'คาร์บอนเครดิต' ความหวังใหม่ แก้วิกฤต 'ฝุ่นควัน-โลกร้อน' แนวโน้มเริ่มมา หลังภาคเอกชนพากันคิกออฟ ลุ้นรัฐเข็น

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ประจำวันที่ 30 ก.ค.66 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของวิกฤตโลกร้อน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตโลกร้อน (Global Warming หรือ Climate Change) ที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกและประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน ได้พิสูจน์แล้วว่ามิอาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว และกลไกภาครัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้ ดังคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีฝุ่น PM 2.5 เมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม โลกได้คิดค้นมาตรการที่อิงกลไกตลาด (Market based Solutions) ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามกำหนด เช่น การใช้ตลาดคาร์บอนเครดิต (Cap and Trade) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการปรับส่วนต่างที่พรมแดนของสหภาพยุโรป (Border Adjustment Mechanism) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดกำหนดราคาและปริมาณคาร์บอน แต่ล้วนก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะราคาหรือภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาสินค้าและพลังงานสูงขึ้น จึงต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมือง

ทว่าเป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนได้ริเริ่มงานด้านนี้ในหลายเรื่อง ตลาดเงินตลาดทุนได้นำแนวปฏิบัติการลงทุนแบบ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้ ขณะที่ภาคการธนาคารได้มุ่งเน้นทำธุรกิจธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) เพื่อให้มีการจัดสรรเงินทุนมากขึ้นไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"แนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต คือ การเกิดธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่มุ่งจัดเก็บ/กำจัดคาร์บอน เพื่อนำมาขายต่อแก่ธุรกิจอื่นที่ปล่อยคาร์บอนเกินโควตา หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจจัดเก็บคาร์บอนน่าจะมีอนาคตที่สดใสและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต่อไป" อาจารย์พงษ์ภาณุกล่าว