Tuesday, 21 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘กรมพัฒน์ฯ’ ปลื้ม!! งาน SMART Local ของดีพื้นถิ่น ดันซอฟต์พาวเวอร์ผ้าไทยขายได้กว่า 10 ล้านบาท

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าโชว์ผลจัดกิจกรรม SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ประสบความสำเร็จ สามารถดัน Soft Power ผ้าไทย เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ สร้างยอดขายกว่า 10 ล้านบาท

(11 ก.ย.66) นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงผลการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ ว่า กรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในงาน OTOP ศิลปาชีพ ประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี เมื่อเดือนส.ค.2566 ที่ผ่านมา ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยจัด 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่…

1. SMART Local Events จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local ในความส่งเสริมของกระทรวงพาณิชย์ กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย และกลุ่มสมุนไพร รวมจำนวน 30 ราย เพื่อส่งเสริมตลาดและสร้างโอกาสทางการค้าแก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เข้าถึงตลาดกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่เพิ่มขึ้น

2. SMART Local Display โดยจัดแสดงผลงานผลิตภัณฑ์ชุมชน SMART Local กลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ผ่านการพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสร้าง Soft Power ภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยมิติใหม่ จากภูมิปัญญาสมัยใหม่ ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น อย่างมีสไตล์ สามารถสวมใส่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกโอกาส

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยสามารถผลักดัน Soft Power ผ้าไทย ภาพลักษณ์มุมมองใหม่ ที่มีความทันสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่า ให้เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ หวังปลุกกระแสนิยมแฟชันผ้าไทยในกลุ่มผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หันมาเลือกสวมใส่ผ้าไทยเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าการค้ากว่า 10 ล้านบาท ซึ่งได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้เพิ่มขึ้น” นายทศพล กล่าว 

ในปี 2566 กรมได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ภายใต้แนวคิด ‘SMART Local ของเด่นพื้นที่ ของดีพื้นถิ่น’ เน้นชูอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในแต่ท้องถิ่นที่แตกต่างมาสร้างจุดขาย ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งด้านการตลาด ในการวิเคราะห์ตลาด เลือกตลาดให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ และเทคนิคการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทั้งในรูปแบบการจัดแสดง และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนในการรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่มีการแข่งขันสูงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลาได้อย่างมีศักยภาพ

โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการค้า สร้างช่องทางตลาดใหม่ สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าชุมชน สู่การเป็นธุรกิจชุมชนยุคใหม่ที่มีความเข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้

บสย. ผนึก SET เปิดโครงการ SME Platform  เชื่อม Start up - SMEs พร้อมเข้าตลาดทุน

บสย.- SET ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ผนึก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ SME Platform พัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เชื่อมโยง Start up - SMEs ด้วยการบ่มเพาะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เพื่อการเป็นผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและเตรียมความพร้อมการเติบโตไปสู่โอกาสการระดมทุนในตลาดทุนต่อไป

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)  และ นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘โครงการ SME Platform เพื่อพัฒนาและสนับสนุนวิสาหกิจเริ่มต้นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม’ เพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการทั้งภาคการเงิน การผลิต เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดย 2 หน่วยงานจะร่วมมือกันเชื่อมโยงบทบาทการทำงานของตลาดเงินและตลาดทุน ในการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่ม Start up และ SMEs ผ่านโครงการ SME Platform  รองรับการเติบโตของภาคธุรกิจเพื่อเตรียมสร้างความพร้อมสู่การระดมทุนในตลาดทุน

บสย. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะร่วมกันบ่มเพาะเติมความรู้ด้านการเงินการลงทุนให้แก่ Start up และ SMEs เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่แหล่งทุนและการระดมทุน ผ่านหลักสูตร e-Learning  และ Scaling Up Platform หลักสูตรการอบรมเชิงลึก การจัดระบบงาน จับคู่ธุรกิจและให้คำปรึกษาธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตผ่านช่องทางตลาดหลักทรัพย์ Live Exchange และผ่าน บสย. Business School ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center

นายสิทธิกร กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ บสย. จะให้ความช่วยเหลือ SMEs และ Start up ใน 3 มิติ คือ 

1. มิติการเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินผ่านกลไกผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อภายใต้โครงการ SMEs เข้มแข็ง (PGS10)

2. ด้านการบ่มเพาะผู้ประกอบการให้มีความรู้ทางการเงิน  (Financial Literacy) ผ่าน บสย. F.A. Center และ Live Platform ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย SET

และ 3.มิติการบริหารหนี้ ช่วย SMEs แก้หนี้อย่างยั่งยืน โดยการค้ำประกันสินเชื่อเป็นกลไกที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ให้กับ SMEs ซึ่งมีมูลค่าต่อ GDP 30-35% และรักษาการจ้างงานกว่า 70%

ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จะเปิดโอกาสให้ขยายความช่วยเหลือโดยใช้ศักยภาพและกลไกของทั้ง 2 หน่วยงานเชื่อมโยงช่วยเหลือให้ SMEs ได้เข้าถึงแหล่งทุน จากทั้งตลาดเงิน และการระดมทุนผ่านตลาดทุน โดย บสย. มีฐานลูกค้าค้ำประกันสินเชื่อ SMEs มากกว่า 8 แสนราย ซึ่งมี SMEs ที่มีโอกาสขยายกิจการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ประมาณร้อยละ 30 หรือราว 240,000 ราย โดยภายใต้โครงการนี้ คาดว่าจะช่วยเชื่อมโยงให้ SMEs ได้รวมตัวกันและ scale up ขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เพื่อให้บริษัทเหล่านี้พัฒนาและเติบโตไปเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ใน SET ต่อไป

‘การบินไทย’ เพิ่มเที่ยวบินจีน รับฟรีวีซ่า  พร้อมเปิดบินในปท.เข้าภูเก็ตไวขึ้น 1 ต.ค.นี้

(11 ก.ย. 66) นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าการบินไทยในฐานะสายการบินแห่งชาติยินดีและมีความพร้อมในการร่วมขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง (Demand) ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนและอินเดียที่ได้รับการคาดหมายว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่า Free Visa ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) ที่กำลังจะมาถึง

การบินไทยจึงได้ปรับแผนเริ่มทำการบินในเส้นทางกรุงเทพ-ภูเก็ต ไป-กลับ เร็วขึ้นกว่ากำหนดเดิม ด้วยเครื่องบินลำตัวกว้าง ซึ่งมีความจุ 292 ที่นั่ง ให้บริการในชั้นธุรกิจ 30 ที่นั่ง และชั้นประหยัด 262 ที่นั่ง ด้วยความถี่ 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

โดยมีรายละเอียดเที่ยวบินดังนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต : เที่ยวบินที่ TG201 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 08.00 น. ถึงภูเก็ตเวลา 09.25 น.
- เส้นทางภูเก็ต-กรุงเทพฯ : เที่ยวบินที่ TG202 ออกจากภูเก็ต เวลา 10.20 น. ถึงกรุงเทพฯ เวลา 11.50 น.

โดยเมื่อรวมกับเที่ยวบินของสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งทำการบินในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ไป-กลับ ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320 สัปดาห์ละ 49 เที่ยวบิน รวมเป็นจำนวน 56 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

อีกทั้ง บริษัทฯ ยังมีแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีนจาก 25 เที่ยวบิน เป็น 35 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้…

- เส้นทางกรุงเทพฯ-ปักกิ่ง ไป-กลับ ทำการบิน 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เซี่ยงไฮ้ ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-กวางโจว ไป-กลับ ทำการบิน 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2566 - 30 มีนาคม 2567
- เส้นทางกรุงเทพฯ-คุนหมิง ไป-กลับ ทำการบิน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566
- เส้นทางกรุงเทพฯ-เฉิงตู ไป-กลับ ทำการบิน 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 30 พฤศจิกายน 2566 เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ 7 เที่ยวบิน ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566

ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดตารางการบิน พร้อมทั้งสำรองที่นั่งและออกบัตรโดยสารได้ที่เว็บไซต์ thaiairways.com หรือ สำนักงานขายการบินไทยและตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ หรือ THAI Contact Center 0-2356-1111 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

‘เอ็กโก กรุ๊ป’ ขยายการลงทุน-สร้างโอกาสเติบโตในสหรัฐฯ  เข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ 

(11 ก.ย. 66) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เดินหน้าขยายการลงทุนในสหรัฐอเมริกาต่อเนื่อง ด้วยการเข้าถือหุ้น 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ (Compass Portfolio) กำลังผลิตรวม 1,304 เมกะวัตต์ การซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วจะช่วยสร้างโอกาสการเติบโตให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะสามารถรับรู้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นได้ทันที

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า เอ็กโก คัมแพซ ทู แอลแอลซี (EGCO Compass II, LLC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่เอ็กโกถือหุ้นทั้งหมดและจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัทในเครือโลตัส อินฟราสตรักเชอร์ พาร์ทเนอร์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 เพื่อเข้าถือหุ้นสัดส่วน 50% ใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ ซึ่งเป็นพอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้า พลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 3 แห่ง ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยมาร์คัส ฮุก เอ็นเนอร์ยี่ แอลพี (มาร์คัส ฮุก) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่นอกเมืองฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย ในขณะที่มิลฟอร์ด พาวเวอร์ แอลแอลซี (มิลฟอร์ด) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 205 เมกะวัตต์ และไดตัน พาวเวอร์ (ไดตัน) เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาด 187 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์

โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ใกล้กับศูนย์กลางของเมืองใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงมาก ได้แก่ ฟิลาเดลเฟีย บอสตัน และพรอวิเดนซ์ โดยพื้นที่เหล่านี้มีข้อจำกัดอย่างมากในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ และมีนโยบายมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสริมความมั่นคงให้แก่ระบบ ‘พอร์ตโฟลิโอคัมแพซ’ ได้รับประโยชน์จากการที่โรงไฟฟ้ามาร์คัส ฮุก มีสัญญาระยะยาวในการขายกำลังผลิตส่วนใหญ่ให้แก่ลองไอส์แลนด์ พาวเวอร์ ออธอริที (The Long Island Power Authority - LIPA) และขายกำลังผลิตส่วนที่เหลือในตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าพีเจเอ็ม (PJM) ในขณะที่โรงไฟฟ้ามิลฟอร์ดและโรงไฟฟ้าไดตันขายกำลังผลิตให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้านิวอิงแลนด์ (ISO-NE) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ยังขายไฟฟ้าและให้บริการเสริมความมั่นคงในระบบไฟฟ้าให้แก่ตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่ที่แต่ละโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ คือ PJM และ ISO-NE

“การลงทุนใน ‘พอร์ตโฟลิโอโรงไฟฟ้าคัมแพซ’ จะสร้างการเติบโตเพิ่มขึ้นให้แก่เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ของบริษัทที่มุ่งเน้นการเข้าซื้อหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่มีคุณภาพสูง ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนและกำไรได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งช่วยสนับสนุนเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานของโลกไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคต” นายเทพรัตน์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นจะสำเร็จหลังจากดำเนินการตามเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปิดรายการซื้อขายแล้วเสร็จ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ วิเคราะห์!! ยานยนต์ไทยใต้เงายุค EV ทางสองแพร่ง ที่ไม่ควรส่งเสริมแค่สิทธิด้านภาษี

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES เมื่อวันที่ 10 ก.ย.66 ในประเด็นอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์โลก และทางแยกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ภายใต้ทิศทางใดเพื่อผลักไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ของเอเชียได้อย่างแท้จริง ดังนี้...

อนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมและตลาดยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines) ซึ่งครองความเป็นเจ้าถนนมาตลอดระยะเวลากว่า 130 ปี กำลังเจอความท้าทายอย่างหนัก นับจาก Benz ได้จดสิทธิบัตร Motorwagen ครั้งแรกเมื่อปี 1880 และพาอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในยุโรป, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น และไทย

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ดั้งเดิมกำลังเจอกับ Technological Disruption ครั้งใหญ่ที่สุด ใหญ่ถึงขนาดที่จะเปลี่ยนแปลงวงการแบบถอนรากถอนโคน เมื่อ Tesla ของ Elon Musk ได้นำรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles - EV) ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2010 จนผ่านมาถึงวันนี้ตลาดรถยนต์ EV ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันมียอดผลิต/จำหน่ายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของรถยนต์นั่งทั้งหมดและน่าจะเติบโตต่อไปอีกมาก เพราะความสนใจของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญใน Hardware และความเป็นเลิศทางยนตรกรรม มาเป็น Software และประสบการณ์ทางดิจิทัลผ่านยานพาหนะมากขึ้น

แน่นอนว่า ประเทศไทยซึ่งประสบความสําเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์มากว่า 50 ปี และมีอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่มาก มีสัดส่วนใน GDP กว่า 10% พิจารณาได้จากการจ้างงานเกือบ 1 ล้านคน และถึงขั้นได้รับสมญานามว่าเป็น Detroit of Asia เมื่อปี 2017 ไทยผลิตรถยนต์ได้ 2 ล้านคัน ขายในประเทศ 1 ล้านคัน และส่งออกอีก 1 ล้านคัน ถือเป็นประเทศที่ผลิตรถยนต์ส่งออกมากเป็นอันดับ 13 ของโลก

แต่วันนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้เดินมาถึงทางแยกสำคัญ หากยังยึดโยงกับผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น ซึ่งมีการเคลื่อนตัวค่อนข้างช้าไปสู่การผลิตรถยนต์ EV เมื่อเปรียบเทียบกับแนวโน้มในประเทศอื่น โดยเฉพาะจีนที่ได้กลายเป็นผู้นำในรถยนต์ EV และในการผลิตแบตเตอรี

ทิศทางการส่งออกรถยนต์ (สันดาป) ไปตลาดสำคัญๆ ของไทยก็เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อตลาดที่เคยเป็นฐานหลักของไทยเริ่มหันเหไปมองหารถยนต์ EV มากขึ้น

ครั้นจะพลิกบทบาทมาเป็นผู้เล่นในตลาด EV ก็น่าห่วงกับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ซึ่งยังไม่สามารถเทียบได้กับจีนที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้แต่อินโดนีเซียที่มีสินแร่สำคัญสำหรับผลิตแบตเตอรีและมีตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า

ดังนั้น จากนาทีนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทบทวนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนที่เคยมุ่งเน้นแต่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยี ก่อนที่เราจะไม่มีอุตสาหกรรมยานยนต์เหลือให้พัฒนา

‘พงษ์ภาณุ’ สะท้อนภาพ ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่น่าห่วง หวังเห็นแสงสว่าง หลังภาคีเครือข่ายรัฐเอกชนร่วมกู้วิกฤต PM2.5 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยว นับเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นเพราะรายได้ราว 80% มาจากกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ขณะที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วงที่บูมสุดขีดมีมากถึง 10 ล้านคน ในปี 2562 ก่อนที่จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19

แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นหลังโควิด-19 คลี่คลายเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่ทว่า กลับมาได้รับผลกระทบจากไฟป่า และฝุ่น PM2.5 ซ้ำเติมเข้าไปอีก ทำให้สถานการณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ไม่ฟื้นตัวตามเป้าหมายที่คาดการณ์กันไว้

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ฮิโรชิมะ ประเทศญี่ปุ่น อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง ได้ให้มุมมองต่อผลกระทบจาก PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ว่า จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจของเชียงใหม่ พบว่ารายได้ประมาณ 80% มาจากภาคการท่องเที่ยวใหญ่มา สะท้อนให้เห็นว่าการท่องเที่ยวมีความสำคัญมาก เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่กระทบต่อการท่องเที่ยว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของเชียงใหม่อย่างปฏิเสธไม่ได้

ทั้งนี้ จากการติดตามตัวเลขสถิติด้านการท่องเที่ยวอย่างละเอียด จะเริ่มเห็นสัญญาณที่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเชียงใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะดีขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศ เพราะคนจีนชอบมาเที่ยวเชียงใหม่อยู่แล้ว แต่ทว่า หลังจากเกิดวิกฤต PM2.5 กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตัวเลขนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก และคงเป็นเรื่องยากที่จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงใหม่ถึงกว่า 10 ล้านคน

ในขณะเดียวกัน จากกรณีที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตัดสินให้ประชาชนชนะคดีกรณีรัฐละเลยในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม แม้จะเป็นข่าวดีที่ชาวเชียงใหม่ชนะคดี แต่เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า กลไกภาครัฐในการดูแลแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมล้มเหลว ไม่สามารถคุ้มครองชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม

“การที่ประชาชนชนะคดีภาครัฐในเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นกรณีประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าจะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ในอดีตเมื่อครั้งที่ผมเป็นอธิบดีกรมสรรพสามิต เคยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีจากการปล่อยคาร์บอน โดยเฉพาะในเรื่องการเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมที่เก็บตามจำนวนซีซี แต่จะเปลี่ยนไปใช้รูปแบบเก็บภาษีตามการปล่อยคาร์บอน ซึ่งสมัยนั้นทำการศึกษาเยอะแยะไปหมด แต่ก็ไม่สำเร็จ”

นายพงษ์ภาณุ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตประชาชน คงต้องพึ่งกลไกของภาคเอกชนเข้ามาช่วยลด คาร์บอน ลดฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะแนวคิดการเปิดตลาดคาร์บอนเครดิตของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะช่วยให้การแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างมูลค่าจากอากาศที่บริษัท ประกอบกับโครงการหยุดเผาเรารับซื้อ ที่เริ่มเป็นรูปร่างจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน เชื่อว่าจะเป็นทางออกในการคลี่คลายวิกฤตที่เกิดขึ้นและจะทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่กลับมาเหมือนเมื่อปี 2562 ได้อีกครั้ง

‘ชัยวุฒิ’ ร่วมยินดีครบรอบ 5 ปี ‘ทีทรี เทคโนโลยี’ ยกเป็นองค์กรที่มีบทบาทร่วมขับเคลื่อนเทคโนโลยีของไทย

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์  รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานเปิดงานในพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ 5 ปี ของบริษัท ทีทรี เทคโนโลยี จำกัด พร้อมกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมงานครบรอบ 5 ปีของบริษัทที ทรี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนระบบเทคโนโลยีของประเทศไทย ผมขอแสดงความยินดีกับบริษัทที ทรี เทคโนโลยี ในความสำเร็จครั้งนี้ด้วย

ในช่วงระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา บริษัท ที ทรี ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งนวัตกรรม การเชื่อมต่อระหว่างความมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศ และการแสวงหาความรู้อย่างไม่หยุดยั้ง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการส่งเสริมเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองและการเชื่อมโยงโครงข่ายให้ถึงกันในทุกมิติ 

‘บริษัท ที ทรี เทคโนโลยี’ มีส่วนร่วมในการพัฒนาเทคโนโลยีอันล้ำสมัยในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ฟิกส์บรอดแบนด์ (FBB), โมบาย บรอดแบนด์ (MBB), Internet of things (IoT), และโซลูชั่นระดับองค์กร เทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานสำคัญซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน  และยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทางธุรกิจกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้นควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค เพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในโลกยุคดิจิทัลนี้ และสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

‘เศรษฐา’ ส่งสัญญาณ!! ผ่าตัดใหญ่ตลาดหลักทรัพย์  ยกระดับการกำกับดูแลผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 66 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเกิดแรงสั่นสะเทือนครั้งใหญ่ โดยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีเป้าหมายปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อยกระดับการกำกับดูแลประชาชนผู้ลงทุนให้มีความเข้มข้นขึ้น ทั้งการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในตลาดหุ้น

การปรับโครงสร้างองค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันมีจำนวน 11 คน เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มาจากการสรรหาและการคัดเลือกของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 1 คน คือนายภากร ปิตธวัชชัย

อีก 6 คนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และอีก 4 คนเป็นตัวแทนจากบริษัทสมาชิกหรือตัวแทนจากบริษัทโบรกเกอร์ โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ
.
โครงสร้างใหม่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับเปลี่ยนให้มีความหลากหลายขึ้น โดยมีตัวแทนกระจายในแต่ละกลุ่มอาชีพ รวมทั้งตัวแทนของประชาชนผู้ลงทุน ส่วนตัวแทนของโบรกเกอร์อาจลดจำนวนเหลือเพียง 1 คน เพราะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ กระจุกตัวในกลุ่มคนแวดวงตลาดทุนและอดีตข้าราชการระดับสูงจากกระทรวงการคลังหรืออดีตผู้บริหารแบงก์ชาติ

กรรมการตลาดหลักทรัพย์ที่ขาดความหลากหลาย และเป็นกลุ่มผลประโยชน์ในตลาดทุน นำไปสู่ข้อจำกัดแนวความคิดในการแก้ปัญหาตลาดหุ้น และการขาดความกระฉับกระเฉงในมาตรการปกป้องประชาชนผู้ลงทุน ซึ่งเห็นได้ชัดจากความเสียหายกรณีการแต่งบัญชี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘STARK’ ซึ่งถือเป็นความหละหลวม บกพร่องร้ายแรงของตลาดหลักทรัพย์ฯ

นอกจากนั้น เมื่อพฤติกรรมโกงใน STARK ถูกเปิดโปง ตลาดหลักทรัพย์ฯ กลับดำเนินการแก้ปัญหาที่ล่าช้า ทั้งที่มีอำนาจในการกำกับ ควบคุมดูแล และจัดการแก้ปัญหาได้ในทันที เพื่อระงับยับยั้งความเสียหายไม่ให้ลุกลามในวงกว้าง

อีกเป้าหมายการจัดโครงสร้างการบริหารงานภายในที่นายเศรษฐา ให้ความสำคัญคือ การรื้อฟื้นบทบาทของฝ่ายกำกับ ซึ่งปัจจุบันต้องอยู่ภายใต้ฝ่ายการตลาด โดยจะยกระดับบทบาทการทำงานของฝ่ายกำกับให้มีความเข้มข้น

แยกเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระและมีความคล่องตัวในการทำงาน มุ่งการตรวจสอบบริษัทจดทะเบียน ตั้งแต่เริ่มต้นสัญญาณการเกิดปัญหา และมีฝ่ายที่จะตรวจสอบงบการเงิน รวมทั้งธุรกรรมต่างๆ ของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะ โดยเมื่อพบปัญหาที่อาจสร้างความเสียหายให้ผู้ลงทุนจะเข้าแก้ไขในทันทีตั้งแต่ต้นน้ำ

ไม่ปล่อยให้ปัญหาลุกลาม จนสร้างความเสียหายให้นักลงทุน และกลายเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดในบริษัทจดทะเบียนหลายกรณี

ตลาดหลักทรัพย์มีสภาพเหมือนองค์กรในแดนสนธยา เพราะสาธารณชนไม่มีโอกาสรับรู้เงินเดือนของกรรมการและผู้จัดการ ไม่รู้อัตราโบนัสพนักงานในแต่ละปี และไม่รู้การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยในการดูแลกรรมการทั้ง 11 คน

รายได้ของกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมแล้วปีละประมาณ 30 ล้านบาท และกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯเดินทางดูงานต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเดินทางสายการบินระดับเฟิร์สคลาส พักโรงแรมหรู กินอาหารชั้นดีราคาแพง

และแม้แต่การจัดเลี้ยงงานประชุมกรรมการ ยังสั่งไวน์ราคาแพงๆมาจิบกันเพลิน ทั้งที่การทำงานของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์มักสายเกินไปเสมอ โดยปัญหาเกิดขึ้นลุกลามบานปลายแล้ว ประชาชนผู้ลงทุนได้รับความเสียหายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์จึงลงไปแก้ไข

รวมทั้งการใช้มาตรการกำกับหุ้นที่มีพฤติกรรมการสร้างราคา ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังนักลงทุนรายใหญ่ขายหุ้นทำกำไรออกไปก่อนแล้ว และมีกรณีล่าสุดหุ้นในตลาด MAI ที่ราคาถูกลากขึ้นอย่างร้อนแรง ก่อนที่จะถูกถล่มขายจนราคาดิ่งลงหนัก ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่แห่เข้าไปเก็งกำไรขาดทุนป่นปี้

การรื้อโครงสร้างตลาดหลักทรัพย์ครั้งใหญ่ กำลังคืบคลานเข้ามา และเมื่อการทำงานของรัฐบาลนายเศรษฐา เข้าที่เข้าทาง การเปลี่ยนแปลงในคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์อาจเกิดขึ้นทันที

แน่นอนว่า กรรมการตลาดหลักทรัพย์ทั้ง 11 คน จะต้องมีใครไปใครอยู่ ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง

เป้าหมายในการปกป้องประชาชนผู้ลงทุนในตลาดหุ้นไม่ให้เสียหายจากการซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเกิดขึ้นซ้ำซากตลอดเกือบ 50 ปีถูกกำหนดไว้แล้ว

และการรื้อโครงสร้างคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการปกป้องนักลงทุนไม่ให้ถูกปล้นจากแก๊งมิจฉาชีพในตลาดหุ้นของรัฐบาลเศรษฐา

‘กองทุนดีอี’ ติดตามโครงการจัดหาระบบ 5G Smart City ร่วมผลักดันพื้นที่ EEC ก้าวสู่เมืองอัจฉริยะน่าอยู่

กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลในการดำเนินงาน โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนฯ ในปีประกาศ พ.ศ. 2564 ตามมาตรา 26 (1) ภายใต้กรอบนโยบาย Digital Government and Infrastructure

วันที่ 5 กันยายน 2566 กองบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ผู้แทนจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณาโครงการ ผู้อำนวยการกองทุนฯ และเจ้าหน้ากลุ่มติดตามและประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่' ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้ขอทุนสนับสนุนในการดำเนินโครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์5G Smart City สำหรับพื้นที่ EEC เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการเมือง และ ส่งเสริมความเป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในพื้นที่ EEC ได้แก่ การสร้างเครือข่าย Internet of Things และ CCTV พร้อม ทั้งต่อยอดการพัฒนาเครือข่าย 5G Mobile และสร้างให้มีการใช้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการสร้างความพร้อมในการพัฒนา Service Platforms ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจ ใหม่ในด้านเมืองอัจฉริยะ และสร้างงานสร้างรายได้ให้กับเมือง ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่นักพัฒนาเมืองจะสามารถ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแก้ปัญหา และต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้

โดยผลการดำเนินงานในโครงการ ประกอบด้วย การติดตั้งเสา Smart Pole จำนวน 90 ต้นในเขตเมือง ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวในเทศบาลเมืองพัทยา เพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้าน IoT และระบบ CCTV ผ่านเครือข่ายสัญญาณ 5G ในการส่งเสริมการบริหารจัดการเมืองและความปลอดภัยของประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ Intelligent Operation Center (IOC) ตั้งอยู่ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา ในการบริหารจัดการและดูแลระบบในการให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมในการเริ่มใช้งานจริง เพื่อยกระดับการพัฒนาเมืองพัทยาให้เป็น Smart City เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง

‘ดร.คณิศ’ ฟันธง!! คิกออฟ ‘แลนด์บริดจ์’ ช่วยบูม ‘เศรษฐกิจไทย’ ดัน GDP เพิ่ม

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อดีตคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและ อดีตคณะกรรมการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็น ‘อภิมหาโปรเจกต์แลนด์บริดจ์’ 1 ล้านล้านบาท ที่จะเปลี่ยนประเทศไทย และเส้นทางการเดินเรือโลก

โดยก่อนที่จะไปถึงเรื่องแลนด์บริดจ์ ดร.คณิศ ได้เปิดประเด็นถึงความสำคัญของ SEC หรือ Southern Economic Corridor เพื่อเชื่อมต่อไปถึงอภิมหาโปรเจกต์ดังกล่าว ไว้ดังนี้…

SEC (Southern Economic Corridor) คือการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ในพื้นที่ ชุมพร, ระนอง, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช ซึ่งจะดำเนินการพัฒนาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ เหตุผลหนึ่งต้องทำเพราะ หากเราลองพิจารณาบริบทการค้าขาย โดยดูจากเศรษฐกิจรอบๆ ภูมิภาคอาเซียนแล้ว เราจะพบเห็นการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมามากมาย เช่น กลุ่ม บริกส์ (BRICS) ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, สาธารณรัฐประชาชนจีน และแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังภูมิภาคแปซิฟิก รวมถึงเคลื่อนย้ายไปเชื่อมต่อไปยังตะวันออกกลางและยุโรปได้เพิ่มมากขึ้น ผ่านโครงการ ‘หนึ่งเข็มขัดหนึ่งเส้นทาง จีนเชื่อมโลก’ (Belt and Road Initiative) เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน โดยรถไฟซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นี่คือตัวอย่าง

เช่นเดียวกันประเทศไทยเอง ก็สามารถเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป หรืออินเดียได้ โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณเรือคับคั่ง โดยมาพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ด้วยการคิกออฟโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) ชุมพร, ระนอง ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางการค้าโลกได้

ย้อนกลับมาต่อคำถามที่ว่า แล้วทำไมต้องทำ SEC นั่นก็เพราะเขตพิเศษในปัจจุบัน จะช่วยทำให้ท้องถิ่นได้เติมศักยภาพ และยกระดับทางเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพสังคมของคนในพื้นที่ได้มากขึ้น จนกลายเป็นGrowth Center ช่วยให้ประเทศก้าวได้เร็ว ไม่เจริญกระจุกตัว ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน รางรถไฟการขนส่ง ทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ทำเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมาย สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างการลงทุนให้ประเทศ และก็ทำเมืองใหม่เชื่อมโยงทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ในองค์รวม ไม่ใช่การทำเขตพิเศษเพื่อส่งออกเหมือนในอดีต

อย่างไรก็ตาม SEC ซึ่งจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ไปได้ถึงสถานภาพแห่งการเป็น Growth Center ได้นั้น ต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงโลกได้ เช่น เชื่อมโยงแปซิฟิก กับมหาสมุทรอินเดีย นั่นจึงต้องมีการยกโครงการแลนด์บริดจ์ ขึ้นมาพูดคุย เพื่อเชื่อมโยง 2 ฝั่งทะเลไว้ด้วยกัน

โดยชุมพรจะมีท่าเรือใหญ่ เช่นเดียวกันกับทางฝั่งระนองก็จะต้องมีท่าเรือใหญ่ ของที่ส่งจากญี่ปุ่นหรือจีน ก็มาเข้าท่าเรือที่ชุมพร แล้วขนผ่านถนน รถไฟ แลนด์บริดจ์หรือสะพานบก ข้ามสะพานฝั่งทะเลหนึ่ง มาอีกทะเลหนึ่ง

ข้อดีก็คือว่า เรือที่มาจากญี่ปุ่นจะขนสินค้าไปยุโรป มาขึ้นท่าเรือที่ชุมพร เรือเค้ากลับได้เลยไม่ต้องวิ่งไปปานามา จนถึงยุโรปและวิ่งกลับมา เรือฝั่งระนองก็วิ่งมารับของสินค้าและไปยุโรปได้เลย ซึ่งสามารถลดเวลาเดินทางไปได้ถึง 4 วัน จากเดิม 7-9 วัน ไม่ต้องข้ามช่องแคบมะละกา

ทว่า ในปัจจุบันช่องแคบมะลาจะหนาแน่นไปด้วยกระบวนการขนส่งสินค้าไปอินเดีย ยุโรป เพราะแต่เดิมมี ช่องเดินเรือแค่ 1.ช่องแคบมะละกา 2.ทางรถไฟจากจีนไปยุโรป แต่ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ของไทยสำเร็จ ประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งของโลกและที่สำคัญเราควบคุมมันได้ 

ในปัจจุบันนี้โครงการแลนด์บริดจ์ มีการเลือกพื้นที่ทำท่าเรือน้ำลึกแล้ว ที่อ่าวอ่าง จังหวัดระนอง และแหลมริ่ว ที่ชุมพร ซึ่งกำลังทำประชาพิจารณ์ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้มีการขนส่งระหว่าง 2 ฝั่งสูงสุด 20 ล้าน TEU (Twenty foot Equivalent Unit คือ ตู้สินค้าที่มีขนาด 20 ฟุต) ถ้าเปรียบเทียบความใหญ่ว่าใหญ่ขนาดไหน แหลมฉบังวันนี้ขนส่งตู้กันเพียง 8 ล้าน TEU  ขยายเต็มที่ได้เพียง 15 ล้าน TEU

ส่วนระยะทางในการทำแลนด์บริดจ์ อยู่ที่ประมาณ 89 กิโลเมตร มีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟขนส่ง และการขนส่งทางท่อ ซึ่งจะครบถ้วนมาก เงินลงทุนประมาณไว้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งผมคิดว่าเราไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เพราะเราทดลองใน EEC แล้ว เอกชนไทยมีความสามารถในการลงทุนอย่างมาก และแน่นอนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน มอเตอร์เวย์ รถไฟ ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์อยู่แล้ว เพียงแต่สิ่งที่เราตระหนักเพิ่ม คือ ต้องมีการฝึกอบรมสร้างงานให้ชัดเจน เพราะจะมีอุตสาหกรรมเป้าหมายมาลงอีกมาก ส่วนการพัฒนาพื้นที่คงต้องทำในหลายมุม โดยสิ่งแรกที่ต้องทำคือ สิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรายได้หลักจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ก็คือ การท่องเที่ยว ต้องดูแลทั้งหมดที่กล่าวมาแบบควบคู่กันไป

โดยสรุปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน หรือ SEC จะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการขยายตัวไม่ต่ำ 5% เนื่องจากเราได้พิสูจน์แล้วจากพื้นที่ EEC ที่มี GDP ในพื้นที่ได้ใกล้เคียง 4- 5% ซึ่งจริงๆ แล้วเรามีโอกาสในการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยใช้ขอนแก่นเป็นศูนย์เกษตรเพื่อการพัฒนา ส่วนการท่องเที่ยวในภาคใต้ สามารถสร้างความเชื่อมโยงให้แต่ละพื้นที่ เช่น ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง, สตูล ซึ่งสามารถรวมกันเพื่อเป็นการท่องเที่ยวอันดามัน เป็นต้น

ทิศทางของอภิมหาโปรเจกต์เหล่านี้ ล้วนสามารถผลักดัน GDP ผ่านศักยภาพผ่านจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ได้แน่นอน และถ้าเกิดขึ้นพร้อมเพรียง ก็จะยิ่งพาเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้แบบพร้อมกันทั้งประเทศ...


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top