Sunday, 19 May 2024
COLUMNIST

'มัลคอล์ม แม็กลีน' ผู้พลิกโฉมหน้าการขนส่งสินค้ายุคใหม่ 'ลดต้นทุน-เวลา-แรงงาน'

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับภาพรถบรรทุกขนกล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า 'ตู้คอนเทนเนอร์' ซึ่งตู้เหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างรถบรรทุก, เรือ และรถไฟ 

ในสัปดาห์นี้ จึงขอเล่าเรื่องราวของชายผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์

มัลคอล์ม แม็กลีน (Malcom McLean) ในวัยหนุ่มได้ซื้อรถบรรทุกมือสองและทำธุรกิจขนส่งสินค้าให้แก่เกษตรกร ระหว่างรอการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ แม็กลีน เขาได้สังเกตวิธีการทำงานในยุคนั้นที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก... 

คนงานทยอยขนสินค้าลงจากรถบรรทุกแล้วไปเก็บในคลังสินค้าที่ท่าเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าก็ทยอยขนสินค้าขึ้นเรือด้วยวิธีการชักรอก กว่าจะขนสินค้าขึ้นและลงเรือเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน หากช่วงไหนที่คนงานไม่ว่างหรือสภาพอากาศไม่ดี ก็หยุดทำงาน ส่งผลให้รถบรรทุกต้องจอดรอเป็นเวลานานเสียโอกาสในการไปวิ่งหารายได้ 

เมื่อเห็นดังนั้น แม็กลีน จึงคิดว่าจะมีวิธีการปรับปรุงการขนส่งให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการลดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง แต่วิธีการขนส่งแบบใหม่ที่เขาคิดได้ต้องมีการปรับปรุงหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำมาก จึงได้แต่เก็บความคิดเอาไว้ในใจ

ในปี 1940 แม็กลีนวัย 42 ปี ซึ่งตอนนี้เขาได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น และมีรถบรรทุกมากกว่า 1,700 คัน ก็ได้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเอาไอเดียที่เคยคิดไว้ตอนหนุ่มมาทำให้เป็นจริง 

เขาจึงตัดสินใจขายธุรกิจรถบรรทุก แล้วนำเงินมาซื้อมาธุรกิจเดินเรือ Pan Atlantic Tanker ที่มีเรือขนส่งน้ำมันอยู่ 2 ลำ แล้วยังกู้เงินมาอีก 42 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อท่าเรือและอู่ต่อเรือ เพราะเขามั่นใจว่าวิธีการขนส่งแบบใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งไปได้

แม็กลีน มีความคิดว่า หากสามารถขนเฉพาะส่วน 'หางเทรลเลอร์' ของรถบรรทุกขึ้นไปไว้บนเรือแทนที่จะใช้คนงานทยอยขนสินค้าขึ้นลง จะช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่เมื่อได้ทดลองจึงพบปัญหาว่า 'หางเทรลเลอร์' ที่มีล้อนั้น ลดพื้นที่บรรทุกสินค้าของเรือและยังไม่สามารถเอาหางเทรลเลอร์วางซ้อนกันได้ ส่งผลให้ในเรือหนึ่งลำขนส่งสินค้าได้ไม่มากต้นทุนการขนส่งจึงสูง 

แม็กลีน จึงได้พัฒนาส่วนหางเทรลเลอร์แบบใหม่ที่สามารถถอดล้อออกได้ เพื่อลดความสูงและสามารถวางซ้อนกันได้ แต่หางเทรลเลอร์แบบใหม่กลับใช้งานไม่สะดวกอย่างที่คิด แม็กลีน จึงได้ปรึกษากับ คีธ แทนท์ลิงเกอร์ (Keith Tantlinger) วิศวกรที่ทำงานในบริษัทผลิตเทรลเลอร์ และเขาก็ได้ช่วยออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถแยกออกจากหางเทรลเลอร์ได้สำเร็จ

แล้วความฝันของแม็กลีน ก็เป็นความจริง!! 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1956 เรือ SS Ideal X เรือบรรทุกน้ำมันที่มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บนดาดฟ้าเรือได้ แล่นออกจากท่าเรือที่นิวยอร์กไปยังฮุสตันพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ 58 ตู้และน้ำมัน 15,000 ตัน 

จากนั้นในปีต่อมา เรือ Gateway City เรือคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบของแม็กลีนที่ขนตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 226 ตู้ แต่ใช้เวลาในการขนสินค้าขึ้นลงเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ก็ได้ออกให้บริการ ซึ่งหากเทียบต้นทุนการขนส่งแล้ว แบบเดิมจะอยู่ที่ 5.86 เหรียญต่อตัน ส่วนแบบใหม่จะลดลงเหลือ 0.16 เหรียญต่อตัน ถูกลงมากกว่าเดิมถึง 37 เท่า 

นอกจากนั้นรถบรรทุกและเรือไม่ต้องจอดรอขนสินค้าขึ้นลงเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มเวลาในการวิ่งรับส่งสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การขนส่งวิธีใหม่ของแม็กลีน นอกจากจะเร็วกว่าและถูกกว่าแล้ว สินค้ายังมีโอกาสเสียหายและสูญหายน้อยกว่าวิธีเดิมอีกด้วย เพราะสินค้าไม่ได้ถูกยกขนโดยตรงและยังใช้แรงงานน้อยลง

จากจุดนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วงการขนส่ง ต่างให้ความสนใจกับการขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 1962 ท่าเรือนิวยอร์กได้เปิดตัวท่าเรือแห่งใหม่ที่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งแรกของโลก ตามมาด้วยการเปิดตัวท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ร็อตเตอร์ดัมในปี 1966 และท่าเรือสิงคโปร์ในปี 1972  

แน่นอนว่า ในทุกวันนี้มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทุกท่าเรือหลักของโลก แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้ หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดไม่ได้มาจาก 'มัลคอล์ม แม็กลีน' บุคคลระดับตำนานที่มีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมและการค้าของโลกยุคใหม่


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.pbs.org/wgbh/theymadeamerica/whomade/mclean_hi.html
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/
https://www.maritime-executive.com/article/the-story-of-malcolm-mclean
https://portfolio.panynj.gov/2015/06/23/the-world-in-a-box-a-quick-story-about-shipping/
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/
 

หัวจะระเบิดแล้ว!! ปวดหัวแบบไหน เรียกว่า...'โรคไมเกรน'

'โรคไมเกรน' หรือ การปวดหัวข้างเดียว เกิดจากความผิดปกติในการหดตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มักเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ แต่อาจมีตัวกระตุ้น เช่น แสง สี เสียง กลิ่น อากาศร้อน หรือการมีประจำเดือน มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือปวดสลับข้างกัน หากเป็นมากจะเห็นแสงจ้าหรือแสงระยิบระยับร่วมด้วย ซึ่งการปวดหัวไมเกรนมักดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ (ยาพาราเซตามอลไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามหากรับประทานยารักษาไมเกรนแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจเกิดจาก 'ไมเกรนเทียม' แฝงอยู่ก็เป็นได้ !! 

ไมเกรนเทียมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แต่เกิดจากการเกร็งตัว หรือหดสั้นของกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และฐานกะโหลกศีรษะ โดยกลุ่มกล้ามเนื้อที่มักก่อให้เกิดการปวดคล้ายไมเกรนพบได้หลายมัด เช่น Suboccipital, Upper trapezius, Semispinalis capitis, Splenius capitis, Sternocleidomastoid Muscle ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หลักในการพยุงกะโหลกศีรษะ การหันหน้า และการก้มเงยคอ 
เนื่องจากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีจุดเกาะอยู่ที่กระดูกสันหลังส่วนคอและฐานกะโหลก

เมื่อเกร็งคอและบ่าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการปวดสะสมขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดหัวข้างเดียวเกิดขึ้นเกิดจากไมเกรนเทียมหรือไม่

ทั้งนี้ ไมเกรนเทียมสามารถพบได้บ่อยไม่ต่างจากไมเกรนแท้!! แต่สามารถสังเกตได้!! 

วิธีสังเกตอาการของไมเกรนเทียม สังเกตได้จากเมื่อเกิดการปวดหัวข้างเดียว ขณะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ รวมถึงการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ไมเกรนเทียมยังสามารถพบจุดกดเจ็บ (Trigger Point) หรือกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างบริเวณคอ บ่า และใต้ฐานกะโหลก ซึ่งเมื่อทำการกด นวด หรือยืดกล้ามเนื้อมัดดังกล่าว อาจมีการปวดร้าวไปยังบริเวณต่าง ๆ 

ส่วนวิธีป้องกันไมเกรนเทียมที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องนั่งนาน ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการเกร็งและนำไปสู่การบาดเจ็บได้ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้... 

>> หากต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานควรจัดระดับหน้าจอ เก้าอี้ และคีย์บอร์ดให้เหมาะสม ควรเป็นเก้าอี้ที่มีที่รองแขน เพื่อให้ไม่ต้องออกแรงยกไหล่ขึ้นตลอดเวลา ปรับระดับหน้าจอ และความสูงของเก้าอี้ 

>> ใส่แว่นสายตาและจัดแสงสว่างให้เหมาะสมกับการทำงานประเภทต่าง ๆ เพราะการต้องเพ่งมองมาก ๆ ทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่า และฐานกะโหลกเกร็งตัวมากขึ้น

>> เปลี่ยนอิริยาบททุกชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้วทุกชั่วโมงทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบทและเดินไปเข้าห้องน้ำอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ระหว่างวันควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่อย่างสม่ำเสมอ ดังต่อไปนี้... 

ยืดกล้ามเนื้อบ่า 

เริ่มจากนำแขนข้างที่จะยืดไปไว้ด้านหลัง แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ โดยเอียงศีรษะไปด้านตรงข้าม ช้า ๆ เอียงจนรู้สึกตึงบ่าด้านขวา หรือให้หูซ้ายเข้าใกล้บ่าซ้ายมากที่สุด หากยังไม่รู้สึกตึงให้หมุนหน้าไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย ยืดค้าง 5-10 วินาที รอบละ 10-15 ครั้ง

 

บริหารกล้ามเนื้อฐานกะโหลก

ทำท่าเก็บคาง หรือพยายามเอาคางชิดอกโดยไม่ก้มคอ ห้ามกลั้นหายใจขณะทำ เกร็งค้างเบา ๆ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง

 

บริหารกล้ามเนื้อต้นคอ

...นอนคว่ำ ให้ช่วงอกยื่นออกจากเตียงเล็กน้อย

เก็บคาง ไม่เงยหน้า แต่ให้ออกแรงยกช่วงศีรษะขึ้นมาตรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อด้านหลังคอค้างไว้ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง


อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรนและรับการรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เพราะอาจพบไมเกรนเทียมร่วมด้วยนั้น

เราจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจประเมินและรักษาไมเกรนเทียม โดยการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดี เช่น การประคบร้อนหรือเย็นตามระยะของอาการ การกดจุดหรือยืดกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหา การใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะจุดและการปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน จะช่วยลดปัญหาไมเกรนเทียมได้เป็นอย่างดี


ข้อมูลอ้างอิง
http://www.kulpphysicaltherapy.com/headache.html
https://kokyun.wordpress.com/2011/10/10/the-correct-sitting-posture-in-front-of-a-computer/
https://www.thonburihospital.com/Migraine.html
https://i.pinimg.com/originals/b0/80/90/b080902f6d514f13cd01408a57ff36dc.jpg
https://www.rehabmypatient.com/neck/splenius-cervicis
https://salusmt.com/saturday-stretch-the-suboccipital-group/
 

ส่องประวัติศาสตร์ ‘ฟาโรห์’ ‘ความเชื่อ-คำสาป-ปาฏิหาริย์’ หลักฐานแห่งความลี้ลับจากแดนพีระมิด

บทความนี้ พาไปย้อนประวัติศาสตร์ของแดนพีระมิด ในประเทศอียิปต์กันเล็กน้อย โดยผมอยากมาเล่าเรื่องราวของฟาโรห์ที่เชื่อว่าหลายท่านคงพอผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แต่จริง ๆ แล้วเรื่องของ ‘ฟาโรห์’ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจ และความอัศจรรย์ที่ซ่อนอยู่อีกมากครับ 

ฟาโรห์ (Pharaoh) เป็นชื่อตำแหน่งพระมหากษัตริย์อียิปต์โบราณของทุกราชวงศ์ มีรากศัพท์จากคำว่า ‘pr-aa’ แปลว่า ‘บ้านหลังใหญ่’ อันเป็นคำอุปมาหมายถึง ‘ปราสาทพระราชมนเทียร อียิปต์โบราณ’ หรือ ‘ไอยคุปต์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา มีพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางจนถึงปากแม่น้ำไนล์ โดยปัจจุบันเป็นที่ตั้งของประเทศอียิปต์

อารยธรรมอียิปต์โบราณเริ่มขึ้นราว 3,150 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดยการรวมอำนาจทางการเมืองของอียิปต์ตอนเหนือและตอนใต้ ภายใต้ฟาโรห์องค์แรกแห่งอียิปต์ และมีการพัฒนาอารยธรรมต่อเนื่องเรื่อยหลายพันปี 

ประวัติของอียิปต์โบราณที่เป็นช่วงที่โลกรู้จักกันอย่างมาก เป็นช่วงที่ ‘ราชอาณาจักร’ มีการแบ่งยุคสมัยของอียิปต์แบบมากมายไปตามราชวงศ์ที่ขึ้นมาปกครอง จนกระทั่งถึงราชอาณาจักรสุดท้าย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘ราชอาณาจักรกลาง’ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการพัฒนามากมาย และก็ค่อย ๆ ลดลง อันเป็นเวลาเดียวกันที่ชาวอียิปต์พ่ายในการทำสงครามกับชนชาติอื่น เช่น อัสซีเรีย และเปอร์เซีย จนกระทั่งเมื่อ 332 ปีก่อนคริสต์ศักราช ก็ถึงกาลสิ้นสุดอารยธรรมอียิปต์โบราณลง เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชสามารถยึดครองอียิปต์ และจัดให้อียิปต์เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งในจักรวรรดิมาซิโดเนีย

Maat เป็นทั้งเทพธิดาและตัวตนของความจริงและความยุติธรรม โดยขนนกกระจอกเทศของ Maat แสดงถึงความจริง

นอกจากนี้ ในสังคมอียิปต์โบราณ ‘ศาสนา’ เป็นศูนย์กลางของชีวิตประจำวัน โดยบทบาทหนึ่งของฟาโรห์ คือ การทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเทพเจ้าและผู้คน ดังนั้นฟาโรห์ จึงเป็นตัวแทนของเทพเจ้าในบทบาทที่เป็นทั้งผู้ปกครองและผู้นำทางศาสนา รวมถึงเป็นเจ้าของดินแดนทั้งหมดในอียิปต์ สามารถออกกฎหมายเก็บภาษี และปกป้องอียิปต์จากผู้รุกรานในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ส่วนในทางศาสนาแล้วฟาโรห์ทรงเป็นผู้นำในพิธีกรรมทางศาสนา และทรงเลือกสถานที่ตั้งของวัด มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษา Maat หรือ Maʽat (ระเบียบจักรวาลแห่งความสมดุลและความยุติธรรม) และรวมไปถึงการเข้าสู่สงครามเมื่อจำเป็น เพื่อปกป้องประเทศ หรือโจมตีผู้อื่นเมื่อเชื่อว่า สิ่งนี้จะมีส่วนช่วย Maat เช่น เพื่อการเพิ่มพูนทรัพยากร

ก่อนการรวมกันของอียิปต์ตอนบนและตอนล่าง Deshret หรือ "มงกุฎสีแดง" เป็นตัวแทนของอาณาจักรอียิปต์ตอนล่าง ในขณะที่ Hedjet ซึ่งเป็น "มงกุฎสีขาว" ถูกสวมใส่โดยกษัตริย์ของอาณาจักรแห่งอียิปต์ตอนบน หลังจากการรวมอาณาจักรทั้งสองเป็นหนึ่งเดียว จึงเป็นการรวมกันของมงกุฎทั้งสีแดงและสีขาวกลายเป็นมงกุฎของกษัตริย์อย่างเป็นทางการ เมื่อมีการเริ่มใช้ผ้าโพกศีรษะในช่วงระหว่างราชวงศ์ต่าง ๆ บางครั้งมีการพรรณนาถึงการสวมใส่เครื่องประดับศีรษะหรือมงกุฎเหล่านี้ด้วย

มัมมี่โบราณจากราชวงศ์ที่ 18 (1550 ถึง 1292 B.C.) เป็นหนึ่งในการค้นพบทางโบราณคดีจำนวนมากในสุสานที่อยู่ในเมืองลักซอร์ อียิปต์

แน่นอนว่าหากพูดถึงอียิปต์ อีกเรื่องที่ต้องพูดถึง คือ มัมมี่ (Mummy) หรือ ศพที่ดองหรือแช่ในน้ำยาพิเศษตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ ที่มีการพันทั่วทั้งร่างกายด้วยผ้าลินินสีขาว เพื่อเป็นการรักษาสภาพของศพ ด้วยเชื่อว่า สักวันวิญญาณของผู้ตายจะกลับคืนร่างของตนเอง 

ตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณ คำว่า ‘มัมมี่’ มาจากคำว่า ‘มัมมียะ’ (Mummiya) ซึ่งเป็นคำในภาษาเปอร์เซีย หมายถึง ร่างของซากศพที่ถูกดองจนกลายเป็นสีดำ ชาวอียิปต์โบราณจะทำมัมมี่ของฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ และนำไปฝังในลักษณะแนวนอนภายใต้พื้นแผ่นทรายของอียิปต์ อาศัยแรงลมที่พัดผ่านในแถบทะเลทรายอาระเบียและทะเลทรายในพื้นที่รอบบริเวณสุสาน เพื่อป้องกันการเน่าเปื่อยของซากศพที่อาบด้วยน้ำยา 

อียิปต์โบราณนั้นมีความเชื่อในเรื่องของชีวิตหลังความตาย การที่วิญญาณหวนกลับคืนร่าง ด้วยเชื่อว่า เมื่อวิญญาณออกจากร่างไปชั่วระยะเวลาหนึ่งจะหวนกลับคืนสู่ร่างเดิมของผู้เป็นเจ้าของ จึงต้องมีการรักษาสภาพของร่างเดิมเอาไว้ โดยการแช่และดองด้วยน้ำยาขี้ผึ้งหรือบีทูมิน (ยางสีดำสูตรเฉพาะในการทำมัมมี่) ซึ่งจะช่วยรักษาและป้องกันไม่ให้ซากศพเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา

ค.ศ. 1922 Howard Carter ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก George Herbert, 5th Earl of Carnarvon เป็นผู้ค้นพบสุสาน KV62 ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน

สำหรับ ‘ฟาโรห์’ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ ‘ฟาโรห์ตุตันคาเมน’ (Tutankhamen) ซึ่งเป็นฟาโรห์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์โบราณ มีพระชนม์อยู่ในราว 1341–1323 ปีก่อนคริสตกาล และเสวยราชย์ราวเก้าปีในช่วง 1332–1323 ปีก่อนคริสตกาลตามลำดับเวลามาตรฐาน อยู่ในช่วงที่ประวัติศาสตร์อียิปต์เรียกว่า ‘ราชอาณาจักรใหม่’ (New Kingdom) หรือ ‘จักรวรรดิใหม่’ (New Empire) นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2010 ผลการตรวจสอบทางพันธุกรรมได้ยืนยันว่า ‘ฟาโรห์แอเคอนาเทิน’ (Akhenaten) มีความสัมพันธ์กับพี่สาวหรือน้องสาวของตน คือ ศพที่ตั้งชื่อว่า The Younger Lady จนมีโอรสด้วยกัน คือ ฟาโรห์ตุตันคาเมน 

ใน ค.ศ. 1922 Howard Carter ซึ่งได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก George Herbert, 5th Earl of Carnarvon เป็นผู้ค้นพบสุสาน KV62 ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งมีสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ จึงกลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนทั่วโลก ทั้งทำให้สาธารณชนสนใจอียิปต์ และหน้ากากพระศพก็ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์โบราณมาจนทุกวันนี้ ส่วนข้าวของเครื่องใช้จากสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน ยังได้ถูกนำไปจัดแสดงทั่วโลก 

นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงการตายของบุคคลหลายคน นับแต่ค้นพบพระศพของพระองค์เป็นต้นมาว่าเกี่ยวข้องกับคำสาปฟาโรห์ ที่มีความเชื่อว่า สุสานฟาโรห์มีเวทมนตร์ที่ทรงพลังในตัวเอง และเชื่อว่ากษัตริย์ที่สิ้นพระชนม์แล้วจะมีวิญญาณที่ทรงพลัง โดยการฝังพระศพในหมู่บรรพบุรุษ อาจจะช่วยให้ฟาโรห์ตุตันคาเมนบรรลุชีวิตหลังความตายได้ 

ถึงกระนั้น ก็ดูเหมือนว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมน จะทรงต้องการถูกฝังไว้ในหลุมฝังพระศพที่สวยงามทั้งในหุบเขาหลักหรือในทุ่งนอกหุบเขาตะวันตกที่ซึ่งเสด็จปู่ของพระองค์ ฟาโรห์อาเมนโฮเทปที่ 3 ทรงถูกฝังอยู่ แต่ไม่ว่าพระองค์จะทรงตั้งใจอะไรก็ตาม ก็เป็นที่ทราบกันว่า พระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกฝังอยู่ในหลุมฝังพระศพที่คับแคบ ซึ่งลึกลงไปในพื้นของหุบเขาหลัก

ฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen)

 

8 เรื่องที่เรา (อาจ) ไม่รู้เกี่ยวกับฟาโรห์ตุตันคาเมน

1.) พระนามเดิมไม่ใช่ ตุตันคาเมน แต่เป็น ตุตันคาเตน ซึ่งแปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘ภาพที่มีชีวิตของเอเทน’ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงที่ว่า พระบิดาและพระมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมนบูชาเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ที่เรียกว่า ‘เอเทน’ หลังจากนั้นไม่กี่ปีในบัลลังก์ ฟาโรห์ตุตันคาเมน กษัตริย์หนุ่มก็ทรงเปลี่ยนศาสนาละทิ้งเอเทน และทรงเริ่มบูชาเทพเจ้าอามุน [ซึ่งเป็นที่เคารพในฐานะราชาแห่งเทพเจ้า] สิ่งนี้ทำให้พระองค์ทรงเปลี่ยนพระนามเป็น ตุตันคาเมน ซึ่งแปลว่า “รูปชีวิตของอามุน”

2.) สุสานหลวงของฟาโรห์ตุตันคาเมนเป็นสุสานหลวงมีขนาดเล็กที่สุดในหุบเขากษัตริย์ ฟาโรห์พระองค์แรกสร้างปิรามิดที่อลังการจนสามารถมองเห็นกลางทะเลทรายทางตอนเหนือของอียิปต์ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงยุคอาณาจักรใหม่ (1550-1069 ปีก่อนคริสตกาล) ความนิยมเช่นนี้สิ้นสุดลง และกษัตริย์ส่วนใหญ่ทรงถูกฝังอยู่อย่างเป็นความลับในสุสานที่สร้างด้วยด้วยหินตัดเป็นก้อน ซึ่งมีการขุดอุโมงค์เข้าไปในหุบเขากษัตริย์ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ที่เมืองธีบส์ทางตอนใต้ (อันเป็นเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน) สุสานเหล่านี้มีประตูที่ไม่สะดุดตา แต่ภายในทั้งกว้างขวางและได้รับการตกแต่งเป็นอย่างดี อาจเป็นไปได้ว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์เสียชีวิตตั้งแต่ยังวัยเยาว์เกินไปที่จะทำตามแผนการอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ได้สำเร็จ หลุมฝังพระศพของพระองค์ยังสร้างไม่เสร็จ ดังนั้นพระองค์เขาจึงต้องทรงถูกฝังไว้ในสุสานที่ไม่ใช่ของราชวงศ์แทน อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากกษัตริย์พระองค์อื่นทรงสามารถสร้างสุสานที่เหมาะสมได้ในเวลาเพียงสองหรือสามปี และดูเหมือนว่า ฟาโรห์เอย์ (Ay) รัชทายาทผู้สืบทอดราชบัลลังก์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สืบทอดบัลลังก์ในฐานะผู้อาวุโสทรงได้ใช้เวลาเพียงสี่ปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์เอย์เองก็ทรงถูกฝังอยู่ในหลุมฝังพระศพที่สวยงามในหุบเขาตะวันตกใกล้กับหลุมฝังพระศพของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 หลุมฝังพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุนที่มีขนาดเล็กอย่างไม่เชื่อ นำไปสู่สมมติฐานที่ว่าอาจมีบางส่วนของสุสานที่ยังไม่ถูกค้นพบ ปัจจุบันนักไอยคุปต์วิทยากำลังตรวจสอบความเป็นไปได้ที่อาจจะมีห้องลับซ่อนอยู่หลังกำแพงฉาบปูนของห้องฝังพระศพของพระองค์

3.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกบรรจุฝังในโลงศพใช้แล้ว มัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนบรรจุอยู่ในโลงศพทองคำสามใบซึ่งประกอบเข้าด้วยกันเหมือนตุ๊กตารัสเซีย ในระหว่างพิธีพระศพจะมีการวางโลงศพไว้ในโลงศพที่ทำด้วยหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า น่าเสียดายที่โลงศพด้านนอกมีขนาดใหญ่เกินไปเล็กน้อย และส่วนนิ้วเท้าของโลงโผล่พ้นขอบโลงศพทำให้ไม่สามารถปิดฝาได้ ช่างไม้จึงถูกเรียกมาอย่างรวดเร็ว และส่วนนิ้วเท้าของโลงศพถูกตัดออกไป กระทั่งกว่า 3,000 ปีต่อมา Howard Carter จึงพบเศษชิ้นส่วนของโลงตกอยู่ที่บริเวณฐานโลงศพ

4.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงโปรดการล่านกกระจอกเทศ มีการค้นพบพัดขนนกกระจอกเทศของฟาโรห์ตุตันคาเมนอยู่ในห้องฝังพระศพใกล้ๆ กับพระศพของฟาโรห์ เดิมพัดประกอบด้วยด้ามจับสีทองยาวที่มี 'ที่จับรูปฝ่ามือ' ทรงครึ่งวงกลมรองรับขนนกสีน้ำตาลและสีขาวสลับกัน 42 อัน ขนเหล่านี้ร่วงโรยไปนานแล้ว แต่เรื่องราวของพวกมันถูกเก็บรักษาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรบนด้ามจับของพัด สิ่งนี้บอกว่า ขนมาจากนกกระจอกเทศที่ฟาโรห์ทรงล่าเองในระหว่างการล่าสัตว์ในทะเลทรายทางตะวันออกของเฮลิโอโปลิส (ใกล้กับไคโรในปัจจุบัน) ฉากนูนบนที่จับรูปฝ่ามือแสดงให้เห็นใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงออกเดินทางบนราชรถเทียมม้าเพื่อล่านกกระจอกเทศ และในทางกลับกันฟาโรห์เสด็จนิวัติอย่างมีชัยพร้อมกับเหยื่อของพระองค์

5.) อวัยวะส่วนหัวใจของฟาโรห์ตุตันคาเมนขาดหายไป ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าสามารถมีชีวิตได้อีกครั้งหลังความตาย แต่คิดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อร่างกายได้รับการรักษาให้อยู่ในสภาพเหมือนจริง สิ่งนี้ทำให้พวกเขาพัฒนาศาสตร์แห่งการทำมัมมี่ขึ้น โดยพื้นฐานแล้วการทำมัมมี่เกี่ยวข้องกับการผึ่งศพให้แห้งในเกลือเนตรอนจากนั้นพันด้วยผ้าพันแผลหลาย ๆ ชั้นเพื่อรักษารูปร่างให้เหมือนจริง อวัยวะภายในร่างกายถูกนำออกเมื่อเริ่มกระบวนการทำมัมมี่ และเก็บรักษาแยกกัน สมองซึ่งเป็นส่วนที่ไม่รู้จักในเวลานั้นว่าทำหน้าที่อะไรถูกทิ้งไป หัวใจในยุคนั้นถูกมองว่า เป็นอวัยวะแห่งการให้เหตุผลแทนที่จะเป็นสมอง ด้วยเหตุนี้หัวใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตหลังความตาย ดังนั้นจึงถูกเก็บไว้ หรือถ้าเอาออกโดยไม่ได้ตั้งใจก็จะเย็บกลับทันที แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมก็ตาม มัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมนไม่มีหัวใจ เรื่องนี้อาจเกิดขึ้นเพียงเพราะ ความประมาทของผู้ทำมัมมี่ แต่ก็อาจเป็นสัญญาณว่า ฟาโรห์ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์จากพระราชวัง เมื่อพระศพของพระองค์มาถึงห้องปฏิบัติการในการทำมัมมี่หัวใจของพระองค์อาจจะเน่าสลายจนเกินกว่าจะรักษาไว้ได้

6.) สมบัติชิ้นที่ทรงโปรดของฟาโรห์ตุตันคาเมนคือ กริชเหล็ก Howard Carter ค้นพบกริชสองเล่มที่ห่ออย่างระมัดระวังในผ้าพันแผลมัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคาเมน กริชเล่มหนึ่งมีใบมีดสีทอง ส่วนอีกเล่มมีใบมีดที่ทำจากเหล็ก กริชแต่ละเล่มมีปลอกทอง กริชเหล็กทั้งสองมีค่ามากเพราะในช่วงชีวิตของฟาโรห์ตุตันคาเมน (ครองราชย์ตั้งแต่ 1336-1327 ปีก่อนคริสตกาล) เหล็กหรือ "เหล็กจากท้องฟ้า" ตามที่ทราบกันดีว่าเป็นโลหะหายากและมีค่า ตามชื่อของมันคือ "เหล็กจากท้องฟ้า" ของอียิปต์นั้นได้มาจากอุกกาบาตเกือบทั้งหมด

7.) เสียงแตรของพระองค์สร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมมากกว่า 150 ล้านคน สมบัติจากหลุมพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนมี เครื่องดนตรีชิ้นเล็ก ๆ ได้แก่ แคลปเปอร์ (Clappers) งาช้าง 1 คู่ ซิสตร้า (Sistra) 2 ตัว (เครื่องเขย่าแล้วเกิดเสียง) และทรัมเป็ตอีก 2 อัน อันหนึ่งทำจากเงินพร้อมปากเป่าสีทอง และอีกอันหนึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยทองคำบางส่วน และดูเหมือนว่า ดนตรีจะไม่ได้อยู่ในลำดับความสำคัญของชีวิตหลังความตายของฟาโรห์ตุตันคาเมนมากนัก ในความเป็นจริงแตรของพระองค์ควรได้รับการจัดประเภทให้เป็นยุทโธปกรณ์ทางทหารจะเหมาะกว่า วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2482 แตรทั้งสองได้ถูกเล่นในรายการวิทยุถ่ายทอดสดของ BBC จากพิพิธภัณฑ์ไคโร ซึ่งมีผู้ฟังประมาณ 150 ล้านคน Bandsman James Tappern ใช้กระบอกเป่าแบบปัจจุบันที่ทันสมัย ซึ่งทำให้กับทรัมเป็ตตัวสีเงินเสียงหาย ในปี พ.ศ. 2484 มีการเล่นทรัมเป็ตสำริดอีกครั้ง และคราวนี้ไม่มีกระบอกเป่าแบบปัจจุบัน ที่ทันสมัยแล้ว บางตำนานใน “คำสาปของฟาโรห์ตุตันคาเมน” อ้างว่า ทรัมเป็ตมีพลังอำนาจในการทำให้เกิดสงคราม การออกอากาศในปี พ.ศ. 2482 จึงทำให้อังกฤษต้องเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

8.) ฟาโรห์ตุตันคาเมนทรงถูกบรรจุในโลงศพที่แพงที่สุดในโลก สองในสามโลงศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนทำด้วยไม้ปิดด้วยแผ่นทอง แต่เป็นที่ประหลาดใจอย่างยิ่งของ Howard Carter ซึ่งพบว่า โลงศพด้านในสุดทำจากแผ่นทองหนา ๆ โลงศพนี้มีความยาว 1.88 เมตร และหนัก 110.4 กิโลกรัม ราคาในวันนี้จะมากกว่า 1 ล้านปอนด์ 

มัมมี่ในขบวนพาเหรดของผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณเดินผ่านกลางกรุงไคโร

ปรากฎการณ์มัมมี่ในขบวนพาเหรดของผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณที่เดินผ่านกลางกรุงไคโรนั้น ทางฟาโรห์ทั้งแปดและราชินีทั้งสี่จะถูกเชิญขึ้นยานพาหนะที่สั่งทำพิเศษ ซึ่งติดตั้งด้วยโช้คอัพพิเศษ โดยมีชาวอียิปต์ร่วมเป็นสักขีพยานในขบวนแห่ของผู้ปกครองอันเก่าแก่ผ่านกรุงไคโรนครหลวงของอียิปต์ 

มัมมี่ 22 ตัว เป็นของฟาโรห์ 18 พระองค์และราชินี 4 พระองค์ มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ถูกเคลื่อนย้ายจากพิพิธภัณฑ์อียิปต์ไปยังสถานที่ตั้งแสดงแห่งใหม่ที่อยู่ห่างออกไปราว 5 กม. (สามไมล์) ด้วยการรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนาสมกับเป็นราชวงศ์ และสถานะที่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งมัมมี่ทั้งหมดจะถูกย้ายไปยังพิพิธภัณฑ์แห่งอารยธรรมอียิปต์ของชาติที่ใหม่ ด้วยขบวนพาเหรดทองคำของฟาโรห์ และมัมมี่แต่ละตัวจะถูกเชิญขึ้นรถที่ได้รับการตกแต่งซึ่งติดตั้งโช้คอัพพิเศษ รวมถึงรถศึกที่ลากด้วยม้าจำลอง 

แต่เดิมบรรดามัมมี่จะถูกตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์อียิปต์อันเป็นสัญลักษณ์ และมีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเยี่ยมชมมากมายในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลอียิปต์หวังว่า พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ (Royal Hall of Mummies) ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบจะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งเงินตราต่างประเทศที่สำคัญของประเทศ โดยห้องโถงได้รับการออกแบบเพื่อให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับภาพจำลองเสมือนจริงของหุบเขากษัตริย์ในเมืองลักซอร์ และพิพิธภัณฑ์ Grand Egyptian แห่งใหม่ โดยเป็นที่เก็บของสะสมของฟาโรห์ตุตันคาเมนที่มีชื่อเสียง เปิดให้บริการใกล้ๆ กับมหาปิรามิดแห่งกิซ่า จนกระทั่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของอียิปต์ได้รับความเสียหายจากความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

'คำสาปของฟาโรห์' (Pharaoh's curse) เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้ว

 

คำสาปของฟาโรห์
แม้ว่า ขบวนพาเหรดของฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์สมัยโบราณผ่านกลางกรุงไคโร จะถูกมองว่า เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนาน แต่มัมมี่ของอียิปต์มีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อโชคลางและลางสังหรณ์ในอดีต ในห้วงเวลานั้นอียิปต์ต้องเผชิญกับภัยพิบัติหลาย ๆ อย่าง เช่น อุบัติเหตุรถไฟชนกันมีผู้เสียชีวิตหลายสิบคนในเมือง Sohag อียิปต์ตอนบน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คนเมื่ออาคารในกรุงไคโรถล่มลงมา จากนั้นเมื่อมีการเตรียมการเพื่อขนย้ายมัมมี่อย่างเต็มที่ คลองสุเอซก็ถูกเรือบรรทุกสินค้า MS Ever Given เกยฝั่งขวางกั้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งสัปดาห์ 

จริยธรรมในการแสดงมัมมี่ของอียิปต์โบราณ จึงกลายเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก โดยนักวิชาการมุสลิมหลายคนเชื่อว่า คนตายควรได้รับการปฏิบัติอย่างให้เกียรติและด้วยความเคารพ และไม่จัดแสดงเป็นสิ่งสนใจ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 อดีตประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ได้สั่งปิดห้องมัมมี่ที่พิพิธภัณฑ์อียิปต์ โดยอ้างว่าห้องนี้ทำให้ผู้ตายเสื่อมเสีย เขาต้องการให้มัมมี่ถูกฝังใหม่แทน แม้ว่าจะไม่สมปรารถนาก็ตาม

อีกมิติวิกฤตไวรัสโควิด มหันตภัย คู่ขนาน... ‘ข่าวปลอม-ข้อมูลไม่ชัด’ ‘ความมั่นคงของชาติ’ ที่รัฐต้องไม่ละเลย

หลายคนอาจมองว่า “ความมั่นคงของชาติบ้านเมือง” มีแค่มิติของการทหาร ตำรวจ การรักษาความสงบเรียบร้อยปลอดภัยจากข้าศึก การก่อการร้าย และภัยพิบัติภายในประเทศ 

แต่แท้ที่จริงแล้วหากเราย้อนกลับไปดูตลอดหน้าประวัติศาสตร์การเมืองโลก เราจะพบว่าเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องและคุณภาพชีวิต คือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองในทุกสังคมทั่วโลก

การลุกขึ้นมาล้มผู้ปกครองล้วนแต่มาจากความขาดความเชื่อมั่นว่าผู้ปกครอง “มีความสามารถ“ หรือ “มีประสิทธิภาพ” ในการบริหารจัดการสังคมในภาวะวิกฤตได้ เช่น การล้มราชวงศ์ชิง หลังไม่สามารถปกครองให้ชนชาติจีนสู้กับชาติตะวันตกที่เข้ามารุมกินโต๊ะชาวจีนในเวลานั้นได้

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ต่างจาก 2 ครั้งที่ผ่านมา ตรงที่กลุ่มของการแพร่เชื้อมีจำนวนมากกว่า 2 ครั้งแรก และมีการกระจายตัวของผู้ติดเชื้อในวงกว้าง ทั้งจากสถานบันเทิงและงานอีเว้นท์ที่มีผู้คนจำนวนมากออกมารวมตัวกัน

เป็นเวลาเกือบ 1 เดือนกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่รุนแรงกว่า 2 ครั้งแรก แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจและวิตกกังวลมากกกว่า 2 ครั้งแรกก็คือ 

(1.) การแสดงความรับผิดชอบ: ประชาชนไม่เห็นระดับผู้นำรัฐบาล ออกมาแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจ ต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่ และปล่อยให้สถานประกอบการดำเนินการ อย่างหละหลวมในช่วงเวลาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

(2.) การสื่อสารที่ไม่ชัดเจน: ปัจจุบันคนไม่มีข้อมูลที่ทำให้ทราบได้ว่า ภาครัฐมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 แค่ไหน? ปัจจุบันไทยมีวัคซีนเท่าไร? วัคซีนที่กำลังจะมาถึงหรือผลิตได้มีอีกเท่าไร? ปัจจุบันมีผู้ฉีดวัคซีนไปแล้วเท่าไรแล้วและเป็นใครบ้าง? และแผนการฉีดวัคซีนต่อวันเป็นอย่างไร? 

เราเห็นข่าวประชาชนจำนวนหนึ่งที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ที่ไม่สามารถหาเตียงเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลได้ เราเห็นผู้คนจำนวนมากตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่มีการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนตั้งแต่แรก แต่กลับมาทำในช่วงหลังที่โดนกระแสโจมตีจากประชาชน

ในทางจิตวิทยา มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อพบเจอกับสิ่งที่ตนไม่รู้ และคาดคะเนไม่ได้ มันจะทำให้พวกเขาขาดกรอบอ้างอิง (Frame of Orientation) ว่าพวกเขาอยู่ตรงไหนและ กำลังจะพบเจออะไรในอนาคต 

คำถามหรือประเด็นข่าวสารเหล่านี้ ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สามารถคาดคะเนหรือเห็นภาพของสถานการณ์ทั้งหมดได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดสะสม อันจะนำไปสู่ช่องโหว่ให้เกิดการแพร่กระจายความลือ ความปลอมได้อย่างง่ายดาย

สิ่งที่ภาครัฐต้องทำในเวลานี้ คือ การแสดงท่าทีระดับผู้นำของภาครัฐที่มีความเข้มแข็งชัดเจน มีตัวเลขและข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย ประกอบกับประชาสัมพันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้าง

ผมขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับข่าวปลอมในช่วงไวรัสโควิด เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยใน Los Alamos National Laboratory รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่งานวิจัยที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลจากทวิตเตอร์กว่า 1.8 ล้านแอคเคาท์ แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI จนพบรูปแบบหรือพฤติกรรมของการเผยแพร่ข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิด

งานวิจัยดังกล่าวพยายามวิเคราะห์และสังเคราะห์ให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของการเผยแพร่ ดัดแปลงข่าวสาร และการใช้คำที่ผสมอารมณ์ความรู้สึกเพื่อให้เกิดความรู้สึกลบ กระตุ้นให้ผู้รับสารเชื่อและแชร์สารต่อไปในวงกว้าง 

โดยทีมวิจัยระบุว่า เป้าหมายหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เพื่อที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำข้อมูลจากการวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ไปใช้ในการ “วางแผน” เพื่อการทำข้อมูลที่ถูกต้องในประชาสัมพันธ์ เพื่อที่จะได้ต่อสู้กับข่าวปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพก่อนที่มันจะทำให้คนเชื่อไปในวงกว้าง

ผมคิดว่าอาจถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลไทย หรือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) จะต้องเริ่มทำงานอย่างเป็นระบบ มีการใช้ข้อมูลทางวิชาการ ข้อมูลจากการวิเคราะห์พฤติกรรมในโซเชียลมีเดีย ให้รู้ว่าแนวโน้มข่าวลือ ความปลอมเป็นอย่างไร 

เพื่อจะได้ทราบว่าจะวางแผนในการนำข้อมูลข่าวสารไปให้ถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยงต่อการวิตกกังวลในการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เพราะหากประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริง และตื่นตระหนกด้วยข่าวลือความปลอมที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตามาคือการบริหารบ้านเมืองในภาวะวิดฤตที่จะทำได้ยากขึ้น เพราะคนจะขาดความเชื่อมั่นในการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในปฏิบัติการต่าง ๆ และสุดท้ายจะส่งผลเสียต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย รวมถึงส่งผลเสียต่อประชาชนทุกคนในประเทศนี้ด้วย


ข้อมูลอ้างอิง 
https://losalamosreporter.com/2021/04/14/rep-christine-chandler-speaks-to-county-council-on-legislative-session-what-passed-how-covid-measures-worked/
https://www.independent.co.uk/life-style/gadgets-and-tech/ai-bill-gates-covid-conspiracy-b1834287.html
 

ถอดรหัส​ 'วันทอง'​ รอยต่อ​ ​'ความสำเร็จ'​ ของช่องวัน ขึ้นแท่น “นัมเบอร์วัน” ละครหลังข่าว

ปรากฏการณ์ละครเรื่อง “วันทอง” ของช่อง ONE31 ที่จบไปเมื่อช่วง 20 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้วงการละครหลังข่าวกลับมาคึกคักอีกครั้ง กับการทำเรตติ้งตอนจบด้วยการทะยานขึ้นเป็นที่ 1 ด้วยตัวเลข 7.767 (ทั่วประเทศ)  และ 9.280 (กรุงเทพฯ) ประสบความสำเร็จที่วัดออกมาได้จากเรตติ้งในยุคที่ช่องไหนก็ต้องการ และเป็นเรตติ้งละครหลังข่าวของช่องวันที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ก่อตั้งช่องมา ส่งผลให้ช่องวันขยับเรตติ้งแซงช่อง Mono 29 มาเป็นที่ 3 ประจำสัปดาห์ของวันที่ 19-25 เมษายน 2564 เพราะละครเย็นของช่องวันก็มีเรตติ้งแรงดีไม่มีตกเช่นกัน กับละครเรื่องดงพญาเย็น นอกจากเรตติ้งทางทีวี ในตอนจบของวันทอง โลกออนไลน์ก็ร้อนแรงด้วยการติดเทรนด์ Twitter ที่ 1 ประเทศไทย และที่ 3 เทรนด์โลก, เทรนด์ Youtube อันดับ 1 ฉากประหารวันทอง, เทรนด์ Google อันดับ 1 คำค้นหา วันทองตอนจบ รวมไปถึง TikTok ที่มียอดวิวรวม 500 ล้านวิว 

การได้มาของเรตติ้งและการถูกพูดถึงในโลกออนไลน์อย่างถล่มทลาย คงไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอน หากย้อนดูตั้งแต่การโปรโมทก่อนที่ละครจะออกอากาศ ทั้งโลโก้ช่องวันที่ทำเฉพาะกิจให้สอดคล้องกับละคร รวมถึงเพลงประกอบละคร “เพลงสองใจ” ที่ได้นักร้องคุณภาพอย่าง ดา เอ็นโดรฟิน มาถ่ายทอดความรู้สึกของวันทองให้คนดูได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น กับท่อนติดหูอย่าง “ใครจะอยากเป็นคนไม่ดี ผิดที่ใจไม่จำว่ามันไม่ควรรักใคร” ปล่อยออกมาให้คนฟังได้ฟังก่อนละครจะออกอากาศเกือบครึ่งเดือน และความสำเร็จของเพลงนี้ ส่งผลให้เพลงสองใจใน Youtube ทะลุ 100 ล้านวิวเพียงแค่ 41 วัน กลายเป็นเพลงไทยสากลที่ทำยอดวิวทะลุร้อยล้านวิวได้เร็วที่สุด แม้ว่าละครจะจบไปแล้ว เพลงสองใจยังได้รับความนิยมทั้งการเปิดในวิทยุ และการฟังผ่านทาง Music Streaming ซึ่งตัวเลข 200 ล้านวิวไม่น่าไกลสำหรับเพลงนี้ 

อีกหนึ่งกลยุทธ์ของช่องวันคือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 10-12 เมษายน 2564 ที่ช่องวัน ได้นำละครเรื่อง วันทอง มาฉายแบบมาราธอน ซึ่งช่องวันเคยทำแบบนี้กับละครหลาย ๆ เรื่องมาแล้ว ทำให้คนที่อาจจะไม่ได้ติดตามดูมาตั้งแต่ตอนแรก ได้ดูย้อนหลังไปพร้อมกันก่อนที่จะเข้าสู่ตอนจบ 2 ตอนสุดท้าย ซึ่งก่อนที่จะฉายตอนจบ ด้วยสโลแกน “อย่าไว้ใจช่องวัน” ทำให้เกิดการถกเถียงในในโลกออนไลน์ ว่าจะจบอย่างไร จะโดนใจคนดูหรือไม่ คนดูน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ช่องวันไว้ใจได้หรือไม่ (ฮ่า ๆ ๆ) แต่นี่คือกลวิธีในการนำเสนอที่ทีมทำละคร พยายามทำให้คนดูได้ลุ้นและติดตามจนกระทั่ง Break สุดท้ายของละครจริง ๆ

ความสำเร็จในครั้งนี้ นอกจากกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กล่าวไป ความสนุกของละครเรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ ผู้กำกับละคร ทีมนักแสดงที่แสดงได้ดีทุกบทบาท ทั้งนักแสดงหลักและนักแสดงสมทบ และทีมเขียนบท กับการนำเสนอตีความของวันทองแบบใหม่ ได้อย่างสนุก ครบรส สอดแทรกแง่คิด และคุยในประเด็นที่ประชากรโลกกำลังคุยกัน สิ่งที่พลเมืองโลกสนใจ เช่น เรื่องความเสมอภาค, สิทธิเสรีภาพ, Women Empowerment และแง่คิดเรื่องการใช้ชีวิตในครอบครัว นี่น่าจะเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จละครไทย ที่ก้าวข้ามผ่านการนำเสนอและกล้าตีความแบบใหม่ ๆ ในการพยายามสื่อสารกับคนดูในครั้งนี้ ความสำเร็จจะสะท้อนออกมาเองจากกระแสตอบรับของคนดู โดยเฉพาะการพูดถึงในโลกออนไลน์ กับเนื้อหาในช่วงตอนสุดท้ายของละคร ที่มีการนำคำพูดของตัวละครมาถกกันต่อในหลายประเด็น เป็นการดูละครในยุคใหม่ ที่มีการ Interactive ผ่านสื่อออนไลน์ได้อย่างทันท่วงที ... และสุดท้าย ละครเรื่องนี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ วรรณคดีสุดคลาสสิกของไทย ที่ถูกเล่าได้อย่างสนุกสนาน สอดแทรกวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของไทยในอดีต ในแบบที่เราพยายามผลักดันความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย หรือ Soft Power ไทยของเรา ซึ่งนี่น่าจะเป็นกรณีศึกษาได้ว่าละคร หรือสื่อบันเทิงไทยของเรา ควรทำยังไงให้ความเป็นไทย ถูกสื่อสารออกมาได้อย่างสนุกและไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดความเป็นไทยแบบพร่ำเพรื่อ 


ข้อมูลอ้างอิง
https://www.tvdigitalwatch.com/rating-19-25-apr64/
https://www.thaipost.net/main/detail/97877
ขอบคุณรูปภาพจาก  IG : @one31thailand

วัยเก๋า...ไกลโรค ป้องกันการล้ม ในผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็นร้อยละ 16 ของประชากรทั้งหมด จึงถือว่าประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) และคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2564 ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged society) ดังเช่น ประเทศญี่ปุ่น, อิตาลี, เยอรมันและสวีเดน

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมสภาพ, ความแข็งแรงเริ่มถดถอย, การทรงตัวแย่ลง จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย การล้มเป็นสาเหตุหลักของการเกิดกระดูกหักในผู้สูงอายุ และยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องย้ายจากบ้านไปอยู่สถานพักฟื้น รวมถึงสภาพจิตใจและอารมณ์ที่เปลี่ยนไป ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการล้มมากถึงร้อยละ 28-35 และผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปเสี่ยงต่อการล้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 32-42 นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตจากการล้มสูงเป็นอันดับ 2 รองจากการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอีกด้วย

ทำไมผู้สูงอายุถึงล้ม
1.) มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
2.) มีความบกพร่องทางการมองเห็น
3.) มีปัญหากระดูกสันหลังหรือหลังค่อม ทำให้ไม่สามารถยืดลำตัวตรง
4.) เป็นโรคความดันโลหิตหรือกินยาบางชนิดที่ส่งผลต่อความดันโลหิต
5.) กล้ามเนื้อขาและสะโพกไม่แข็งแรง

วิธีป้องกันและแก้ไขเบื้องต้น
1.) พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินและแก้ไขปัญหาการทรงตัวที่เกิดจากทางกระดูกหูชั้นใน 
2.) แก้ไขปัญหาสายตา เช่น การตัดแว่นสายตาให้เหมาะสม
3.) เปลี่ยนอิริยาบทบ่อยๆ ไม่นั่งหลังค่อมเป็นระยะเวลานาน
4.) ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านโรคความดันโลหิต
5.) ออกกำลังกายกล้ามเนื้อขาและสะโพก โดยใช้เก้าอี้เป็นอุปกรณ์ช่วยในการออกกำลังกาย ดังนี้

ท่าที่ 1

เขย่งเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

กระดกเท้า : ค้าง 10 วินาที ทำซ้ำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 2     

ย่ำเท้า ซ้าย-ขวา สลับกัน

ยกขาขึ้น ค้าง 10 วินาที แล้วสลับข้าง ทำซ้ำ 40 ครั้ง (ข้างละ 20 ครั้ง)


ท่าที่ 3

แกว่งขาไปด้านหน้า ค้างไว้ 10 วินาที แล้วแกว่งไปด้านหลัง ค้างไว้ 10 วินาที ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

ท่าที่ 4 กางขาออกด้านข้าง ซ้าย-ขวาสลับกัน

กางขา ค้างไว้ 10 วินาที แล้วเปลี่ยนข้าง

ตัวตรง หลังตรง ทำซ้ำข้างละ 20 ครั้ง

การออกกำลังกายดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อขาและสะโพก เมื่อออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะมีส่วนช่วยฝึกการทรงตัวและป้องกันการล้มในผู้สูงอายุได้ นอกจากนี้ลูกหลานต้องให้ความรัก ความห่วงใย ดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงจิตใจให้ท่านมีชีวิตอยู่กับเราไปอีกนาน


ข้อมูลอ้างอิง 
12 Best Elderly Balance Exercises For Seniors to Help Prevent Falls – ELDERGYM®
หกล้มในผู้สูงอายุ อันตรายกว่าวัยอื่นหลายเท่าตัว ปัญหาที่ต้องระวัง • RAMA Channel (mahidol.ac.th)

แฝดคนละฝา !! วัฒนธรรม​ 'เมียนมา-อินเดีย'​ ที่ยากจะแยกออก

คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศที่รับวัฒนธรรมของอินเดียมาแบบเต็ม ๆ แม้จะไม่ได้เป็นประเทศที่นับถือฮินดูเป็นศาสนาหลัก และไม่ได้เป็นเขตอิทธิพลของชมพูทวีปมาก่อน ประเทศนั้นคือเมียนมานั่นเอง สังเกตได้จากเวชภัณฑ์ในเมียนมาร์ส่วนใหญ่มาจากอินเดีย รวมถึงภาพยนตร์อินเดียในเมียนมาก็ยังได้รับความนิยมอย่างสูง

Biogesic ยาพาราเซตามอลจากอินเดียที่ขายดีในเมียนมา

และที่เห็นจนชินตาในสังคมเมียนมา จนนึกว่านี่คือวัฒนธรรมต้นตำรับของเมียนมาแล้วละก็...นั่นคืออาหารอินเดีย ที่มีอยู่มากมายและหลากหลายเมนู ถูกสอดแทรกในร้านอาหารพม่าจนคิดว่านี่คืออาหารพม่าไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ‘ซาโมซา’ และ ’นานเปีย เปียง’  หรือในไทยคือ ‘โรตีโอ่ง’ อาหารชื่อดังของแม่สอด ที่พบเห็นได้เป็นปกติในร้านชาในเมียนมมา รวมถึงร้านชานมใหญ่ ๆ บางร้าน มีอาหารเช้าสไตล์อินเดียอย่าง โตเช ซึ่งเป็นแป้งกรอบทานกับมันฝรั่งบดและซุปถั่วสไตล์อินเดีย

อาหารอินเดียที่พบเห็นได้ในร้านอาหารเช้าในเมียนมา

โตเช

แนนเปียกับชานม

ซาโมซา ทานกับชานม และปาท่องโก๋

แต่ที่เราอาจจะลืมไปแล้ว ว่านี่คือเมนูยอดฮิตของคนเมียนมาที่เป็นอาหารอินเดียแท้ ๆ เลยแบบไม่ได้ทวิสต์แบบไทยคือ ข้าวหมก หรือในพม่าเรียกว่า ‘Dan Pauk’ ออกเสียงว่า ‘แดนเป๊าก์’ ซึ่งในเมียนมามี 2 แบบ คือ ข้าวหมกไก่ และข้าวหมกแพะ เนื่องจากคนเมียนมาส่วนใหญ่ทานเนื้อแพะมากกว่าเนื้อวัว จึงไม่มีข้าวหมกเนื้อขาย

ข้าวหมกในเมียนมานี่เรียกได้ว่าแทบจะถอดแบบข้าวหมกของอินเดียมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะอุดมไปด้วยกลิ่นของเครื่องเทศแล้ว บางทีตักข้าวขึ้นมาเคี้ยว ๆ ติดลูกกะวาน ใบกานพลูขึ้นมาด้วยซ้ำ ข้าวหมกในเมียนมาร์ส่วนใหญ่จะมีใส่ธัญพืชเข้าไปด้วยเช่นเม็ดถั่วลันเตา แครอทเข้าไปเพื่อเพิ่ม Texture ในการทานให้มีความอร่อยมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมียนมา คนเมียนมานิยมใช้ไก่พื้นบ้านของเมียนมามาทำเป็นข้าวหมกไก่ เพราะเนื้อไก่ที่ได้จะมีเนื้อแน่น เวลาทานจะสู้ฟันกว่าไก่ฟาร์มซึ่งจะออกไปทางเนื้อฟู คนเมียนมาจะนิยมทานกับซอสมะม่วงที่มีรสชาติเปรี้ยวเค็ม และพริกป่น ซึ่งจะต่างจากไทยที่ทานกับซอสบ๊วยที่มีรสหวาน


ข้าวหมกไก่ของพม่า  

ข้าวหมกไก่ของไทย

ข้าวหมกในเมียนมาราคาจะอยู่ที่ประมาณ จานละ 1,500 จ๊าด สำหรับแบบสตรีทฟู๊ด ไปจนถึง 3,500 จ๊าด ที่เป็นร้านข้าวหมกมีแบรนด์และมีสาขา คิดเป็นราคาไทยประมาณ 30-70 บาทต่อจาน ข้าวหมกเจ้าดังที่มีหลายสาขาในเมียนมาร์ก็มี KSS, KK, Nilar, Kyat Shar Soe โดยแต่ละร้านจะมีรสชาติแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน ตามแต่ใครชอบรสชาติแบบไหน หากคุณมาเมียนมาและอยากสัมผัสกลิ่นอายของอินเดีย นอกจากอาหารอินเดียที่หาทานได้จากร้านชามแล้ว ข้าวหมกก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก ที่อยากให้คุณได้ลิ้มลองความเป็นอินเดียที่ฝังอยู่ในวิถีชีวิตของคนเมียนมาร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน


ข้อมูลอ้างอิง : ขอบคุณภาพจาก
Biogesic Myanmar Facebook Page
ข้าวหมกไก่สยาม
KSS Briyani Shop
 

Vietnamese Boat People รำลึก ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ ชีวิตสุดสิ้นหวังของผู้อพยพลี้ภัยกลางทะเล

30 เมษายน พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) เป็นวันที่สาธารณรัฐเวียดนาม หรือ ‘เวียดนามใต้’ ล่มสลาย โดยกองกำลังของกองทัพปล่อยปลดประชาชนเวียดนามเหนือกับกองกำลังของเวียตกง สามารถยึดกรุงไซ่ง่อนหรือนครโฮจินมินห์ไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (คำว่า “เวียด” สมัยก่อนสะกดด้วยตัว “ต” แต่น่าจะหลังจากสงครามเวียดนามสงบแล้ว ต่อมาจึงใช้ “ด” สะกดแทน) 

ว่าแล้ววันนี้ ผมขอรำลึกถึง 46 ปี การล่มสลายของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ แต่ขอถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของอีกเรื่องสำคัญที่สะเทือนหัวใจชาวโลกกับ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ หนึ่งในผลลัพธ์ตรงจากเหตุล่มสลายในครั้งนี้ครับ

Alan Kurdi เด็กน้อยชาวซีเรียวัยเพียง 3 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ถ้ายังพอจำกันได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีข่าวเรือมนุษย์จากตะวันออกกลางและแอฟริกาข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปรากฏอยู่มากมาย ทั้งที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรป ตลอดจนเหตุโศกสลดหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาพการเสียชีวิตของ Alan Kurdi เด็กน้อยชาวซีเรียวัยเพียง 3 ขวบ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะเทือนใจไปทั่วโลก 

แต่อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้ เป็นไปตามวงล้อประวัติศาสตร์ เพราะเคยเกิดขึ้นภายหลังจากที่สาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ล่มสลาย เมื่อ 46 ปีก่อน

เรือมนุษย์เวียดนาม (Vietnamese Boat People)

สงครามเวียดนาม หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง’ ส่วนในเวียดนามจะเรียก ‘สงครามต่อต้านอเมริกา’ (เรียกสั้น ๆ ว่า สงครามอเมริกา) เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งในเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ2498 จนกรุงไซ่ง่อนถูกยึดโดยกองกำลังของกองทัพปล่อยปลดประชาชนเวียดนามเหนือกับกองกำลังของเวียดกง เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2518 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิด ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ (Vietnamese Boat People) หรือแปลตรง ๆ จากภาษาอังกฤษจะแปลได้ว่า “มนุษย์เรือเวียดนาม” (แต่ตามคำที่ใช้กันในบ้านเรามาอย่างต่อเนื่องจะใช้ว่า “เรือมนุษย์เวียดนาม” ซึ่งผู้เขียนก็ขอใช้คำว่า “เรือมนุษย์เวียดนาม” เช่นที่ใช้กันมา)

ชาวเวียตนามใต้จำนวนมากแออัดกันรอเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าสถานทูตสหรัฐฯประจำเวียตนามใต้ ณ กรุงไซ่ง่อน

ผู้อพยพลี้ภัย ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ หมายถึงผู้อพยพลี้ภัยที่หนีออกจากเวียดนามโดยทางเรือ หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี พ.ศ.2518 โดยวิกฤตการอพยพครั้งนี้พุ่งสูงสุดในปี พ.ศ.2521 และ พ.ศ.2522 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา และระหว่างเวียดนามกับจีน  แต่ยังคงมีการอพยพต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.2538 ในช่วงการล่มสลายของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ มีการอพยพของชาวเวียดนามมากกว่า 130,000 คน ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลหรือกองทัพสหรัฐอเมริกา และอดีตรัฐบาลของเวียดนามใต้ในระหว่างนั้น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผู้อพยพลี้ภัยจากเวียดนามทางเครื่องบินและเรือไปปักหลักชั่วคราวยังเกาะกวม ก่อนที่จะย้ายไปยังที่พักพิงซึ่งถูกจัดไว้ในสหรัฐอเมริกา ภายในปีเดียวกันกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้เข้าควบคุมกัมพูชาและลาว จึงทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากที่หลบหนีออกจากทั้งสามประเทศ และในปี พ.ศ.2518 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ลงนามในรัฐบัญญัติการอพยพและการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยในอินโดจีน โดยใช้งบประมาณประมาณ 415 ล้านดอลลาร์ในการจัดหาระบบการขนส่งลำเลียง การดูแลสุขภาพ และที่พัก เพื่อให้ผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรือมนุษย์เวียดนาม

ผู้อพยพลี้ภัยอาศัยเรือขนาดเล็กหลบหนีออกมาจากระบอบการปกครองใหม่ของสาธารณรัฐเวียดนาม โดยการออกนอกประเทศในขั้นต้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และการแทรกแซงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่การหลบหนีที่เกิดขึ้น ก็เป็นความผิดกฎหมายทางทะเล ผู้อพยพลี้ภัยมาจากครอบครัวเกษตรกร ชาวประมง และผู้ที่มีอาชีพในชนบทอื่นๆ จึงเข้าหาเรือที่ใช้สำหรับแล่นใกล้ชายฝั่ง แต่เรือเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการเดินทางในทะเลเปิด แต่มันก็เป็นทางเลือกเดียวในการออกเดินทาง จึงเกิดเป็น ‘การอัดยัดครอบครัวลงไปในเรือลำเล็ก ๆ’

แน่นอนว่า ชุมชนและเชื้อชาติที่หลากหลายต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เหตุจากสงครามทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซ้ำร้ายยิ่งกว่าคือในปี พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) ได้เกิดสงครามจีน-เวียดนาม ทำให้ผู้ที่มีเชื้อสายจีนหวาดกลัวต่อความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากเห็นตัวอย่างในการประหารชีวิตและการกวาดจับเข้าค่ายแรงงาน ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยจากสาเหตุนี้ คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพลี้ภัยชาวเวียดนาม 

การหลบหนีออกจากเวียดนามเป็นเรื่องอันตราย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมาก มาจากประเทศอื่นๆ ในอินโดจีนขณะนั้น ซึ่งยากที่จะคาดการณ์จำนวนผู้อพยพลี้ภัยหลบหนีออกจากเวียดนามได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินได้ชัด คือ มีผู้อพยพลี้ภัยหลบหนีมากถึง 1.5 ล้านคน และกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพเสียชีวิตจากการจมน้ำ การขาดน้ำ และเจ็บป่วยระหว่างรอนแรมในเรือ ฯลฯ 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหย โรคภัย และโจรสลัด

นอกจากนี้ คนบนเรือ ยังต้องเผชิญกับพายุโรคความอดอยากและการหลบหนีโจรสลัด เพราะอย่างที่บอกไปว่า เรือลำเล็ก ๆ ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการเดินเรือในน่านน้ำเปิด และโดยปกติแล้วเรือทุกลำมักจะมุ่งหน้าไปยังช่องทางการเดินเรือระหว่างประเทศที่พลุกพล่านทางทิศตะวันออกประมาณ 240 กิโลเมตร (150 ไมล์) ผู้โชคดีจะประสบความสำเร็จด้วยการได้รับการช่วยเหลือจากเรือบรรทุกสินค้า หรือถึงฝั่งหลังจาก 1-2 สัปดาห์หลังจากออกเดินทาง แต่ผู้โชคร้ายจะยังคงเดินทางต่อไปในทะเลที่เต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งบางครั้งก็กินเวลานานสองสามเดือน โดยต้องทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหย, โรคภัย และ ‘โจรสลัด’ 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามหญิงรายหนึ่ง ซึ่งถูกโจรสลัดลักพาตัวไปตั้งแต่ปี พ.ศ..2527 และสาบสูญจนทุกวันนี้

มีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามราว 17-18 คน ที่ต้องเผชิญกับโจรสลัดอย่างน่าเศร้า โดยกลุ่มนี้ โดยสารด้วยเรือยาว 23 ฟุต (7 เมตร) เพื่อพยายามเดินเรือระยะทาง 300 ไมล์ (480 กม.) ข้ามอ่าวไทยไปยังภาคใต้ของไทยหรือมาเลเซีย แต่ท้ายที่สุดเครื่องยนต์เรือสองตัวของพวกเขาเกิดขัดข้อง และในไม่ช้าก็ต้องลอยไปอย่างไร้เรี่ยวแรงและไร้จุดหมาย อาหารและน้ำหมด  

เหตุการณ์หลังจากนั้น คือ เรือดังกล่าวถูกโจรสลัดไทยขึ้นเรือสามครั้งในระหว่างการเดินทาง 17 วัน ข่มขืนผู้หญิงสี่คนบนเรือ และฆ่าคนไป 1 คน ปล้นเอาทรัพย์สินของผู้อพยพลี้ภัยทั้งหมด และลักพาตัวชายคนหนึ่งซึ่งไม่มีใครพบเห็นอีก 

ความโชคดีของผู้เหลือรอด (เรือของพวกเขาจม) คือ พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากเรือประมงไทย และจบลงที่ค่ายผู้อพยพลี้ภัยบนชายฝั่งประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องโจรสลัดยังมีอีกพอสมควรที่ทางประเทศได้ทำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เจอโจรสลัดเข้าปล้นจี้

จากปัญหาโจรสลัดระบาด ในปี พ.ศ.2525 กองทัพเรือจึงได้รับมอบเครื่องบินตรวจการณ์แบบ T-337 G จำนวน 2 เครื่อง จาก UNHCR ตามโครงการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดในทะเล โดยกองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยบินป้องกันและปราบปราม โจรสลัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อทำการปราบปรามการกระทำอันเป็น ‘โจรสลัด’ ในอ่าวไทย ซึ่งหน่วยบินดังกล่าว ได้ปฏิบัติงานอย่างได้ผลดี

อย่างไรเสีย วิบากกรรมของเรือมนุษย์เวียดนาม ช่างน่าสังเวชยิ่งนัก โดยจากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เริ่มรวบรวมสถิติการปล้นจี้ของโจรสลัดต่อผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามในปี พ.ศ.2524 ในปีนั้นมีเรือ 452 ลำบรรทุกผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามเข้ามาในประเทศไทย โดยบรรทุกผู้อพยพลี้ภัย 15,479 คน เรือ 349 ลำถูกโจรสลัดปล้น หญิง 228 คนถูกลักพาตัว และผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม 881 คน เสียชีวิตหรือสูญหาย 

การรณรงค์เพื่อปราบปรามโจรสลัดระหว่างประเทศ จึงเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2525 และสามารถลดจำนวนการปล้นของโจรสลัดลงได้บ้าง แม้ว่าจะยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม ประมาณการจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามที่เสียชีวิตในทะเลสามารถประมาณได้ตามที่ UNHCR ระบุคือ มีผู้เสียชีวิตในทะเลระหว่าง 200,000 ถึง 400,000 คน หรือประมาณการอย่างกว้าง คือ 10-70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามจะเสียชีวิตในทะเล

วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่เป็นที่รับรู้ต่อชาวโลก จนกระทั่งจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น ผู้อพยพลี้ภัยประมาณ 62,000 คนได้ขอลี้ภัยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภายในปี พ.ศ.2521 จำนวนผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 คนภายในกลางปี พ.ศ.2522 โดยอีก 200,000 คน ต้องย้ายไปพำนักถาวรในประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ตอนแรกประเทศใกล้เคียงกับเวียดนามจะยอมรับผู้อพยพลี้ภัยและจัดหาที่ลี้ภัยให้ แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมานโยบายของหลาย ๆ ประเทศเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป

ถึงกระนั้นผู้อพยพลี้ภัย ก็มักเดินทางผ่านหลายประเทศ โดยเริ่มแล่นเรือไปยังประเทศที่ใกล้เคียงที่สุด เช่น มาเลเซีย, ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ซึ่งทาง UNHCR ได้จัดทำข้อตกลงชั่วคราวขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศเหล่านี้ที่เริ่มปฏิเสธรับลี้ภัย แต่จะยอมเป็น “โรงพยาบาลแห่งแรก” ให้ หรือหมายความว่าผู้อพยพลี้ภัยจะอยู่ที่นั่นชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการคัดเลือกและเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา

แม้จะมีข้อตกลงในปี พ.ศ.2522 แต่ประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มรับผู้อพยพลี้ภัยน้อยลง เพราะจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามในประเทศแรกรับผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่พวกเขาจะสามารถบริหารจัดการได้ ในที่สุดความเป็นปรปักษ์ต่อผู้อพยพลี้ภัยก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในแต่ละประเทศทวีความตึงเครียดมากขึ้นตาม ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงปฏิเสธที่จะรับผู้อพยพทางเศรษฐกิจของจีน แต่ยอมรับผู้อพยพลี้ภัยชาวเวียดนาม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติขึ้น

มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากกับการมาถึงของผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงจุดที่ชาวมาเลเซียผลักดันเรือลำหนึ่งที่มีผู้อพยพลี้ภัยอยู่บนเรือราว 2,500 คน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนพื้นเมือง  ด้วย “เส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ที่มีความยาวและความกว้างของประเทศระหว่างชาวมลายูมุสลิม และชาวจีนที่ทานหมู” ด้วยเหตุนี้ในที่สุดมาเลเซียก็จึงเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปฏิเสธจะรับผู้อพยพลี้ภัยเพิ่ม

UNHCR กับภารกิจดูแลช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม บทสุดท้ายของความเลวร้ายจาก ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ ก็มาถึง เมื่อองค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมระหว่างประเทศที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ช่วงเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ.2522 ระบุเรื่อง “วิกฤตการณ์ร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากกรณีของผู้อพยพลี้ภัยจำนวนหลายแสนคน” และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อปัญหาดังกล่าวจากสหรัฐฯ ทางรองประธานาธิบดีวอลเตอร์ มอนเดล หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ จึงได้สรุปผลการประชุมว่า... 

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงที่จะให้ลี้ภัยชั่วคราวแก่ผู้อพยพลี้ภัยเวียดนาม และจะสนับสนุนการเดินทางออกอย่างเป็นระบบ ส่วนบรรดาประเทศตะวันตกต่างตกลงที่จะเร่งการตั้งถิ่นฐานใหม่” 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามจำนวน 346 คน ขณะได้รับการช่วยเหลือจากเรือสินค้า MV Wellpark ในทะเลจีนใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2521 (ค.ศ.1978)

จากผลการประชุมครั้งนั้น ทำให้เกิดโครงการออกเดินทางอย่างเป็นระบบ ที่ทำให้ชาวเวียดนามได้รับการอนุมัติให้เดินทางออกจากเวียดนาม เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้อพยพลี้ภัย ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ และส่งผลให้ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามลดจำนวนลงเหลือไม่กี่พันคนต่อเดือน  แต่กลับเพิ่มการตั้งถิ่นฐานใหม่ขึ้นมาราว 9,000 คนต่อเดือน และในปี พ.ศ.2522 เป็น 25,000 คนต่อเดือน โดยชาวเวียดนามส่วนใหญ่เดินทางไป สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และแคนาดา 

ปิดฉากวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดสิ้นสุดลง แม้ว่าจะยังคงมีผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามเดินทางออกจากเวียดนาม และต้องเสียชีวิตในทะเล หรือถูกกักขังอยู่ในค่ายผู้อพยพลี้ภัยเป็นเวลานาน ต่อมาอีกกว่าทศวรรษก็ตาม

ครอบครัวผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐาน นายแพทย์ Hung Nguyen (คนกลางแถวบน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือ MV Wellpark ถ่ายกับครอบครัวหน้าคลินิกของเขา ในเขต Orange County มลรัฐ California

 

ห่วงโซ่แห่งความห่วงใย หอมกลิ่น ‘น้ำใจ’ จากวิกฤตโควิด

แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 1 ปี นับจากวันที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การระบาดนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ ในวันที่ 30 มกราคม 2563 และประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่ว ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ณ ขณะนี้โควิดก็ยังคงแพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกและทีท่าว่าจะไม่จบง่าย ๆ แม้มีการฉีดวัคซีนกันไปบ้างแล้ว สถานการณ์โควิดรอบโลกยังน่าเป็นห่วง ตัวเลข ณ วันที่ 29 เมษายน 2564 พบมีผู้ติดเชื่อทั่วโลกร่วมแล้วเกือบ 150 ล้านคน สหรัฐอเมริกามีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงที่สุด ตามมาด้วยอินเดีย และบราซิล

ที่มา : Covidtracker - Covid-19 Coronavirus Tracker

ซึ่งบราซิลเป็นประเทศที่นักระบาดวิทยา ระบุว่า มีการกลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์ มีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ในท้องถิ่นบราซิลเอง ซึ่งจะติดง่ายในหญิงตั้งครรภ์ ถึงขั้นว่ารัฐบาลต้องประกาศให้ประชากรชะลอการตั้งครรภ์ ส่วนยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลกต่อวันตอนนี้ คือ อินเดีย มียอดพุ่งสูงกว่าสองแสนรายต่อวัน และมีแนวโน้มว่าจะพุ่งสูงขึ้นไปอีก และที่สำคัญตอนนี้อินเดียมีการกลายพันธ์ุ์ของเชื้อ ซึ่งระบาดเร็วกว่าเดิมและมีแนวโน้มว่าวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพไม่ได้เต็มที่กับสายพันธุ์ใหม่นี้ด้วย ส่วนประเทศที่สถานการณ์ดีที่สุด คือ อิสราเอล อิสราเอลเป็นประเทศเล็ก ๆ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 9 ล้านกว่าคน มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดไป 8 แสนกว่าคน เสียชีวิตไปมากกว่า 6 พันคน นับว่าเป็นอัตราการติดเชื้อและการสูญเสียที่สูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่ขณะนี้อิสราเอลฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้วมากกว่า 53%  ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงสุดในโลก และถึงแม้ว่าจะไม่ถึง 70% ตามที่ WHO ระบุว่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่รัฐบาลอิสราเอลมีความมั่นใจว่าถ้ายังมีการติดเชื้อเกิดขึ้นก็น่าจะน้อยมาก และสามารถจัดการได้ จึงประกาศให้ประชาชนอออกมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติโดยไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยแล้ว (แต่ยังต้องสวมในพื้นที่ปิด)  

ส่วนประเทศไทยเรา ระลอก 3 นี้ สถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว วันละเป็นหลักพันราย ในขณะที่จำนวนโรงพยาบาล และบุคคลกรทางการแพทย์มีจำกัด แม้จะมีการเตรียมทั้งโรงพยาบาลหลัก โรงพยาบาลเฉพาะกิจ (Hospitel) และโรงพยาบาลสนามอย่างเต็มกำลัง แต่ก็ดูเหมือนว่ายังเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอรองรับผู้ป่วย หากอัตราการติดเชื้อยังวิ่งสูงขึ้นทุกวัน และประการสำคัญแม้จะเพิ่มโรงพยาบาลสนามได้ แต่เราเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่ได้ รุ่นพี่ท่านหนึ่งซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังว่า ทีมแพทย์พยาบาลและบุคลากรต้องวางแผนจัดสรรกำลังพลกันอย่างหนัก แทบไม่มีเวลาได้พัก เพราะมีผู้ป่วยใหม่โควิดมาอยู่โรงพยาบาลวันละประมาณ 300 คน ไม่นับคนไข้เดิมที่มีอยู่แล้ว แล้วยังไม่รวมคนไข้ที่โรงพยาบาลสนามที่ก็ต้องการแพทย์ พยาบาลด้วย ได้ฟังแล้วนึกภาพตามได้ชัดเจนถึงภาระอันหนักหน่วงของบุคลากรทางการแพทย์ โควิดรอบนี้ต้องส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์พยาบาลมาก ๆ จริง ๆ ค่ะ 

แต่ในความยากลำบากนี้ เราก็ได้เห็นน้ำใจคนไทย เราได้เห็นผู้คนมากมาย ทั้งดารา นักร้องและประชาชนทั่วไปที่ร่วมกันบริจาคเงิน บริจาคอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อช่วยผู้ป่วย บางท่านก็ทำอาหาร ส่งเสบียงมาให้เจ้าหน้าที่ ดาราบางคนบริจาครถ หรือให้ยืมรถไปใช้เพื่อรับส่งผู้ป่วยติดเชื้อ บางคนอาสาจะช่วยลงแรง เราเห็นน้ำใจหลั่งไหลมาไม่ขาดสาย ผู้เขียนได้อ่านเจอโพสต์ที่น่าประทับใจจนต้องขอนำมาเล่าต่อ คือโพสต์ของอาจารย์หมอท่านหนึ่ง ท่านเล่าถึงน้ำใจของผู้ป่วยโควิด ที่ช่วยทีมแพทย์พยาบาลดูแลผู้ป่วยโควิดด้วยกัน อาจารย์หมอท่านนี้ใช้ชื่อ Facebook ว่า Somnuek Sungkanuparph ท่านเล่าว่าที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ระลอกนี้รับจำนวนผู้ป่วย COVID-19 มาดูแลรักษามากเป็น 4 เท่าของระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว และมีผู้ป่วยสูงอายุจำนวนมาก (สูงสุดคืออายุ 89 ปี) และมีเด็กเล็กจำนวนไม่น้อย มีผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายอย่างและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แต่มีข้อจำกัดของกำลังคนทั้งแพทย์และพยาบาล และการไม่สามารถเข้าห้องผู้ป่วยได้ถี่เหมือนผู้ป่วยปกติ และต้องอาศัยการ VDO call เป็นส่วนใหญ่ ทำให้การติดตามผู้ป่วยไม่สะดวก ทางโรงพยาบาลจึงมีการวางแผนจัดเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสในการช่วยดูแลกัน เช่น 

- ผู้ป่วยที่เป็นพยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล อยู่ห้องเดียวกับ ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
- ผู้ป่วยชายหนุ่มแข็งแรงที่อาการไม่มาก อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยสูงอายุที่เป็น Alzheimer (อัลไซเมอร์)
- ผู้ป่วยอาการไม่มาก อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยน้ำหนักตัวมาก ที่ต้องติดตามใกล้ชิดเนื่องจากความเสี่ยงสูงกว่า ที่จะเกิดปอดอักเสบ
- ผู้ป่วยหญิงวัยกลางคน อยู่ห้องเดียวกับ เด็กเล็กที่พ่อแม่นอนอยู่โรงพยาบาลอื่นหรืออยู่ที่นี่แต่อาการหนักต้องเข้า ICU
- ผู้ป่วยเด็กที่พ่อแม่ไม่ติดเชื้อ อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ข้างบ้าน หรือเพื่อนบ้านข้างบ้าน
- ผู้ป่วยที่ปรับตัวได้และมีความกระตือรือร้น อยู่ห้องเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นต้น 

ท่านเล่าต่อด้วยว่า ผู้ป่วยหลายคนมีความเต็มใจและช่วยดูแลผู้ป่วยคนอื่นในห้องเดียวกันได้ดีมาก และเมื่อผู้ป่วยหายแล้วกำลังจะกลับบ้าน หลายคนก็ถามว่า "ถ้าผมกลับบ้านแล้ว มีใครจะมาช่วยดูแลคุณตาต่อจากผมไหมครับ?" หรือบอกว่า "รู้สึกยินดีมากค่ะ เป็นช่วงเวลาที่ได้ทำประโยชน์แม้ว่าจะเป็นผู้ป่วยอยู่ แต่รู้สึกว่าตัวเองยังมีคุณค่าอยู่ค่ะ" 

พอได้อ่านโพสต์นี้ของคุณหมอแล้ว รู้สึกขอบคุณ รู้สึกซาบซึ้งน้ำใจและความเอื้ออาทรต่อกันของผู้ป่วย ที่นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภาระที่หนักหนาของแพทย์พยาบาลแล้ว ยังช่วยให้คนป่วยโควิดมีคนดูแลให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด ในยามป่วยไข้ที่ต้องอยู่ห่างไกลครอบครัว คนที่รัก และญาติพี่น้องลูกหลานมาเยี่ยมมาดูแลไม่ได้ 

น้ำใจและความห่วงใยที่มีให้กันในยามนี้ย่อมมีคุณค่าและความหมายอย่างมาก..ในฐานประชาชนคนหนึ่งขอขอบคุณผู้ป่วยโควิดที่เต็มใจช่วยเหลือทีมแพทย์พยาบาลอีกครั้ง และขอเป็นกำลังใจให้ทั้งผู้ป่วย คุณหมอ คุณพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ทุก ๆ ท่าน เรารู้ว่าท่านเหน็ดเหนื่อยและเสียสละมากเพียงใด ประชาชนอย่างเราจะปฎิบัติตามและให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่ในการป้องกันโควิด นอกจากวัคซีนแล้ว การมีน้ำใจต่อกัน การมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ไม่ประมาท การ์ดไม่ตก ก็จะเป็นทั้งวัคซีนป้องกันและเป็นยาขนานที่ดีจะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้เหมือนกับ 2 ครั้งที่เราผ่านมาได้เช่นกัน...ว่ากันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จมูกมักจะไม่ได้กลิ่นอะไร แต่ถ้าเราหอมกลิ่นน้ำใจ เราน่าจะยังปลอดภัยจากโควิดใช่ไหมคะ #ทีมไทยแลนด์สู้ๆ 


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.coronatracker.com/country/israel/?fbclid=IwAR3DrabAngd1Sg_sgvVrsW4Ph9HHgcwYxyEUafKcvHpIMqlDKBnKtA4xKks
Covidtracker - Covid-19 Coronavirus Tracker

https://www.facebook.com/ken.sungkanuparph/posts/3938938202808617
 

‘นโยบาย​ -​ ค่านิยม​ -​ ความเชื่อ' รากลึก​แห่ง ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ ในแดนมังกร

“ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้มีพื้นฐานเป็นรากที่ฝังลึกยึดแน่นเหนี่ยวอยู่กับค่านิยมเก่า ๆ วัฒนธรรม ตลอดจนพลวัตทางสังคม การเคลื่อนไหวไปข้างหน้า และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

สำหรับประเทศจีนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศจีนถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดคือเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งในมิติของสังคมชายเป็นใหญ่ และในมิติของเพศที่สาม

ซึ่งก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านก่อนนะครับ ว่าบทความนี้มิได้มีเจตนาในการสนับสนุนหรือโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งยังมิได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือเห็นชอบกับพฤติกรรมการกดขี่ทางเพศ เพียงแต่ต้องการนำเสนอเรื่องราวความเป็นจริงในอดีต รวมถึงเหตุผลที่เป็น “ราก” ของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยในจีนของผู้เขียน การได้รับรู้รับฟังปัญหาจากเพื่อน ๆ และอาจารย์ รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในจีนมาสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ในบทความนี้

จริง ๆ เรื่องนี้มันมีเป็นล้านเหตุผลครับ แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุด และจะหยิบยกมาเล่าในบทความชิ้นนี้มีอยู่ 3 ข้อด้วยกันครับ

1.) นโยบายลูกคนเดียว (One child policy)

2.) วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

3.) ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

นโยบายลูกคนเดียว

ข้อนี้เป็นข้อแรก และเป็นเหตุผลข้อที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศจีนปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องขอเล่าย้อนไปถึงการให้ความสำคัญกับครอบครัวคนจีน การรวมญาติรวมมิตรและวงศ์ตระกูล และการสืบทอดเชื้อสาย ขยับขยาย และเพิ่มพูนสมาชิกครอบครัวที่ถือแซ่เดียวกัน เพื่อเป็นทั้งที่พึ่งพากัน เกื้อหนุนกัน เป็นแรงงานให้กัน สืบทอดกิจการกัน รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมบารมีและสร้างอิทธิพลให้กับแซ่สกุลที่แต่ละคนถืออยู่ ข้อนี้ทำให้ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยครับ ที่อาเหล่ากงและอาเหล่าม่าของผมจะมีลูกด้วยกันทั้งหมด 9 คน…

ชาวจีนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนนิยมมีลูกเยอะ ๆ ครับ มีลูกชายก็เอามาช่วยการงาน มีลูกสาวก็จับแต่งงานแลกกับเงินค่าสินสอด ยิ่งมีมาก ยิ่งหาเงินง่าย ยิ่งสบาย แต่ด้วยความที่คนจีนนิยมมีลูกมาก ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี ค.ศ.1949-1976 ระยะเวลาเพียง 27 ปี จำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านคน จาก 540 ล้านคน กลายเป็น 940 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

ตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่ากลัวเท่าจำนวนประชากรที่ต้องตายเพราะความอดอยาก เฉพาะในปี ค.ศ.1959-1961 เวลาเพียง 2 ปี มีคนจีนอดตายไปอย่างน้อย 15-30 ล้านชีวิต ทางการจีนต้องแก้ปัญหาอย่างด่วนเลยครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของการออกนโยบาย One child policy เพื่อมาแก้ไขต้นตอปัญหาประชากรล้นทำให้รัฐบาลไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

เมื่อมีลูกได้แค่คนเดียว พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่จึงคาดหวังให้ลูกที่เกิดมานั้นเป็นผู้ชาย เพื่อสืบทอดเชื้อสายสกุลแซ่ เกิดการ “พยายามทำให้ได้ลูกชาย” ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยไสยศาสตร์ การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือวิธีการที่โหดร้ายทารุณที่หากพ่อแม่คู่ไหนไม่พอใจที่ได้ลูกสาวก็เอาไปขาย หรือนำไปทิ้ง เพื่อรักษาสิทธิ์ในการมีลูกชายในการคลอดครั้งต่อไป

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่การพยายามทำให้เกิดลูกชายด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้นทำให้สุดส่วนประชากรชายหญิงไม่สมดุลกัน ประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงหลายสิบล้านคน เมื่อประชากรไม่สมดุลกัน ผู้ชายมีจำนวนมากกว่า จึงมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่า อันเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นผลที่ตามมา

วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

การแต่งงานถือเป็น Highlight สำคัญของชีวิตชาวจีน เป็นเป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ ที่จะได้เห็นลูกชายประสบความสำเร็จ ได้เห็นลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา และได้อุ้มหลานตัวน้อยในวัยชราก่อนจะลาจากโลกไป สมัยก่อนชาวจีนวัดค่าการประสบความสำเร็จที่การแต่งงาน ผู้ชายที่แต่งงานคือผู้ชายที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในชีวิตแล้ว ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานก็จะอยู่อย่างสบายภายใต้การดูแลของสามี ไม่ต้องลำบากพ่อแม่อีกต่อไป

ใช่แล้วครับ หลังจากมีการประกาศใช้นโยบายลูกคนเดียว ของพ่อแม่ชาวจีน ความคาดหวังของพ่อแม่ที่จะได้เห็นลูกชายหรือลูกสาวคนเดียวแต่งงานนั้นมีแค่โอกาสเดียว คนเดียว ครั้งเดียว หมดแล้วหมดเลย

ONE CHANCE เท่านั้น !

เอาจริง ๆ พ่อแม่ชาวจีนก็หาทำเหลือเกินครับ ทั้งพยายามจับลูกไปคลุมถุงชนเอย พาไปตลาดนัดหาคู่ หรือสถานที่ที่พ่อแม่ชาวจีนจะเอาข้อมูลและคุณสมบัติของลูก ๆ ไปป่าวประกาศ และทำการดีลกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเพศตรงข้ามกับลูกตัวเอง และพยายามจับคู่หากมีคุณสมบัติที่ตรงใจและราคาสินสอดที่เหมาะสม นี่เป็นสิ่งที่มีในจีนเท่านั้นครับ หาที่อื่นไม่ได้แน่ ๆ ไม่มีคนชาติไหนคิด และทำอะไรทำนองนี้ได้เหมือนอย่างจีนแน่นอน

ซึ่งนั่นก็สร้างความกดดันเป็นอย่างมากให้กับลูก ๆ ชาวจีนที่เป็นความหวังเดียวของพ่อแม่ ยิ่งเป็นผู้ชาย ยิ่งต้องแบกรับภาระในการสืบทอดเชื้อสายสกุล ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุให้คนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกันต้องลำบากใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองให้พ่อแม่ที่คาดหวังให้ลูกชายแต่งงานได้รับรู้ แน่นอนว่าจะต้องทำให้คนเป็นพ่อแม่ผิดหวังไม่มากก็น้อยอย่างปฏิเสธไม่ได้

หากคิดในมุมพ่อแม่ มีลูกได้แค่ครั้งเดียว หวังอย่างยิ่งว่าลูกจะเกิดเป็นชายเพื่อสืบทอดตระกูล ดีใจอย่างมากที่สมหวัง ได้ลูกชายจริง ๆ สมใจ แต่พอลูกชายโตขึ้นมาดันเป็น LGBTQ+ ความคาดหวังทั้งหมดคงจะพังทลายไปจนสิ้น

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ LGBTQ+ มิได้ถูกยอมรับในจีนนัก

ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

ปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนในอดีต และยังทรงอิทธิพลต่อยุคปัจจุบันอย่าง ‘ขงจื้อ’ เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมความกตัญญูเป็นอย่างมาก ขงจื๊อย้ำมากว่า “บุตรต้องดีต่อบิดามารดา บุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา จะต้องไม่ทำให้บิดามารดาขายหน้า หรือเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียง” 

ความเชื่อดังกล่าว ส่งผลต่อสภาพสังคมจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งมันก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ที่จะยอมนำเรื่องเพศสภาพไปเปิดใจคุยกับพ่อแม่ หรือเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ เพราะกลัวจะเป็นการทำให้เป็นที่อับอายของครอบครัว จึงได้แต่อยู่อย่างหลบซ่อน 

มีแอปพลิเคชั่นหาคู่แต่งงานของเหล่าหนุ่มสาวที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งแอปฯ ดังกล่าว เป็นแอปฯ จับคู่ระหว่างผู้ชายที่เป็นเกย์และผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนมาแต่งงานบังหน้า แต่ถึงเวลาจริงก็แยกย้ายกันไปอยู่กับคู่รักของตัวเองที่เป็นเพศเดียวกัน จะมาออกงานคู่กันก็ต่อเมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญที่ต้องฉลองกันเป็นครอบครัว ซึ่งทั้งคู่ก็จะต้องทนเล่นบทเป็นสามีภรรยาที่รักกันต่อหน้าครอบครัวของตัวเองเพื่อปกปิดความจริง

ใช่ครับ นี่มัน 2021 แล้ว แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในจีนนั้นหยั่งรากลึกเกินกว่าจะแก้ให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ด้วยความที่โลกมันก็เปิดกว้างขึ้นในปัจจุบัน ความคิดของคนจีนรุ่นใหม่ก็เปิดกว้างขึ้นแล้วครับ เรื่องนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหน่อย

บางคนถามว่าทำไม่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือออกกฎหมายรับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ก็ต้องย้อนไปดูเรื่องของ “อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ” ของสังคมนิยมในแบบของจีนด้วยครับ สังคมจีนยังคงต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจอยู่ ยิ่งในตอนนี้เป็นยุคสังคมผู้สูงอายุด้วยครับ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเกิดน้อยลง และด้วยความที่ความรักของคนเพศเดียวกันไม่สามารถผลิตลูกได้ หากว่ารัฐมีนโยบายมาสนับสนุนกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดจะยิ่งลดลง

ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าต้องค่อย ๆ ออกนโยบายสนับสนุนให้คนจีนมีอิสระในการให้กำเนิดลูกได้มากขึ้น มากกว่าแค่ 1 หรือ 2 คน เพื่อทำให้อัตราการเกิดกลับมา on point แล้วค่อย ๆ เริ่มวางนโยบายเปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQ+

แต่ก็อย่างว่าครับ เรื่องมันับซ้อนเหลือเกิน ซับซ้อนเกินกว่าจะมาตัดสินโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอ่าน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้ และได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องเพศ มันก็ต้องเชื่อมโยงไปเรื่องนโยบายลูกคนเดียว เรื่องวัฒนธรรมการแต่งงาน และเรื่องขงจื๊อ นี่ขนาดยังไม่ได้เอาเรื่องอุดมการณ์สังคมนิยมแบบฮาร์ดคอร์มาเล่านะครับ

อย่างไรก็ตามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในจีนดีขึ้นมากแล้วครับ เราเริ่มได้เห็นผู้หญิงที่มีความสามารถได้เป็นเจ้าของธุรกิจพันล้าน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติก็มีผู้หญิงอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะยังไม่สามารถเปิดกว้างในเรื่อง LGBTQ+ ได้เหมือนอย่างในประเทศไทย แต่กาลเวลานั้นเดินไปข้างหน้า ไม่ช้าก็เร็วประเทศจีนก็จะต้องมีที่ยืนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแน่นอน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top