Friday, 10 May 2024
ECONBIZ NEWS

'ชุมชนเข้มแข็ง' ได้ เมื่อเราผสานพลัง มิติแห่งการสร้างสรรค์ จากพีทีที โกลบอล เคมิคอล ที่หลอมรวมแนวคิด สร้างชุมชนพึ่งพาตัวเอง ครบทั้ง มิติเศรษฐกิจ มิติสังคม และมิติสิ่งแวดล้อม 

ภูมิปัญญาชาวบ้านและอัตลักษณ์ท้องถิ่น คือ สิ่งพิเศษที่มีเฉพาะตัวตน หรือ เฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ซึ่งเมื่อได้เรียนรู้แล้วก็จะพบว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ยิ่งหากนำความเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ มาพัฒนาต่อยอดผสานกับนวัตกรรม วิถีชีวิตรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการบริหารจัดการต่าง ๆ ก็ยิ่งสร้างพลังให้เกิดความเข้มแข็งได้อย่างดีเยี่ยม 

และนั่นคือสิ่งที่ GC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) มองเห็น และเกิดเป็นแนวคิด “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่ต้องการเดินหน้าทำให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตัวเองได้ สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชน และขยายผลให้ชุมชนในภาพรวมได้ประโยชน์สูงที่สุดอย่างยั่งยืน โดยเราสามารถเชื่อมโยงมิติการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้ดังนี้ 
.
มิติเศรษฐกิจ ด้านการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนนั้นสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างของการสนับสนุนการพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรอินทรีย์กลุ่มหอมมะหาด ผู้ปลูกพืชสมุนไพรพื้นถิ่นระยอง ให้นำผลผลิตมาพัฒนาต่อยอดด้วยการแปรรูปวัตถุดิบสมุนไพรโดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มลุฟฟาลา ชุมชนหนองแฟบ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ความงามจากธรรมชาติ เพื่อสุขอนามัยและสุขภาพผิวที่ดี LUFFALA สู่มาตรฐานระดับสากล ผ่าน “โครงการ Rayong Organic Living” และการพัฒนาปรับปรุง “ศูนย์การเรียนรู้อาหารถิ่นระยอง ร้านใบชะมวง ภายใต้โครงการเชฟชุมชนชวนกินถิ่นระยอง (ฮิ)” เพื่อให้เป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพและการทำธุรกิจร้านอาหารให้กับนักศึกษาแผนกอาหารและโภชนาการ คณะคหกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคระยอง 

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถไปเป็นผู้ประกอบการเองได้ เป็นการสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตและกระจายรายได้สู่ชุมชนผู้ผลิตวัตถุดิบของดีในจังหวัดระยอง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร หรือชาวประมง ทั้งยังเป็นการพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา เพื่อรองรับนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)  ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการท่องเที่ยวและการแปรรูปอาหาร    

มิติสังคม ด้านการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ฉายภาพไปที่ชุมชนวัดชากลูกหญ้า ซึ่งมีการบริหารจัดการขยะที่ดีภายในชุมชน และ GC เห็นโอกาสที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการขยะได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย มีการนำระบบ YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นระบบจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจร ตั้งแต่การรวบรวม การคัดแยกขยะ การขนส่งขยะพลาสติกเข้าสู่ระบบกระบวนการรีไซเคิล และกระบวนการแปรรูปจนได้กลับมาเป็นสินค้าอัพไซคลิง เข้ามาช่วยพัฒนาการบริหารจัดการขยะของชุมชน GC ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งเรื่องการคัดแยก การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี จนทำให้วันนี้มีการตั้งเป็น “ศูนย์บริหารและจัดการขยะรีไซเคิล ชุมชนวัดชากลูกหญ้า” ซึ่งกลายเป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดระยองที่ชาวชุมชนวัดชากลูกหญ้าภูมิใจ 

และสุดท้าย มิติสิ่งแวดล้อม ด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเข้าไปช่วยร่วมพัฒนาและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยนวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญ GC และเทศบาลเมืองมาบตาพุด จึงได้ร่วมมือกับศูนย์วิศวกรรมสารสนเทศภูมิศาสตร์และนวัตกรรม (KGeo) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำระบบเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝนและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้การปลูกมะม่วงพื้นทรายของเกษตรกรที่ทำมากว่า 50 ปี สามารถคงคุณภาพความอร่อยของผลผลิตตลอดฤดูกาล การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศ ประเภทมะม่วงผลดิบ “เขียวเสวย” จากการประกวดผลไม้งานเกษตรแห่งชาติ (เกษตรแฟร์) ประจำปี 2563 

รวมถึงการพัฒนาช่องทางการขาย Online โดยสร้าง Line Official: “Map Ta Phut Mango” พร้อมเสริมทักษะการขายให้กับเกษตรกร เพื่อให้สวนมะม่วงสามารถจำหน่ายผลผลิตให้ลูกค้าแบบ Pre-Order ได้ รวมถึงช่วยวางระบบบริหารการขนส่ง เพื่อให้สวนสามารถขายผลผลิตได้ทั่วประเทศ (แอบกระซิบว่ามะม่วงอร่อย ๆ มีอีกไม่มากแล้ว รีบจองกันก่อนจะหมดฤดูกาลในเร็วๆ นี้)  

GC และพันธมิตรภูมิใจทีได้เป็นพลังเสริมให้ทุกชุมชนพัฒนาไปสู่การเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง” ที่สร้างรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน

ออมสินเปิดให้เริ่มพักหนี้ได้ทุกประเภทรับโควิด

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯ เตรียมเปิดให้ลูกหนี้สินเชื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อรายย่อย ที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อธุรกิจ ที่มีอยู่ประมาณ 1 ล้านราย เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้แบบสมัครใจ ด้วยการพักชำระเงินต้นและจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยไปถึง 31 ธ.ค. 64 ตามมติของครม. ที่ได้เห็นชอบไปในครั้งล่าสุด

ทั้งนี้หากลูกหนี้รายใดมีความจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม ธนาคารพร้อมพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี  โดยสามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้ามาตรการพักชำระเงินต้น และเลือกแผนการชำระหนี้ด้วยตนเองผ่านแอปพลิเคชัน MyMo  ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.- 30 มิ.ย. 64 ส่วนลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจที่มีวงเงินกู้เกิน 10 ล้านบาท สามารถติดต่อดำเนินการที่สาขาของธนาคาร   

นายวิทัย กล่าวว่า ในช่วงกลางเดือนพ.ค.นี้ ธนาคารจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปพลิเคชั่น MyMo และมีความต้องการสินเชื่อขอยื่นสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ได้ ซึ่งวงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุด 1 หมื่นบาท อัตราดอกเบี้ย 0.35% เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน

ระยะแรกจะเปิดให้ลูกค้าของออมสินที่มีแอปฯ MyMo จำนวน 9.2 ล้านคน เข้ามาขอสินเชื่อได้ก่อน จากนั้นจะให้ประชาชนอยู่ในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม และค่อยขยายเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศที่ไม่มีแอพ MyMo เข้ามาลงทะเบียนได้เป็นกลุ่มสุดท้าย โดยคาดว่าจะช่วยเหลือประชาชนได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน  

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำที่สุดรอบ 22 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเม.ย. 2564 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยอยู่ที่ 46.0 ลดลงจากเดือนมี.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี 7 เดือน นับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือนต.ค.2541 เนื่องจากผู้บริโภคกังวลสถานการณ์แพร่ระบาดของไทยระลอกใหม่ ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนล่าช้า 

ทั้งนี้ด้วยเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก และขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการเราชนะ และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม และต่อไปนี้คงต้องดูต่อว่า จะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งทำให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้ รวมถึงปัญหาการจ้างงานในอนาคตด้วย

นอกจากนี้ยังได้สำรวจดัชนีความสุขในการดำรงชีวิตในช่วงเดือนเม.ย. พบว่า ค่าดัชนีอยู่ที่ 30.6 ต่ำสุดในประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี ตั้งแต่เริ่มสำรวจเดือนพ.ค.49 มาเช่นกัน เนื่องจากรู้สึกไม่ปลอดภัยจากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ความคาดหวังความสุขในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ดัชนีอยู่ที่ 37.3 ห่างไกลจากค่าดัชนีมาตรฐานระดับ 100 อย่างมาก และเป็นค่าที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน 

ครม. เคาะแล้วมาตรการเยียวยารอบใหม่ มาเป็นแพ็ค คนละครึ่ง เฟส 3 แจกคนละ 3,000 บาท 31 ล้านคน ใช้งบ 9.3 หมื่นล้าน ฟื้น ศก. ไตรมาส 3-4 เพิ่มสิทธิใช้ร้านทำผม ร้านนวด พร้อมขยายสิทธิเราชนะ-ม33เรารักกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงความคืบหน้าของมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทั้งในส่วนของมาตรการด้านการเงินผ่านการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และการออกพ.ร.ก. ด้านการเงินต่างๆ ที่ดำเนินการอยู่ รวมถึงมาตรการด้านภาษี ทั้งการลดภาษีและการขยายกำหนดเวลาต่าง ๆ อีกทั้งมาตรการด้านการคลังผ่านโครงการเยียวยา และมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งโครงการที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว เช่นโครงการคนละครึ่งระยะที่ 1-2 โครงการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ เช่น โครงการเราชนะ

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในที่ประชุมเรื่องความจำเป็นที่ต้องพิจารณามาตรการที่จะออกมาใหม่ในรอบนี้ด้วยความรวดเร็วและด้วยความรอบคอบ

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการโครงการ "คนละครึ่งเฟส 3" เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งเพื่อระงับยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โรคโควิด-19 ระลอก 3 คนละ 3,000 บาท จำนวน 31 ล้านคน คิดเป็นวงเงินงบประมาณ 93,000 ล้านบาท ระยะเวลาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 โดยเป็นโครงการที่ช่วยประคองกำลังซื้อในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้

สำหรับรูปแบบการใช้จ่าย จะใกล้เคียงกับโครงการคนละครึ่งเฟสแรก และเฟส 2 แต่มีการเสนอรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมขยายสิทธิให้ร้านค้าภาคบริการอย่าง ร้านทำผม ร้านนวด เข้าร่วมด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีเพียงร้านขายสินค้าและอาหารเท่านั้น ทั้งนี้ จะต้องรอการชี้แจงรายละเอียดอีกครั้ง

นอกจากนี้ ให้สิทธิเพิ่ม โครงการเราชนะ อีก คนละ 2,000 บาท แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ 33 ล้านคนใช่จ่ายถึง 30 มิ.ย.64

และขยายสิทธิโครงการ ม33เรารักกัน สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 คนละ 2,000 บาท จำนวน 9.27 ล้านสิทธิ์ ใช้จ่ายถึง 30 มิ.ย.64

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยตัวเลข ดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีกลด 43% หลังแพร่ระบาดโควิด-19 ระบุ ผู้ประกอบการห่วงยอดขายหด40% หลังเห็นความไม่ชัดเจนฉีดวัคซีนของภาครัฐ

5 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า การสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยเดือนเมษายนเป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 16-24 เมษายน พ.ศ.2564 มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่งและร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 6,000 แห่งนั้น พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคมโดยดัชนีปรับลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน 2563 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในเดือนเมษายน กระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้าเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า เปรียบเทียบระหว่างดัชนีในเดือนมกราคม 2564 และดัชนีในเดือนเมษายน 2564 จะพบว่าเดือนเมษายนลดต่ำกว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้าในเดือนมกราคม 2564 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ด้วยข้อกังวลถึงความรุนแรงของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ค่อนข้างสูง และความวิตกกังวลถึงความไม่ชัดเจนของแนวทางการฉีดวัคซีนที่ภาครัฐนำเสนอ

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อการเติบโตยอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายน  เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม มีทิศทางที่ลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม สะท้อนให้เห็นว่ายอดขายสาขาเดิมเดือนเมษายนลดลงจากเดือนมีนาคมเกือบครึ่ง ซึ่งเป็นการลดลงทั้งยอดซื้อต่อบิลและความถี่ในการจับจ่าย

ทั้งนี้ จากประเด็นคำถามพิเศษประจำเดือนให้ผู้ประกอบการประเมินผลกระทบต่อยอดขายและกำลังซื้อและผลกระทบต่อการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ผลการสำรวจผู้ประกอบการที่บริหารร้านค้าปลีกกว่า 29,000 แห่ง พบว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคมีสัญญาณปรับตัวแย่กว่าเดือนมีนาคมมากกว่า 25% ผลจากผลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เดือนเมษายน และประเมินว่ายอดขายจะได้ผลกระทบมากกว่า 15-40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ผู้ประกอบการยังมีความกังวลถึงการจ้างงานที่จะลดลงจากยอดขายที่หดหายไป มีข้อเสนอให้ภาครัฐควรมีมาตรการเยียวยาช่วยจ่ายค่าแรงพนักงาน 50% รวมถึงควรหาแหล่ง Soft Loan ที่เข้าถึงง่ายให้กับผู้ประกอบการภาคการค้าและบริการ โดยโควิดระลอกใหม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างหนัก โดยเฉพาะผลกระทบต่อภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว โควิดระลอกใหม่ เพียงแค่เขตการควบคุมพิเศษและเข้มงวดสีแดงเข้ม 6 จังหวัดจะกระทบถึง 22% ต่อ GPP รวมของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ศูนย์การค้า ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว กว่า 3.12 ล้านคน 

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ใคร่ขอตอกย้ำและกระตุ้นภาครัฐ ให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีกศูนย์การค้าและร้านอาหาร ดังนี้  

(1.) สนับสนุนค่าจ้างพนักงาน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยมาตรการภาษี เพื่อไม่ให้มีการลดพนักงานหรือเลิกจ้าง

(2.) สนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว เพราะด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้เพียง 3-6 เดือน

(3.) ประกาศการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับธุรกิจค้าปลีกและร้านอาหารเป็นการเฉพาะก่อน

(4.) เร่งรัดการฉีดวัคซีนให้รวดเร็ว ครอบคลุมและทั่วถึง

เกษตรทันสมัย!! 'ก.เกษตรฯ'​ ปั้นสินค้าเกษตรทันสมัย​ ยกระดับภาคส่งออก ภายใต้​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ ฝ่าวิกฤติโควิด19

'กระทรวงเกษตรฯ'​ ร่วม​ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ เพิ่มศักยภาพใหม่การส่งออกสินค้าเกษตรด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์และสมาร์ทแพ็กกิ้งยืดอายุผลไม้และสินค้าเกษตร​ ด้าน​ 'อลงกรณ์'​ ชี้!! ตั้งเป้าต้นปีหน้าเริ่มใช้นวัตกรรมใหม่ ผนึก 'พาณิชย์'​ บุกตลาดจีน, รัสเซีย, ตะวันออกกลาง, เอเซียกลางและยุโรป โดยรถไฟสาย 'อีต้าอีลู่'​ (เส้นทางสายไหม)

นายอลงกรณ์ พลบุตรที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์​ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเทคโนโลยีเกษตร​ 4.0  และประธานคณะกรรมการบริหาร​ AIC (Agritech and Innovation Center) เปิดเผยว่า

ตนและคณะจะประชุมกับศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทีมวิจัยในวันพรุ่งนี้​ (5 พ.ค.)  13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่องความร่วมมือด้านเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นศูนย์​ AIC ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล​ โดยเฉพาะ​ 3​ โครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการวิจัยและพัฒนาได้แก่...

1.​ โครงการพัฒนาวัคซีนโควิดจากพืชโดยจะเริ่มผลิตวัคซีนโควิดได้ปลายปีนี้ 
2.​ โครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์
3.​ โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตร
4.​ โครงการเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมด้านอื่นๆ​ เช่นโคนมและผลิตภัณฑ์นมเป็นต้น

นายอลงกรณ์​ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโครงการพัฒนาการยืดอายุผลไม้ด้วยเทคโนโลยีจุลินทรีย์และโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์​ (Smart Packing) ยืดอายุและความสดของผัก ผลไม้และสินค้าเกษตร​นั้น จะมีการนำนวัตกรรมใหม่นี้​ มาใช้กับแผนโลจิสติกส์เกษตรทางเลือกใหม่ในยุคโควิด​ เช่น​ การขนส่งระบบรางจากไทยผ่านจีนไปทุกมณฑลของจีน เกาหลี ภูมิภาคเอเชียกลางภูมิภาคตะวันออกกลาง รัสเซีย สแกนดิเนเวีย ยุโรปและอังกฤษภายใต้ขบวนรถไฟอีต้าอีลู่​ (เส้นทางสายไหม) บนความร่วมมือระหว่างไทย-จีน-ลาว-เวียดนามเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย

“มาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของแต่ละประเทศทำให้ต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นทั้งทางบกทางต้ำและและใช้เวลานานขึ้นในการข้ามแดนตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ทาง​ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีเกษตรฯ จึงสั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาและวางแนวทางโลจิสติกส์ทางเลือกใหม่ๆ​ ภายใต้​ '5 ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย'​ และประกอบกับเส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคมนี้นั้น​ เราจึงต้องเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการขนส่งสินค้าทางรางด้วยเส้นทางนี้ โดยใช้โลจิสติกส์ฮับที่อุดรธานีและหนองคาย ตั้งเป้าเริ่มคิดออฟต้นปีหน้า อีกเส้นทางคือการขนส่งระบบรางผ่านด่านผิงเสียงบริเวณพรมแดนเวียดนามกับเขตปกครองตนเองกวางสีจ้วงของจีน 

"เราหวังว่า​ ถ้าสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ยืดอายุผลไม้สด เช่น ทุเรียน, มะม่วง, มังคุด, ลำไย, เงาะ, ลองกอง, ขนุน, ผัก, สมุนไพร เป็นต้น จะทำให้มีทางเลือกในการขนส่งที่ถูกลงมีเวลาแน่นอนจากต้นทางถึงปลายทางและใช้เวลาน้อยลง แต่มีช่วงเวลาขายยาวขึ้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ค้าปลีกที่เป็นลูกค้าของไทยทั้งขายแบบออนไลน์และออฟไลน์​ และนี่คือการสร้างศักยภาพใหม่ในการส่งออกของเรา”

พาณิชย์หนุน "ข้าวมันไก่ประตูน้ำ" บุกตลาดฮ่องกง

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบตราสัญลักษณ์ ไทย ซีเล็คท์ แคชชวล ให้กับร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Water Gate Chicken Rice ในฮ่องกง หลังพิจารณาแล้วว่าเป็นร้านอาหารไทยที่มีมาตรฐานตามกำหนด คือ ร้านค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน และรสชาติมีความเป็นไทยแท้ โดยเฉพาะรสชาติของไก่และน้ำจิ้มไก่ เหมือนกับที่บริโภคที่ประเทศไทย ขณะที่เมนูอื่นๆ ทั้งกุ้งแช่น้ำปลา ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ หมูทอด ลูกชิ้นปิ้ง และข้าวเหนียวมะม่วง ก็มีรสชาติไทยแท้ 

สำหรับตราสัญลักษณ์ ไทย ซีเล็คท์ แคชชวล เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ ที่มอบให้ร้านอาหารไทยที่ให้บริการอาหารที่มีรสชาติไทย แต่มีข้อจำกัดในด้านบริการ อาจจะเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก มีความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารไทยในฟู้ดคอร์ท ร้านฟาสฟู้ด ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัดหรือไม่มีที่นั่งหน้าร้านฟู้ดทรัค หรือร้านอาหารไทยที่มีเมนูไม่มาก แต่ล้วนเป็นอาหารไทยที่มีรสชาติตามต้นตำรับไทย หรือเป็นร้านที่ให้บริการอาหารไทยแนวสตรีท ฟู้ด 

ปัจจุบันร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำที่ฮ่องกงมี  4 สาขา ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวฮ่องกงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก เป็น 8 สาขา ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยรูปแบบของร้าน มีการออกแบบตกแต่งร้านเหมือนร้านข้าวมันไก่และร้านก๋วยเตี๋ยวในไทย ซึ่งชาวฮ่องกงชื่นชอบ และมีการวางแผนขยายธุรกิจข้าวมันไก่ โดยออกแบบตกแต่งร้านและเมนูอาหารเหมือนกันทุกสาขา และจะมีการพัฒนาระบบครัวกลาง เพื่อควบคุมมาตรฐานของอาหารและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนกันทุกสาขาด้วย

‘กรณ์’ แนะคลัง พื้นฟูการบินไทย โจทย์ใหญ่ต้องไม่ให้มีฝ่ายการเมือง หรือราชการครอบงำ ค้านใช้เงินภาษี 50,000 ล้าน อุ้มการบินไทย ให้เป็นองค์กรแบบเดิม ๆ ลั่นใช้เงินไปอุ้ม SME ยังดีกว่า 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีการบินไทย โดยระบุว่า อาจมีการประชุมครม.เร็วๆ นี้ว่าด้วยเรื่อง "การบินไทย" จึงขอเปิดพื้นที่แสดงความคิด และขอความเห็นที่สร้างสรรค์ เพราะเป็นเรื่องของ ภาษี 5 หมื่นล้านกับการตัดสินใจกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ 

ตอนที่รัฐบาลตัดสินใจนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูตามพรบ. ล้มละลาย หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้ล้วนเห็นด้วย ด้วยความหวังว่าเมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะบริหารแบบมืออาชีพ มีกำไร มีการเงินที่มั่นคง และที่สำคัญคือ มีสภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ปลดแอกจากการแทรกแซงโดยรัฐ โดยนักการเมือง และโดยกองทัพเหมือนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าผิดหวัง 

เมื่อเห็น 2 ทางเลือกที่กระทรวงการคลัง เสนอให้รัฐบาล คือ 1. ให้รัฐใส่ทุนด้วยเงินภาษี (อีกแล้ว) 25,000 ล้านบาท และค้ำประกันหนี้ใหม่ อีก 25,000 ล้านบาท รวม 50,000 ล้านบาท และ 2. หากรัฐไม่ใส่ทุนก็ต้องค้ำประกันหนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งรัฐค้ำด้วยเงินของรัฐ ก็หมายความว่าการบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ หากบริษัทไปได้ดี มีกำไรในอนาคต  รัฐแทบไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่ง เพราะต้องคืนเจ้าหนี้เก่า ในขณะที่เจ้าหนี้ใหม่ สามารถเปลี่ยนหนี้มาเป็นทุนได้สูงถึง 90% ของทุนทั้งหมด สิ่งที่ควรได้เห็นแต่ผู้เสนอแผนไม่ได้ทำ คือ การยืนยันกับเจ้าหนี้เพื่อลดหนี้เดิม ซึ่งหนี้ที่ไม่ได้ลดลงคือสาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนใหม่ได้เลย ต้องกลับมาขอเงินรัฐ ก็คือเงินภาษีของประชาชน

จริงๆ แล้วครั้งนี้ การบินไทยมีโอกาสที่จะรอดมากที่สุด เพราะมีการปรับลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน (พนักงานมีทั้งเสียสละลาออก ทั้งยอมลดเงินเดือนตัวเอง) ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันหรือค่าการตลาดลงโดยรวมถึงเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยโครงสร้างหนี้จึงทำให้ไม่มีใครพร้อมใส่ทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำตอบว่าการอุ้มการบินไทยรอบใหม่นี้ คนเสียภาษีได้อะไร ถ้าไม่อุ้มล่ะ ถ้าเจ้าหนี้ยอมที่จะปล่อยให้บริษัทต้องล้มละลาย (ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้อาจจะได้เงินคืนเพียง 10% ของวงเงินสินเชื่อเดิม) จะส่งผลยังไงต่อประชาชนคนไทย

เราสามารถสร้างบริษัทการบินไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยโครงสร้างองค์กร โครงสร้างทุนและการบริหารที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ มีคำถามอีกมากมายที่ตนคิดว่าคนไทยที่เสียภาษีไปอุ้มการบินไทยรอบแล้วรอบเล่าควรได้รับคำตอบที่ตรงไปตรงมาโดยสรุปผมมองว่า "รัฐบาลต้องยืนยันว่าจะไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือราชการเข้าไปครอบงำการบินไทยอีก" นี่คือโจทย์สำคัญ รัฐต้องยืนกรานว่าเจ้าหนี้เดิมต้องรับสภาพตามสถานะที่แท้จริงของบริษัท หากรัฐต้องใส่เงินเพิ่ม ต้องมีเงินจากนักลงทุนเอกชนในสัดส่วนที่มากกว่า  ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเจ้าหนี้บางประเภทเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ควรมีมาตรการต่างหากที่จะเยียวยาตามความจำเป็น ครั้งนี้เรามีโอกาสที่จะฟื้นฟูการบินไทยและปลดแอกจากทุกภาระที่หนักอึ้ง อย่าใช้เงินภาษีประชาชนเพียงเพื่อรักษาองค์กรไว้ในรูปแบบเดิม

หากรัฐไม่เจรจาเงื่อนไขที่ดีกว่านี้ เราเอาเงิน 50,000 ล้านไปทำประโยชน์เรื่องอื่นดีกว่า ไม่ว่าจะช่วย SME ให้รอดจากพิษเศรษฐกิจโควิด หรือแม้แต่เอาไปเร่งเยียวยาประชาชนในรูปแบบต่างๆ ยามวิกฤตเช่นนี้

ทีมา : https://web.facebook.com/KornGoThailand/photos/a.10151851815469740/10159600233394740/

พาณิชย์ตีทะเบียน 11 สินค้าจีไอเพิ่ม 4 ประเทศกันเจอแอบอ้าง

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า  กรมฯ ได้เร่งยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของไทยในต่างแดนเพิ่ม 4 ประเทศ จำนวน 11 สินค้า โดยสาเหตุที่ต้องขอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เพราะสินค้าจีไอ เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้สินค้าเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยื่นขอขึ้นทะเบียน เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชนอยู่เช่นเดิม ไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อสินค้าจีไอของไทยไปใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าอื่น ที่ไม่ใช่สินค้าจีไอ อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้าจีไอเป็นที่รู้จัก และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วย  

สำหรับสินค้า 11 รายการที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนนั้น แบ่งเป็น ประเทศจีน คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ประเทศญี่ปุ่น คือ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และสับปะรดห้วยมุ่น ประเทศเวียดนาม คือ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และ ประเทศมาเลเซีย คือ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง โดยทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจรีไอเร็ว ๆ นี้ 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีสินค้าจีไอของไทย ได้ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 5 ประเทศ จำนวน 8 สินค้า ได้แก่ สหภาพยุโรป ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง, เวียดนาม เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน, กัมพูชา กาแฟดอยตุง, อินโดนีเซีย ผ้าไหมยกดอกลำพูน และอินเดีย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ส่วนความคืบหน้าการรับขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอในไทย ล่าสุดกรมฯ ได้รับขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 2 รายการ คือ ข้าวหอมเจ๊กเชยชัยนาท และถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ทำให้มีสินค้าจีไอไทยขึ้นทะเบียนแล้ว 136 รายการ จาก 76 จังหวัด 

ธุรกิจโรงแรมเจอพิษโควิดเล็งปิดกิจการ 80% 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า จากการสอบถามสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.64 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงจากเดือนมี.ค.ที่มีอัตราอยู่ที่ 30% ลดลงเหลือเพียง 5% โดยโรงแรมกว่า 80% ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ อาจงดให้บริการชั่วคราวไปจนถึงเดือนต.ค. หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือรัฐบาลมีการกระจายวัคซีนฉีดให้กับประชาชนคนไทยได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว  ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว 

ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนมี.ค.2564  ก่อนการระบาดระลอกเดือนเม.ย. โดยสำรวจโรงแรม 128 แห่ง พบมี การเปิดกิจการ 48% เปิดให้บริการบางส่วน 41% และปิดกิจการ 11% ส่วนมากที่ยังเปิดให้บริการอยู่จะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่สายป่านยาวเท่านั้น ส่วนโรงแรมที่ปกติรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้ปิดกิจการแล้วทั้งหมด 

“ตลอดเดือนมี.ค.อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ยกเว้นภาคตะวันออกมีอัตราการพักเฉลี่ยสูงกว่า ที่อัตรา 30% ยกเว้นจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่มีอัตราการจองห้องพัก 30% เมื่อสำรวจสภาพคล่องของโรงแรมในเดือนมี.ค.โรงแรมส่วนใหญ่ระบุว่ามีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือนหรือหากเปิดดำเนินการ จะมีเงินจ่ายพนักงานแค่ถึงเดือนพ.ค.นี้” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top