‘ลดภาษี-อุดหนุนเงินเข้ากองทุน’ ทางออกปัญหา ‘พลังงานแพง’ ช่วยลดภาระ ปชช. ควบคู่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ

(6 ก.ย. 66) ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนโยบายจัดการด้านพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ ผ่านรายการ ‘คุยข่าว ถึงเครื่อง’ ประจำวันที่ 6 ก.ย. 66 เผยแพร่ผ่านช่องทางรับชมในเครือ THE STATES TIMES, คุยถึงแก่น, เปรี้ยง, NAVY AM RADIO/ MAYA Channel ช่อง 44 และ FM101 โดยมี นายปรเมษฐ์ ภู่โต สื่อมวลชนอาวุโส พิธีกร ผู้ประกาศข่าวรายการคุยถึงแก่น เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญจาก ดร.พรายพล ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า…

“สำหรับการจัดการเรื่องราคาน้ำมัน ทางเดียวที่เห็นได้ชัดในตอนนี้คือรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุน จะทั้งทางลดภาษีสรรพสามิต หรือการอุดหนุนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้ทั้งนั้น อีกทั้งอยู่ในอำนาจของรัฐบาลที่จะทำได้ด้วย ที่พูดมานี้หมายถึงตัวน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีความจำเป็นในการขนส่ง รถโดยสาร”

ดร.พรายพล กล่าวว่า ปัจจุบันนี้รัฐได้อุดหนุนน้ำมันดีเซลผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อช่วยควบคุมให้ราคาน้ำมันไม่สูงขึ้น โดยอุดหนุนอยู่ที่ลิตรละ 5.60 บาท แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็เก็บภาษีสรรพสามิตลิตรละเกือบ 6 บาท ถ้าเทียบดูแล้ว ฟากที่รัฐเก็บเข้ามาและจ่ายออกไปก็พอ ๆ กัน โดยสรุปก็คือรัฐเก็บภาษีได้ไม่กี่สตางค์ต่อลิตร 

ส่วนทางด้านของน้ำมันเบนซิน ในขณะนี้มีการเก็บภาษีเต็มที่คือ 5 บาทกว่า ๆ ต่อลิตร และอุดหนุนเข้ากองทุนลิตรละประมาณ 2 บาทกว่า ๆ อาจจะฟังดูไม่เป็นธรรม แต่หากมองราคาที่หน้าปั๊มจะเห็นว่า ราคาขายปลีกของเบนซินสูงกว่าดีเซล

ดร.พรายพล กล่าวต่อว่า แนวคิดรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มา จะมองว่าคนที่ใช้เบนซินจะเป็นคนที่มีกำลังจ่ายมากกว่าคนที่ใช้น้ำมันดีเซล เพราะการใช้น้ำมันดีเซลจะใช้ในรถบรรทุก ขนส่ง รถโดยสาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ จึงนำเงินมาช่วยอุดหนุนมากหน่อย แต่น้ำมันเบนซินใช้ในรถยนต์ส่วนตัว รถที่มีราคาแพง จึงมีการอุดหนุนที่น้อยกว่า 

เมื่อถามว่านอกเหนือจากภาษีที่ต้องจัดการ โครงสร้างราคาน้ำมันส่วนไหนที่สามารถจัดการได้อีกบ้าง เพื่อให้ราคาน้ำมันถูกลง ดร.พรายพล กล่าวว่า จะต้องดูให้ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพลังงาน ส่วนเรื่องของค่าการกลั่นที่เคยเป็นประเด็นก็ควรจับตาดูด้วยเช่นกัน ซึ่งจะมีการขยับขึ้นลงเสมอ ๆ และแม้ทั่วโลกจะมีค่าการกลั่นสูงเหมือนกันหมด แต่ก็น่าคิดว่าจะทำให้ค่าการกลั่นลดลงได้หรือไม่ สำหรับปีนี้ก็ลดลงต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่แนวโน้มในช่วง 10 ที่ผ่านมาก็ยังสูง แต่คิดว่าก็น่าจะมีแนวทางที่จะลดลงได้

ส่วนค่าการตลาดที่ผ่านมาถือว่าไม่สูงเท่าไหร่ เฉลี่ยแล้วลิตรละ 2 บาท หากจะให้ลดลงอีกก็คงลดได้ไม่มากเท่าไหร่ เพราะก็ต้องมีช่องให้ผู้ประกอบการทำกำไรด้วย หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านก็อยู่ในเกณฑ์ใกล้ ๆ กัน 

เมื่อถามว่าจากนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งที่จะเปิดโอกาสให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีในประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่มีการอนุญาตให้นำเข้าเสรีใช่หรือไม่?

ดร.พรายพล กล่าวว่า เท่าที่ผมทราบ ค่อนข้างเปิดกว้างและเสรี ยกเว้นแต่เพียงก๊าซหุงต้ม ส่วนที่เหลือไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย การเสรีค้าในที่นี้หมายถึงเสรีภายใต้กรอบกฎหมาย และผู้นำเข้าจะต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปนำเข้ามาขาย เพราะก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยด้วย เพราะน้ำมันเป็นวัตถุอันตราย หากเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นก็จะเป็นเรื่องใหญ่

อีกเรื่องที่ต้องระวังคือเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ เช่น หากเราไปซื้อน้ำมันจากรัสเซียในราคาถูก ก็อาจจะโดนจับตามองจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก เพราะตอนนี้มีการคว่ำบาตรกันอยู่ 

สำหรับประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในอ่าวไทย ประชาชนซื้อราคาสูงมาก แต่กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีซื้อในราคาถูก สามารถแก้เขาให้มีราคาเท่ากันได้หรือไม่? ดร.พรายพล กล่าวว่า การปรับราคาก๊าซธรรมชาติให้มีราคาถูกเท่ากันก็มีวิธีการทำให้เป็นไปได้ ซึ่งก็หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ขายแก๊สก็ต้องมีรายได้ลดลง และต้องเป็นการหารือระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ ส่วนบริษัทรัฐวิสาหกิจก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาล แต่ก็ต้องเห็นใจให้เขาสามารถทำกำไรได้ด้วย

เมื่อถามว่าจะบริหารจัดการให้เกิด ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ สามารถทำได้อย่างไรบ้าง? ดร.พรายพล กล่าวว่า ความมั่นคงในที่นี้คือการมีปริมาณที่เพียงพอและมีคุณภาพที่ยอมรับได้ โดยต้องดำเนินการอยู่บนพื้นฐานอำนาจของรัฐ เช่น ด้านภาษี หรือกลไกของกองทุนน้ำมัน เพราะหากออกนโยบายที่กดดันทางผู้ประกอบการมากเกินไป ก็อาจจะไม่มีเสถียรภาพในการให้บริการและไม่เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานตามมาได้

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะใช้มาตรการหรือวิธีการใดในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน