Tuesday, 21 May 2024
ECONBIZ NEWS

‘พิมพ์ภัทรา’ จัดให้!! ชงครม. เคาะ 8 พันล้าน ‘จ่ายอ้อยสด-ดึงเงินซื้อรถตัด’ แก้ขาดแรงงาน

(8 ก.ย.66) น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, นายนรุณ สุขสมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประชุมร่วมกับตัวแทนสมาคมเกษตรกรชาวไร่อ้อย 38 แห่งจากทั่วประเทศ ประมาณ 70 คน ถึงแนวทางการแก้ปัญหาอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบ โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนความชัดเจนนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม หลังเปลี่ยนรัฐบาลเกี่ยวกับเงินสนับสนุนการตัดอ้อยสด เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จำนวน 120 บาทต่อตัน และแนวทางการแก้ปัญหาภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำตาล

โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีพื้นที่เกษตรกรทำไร่อ้อย อาทิ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ, นายยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมรับฟังด้วย

ด้าน นายปารเมศ โพธารากุล ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย ตัวแทนเกษตรกรชาวไร่อ้อย กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 จากการเผาไร่อ้อย ทั้งที่จากข้อมูลระบุว่า ฝุ่นขนาดเล็กที่เกิดจากอ้อยไฟไหม้มีอยู่เพียงแค่ไม่ถึง 10% ของฝุ่นที่เกิดขึ้น โดยเกษตรกรชาวไร่อ้อยยืนยันจะช่วยลดปัญหา PM 2.5 ด้วยการเข้าร่วมพันธสัญญาตามนโยบายภาครัฐในการตัดอ้อยสดที่มีต้นทุนสูง และรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจำนวน 120 บาทต่อตัน ซึ่งได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว กระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลเดิมสู่รัฐบาลใหม่ เงินสนับสนุนดังกล่าวถูกชะลอออกไปจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับเงินดังกล่าว สร้างความเดือดร้อนกับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งประเทศที่ได้ลงทุนจ้างการตัดอ้อยสดไปแล้ว

“ขณะนี้กำลังจะถึงฤดูการหีบอ้อยใหม่ ประกอบกับภัยแล้งในอนาคต อาจจะทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร เพราะเกษตรกรต้องเตรียมพร้อมรับมือ ต้องใช้เงินทุน เรื่องเครื่องจักร หรือแรงงาน จึงอยากขอความอนุเคราะห์จากกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนเงินตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันของฤดูกาลที่ผ่านมาให้ถึงมือเกษตรกรภายในเดือนตุลาคม รวมทั้งขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจ่ายเงินสนับสนุนในรอบปีใหม่ด้วย” นายปารเมศกล่าว

ทั้งนี้ น.ส.พิมพ์ภัทรา กล่าวภายหลังรับฟังชาวไร่ว่า ปัญหาเรื่องอ้อย เป็นปัญหาสำคัญที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอดทั้งในรัฐบาล และในสภาผู้แทนราษฎร สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายเงินล่าช้า เป็นเพราะติดช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจึงทำให้เกิดล่าช้า โดยอยากชี้แจงว่าเงินสนับสนุน 120 บาทต่อตัน คือการลงทุนของรัฐ รัฐจึงอยากเห็นว่าการตัดอ้อยสดมากขึ้นจริง จนการเผาอ้อยลงได้ จึงอยากจะให้เกษตรกรสื่อสารออกมาว่าการที่รัฐสนับสนุนนั้น ทำให้ลดการเผาได้ตามเป้าหมายที่ชัดเจน หากทำได้เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการสนับสนุนต่อไป สำหรับเงินสนับสนุนของรอบปีที่ผ่านมานโยบาย จะต้องใช้งบประมาณราว 8,000 ล้านบาท ต้องขอวงเงินจากรัฐบาลใหม่ และหากได้อนุมัติจะพิจารณาการใช้เงินให้คุ้มค่า อาทิ แบ่งเงินครึ่งหนึ่งซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่ชาวไร่กังวล โดยงบประมาณดังกล่าวไม่ผูกพันกับงบประมาณใหม่ ปี 2567

“เบื้องต้นได้ปรึกษากับ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แล้ว เพื่อหาแนวทางในการใช้กรอบวงเงิน ก่อนที่จะนำเข้าหารือ กับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ อาจไม่ทันเดือนตุลาคม เนื่องจากมีความล่าช้าของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่จะพยายามเร่งแก้ปัญหา เพราะเข้าใจถึงความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ดังนั้นอยากให้ชาวไร่อ้อยทราบว่าทุกฝ่ายไม่ได้เพิกเฉย กำลังร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ บางช่วงเวลาอาจติดกรอบระยะเวลาที่มีอุปสรรค แต่ขอให้มั่นใจในรัฐบาลและข้าราชการ กระทรวงอุตสาหกรรมที่ตั้งใจทำงานเพื่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยอย่างจริงใจ” น.ส.พิมพ์ภัทรากล่าว

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า หลังชาวไร่รับฟังคำชี้แจงของ น.ส.พิมพ์ภัทรา ต่างแสดงความพอใจพร้อมกล่าวว่า มีความชัดเจน หลังรอคอยคำตอบมานาน และมั่นใจว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ ก่อนเดินทางกลับไป

‘EA’ ลงนามสินเชื่อ SLL กับ ‘EXIM BANK’ มูลค่า 500 ลบ. ผลักดันนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีธุรกิจพลังงานสะอาด

เมื่อวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่านมา นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ลงนามการสนับสนุนทางการเงินภายใต้ วงเงินกู้ระยะยาวลักษณะ Sustainability Linked Loan (SLL) มูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ณ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทย สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ได้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกํากับดูแลที่ดี (Environmental, Social, Governance : ESG) ครอบคลุมธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านพลังงานสะอาด ได้แก่ ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และ ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่ง EA ได้จดทะเบียนอยู่ในรายชื่อ Thailand Sustainability Investment (THIS) 5 ปีติดต่อกัน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่สำคัญ มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ มีการประเมินและบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเข้าข่ายที่ EXIM bank จะสนับสนุนเงินกู้ระยะยาวในลักษณะ SLL ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความตระหนักและมีแผนการจัดการโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ Net Zero Emission

‘ปตท.’ จับมือ ‘RINA’ พัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนภาคเศรษฐกิจ สร้างโอกาสทางธุรกิจ รองรับการเติบโตของพลังงานแห่งอนาคต

เมื่อไม่นานนี้ ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ร่วมแสดงความยินดีในพิธีลงนามความร่วมมือพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในภาคเศรษฐกิจระหว่าง ปตท. โดย นายคมกฤช โล่ห์เพ็ชร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่วางแผน ปตท., นายยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. และ ‘RINA’ โดย Mr. Andrea Bombardi, Executive Vice President, Carbon Reduction Excellence, RINA Mr. Enrico Beccaceci, Senior Technical Manager, ASEAN Engineering Integration, RINA เพื่อความร่วมมือในโครงการนำร่องการทดสอบการผสมก๊าซไฮโดรเจนในก๊าซธรรมชาติ ซึ่งครอบคลุมถึงการประเมินประสิทธิภาพการใช้งาน รองรับการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงในอนาคต

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในการพัฒนาห้องปฏิบัติการของสถาบันนวัตกรรม ปตท. ให้เป็นศูนย์ปฏิบัติการการให้บริการเชิงเทคนิค ในการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงของประเทศไทยด้วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเติบโตในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต และเป้าหมาย Net Zero Emissions ของกลุ่ม ปตท. และประเทศไทยต่อไป


 

'เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า' กระหึ่มอาเซียน ปลื้ม หม้อแปลงไทย ลดพลังงาน - ลดคาร์บอน กระทรวงพลังงานอาเซียน ยอมรับ มอบรางวัลนวัตกรรม หม้อแปลงเทคโนโลยี ล้ำสมัย ASEAN Energy Awards (Energy Efficiency Building)

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด โดย คุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ นำหม้อแปลงไทย ลดพลังงาน - ลดคาร์บอน ได้รับรางวัลด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ระดับภูมิภาคอาเซียน ASEAN Energy Awards 2023 ณ Bali Nusa Dua Convention Center เกาะบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดย บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวด ประเภท Cutting Edge Technology (เทคโนโลยีล้ำสมัย) จากผลงาน "หม้อแปลง Low Carbon" ด้านการอนุรักษ์พลังงานและการประหยัดพลังงาน พร้อมกันนี้ได้รับเกียรติจาก คุณกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย คุณประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมแสดงความยินดี

ดร. ประเสริฐ กล่าว ความสำเสร็จเหล่านี้เกิดจากทุกหน่วยงาน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการลดใช้พลังงานและนี่ คือต้นทางแห่งความสำเร็จของหน่วยงานที่จะเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อน ผลักดัน และสานต่อนโยบานด้านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero)

คุณประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์  กล่าว ขอขอบพระคุณ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  โดยหม้อแปลงดังกล่าว ตอบโจทย์ การประหยัดพลังงาน ของภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอาคารสถานที่ ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 11.5% และลดคาร์บอนมากกว่า 100 ล้านตันคาร์บอน คืนทุนภายใน 2-5 ปี เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เพื่อผลัดดันการเปลี่ยนผ่านไป สู่พลังงานสะอาด ความยั่งยืนนี้จะส่งเสริมการเติบโตสีเขียวในภูมิภาค ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายการลดคาร์บอน โดยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางของแผนลดก๊าซคาร์บอนในปี 2575 จะเห็นภาพการใช้พลังงานทั้งด้านอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้น หม้อแปลงที่กล่าวข้างต้นจึงตอบโจทย์ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ และเอกชน ด้านการประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน (คืนทุน 2-5 ปี) 

หม้อแปลง Low Carbon เป็นหม้อแปลงบริหารระบบจัดการพลังงาน ที่บริหารจัดการสิ้นเปลืองให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรภาพกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน ทำให้โรงงานอุตสาหกรรม ,อาคาร สถานประกอบการ ลดค่าไฟฟ้า 5-20% (Energy Saving) ลดคาร์บอน 5-20% (Low Carbon) มากกว่า 100 ล้านตัน ลดมลพิษ (Low Emission) ทำให้อุปกรณ์อายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Long Life Equipment) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้กับ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เจ้าของอาคาร ตามนโยบายของรัฐบาล ในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน”

ส่องตัวแปร ‘เงินทุนจีนทิ้งประเทศ’ กับโอกาสครั้งใหญ่ของไทย สะท้อนผ่าน ‘บีโอไอ’ งานล้นมือ เพราะทุนจีนถือหมุดรอปักสยาม

เมื่อไม่นานนี้ คุณมัทนา มูลจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทสำนักกฎหมายดีทีแอลจำกัด บริษัทเอ็มแอนด์ทีโฮลดิ้งแอนดด์ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ ‘Money Chat Thailand’ ตอน เงินทุนจีนทิ้งประเทศ ครั้งใหญ่! ประจำวันที่ เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 2566 ดำเนินรายการโดย คุณเนาวรัตน์ เจริญประพิณ ผู้ผลิต Content เศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน การลงทุน เริ่มต้นจากแนวคิด ‘ลงทุนง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว’ ส่งเสริมให้ทุกคนรู้จักและเข้าใจการรับลงทุนในยุคดิจิทัล

โดยคุณมัทนา ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็น การแข่งขันกันทางภาคธุรกิจในประเทศจีน จนส่งผลให้มีคนจีนจำนวนมาก พยายามจะย้ายมาอยู่ที่ต่างประเทศ อีกทั้ง ทางรัฐบาลยังได้มีการปรามปราบเพื่อจัดระเบียบภายในประเทศ ให้เกิดความเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันอำนาจจากกลุ่มทุนใหญ่ ที่พยายามจะใช้อิทธิพลและอำนาจมืด เข้ามาแทรกแซงการบริหาร รวมถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ว่า…

“ความจริงแล้ว ประเทศจีนมีกฎหมายหนึ่งที่ประเทศไทยเองก็มีเช่นกัน แต่ของจีนจะค่อนข้างเข้มงวดกว่า คือ ‘การผูกขาดทางการค้า’ ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะจัดการในส่วนนี้ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ทุกอย่างจะถูกผลักเข้าไปสู่กลไกของธุรกิจ การแข่งขันก็มักเป็นการแข่งขันกันในเชิงธุรกิจ อย่างประเทศไทยเรามีรัฐวิสาหกิจในบางสายงาน ในบางองค์กร หรือในบางกระทรวง ทบวง กรม อาจจะมีรัฐวิสาหกิจอยู่แค่ไม่กี่บริษัท แต่ในประเทศจีนมีบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อย หรืออาจจะหลายร้อยบริษัท ยกตัวอย่างเช่น ในกระทรวงคมนาคมมีบริษัทลูกที่เป็นรัฐวิสาหกิจเป็นร้อยบริษัท จึงทำให้การแข่งขันกันระหว่างสายงานต่างๆ นั้น มีค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องแข่งขันกันเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจต่างๆ ทำให้ขาดการช่วยเหลือกัน”

“นอกจากนี้ หลักการในการลงทุนของประเทศจีน มีแนวทางนโยบายบางประการ ที่ทางภาคธุรกิจ ‘จำใจ’ ต้องยอมจ่าย เนื่องจากถูกกดดันจากทางรัฐบาล 2 อย่างด้วยกัน คือ

‘กำแพงภาษี’ หากคุณผลิตสินค้าในจีน คุณจะถูกเก็บภาษีสูงมาก ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับให้ต้องยอมจ่าย ดังนั้น กลุ่มนายทุนจึงต้องออกมาตั้งโรงงานกันในต่างประเทศ เพื่อไม่ให้สินค้าของบริษัท เป็นสินค้าที่ผลิตในจีนจนต้องเสียภาษีมหาโหด

สินค้าของกลุ่มทุนจีนที่ผลิตในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น สินค้าด้านพลังงาน อย่างแผงโซลาร์เซลล์ ที่สามารถสังเกตได้ว่า เกือบจะถูกแบรนด์ใหญ่ๆ ของจีน ต้องมาตั้งโรงงานในประเทศไทย เพื่อผลิตสินค้า จากนั้นจึงคอยส่งกลับไปขายในจีน

แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาตามมา คือ ทางรัฐบาลจีนเขาไม่ได้ดูแค่สินค้าชิ้นนี้ผลิตที่ประเทศจีนหรือไม่ แต่เขาตรวจสอบไปจนถึงวัสดุที่เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าเลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม กระบวนการเรียกเก็บภาษีนี้ ก็มีขั้นตอนเป็นระบบ และให้มีประกาศทางการอย่างชัดเจน เพื่อให้ระยะเวลาภาคธุรกิจในการตั้งตัวรับมือได้ทัน”

“เรื่องต่อมา ซึ่งเป็นเรื่องล่าสุด คือ บริษัทต่างๆ จะต้องตั้งโรงงานการผลิตนอกประเทศจีน และไต้หวัน เนื่องจากเกิดปัญหาความน่าเชื่อถือที่ลดลง เพราะรัฐบาลตั้งกฎหมายเกี่ยวกับภาคธุรกิจออกมามากมาย เพื่อที่จะควบคุมการผูกขาดทางการค้า ทำให้ลูกค้าในประเทศต่างๆ ไม่มีความเชื่อมั่นว่า หากสั่งซื้อสินค้าไปแล้ว จะได้รับสินค้าตามกำหนดหรือไม่

และที่สำคัญที่สุด คือ ความขัดแย้งทางการเมืองโลก ระหว่างประเทศจีนกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า รวมถึงการลงทุนได้ ทำให้นักลงทุนกลัวการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาในภายหลัง”

“ด้วย 2 ปัจจัยหลักนี้เอง ทำให้ประเทศไทย กลายเป็น ‘หมุดหมายหลัก’ ที่เหล่ากลุ่มทุนจากจีน จะแห่กันเข้ามาลงทุน เพราะนอกจากที่ไทยจะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและกำลังในการผลิตสูงแล้ว จุดเด่นของประเทศไทยอีกเรื่องคือ ไทยเป็นประเทศที่ไม่เคยมีท่าทีต่อต้านชาวจีน อีกทั้งยังพร้อมอ้าแขนเปิดรับชาวจีนมากที่สุด กว่าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

“สิ่งนี้ส่งผลให้ประเทศไทยรับประโยชน์จากไปเต็มๆ อีกทั้ง ทาง ‘สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน’ หรือ BOI ยังร่วมหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการบริการสนับสนุนธุรกิจให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ยิ่งทำให้นักลงทุนจากทั่วทุกสารทิศ โดยเฉพาะจากในจีนแผ่นดินใหญ่ ต่างหลั่งไหลกันมาปักหมุดหมายในไทย โดยหลายๆ แบรนด์ยังมีแผนที่จะยกให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย”

แม้จะมีกระแสบางส่วนมองว่า การที่กลุ่มนักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น เป็นเรื่องที่ทำให้คนไทยเสียเปรียบ เนื่องจากทาง BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการลงทุนแก่กลุ่มทุนจีน โดยในเรื่องนี้ คุณมัทนาได้ให้ความคิดว่า…

“หากลองย้อนกลับไปดูดีๆ การก่อตั้งโรงงานนั้นไม่ได้สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ภายในปีแรก บางโรงงานเพิ่งสามารถทำกำไรได้ภายใน 3-5 ปีต่อมาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทาง BOI ให้สิทธิไว้ตามเงื่อนไขการลงทุน อีกทั้งไม่ใช่ธุรกิจทุกประเภทจะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ธุรกิจแต่ละประเภทก็มีระยะเวลาการยกเว้นเสียภาษีที่แตกต่างกันออกไป

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีกลุ่มทุนมาลงทุนนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้อัตราการลงทุนเพิ่มแล้ว ยังเกิดการจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น คนไทยมีงานทำมากขึ้น ช่วยให้คนไทยได้เพิ่มพูนศักยภาพ พัฒนาทักษะการทำงานให้คนไทยมากขึ้น และยังส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ช่วยให้การค้าขายระหว่างประเทศเติบโตก้าวหน้า เป็นประโยชน์ต่อไปเป็นทอดๆ อีกด้วย”

‘แอน จักรพงษ์’ ยันมีแผนแก้ปัญหาหุ้นกู้แล้ว  ประกาศถือหุ้น JKN เพิ่มเป็น 38%

(7 ก.ย. 66) ท่ามกลางกระแสข่าวลือที่ถูกโหมกระหน่ำ ‘แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’ ผู้ถือหุ้นใหญ่และ CEO ของ ‘JKN’ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แจ้ง กลต. เมื่อวานนี้ ว่ามีรายการขายหุ้นและรับโอนหุ้นหลายรายการ ขอสรุปสั้น ๆ คือ รายการขายหุ้นของเธอมาจากบัญชี มาร์จิ้น ถูกฟอร์ซเซลล์ หรือบังคับขาย เนื่องจากราคาหุ้นตกแรงกว่า 50% ใน 2 วัน แต่คุณแอนได้มีการรับโอนหุ้น JKN เข้ามาเพิ่ม 77 ล้านหุ้น ทำให้ปัจจุบัน คุณแอนจักรพงษ์ ถือหุ้น JKN ทั้งหมดเพิ่มเป็น 392,287,682 หุ้น คิดเป็น 38% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดอันดับ 1 เหมือนเดิม

“ดิฉันยืนยันว่า ดิฉันยังยืดหยัดบริหาร JKN และ ยังถือครองหุ้น JKN กว่า 38% ส่วนเรื่องหุ้นกู้นั้น บริษัทฯ JKN มีแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้แล้วโดยได้ปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายและ บริษัทผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ที่เกี่ยวข้องทุกราย และจะเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้รุ่น JKN239A ในวันที่ 27 กันยายนนี้ เพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ จึงอยากขอให้ผู้ถือหุ้นกู้ และนักลงทุนอย่าได้หลงเชื่อข่าวลือ หรือเฟกนิวส์ต่าง ๆ และ ขอให้เช็คข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และ กลต. หรือ ติดต่อที่บริษัทฯ เพื่อสอบถามได้ตลอดเวลา ดิฉันและผู้บริหารมีเจตนาที่จะดูแลเงินลงทุนและผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นทุกรายอย่างจริงใจ” คุณแอน จักรพงษ์ กล่าวสรุป

เปิดโอกาสคนไทยสู่อาชีพใหม่ใน 'แฟรนไชส์ เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2023' 7-10 กันยายน 2566 ที่บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว

จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ได้ประชาสัมพันธ์ชวนคนไทยมีอาชีพที่งาน 'แฟรนไชส์ เอสเอ็มอี เอ็กซ์โป 2023' (Franchise SMEs EXPO 2023) 

โดยใครที่อยากเริ่มธุรกิจส่วนตัว คิดลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องไปงานนี้ งานแสดงแฟรนไชส์ที่จะสร้างอาชีพให้กับคุณ งานจัดระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2566 ที่บีซีซี ฮอลล์ ชั้น 5 เซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าว 

ทั้งนี้ ในงานสามารถพบกับโปรโมชันส่วนลดพิเศษสุด ๆ จากธุรกิจแฟรนไชส์ แบบเยอะ ครบ คุ้ม เฉพาะภายในงานนี้เท่านั้น!! พร้อมการเปิดตัวแฟรนไชส์ใหม่ ๆ อาทิ...

* แฟรนไชส์หมวดอาหารและขนม
* แฟรนไชส์หมวดเครื่องดื่ม แฟรนไชส์ชา แฟรนไชส์กาแฟสด 
* แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก
* แฟรนไชส์การศึกษา
* ระบบซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการร้าน / POS
* พบกับธุรกิจเครื่องหยอดเหรียญทำเงิน 24 ชม. 
* ผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย เมล็ดกาแฟ เครื่องชงกาแฟ บรรจุภัณฑ์ในธุรกิจอาหารเครื่องดื่มเบเกอรี่ 
* พบกับบูธธุรกิจดาราชื่อดัง คุณอรอนงค์ ปัญญาวงศ์, คุณต๊ะ บอยสเก๊าท์

นอกจากนี้ ยังสามารถลงทะเบียนร่วมฟังเสวนาได้ฟรีทุกวัน...

- วันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 13.00 - 14.00 น. หัวข้อ 'กลยุทธ์เลือกแฟรนไชส์น่าลงทุนและเหมาะกับคุณ' โดย คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์, CFE กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด มืออาชีพสร้างแฟรนไชส์ และจับคู่แฟรนไชส์น่าลงทุน

- วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 12.30 - 13.30 น. หัวข้อ 'Inspiration for the next startup' โดย คุณท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด

- วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2566 เวลา 14.00 - 15.00 น. หัวข้อ 'เส้นทางอาชีพสายครีเอเตอร์ นักออกแบบตัวการ์ตูน-มาสคอต' โดยคุณสัญญา เลิศประเสริฐภากร ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ (Creative Director) จากไซโลสตูดิโอ ผู้สร้างสรรค์ตัวการ์ตูน ติดลมห้อยเวหา

- วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน 2566 เวลา 12.30 - 13.30 น.หัวข้อ 'การทำการตลาดบนแอปพลิเคชัน TikTok' โดยคุณแอ๊ม-ศรัณย์ แบ่งกุศลจิต CEO บริษัท Uppercuz Creative ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตลาดออนไลน์มากกว่า 9 ปี

เข้าร่วมชมงานฟรีทุกวัน 10.30 - 20.00 น. ลงทะเบียนเข้าชมงานรับฟรีเครื่องดื่ม 1 แก้ว 

สำหรับในครั้งนี้ จัดโดยบริษัท สกุล วี กรุ๊ป จำกัด สนใจติดต่อ โทร. 064-983-6919, 094-241-9664

‘ลดภาษี-อุดหนุนเงินเข้ากองทุน’ ทางออกปัญหา ‘พลังงานแพง’ ช่วยลดภาระ ปชช. ควบคู่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(6 ก.ย. 66) ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 6 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก ดร.พรายพล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

“สำหรับการจัดการเรื่องราคาน้ำมัน ทางเดียวที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุน จะทั้งทางลดภาษีสรรพสามิต หรือการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ทั้งนั้น อีกทั้งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ด้วย ที่พูดมานี้หมายถึงตัวน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีความจำเป็นในการขนส่ง รถโดยสาร”

ดร.พรายพล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้รัฐได้อุดหนุนน้ำมันดีเซลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยควบคุมให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น โดยอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 5.60 บาท แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละเกือบ 6 บาท ถ้าเทียบดูแล้ว ฟากที่รัฐเก็บเข้ามาและจ่ายออกไปก็พอ ๆ กัน โดยสรุปก็คือรัฐเก็บภาษีได้ไม่กี่สตางค์ต่อลิตร 

ส่วนทางด้านของน้ำมันเบนซิน ในขณะนี้มีการเก็บภาษีเต็มที่คือ 5 บาทกว่า ๆ ต่อลิตร และอุดหนุนเข้ากองทุนลิตรละประมาณ 2 บาทกว่า ๆ อาจจะฟังดูไม่เป็นธรรม แต่หากมองราคาที่หน้าปั๊มจะเห็นว่า ราคาขายปลีกของเบนซินสูงกว่าดีเซล

ดร.พรายพล กล่าวต่อว่า แนวคิดรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา จะมองว่าคนที่ใช้เบนซินจะเป็นคนที่มีกำลังจ่ายมากกว่าคนที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะการใช้น้ำมันดีเซลจะใช้ในรถบรรทุก ขนส่ง รถโดยสาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ จึงนำเงินมาช่วยอุดหนุนมากหน่อย แต่น้ำมันเบนซินใช้ในรถยนต์ส่วนตัว รถที่มีราคาแพง จึงมีการอุดหนุนที่น้อยกว่า 

เมื่อถามว่านอกเหนือจากภาษีที่ต้องจัดการ โครงสร้างราคาน้ำมันส่วนไหนที่สามารถจัดการได้อีกบ้าง เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง ดร.พรายพล กล่าวว่า จะต้องดูให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพลังงาน ส่วนเรื่องของค่าการกลั่นที่เคยเป็นประเด็นก็ควรจับตาดูด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการขยับขึ้นลงเสมอ ๆ และแม้ทั่วโลกจะมีค่าการกลั่นสูงเหมือนกันหมด แต่ก็น่าคิดว่าจะทำให้ค่าการกลั่นลดลงได้หรือไม่ สำหรับปีนี้ก็ลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่แนวโน้มในช่วง 10 ที่ผ่านมาก็ยังสูง แต่คิดว่าก็น่าจะมีแนวทางที่จะลดลงได้

ส่วนค่าการตลาดที่ผ่านมาถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วลิตรละ 2 บาท หากจะให้ลดลงอีกก็คงลดได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะก็ต้องมีช่องให้ผู้ประกอบการทำกำไรด้วย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้ ๆ กัน 

เมื่อถามว่าจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเสรีใช่หรือไม่?

ดร.พรายพล กล่าวว่า เท่าที่ผมทราบ ค่อนข้างเปิดกว้างและเสรี ยกเว้นแต่เพียงก๊าซหุงต้ม ส่วนที่เหลือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย การเสรีค้าในที่นี้หมายถึงเสรีภายใต้กรอบกฎหมาย และผู้นำเข้าจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปนำเข้ามาขาย เพราะก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะน้ำมันเป็นวัตถุอันตราย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เช่น หากเราไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูก ก็อาจจะโดนจับตามองจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะตอนนี้มีการคว่ำบาตรกันอยู่ 

สำหรับประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย ประชาชนซื้อราคาสูงมาก แต่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีซื้อในราคาถูก สามารถแก้เขาให้มีราคาเท่ากันได้หรือไม่? ดร.พรายพล กล่าวว่า การปรับราคาก๊าซธรรมชาติให้มีราคาถูกเท่ากันก็มีวิธีการทำให้เป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ขายแก๊สก็ต้องมีรายได้ลดลง และต้องเป็นการหารือระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ต้องเห็นใจให้เขาสามารถทำกำไรได้ด้วย

เมื่อถามว่าจะบริหารจัดการให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง? ดร.พรายพล กล่าวว่า ความมั่นคงในที่นี้คือการมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานอำนาจของรัฐ เช่น ด้านภาษี หรือกลไกของกองทุนน้ำมัน เพราะหากออกนโยบายที่กดดันทางผู้ประกอบการมากเกินไป ก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพในการให้บริการและไม่เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานตามมาได้

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะใช้มาตรการหรือวิธีการใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน 

‘ปตท.’ ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ ประลองไอเดียขายสินค้าชุมชน  ในโครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023’

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 66 นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานปฐมนิเทศ โครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ กิจกรรมที่เปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงพลังและไอเดียความคิดสร้างสรรค์ แข่งขันจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนใน ‘โครงการชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.’ ผ่าน 30 ทีมเยาวชนจาก 10 มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีระยอง (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เทลสกอร์ จำกัด โดยมีคณาจารย์ และนิสิตนักศึกษา กว่า 200 คน ร่วมงาน ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ

นางกนกพร เปิดเผยว่า ปตท. เล็งเห็นถึงศักยภาพและพลังความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ ที่สามารถช่วยสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนเข้าถึงผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น จึงจัดโครงการ ‘Young Influencer Challenge Thailand 2023 : ชวน U สร้างรอยยิ้ม’ เพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดนักขายผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ่าน  www.ชุมชนยิ้มได้.com ซึ่งนิสิต นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับประสบการณ์จริง จากการนำทักษะความรู้มาใช้ในการจัดทำแผนการตลาดและเทคนิคการขายสินค้าชุมชนออนไลน์ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเจ้าของสินค้า อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชนให้เติบโตต่อไป

อนึ่ง ‘โครงการชุมชนยิ้มได้ โดย กลุ่ม ปตท.’ เป็นหนึ่งในโครงการ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ชุมชนมีความยากลําบากด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ปตท. จึงพัฒนา Platform www.ชุมชนยิ้มได้.com ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ผลิตภัณฑ์ของชุมชนสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และยังคงเปิดช่องทางจําหน่ายนี้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และเปิด ‘ร้านชุมชนยิ้มได้ Official Store’ แห่งแรก ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

ตลอดระยะเวลา 45 ปี ปตท. มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โครงการนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สรุปสถานการณ์ตลาดน้ำมันสัปดาห์ที่ 28 ส.ค. - 1 ก.ย. 66 จับตาปัจจัย 'บวก-ลบ' ชี้แนวโน้ม 4 - 8 ก.ย. 66

ราคาน้ำมันดิบอ้างอิงทุกชนิด เฉลี่ยสัปดาห์สิ้นสุด 1 ก.ย. 66 เพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดคาดว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายเวลาอาสาลดการผลิตน้ำมันดิบ (ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ออกไปถึงเดือน ต.ค. 66 จากเดิมช่วง ก.ค.- ก.ย. 66 ขณะที่รัสเซียจะขยายเวลาลดการส่งออกน้ำมันดิบออกไปถึง ต.ค. 66 เช่นกัน (ก่อนหน้ารัสเซียประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 66 ปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และเดือน ก.ย. 66 ปริมาณ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และอาจจะอาสาลดการผลิตจนสิ้นปีนี้

พายุเฮอริเคน Idalia (ระดับ 3: ความเร็วลมสูงสุด 179 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เคลื่อนผ่านรัฐ Florida ของสหรัฐฯ ทำให้บริษัท Chevron อพยพพนักงานออกจากแท่นขุดเจาะปิโตรเลียม (Platforms) แถบ Gulf of Mexico (GoM) บางส่วน โดย Reuters คาดว่าจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 0.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ GoM ผลิตน้ำมันดิบประมาณ 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 15% ของการผลิตในสหรัฐฯ

ด้านเศรษฐกิจ ดัชนีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ (Core Personal Consumption Expenditure: PCE) ที่ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ซึ่งใช้วัดเงินเฟ้อ ในเดือน ก.ค. 66 อยู่ที่ +3.3% จากปีก่อน ต่ำกว่าผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters คาดว่าจะอยู่ที่ +4.2 จากปีก่อน ทำให้ FedWatch Tool ของ CME Group ประเมินว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) วันที่ 19-20 ก.ย. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 88% ที่ FOMC จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนัก 12% ที่จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ภาคอุตสาหกรรมของจีนยังคงชะลอตัว โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers’ Index: PMI) ภาคการผลิตของรัฐวิสาหกิจและบริษัทขนาดใหญ่ ในเดือน ส.ค. 66 อยู่ที่ 49.7 จุด รัฐบาลจีนมีแนวโน้มจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกอย่างต่อเนื่อง

คาดการณ์ราคา ICE Brent สัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวในกรอบ 85-90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top