Friday, 10 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘HACKaTHAILAND 2023’ เสริมทักษะดิจิทัลคนไทย ผ่านกิจกรรมดิจิทัลแบบไร้ขีดจำกัด

(25 ส.ค. 66) ดีอีเอส - ดีป้า ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตรเปิดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ ร่วมยกระดับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไปเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือโลกอนาคตที่ดิจิทัลเข้ามามีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตรอบด้าน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกิจกรรมจัดแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลที่หลากหลาย เวทีเสวนาและการบรรยายพิเศษ รวมถึงการประชันไอเดียด้านดิจิทัลบนเวที Pitching กับ 5 โซนไฮไลต์ ณ Plenary Hall 1-4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งเป้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมตลอด 2 วันไม่น้อยกว่า 40,000 คน สร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีเปิดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ โดยมีผู้แทนจากสถานทูต ผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และเครือข่ายเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึง นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานกรรมการกำกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, ผศ.ดร.ณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ‘ดีป้า’ พร้อมคณะผู้บริหารและพนักงานร่วมในพิธีโดยพร้อมเพรียง

นายชัยวุฒิ เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัล ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศผ่านการเสริมสร้างความรู้และทักษะด้านดิจิทัลที่จำเป็นแก่ประชาชนทุกช่วงวัยให้สามารถต่อยอดประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย พร้อมรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต

“ด้วยเหตุนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า จึงจัดมหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลสุดยิ่งใหญ่ในชื่อ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY ขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 สิงหาคม ณ Plenary Hall 1 – 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับความรู้และประสบการณ์ด้านดิจิทัลที่ทันสมัย พร้อมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่น่าสนใจ ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายและการดำเนินงานของกระทรวงที่มุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลประเทศในภาพรวม ผ่านแนวทางการทำงานตามแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 - 2570)” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ดีป้าและเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มาร่วมมอบประสบการณ์ ยกระดับความรู้และทักษะด้านดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนไทยทุกกลุ่มและทุกช่วงวัยตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ก่อนนำพาประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดยภายในงานมีการนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบ Edutainment เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์ด้านดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้จากเวทีเสวนาและการบรรยายพิเศษจากเหล่ากูรูในแวดวงรวมไปถึงการประชันไอเดียด้านดิจิทัลในหลากหลายสาขา ซึ่ง ‘HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY’ แบ่งเป็น 5 โซนไฮไลต์ ประกอบด้วย

1.) FUTURE ZONE : เตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลผ่าน Showcase เทคโนโลยีใหม่ของโลก และการสร้างประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) กับGENERATIVE AI STUDIO โดยการจำลองสตูดิโอที่รองรับทุกไอเดียการสร้างสรรค์ผลงานดิจิทัล

2.) COMMERCE ZONE : รวบรวมเทคโนโลยีเพื่อการซื้อ – ขายในโลกยุคใหม่ที่ครอบคลุมระบบนิเวศเพื่อการค้าพร้อมพบกับความสำเร็จจากการยกระดับตลาดสดสู่ตลาดยุคใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ลดต้นทุน และเพิ่มยอดขายอย่างยั่งยืน รวมถึง Showcase ตลาดแห่งโลกอนาคตที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ล้ำสมัยมาใช้ยกระดับการบริหารจัดการร้านค้า การเปิดตัวแพลตฟอร์มข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Platform) ด้าน E-commerce สัญชาติไทย เพื่อวิเคราะห์เทรนด์การค้าขายจาก Social Platform และ E-Commerce Platform รวมถึงการเนรมิตพื้นที่เป็น Live Studio เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับชมเบื้องหลังการขายของออนไลน์ จากบรรดาอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังใน 4 หมวดสินค้า คือ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ความงาม อาหาร และเทคโนโลยี

3.) TOURISM ZONE : เปิดประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวแห่งอนาคต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแบบเต็มขั้นผ่านกิจกรรม Digital Tourism Fair เชื่อมโยงทุกการเดินทางให้เป็นเรื่องง่าย ด้วยการออกแบบและวางแผนการเดินทางอย่างชาญฉลาด สะดวก สบาย ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์การท่องเที่ยว พร้อมพบกับ Showcase แพลตฟอร์มท่องเที่ยวระดับชาติ ThailandCONNEX เชื่อมต่อทุกโอกาสให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล

4.) CONTENT ZONE : พบกับโอกาสสำคัญของวงการเกมไทยกับกิจกรรม Demo Day ของโครงการ depa Game Accelerator Program Batch 3 ที่เหล่าคนทำเกม ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นจะมาประชันผลงาน เพื่อค้นหาสุดยอดเกมและนักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ พร้อมเปิดประสบการณ์ไปกับ ‘เกมไทย Showcase’ ที่ผู้ร่วมงานจะได้ลองเล่นเกมที่ได้รับการพัฒนาโดยฝีมือคนไทย และพื้นที่พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์ของคนในเครือข่าย และภาคอุตสาหกรรม

5.) WELL-BEING ZONE : พบกับ Showcase แพลตฟอร์มเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ(Health Link) พร้อมการเสวนาในหลากหลายหัวข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนด้วยเทคโนโลยี Big Data และการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ‘The International Conference on Big Data Analytics and Practices’ (IBDAP)

นอกจากนี้ HACKaTHAILAND 2023: DIGITAL INFINITY ยังมีเวที Pitching ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้แสดงศักยภาพทางความคิดในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น

- กลุ่ม DIGI-PRENEUR การเฟ้นหาสุดยอด DIGITAL SOLUTIONS เพื่อพลิกโฉมประเทศ ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท

- กลุ่ม FUTURE CAREER การแข่งขันด้าน DIGITAL SKILLS ต่อยอดอาชีพแห่งโลกอนาคตและยกระดับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวม 2 ล้านบาท

- กลุ่ม YOUTH การแข่งขัน HACKATHON by Digital Youth Network กับหัวข้อนวัตกรรมสร้างสรรค์โลกดิจิทัลใน5 หมวด ประกอบด้วย Startup, Program, Technology, Business และ Activity ชิงเงินรางวัลรวม 275,000 บาท

- กลุ่ม E-COMMERCE การแข่งขันของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ และดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่ ชิงเงินรางวัลรวม 280,000 บาท

- กลุ่ม DIGITAL CONTENT การประชันไอเดียของเหล่าคนทำเกม ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น เพื่อเฟ้นหา The Best Game of depa Game Accelerator Program Batch 3 พร้อมรับทุนสำหรับต่อยอดผลงานรวม 500,000 บาท

ภายในพิธีเปิดยังมีพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลระหว่าง ดีป้า และAustralian-Thai Chamber of Commerce, Malaysian Research Accelerator for Technology & Innovation (MRANTI) บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีคลาวด์ เอไอ มาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเปิดหลักสูตรเพื่อพัฒนากำลังคนดิจิทัลกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี(ประเทศไทย) จำกัด

พร้อมกันนี้ ยังมีการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนแนวคิดจากกูรูในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น นายจิติณัฐ อัษฎามงคล ประธาน ONE Championship ประเทศไทย, ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด, นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่จำกัด, นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัดและ นายคมสันต์ ลี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด ฯลฯ

“มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัล HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยที่จะได้สัมผัสประสบการณ์ด้านดิจิทัลสุดประทับใจแบบไร้ขีดจำกัด เรียนรู้ประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง ตลอดจนเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนากำลังคนและเพิ่มศักยภาพให้กับดิจิทัลสตาร์ทอัปไทย เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่สำคัญประชาชนจะมีภูมิคุ้มกันในการรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากโลกอนาคต โดย ดีป้า ประเมินว่า ตลอดระยะเวลา 2 วันของการจัดงานมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบ Online และ Onsite ไม่น้อยกว่า 40,000 คน สามารถสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 1,000 ล้านบาท” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดต่าง ๆ ของงาน HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY ได้ที่LINE OA: @depaThailand, Facebook Page : HACKaTHAILAND และ Website: www.hackathailand.com

‘รัฐบาล’ เผย ตัวเลข BOI พบ การลงทุนด้านอุตสาหกรรมฟื้นตัว ‘อิเล็กทรอนิกส์-อาหารแปรรูป-EV’ ปังสุด มูลค่าลงทุนกว่า 3 แสนลบ.

(25 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เรื่องการฟื้นตัวด้านอุตสาหกรรมในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 มีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท สะท้อนความสำเร็จมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะการกระตุ้นการลงทุนอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของรัฐบาล

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศมาจากจีน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองคือ กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยมีการพัฒนามากขึ้น ถือเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรถยนต์รายใหญ่ของโลก เนื่องจากมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจรจากการดำเนินการในอุตสาหกรรมนี้มาอย่างยาวนาน และจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ออกมาตรการให้เงินอุดหนุนการซื้อรถยนต์ EV เพื่อสร้างตลาดในประเทศ และจะก่อให้เกิดการขยายตัวของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องตามมา โดยเฉพาะการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มต่าง ๆ สำหรับ EV

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลัก ภายใต้แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ในการส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลดำเนินมาตรการสนับสนุนแบบครบวงจร ทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโต เท่าทันประเทศอื่นในภูมิภาค และมีศักยภาพตอบโจทย์การลงทุน ตามมาตรฐานสากล

‘ดร.เผ่าภูมิ’ ชี้!! ‘เงินดิจิทัล’ เข้าทันที ไม่ต้องลงทะเบียน  คาดใช้งานได้ช่วงครึ่งแรก 67 คาบเกี่ยวสงกรานต์พอดี

‘เผ่าภูมิ’ ชี้!! โครงการ ‘เงินดิจิตอล’ หรือ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องลงทะเบียน ผ่านแอปฯ ใดๆ เงินจะถูกโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติให้ผู้มีสิทธิ์ทุกคนทันที

โดย ดร.เผ่าภูมิ ได้เผยกับรายการ ‘เรื่องเล่าเช้านี้’ เมื่อวันที่ 24 ส.ค.66 ว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 จะเป็นคนละอันกับแอปฯ เป๋าตัง และคาดว่าจะเริ่มให้ประชาชนใช้งานได้ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า (ปี พ.ศ. 2567) หรือช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567

ดร.เผ่าภูมิ ระบุเพิ่มเติมว่า ทางเพื่อไทยจะพยายามดำเนินการให้ทันก่อนเดือนเมษายน 2567 ซึ่งจะคาบเกี่ยวกับช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี และประชาชนจะได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปจับจ่ายใช้ทันในช่วงนั้น

เมื่อถามถึงเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีใครได้บ้าง? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า ประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป รวมไปถึงกลุ่มผู้พิการ คนชรา ที่มีสวัสดิการอื่น ๆ ก็จะได้รับเต็มจำนวนโดยไม่หัก ประชาชนที่มีสิทธิ์รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ไม่ต้องลงทะเบียนผ่านแอปฯ รอเงินเข้าบัญชีอัตโนมัติอย่างเดียว พร้อมเตือนอย่าหลงกลมิจฉาชีพให้โหลดแอปฯ หรือกดลิงก์ต่าง ๆ

เมื่อถามถึงวิธีใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เมื่อได้เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะมีแอปฯ ที่ผูกกับบัตรประชาชนให้โหลด หรือจะใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวที่จะออกให้โดยหน่วยงานรัฐ ส่วนกรณีผู้ที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถใช้บัตรประชาชนคู่กับ QR Code ส่วนตัวของเรา ซึ่งจะมีผูกในระบบอยู่แล้วโดยประชาชนไม่ต้องดำเนินการใด ๆ ขณะเดียวกันในส่วนกรณีที่มีการส่งข้อความให้กดลิงก์ต่าง ๆ หรือโหลดแอปฯ เกี่ยวกับเงินดิจิทัล 10,000 ในตอนนี้ ขอย้ำว่า เป็นมิจฉาชีพทั้งหมด เพราะตอนนี้ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

เมื่อถามว่า ทำไมต้องเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้คนไทย? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อสู้กับความยากจนในสภาวะรายได้ไม่พอรายจ่าย เป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

เมื่อถามว่า ทำไมต้องกำหนดรัศมี 4 กม. จากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน? ดร.เผ่าภูมิ กล่าวว่า เพื่อกระจายการจับจ่ายที่กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่น ส่วนการใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน จะใช้ทีเดียวหรือทยอยใช้ก็ได้ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน

สำหรับนโยบาย เงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เป็นรากฐานสำคัญเพื่อต่อยอดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยคาดว่าเศรษฐกิจในการดูแลของรัฐบาลเพื่อไทย จะโตปีละ 5% ส่งผลให้ปี 2570 ค่าแรงขึ้นต่ำขึ้นเป็น 600 บาทต่อวัน, เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มที่ 25,000 ต่อเดือน ซึ่งตรงนี้เป็นเป้าหมายต่อไปของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

อีอีซี โชว์หมุดหมายศูนย์กลางลงทุนโลก  ตั้งเป้า 5 ปี ปั๊มเงินกว่า 2.2 ล้านล้าน

(24 ส.ค. 66) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ EEC ยึดหลักสอดรับกับบริบทโลกของอุตสาหกรรมในอนาคต เพื่อดึงดูดและรองรับการลงทุนจากทั่วโลกในพื้นที่เศรษฐกิจนี้ ก้าวแรกที่สำคัญของเป้าหมาย 5 ปีต่อจากนี้ คือ เริ่มจากพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ ที่ดินผ่านการจัดสรรให้เกิดการลงทุนเฉพาะแต่ละกลุ่มธุรกิจ การพัฒนาทักษะแรงงานขั้นสูง รวมทั้งการปรับปรุงกลไกทางกฎหมายและระเบียบให้ง่ายแก่การเข้ามาลงทุน ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทาง อีอีซี ได้ตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศให้ได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ภายในช่วงปี 2565-2570

โดยขณะนี้ได้เดินหน้าผลักดันการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยแผนงานการสร้างการรับรู้นโยบายในวงกว้าง ด้วยการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดโรดโชว์ต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผู้ขายในพื้นที่ ได้เชื่อมต่อกับผู้ซื้อทั้งจากไทยและต่างชาติ โดยการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว จะดำเนินการในเชิงบูรณาการกับภาคีเครือข่ายธุรกิจชั้นนำของไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่มาของการจัดงาน EEC Cluster Fair 2023 ครั้งแรก! ในพื้นที่ อีอีซี มีเป้าหมายที่สำคัญ คือ พัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ให้กลายเป็นหมุดหมายใหม่แห่งการลงทุนของประเทศ

‘Kazakh Thai Alliance’ เชิญร่วมทริปธุรกิจสุด Exclusive ปักหมุด คาซัคสถาน ในงาน ‘Food Business Matching’

‘Kazakh Thai Alliance’ โดยการสนับสนุนของสถานทูตคาซัคสถาน ประจำประเทศไทย เดินหน้าจัดงาน ‘2023 / Food Business Matching Trip & MARKET SURWEY’ โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 - 21 กันยายน 2566 นี้ ที่เมืองอัลมาตี้ ประเทศคาซัคสถาน

โดยในงานทางสถานทูตคาซัคสถาน หอการค้า และสมาคมนักธุรกิจอัลมาตี้ได้เชิญ Importer, Distributor และ Buyer ของ Modern Trade / Local Modern Trade รายใหญ่ ๆ ในคาซัคสถาน มาเพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ผลิตสินค้าและผู้ส่งออกจากประเทศไทย

รวมทั้งจะมีกิจกรรม Business Networking หลังงาน พร้อมด้วยการประชุมร่วมกับ Kazakh Invest รวมถึงการเยี่ยมชม Almaty Industrial Zone ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและมีความสะดวกสบายในการดำเนินธุรกิจ และมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่ถูกมาก

ในโอกาสนี้ Kazakh Thai Alliance ได้จัดทริปสุดพิเศษให้กับทุกท่านที่สนใจไปสำรวจห้างและซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกแบรนด์ชั้นนำ รวมถึงร้านแบบท้องถิ่นของคาซัคสถาน เพื่อให้ทุกท่านได้เข้าใจบริบทของตลาดมากยิ่งขึ้น ซึ่งในทริปนี้ ผู้ประกอบการทุกท่านสามารถนำสินค้าตัวอย่างไปเจรจาธุรกิจได้เลยทันที 

สำหรับท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับงาน พร้อมทั้งงบประมาณการเดินทางได้ที่ www.thailandfestival.co

อนึ่ง ‘คาซัคสถาน’ นับเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง และมีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุด ถือเป็นโอกาสใหม่ของผู้ประกอบการไทย ที่กำลังมองหาตลาดใหม่ ประตูการค้าที่สามารถเชื่อมธุรกิจระหว่างทวีปเอเชียและทวีปยุโรป

โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-คาซัคสถาน มีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 98.42% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 61.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 74.21 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาซัคสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชที่แยกตัวมาจากอดีตสหภาพโซเวียต และยังเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียกลาง ซึ่งประกอบด้วย คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และอุซเบกิสถาน

ในขณะที่ภาพรวมการค้าระหว่างไทย-ภูมิภาคเอเชียกลาง มีมูลค่า 207.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 41.67% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 99.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการนำเข้า 107.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายคาซัคสถาน ได้แก่ อาหาร ทะเลกระป๋องและแปรรูป วัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร และอุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น

‘EA’ ผนึกเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ‘วิทยาศาสตร์พลเมือง’ เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความยั่งยืนให้ป่าชายเลน

เมื่อไม่นานมานี้ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ผู้นำนวัตกรรมพลังงานสะอาด เดินหน้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตามกลยุทธ์ EA Go Green Clean Energy ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง (Citizen Science) มุ่งมั่นส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ณ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติ กองทัพบก (บางปู) จัดขึ้นโดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคเอกชน และพันธมิตร

นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการ โครงการกลยุทธ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ เป็นผู้แทน EA ร่วมผลักดันกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง เรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายจากภาคธุรกิจจำนวน 6 หน่วยงาน ประชาชน และสื่อมวลชนกว่า 150 คน เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์พลเมือง โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานดังกล่าว โดยภายในงานได้มีกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจและตระหนักในคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนี้

- Exploring Nature by Technology สร้างการเรียนรู้ระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (Thailand Biodiversity Information Facility: TH-BIF) และ TH-BIF Journey แอปพลิเคชัน เพื่อการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ

- Anyone can be Citizen Science เรียนรู้ความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

- Nature Walk, Nature Talk ให้ความรู้เบื้องต้นผ่านการสังเกต ศึกษา และสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ควบคู่ไปกับการทดลองใช้งาน แอปพลิเคชัน TH-BIF Journey 

- Art and Science เชื่อมโยงศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การบันทึกธรรมชาติ ผ่านภาพวาด และเทคนิคการถ่ายภาพ

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยและสุขภาพของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ร่วมกันส่งผลให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง ดังนั้นเราจึงมุ่งมั่นที่จะจัดการและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมฯ ตลอดจนรวมการพิจารณาและประเมินความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับกระบวนการทำงานของเรา รวมถึงได้มีการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์และเส้นทางการบินของนกแต่ละชนิดในพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม และได้สำรวจความหลากหลายของพืชพรรณโดยใช้รูปแบบทุติยภูมิ ภาพถ่ายดาวเทียมและการสำรวจในพื้นที่ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนการยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวและเกิดความยั่งยืน

‘ITEL’ เซ็นสัญญารับงานโครงการ Course Online ภายใต้ ‘กสทช.’ มูลค่ากว่า 297 ล้านบาท

(21 ส.ค. 66) ​บมจ.อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม หรือ ITEL คว้างานโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) หรือ โครงการ Course Online มูลค่า 297,208,550 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

​นายณัฐนัย อนันตรัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ITEL ผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่สังคมดิจิทัล ในภารกิจบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม กลุ่มที่ 5 (ภาคใต้) จาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มูลค่าทั้งสิ้น 297,208,550.00 บาท (สองร้อยเก้าสิบเจ็ดล้านสองแสนแปดพันห้าร้อยห้าสิบบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าใช้จ่ายทั้งปวงไว้ด้วยแล้ว โดยสัญญาเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2568

​“บริษัทเล็งเห็นถึงความสำคัญของการต่อยอดจากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีที่บริษัทได้ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยบริษัทฯ ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม ที่ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกันในพื้นที่ห่างไกลในด้านทักษะความรู้การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพให้กับประชาชน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับสังคมที่ยั่งยืน” นายณัฐนัย กล่าว

​อย่างไรก็ตาม งานใหม่ที่ ITEL ได้รับความไว้วางใจนั้น จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 เติบโตได้ต่อเนื่อง และผลักดันให้ผลประกอบการโดยรวม เติบโตได้ 20-30% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังทำให้งานในมือ (Backlog) เพิ่มมากขึ้น

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

กรมทรัพย์สินฯ ขึ้นทะเบียน GI ‘ปลาทูแม่กลอง’  เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของสมุทรสงคราม

กรมทรัพย์สินฯ เดินหน้าประกาศขึ้นทะเบียน GI ต่อเนื่อง ล่าสุดดัน ปลาทูแม่กลอง สินค้ายอดนิยมสมุทรสงครามที่ชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศขนเงินข้าชุมชนกว่า 12 ล้านบาท

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ภูมิศาสตร์ หรือ GI เพื่อยกระดับสินค้าในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน พร้อมกับการส่งเสริมการควบคุมคุณภาพสินค้าเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

ล่าสุดได้ประกาศขึ้นทะเบียน ปลาทูแม่กลอง เป็นสินค้า GI ลำดับที่ 4 ของจังหวัดสมุทรสงคราม ต่อจากส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม สิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม และพริกบางช้าง

ทั้งนี้ ‘ปลาทูแม่กลอง’ เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน มีแหล่งอาศัยในบริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนใน มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเลบริเวณปากน้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเล ลักษณะดินเกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำและตะกอนน้ำทะเล ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยธาตุอาหาร ทำให้ปลาทูแม่กลองมีลำตัวกว้าง แบน สั้น ผิวหนังขาวเงินมันวาว มีแถบสีน้ำเงินแกมเขียวหรือแถบสีเหลือง ครีบหางสีเหลืองทอง มีเอกลักษณ์โดดเด่นทั้งด้านรสชาติและรูปร่าง

โดยเนื้อปลาทูที่นึ่งแล้วจะมีความละเอียดนุ่ม เนื้อแน่น หอม และมันมาก เมื่อนำมาบรรจุลงในเข่งจะมีลักษณะหน้างอ คอหัก ด้วยลักษณะเช่นนี้ จึงทำให้ปลาทูแม่กลองเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายจนมีคำกล่าวที่ว่า ‘ปลาทูแม่กลองของแท้ จะต้องหน้างอ คอหัก’ บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากปลาทูบริเวณอื่นไปโดยปริยาย และหลายหน่วยงานได้นำเอกลักษณ์นี้มาใช้ในการจัดกิจกรรมงานประจำปี ‘เทศกาลกินปลาทูที่แม่กลอง’ ซึ่งจัดมาอย่างยาวนานถึง 24 ปี นับเป็นงานเทศกาลที่มีชื่อเสียง และได้รับการประชาสัมพันธ์จากภาคส่วนต่างๆ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนไปกว่า 12 ล้านบาท 

‘รองโฆษกรัฐบาล’ เผย 7 เดือนแรก ‘ต่างชาติ’ ลงทุนไทย พุ่ง 17%  เม็ดเงินลงทุน 58,950 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น 9% 

(20 ส.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าการลงทุนในประเทศไทย ช่วง 7 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 377 ราย เพิ่มขึ้น 17% เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 122 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 255 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 58,950 ล้านบาท ลดลง 20% เกิดการจ้างงานคนไทย 3,594 คน เพิ่มขึ้น 9% โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 84 ราย เงินลงทุน 19,893 ล้านบาท สหรัฐฯ 67 ราย เงินลงทุน 3,044 ล้านบาท สิงคโปร์ 61 ราย เงินลงทุน 12,925 ล้านบาท จีน 28 ราย เงินลงทุน 11,663 ล้านบาท และเยอรมนี 16 ราย เงินลงทุน 1,298 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในช่วง 7 เดือน ปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) นางสาวรัชดา กล่าวว่า มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 73 ราย คิดเป็น 19% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมด มูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC 12,348 ล้านบาท คิดเป็น 21% ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 5,379 ล้านบาท จีน 12 ราย ลงทุน 893 ล้านบาท เกาหลีใต้ 5 ราย ลงทุน 287 ล้านบาท และประเทศอื่น ๆ อีก 25 ราย ลงทุน 5,789 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน เช่น บริการให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือและอุปกรณ์ บริการรับจ้างผลิตเครื่องจักร และชิ้นส่วนของเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม บริการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และบริการออกแบบแม่พิมพ์โลหะสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

น.ส.รัชดา กล่าวว่า เฉพาะเดือน ก.ค. 2566 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 51 ราย เป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 20 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 31 ราย เม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 10,023 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 372 คน ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐฯ 

น.ส.รัชดา กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เน้นส่งเสริมสนับสนุนการลงทุน พร้อมอำนวยความสะดวกในทุก ๆ ด้านให้นักลงทุนชาวต่างชาติ ทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น สนใจลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ผลจากการขับเคลื่อนนโยบาย นอกจากจะมีรายได้เข้าสู่ประเทศไทยแล้ว คนไทยยังได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมแอปพลิเคชันเพื่อความปลอดภัยและการจัดการข้อมูลส่วนตัว องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการพัฒนาเว็บไซต์ และ Data Analysis เพื่อการพัฒนาเว็บไซต์และวิเคราะห์ข้อมูลในการทำการตลาด และองค์ความรู้เกี่ยวกับการทดสอบสมรรถนะของรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการวิจัยและพัฒนา


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top