญหาที่โลกใบนี้เจอ คือ ของแพง จากราคาพลังงาน และอาหาร สาเหตุจากสงคราม รัสเซีย ยูเครน และ ฮามาสกับ อิสราเอล รวมถึงสงครามการค้าจีน สหรัฐ ยุโรป

นอกจากของแพง ดอกเบี้ยก็ขึ้นสูงทำให้การบริโภคและการลงทุนทำได้ไม่คล่องเหมือนภาวะปกติ
การลดปริมาณเงินของสหรัฐที่อัดฉีดเงินมายาวนานสิ้นสุดลง และกระทบตลาดหุ้น ตลาดทุน ของที่เคยแพงสินทรัพย์ ราคาหุ้น ก็ลดลงแรง

3.ประเทศไทยเรายังมีการบริโภคที่ดี โดยภาคบริการ การท่องเที่ยว ช่วยค้ำยัน อาหาร โรงแรม ให้เติบโตดี แม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่มากเท่าก่อนโควิด แต่ก็เติบโตดีมาก

4.ภาคการผลิต เริ่มจากภาคเกษตร ราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก มีบางหมวดที่ปรับขึ้นได้ แต่ผลิตภาพไม่ดี คือผลผลิตออกมาได้น้อยเมื่อเทียบกับการลงทุนลงแรง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรามุ่งอุดหนุนราคาเกษตรแต่ไม่ปรับผลิตภาพ (Productivity)

ภาคอุตสาหกรรม เน้นขายของในสต๊อกของใหม่ผลิตน้อยกลัวขายไม่ได้ และโดนสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตี ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ และอีกหลาย Cluster ใหญ่ ๆ ทำให้ขายในประเทศก็ยาก ส่งออกก็ยากแม้ค่าเงินบาทจะอ่อนลงมากแต่ก็ขายไม่ได้ ขนาดในประเทศยังขายได้ยาก จะไปสู้ต่างประเทศยิ่งยาก ต้นทุนสูง ไม่ได้ Economic of scale แถมสินค้าเรากำลังตกยุคไม่ได้เป็นที่ต้องการตลาดโลก

5.ภาคส่งออกเป็นปัญหามายาวนาน ยุคอดีต รมว. พาณิชย์ พยายามปั้นแล้วแต่ไม่ฟื้น กระทรวงเศรษฐกิจแต่ไม่ได้คนเก่งเศรษฐกิจมาทำงานให้ข้าราชการทำงานเป็นหลัก คนให้ทิศทางไม่ชัดก็ไปต่อยาก วันนี้ได้เสาหลักมาจากท่องเที่ยวมาช่วย แต่ยังห่างไกลมากต้องทำงานอีกเยอะ ทีมเศรษฐกิจต้องแข็งจริง ร่วมมือกับเอกชน ถ้าตลาดในประเทศโดนต่างชาติมาตีตลาด ในบ้านขายไม่ออกส่งออกก็ยาก เพราะต้นทุนเฉลี่ยไม่ได้ Scale เอาใจช่วยมากครับ

6.การลงทุน และใช้จ่ายภาครัฐ สะดุดแรงช่วงเลือกตั้งและการตั้งรัฐบาล Q3 จึงสะดุดแรงมากใครขายของภาครัฐนิ่งสงบ คาดว่า Q4 จะดีขึ้นเล็กน้อยแต่ต้องเร่ง งบประมาณรายจ่ายให้ไว ไม่งั้นจอด 

ปัญหาวันนี้เป็นที่โครงสร้างต้องใช้คนเก่งมาก ๆ มาช่วยกันทำงาน หากเป็น ครม. แบ่งโควตาไม่เน้นความสามารถปัญหานี้แก้ยากมาก เรียนด้วยความสัตย์จริงไม่ได้ว่าพรรคไหน หรือแขวะใคร วันนี้ต้องทำงานไว มี รมต. เก่งไม่กี่คนไม่สามารถแบกทีม แมนยู ให้ไปแชมเปียนส์ลีกได้ ควรจัดทีมให้เหมาะครับ

ต๊ะ พลัฏฐ์ ศิริกุลพิสุทธิ์
บทความเชิงวิชาการส่วนตัว
ไม่ได้เกี่ยวข้องกับต้นสังกัดข้าพเจ้า

‘KTC’ ร่วมมือ 18 โรงพยาบาลมอบสิทธิพิเศษสมาชิก หลังซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพประจำปี ตั้งแต่วันนี้-29 ก.พ. 67

(21 พ.ย. 66) นางสาวสิรีรัตน์ คอวนิช ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “หมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มียอดใช้จ่ายติดอันดับ 1 ใน 5 คือหมวดสุขภาพและโรงพยาบาล โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงที่สมาชิกนิยมซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่ถึงรอบการตรวจสุขภาพประจำปีของคนส่วนใหญ่ และในปัจจุบันมีโรคระบาดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาการของโรคมีการเจ็บป่วยที่หนักขึ้นจนอาจทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต คนจึงหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากขึ้น เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอยู่เสมอ” 

“เพราะการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ทำให้เราสามารถป้องกันและรักษาก่อนเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที เคทีซีจึงได้ร่วมกับ 18 โรงพยาบาล มอบสิทธิพิเศษให้กับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพที่ร่วมรายการ สามารถลงทะเบียนรับของขวัญส่งท้ายปี อาทิ รับบัตรกำนัลสตาร์บัคส์ (Starbucks) เมื่อซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพและชำระด้วยบัตรเครดิตเคทีซีที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย / โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท / โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ / โรงพยาบาลสมิติเวช ไชน่าทาวน์ / โรงพยาบาลในเครือพญาไท / โรงพยาบาลเปาโล พหลโยธิน ตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2566 - 29 กุมภาพันธ์ 2567 

หรือรับเครื่องฟอกอากาศ มูลค่า 3,590 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป / รับกระเป๋าล้อลาก 20 นิ้ว มูลค่า 2,490 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป หรือรับกล่องใส่อาหารมูลค่า 169 บาท เมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อเซลส์สลิป 

สมาชิกที่สนใจสามารถซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่เครือโรงพยาบาลเปาโล / โรงพยาบาลกรุงเทพ พัทยา / โรงพยาบาลกรุงเทพ ราชสีมา / โรงพยาบาลกรุงเทพ หัวหิน / โรงพยาบาลมหาชัย 2 ตั้งแต่ 1 กันยายน 2566 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2567 หรือ (ระยะเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล) โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3SK23dI” 

ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ KTC Phone โทร. 0-2123-5000 สมัครบัตรเครดิตเคทีซีทุกประเภทคลิก https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

‘AOT’ เปิดงบรวมปี 66 โชว์ผลกำไร 8,790 ล้านบาท โต 179% อานิสงส์ธุรกิจการบิน-ฟรีวีซ่าช่วยหนุนแรง

(21 พ.ย. 66) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เผย งบรวมปี 2566 พลิกทำกำไรสุทธิ 8,790 ล้านบาท เติบโต 179.28% จากงวดปี 65 ที่ขาดทุน 11,088 ล้านบาท แรงหนุนจากธุรกิจการบินที่ทำรายได้ 22,266 ล้านบาท โตทะลุ 205%

บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และบริษัทย่อย รายงานงบการเงินรวมงวดปี 2566 (สิ้นสุด 30 ก.ย.66) มีกำไรสุทธิ 8,790.87ล้านบาท เพิ่มขึ้น 179.28% กำไรต่อหุ้น 0.62 บาทต่อหุ้น  เทียบกับงวดปี 2565 ที่ขาดทุนสุทธิ -11,087.86 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.78 บาท

โดยงบรวมงวดปี 2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายหรือการให้บริการอยู่ที่ 48,140.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31,580.90 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 190.71% จากปี 2565 ที่มีรายได้ 16,560.02 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น

- รายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 22,265.83 ล้านบาท เพิ่ม 14,975.78 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205.43%เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร
- รายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 25,875.09 ล้านบาท เพิ่ม 16,605.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 179.13%
- รายได้อื่น 304.58 ล้านบาท ลดลง 1,027.26 ล้านบาท หรือลดลง 77.13%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 5,422.70 ล้านบาท หรือเพิ่ม 18.81% ส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ค่าจ้างภายนอก ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ และค่าใช้จ่ายอื่นลดลง รวมทั้งต้นทุนทางการเงินลดลง 39.31 ล้านบาทหรือลดลง 1.34% สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,122.60 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 177.40% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น

‘พีระพันธุ์’ เบรก ‘กกพ.’ ขึ้นค่าไฟ 4.68-5.95 บาท ต้นปี 67 ลั่น!! ต้องได้ 3.99 บาท ช่วยลดภาระประชาชนให้มากที่สุด

(21 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออก 3 ทางเลือกขึ้นค่าไฟหน่วยละ 4.68 - 5.95 บ. งวดมกราคม-เมษายน 67 

จากปัจจุบัน (กันยายน-ธันวาคม 66) อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. วันที่ 10 - 24 พฤศจิกายนนี้ ว่า 

ขณะนี้ได้สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟเพื่อพิจารณาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จะแยกต้นทุนรายตัว บางเชื้อเพลิงอาจปรับขึ้น

แต่คงไม่เท่าราคาที่ กกพ.ประกาศออกมา โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วยต่อไป 

ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 31 ธันวาคมนี้ เพราะถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด 

อย่างไรก็ดี หากต้นทุนเพิ่มจริงก็อาจขยับเล็กน้อยแต่คงไม่สูงตามที่ กกพ. ประกาศออกมา

"โครงสร้างค่าไฟปัจจุบันที่ กกพ. นำมาใช้ตนไม่พอใจ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน หน่วยงานรัฐต้องดูแลประชาชน ต้องลดภาระ ต้องพิจารณาราคาที่เป็นธรรม เวลานี้ค่าไฟจึงยังไม่สรุป ไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาแน่นอน"

‘อินเตอร์ลิ้งค์’ ขอบคุณผู้ถือหุ้น-นักลงทุนที่ไว้วางใจ สัญญา!! ผลประกอบการปลายปีนี้ดีเยี่ยมแน่นอน

(21 พ.ย. 66) สมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า…ขอขอบคุณนักลงทุนที่วันนี้เข้ามาชมการแถลงผลประกอบการของ ILINK (กลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)) และขอขอบคุณคำชมของผู้ถือหุ้น และพร้อมคำชื่นชมผลประกอบการของ ILINK ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา และขอขอบคุณที่ให้ความไว้วางใจในหุ้นของ ILINK และ ITEL ซึ่งในภาวะผันผวนที่ผ่านมา ทั้งหุ้น ILINK และ ITEL ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสวนกระแสของตลาด ซึ่งหุ้นทุกตัวลดลง

“ผมอยากให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า ในสิ้นปีนี้ท่านจะได้เห็นผลประกอบการของกลุ่มบริษัทอินเตอร์ลิ้งค์ฯ ที่ประสบความสำเร็จ และมีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย กล่าวคือสามารถเติบโตทั้งรายได้และผลกำไรครับ” สมบัติกล่าวทิ้งท้าย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top