Saturday, 27 April 2024
ECONBIZ NEWS

'อินเดีย' ห้ามส่งออกข้าวกระทบประชากรหลายล้านคน ด้านไทยพร้อม หลังผลผลิตเพียงพอ เหลือพอส่งออกเพิ่ม

ไม่นานมานี้ สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ได้ห้ามส่งออกข้าวขาว ที่ไม่ใช้พันธุ์บาสมาติ (Basmati) เมื่อวันที่ 20 ก.ค. เสี่ยงสั่นคลอนตลาดข้าวทั่วโลก มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อปากท้องของประชาชนหลายล้านคน โดยเฉพาะเอเชียและแอฟริกา

เหตุผลเพราะรัฐบาลอินเดียต้องการควบคุมราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นภายในประเทศ และรับประกันว่าจะมีปริมาณข้าวราคาเหมาะสมเพียงพอภายในประเทศ 

ทั้งนี้ อินเดียมีสัดส่วนส่งออกข้าว กว่า 40% ของการค้าข้าวทั่วโลก โดยมีมาเลเซีย, สิงคโปร์ เป็นสองประเทศในอาเซียนที่พึ่งพาข้าวจากอินเดียมาก รวมทั้งแอฟริกา, ตะวันออกกลาง, แอฟริกาเหนือ (MENA) โดยประเทศจิบูตี, ไลบีเรีย, กาตาร์, แกมเบีย และคูเวต มีความเสี่ยงมากที่สุด ตามรายงานของธนาคารบาร์เคลย์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ ที่ประจำอยู่ในประเทศที่มีการผลิตข้าว ส่งออกข้าว หรือนำเข้าข้าว ให้ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิด หลังจากที่อินเดียได้ประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค. 66 ที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลหรือแนวโน้มที่เกิดขึ้น มากำหนดแผนและมาตรการในเรื่องข้าวของไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ขอให้ติดตามสถานการณ์การส่งออกว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างไร ประเทศไหนมีความต้องการเพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาส่งออกเป็นอย่างไร กรมการค้าภายใน ให้ติดตามสถานการณ์สต็อกในประเทศ ราคาข้าวเปลือกในประเทศ และทูตพาณิชย์ ให้ติดตามว่าแต่ละประเทศมีมาตรการและนโยบายในเรื่องข้าวอย่างไร มีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายกีรติกล่าวว่า เมื่อเห็นภาพชัดเจนแล้วว่าทิศทางข้าว จะเป็นไปอย่างไร กระทรวงพาณิชย์จะมาทำแผนและมาตรการในเรื่องข้าว ซึ่งมีสมมติฐานตั้งแต่เบาไปหาหนัก แล้วแต่ว่าสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังคงเป็นปกติ ไม่มีอะไร ก็ไม่ต้องทำอะไร ปล่อยให้กลไกตลาดขับเคลื่อนต่อไป แต่ถ้าเริ่มเห็นสัญญาณความต้องการข้าวที่สูงขึ้น ก็จะมาพิจารณาว่าจะใช้มาตรการอะไร ซึ่งมองว่าอาจจะไม่ต้องใช้เลยก็ได้ เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายสำคัญของโลก ผลผลิตมีเพียงพอ และเหลือที่จะส่งออก

"ผมมองว่าน่า 1-2 สัปดาห์ จะเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าแนวโน้มตลาดข้าวโลกจะเป็นอย่างไร เบื้องต้น ในประเทศไม่มีปัญหาขาดแคลนแน่นอน เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตข้าว และเหลือส่งออก แต่จะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวมากกว่า การส่งออกปีนี้ น่าจะเกิน 8 ล้านตัน จากที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้ และราคาข้าวในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น" นายกีรติกล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงในเรื่องของภัยแล้งที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญมากกว่า โดยมีการประเมินกันว่าจะเกิดต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งน่าจะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย และทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวไทยลดลง โดยล่าสุดได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว เพื่อร่วมกันทำแผนรับมือ เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตลดลง

เตรียมพร้อมรับ Digital Nomad นักท่องเที่ยว สายทำงาน เลือก 3 พิกัดในไทยเป็นหมุดหมายในการมาใช้ชีวิต

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับการพัฒนาของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ไลฟ์สไตล์ในการทำงานของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ทั่วโลก เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 15.2 ล้านคน ในปี 2562 เป็น 35 ล้านคนในปี 2565 หรือเติบโตขึ้นกว่า 130% และมีโอกาสแตะระดับ 60 ล้านคน ในปี 2573

จุดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad คือ การมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยสูงถึง 6 เดือน ส่งผลให้มีการใช้จ่ายมากกว่านักท่องเที่ยวโดยทั่วไปกว่า 56% และไม่ได้มีฤดูกาลท่องเที่ยวที่ชัดเจนแบบนักท่องเที่ยวกลุ่ม Mass ทำให้สามารถเดินทางมาท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว โปรไฟล์ของกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นชาวอเมริกันเป็นหลักโดยมีสัดส่วนสูงถึง 48% ของกลุ่ม Digital Nomad ทั้งหมด รองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (7%) รัสเซีย (5%) แคนาดา (4%) และเยอรมัน (4%)

และส่วนใหญ่จะเป็นชาวมิลเลนเนียล (Millennials) หรือกลุ่ม Gen Y โดยกว่า 83% จะประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งอาชีพที่พบได้มากที่สุด คือ งานด้านคอมพิวเตอร์/ไอที นักการตลาด งานออกแบบ นักเขียน และงานด้าน E-Commerce

โดยสถานที่ที่นิยมใช้เป็นที่ทำงานแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม

-กลุ่มที่ต้องการเสียงและบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ เพื่อให้มีสมาธิในการทำงาน จะเลือกทำงานใน Co-working Space เป็นหลัก

-กลุ่มที่ต้องการความเงียบสงบในการทำงานจะเลือกทำงานในที่พักอาศัยเป็นหลัก

ส่วนด้านค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตของกลุ่ม Digital Nomad จะมีงบประมาณในการใช้จ่ายเฉลี่ย 1,875 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือราว 62,000 บาทต่อเดือน โดยมีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน ก่อนจะย้ายเมืองหรือประเทศที่ใช้เป็นสถานที่ทำงานใหม่ต่อไป

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad เป็นอย่างมาก เพราะว่า 5 ปัจจัยหลักในการเลือกจุดหมายปลายทางของกลุ่ม Digital Nomad คือ ค่าครองชีพต่ำและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ความปลอดภัย แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ วีซ่าที่เหมาะสม ร้านกาแฟ/Co-working Space โดยเรื่องค่าครองชีพและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่สุด เนื่องจากมีผลต่อกำลังซื้อและประสิทธิภาพในการทำงานโดยตรง ขณะที่เรื่องความปลอดภัย ทั้งความปลอดภัยด้านอาชญากรรมและสภาพแวดล้อมมีความสำคัญรองลงมา

ซึ่ง ประเทศไทยติดอันดับ Top 10 ถึง 3 แห่ง ได้แก่ 1. เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี (อันดับ 1) 2. กรุงเทพฯ (อันดับ 2) 3. จ.เชียงใหม่ (อันดับ 9) 

ด้วยศักยภาพและของ กลุ่ม Digital Nomad ด้าน Krungthai COMPASS ประเมินว่า การเติบโตของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad จะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจหลัก คือ

-ธุรกิจที่พักแรม และร้านอาหาร เช่น ธุรกิจ Co-Living Space, Service Apartment, Hostel, โรงแรม และ ธุรกิจ Co-working Space

-ธุรกิจบริการเช่ารถจักรยานยนต์ เนื่องจากเป็นวิธีการเดินทางหลักของ Digital Nomad

-ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้าง Community เช่น การจัดกรุ๊ปทัวร์ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เดินป่า ปีนเขา ดำน้ำ รวมถึงคลาสออกกำลังกาย เช่น โยคะ มวยไทย เป็นต้น

-ธุรกิจโทรคมนาคม เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและมีประสิทธิภาพมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้

นอกจากนี้ ธุรกิจต่อเนื่องหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อมก็มีโอกาสได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ทั้งในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และห้างสรรพสินค้า / ธุรกิจสถานบันเทิง / ธุรกิจการแพทย์

ปตท. ติดอันดับ 110 ฟอร์จูนโกลบอล 500 นับเป็นหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดโผ

ฟอร์จูน (Fortune) ประกาศในวันนี้ (3 ส.ค.) ว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ติดอันดับ 110 ของฟอร์จูนโกลบอล 500 (Fortune Global 500) ในปี 2566 โดยได้รับการจัดให้เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 110 ในโลกตามรายได้ในปีงบประมาณ 2565 ด้วยรายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ ปตท. เป็นบริษัทเดียวในไทยและหนึ่งในห้าบริษัทในอาเซียนที่ติดอันดับบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปีนี้ โดย ปตท. ติดอันดับสองของบริษัทบนฟอร์จูนโกลบอล 500 ในอาเซียน เป็นรองเพียงบริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) จากสิงคโปร์ แต่หากเทียบเฉพาะในภาคพลังงาน ปตท. รั้งอันดับหนึ่งในอาเซียน

ส่วนในระดับโลก ภาคพลังงานก็มาแรงเช่นกัน โดยซาอุดี อารามโค (Saudi Aramco) จากซาอุดีอาระเบีย รั้งอันดับสอง ไชน่า เนชันแนล ปิโตรเลียม (China National Petroleum) จากจีนคว้าอันดับห้า ซิโนเปก (Sinopec) จากจีน ติดอันดับ 6 เอ็กซ์ซอน โมบิล (Exxon Mobil) จากสหรัฐติดอันดับ 7 และเชลล์ (Shell) จากอังกฤษติดอันดับเก้า ส่วนอันดับหนึ่งได้แก่วอลมาร์ต (Walmart) จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีก

สำหรับบริษัทอาเซียนที่ติดฟอร์จูนโกลบอล 500 ประจำปี 2566 ประกอบด้วย

-บริษัททราฟิกูรา กรุ๊ป (Trafigura Group) สิงคโปร์ อันดับ 12 ภาคค้าส่ง รายได้ 3.185 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไทย อันดับ 110 ภาคพลังงาน รายได้ 9.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทปิโตรนาส (Petronas) มาเลเซีย อันดับ 139 ภาคพลังงาน รายได้ 8.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทเปอร์ตามิน่า (Pertamina) อินโดนีเซีย อันดับ 141 ภาคพลังงาน รายได้ 8.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

-บริษัทวิลมาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (Wilmar International) สิงคโปร์ อันดับ 174 ภาคอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ รายได้ 7.34 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ กำไร 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

‘บิ๊กตู่’ ปลื้ม!! ‘กรุงเทพ’ ครองอันดับ 1 ปี 2023 เมืองที่ ‘นทท.ต่างชาติ’ มาเยือนมากที่สุดในโลก

(3 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นอันดับ 1 ในปี 2023 จากเว็บไซต์ travelness มีชาวต่างชาติเดินทางมาทั้งสิ้น 22.78 ล้านคน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเผยนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 66 - 24 ก.ค. 66 สร้างรายได้รวม 1,125,072.88 ล้านบาท เฉพาะช่วง 24 - 30 กรกฎาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวจำนวน 563,882 คน คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยเฉลี่ยวันละ 80,555 คน

รวมทั้งยังมีผลสำรวจของ The Pew Research Center ของสหรัฐอเมริกา เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เผยว่าอาหารไทย ได้รับการโหวตเป็นอาหารยอดฮิตอันดับ 3 อาหารเอเชียที่ขายดีในอเมริกา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 11 เป็นรองเพียงอาหารจีนและอาหารญี่ปุ่น

ทั้งนี้ เป็นไปตามแนวทางของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ในการส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวของไทยให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย พร้อมชูซอฟพาวเวอร์ ‘อาหารไทย’ ด้วยการท่องเที่ยวเชิงอาหารหรือ ‘Gastronomy Tourism’ ให้อยู่ในกระแสนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้รายงานความคืบหน้า การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ และ แผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) สู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง และให้ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนของภูมิภาคอาเซียนว่า กรมฯ ได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงแรมไทย เป็นต้น

เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและองค์กรปกครองท้องถิ่นในการบริหารจัดการเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย สอดคล้องมาตรฐานเมืองท่องเที่ยวของอาเซียน เช่น มาตรฐานโรงแรมสีเขียว (ASEAN Green Hotel Standard) มาตรฐานเมืองท่องเที่ยวสะอาด (ASEAN Clean Tourist City Standard) ซึ่งผู้ประกอบการโรงแรมในไทยให้ความสนใจ โดยปี 2566 นี้ มีผู้ประกอบการโรงแรมที่พักที่ผ่านเกณฑ์เบื้องต้นในการขอรับการตรวจประเมินมาตรฐานโรงแรมสีเขียวอาเซียน ถึง 27 แห่งจากทั่วประเทศ

"ประเทศไทยยังคงเป็นปลายทางการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวยังคงให้ความสนใจเดินทางมาท่องเที่ยวและพักผ่อน เชื่อว่าปี 2566 ทั้งปี การท่องเที่ยวไทยจะสามารถสร้างรายได้ราว 2.38 ล้านล้านบาท และมีสิทธิลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาไทยไม่น้อยกว่า 25 ล้านคนตามเป้าหมาย" น.ส.รัชดากล่าว

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 สุวรรณภูมิ เสร็จสมบูรณ์ คาดเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเดือนกันยายนนี้

เมื่อวานนี้ (2 ส.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ‘HFlight.net’ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความระบุว่า...

ภาพ SAT-1 ล่าสุดวันนี้📷รอเปิดใช้งาน กันยายนนี้‼️

ภาพอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ถ่ายล่าสุดวันนี้ (2 สิงหาคม 2566)🛫

เห็นได้ว่าตัวโครงสร้างอาคารภายนอก รวมถึงพื้นที่โดยรอบ (ทางขับ/taxiway และลานจอด/apron) นั้นดำเนินการแล้วเสร็จเกือบ 100% แล้ว✅ และมีการติดตั้งสะพานเทียบเครื่องบิน (งวงช้าง/aerobridge) แล้ว

ก่อนหน้านี้ทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ได้เคยเปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า จะมีการเปิดใช้งาน SAT-1 ในเดือนกันยายน 2566 หรือเดือนหน้านี้แล้ว (อ้างอิงจาก ไทยรัฐ วันที่ 10 มิถุนายน 2566)📰

‘Geely’ ผู้ผลิตรายใหญ่ในจีน เตรียมลงทุน 10,000 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ภายใต้แบรนด์ Radar

(2 ส.ค. 66) หลังการบ่าไหลเข้ามาปักหลักลงทุนของบิ๊กรถยนต์จีนและกลุ่มคลัสเตอร์กว่าแสนล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาไม่นาน จนส่งให้ไทยกลายเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดนั้นจีลี่กรุ๊ป ซึ่งเป็นอีกค่ายที่ถูกจับตาว่าจะขยับแผนลงทุนอย่างไรได้เคลื่อนไหวครั้งใหญ่

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ล่าสุดนั้น จีลี่กรุ๊ป (Geely Group) เตรียมเปิดแผนลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ณ นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก มีกำลังการผลิตต่อปีเบื้องต้น 100,000 คัน โดยรูปแบบการลงทุนจะสามารถสรุปรายละเอียดชัดเจนได้หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศไทยเสร็จสิ้น เพื่อรอความชัดเจนของนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยว่าจะเป็นไปในทิศทางใด

เบื้องต้นมีรายงานข่าวระบุว่า Geely เตรียมแผนรุกตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก และรถกระบะไฟฟ้า ภายใต้แบรนด์เรดาร์ (Radar)

“Geely Group มีแบรนด์ภายใต้การดูแลหลากหลายยี่ห้อ ดังนั้นการตัดสินใจอาจต้องใช้เวลาว่าจะเลือกรถรุ่นใดเข้าสู่ตลาดไทยเพื่อสามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวก็ต้องรองรับการส่งออกได้อีกหลายประเทศ”

โดย Geely เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน 5 ราย ที่ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) และคณะ ได้จัดหารือ เมื่อเดือน เม.ย.66 ที่ผ่านมา ส่วนอีก 4 รายที่เหลือคือ บีวายดี (BYD) ฉางอัน (Changan) จีเอซี มอเตอร์ส (JAC Motors) และเจียงหลิง มอเตอร์ส (Jiangling Motors) ซึ่งเกือบทุกรายได้ประกาศแผนลงทุนไปก่อนหน้านี้ จากความมั่นใจในนโยบายของไทยในการพัฒนาฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค และห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าแบบบูรณาการ

ปี 2022 ที่ผ่านมา Geely Group ประกาศยอดขายประจำปีรวมกว่า 2.3 ล้านคัน เติบโตโดยรวมกว่า 5 % มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 675,000 คัน คิดเป็น 29% ของยอดขายรวม

ในส่วนแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย (Roadmap 30@30) มีเป้าหมายในปี 2573 จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ล่าสุดรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันมาตรการสนับสนุนรถอีวีเพิ่มเติม หรือมาตรการ EV 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3 ที่จะหมดอายุภายในสิ้นปี 2566 นี้  เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่ความเป็นฮับอีวีในภูมิภาค

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.ชุดรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ระบุว่ามาตรการส่งเสริม EV 3.5 เบื้องต้น คือ

1. เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 50,000-100,000 บาทต่อคัน
2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0%
3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2567-2578

พร้อมทั้งเปิดทางให้มีการนำเข้ารถ EV จากยุโรปให้สามารถ นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วน BEV  ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท แบตเตอรี่ 10kWh ขึ้นไป ต้องผลิตรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์กระบะ ประเภท BEV รุ่นใดก็ได้ เพื่อชดเชยการนำเข้า ส่วนรถราคา 2 - 7 ล้านบาท แบตเตอรี่ 30kWh ขึ้นไป ต้องผลิตชดเชยรุ่นใดรุ่นหนึ่งที่นำเข้า กรณีผู้ขอรับสิทธินำเข้ารถรุ่นที่ได้รับสิทธิและผลิตชดเชยรุ่นเดียวกัน แม้จะมีเลขซีรีส์ต่างกัน ถือว่าได้ผลิตชดเชยรถรุ่นเดียวกับที่ได้รับสิทธิ

‘รัฐบาล’ หนุน ‘ความร่วมมือไทย-กัมพูชา’ พัฒนารถไฟขนส่งสินค้า  เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายโลจิสติกส์ ให้เชื่อมถึงประเทศเพื่อนบ้าน

(2 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งเสริมช่องทางการขนส่งสินค้าทั้งในและระหว่างประเทศ โดยชื่นชมความร่วมมือของพันธมิตรทุกฝ่ายจากไทย - กัมพูชา พัฒนาการขนส่งสินค้าทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มให้เป็นอีกทางเลือกในการขนส่งสินค้าให้ผู้ประกอบการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา และถือเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยในอนาคต

น.ส.รัชดา กล่าวว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งไทยและกัมพูชา ได้ร่วมกันเปิดตัวรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ ไทย - กัมพูชา ณ สถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ไปแล้ว ซึ่งเป็นขบวนรถไฟขนส่งสินค้าระบบรางที่จะเดินทางจากประเทศไทยไปยังประเทศกัมพูชา ในเส้นทาง มาบตาพุด - คลองลึก - ปอยเปต - พนมเปญ โดยการรถไฟแห่งประเทศ (รฟท.) ได้ร่วมผลักดันการบริการขนส่งทางราง หนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของนายกรัฐมนตรี ให้สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางระบบรางในประเทศไทย เข้ากับการขนส่งสินค้าทางระบบรางของภูมิภาคอาเซียน โดยเริ่มจากการขยายขีดความสามารถการขนส่งสินค้าทางระบบรางของ ไทย - กัมพูชา ผ่านการเปิดขบวนรถไฟขนส่งสินค้ารอบปฐมฤกษ์ในครั้งนี้ ซึ่งรถไฟขบวนปฐมฤกษ์ ไทย - กัมพูชา เกิดจากความร่วมมือที่ดีของพันธมิตรทุกฝ่าย ร่วมกันผลักดันการขนส่งสินค้าทางระบบรางให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น ราคาลดลง เกิดการพัฒนาการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางระหว่างกัน เชื่อมโยงถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน

น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงโครงสร้าง ในและระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ มีประสิทธิภาพ ราคาไม่แพง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า และเพิ่มทางเลือกในการขนส่ง โดยเชื่อมั่นว่าด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา และความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับกัมพูชาในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมระบบขนส่งโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทันสมัยขึ้น เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ

‘EA’ ผนึก ‘EVE-Sunwoda’ ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตแบตเตอรี่  ร่วมศึกษา-จัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในไทย

เมื่อไม่นานมานี้ นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พลังงานบริสุทธิ์ (EA) เปิดเผยว่า EA ได้ลงนาม MoU กับ EVE Energy Co.,Ltd. (EVE) และ MoU กับ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ซึ่งเป็น 2 พันธมิตรผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของจีน ที่สนใจการขยายตลาดแบตเตอรี่ในไทย เพื่อร่วมศึกษาและจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่กำลังผลิตเริ่มต้นที่ 6 GWh ในประเทศไทย โดยคาดว่าผลจากการศึกษานี้จะนำไปสู่การจัดตั้งโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขั้นสูงด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เพื่อยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (Energy Storage System : ESS) เพื่อรองรับความต้องการของแบตเตอรี่ในกลุ่มบริษัท EA รวมถึงตลาดแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน โดยเฉพาะเพื่อป้อนเข้าโรงงานผลิตและประกอบยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้มีการลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทยอย่างต่อเนื่อง

เมื่อผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จ EA จะนำเสนอ บริษัท Amita Technology (Thailand) Co.,Ltd เข้าร่วมการลงทุนกับพันธมิตรจีน เพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ แบบ Prismatic Battery Cell โดยใช้เทคโนโลยีกระบวนการผลิตระบบอัตโนมัติขั้นสูงและมีข้อได้เปรียบทางด้านต้นทุนวัตถุดิบต่ำจากพันธมิตรจีนที่มี Raw material supply chain ครบวงจร มีการวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่สูง ซึ่งรวมถึงการต่อยอดการผลิตแบตเตอรี่แพ็ค เพื่อให้มีต้นทุนรวมในการผลิตแบตเตอรี่ใกล้เคียงกับต้นทุนแบตเตอรี่ที่ผลิตจากจีน โรงงานนี้จะผลิตเซลล์แบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทยและรองรับความต้องการใช้แบตเตอรี่ทั้งในประเทศไทยและอาเซียน

โดยการวิจัยและพัฒนาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายลูกค้าผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า (ESS) โดยระยะเริ่มต้นดำเนินกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในประเทศไทย เพื่อตอบรับสนับสนุนนโยบาย 30@30 ทั้งนี้ นโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้การดำเนินโครงการนี้มีความเป็นไปได้ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ร่วมทุน ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการเร่งรัดและผลักดันนโยบายนี้ออกมา เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion และก้าวไปเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียนในอนาคต

โดย EVE Energy Co.,Ltd. (EVE) ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ Lithium-ion อันดับ 3 ของจีน มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ไม่น้อยกว่า 360 GWh โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยนำมาใช้อย่างแพร่หลายในด้าน Internet of Things (IoT), ยานยนต์ไฟฟ้า และด้าน Energy Storage System (ESS) ซึ่งให้บริการแก่แบรนด์รถยนต์ชั้นนำระดับโลก เช่น BMW, Daimler, Hyundai และ Jaguar Land Rover รากฐานการขายทั่วโลกของบริษัทได้ขยายไปยังสหรัฐอเมริกา เยอรมนี มาเลเซีย และภูมิภาคอื่นๆ นอกจากนี้ บริษัทยังเป็น 1 ใน 10 บริษัทชั้นนำของโลกในด้านการให้บริการติดตั้งแบตเตอรี่

ขณะที่ Sunwoda Mobility Energy Technology Co.,Ltd. (Sunwoda) ถือเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ Lithium-ion สำหรับ EV อันดับ 5 ในประเทศจีนและอันดับ 9 ในตลาดโลก มีกำลังการผลิตแบตเตอรี่ต่อปีมากกว่า 100 GWh และจะเพิ่มเป็น 138 GWh ภายในปี 2568 ตลอดจนมีแผนในการเข้าสู่ตลาดยุโรปและการสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในฮังการี โดย Sunwoda ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ชาร์จเร็ว, แบตเตอรี่ PHEV/HEV ตลอดจนแบตเตอรี่ Super-Fast Charge SFC480 นอกจากนี้ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 1 ของ Benchmark ในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ ได้แก่ Dongfeng Maxus, Geely, Li Auto, Huawei, XPeng, Renault และ Nissan เป็นต้น

'คาร์บอนเครดิต' ความหวังใหม่ แก้วิกฤต 'ฝุ่นควัน-โลกร้อน' แนวโน้มเริ่มมา หลังภาคเอกชนพากันคิกออฟ ลุ้นรัฐเข็น

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ประจำวันที่ 30 ก.ค.66 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของวิกฤตโลกร้อน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตโลกร้อน (Global Warming หรือ Climate Change) ที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกและประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน ได้พิสูจน์แล้วว่ามิอาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว และกลไกภาครัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้ ดังคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีฝุ่น PM 2.5 เมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม โลกได้คิดค้นมาตรการที่อิงกลไกตลาด (Market based Solutions) ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามกำหนด เช่น การใช้ตลาดคาร์บอนเครดิต (Cap and Trade) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการปรับส่วนต่างที่พรมแดนของสหภาพยุโรป (Border Adjustment Mechanism) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดกำหนดราคาและปริมาณคาร์บอน แต่ล้วนก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะราคาหรือภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาสินค้าและพลังงานสูงขึ้น จึงต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมือง

ทว่าเป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนได้ริเริ่มงานด้านนี้ในหลายเรื่อง ตลาดเงินตลาดทุนได้นำแนวปฏิบัติการลงทุนแบบ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้ ขณะที่ภาคการธนาคารได้มุ่งเน้นทำธุรกิจธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) เพื่อให้มีการจัดสรรเงินทุนมากขึ้นไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"แนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต คือ การเกิดธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่มุ่งจัดเก็บ/กำจัดคาร์บอน เพื่อนำมาขายต่อแก่ธุรกิจอื่นที่ปล่อยคาร์บอนเกินโควตา หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจจัดเก็บคาร์บอนน่าจะมีอนาคตที่สดใสและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต่อไป" อาจารย์พงษ์ภาณุกล่าว

‘นายก อบจ.เชียงใหม่’ ชี้ ฝุ่นพิษส่งผลเสียหลายด้าน หวังภาคีเครือข่าย ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ ช่วยแก้ปัญหายั่งยืน

อย่างที่ทราบกันดีว่า ภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วยจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม และบรรยากาศน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงหน้าแล้ง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายนของทุกปี ได้เกิดฝุ่นควันปกคลุม ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างมาก

นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ (อบจ.เชียงใหม่) ยอมรับว่า ปัญหาฝุ่นควัน หรือ PM2.5 เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมาก ทั้งในด้านสุขภาพของประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลกระทบด้านการท่องเที่ยว ซึ่งสร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดเชียงใหม่ ปีละหลายหมื่นล้านบาท 

ทั้งนี้ ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ร่วมมือกับทั้งภาคราชการและเอกชนในพื้นที่ เช่น แจกหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นพิษ และสนับสนุนอุปกรณ์ดับไฟป่า เป็นต้น โดยทาง อบจ.เชียงใหม่ ได้สนับสนุนงบประมาณราว 12 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม นายก อบจ. เชียงใหม่ มองว่า การแก้ปัญหาที่ผ่านมา เป็นการแก้ไขที่ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะฉะนั้น ในอนาคตจะต้องเข้าไปแก้ที่ต้นเหตุ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาไฟป่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการกระทําของมนุษย์ ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น แต่มีหลายจังหวัดรวมถึงต่างประเทศเพื่อนบ้านด้วย

“ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ในจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ต้องได้รับความร่วมมือในระดับนานาชาติ และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ได้เกิดภาคีเครือข่ายเชียงใหม่ขจัดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นความความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน จัดทำโครงการ ‘หยุดเผา เรารับซื้อ’ เพื่อลดการเผาตอซังข้าวโพด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วยลดการเผาป่าได้อย่างยั่งยืน”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top