Friday, 2 May 2025
ECONBIZ NEWS

‘กรณ์’ วิเคราะห์!! ภาษีทรัมป์ ทำเศรษฐกิจโลก โดยรวมแย่ลง แต่ดุลการค้าสหรัฐดีขึ้น กังวล!! หากเพื่อนบ้าน เจรจาภาษีได้ต่ำกว่าเรา ฐานการผลิต อาจต้องย้ายไปจากไทย

(1 พ.ค. 68) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า …

เมื่อวานนั่งคุยกับผู้ส่งออกอาหารไปอเมริการายหนึ่ง เขาเล่าว่าปัจจุบันลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อขนาดใหญ่เจรจาขอให้เขาแบกรับภาระภาษีนำเข้า 10% (ซึ่งเขาพอทำได้) ในขณะที่ผู้ซื้อรายเล็กยังคงซื้อในราคาเดิม 

แต่หากอัตราภาษีกลับไปเป็น 36% ตามที่ทรัมป์ประกาศไว้ แน่นอนจะเป็นภาระที่เขาในฐานะผู้ส่งออกแบกรับไม่ได้ ต้องแบ่งภาระกับผู้ซื้อ ซึ่งก็คงต้องผลักภาระต่อไปให้ผู้บริโภคชาวอเมริกันไม่มากก็น้อย

และหากประเทศคู่แข่งเราเจรจาลดภาษีได้ แต่เราเจรจาไม่สำเร็จ – นั่นคือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ในแง่ของทรัมป์ ที่อ้างตลอดว่าคนอเมริกันจะไม่เป็นผู้ต้องเสียภาษี ตอนนี้มีส่วนเป็นเช่นนั้นจริง แต่ถ้าอัตราภาษีสูงเกินไป ผู้บริโภคอเมริกันจะหลีกเลี่ยงภาระภาษีนี้ยาก หรือไม่ก็จะไม่สามารถซื้อสินค้าบางประเภทได้เลย ในสถานการณ์นี้ ทางใดทางหนึ่ง ชาวอเมริกันจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศน้อยลง ซึ่งหากสมมุติว่าประเทศอย่างเรายังซื้อของจากอเมริกาเท่าเดิม ดุลการค้าอเมริกันจะดีขึ้น แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมจะแย่ลง

ในแง่ของไทย ผู้ส่งออกรายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองยังเอาตัวรอดได้ แต่รายเล็กหน่อยเหนื่อยมาก ผู้ส่งออก(รายปานกลาง) ที่ผมคุยด้วย เขาบอกว่าสำคัญมากที่จะต้องเจรจาให้อัตราภาษีอยู่ในระดับที่เรายังค้าขายกับอเมริกาได้ แต่ก็ชัดเจนว่ากำไรเราจะลดลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นจึงต้องเจาะตลาดอื่น และพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรักษา ‘มาจิ้น’

เลวร้ายที่สุดคือหากอัตราภาษีประเทศเพื่อนบ้านเจรจาได้ตํ่ากว่าเรามาก อาจต้องพิจารณาย้ายการผลิตไปจากไทย

อีกหนึ่งเครื่องมือกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม เงินที่ ‘กกพ.’ เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้า ใช้เยียวยาดูแล ปชช.

(30 เม.ย. 68) อย่างที่หลายคนทราบกันดีว่า บทบาทสำคัญของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.  คือ การกำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่อาจจะยังไม่ทราบว่า กกพ. ดำเนินการอย่างไรและใช้เครื่องมืออะไรบ้าง ในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ใช้ไฟ โดยเฉพาะในภาวะที่เกิดวิกฤตต่างๆ และประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากค่าไฟฟ้าแพง

สำหรับเครื่องมือหนึ่งที่ กกพ. นำมาใช้ในกรณีที่เกิดผลกระทบกับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย นั่นคือ “เงิน Claw Back” ที่สามารถนำมาใช้อุดหนุนต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน

Claw Back เป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ. ) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า โดยคิดตามอัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financial Ratio: SFR) ในอัตราร้อยละ 25 และค่าเสียโอกาสทางการเงินของผู้ใช้ไฟฟ้าในอัตราไม่น้อยกว่า MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ 5 ลำดับแรกของประเทศไทย บวกสอง

อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ปกติรายได้จากการขายไฟฟ้าที่ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้รับ จะมีการบวกรวมต้นทุนโครงการลงทุนต่างๆ และผลตอบแทนการลงทุนตามแผนที่ได้แจ้งกับทาง กกพ. ไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าไปแล้ว แต่ในกรณีที่เมื่อถึงเวลาตามที่แจ้งในแผน ทั้ง 3 การไฟฟ้า ยังไม่ได้ลงทุนในโครงการนั้นๆ หรือโครงการนั้นๆ ถูกชะลอออกไป กกพ. ก็จะสามารถเรียกเงินส่วนที่คิดคำนวณไว้เกิน ซึ่งรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าตามต้นทุนที่ประเมินการลงทุนต่างๆ ไปด้วยแล้วดังที่กล่าว กลับคืนมา พร้อมอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคือเงิน แ นั่นเอง

ตัวอย่างของการนำเงิน Claw Back มาใช้เมื่อครั้งเกิดการระบาดของโควิด – 19 โดยทาง กกพ. เห็นชอบใช้เงินที่ส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน หรือ นี้ จาก กฟผ. กฟน. และ กฟภ. บวกเงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน มาใช้เยียวยาผลกระทบจาก “โควิด-19” ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย รวม 22 ล้านครัวเรือน ตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกับข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่ให้ กกพ. หาแนวทางเยียวยาลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจากสถานการณ์ดังกล่าว

ที่ผ่านมา กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลและเรียกคืนเงิน Claw Back เป็นรายปี เพื่อนำมาบริหารจัดการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าหากค่าไฟฟ้าปรับขึ้นตามต้นทุน โดย กกพ. มักจะนำเงินส่วนนี้มาใช้ในการพยุงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ราคาค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงิน Claw Back ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ที่รวมอยู่ในกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ปัจจุบันมีสะสมอยู่ตามมาตรา 97 (1) ประมาณ 20,000 ล้านบาท

Claw Back จึงเป็นเหมือนเครื่องมือสำคัญ สำหรับเติมเต็มบทบาทและภารกิจของ กกพ. ในการดูแลอัตราค่าไฟฟ้า ให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า

และจากการประกาศลดค่าไฟ งวด พ.ค. - ส.ค. 68 จากเดิมที่ กกพ. กำหนดไว้ 4.15 บาทต่อหน่วย เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยนั้น ส่วนสำคัญคือการนำเงิน Claw Back จำนวน 12,200 ล้านบาทออกมาอุดหนุนนั่นเอง 

ส่องโซเชียลจีน หาคำตอบว่าทำไมถึงไม่มาเที่ยวไทย ชี้ ส่วนใหญ่หวั่นความปลอดภัย - ที่พักแพง - ไร้แหล่งท่องเที่ยวใหม่

เพจเฟซบุ๊ก ‘เขียนไว้ให้เธอ’ ของ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’ ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และอดีตผู้บริหาร ดีแทค ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีนักท่องเที่ยวจีนที่มาเดินทางมาเที่ยวไทยลดลงอย่างต่อเนื่องว่า ...

ไปส่องโซเชียลจีนว่าทำไมถึงไม่มาไทย

ผมมีร้านชาบูที่หุ้นกับน้อง ๆ อยู่แถวราชประสงค์ ตั้งแต่วาเลนไทน์มา นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นเกือบครึ่งของลูกค้าร้านโดยปกตินั้น หายไปอย่างน่าใจหาย สวนทางกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่ไปญี่ปุ่นมากขึ้นมาก เหมือนกับว่าเขาเลิกเห่อไทยไปแล้ว สงกรานต์ก็ยังไม่กลับมา แน่นอนว่าหลายคนก็บอกว่าเราไม่ง้อก็ได้ ไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา แต่ร้านผมเดือดร้อน ก็เลยสงสัยว่าทำไมเขาไม่มาไทย  

ผมเลยวานน้องเฟิร์น น้องสาวคนเก่งที่ทำธุรกิจที่จีน ช่วยธุรกิจไทยไปจีน และวางแผนเรื่องการตลาดนักท่องเที่ยวจีนไปส่องดูตามโซเชียลหน่อยว่าที่จีนเขาพูดถึงการมาเที่ยวไทยว่าอย่างไรบ้าง ถ้าดูแล้วหมดหวังก็จะได้ทำใจ หาทางแก้ปัญหาร้านในทางอื่นไป

เฟิร์นก็ใจดี ช่วยให้ลูกทีมจีนไปส่องแบบคร่าว ๆ อาจจะพอได้ feeling บ้าง แต่หน่วยงานที่สนใจอาจจะต้องทำการบ้านหนักกว่านี้ถ้าจะได้ข้อมูลเชิงลึก เท่าที่เขาสรุปมาให้หลัก ๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนน้อยลงก็มีอยู่หลายประเด็น  หลายเรื่องก็เป็นเรื่องจริง หลายเรื่องก็เข้าใจผิด  

ต้องเริ่มก่อนว่า เราคุยกันถึงนักท่องเที่ยวจีนทั่วไปที่มีกำลังซื้อ มาราชประสงค์ มากินชาบูนะครับ  จีนใหญ่มาก เราไม่พูดถึงทัวร์ศูนย์เหรียญหรือจีนเทา ซึ่งก็คงไม่ได้มาเมนต์อะไรแบบนี้  ..
…….
ประเด็นแรกที่เขาไม่อยากมาคือความไม่ปลอดภัย มีข่าวลือเรื่องการถูกลักพาตัว ขโมยอวัยวะ และมีข่าวฆาตกรรม มีคนจีนที่ไม่ดี (สีเทา) อยู่จีนไม่ได้เลยเลือกมาตั้งรกรากที่ไทยจำนวนมาก มีปัญหาอะไรขึ้นมา ตำรวจไทยแทบจะช่วยอะไรไม่ได้ ระบบ city security ล้าหลัง กล้อง CCTV น้อยมากซึ่งทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย (เมืองจีน cctv เต็มเมือง เขาชินกับความอุ่นใจแบบนั้น) 

ประการที่สอง เมืองไทยมีภาพว่าถ้ามาอยู่ยาว ๆ มาอาศัยเลยนั้น 'ถูก' แต่ถ้ามาเที่ยวคือ 'แพง' บ้านถูกที่ไทยแต่โรงแรมแพง อาหารในห้างไทยเทียบกับอาหารในห้างญี่ปุ่นราคาเท่ากัน ญี่ปุ่นเลยน่าไปกว่า

ประการที่สาม ไทยไม่ได้มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรพัฒนามา 10 ปีแล้ว 10 ปีก่อนเป็นแบบไหนก็ยังเป็นแบบเดิม ที่เที่ยวเดิม ๆ ไม่ดึงดูด การเดินทางถ้าอยู่นอกเส้นรถไฟฟ้าไปมาลำบากมาก

ประการที่สี่ คือตัวอย่างข่าวร้าย ๆ ที่ไทย ไม่มีข่าวดีเลย ทำให้มีภาพว่าระบบจัดการไทยไม่ดี ไม่ปลอดภัย ผมยกข่าวที่เขาไปเจอมาดื้อ ๆ เลยละกัน  

1.รถบรรทุกชนรถที่จอดอยู่ในเลนส์ฉุกเฉินบนทางด่วน
Link 泰国高速路应急车道换尿布引发惨剧:10 人乘车 8 人遇难
2. ถนนในประเทศไทยเกิดหลุมยุบลึก 3 เมตรกะทันหัน คู่รักที่กำลังเดินเล่นพลัดตกลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งถนนเส้นนี้เพิ่งได้รับการปรับปรุงใหม่เมื่อเดือนก่อนเท่านั้น
Link 泰国街道突现3米天坑,情侣散步意外坠落,道路一个月前才翻新
3. นักท่องเที่ยวจีนถูกต้นไม้ทับขณะกำลังจะเดินไปเล่นเครื่องเล่น
Link 泰国特色旅游项目突发意外致中国游客一死一伤!警惕,该项目已多次发生事故
4. นักท่องเที่ยวจีนก่อเหตุ kill สาวประเภทสองในประเทศไทย
Link 中国游客泰国杀害变性人,残忍分尸啖脏
5. โรงงานสารเคมีระเบิดใกล้กับอาคารผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิ
Link 泰国一化工厂发生爆炸,已致20多人受伤,附近机场候机楼震感明显
6. เด็กอายุ 14 ยิงกราดที่พารากอน หนึ่งในผู้เสียชีวิตมีคนจีน 1 คน
Link 曼谷购物中心枪击案造成中国公民1死1伤 泰总理发文哀悼,国际,国际社会,好看视频
7. คนชาวจีนถูกตำรวจไทยและอดีตตำรวจ ร่วมกันก่อเหตุลักพาตัวและเรียกค่าไถ่
Link 泰国警方:5名在泰中国公民遭绑架勒索,多名泰国警察涉案
8. นั่งท่องเที่ยวชาวจีนพลัดตกจากชั้น 4 ของโรงแรมดังที่พัทยา
Link 芭提雅某酒店内一中国女游客意外坠楼 - 泰国头条新闻
9.ตึกถล่มที่ประเทศไทยหลังจากเกิดแผ่นดินไหว เหตุเกิดจากโครงสร้างบางส่วนไม่เป็นไปตามมาตรฐาน
Link 泰工业部:国家审计署大楼坍塌 部分钢材样品不达标 | 联合早报
10. หญิงชาวจีนถูกลักพาตัวในประเทศไทย 
Link 女子遭绑架遇车祸跳车自救,与嫌犯认识约10天,最新消息→

ประการที่ห้าที่ช่วงสงกรานต์คนจีนน้อยลงก็เพราะมณฑลทางตอนใต้ของจีนจัดเทศกาลสาดน้ำกันเอง เป็นเทศกาลประจำปี ปลอดภัยกว่าและไม่ต้องบินออกนอกประเทศด้วย   แต่มีกลุ่มหนึ่งที่อยากมาเมืองไทยเพิ่มขึ้นก็คือ LGBTQ (ซึ่งน่าจะต้องชม S2O ของวู้ดดี้ที่เป็น destination ใหม่ของไทยในปีที่ผ่านมา)  

ประเทศแต่ละประเทศก็มียุครุ่งเรือง มียุคตกต่ำ เหมือนห้างสรรพสินค้า สวนสนุก หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เหมือนแต่ก่อน CBD ไทยก็คือวังบูรพา แล้วค่อยๆย้ายมาเป็นปทุมวัน ในแต่ละปีก็จะมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ มีสถานที่ที่ดึงดูดใจมากขึ้น ใครปรับปรุงให้ทันยุคทันสมัยก็จะพออยู่รอดได้ แต่ถ้าปรับไม่ทันก็จะเจอสภาพเหมือนไทยเจออยู่ตอนนี้   

และในความย้อนแย้งก็คือ เมืองจีนตอนนี้น่าเที่ยวมาก ราคาถูก โรงแรมดี สถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม ทันสมัย ไฮเทค เริ่มมี tax refund มีหลากหลายที่ให้สำรวจ ค้นหา วีซ่าก็ฟรี  คนไทยก็ทะลักไปจีนกันอยู่ตอนนี้ น้องที่ทำทัวร์เพิ่งเล่าให้ฟัง…

ความเห็นต่างๆพวกนี้ไปค้นไม่ยากเลยด้วยโซเชียล แต่ค้นมาแล้ว เข้าใจแล้วว่าเขาเข้าใจผิดอะไร หรือเราต้องปรับปรุงอะไร เราจะทำอะไรต่อดีนั้นน่าตั้งคำถามมากกว่า หรือช่างจีนเขา เราไปหาคนรวยประเทศอื่นก็ได้ ถึงกระนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ปล่อยตามยถากรรมแบบเดิมอยู่ดีเพราะคู่แข่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเยอะมาก  

ญี่ปุ่นทั้งสวยและถูกเพราะค่าเงิน จีนก็พัฒนาไปไกล ไปง่ายสวยถูก ใกล้ ๆ เวียดนาม กัมพูชาก็ปรับตัวมาเยอะ สิงคโปร์ก็ทำ man made destination จนติดตลาด .. เมืองไทยจะสร้างอะไรใหม่ จะมีอะไรต่อ ก็ต้องไปลุ้นกัน

ส่วนผมตัวเล็กๆที่เป็นเจ้าของร้านชาบูที่พึ่งนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 50% ก็ต้องคิดใหม่ทำใหม่  เหมือนแม่น้ำที่เปลี่ยนทิศไปแล้ว ไม่ใช่แม่น้ำที่เคยขึ้นและลง พอลงอดทนสักพักเดี๋ยวก็ขึ้น แต่พอเปลี่ยนทิศไป  

ถ้ายืนอยู่กับที่ก็คงไม่มีปลาเหมือนเดิม ถ้าไม่ย้ายตามแม่น้ำใหม่ ก็คงต้องเปลี่ยนวิธีทำมาหากินกันต่อไปนั่นเอง…

เจาะเบื้องลึก ‘กกพ.’ ยอมลดค่าไฟจากมติเดิม 4.15 บาท/หน่วย เหตุถูก ‘รมว.พลังงาน’ กดดันหลังพบกอดเงิน Claw Back 2 หมื่นลบ.

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้มีมติลดค่าไฟเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ซึ่งต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย ครม. ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้มีผลทันทีในรอบบิลพ.ค.-ส.ค. 68

ทั้งนี้ เดิมทีเมื่อวันที่ (1 เม.ย. 68) คณะรัฐมนตรี มีมติ โดยได้มีการอนุมัติเป้าหมายการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่จะประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับรอบเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2568 นี้ ลงเหลืออัตราไม่เกินหน่วยละ 3.99 บาท โดยไม่มีการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ 

พร้อมมอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล คณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว

โดยก่อนหน้านี้ ทาง กกพ. ได้เสนอ 3 ทางเลือกเปิดประชาพิจารณ์ค่าไฟงวด พ.ค. – ส.ค. 2568 โดยกำหนดราคาเอาไว้ที่ 4.15 – 5.16 บาทต่อหน่วย 

จากนั้นทาง กกพ. ได้สรุปการประชาพิจารณ์โดยตรึงค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 68 ไว้ที่ 4.15 เท่าเดิมจากค่าไฟงวดปัจจุบัน

และถึงแม้ว่า ทาง ครม. ได้วางกรอบเป้าหมายให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามที่นายพีระพันธุ์ ได้นำเสนอต่อ ครม. ก่อนหน้านี้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา ทาง กกพ. ยืนยัน จะคงอัตราเท่าเดิม คือ 4.15 บาทต่อหน่วย ไม่สามารถลดได้อีก

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ทาง รมว.พลังงาน ได้เจรจาให้ทาง กกพ.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หาแนวทางลดค่าไฟตามกรอบที่ ครม.ให้ไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ แต่ทาง กกพ. ก็ยังยืนยันเช่นเดิม คือ ทำได้แค่ตรึงไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนั้น ทาง รมว.พลังงาน ได้ตรวจพบว่า ทาง กกพ. มีเงินที่เรียกว่า Claw Back ซึ่งเป็นเงินที่ กกพ. เรียกคืนมาจาก 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในส่วนที่ไม่ได้ใช้ลงทุนตามแผนที่เสนอให้ กกพ. พิจารณา ในช่วงที่มีการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า อยู่ราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาอุดหนุนค่าไฟฟ้า เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน 

และจากการตรวจพบเงินจำนวนดังกล่าวที่ กกพ. เก็บไว้นั้น ทำให้ทาง กกพ. จำต้องยอมลดค่าไฟในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 68 ลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าที่ ครม. กำหนดไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย แบบเสียมิได้ โดยใช้เงิน Claw Back จำนวน 12,200 ล้านเข้ามาอุดหนุน

ทั้งนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า หาก รมว. พลังงาน ไม่ไปตรวจสอบพบเงินจำนวน 20,000 ล้านดังกล่าว ทาง กกพ. จะยอมลดค่าไฟลงเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ตามที่ได้ออกมาประกาศในวันนี้หรือไม่...

‘เอกนัฏ’ เดินหน้าสอยยกแก๊งลอบนำเข้า ‘ฝุ่นแดง’ ส่งทีมบุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังพบเส้นเงินโยง ‘ซินเคอหยวน’

‘เอกนัฏ’ ส่ง ‘ทีมสุดซอย’ บุกจับ ‘หัวจงฯ’ ซ้ำ หลังเจอเส้นทางการเงินจ่ายค่า ‘ฝุ่นแดง’ โผล่ ‘ซิน เคอ หยวน’ ยอดเกิน 111.8 ล้านบาท พบโยง ‘เค เอ็ม ซี’ บริษัทนำเข้ากากอุตฯ รายใหญ่ที่เคยพบการปลอมเอกสาร ผลกรรมการสอบข้อเท็จจริงออกแล้ว ฮึ่ม! ขรก. มีเอี่ยวฟันไม่เลี้ยงแน่ ‘ฐิติภัสร์’ เผยเจ้าหน้าที่แจ้งความเอาผิด บริษัทหัวจงฯ เตรียมรับโทษจำคุก คาด ‘แก๊งศูนย์เหรียญ’ ทำเป็นขบวนการ

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอยของกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ ‘ทีมสุดซอย’ พร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นำหมายค้นจากศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้น บริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับการลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศ ลักษณะเป็นขบวนการในเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ

“ปฏิบัติการตรวจสุดซอยครั้งนี้ เป็นการขยายผลจากบริษัท ซินเคอหยวน สตีล จำกัด ที่มีการขายฝุ่นแดงไปยังบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด และจากการตรวจสอบในระบบคอมพิวเตอร์ พบการจ่ายเงินเกินกว่ารายการจริงมากถึง 111.8 ล้านบาท และยังพบเอกสารข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการ เชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด จ.ปทุมธานี ผู้ประกอบกิจการนำเข้า-ส่งออก ซึ่งถูกดำเนินคดีข้อหาลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงก่อนหน้านี้ด้วย” นายเอกนัฏ ระบุ

นายเอกนัฏ กล่าวด้วยว่า หลังจากช่วงเดือนมีนาคม 68 ที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพบหลักฐานเอกสารประกอบการนำเข้าฝุ่นแดงของ บริษัท เค เอ็ม ซี 1953 จำกัด ถึง กรมศุลกากรนั้น เป็นเอกสารที่ออกจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแห่งหนึ่ง ขณะนี้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้รายงานกลับมายังตนเรียบร้อยแล้ว และพบว่ามีข้าราชการบางรายเข้าไปมีส่วนร่วมการกระทำผิดจริง จึงได้สั่งให้สอบทางวินัยอย่างเด็ดขาดและจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีอาญากับข้าราชการที่กระทำความผิดต่อไป

น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลที่สืบค้นได้จากคอมพิวเตอร์ฝ่ายบัญชีของบริษัท หัวจงฯ พบว่า มีรายการชำระค่าฝุ่นแดงให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ซึ่งมีความผิดปกติ เพราะยอดชำระเกินไปจากมูลค่าจริงถึง 111,862,833.30 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดอายัดเอกสาร คอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิด โทรศัพท์มือถือ ของบริษัท หัว จงฯ  เพื่อนำไปตรวจสอบและขยายผลเครือข่าย รวมถึงเส้นทางการเงินที่อาจมีความเชื่อมโยงไปยังเครือข่ายธุรกิจรีไซเคิลศูนย์เหรียญ 

นอกจากนี้ยังพบเอกสารและข้อมูลการนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศหลายรายการเชื่อมโยงกับ บริษัท เค เอ็ม ซีฯ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ที่ก่อนหน้านี้มีการแจ้งความเอาผิด โดยทีมสุดซอยได้เข้าตรวจค้น หลังพบการกระทำผิดปลอมแปลงเอกสารราชการเพื่อลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงเข้ามาภายในประเทศกว่า 10,262 ตัน ในช่วงเดือน ส.ค. 67 ถึงช่วงต้นปี 68 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้อายัดฝุ่นแดงจำนวน 7,000 ตัน และอายัดวัตถุอันตรายต้องสงสัยอีก 200 ตัน นำส่งกองวิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงาน กรอ. เพื่อตรวจสอบและเป็นข้อมูลในการดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีบริษัท หัวจงฯ และ นายยี่หัน หวัง ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทฯ ฐานครอบครองวัตถุอันตราย และตรวจสอบความผิดฐานลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงซึ่งถือเป็นวัตถุอันตรายเพิ่มเติมอีกด้วย

“ความเชื่อมโยงลักลอบนำเข้าฝุ่นแดงจากต่างประเทศกับบริษัท เค เอ็ม ซีฯ รวมไปถึงธุรกรรมที่ผิดปกติกับบริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ชี้ให้เห็นว่า ทำกันเป็นขบวนการในกลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญที่ไม่เกรงกลัวกฎหมาย ไม่เข็ดหลาบ แม้จะอยู่ระหว่างถูกลงโทษระงับการประกอบกิจการไปแล้ว ที่สำคัญยังไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอันอาจจะเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายที่อยู่ในความครอบครองด้วย” น.ส.ฐิติภัสร์ ระบุ

‘ดร.กอบศักดิ์’ แนะไทยปรับ 3 ยุทธศาสตร์ ฝ่าวิกฤตศรัทธาหลัง Moody’s ลดแนวโน้มเครดิต

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 68) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody’s Investors Service ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยจาก 'มีเสถียรภาพ' (Stable) เป็น 'เชิงลบ' (Negative) สะท้อนความกังวลว่าเศรษฐกิจและฐานะการคลังของไทยอาจอ่อนแอลงในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภาระหนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงออกมาโพสต์เตือนผ่านเฟซบุ๊กว่า การเปลี่ยนมุมมองของมูดีส์ถือเป็นสัญญาณเตือนสำคัญ ซึ่งอาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตของไทยในอนาคต หากไม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหรือจัดการภาระหนี้อย่างจริงจัง

มูดีส์ระบุสาเหตุหลักมาจากความเสี่ยงที่ศักยภาพการเติบโตของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์โลกยังผันผวน โดยเฉพาะนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและห่วงโซ่อุปทานที่ไทยมีบทบาทสำคัญ รวมถึงความเปราะบางของการคลังที่ยังคงมีอยู่ตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด-19

แม้ Outlook เชิงลบจะยังไม่เท่ากับการลดอันดับเครดิต แต่ถือเป็น “คำเตือนอย่างเป็นทางการ” โดยในอดีตก็เคยเกิดขึ้นช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ก่อนที่มูดีส์จะกลับมาปรับมุมมองเป็นเสถียรภาพอีกครั้งในภายหลัง หากไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างแข็งแรง

มูดีส์ชี้ว่า หากไทยสามารถรักษาการเติบโตของ GDP ได้ในระดับ 3–4% อย่างต่อเนื่อง และลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ ก็อาจกลับไปสู่มุมมอง 'เสถียรภาพ' ได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว หรือการเมืองไร้เสถียรภาพจนกระทบต่อการดำเนินนโยบาย ก็มีโอกาสที่อันดับเครดิตจะถูกลดลงจริง

ทั้งนี้ ดร.กอบศักดิ์เสนอแนวทางว่า 1) หลีกเลี่ยงนโยบายหรือพฤติกรรมที่สร้างความกังวลแก่ตลาดและสถาบันจัดอันดับ 2) เตรียมมาตรการรองรับผลกระทบจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์ 3) เร่งสร้างศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืน 3–4% ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมใหม่ การพัฒนาคน และปฏิรูปกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

‘บางจาก’ เดินหน้าขับเคลื่อนน่านฟ้าคาร์บอนต่ำ ตั้งหน่วยผลิต Neat SAF แบบ Stand Alone แห่งแรกในไทย

กลุ่มบริษัทบางจาก เปิดหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel - SAF) ณ โรงกลั่นน้ำมันบางจาก พระโขนง เป็นหน่วยผลิต Neat SAF 100% ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ (Stand Alone) แห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทบางจาก ภายใต้ระบบที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระดับสากล สะท้อนความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมสีเขียวเพื่อความยั่งยืน จากผู้นำพลังงานทดแทนสู่ผู้บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคต

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หน่วยผลิต SAF แห่งนี้เป็นหน่วยผลิต Neat SAF 100% แบบ Stand Alone แห่งแรกของประเทศไทยที่ดำเนินการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง ภายใต้ระบบที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISCC (International Sustainability and Carbon Certification) โดยมีกำลังการผลิตเริ่มต้นที่ 1 ล้านลิตรต่อวัน ใช้เทคโนโลยี HEFA (Hydroprocessed Esters and Fatty Acid) แปรรูปกรดไขมันหรือน้ำมันพืช เช่น น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ที่ผ่านการออกแบบและพัฒนาโดยความร่วมมือกับ 2 บริษัทชั้นนำของโลก คือ Desmet จากประเทศเบลเยี่ยม ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการปรับสภาพวัตถุดิบ (Pretreatment) และ UOP Honeywell จากสหรัฐอเมริกา ผู้นำด้านเทคโนโลยีแปรสภาพไฮโดรโปรเซสซิ่ง (Hydroprocessing) ทำให้กระบวนการผลิตสามารถควบคุมคุณภาพในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบ การปรับสภาพน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว การเติมไฮโดรเจน การปรับโครงสร้างโมเลกุล ไปจนถึงการกลั่นแยก (Fractionation) เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงที่มีคุณภาพเทียบเท่าน้ำมันอากาศยานตามมาตรฐาน ASTM (American Society for Testing and Materials) โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือ Neat SAF และผลิตภัณฑ์ร่วมเช่น Bio-LPG และ Bionaphtha ขณะนี้ หน่วยผลิต SAF อยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะของโรงงาน (Plant Performance Test Run) 

จากข้อมูลขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) และองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ภาคการบินมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 492 ล้านตันต่อปี แม้จะใช้พลังงานเพียงร้อยละ 2.9 ของโลกเท่านั้น การพัฒนา SAF จึงเป็นหัวใจของแผนการลดคาร์บอนในระดับโลก สามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้มากถึงร้อยละ 80 ซึ่งมากกว่าและคุ้มทุนกว่าเทคโนโลยีอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยหลายประเทศได้ออกมาตรการบังคับใช้ SAF (SAF Blending Mandate) ในเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานแล้ว เช่น สหภาพยุโรป (ร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 6 ในปี 2573) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 2 ในปี 2568 และร้อยละ 10 ในปี 2573) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 1 ในปี 2569 และร้อยละ 5 ในปี 2573) สำหรับประเทศไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาการกำหนดมาตรการผสมดังกล่าว

นอกจากช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการบินแล้ว SAF ยังช่วยลดมลพิษทางอากาศอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะแทบไม่มีสารอะโรมาติกเป็นส่วนประกอบ ซึ่งสารนี้เป็นสารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะการกระตุ้นการเกิดโรคมะเร็ง และยังมีปริมาณสารซัลเฟอร์ต่ำมาก จึงช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ รวมถึงลดความเสี่ยงของการเกิดฝนกรดอีกด้วย

โครงการนี้สะท้อนความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมพลังงานของกลุ่มบริษัทบางจาก ต่อยอดจากประสบการณ์กว่า 20 ปีในการพัฒนาพลังงานทดแทน เริ่มจากความร่วมมือกับกรมอู่ทหารเรือในปี 2543 ในการสร้างโรงงานผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อใช้ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา และนำร่องการผลิตและจำหน่ายไบโอดีเซลเป็นรายแรกในประเทศไทยในสถานีบริการน้ำมันบางจากเมื่อปี 2547 นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มโครงการรับซื้อน้ำมันพืชใช้แล้วจากชุมชนและเครือข่าย เพื่อนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลตั้งแต่ปี 2551 จนได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำด้านพลังงานทดแทนของประเทศ และพัฒนามาสู่ผู้บุกเบิกพลังงานแห่งอนาคตด้วยการผลิต Neat SAF ซึ่งให้ความสำคัญกับระบบความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยการรับซื้อน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วผ่านโครงการ 'ทอดไม่ทิ้ง' ที่สถานีบริการบางจากกว่า 290 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยายเป็น 2,000 แห่งภายในสิ้นปี 2568 รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดหาวัตถุดิบกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรภาคธุรกิจในหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมรองรับระบบ Book & Claim ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์กรระดับโลกใช้ในการสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงสะอาด เพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินสามารถร่วมสนับสนุนการลดคาร์บอนได้โดยตรง ผ่านการอ้างสิทธิ์การใช้ SAF ที่ผลิตขึ้นจริง พร้อมได้รับใบรับรองการลดคาร์บอน ช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้อย่างเป็นรูปธรรม

จีนเปิดตัว ‘CIPS 2.0’ ระบบชำระเงินข้ามพรมแดนด้วยหยวนดิจิทัล ‘เร็วกว่า-ถูกกว่า’ ระบบ SWIFT ของสหรัฐฯ เริ่มเปิดใช้งานแล้ว 16 ประเทศ

(29 เม.ย. 68) จีนเดินหน้าเปิดตัว “CIPS 2.0” ระบบชำระเงินระหว่างธนาคารข้ามพรมแดนที่ขับเคลื่อนด้วยเงินหยวนดิจิทัล ซึ่งเริ่มใช้งานจริงแล้วใน 16 ประเทศทั่วเอเชียและตะวันออกกลาง โดยมีเป้าหมายลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และท้าทายสถานะของระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ของสหรัฐฯ ด้วยความเร็วที่เหนือกว่า ค่าธรรมเนียมเกือบเป็นศูนย์ และการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย

ธุรกรรมแรกของ CIPS 2.0 คือการโอนเงิน 120 ล้านหยวนจากเซินเจิ้นไปยังกัวลาลัมเปอร์ ใช้เวลาเพียง 7.2 วินาทีในการประมวลผล ซึ่งเร็วกว่าระบบ SWIFT เดิมที่อาจใช้เวลาถึง 3 วัน ระบบใหม่นี้ยังสามารถรองรับการทำธุรกรรมแบบออฟไลน์ และใช้สมาร์ตคอนแทรกเพื่อตัดจ่ายอัตโนมัติเมื่อเงื่อนไขสำเร็จ

จุดเด่นอีกประการของ CIPS 2.0 คือค่าธรรมเนียมต่ำ เช่น การโอนเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐจะมีค่าธรรมเนียมเพียง 0.12 ดอลลาร์ เทียบกับกว่า 4,900 ดอลลาร์ในระบบ SWIFT ดั้งเดิม นอกจากนี้ ระบบยังใช้ AI ตรวจจับธุรกรรมผิดปกติได้รวดเร็ว เช่น กรณีใน UAE ที่สามารถระบุบัญชีต้องสงสัย 16 บัญชีภายใน 0.3 วินาที

อาเซียนเตรียมแผนใช้หยวนดิจิทัลใน 90% ของการค้าภายในกลุ่มภายในปี 2568 ขณะที่อินโดนีเซียและซาอุดีอาระเบียเริ่มนำไปใช้ในระบบเงินสำรองและสัญญาพลังงาน ด้านโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร แม้จะเร่งพัฒนา “ปอนด์ดิจิทัล” แต่ยังตามหลังจีนเกือบ 2 ปี

ด้าน นักวิเคราะห์มองว่า CIPS 2.0 ไม่ใช่แค่ความท้าทายทางการเงิน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจโลก ที่อาจเปลี่ยนจากการผูกขาดของเงินดอลลาร์ สู่ยุคใหม่ที่การชำระเงินเป็นแบบไร้พรมแดน โปร่งใส และรวดเร็วในระดับประชาชนทั่วไป

'อลงกรณ์-เอฟเคไอไอ.' ห่วงทรัมป์ 2.0 ทำเศรษฐกิจโลกโตต่ำ 3% กระทบไทยเร่งหาทางออกประเทศจัดเวที “ โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“ 

นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์(FKII Thailand) เปิดเผยวันนี้ว่า ไอเอ็มเอฟ.ประเมินล่าสุดว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนกระทบทั่วโลกเป็นลูกโซ่จะส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงจาก 3.3% เหลือ 2.8% ส่วนมิติการค้านั้น การค้าระหว่างสองประเทศคิดเป็นสัดส่วน 3% ของตลาดการค้าโลกซึ่งมีมูลค่า24 ล้านล้านดอลลาร์โดยเมื่อปี 2024 มูลค่าการส่งออกนำเข้าของสหรัฐและจีนอยู่ที่ 582.4 พันล้านดอลลาร์ โดย สหรัฐส่งไปจีน 143.5 พันล้านดอลลลาร์ และจีนส่งไปสหรัฐ 438.9 พันล้านดอลลาร์ 

ซึ่งองค์การการค้าโลก(WTO)มองว่าถ้าสงครามการค้ายังสู้กันด้วยการขึ้นภาษีทำให้2ชาติมหาอำนาจยุติการค้าขายกันแต่ตลาดโลกอีก97%ก็ยังค้าขายต่อไปได้ นับเป็นตัวอย่างมุมมองที่น่าสนใจ

อย่างไรก็ตามผลกระทบยังมีอีกหลายมิติไม่ใช่เพียงเรื่องเศรษฐกิจการค้าและเป็นทั้งโอกาสและวิกฤตขึ้นกับวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศ

อดีตรัฐมนตรีอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทยเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้ง2มหาอำนาจและอยู่ในกลุ่มประเทศเสี่ยงลำดับต้นๆที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและนโยบายทรัมป์2.0ครั้งนี้ แต่จะรอดจะร่วงหรือจะรุ่งจะเป็นโอกาสหรือวิกฤตสำหรับก้าวต่อไปของประเทศไทยหาคำตอบได้ในงานเสวนาโต๊ะกลมของสถาบันเอฟเคไอไอ. ไทยแลนด์ -FKII National Dialogue “โอกาสหรือวิกฤติใหม่เศรษฐกิจไทยภายใต้สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน“

วันพุธที่ 30 เมษายน 2568 
เวลา 13.00-15.30 น.
ณ TVA Hall สวนเสียงไผ่ สถาบันทิวา กรุงเทพมหานคร

ขอเชิญร่วมแสดงความเห็นเพื่อหาทางออกให้กับประเทศไทยในสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน พบกับวิทยากรร่วมเสวนา อาทิ

1. นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบัน FKII Thailand
2. นายชยดิฐ หุตานุวัชร์ ประธานสถาบันทิวา (TVA) และผู้อำนวยการสถาบัน FKII Thailand
ผู้เชี่ยวชาญด้านอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี
3. นายเกษมสันต์ วีระกุล  ประธานซีเอ็ดนักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน ผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
4. ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน อดีตอัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงปักกิ่งผู้เชี่ยวชาญด้านจีน และผู้ร่วมเสวนาโต๊ะกลม

ลงทะเบียนด่วน!!! รับจำนวนจำกัด!!!
ที่ LineOA FKII Thailand: https://lin.ee/BgPCPvd
ติดต่อสอบถาม
091-1805459 (วรวุฒิ)
093-1252012 (ลิต้า)

‘ดร.อาชนัน’ จี้ รบ. เร่งจัดการสินค้าจีนสวมสิทธิ์ ‘บริษัทไทย’ หลังมีผู้ผลิตโซลาร์โดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสุดโหด

นักวิชาการธรรมศาสตร์ เสนอรัฐบาลเร่งคลอดมาตรการป้องกัน ‘จีน’ สวมสิทธิ์บริษัทไทย เร่งฟื้นเชื่อมั่นสหรัฐฯ ผ่านการแก้ปัญหาจริงจัง ระบุควรตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมา และเปิดช่องให้ผู้แทนมะกันเข้ามาร่วมตรวจสอบสถานประกอบการเพื่อความไว้วางใจ

รศ. ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และนักวิจัยศูนย์ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนา เปิดเผยว่า การที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์พลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) จากประเทศในอาเซียนจำนวน  4 ประเทศ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการสืบสวนทางการค้าของสหรัฐฯ ที่ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมการสวมสิทธิ์ของประเทศจีน ที่ได้เข้ามาสวมสิทธิ์ตั้งฐานการผลิตโซลาร์เซลล์ในบริษัทอาเซียน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย โดยผลการตรวจสอบของสหรัฐฯ ในปี 2023 สรุปว่ามีการสวมสิทธิ์ และทำให้เริ่มไต่สวนเพื่อคำนวณอัตราการเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในปี 2024 และสรุปออกมาเป็นตัวเลขที่แน่ชัดได้ในช่วงเดือน เม.ย. 2025 ที่ผ่านมา

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์โซลาร์เซลล์ของสหรัฐฯ แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และภายในประเทศนั้นๆ บริษัทแต่ละบริษัทก็เผชิญภาษีในอัตราที่แตกต่างกัน โดยบริษัทจากมาเลเซียโดนภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการทุ่มตลาดในอัตราที่ต่ำที่สุด ในขณะที่อีก 3 ประเทศเผชิญภาษีดังกล่าวมากกว่าร้อยละ 100  ดังนั้นมาเลเซียและผู้ผลิตโซลาร์ในสหรัฐฯ น่าจะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีนำเข้า ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ด้วยอัตราภาษีในระดับนี้คงยากที่ทำให้เกิดการค้าระหว่างประเทศได้ 

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตโซลาร์ของมาเลเซียโดยลำพังอาจไม่เพียงพอที่รองรับความต้องการของสหรัฐฯ ได้ ดังนั้นราคาโซลาร์ในสหรัฐฯ คาดว่าจะสูงขึ้น และทำให้ความต้องการโซลาร์ลดลง ผลที่ตามมาคือการเปลี่ยนผ่านไปพึ่งพาพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์คาดว่าจะชะลอตัวลง และทำให้ปัญหาสภาวะโลกร้อนรุนแรงขึ้น 

“ในเวลานี้คงเป็นเรื่องยากและอาจจะเลยจุดที่รัฐบาลไทยจะทำอะไรได้มากแล้ว เพราะเป็นกระบวนการที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2024 สหรัฐฯ ตัดสินไปแล้ว ซึ่งเราก็อาจจะอุทธรณ์ได้ในบางกรณีแต่ก็คงไม่ง่าย ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำก็คือการหามาตรการป้องกันเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ซึ่งแน่นอนว่าจะมีมาอีกเรื่อยๆ ในผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพราะการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของโลกมีการแบ่งงานกันระหว่างประเทศ และจีนมีบทบาทในเกือบทุกสินค้า รัฐบาลจึงต้องเตรียมการเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยเดิมอีก” รศ. ดร.อาชนัน กล่าว

รศ. ดร.อาชนัน กล่าวว่า คำแนะนำในเบื้องต้นคือหลังจากนี้ไปรัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ควรจะต้องมีกระบวนการที่เข้มข้นมากขึ้น ในการพูดคุยและเจรจากับผู้ประกอบการจากต่างชาติว่าจะมีแผนหรือกระบวนการต่างๆ อย่างไร เพื่อให้ลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากจีน และหันมาสร้างซัพพลายเชนในไทยมากขึ้น เรื่องดังกล่าวคาดว่าจะเป็นประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการทุกชาติในประเทศไทย  ภาครัฐสามารถใช้กรณีบริษัทผลิตโซลาร์เซลล์ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาว่าหลักเกณฑ์ใดที่เข้าข่ายการสวมสิทธิ์ และแบบใดไม่เข้าข่าย ซึ่ง ช่องว่างของความแตกต่างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องกลับมาทบทวน และถอดรหัสเพื่อหามาตรการรับมือ

“มากไปกว่านั้นคือควรใช้โอกาสจากการที่ไทยกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่การเจรจากับสหรัฐฯ เป็นส่วนหนึ่งในการหารือถึงการทำงานร่วมกันกับสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้า โดยแสดงความจริงใจและความมุ่งมั่นผ่านการนำเสนอกระบวนการทำงานที่เป็นรูปธรรมหลังจากนี้ไป และอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อรับหน้าที่ดังกล่าวขึ้นมาโดยเฉพาะ และเชิญชวนตัวแทนเจ้าที่ทางการจากสหรัฐฯ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งสำหรับร่วมตรวจสอบสถานประกอบการ หรือบริษัทต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการผลิตในไทย หากสามารถทำให้สหรัฐฯ มองเห็นถึงความเอาจริงเอาจังเพื่อจัดการปัญหาเรื่องการสวมสิทธิ์สินค้า ก็อาจจะส่งผลให้อเมริกาพิจารณาผ่อนคลายมาตรการการขึ้นภาษีได้ในท้ายที่สุด” นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top