Monday, 13 May 2024
ECONBIZ NEWS

สภาพัฒน์ฯ ปรับเป้าจีดีพีไทยทั้งปีเหลือ 2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% เหลือเพียง 1.5-2.5% หรือเฉลี่ยที่ 2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563

ทั้งนี้พบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.5% เทียบกับการขยายตัว 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 20% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 32.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 28.2% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 

ส่วนการลงทุนรวม ขยายตัว 7.3% ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลง 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส 3% เทียบกับการลดลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง 19.6% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัว 28.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปี 2563 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 9.3%

ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.3% เทียบกับการลดลง 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก 

ราเมศ ย้ำ ปชป. เคียงข้างพี่น้องเกษตรกร ประกันรายได้ 7.6 ล้านครัวเรือน ยิ้มได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง นโยบายประกันรายได้ในขณะนี้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่จะต้องมีราคาที่เป็นหลักประกันได้ว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ประสบกับสภาวะปัญหาขาดทุน และที่สำคัญการต่อยอดนโยบายในเรื่องการตลาดที่มีการเปิดตลาดทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วยแล้ว เมื่อความต้องการตลาดมีมาก แน่นอนว่าย่อมทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเพราะราคาพืชผลเกษตรกรก็จะดีขึ้น เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายเช่นกันที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ

พรรคได้หาเสียงเรื่องนโยบายประกันรายได้ไว้และเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายของพรรคคือพี่น้องเกษตรกรได้ประโยชน์ ขณะนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรก็จะเป็นหลักประกันได้ ให้มีราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ได้

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ล่าสุดพี่น้องเกษตรกรชาวสวนข้าวโพดกว่า 1.3 แสนไร่  21,071 ครัวเรือน ก็จะได้รับเงินประกันรายได้ งวด 7 และในส่วนโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 คือ พ.ศ.2563 / 2564 ในพืชทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ มีพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7.6 ล้านครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป เตรียมหารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เล็งใช้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ว่า  ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ, นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เป็นรองประธาน, โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธาน ส.อ.ท. หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน, ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ  

1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที 

“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบปรับลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม มิถุนายน-สิงหาคม 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .....

โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 ทั้งนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท อันเป็นการลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้นและเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างอีกด้วย

กฟผ. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ช่วยร้านค้ารายย่อย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย. 2564 เพิ่มเติม ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่น ร้านค้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ โดยลดค่าไฟฟ้าเงื่อนไขเดียวกับมาตรการลดค่าไฟในที่ประชุมครม. วันที่ 5 พ.ค. คือ ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพ.ค.-มิ.ย. 64) เพื่อลดกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ยังรับทราบแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 

พร้อมกันนี้ยังพิจารณาทบทวนเกณฑ์ จากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี

'เฉลิมชัย' สั่งเดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบราง 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียง-ด่านหนองคาย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (14 พฤษภาคม พ.ศ.2564) เทศบาลเมืองตงซิงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรก และแถลงข่าวการนำเข้าผลไม้ไทยมายังประเทศจีนผ่านด่านตงซิง

โดยมีนายเฉิน เจี้ยนหลิน รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกเทศมนตรีเมืองตงซิง เป็นประธานฝ่ายจีน และนางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เป็นผู้แทนฝ่ายไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ของจีนทราบถึงโอกาสและศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านด่านตงซิงที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งออกจากไทยและเข้าจีนได้ในระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น

ด้านนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ได้ประเดิมส่งออกทุเรียนตู้ปฐมฤกษ์เพื่อทดลองนำร่องในการขนส่งผ่านด่านตงซิง จำนวน 2 ตู้คอนแทนเนอร์ ปริมาณรวม 36 ตัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท ซึ่งพบว่ารถขนส่งสามารถผ่านเข้าด่านตงซิงและผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างราบรื่น

โดยผู้ประกอบการจีนได้ทำการต้อนรับตู้ทุเรียนตู้แรกของไทย ณ ตลาดการค้าสินค้าเกษตรฟู่หมินตงซิงกว่างซี เมื่อเวลา 23.48 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นผลจากการที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศให้ด่านตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนแห่งที่ 2) สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว โดย ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้การเจรจาและผลักดันการทำความตกลงกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) จนเห็นชอบร่วมกันให้บรรจุด่านตงซิงเข้าไปในร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ด่านตงซิงตั้งอยู่ที่เมืองระดับอำเภอตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง อยู่ห่างจากด่านหมงก๋าย จังหวัดกว่างนินห์ ของเวียดนาม เพียง 100 เมตร และได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทางบกเป็นแห่งที่ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง 

ทั้งนี้ ด่านตงซิงสามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านทางบกที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย นอกเหนือจากด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีน ช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน โดยเฉพาะในฤดูกาลส่งออกทุเรียนในขณะนี้ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย

อลงกรณ์ เผยทิ้งท้ายอีกว่า ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางเพื่อ 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียงและด่านหนองคาย หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดด่านและขนส่งสินค้าได้จริงในทุกด่าน โดยเฉพาะล่าสุด คือ ด่านตงชิงโดยย้ำให้เร่งดำเนินการให้ทันต่อการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

“รมว.พาณิชย์ ”เร่งแก้ปัญหาราคาปาล์มตก ยันต้องไม่ทำให้น้ำมันปาล์มขายแพง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์เขตหลักสี่ ซอยแจ้งวัฒนะ 10 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงราคาน้ำมันปาล์ม  ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาผลปาล์มสูงขึ้นมากจากกิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาท เป็น กก.ละ 4-5 บาท และสูงสุดถึงกก.ละ 7 บาท แม้ขณะนี้ราคาอ่อนตัวลงมาบ้าง แต่ยังสูงกว่ารายได้ที่ประกันราคา ซึ่งตอนนี้เฉลี่ยกก.ละ 5 บาท และราคาเกินกว่ารายได้ที่ประกันที่กก.ละ 4 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์พยายามพิจารณาให้เกิดความสมดุล โดยตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในพิจารณาหาทางช่วยให้เกษตรกรยังขายปาล์มได้ในราคาสูง แต่อย่าให้น้ำมันปาล์มบริโภคมีราคาสูงมาก โดยจะทำโครงสร้างราคาขึ้นมาเพื่อเทียบกันต่อไปในอนาคต ขณะที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำโครงสร้างราคาให้เป็นทางการ เพื่อใช้เทียบเคียงต่อไปในอนาคตในขณะที่ปาล์ม กก.ละ 5 บาท น้ำมันปาล์มขึ้นไปลิตรละ 40 กว่าบาท 
      
 นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเชิญผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดและห้างสรรพสินค้ามาหารือกันว่ากดราคาลงมาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ขาดทุน ให้พออยู่ได้แต่อย่าถึงกับทำกำไรในช่วงนี้ ขอให้ผลปาล์มเกษตรกรราคาดีต่อไป โดยราคาแล้วแต่ยี่ห้อ 43-46 บาท โดยประมาณ อีกทั้งให้พาณิชย์จังหวัดเข้าไปดูแล ถ้าพบผู้ใดที่จำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดเกินราคา ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตอนนี้ผลปาล์มเริ่มออกมาจำนวนมาก

ธนารักษ์ ไม่เก็บค่าเช่าปชช.-เกษตรกร ถึงสิ้นปี

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีประกาศยกเว้นการเก็บค่าเช่าในส่วนของประชาชน และเกษตรกรจนถึงสิ้นสุดเดือน ธ.ค.64 คาดว่าจะมีประชาชน และเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 500,000 ราย ส่วนภาคเอกชนที่ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นกรมให้ผู้ประกอบการเลื่อนการจ่ายค่าเช่าออกไปก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่มีสัญญาเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ 

“การช่วยเหลือภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการที่เช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี เช่น อาจผ่อนผันเก็บค่าเช่า 6-12 งวด และนำค่าเช่าไปทยอยผ่อนต่อทีหลัง รวมถึงอาจให้ส่วนลดเพิ่มเติม แต่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเดือดร้อนหรือถูกผลกระทบจากโควิดจริง” 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโควิด สามารถแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือเข้ามาได้ พร้อมส่งเอกสารผลประกอบการ งบการเงิน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบในช่วงปี 63-64 ซึ่งเกิดผลกระทบโควิดกับผลประกอบการปีก่อนหน้านั้น หากพบว่ามีรายได้หายไปอย่างมีนัยยะ กรมฯ ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ทั้งการผ่อนผันชำระ หรือลดค่าเช่าให้ 25-50% ตามความเดือดร้อนจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการที่รับการผ่อนผัน ช่วยเหลือไปหลายราย

‘เฉลิมชัย’ สั่งลุยสกัดโรคลัมปี สกินในโค-กระบือ คุมเข้ม!! 'เฝ้าระวัง-ป้องกัน-ติดตามผล' ก่อนลุกลาม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โรคลัมปี สกิน' (Lumpy Skin Disease) ในโค-กระบือ จึงได้มีคำสั่งให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้ง การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด พร้อมทั้งเร่งรัดการประกาศเขตควบคุม เช่น เขตโรคระบาดชั่วคราวฯ, เขตโรคระบาดฯ, เขตเฝ้าระวังฯ

นอกจากนี้ให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบืออย่างเข้มงวด กรณีที่พบโรคระบาด หากสอบสวนแล้วพบว่าเกิดจากการเคลื่อนย้าย ปศุสัตว์จังหวัดต้นทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันให้ทางกรมปศุสัตว์กำชับด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนให้เข้มงวดป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันปราบปรามการลักลอบเคลื่อนย้ายโค-กระบือ พร้อมกำชับจุดตรวจให้เข้มงวดในการตรวจอาการ เป็นต้น และให้ทางกรมปศุสัตว์รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง

“ผมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ดังนั้นจึงกำชับให้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มแข็ง จริงจังตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกคนขอให้ทำงานโดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของผู้ใดทั้งสิ้น ตนเองพร้อมปกป้องและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของของการระบาดของ โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ที่พบในพื้นที่เขต 3, 4 และ 7 จนถึงขณะนี้ พบว่ามีแนวโน้มที่โรคจะแพร่กระจายไปในวงกว้าง ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ทางกรมปศุสัตว์ จึงกำหนดการแบ่งพื้นที่ควบคุมโรคออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1.) จังหวัดที่เกิดโรคและจังหวัดที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค

2.) จังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค

และเพื่อให้มาตรการที่กรมปศุสัตว์สัมฤทธิ์ผล จึงได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้ช่วยกำกับติดตามดูแลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในแต่ละจังหวัดตามแนวทางของกรมปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคนั้น ทางกรมปศุสัตว์ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและสั่งการเป็นที่เรียบร้อย โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย การจัดการดูแลในส่วนของตลาดนัดค้าสัตว์ พร้อมให้มีการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตโรคระบาด

“ที่สำคัญอีกประการในเรื่องของการรักษาโค-กระบือที่ป่วยเป็นโรคลัมปี สกินของเกษตรกรในพื้นที่การระบาด ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้าไปรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยตรง จึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการ และบำรุงร่างกายสัตว์ให้มีสุขภาพดี และรักษาแผลเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันแมลงต้อมแผลหรือเข้ามาวางไข่ อีกทั้งเร่งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรค เช่น การใช้หลอดไฟไล่แมลง และกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด การใช้ยาฆ่าแมลงแบบพ่นและแบบราดบนตัวสัตว์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ขอให้เกษตรกรเข้มงวดเฝ้าระวัง และสังเกตอาการสัตว์ของตนเอง หากพบว่ามีอาการของโรคให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว


ข้อมูล/ข่าว : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (13 พ.ค 2564)

 

คลังเปิดตัวเลขแก้หนี้นอกระบบแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 พบว่า มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 967 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 571 ราย รองลงมา คือ ภาคกลาง 154 ราย ภาคเหนือ 124 ราย ภาคตะวันออก 67 ราย และภาคใต้ 51 ราย

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนก.พ. 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้ว 484,638 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 11,370 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 23,461 บาทต่อบัญชี 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือนมี.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,118 ราย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top