Monday, 20 May 2024
ECONBIZ NEWS

กรมประมง เผย INFOFISH ร่วมกับไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและจัดแสดงสินค้า ‘ทูน่าโลก ครั้งที่ 16’ ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ค. นี้ ผ่านระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก คาดมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 600 ราย เปิดโอกาสการเจรจาทางธุรกิจ พร้อมร่วมใจกันฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกล่าวเปิดการประชุมและจัดแสดงสินค้า ‘ทูน่าโลก ครั้งที่ 16’ (The Sixteenth INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition-Virtual) หรือ ‘INFOFISH TUNA 2021’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก ทาง www.tuna2021.vfairs.com

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปลาทูน่า เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีห่วงโซ่คุณค่าทางการค้าสูง อีกทั้งตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก ในปี 2020 มีรายงานว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของโลก อยู่ที่ประมาณ 3,042,000 ตัน ปริมาณเพิ่มขึ้น 14.20 % จากปี 2015 และการประมงปลาทูน่าเชิงพาณิชย์เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่ส่งผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Blue economy) ซึ่งปลาทูน่ากระป๋องหรือปลาทูน่าดิบ (ซาชิมิ) ไม่ได้เป็นเพียงสินค้าที่มีความต้องการสูงเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งโปรตีนที่สําคัญของโลก และทูน่ายังมีความสำคัญในห่วงโซ่อาหารในน่านน้ำเขตร้อนและเขตอบอุ่น ที่เกื้อกูลวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวประมงพื้นบ้าน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุตสาหกรรมปลาทูน่ากําลังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของปลาทูน่า และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าว่าไม่ได้มาจากการประมง IUU และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นไปเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่าของโลก

สำหรับประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ทูน่าที่มีคุณภาพให้กับตลาดโลก ได้ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของทรัพยากรปลาทูน่า ซึ่งถือว่าเป็นต้นทางที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่า โดยการสร้างระบบการควบคุม และระบบการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบแหล่งที่มาของปลาทูน่าว่ามาจากการทำประมงที่ถูกต้องและได้มาตรฐานสากล และขอสนับสนุนให้ทุกประเทศและทุกภาคส่วนได้ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการ เพื่อให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และสนับสนุนการทำประมงที่ยั่งยืนภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14)

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีสําหรับผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมปลาทูน่า ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในระหว่างการประชุมฯ ซึ่งนําไปสู่การสร้างความเข้าใจร่วมกันของอุตสาหกรรมปลาทูน่าทั่วโลก ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 เพื่อร่วมกันก้าวผ่านช่วงเวลาที่ยากลําบากไปด้วยกัน และเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าของโลก เชื่อว่าการประชุมนี้จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ และบรรลุเป้าหมายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน จากผู้เข้าร่วมการประชุมฯ จากทั่วโลก

ด้าน นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า การประชุมและจัดแสดงสินค้า INFOFISH World Tuna Trade Conference and Exhibition-Virtual ครั้งที่ 16 นี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง INFOFISH ร่วมกับกรมประมง (DOF) สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย (TTIA) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) คณะกรรมาธิการปลาทูน่าเขตร้อนทวีปอเมริกา (IATTC) และคณะกรรมาธิการประมงแห่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและตอนกลาง (WCPFC) กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี และประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมมาแล้ว 8 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมุ่งหวังที่จะให้งานดังกล่าวเป็นการประชุมทางด้านวิชาการและการค้าปลาทูน่าของโลกที่ใหญ่ที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในอุตสาหกรรมปลาทูน่าอย่างรอบด้าน อาทิ ความรู้ทางวิชาการ สภาวะทรัพยากรปลาทูน่าทั่วโลก การบริหารจัดการทรัพยากรปลาทูน่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การกำหนดมาตรการทางกฎหมายต่าง ๆ การค้าและการตลาด ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในเชิงธุรกิจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเจรจาทางธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายภายในงาน อันจะยังประโยชน์ให้เกิดความยั่งยืนของปลาทูน่า

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยมุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งหลาย ในภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่าจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระจากทั่วโลก ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปลาทูน่าตลอดห่วงโซ่สินค้าปลาทูน่า ภายใต้การจัดการทรัพยากรปลาทูน่าอย่างยั่งยืนต่อไป


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เจ้าของ TikTok วางมือ ทิ้งเก้าอี้ซีอีโอ ชี้!! ยังขาดทักษะบริหารองค์กรใหญ่

จางอี้หมิง ผู้ก่อตั้งบริษัท ByteDance เจ้าของแอพพลิเคชั่น TikTok ประกาศในบันทึกภายในของบริษัทว่า จะลาออกจากตำแหน่งซีอีโอของบริษัท เนื่องจากมองว่าตัวเองยังขาดทักษะด้านการบริหาร และชอบอ่านหนังสือและปล่อยความคิดไปตามอารมณ์มากกว่าการบริหารบริษัทเทคขนาดใหญ่

“ผมรู้สึกว่าผมไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้ในด้านของโอกาสเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ การบริหารองค์กร และความรับผิดชอบต่อสังคม” จางระบุในบันทึกภายใน

“หลังจากคิดเรื่องนี้มาหลายเดือน ผมได้ข้อสรุปว่าการเปลี่ยนผ่านบทบาทหน้าที่ของซีอีโอ รวมทั้งความรับผิดชอบประจำวันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำให้ผมโฟกัสกับโครงการต่าง ๆ ในระยะยาวได้มากกว่า”

เหลียงรู่โป ผู้ร่วมก่อตั้ง ByteDance และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเป็นเพื่อนร่วมห้องเรียนของจาง จะรับตำแหน่งซีอีโอคนต่อไปในช่วงสิ้นปีนี้ โดยจางจะยังดำรงตำแหน่งประธานบริษัท และทั้งคู่จะทำงานร่วมกันตลอด 6 เดือนข้างหน้าเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านราบรื่น

ข่าวการวางมือของจางเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ทางการจีนกำลังเข้ามาควบคุมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่รวมทั้ง ByteDance อย่างเข้มงวด และยังเป็นช่วงที่ ByteDance เตรียมจะเปิดขายหุ้นครั้งแรกแก่บุคคลทั่วไป (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ หรือฮ่องกงด้วย

 

ที่มา: https://www.posttoday.com/world/653398


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ไต้หวัน ประกาศชะลอให้แรงงานเดินทางไปทำงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย ได้รับการประสานจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทยว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 รัฐบาลไต้หวันโดยศูนย์บัญชาการควบคุมโรคไต้หวัน ได้ประกาศการชะลอการเดินทางเข้าไต้หวันชั่วคราวสำหรับแรงงานต่างชาติทุกชาติ ชาวต่างชาติที่ไม่มีบัตรสำหรับการพำนักอยู่ในไต้หวัน (Alien Resident Card : ARC) และชาวต่างชาติที่ต่อเครื่องบินที่ไต้หวัน ยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวกับหลักมนุษยธรรม เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 เป็นเวลา 1 เดือน ทำให้กระทรวงแรงงานต้องชะลอการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงาน จนกว่าทางการไต้หวันจะประกาศให้แรงงานต่างชาติเดินทางเข้าไปทำงานได้ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไต้หวันได้ยกระดับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ทั่วเกาะเป็นระดับ 3 เพื่อให้การป้องกันโรคเป็นมาตรฐานเดียวกันแล้ว 

“รายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไต้หวันล่าสุด (วันที่ 20 พฤษภาคม 2564) พบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสม 2,828 ราย ผู้รักษาหาย 1,133 ราย และผู้เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งได้รับการยืนยันจากสำนักงานแรงงานไทย ในไต้หวันแล้วว่า ไม่มีแรงงานไทยและบุคลากรเสียชีวิตหรืออยู่ในรายชื่อผู้ติดเชื้อ อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ยังคงห่วงใยและกำชับกระทรวงแรงงานให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมให้การดูแลแรงงานไทย โดยที่ผ่านมาสำนักงานแรงงานไทยฯ มีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารภาครัฐ และวิธีป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 ให้แรงงานไทยทราบผ่านแอปพลิเคชันไลน์ Facebook และเว็บไซต์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากแรงงานไทยให้ดูแลสุขภาพของตัวเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือ และให้ความร่วมมือกับนายจ้าง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่นายจ้างและหน่วยงานรัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อที่ศูนย์บริการสายด่วนคุ้มครองแรงงาน 1955 หรือใช้บริการกลุ่มไลน์ 1955 E-Line (TH) ของกระทรวงแรงงานไต้หวัน ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลและมาตรการต่างๆ ในภาษาไทย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 การจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจะดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาลโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของแรงงานเป็นอันดับแรก ทั้งนี้แรงงานไทยที่ประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ จะต้องขออนุญาตเดินทางและไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อได้รับการคุ้มครอง และการดูแลตามสิทธิที่พึงมี ในกรณีที่แรงงานเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ หากประสบอันตราย หรือประสบปัญหาในต่างประเทศ จะได้รับการเยียวยาและสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ด้วย

“ปัจจุบันคนไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวันสูงสุด เป็นอันดับแรก รองลงมาเป็นประเทศอิสราเอล ญี่ปุ่น ลาว และสาธารณรัฐเกาหลี ตามลำดับ โดยปีงบประมาณ พ.ศ.2564 กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานในไต้หวัน จำนวน 9,107 คน และ Re-entry จำนวน 3 คน รวม 9,110 คน และสำหรับผู้ที่สนใจจะไปทำงานต่างประเทศ สามารถติดตามข่าวสารการประกาศรับสมัครได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694” นายไพโรจน์ฯ กล่าว

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง วู้ดดี้เวิลด์ เปิดตัวโครงการอบรมออนไลน์ “Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2” สร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ลงทะเบียนเรียนได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้าขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการผลักดันเกษตรอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพผ่านการพัฒนาองค์ความรู้แบบครบวงจรในกลุ่มธุรกิจเกษตร เพื่อสร้างนักธุรกิจอุตสาหกรรม จึงได้สานต่อ “โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2” โดยได้ร่วมมือกับ บริษัท วู้ดดี้เวิลด์ จำกัด จัดกิจกรรมบนออนไลน์ในรูปแบบการ Facebook Live ผ่าน Face page Agro Beyond Academy

โดยเน้นการให้ความรู้ด้านธุรกิจเกษตรผ่านการพูดคุยกันภายใต้หัวข้อ "ธุรกิจเกษตรยุคใหม่ สร้างรายได้พร้อมความสุขอย่างยั่งยืน" โดยมีพิธีกรชื่อดังเมืองไทย วู้ดดี้-วุฒิธร มิลินทจินดา และเหล่าคนดังผู้ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ มาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์ อาทิ ดร.ภูษิต หล่อสายชล, ดร.ภก.แสงสุข พิทยานุกุล, จิโร่ จิรวัฒน์

โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2 ประกอบด้วยหลักสูตรการอบรมออนไลน์ ทั้งหมด 30 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 7 วัน ผ่านแอปพลิเคชันระบบซูม (Zoom) แบ่งออกเป็น 3 วิชาหลัก ได้แก่ หลักสูตรทางด้านการบริหารจัดการ หลักสูตรด้านการตลาด และหลักสูตรทางด้านการบัญชีและการเงิน พร้อมกิจกรรมพิเศษเพื่อต่อยอดและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจให้กับผู้เข้าอบรม อีกทั้งเหล่าวิทยากร กูรูนักธุรกิจคนดังผู้มากประสบการณ์ จากแวดวงธุรกิจด้านเกษตรกรรมและเกษตรอุตสาหกรรมมาเข้าร่วมบรรยายให้ความรู้อีกมากมาย โดยคาดว่าในปีนี้จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 2,000 คน

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา ดีพร้อมได้ดำเนิน โครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 1 ซึ่งมีผู้ประกอบการธุรกิจสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากกว่า 3,000 คน และจากการประเมินผลติดตามหลังจบโครงการ พบว่าผู้ประกอบการและนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการต่างให้การยอมรับถึงศักยภาพและหลักสูตรการเรียน โดยนำความรู้ที่ได้จากการเรียนไปประยุกต์ใช้ได้จริงในธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงนำไปวางแผนในการขยายธุรกิจและการตั้งธุรกิจเกษตรใหม่ อีกทั้งสร้างนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จำนวน 2,635 คน คิดเป็นร้อยละ 87.83 ของผู้เรียน และสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในไทยได้กว่า 70 ล้านบาท ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและเจ้าของธุรกิจสินค้าเกษตรแปรรูปทั่วประเทศที่สนใจเข้าร่วมโครงการ Agro Beyond Academy รุ่นที่ 2 สามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย เปิดรับสมัครแล้ววันนี้-22 พ.ค. 2564 สามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.agrobeyond.com หรือ Face page Agro Beyond Academy หรือ โทร.065 509 9080


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

แบงก์ออมสิน แจ้งปิดรับการยื่นกู้สินเชื่อฉุกเฉิน ผ่าน MyMo ชั่วคราว หลังประชาชนแห่ยื่นกู้จนระบบล่ม เผย 5 วันที่ผ่านมา อนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 2.5 แสนราย

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารฯ ได้เริ่มเปิดให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอกู้สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 บนแอปพลิเคชัน MyMo มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2564 พบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่เข้ามากดรับสิทธิ์ขอกู้ ทำให้ธนาคารฯ ต้องแจ้งปิดการให้บริการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ผ่านแอป MyMo ชั่วคราว เพื่อดำเนินการอนุมัติคำขอสินเชื่อที่คงค้างอยู่กว่าแสนรายการโดยเร็วที่สุด คาดว่าจะสามารถเปิดระบบให้เข้ากดรับสิทธิ์ได้อีกครั้งประมาณต้นสัปดาห์หน้า

สำหรับผู้ที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว และยังไม่ได้ดำเนินการทำสัญญาผ่าน MyMo (Digital Contract) ธนาคารฯ จะขยายระยะเวลาการกดทำสัญญาผ่าน MyMo ออกไปให้จนกว่าจะเปิดระบบอีกครั้ง

ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 กำหนดวงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท รองรับการให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้มากกว่า 1 ล้านราย ปัจจุบันหลังเปิดให้ยื่นขอสินเชื่อผ่านแอป MyMo 5 วันทำการที่ผ่านมา ธนาคารฯ อนุมัติสินเชื่อให้ประชาชนแล้วจำนวนกว่า 250,000 ราย


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

LINK : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

จุรินทร์ เผย ครม. มอบ ศบค.เร่งฉีดวัคซีน 3 กลุ่มเสี่ยง “ซาเล้ง-โรงงานตลาดสด” ตามเสนอแล้ว พร้อม ยัน! ราคาพืชผลเกษตร "ดีเกือบทุกตัว" ส่งออกผลไม้ไทย "ยิ่งไปโลด" 

วันพฤหัสบดี ที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเสนอให้ฉีดวัคซีนกลุ่มโรงงาน ซาเล้ง และตลาดสด ว่า ตนได้เสนอเข้าไปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีขอให้ศบค. ดำเนินการแล้ว เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง และจำเป็นต้องสัมผัสคนตลอดเวลา นอกจากนั้นโรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออก นอกจากคุณภาพของอาหารที่ปลอดโควิดแล้ว คนงานก็จำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็ได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการต่อไป 

“ทั้งซาเล้ง คนจนตัวจริง และแม่ค้า พ่อค้าทั้งหลายในตลาดนัด ตลาดสด ควรได้จัดลำดับความสำคัญให้เพราะพวกเขาต้องสัมผัสคนตลอด และคนซื้อจะได้ปลอดภัยด้วย โรงงานก็มีความสำคัญ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนได้ด้วยการส่งออกที่เป็นพระเอกอยู่ และในการส่งออกลึกลงไปคืออาหาร เพราะฉะนั้นอาหาร ที่ไทยทำตัวเลขได้ดีอยู่ขณะนี้เพราะนอกจากคุณภาพโดยตัวของมันเองแล้วปลอดโควิด เพราะฉะนั้นการฉีดวัคซีนให้กับคนงานก็มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และวันอังคารที่ผ่านมา ผมได้เสนอเรื่องนี้ใน ครม.แล้ว และได้รับการตอบรับแล้วว่าจะให้ ศบค. รับไปดำเนินการ ก็ขอให้รอฟังผลจาก ศบค.ต่อไป” นายจุรินทร์ กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงราคาสินค้าเกษตรว่า ราคาดีเกือบทุกตัว ราคายางพาราโดยเฉลี่ย 60 กว่าบาท และยืนระยะอยู่หลายเดือน โดย ปาล์ม ราคา 5-6 บาท ถือว่าราคาสูงกว่าที่ตนจะเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งขณะนั้น กก.ละ 2 บาทกว่าเท่านั้นเอง ข้าวโพดก็ยังถือว่าราคาดีแตะที่ 8 บาทกว่า บางช่วง 9 บาท มันสำปะหลัง กก.ละ 2 บาทกว่า และข้าวก็ถือราคาดี

"เพราะฉะนั้นเชื่อว่าปีนี้ตัวเลขก็น่าจะมากกว่านี้ ยกเว้นว่าเราไม่มีของ แต่ตลาดเรามี และผลไม้ไทยก็ไปได้ดีในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เตรียมการตั้งแต่ต้น มีมาตรการเชิงรุก ตั้งแต่ผลไม้ยังไม่ออกสู่ตลาด โดยไม่ต้องตามแก้ปัญหา แต่ได้แก้ปัญหาเชิงรุกไปตั้งแต่เริ่มต้น " นายจุรินทร์ กล่าว 

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า ด้วยมาตรการทั้งหมดนี้ก็ช่วยให้การส่งออกไปได้ดี หากติดปัญหาที่ด่าน อย่างเมื่อเดือนที่แล้ว (เมษายน) ก่อนวันแรงงานเกิดปัญหาที่ด่านโหย่วอี้กวน ก็ได้ลงไปแก้ปัญหาได้ทันท่วงที แทนที่จะติดอยู่ 2-3 อาทิตย์ ก็ทำให้คลี่คลายไปได้ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว

ทูตมองโกเลีย เข้าพบ "จุรินทร์" ตั้งเป้าการค้า 3,000 ล้าน ดันส่งออก "ข้าว ยาง อาหาร" เพิ่ม พร้อม "จับมือ" หาเส้นทางขนสินค้าทางบก ลดต้นทุน

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้อนรับนายทูมูร์ อามาร์ซานา H.E. Mr. Tumar Amarsanaa เอกอัครราชทูตมองโกเลียประจำประเทศไทย โดยใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมงภายหลังการหารือ

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีโอกาสต้อนรับท่านทูตจากมองโกเลียหลังจากมีความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศมา 47 ปี โดยประเทศมองโกเลียมีประชากร 3,300,000 คน มีจีดีพีประมาณ 440,000 ล้านบาท ถือเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญลำดับ 6 ของไทยในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับมองโกเลียปี 2563 ประมาณ 1,140 ล้านบาท ประโยชน์ที่จะได้รับคือมองโกเลียสามารถใช้ประเทศไทยเป็นประตูการค้าสู่อาเซียนได้ เพราะมีศักยภาพในเรื่องของการส่งออกสินแร่ หนังสัตว์ เป็นต้น และประเทศไทยสามารถใช้มองโกเลียเป็นประตูการค้าสู่รัสเซียหรือกลุ่มประเทศที่แตกตัวจากรัสเซียได้ 

"จากการหารือมองโกเลียต้องการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างกันและส่งออกเนื้อสัตว์ และนมมาประเทศไทย ตลาดใหญ่มองโกเลียคือ จีนและรัสเซีย โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนโดยต้องผ่านการรับรองความปลอดภัยด้านอาหาร ผ่านกรมวิชาการเกษตรและกรมปศุสัตว์ของไทยและดำเนินการขั้นตอนให้ครบถ้วน จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ยินดีให้การสนับสนุนและท่านทูตขอให้ช่วยสนับสนุนการจัดทำข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกัน ขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะทำโมเดลกลางรูปแบบการคุ้มครองการลงทุนที่เป็นมาตรฐาน จะสามารถนำไปใช้กับทุกประเทศในโลกและสนใจทำข้อตกลงเรื่องการไม่จัดเก็บภาษีซ้อนและมีความเห็นเรื่องการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปมองโกเลีย เนื่องจากต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะห่างไกลและเน้นการขนส่งสินค้าทางเรือเป็นหลัก ควรเพิ่มเส้นทางทางบกเพื่อลดต้นทุนการขนส่งและมองโกเลียสนใจที่จะต้อนรับการลงทุนทางด้านสุขภาพจากนักลงทุนชาวไทยเพราะมีโรงพยาบาลบางแห่งเริ่มไปลงทุนในมองโกเลีย" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว 

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย ประเด็นที่หารือ

1.) ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

2.) เชิญให้ท่านทูตประสานผู้นำเข้าจากมองโกเลียเข้าร่วมงาน THAIFAX ที่กระทรวงพาณิชย์จัดในเดือนกันยายน 2564 ประสานให้เอกชนหรือผู้นำเข้าของมองโกเลียเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจ สนับสนุนการนำเข้าสินค้าอาหารของไทย ทั้งข้าว เครื่องปรุงรส อาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม น้ำตาล ผลิตภัณฑ์ยางและเครื่องมือแพทย์ รวมถึงกระดาษด้วย และประเด็นถัดมา เมื่อการเดินทางสามารถทำได้ให้ประสานให้นักท่องเที่ยวจากมองโกเลียเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยเข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และได้ข้อสรุปร่วมกันคือ

1.) จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันจากปีที่แล้ว 1,140 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ในปี 2566

2.) มีคณะทำงานร่วมเจรจาระหว่างไทยกับมองโกเลีย เสนอให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการทางการค้า โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพร่วมเจรจากับมองโกเลีย 

3.) จะร่วมมือกันเร่งกำหนดข้อตกลงเรื่องการคุ้มครองการลงทุนระหว่างกันและเร่งบังคับใช้ข้อตกลงการจัดเก็บภาษีซ้อนโดยเร็ว 4.จะทำงานร่วมกันในการลดต้นทุนการขนส่ง
 

กกร. รับเศรษฐกิจซบเซา หั่นจีดีพีปีนี้คาดโตเหลือ 0.5-2%

วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่าที่ประชุมมีมติปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2564 ลงมาอยู่ที่ 0.5-2% จากเดิมคาดไว้โต 1.5-3% สอดคล้องกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้ลงเฉลี่ยอยู่ที่ต่ำกว่า 2%

ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกเดือนเม.ย. มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่คาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมากกว่า 3 เดือน และส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจบริการดำเนินกิจการได้อย่างจำกัดจากมาตรการควบคุมโรค ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและรายได้แรงงาน ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นอย่างมาก

“ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ ดังนั้น จีดีพีจะโตได้ 2% การเร่งฉีดวัคซีนดูจะเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้ากลับมาฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาส 4 โดยปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน และบริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ”นายสุพันธุ์ กล่าว

โดยทาง กกร.หวังว่ารัฐบาลจะเร่งผลักดันพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 7 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐบาลมีเม็ดเงินเพียงพอ และดำเนินโครงการด้านสาธารณะสุข มาตรการเยียวยาชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงและมีความไม่แน่นอนสูง

นอกจากนี้ ควรเร่งรัดมาตรการช่วยเหลือด้านกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ให้เข้ามาพยุงกำลังซื้อได้ในเดือนมิ.ย. และพิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาท เป็น 6,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 180,000 ล้านบาท

นายสุพันธุ์ กล่าวว่าเมื่อรวมเม็ดเงินของประชาชนที่นำออกมาใช้จ่ายคู่กับเม็ดเงินจากโครงการคนละครึ่งเสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออม โดยสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่ายอย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป ซึ่งทาง กกร.ได้ปรับประมาณการการส่งออกปีนี้ขยายตัว 5-7% จากเดิมคาดไว้ที่ 4-6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1-1.2% เห็นได้จากเศรษฐกิจและมูลค่าการนำเข้าของคู่ค้าหลักในไตรมาส 1/2564 ฟื้นตัวได้ตามคาด เช่นเดียวกับอุปสงค์ในประเทศเศรษฐกิจหลักที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลดีมายังการส่งออกของไทยในไตรมาสแรกให้ขยายตัวได้ถึง 8.2% ไม่รวมการส่งออกทองคำ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้การภาคการผลิตและการส่งออกยังเติบโตได้ แต่พบปัญหาติดขัดคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และปัญหาค่าระวางเรือระดับสูง จึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือส่วนนี้

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ประเด็นรัฐบาลกู้เงินนั้น หากพิจารณาเพดานหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันถือเป็นนโยบายที่กำหนดในอดีต ดังนั้นประเด็นเพดานหนี้สามารถดำเนินการอย่างยืดหยุ่นได้ในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลกที่ผ่อนคลาย เพื่อเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบการเงินที่กู้มาก็มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยกกร. มีคณะทำงานย่อยเพื่อพิจารณาหนี้สาธารณะจะมีการหารือและเสนอความเห็นต่อรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้

เอกชนหนุนรัฐบาลกู้ 7 แสนล. สู้โควิด-ฟื้นเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับการใช้ออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลมีเงินเพียงพอสำหรับรองรับการดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน โดยการใช้เงินตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ นอกจากจะใช้ในด้านสาธารณสุข ด้านการเยียวยา และชดเชยให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว ยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

“เอกชนอยากเห็นกรอบการใช้เงิน โปร่งใส ตรวจสอบการใช้เงินอย่างรอบคอบ ไม่เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น ควรนำเงินมาช่วยเหลือกำลังซื้อภาคประชาชนในวงกว้างเพิ่มเติม โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ต้องการให้พิจารณาเพิ่มวงเงินสนับสนุนการใช้จ่ายจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท เพื่อช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจาก 90,000 ล้านบาท เป็น 1.8 แสนล้านบาท อยากให้เริ่มเดือนมิ.ย.เลย จากแผนเดิมเริ่มเดือนก.ค. เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างมาก”  

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า กรอบการกู้เงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลต่อเพดานหนี้สาธารณะของไทย ซึ่งไทยมีเงินทุนสำรองปริมาณสูง แข็งแกร่ง เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวจะมีเงินใช้หนี้ได้ต่อเนื่อง และควรเร่งฉีดวัคซีนตามเป้าหมาย ปรับปรุงการสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดความสับสน บริหารจัดการมาตรการควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่เป็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อให้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในไตรมาสที่ 4 ปีนี้

นอกจากนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอยากให้เสริมมาตรการดึงกำลังซื้อจากประชาชนที่มีเงินออมด้วยการฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน รัฐสนับสนุนมาตรการนำรายจ่ายจากการซื้อสินค้าไปหักภาษีเงินได้ในวงเงิน 30,000-50,000 บาทต่อราย จะจูงใจให้ประชาชนในกลุ่มนี้นำเงินฝากมาใช้จ่าย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งการเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง และฟื้นช้อปดีมีคืน จะมีเงินเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มอีก 2-3 แสนล้านบาท จะช่วยประคองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปีนี้ ให้ขยายตัวได้ระดับ 2% หรือมากกว่านั้นได้

รอเลย คลังประกาศผลเก็บตกเราชนะ 21 พ.ค.นี้

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการเราชนะ จะประกาศผลการทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (กลุ่มผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน) ที่ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ระหว่างวันที่ 6 มี.ค.-13 พ.ค. 2564 ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป ทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com หรือ Call Center ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 0 2111 1122 

โดยผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ครั้งแรก จำนวน 8,000 บาท ในวันที่ 22 พ.ค. 2564 และจะได้รับการโอนวงเงินสิทธิ์ที่รัฐบาลสนับสนุนเพิ่มเติมอีก จำนวน 1,000 บาท ในวันที่ 28 พ.ค. 2564 รวม 9,000 บาท โดยสามารถใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผ่านบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ ได้ที่ผู้ประกอบการร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.-30 มิ.ย. 2564

สำหรับประชาชนประชาชนกลุ่มที่แสดงความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ โดยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงกรณีที่ผลการทบทวนสิทธิ์ในกรณีอื่น ๆ ที่อาจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง สามารถตรวจสอบผลการทบทวนสิทธิ์ใหม่อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป 

ปัจจุบันโครงการเราชนะ มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวม 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 205,897 ล้านบาท และมีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการ ที่ใช้จ่ายจนครบวงเงินสิทธิ์เดิม จำนวน 7,000 บาท แล้ว จำนวน 25.6 ล้านคน ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่านผู้ประกอบการร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นที่มีแอปพลิเคชันถุงเงิน ร้านค้าคนละครึ่งที่ตกลงยินยอมเข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1.3 ล้านกิจการ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top