'มัลคอล์ม แม็กลีน' ผู้พลิกโฉมหน้าการขนส่งสินค้ายุคใหม่ 'ลดต้นทุน-เวลา-แรงงาน'

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับภาพรถบรรทุกขนกล่องเหล็กขนาดใหญ่ที่เรียกกันว่า 'ตู้คอนเทนเนอร์' ซึ่งตู้เหล่านี้มีบทบาทที่สำคัญสำหรับการขนส่งระหว่างประเทศ เพราะช่วยลดต้นทุนและเวลาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างรถบรรทุก, เรือ และรถไฟ 

ในสัปดาห์นี้ จึงขอเล่าเรื่องราวของชายผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์

มัลคอล์ม แม็กลีน (Malcom McLean) ในวัยหนุ่มได้ซื้อรถบรรทุกมือสองและทำธุรกิจขนส่งสินค้าให้แก่เกษตรกร ระหว่างรอการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือ แม็กลีน เขาได้สังเกตวิธีการทำงานในยุคนั้นที่ยังใช้แรงงานคนเป็นหลัก... 

คนงานทยอยขนสินค้าลงจากรถบรรทุกแล้วไปเก็บในคลังสินค้าที่ท่าเรือ เมื่อเรือมาถึงท่าก็ทยอยขนสินค้าขึ้นเรือด้วยวิธีการชักรอก กว่าจะขนสินค้าขึ้นและลงเรือเสร็จก็ใช้เวลาหลายวัน หากช่วงไหนที่คนงานไม่ว่างหรือสภาพอากาศไม่ดี ก็หยุดทำงาน ส่งผลให้รถบรรทุกต้องจอดรอเป็นเวลานานเสียโอกาสในการไปวิ่งหารายได้ 

เมื่อเห็นดังนั้น แม็กลีน จึงคิดว่าจะมีวิธีการปรับปรุงการขนส่งให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นการลดเวลาและต้นทุนในการขนส่ง แต่วิธีการขนส่งแบบใหม่ที่เขาคิดได้ต้องมีการปรับปรุงหลายอย่าง ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำมาก จึงได้แต่เก็บความคิดเอาไว้ในใจ

ในปี 1940 แม็กลีนวัย 42 ปี ซึ่งตอนนี้เขาได้กลายเป็นเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้น และมีรถบรรทุกมากกว่า 1,700 คัน ก็ได้คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะเอาไอเดียที่เคยคิดไว้ตอนหนุ่มมาทำให้เป็นจริง 

เขาจึงตัดสินใจขายธุรกิจรถบรรทุก แล้วนำเงินมาซื้อมาธุรกิจเดินเรือ Pan Atlantic Tanker ที่มีเรือขนส่งน้ำมันอยู่ 2 ลำ แล้วยังกู้เงินมาอีก 42 ล้านเหรียญฯ เพื่อซื้อท่าเรือและอู่ต่อเรือ เพราะเขามั่นใจว่าวิธีการขนส่งแบบใหม่จะเปลี่ยนโฉมหน้าการขนส่งไปได้

แม็กลีน มีความคิดว่า หากสามารถขนเฉพาะส่วน 'หางเทรลเลอร์' ของรถบรรทุกขึ้นไปไว้บนเรือแทนที่จะใช้คนงานทยอยขนสินค้าขึ้นลง จะช่วยลดระยะเวลาในการขนถ่ายสินค้าและลดค่าใช้จ่ายได้ แต่เมื่อได้ทดลองจึงพบปัญหาว่า 'หางเทรลเลอร์' ที่มีล้อนั้น ลดพื้นที่บรรทุกสินค้าของเรือและยังไม่สามารถเอาหางเทรลเลอร์วางซ้อนกันได้ ส่งผลให้ในเรือหนึ่งลำขนส่งสินค้าได้ไม่มากต้นทุนการขนส่งจึงสูง 

แม็กลีน จึงได้พัฒนาส่วนหางเทรลเลอร์แบบใหม่ที่สามารถถอดล้อออกได้ เพื่อลดความสูงและสามารถวางซ้อนกันได้ แต่หางเทรลเลอร์แบบใหม่กลับใช้งานไม่สะดวกอย่างที่คิด แม็กลีน จึงได้ปรึกษากับ คีธ แทนท์ลิงเกอร์ (Keith Tantlinger) วิศวกรที่ทำงานในบริษัทผลิตเทรลเลอร์ และเขาก็ได้ช่วยออกแบบตู้คอนเทนเนอร์ที่สามารถแยกออกจากหางเทรลเลอร์ได้สำเร็จ

แล้วความฝันของแม็กลีน ก็เป็นความจริง!! 

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1956 เรือ SS Ideal X เรือบรรทุกน้ำมันที่มีการปรับปรุงใหม่ เพื่อสามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์บนดาดฟ้าเรือได้ แล่นออกจากท่าเรือที่นิวยอร์กไปยังฮุสตันพร้อมกับตู้คอนเทนเนอร์ 58 ตู้และน้ำมัน 15,000 ตัน 

จากนั้นในปีต่อมา เรือ Gateway City เรือคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบของแม็กลีนที่ขนตู้คอนเทนเนอร์ได้มากถึง 226 ตู้ แต่ใช้เวลาในการขนสินค้าขึ้นลงเพียงแค่ 8 ชั่วโมง ก็ได้ออกให้บริการ ซึ่งหากเทียบต้นทุนการขนส่งแล้ว แบบเดิมจะอยู่ที่ 5.86 เหรียญต่อตัน ส่วนแบบใหม่จะลดลงเหลือ 0.16 เหรียญต่อตัน ถูกลงมากกว่าเดิมถึง 37 เท่า 

นอกจากนั้นรถบรรทุกและเรือไม่ต้องจอดรอขนสินค้าขึ้นลงเป็นเวลานาน สามารถเพิ่มเวลาในการวิ่งรับส่งสินค้าเพื่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

การขนส่งวิธีใหม่ของแม็กลีน นอกจากจะเร็วกว่าและถูกกว่าแล้ว สินค้ายังมีโอกาสเสียหายและสูญหายน้อยกว่าวิธีเดิมอีกด้วย เพราะสินค้าไม่ได้ถูกยกขนโดยตรงและยังใช้แรงงานน้อยลง

จากจุดนี้เอง จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่วงการขนส่ง ต่างให้ความสนใจกับการขนส่งด้วยระบบตู้คอนเทนเนอร์ โดยในปี 1962 ท่าเรือนิวยอร์กได้เปิดตัวท่าเรือแห่งใหม่ที่เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์แห่งแรกของโลก ตามมาด้วยการเปิดตัวท่าเรือคอนเทนเนอร์ที่ร็อตเตอร์ดัมในปี 1966 และท่าเรือสิงคโปร์ในปี 1972  

แน่นอนว่า ในทุกวันนี้มีการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ทุกท่าเรือหลักของโลก แต่มันจะไม่เกิดขึ้นได้ หากจุดเริ่มต้นทั้งหมดไม่ได้มาจาก 'มัลคอล์ม แม็กลีน' บุคคลระดับตำนานที่มีอิทธิพลต่อวงการอุตสาหกรรมและการค้าของโลกยุคใหม่


ข้อมูลอ้างอิง 
https://www.pbs.org/wgbh/theymadeamerica/whomade/mclean_hi.html
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/
https://www.maritime-executive.com/article/the-story-of-malcolm-mclean
https://portfolio.panynj.gov/2015/06/23/the-world-in-a-box-a-quick-story-about-shipping/
https://www.shippingandfreightresource.com/leaders-and-visionaries-in-shipping-malcom-mclean/