Monday, 20 May 2024
CarbonCredit

'คาร์บอนเครดิต' ความหวังใหม่ แก้วิกฤต 'ฝุ่นควัน-โลกร้อน' แนวโน้มเริ่มมา หลังภาคเอกชนพากันคิกออฟ ลุ้นรัฐเข็น

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ประจำวันที่ 30 ก.ค.66 ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็นของวิกฤตโลกร้อน โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

วิกฤตโลกร้อน (Global Warming หรือ Climate Change) ที่กำลังเป็นภัยคุกคามโลกและประเทศไทยอยู่ในปัจจุบัน ได้พิสูจน์แล้วว่ามิอาจแก้ไขได้ด้วยวิธีการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียว และกลไกภาครัฐไม่สามารถรับประกันความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนได้ ดังคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีฝุ่น PM 2.5 เมื่อเร็วๆ นี้

อย่างไรก็ตาม โลกได้คิดค้นมาตรการที่อิงกลไกตลาด (Market based Solutions) ขึ้นมาเพื่อช่วยเสริมให้ประเทศต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ได้ตามกำหนด เช่น การใช้ตลาดคาร์บอนเครดิต (Cap and Trade) ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และการปรับส่วนต่างที่พรมแดนของสหภาพยุโรป (Border Adjustment Mechanism) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ตลาดกำหนดราคาและปริมาณคาร์บอน แต่ล้วนก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะราคาหรือภาษีคาร์บอนจะทำให้ราคาสินค้าและพลังงานสูงขึ้น จึงต้องอาศัยความกล้าหาญและมุ่งมั่นทางการเมือง

ทว่าเป็นที่น่ายินดีที่ภาคเอกชนได้ริเริ่มงานด้านนี้ในหลายเรื่อง ตลาดเงินตลาดทุนได้นำแนวปฏิบัติการลงทุนแบบ ESG (Environmental, Social and Governance) มาใช้ ขณะที่ภาคการธนาคารได้มุ่งเน้นทำธุรกิจธนาคารยั่งยืน (Sustainable Banking) เพื่อให้มีการจัดสรรเงินทุนมากขึ้นไปสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

"แนวโน้มหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างน่าสังเกต คือ การเกิดธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ที่มุ่งจัดเก็บ/กำจัดคาร์บอน เพื่อนำมาขายต่อแก่ธุรกิจอื่นที่ปล่อยคาร์บอนเกินโควตา หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ธุรกิจจัดเก็บคาร์บอนน่าจะมีอนาคตที่สดใสและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโลกร้อนต่อไป" อาจารย์พงษ์ภาณุกล่าว

‘S&P’ หนุนองค์กรใช้พลังงานสะอาด-ซื้อคาร์บอนเครดิต มุ่งสู่ความเป็นกลางคาร์บอน ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(20 ม.ค. 67) ‘มณีสุดา ศิลาอ่อน’ ประธานเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รางวัลนั้นเกิดจากความพยายามเดินหน้าธุรกิจ ตามแนวคิด ‘คุณภาพ คุณค่า คุณธรรม’ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า

จากจุดเริ่มต้นปี พ.ศ. 2559 ที่บริษัทเริ่มติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป บนอาคาร 4 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่ บางพลี โรงงานผลิตเบเกอรี่ จ.ลำพูน และโรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง รวมทั้งศูนย์กระจายสินค้า S&P (S&P Smart Distribution Center) ที่ลงทุนกว่า 500 ล้านบาท พร้อมติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาด 594 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 785,712 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 390 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 12,104 ต้น

ขณะที่โรงงานผลิตเบเกอรี่และอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานผลิตเบเกอรี่บางนา-ตราด กม.23.5 (เฟส 3) โรงงานผลิตเบเกอรี่ลำพูน และ โรงงานผลิตอาหารลาดกระบัง สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 2,285,531 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,092 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ถึง 33,980 ต้น ส่วนโรงงานผลิตเบเกอรี่สุขุมวิท 62 โครงสร้างอาคารไม่สามรถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ จึงนำระบบ Solar Light มาใช้แทน ซึ่งรวมแล้วทั้งหมด สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ราว 20-25%

นอกจากนี้ ในการบริหารจัดการคาร์บอน สโคป 1 และ 2 เป็นเรื่องที่เอสแอนด์พีดำเนินการต่อเนื่อง และพยายามพัฒนาแนวทางใหม่ ๆ ขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2566 เอสแอนด์ พี ได้ซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนแล้ว 1.3 หมื่นตัน ซึ่งเทียบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่เอส แอนด์ พี ปล่อยต่อปี โดยยังไม่รวมปริมาณคาร์บอนจากสาขาอีกเกือบ 500 สาขา ที่จะเริ่มนับและคำนวณปริมาณคาร์บอนในปีนี้

นอกจากนี้ ยังได้นำรถไฟฟ้า S&P EV Truck จำนวน 1 คัน มาใช้ในการขนส่งสินค้า ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงปีละประมาณ 20 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังตั้งเป้าการเพิ่มรถบรรทุกพลังงานสะอาดอีก 4 คัน ในปี 2567 เพื่อครอบคลุมระยะทางขนส่งสายหลัก และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง

ขณะเดียวกันได้มีการปรับปรุงระบบการขนส่งใหม่ ของศูนย์กระจายสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การบรรจุสินค้าใส่รถยนต์ การกำหนดเส้นทางการเดินรถ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน และค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงานด้าน Supply chain ให้ดียิ่งขึ้น หลังจากการปรับปรุงทำให้สามารถลดค่านํ้ามันลงได้ถึง 9 ล้านบาทต่อเดือน

มณีสุดา กล่าวอีกว่า การทำงานด้านความยั่งยืน และใส่ใจสิ่งแวดล้อม เกิดจากจุดเริ่มต้นการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่โรงงาน ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องนี้ ทำให้ต้องใช้งบค่อนข้างสูง

อีกทั้ง สิ่งที่ดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน เป็นการปรับพฤติกรรมพนักงานในองค์กร เริ่มจากการแยกขยะ เก็บขวดพลาสติกมาอัพไซคลิ่งเป็นเสื้อของพนักงานทำมาแล้ว 3 รุ่น รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์สินค้า สู่วัสดุรีไซเคิล หมายรวมถึงพลาสติกที่เริ่มจากการลดความหนาของพลาสติกลง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการไปได้แล้วทั้งหมด 94%

“การเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ในร้าน ซึ่งมีอยู่เกือบ 500 สาขาทั่วประเทศ หากต้องเปลี่ยนพลาสติกทั้งหมด ต้องใช้งบไม่ตํ่ากว่า 100 ล้านบาท หรือแม้แต่การลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนภาคในองค์กร รวมถึงกระบวนการผลิตทั้งหมดให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องใช้งบเป็น 1,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นการลงมือทำ จากสิ่งใกล้ตัวก่อนและค่อย ๆ ทยอยทำ จะช่วยให้งานทั้งหมดสามารถเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นคำนวณ Payback Period มันไม่คุ้ม”

เอส แอนด์ พี พยายามทำทั้ง Green Product และ Green Restaurant ซึ่งดำเนินการไปแล้ว 11 สาขา รวมถึงการทำ โครงการ Food Rescue โดยร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟซัสทีแนนซ์ หรือ ‘SOS Thailand’ ส่งต่ออาการส่วนเกินให้กับผู้ที่มีความต้องการ ทำให้สามารถลดขยะอาหารจาก 240 ล้านบาท เหลือ 168 ล้านบาทในปัจจุบัน

“เอส แอนด์ พี ยังดำเนินการร่วมกับซัพพลายเชน เช่น เกษตรกรและพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายขององค์กร เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ค.ศ.2050”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top