Vietnamese Boat People รำลึก ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ ชีวิตสุดสิ้นหวังของผู้อพยพลี้ภัยกลางทะเล

30 เมษายน พ.ศ.2518 (ค.ศ.1975) เป็นวันที่สาธารณรัฐเวียดนาม หรือ ‘เวียดนามใต้’ ล่มสลาย โดยกองกำลังของกองทัพปล่อยปลดประชาชนเวียดนามเหนือกับกองกำลังของเวียตกง สามารถยึดกรุงไซ่ง่อนหรือนครโฮจินมินห์ไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (คำว่า “เวียด” สมัยก่อนสะกดด้วยตัว “ต” แต่น่าจะหลังจากสงครามเวียดนามสงบแล้ว ต่อมาจึงใช้ “ด” สะกดแทน) 

ว่าแล้ววันนี้ ผมขอรำลึกถึง 46 ปี การล่มสลายของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ แต่ขอถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของอีกเรื่องสำคัญที่สะเทือนหัวใจชาวโลกกับ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ หนึ่งในผลลัพธ์ตรงจากเหตุล่มสลายในครั้งนี้ครับ

Alan Kurdi เด็กน้อยชาวซีเรียวัยเพียง 3 ขวบ ซึ่งเสียชีวิตจากการจมน้ำ

ถ้ายังพอจำกันได้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีข่าวเรือมนุษย์จากตะวันออกกลางและแอฟริกาข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนปรากฏอยู่มากมาย ทั้งที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่าง ๆ ในยุโรป ตลอดจนเหตุโศกสลดหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะภาพการเสียชีวิตของ Alan Kurdi เด็กน้อยชาวซีเรียวัยเพียง 3 ขวบ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สะเทือนใจไปทั่วโลก 

แต่อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้ เป็นไปตามวงล้อประวัติศาสตร์ เพราะเคยเกิดขึ้นภายหลังจากที่สาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ล่มสลาย เมื่อ 46 ปีก่อน

เรือมนุษย์เวียดนาม (Vietnamese Boat People)

สงครามเวียดนาม หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘สงครามอินโดจีนครั้งที่สอง’ ส่วนในเวียดนามจะเรียก ‘สงครามต่อต้านอเมริกา’ (เรียกสั้น ๆ ว่า สงครามอเมริกา) เป็นสงครามที่เกิดจากความขัดแย้งในเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ2498 จนกรุงไซ่ง่อนถูกยึดโดยกองกำลังของกองทัพปล่อยปลดประชาชนเวียดนามเหนือกับกองกำลังของเวียดกง เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2518 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิด ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ (Vietnamese Boat People) หรือแปลตรง ๆ จากภาษาอังกฤษจะแปลได้ว่า “มนุษย์เรือเวียดนาม” (แต่ตามคำที่ใช้กันในบ้านเรามาอย่างต่อเนื่องจะใช้ว่า “เรือมนุษย์เวียดนาม” ซึ่งผู้เขียนก็ขอใช้คำว่า “เรือมนุษย์เวียดนาม” เช่นที่ใช้กันมา)

ชาวเวียตนามใต้จำนวนมากแออัดกันรอเฮลิคอปเตอร์บนดาดฟ้าสถานทูตสหรัฐฯประจำเวียตนามใต้ ณ กรุงไซ่ง่อน

ผู้อพยพลี้ภัย ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ หมายถึงผู้อพยพลี้ภัยที่หนีออกจากเวียดนามโดยทางเรือ หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนามในปี พ.ศ.2518 โดยวิกฤตการอพยพครั้งนี้พุ่งสูงสุดในปี พ.ศ.2521 และ พ.ศ.2522 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดที่เกิดจากข้อพิพาทระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา และระหว่างเวียดนามกับจีน  แต่ยังคงมีการอพยพต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ.2538 ในช่วงการล่มสลายของสาธารณรัฐเวียดนามหรือเวียดนามใต้ มีการอพยพของชาวเวียดนามมากกว่า 130,000 คน ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลหรือกองทัพสหรัฐอเมริกา และอดีตรัฐบาลของเวียดนามใต้ในระหว่างนั้น โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ส่งผู้อพยพลี้ภัยจากเวียดนามทางเครื่องบินและเรือไปปักหลักชั่วคราวยังเกาะกวม ก่อนที่จะย้ายไปยังที่พักพิงซึ่งถูกจัดไว้ในสหรัฐอเมริกา ภายในปีเดียวกันกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ได้เข้าควบคุมกัมพูชาและลาว จึงทำให้มีผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากที่หลบหนีออกจากทั้งสามประเทศ และในปี พ.ศ.2518 ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ได้ลงนามในรัฐบัญญัติการอพยพและการช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยในอินโดจีน โดยใช้งบประมาณประมาณ 415 ล้านดอลลาร์ในการจัดหาระบบการขนส่งลำเลียง การดูแลสุขภาพ และที่พัก เพื่อให้ผู้อพยพลี้ภัยจากอินโดจีนสามารถตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐอเมริกาได้

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรือมนุษย์เวียดนาม

ผู้อพยพลี้ภัยอาศัยเรือขนาดเล็กหลบหนีออกมาจากระบอบการปกครองใหม่ของสาธารณรัฐเวียดนาม โดยการออกนอกประเทศในขั้นต้นถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ถึงแม้ว่าสิ่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และการแทรกแซงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แต่การหลบหนีที่เกิดขึ้น ก็เป็นความผิดกฎหมายทางทะเล ผู้อพยพลี้ภัยมาจากครอบครัวเกษตรกร ชาวประมง และผู้ที่มีอาชีพในชนบทอื่นๆ จึงเข้าหาเรือที่ใช้สำหรับแล่นใกล้ชายฝั่ง แต่เรือเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับการเดินทางในทะเลเปิด แต่มันก็เป็นทางเลือกเดียวในการออกเดินทาง จึงเกิดเป็น ‘การอัดยัดครอบครัวลงไปในเรือลำเล็ก ๆ’

แน่นอนว่า ชุมชนและเชื้อชาติที่หลากหลายต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เหตุจากสงครามทำลายโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซ้ำร้ายยิ่งกว่าคือในปี พ.ศ.2522 (ค.ศ.1979) ได้เกิดสงครามจีน-เวียดนาม ทำให้ผู้ที่มีเชื้อสายจีนหวาดกลัวต่อความปลอดภัยในชีวิต เนื่องจากเห็นตัวอย่างในการประหารชีวิตและการกวาดจับเข้าค่ายแรงงาน ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยจากสาเหตุนี้ คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพลี้ภัยชาวเวียดนาม 

การหลบหนีออกจากเวียดนามเป็นเรื่องอันตราย โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมาก มาจากประเทศอื่นๆ ในอินโดจีนขณะนั้น ซึ่งยากที่จะคาดการณ์จำนวนผู้อพยพลี้ภัยหลบหนีออกจากเวียดนามได้อย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินได้ชัด คือ มีผู้อพยพลี้ภัยหลบหนีมากถึง 1.5 ล้านคน และกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้อพยพเสียชีวิตจากการจมน้ำ การขาดน้ำ และเจ็บป่วยระหว่างรอนแรมในเรือ ฯลฯ 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหย โรคภัย และโจรสลัด

นอกจากนี้ คนบนเรือ ยังต้องเผชิญกับพายุโรคความอดอยากและการหลบหนีโจรสลัด เพราะอย่างที่บอกไปว่า เรือลำเล็ก ๆ ไม่ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการเดินเรือในน่านน้ำเปิด และโดยปกติแล้วเรือทุกลำมักจะมุ่งหน้าไปยังช่องทางการเดินเรือระหว่างประเทศที่พลุกพล่านทางทิศตะวันออกประมาณ 240 กิโลเมตร (150 ไมล์) ผู้โชคดีจะประสบความสำเร็จด้วยการได้รับการช่วยเหลือจากเรือบรรทุกสินค้า หรือถึงฝั่งหลังจาก 1-2 สัปดาห์หลังจากออกเดินทาง แต่ผู้โชคร้ายจะยังคงเดินทางต่อไปในทะเลที่เต็มไปด้วยอันตราย ซึ่งบางครั้งก็กินเวลานานสองสามเดือน โดยต้องทนทุกข์ทรมานจากความหิวโหย, โรคภัย และ ‘โจรสลัด’ 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามหญิงรายหนึ่ง ซึ่งถูกโจรสลัดลักพาตัวไปตั้งแต่ปี พ.ศ..2527 และสาบสูญจนทุกวันนี้

มีเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามราว 17-18 คน ที่ต้องเผชิญกับโจรสลัดอย่างน่าเศร้า โดยกลุ่มนี้ โดยสารด้วยเรือยาว 23 ฟุต (7 เมตร) เพื่อพยายามเดินเรือระยะทาง 300 ไมล์ (480 กม.) ข้ามอ่าวไทยไปยังภาคใต้ของไทยหรือมาเลเซีย แต่ท้ายที่สุดเครื่องยนต์เรือสองตัวของพวกเขาเกิดขัดข้อง และในไม่ช้าก็ต้องลอยไปอย่างไร้เรี่ยวแรงและไร้จุดหมาย อาหารและน้ำหมด  

เหตุการณ์หลังจากนั้น คือ เรือดังกล่าวถูกโจรสลัดไทยขึ้นเรือสามครั้งในระหว่างการเดินทาง 17 วัน ข่มขืนผู้หญิงสี่คนบนเรือ และฆ่าคนไป 1 คน ปล้นเอาทรัพย์สินของผู้อพยพลี้ภัยทั้งหมด และลักพาตัวชายคนหนึ่งซึ่งไม่มีใครพบเห็นอีก 

ความโชคดีของผู้เหลือรอด (เรือของพวกเขาจม) คือ พวกเขาได้รับการช่วยเหลือจากเรือประมงไทย และจบลงที่ค่ายผู้อพยพลี้ภัยบนชายฝั่งประเทศไทย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องโจรสลัดยังมีอีกพอสมควรที่ทางประเทศได้ทำการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่เจอโจรสลัดเข้าปล้นจี้

จากปัญหาโจรสลัดระบาด ในปี พ.ศ.2525 กองทัพเรือจึงได้รับมอบเครื่องบินตรวจการณ์แบบ T-337 G จำนวน 2 เครื่อง จาก UNHCR ตามโครงการปราบปรามการกระทำอันเป็นโจรสลัดในทะเล โดยกองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยบินป้องกันและปราบปราม โจรสลัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อทำการปราบปรามการกระทำอันเป็น ‘โจรสลัด’ ในอ่าวไทย ซึ่งหน่วยบินดังกล่าว ได้ปฏิบัติงานอย่างได้ผลดี

อย่างไรเสีย วิบากกรรมของเรือมนุษย์เวียดนาม ช่างน่าสังเวชยิ่งนัก โดยจากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้อพยพลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่เริ่มรวบรวมสถิติการปล้นจี้ของโจรสลัดต่อผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามในปี พ.ศ.2524 ในปีนั้นมีเรือ 452 ลำบรรทุกผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามเข้ามาในประเทศไทย โดยบรรทุกผู้อพยพลี้ภัย 15,479 คน เรือ 349 ลำถูกโจรสลัดปล้น หญิง 228 คนถูกลักพาตัว และผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม 881 คน เสียชีวิตหรือสูญหาย 

การรณรงค์เพื่อปราบปรามโจรสลัดระหว่างประเทศ จึงเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2525 และสามารถลดจำนวนการปล้นของโจรสลัดลงได้บ้าง แม้ว่าจะยังคงเกิดขึ้นบ่อยครั้งก็ตาม ประมาณการจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามที่เสียชีวิตในทะเลสามารถประมาณได้ตามที่ UNHCR ระบุคือ มีผู้เสียชีวิตในทะเลระหว่าง 200,000 ถึง 400,000 คน หรือประมาณการอย่างกว้าง คือ 10-70 เปอร์เซ็นต์ ของผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามจะเสียชีวิตในทะเล

วิกฤตการณ์ดังกล่าวไม่เป็นที่รับรู้ต่อชาวโลก จนกระทั่งจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มมากขึ้น ผู้อพยพลี้ภัยประมาณ 62,000 คนได้ขอลี้ภัยไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภายในปี พ.ศ.2521 จำนวนผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 คนภายในกลางปี พ.ศ.2522 โดยอีก 200,000 คน ต้องย้ายไปพำนักถาวรในประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ตอนแรกประเทศใกล้เคียงกับเวียดนามจะยอมรับผู้อพยพลี้ภัยและจัดหาที่ลี้ภัยให้ แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมานโยบายของหลาย ๆ ประเทศเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป

ถึงกระนั้นผู้อพยพลี้ภัย ก็มักเดินทางผ่านหลายประเทศ โดยเริ่มแล่นเรือไปยังประเทศที่ใกล้เคียงที่สุด เช่น มาเลเซีย, ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ซึ่งทาง UNHCR ได้จัดทำข้อตกลงชั่วคราวขึ้นกับหลาย ๆ ประเทศเหล่านี้ที่เริ่มปฏิเสธรับลี้ภัย แต่จะยอมเป็น “โรงพยาบาลแห่งแรก” ให้ หรือหมายความว่าผู้อพยพลี้ภัยจะอยู่ที่นั่นชั่วคราวจนกว่าจะได้รับการคัดเลือกและเข้าสู่ประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา

แม้จะมีข้อตกลงในปี พ.ศ.2522 แต่ประเทศต่าง ๆ ก็เริ่มรับผู้อพยพลี้ภัยน้อยลง เพราะจำนวนผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามในประเทศแรกรับผู้อพยพลี้ภัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่พวกเขาจะสามารถบริหารจัดการได้ ในที่สุดความเป็นปรปักษ์ต่อผู้อพยพลี้ภัยก็เพิ่มขึ้น ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองภายในแต่ละประเทศทวีความตึงเครียดมากขึ้นตาม ตัวอย่างเช่น ฮ่องกงปฏิเสธที่จะรับผู้อพยพทางเศรษฐกิจของจีน แต่ยอมรับผู้อพยพลี้ภัยชาวเวียดนาม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติขึ้น

มาเลเซียเป็นอีกประเทศที่ต้องเผชิญกับทางเลือกที่ยากลำบากกับการมาถึงของผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม สถานการณ์เลวร้ายลงจนถึงจุดที่ชาวมาเลเซียผลักดันเรือลำหนึ่งที่มีผู้อพยพลี้ภัยอยู่บนเรือราว 2,500 คน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความตึงเครียดทางชาติพันธุ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนพื้นเมือง  ด้วย “เส้นแบ่งทางชาติพันธุ์ที่มีความยาวและความกว้างของประเทศระหว่างชาวมลายูมุสลิม และชาวจีนที่ทานหมู” ด้วยเหตุนี้ในที่สุดมาเลเซียก็จึงเหมือนกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ปฏิเสธจะรับผู้อพยพลี้ภัยเพิ่ม

UNHCR กับภารกิจดูแลช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนาม

อย่างไรก็ตาม บทสุดท้ายของความเลวร้ายจาก ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ ก็มาถึง เมื่อองค์การสหประชาชาติได้จัดการประชุมระหว่างประเทศที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ช่วงเดือนกรกฎาคม ปีพ.ศ.2522 ระบุเรื่อง “วิกฤตการณ์ร้ายแรง ซึ่งเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากกรณีของผู้อพยพลี้ภัยจำนวนหลายแสนคน” และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจต่อปัญหาดังกล่าวจากสหรัฐฯ ทางรองประธานาธิบดีวอลเตอร์ มอนเดล หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ จึงได้สรุปผลการประชุมว่า... 

“ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกลงที่จะให้ลี้ภัยชั่วคราวแก่ผู้อพยพลี้ภัยเวียดนาม และจะสนับสนุนการเดินทางออกอย่างเป็นระบบ ส่วนบรรดาประเทศตะวันตกต่างตกลงที่จะเร่งการตั้งถิ่นฐานใหม่” 

ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามจำนวน 346 คน ขณะได้รับการช่วยเหลือจากเรือสินค้า MV Wellpark ในทะเลจีนใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2521 (ค.ศ.1978)

จากผลการประชุมครั้งนั้น ทำให้เกิดโครงการออกเดินทางอย่างเป็นระบบ ที่ทำให้ชาวเวียดนามได้รับการอนุมัติให้เดินทางออกจากเวียดนาม เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศอื่นได้ โดยไม่ต้องเป็นผู้อพยพลี้ภัย ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’ และส่งผลให้ผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามลดจำนวนลงเหลือไม่กี่พันคนต่อเดือน  แต่กลับเพิ่มการตั้งถิ่นฐานใหม่ขึ้นมาราว 9,000 คนต่อเดือน และในปี พ.ศ.2522 เป็น 25,000 คนต่อเดือน โดยชาวเวียดนามส่วนใหญ่เดินทางไป สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย และแคนาดา 

ปิดฉากวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดสิ้นสุดลง แม้ว่าจะยังคงมีผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามเดินทางออกจากเวียดนาม และต้องเสียชีวิตในทะเล หรือถูกกักขังอยู่ในค่ายผู้อพยพลี้ภัยเป็นเวลานาน ต่อมาอีกกว่าทศวรรษก็ตาม

ครอบครัวผู้อพยพลี้ภัยเรือมนุษย์เวียดนามครอบครัวหนึ่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการตั้งถิ่นฐาน นายแพทย์ Hung Nguyen (คนกลางแถวบน) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเรือ MV Wellpark ถ่ายกับครอบครัวหน้าคลินิกของเขา ในเขต Orange County มลรัฐ California