‘นโยบาย​ -​ ค่านิยม​ -​ ความเชื่อ' รากลึก​แห่ง ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ ในแดนมังกร

“ความเท่าเทียมทางเพศ” เป็นหัวข้อที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันอยู่บ่อยครั้งในสังคมปัจจุบัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องนี้มีพื้นฐานเป็นรากที่ฝังลึกยึดแน่นเหนี่ยวอยู่กับค่านิยมเก่า ๆ วัฒนธรรม ตลอดจนพลวัตทางสังคม การเคลื่อนไหวไปข้างหน้า และความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย

สำหรับประเทศจีนนั้น ถึงแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศจีนถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดคือเรื่องของความไม่เท่าเทียมทางเพศ ทั้งในมิติของสังคมชายเป็นใหญ่ และในมิติของเพศที่สาม

ซึ่งก็ต้องเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพทุกท่านก่อนนะครับ ว่าบทความนี้มิได้มีเจตนาในการสนับสนุนหรือโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ทั้งยังมิได้เป็นการแสดงจุดยืนสนับสนุนหรือเห็นชอบกับพฤติกรรมการกดขี่ทางเพศ เพียงแต่ต้องการนำเสนอเรื่องราวความเป็นจริงในอดีต รวมถึงเหตุผลที่เป็น “ราก” ของปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ ณ ปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์การใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยในจีนของผู้เขียน การได้รับรู้รับฟังปัญหาจากเพื่อน ๆ และอาจารย์ รวมถึงการค้นคว้าข้อมูลที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในจีนมาสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ในบทความนี้

จริง ๆ เรื่องนี้มันมีเป็นล้านเหตุผลครับ แต่เหตุผลหลัก ๆ ที่ผมมองว่าน่าสนใจที่สุด และจะหยิบยกมาเล่าในบทความชิ้นนี้มีอยู่ 3 ข้อด้วยกันครับ

1.) นโยบายลูกคนเดียว (One child policy)

2.) วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

3.) ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

นโยบายลูกคนเดียว

ข้อนี้เป็นข้อแรก และเป็นเหตุผลข้อที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้ ที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเพศในประเทศจีนปัจจุบัน ซึ่งก็ต้องขอเล่าย้อนไปถึงการให้ความสำคัญกับครอบครัวคนจีน การรวมญาติรวมมิตรและวงศ์ตระกูล และการสืบทอดเชื้อสาย ขยับขยาย และเพิ่มพูนสมาชิกครอบครัวที่ถือแซ่เดียวกัน เพื่อเป็นทั้งที่พึ่งพากัน เกื้อหนุนกัน เป็นแรงงานให้กัน สืบทอดกิจการกัน รวมถึงยังเป็นการส่งเสริมบารมีและสร้างอิทธิพลให้กับแซ่สกุลที่แต่ละคนถืออยู่ ข้อนี้ทำให้ผมไม่รู้สึกแปลกใจเลยครับ ที่อาเหล่ากงและอาเหล่าม่าของผมจะมีลูกด้วยกันทั้งหมด 9 คน…

ชาวจีนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนนิยมมีลูกเยอะ ๆ ครับ มีลูกชายก็เอามาช่วยการงาน มีลูกสาวก็จับแต่งงานแลกกับเงินค่าสินสอด ยิ่งมีมาก ยิ่งหาเงินง่าย ยิ่งสบาย แต่ด้วยความที่คนจีนนิยมมีลูกมาก ทำให้จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉพาะในปี ค.ศ.1949-1976 ระยะเวลาเพียง 27 ปี จำนวนประชากรจีนเพิ่มขึ้นถึง 400 ล้านคน จาก 540 ล้านคน กลายเป็น 940 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเลยทีเดียว

ตัวเลขประชากรที่เพิ่มขึ้นยังไม่น่ากลัวเท่าจำนวนประชากรที่ต้องตายเพราะความอดอยาก เฉพาะในปี ค.ศ.1959-1961 เวลาเพียง 2 ปี มีคนจีนอดตายไปอย่างน้อย 15-30 ล้านชีวิต ทางการจีนต้องแก้ปัญหาอย่างด่วนเลยครับ ซึ่งก็เป็นที่มาของการออกนโยบาย One child policy เพื่อมาแก้ไขต้นตอปัญหาประชากรล้นทำให้รัฐบาลไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

เมื่อมีลูกได้แค่คนเดียว พ่อแม่ชาวจีนส่วนใหญ่จึงคาดหวังให้ลูกที่เกิดมานั้นเป็นผู้ชาย เพื่อสืบทอดเชื้อสายสกุลแซ่ เกิดการ “พยายามทำให้ได้ลูกชาย” ด้วยวิธีการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยไสยศาสตร์ การขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือวิธีการที่โหดร้ายทารุณที่หากพ่อแม่คู่ไหนไม่พอใจที่ได้ลูกสาวก็เอาไปขาย หรือนำไปทิ้ง เพื่อรักษาสิทธิ์ในการมีลูกชายในการคลอดครั้งต่อไป

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม แต่การพยายามทำให้เกิดลูกชายด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้นทำให้สุดส่วนประชากรชายหญิงไม่สมดุลกัน ประชากรชายมีมากกว่าประชากรหญิงหลายสิบล้านคน เมื่อประชากรไม่สมดุลกัน ผู้ชายมีจำนวนมากกว่า จึงมีสิทธิ์มีเสียงมากกว่า อันเป็นเหตุให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศเป็นผลที่ตามมา

วัฒนธรรมการแต่งงาน และการให้ความสำคัญกับการแต่งงานของพ่อแม่ชาวจีน

การแต่งงานถือเป็น Highlight สำคัญของชีวิตชาวจีน เป็นเป้าหมายสูงสุดของพ่อแม่ ที่จะได้เห็นลูกชายประสบความสำเร็จ ได้เห็นลูกสาวเป็นฝั่งเป็นฝา และได้อุ้มหลานตัวน้อยในวัยชราก่อนจะลาจากโลกไป สมัยก่อนชาวจีนวัดค่าการประสบความสำเร็จที่การแต่งงาน ผู้ชายที่แต่งงานคือผู้ชายที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในชีวิตแล้ว ส่วนผู้หญิงที่แต่งงานก็จะอยู่อย่างสบายภายใต้การดูแลของสามี ไม่ต้องลำบากพ่อแม่อีกต่อไป

ใช่แล้วครับ หลังจากมีการประกาศใช้นโยบายลูกคนเดียว ของพ่อแม่ชาวจีน ความคาดหวังของพ่อแม่ที่จะได้เห็นลูกชายหรือลูกสาวคนเดียวแต่งงานนั้นมีแค่โอกาสเดียว คนเดียว ครั้งเดียว หมดแล้วหมดเลย

ONE CHANCE เท่านั้น !

เอาจริง ๆ พ่อแม่ชาวจีนก็หาทำเหลือเกินครับ ทั้งพยายามจับลูกไปคลุมถุงชนเอย พาไปตลาดนัดหาคู่ หรือสถานที่ที่พ่อแม่ชาวจีนจะเอาข้อมูลและคุณสมบัติของลูก ๆ ไปป่าวประกาศ และทำการดีลกับพ่อแม่ที่มีลูกเป็นเพศตรงข้ามกับลูกตัวเอง และพยายามจับคู่หากมีคุณสมบัติที่ตรงใจและราคาสินสอดที่เหมาะสม นี่เป็นสิ่งที่มีในจีนเท่านั้นครับ หาที่อื่นไม่ได้แน่ ๆ ไม่มีคนชาติไหนคิด และทำอะไรทำนองนี้ได้เหมือนอย่างจีนแน่นอน

ซึ่งนั่นก็สร้างความกดดันเป็นอย่างมากให้กับลูก ๆ ชาวจีนที่เป็นความหวังเดียวของพ่อแม่ ยิ่งเป็นผู้ชาย ยิ่งต้องแบกรับภาระในการสืบทอดเชื้อสายสกุล ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุให้คนที่มีรสนิยมรักเพศเดียวกันต้องลำบากใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตัวเองให้พ่อแม่ที่คาดหวังให้ลูกชายแต่งงานได้รับรู้ แน่นอนว่าจะต้องทำให้คนเป็นพ่อแม่ผิดหวังไม่มากก็น้อยอย่างปฏิเสธไม่ได้

หากคิดในมุมพ่อแม่ มีลูกได้แค่ครั้งเดียว หวังอย่างยิ่งว่าลูกจะเกิดเป็นชายเพื่อสืบทอดตระกูล ดีใจอย่างมากที่สมหวัง ได้ลูกชายจริง ๆ สมใจ แต่พอลูกชายโตขึ้นมาดันเป็น LGBTQ+ ความคาดหวังทั้งหมดคงจะพังทลายไปจนสิ้น

นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ LGBTQ+ มิได้ถูกยอมรับในจีนนัก

ความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันครอบครัวตามหลักขงจื๊อ

ปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวจีนในอดีต และยังทรงอิทธิพลต่อยุคปัจจุบันอย่าง ‘ขงจื้อ’ เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับคุณธรรมความกตัญญูเป็นอย่างมาก ขงจื๊อย้ำมากว่า “บุตรต้องดีต่อบิดามารดา บุตรที่มีความกตัญญูต่อบิดามารดา จะต้องไม่ทำให้บิดามารดาขายหน้า หรือเสื่อมเสียเกียรติยศและชื่อเสียง” 

ความเชื่อดังกล่าว ส่งผลต่อสภาพสังคมจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งมันก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ที่จะยอมนำเรื่องเพศสภาพไปเปิดใจคุยกับพ่อแม่ หรือเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณะ เพราะกลัวจะเป็นการทำให้เป็นที่อับอายของครอบครัว จึงได้แต่อยู่อย่างหลบซ่อน 

มีแอปพลิเคชั่นหาคู่แต่งงานของเหล่าหนุ่มสาวที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งแอปฯ ดังกล่าว เป็นแอปฯ จับคู่ระหว่างผู้ชายที่เป็นเกย์และผู้หญิงที่เป็นเลสเบี้ยนมาแต่งงานบังหน้า แต่ถึงเวลาจริงก็แยกย้ายกันไปอยู่กับคู่รักของตัวเองที่เป็นเพศเดียวกัน จะมาออกงานคู่กันก็ต่อเมื่อถึงช่วงเทศกาลสำคัญที่ต้องฉลองกันเป็นครอบครัว ซึ่งทั้งคู่ก็จะต้องทนเล่นบทเป็นสามีภรรยาที่รักกันต่อหน้าครอบครัวของตัวเองเพื่อปกปิดความจริง

ใช่ครับ นี่มัน 2021 แล้ว แต่ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางเพศในจีนนั้นหยั่งรากลึกเกินกว่าจะแก้ให้หายขาดได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่ด้วยความที่โลกมันก็เปิดกว้างขึ้นในปัจจุบัน ความคิดของคนจีนรุ่นใหม่ก็เปิดกว้างขึ้นแล้วครับ เรื่องนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลาอีกหน่อย

บางคนถามว่าทำไม่รัฐบาลไม่มีนโยบายหรือออกกฎหมายรับรองสิทธิของคนกลุ่มนี้ ก็ต้องย้อนไปดูเรื่องของ “อุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ” ของสังคมนิยมในแบบของจีนด้วยครับ สังคมจีนยังคงต้องการแรงงานจำนวนมากเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจอยู่ ยิ่งในตอนนี้เป็นยุคสังคมผู้สูงอายุด้วยครับ ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแต่อัตราการเกิดน้อยลง และด้วยความที่ความรักของคนเพศเดียวกันไม่สามารถผลิตลูกได้ หากว่ารัฐมีนโยบายมาสนับสนุนกลุ่มคนที่รักเพศเดียวกันอย่างไม่ระมัดระวัง ก็มีแนวโน้มว่าอัตราการเกิดจะยิ่งลดลง

ในข้อนี้ผู้เขียนเห็นว่าต้องค่อย ๆ ออกนโยบายสนับสนุนให้คนจีนมีอิสระในการให้กำเนิดลูกได้มากขึ้น มากกว่าแค่ 1 หรือ 2 คน เพื่อทำให้อัตราการเกิดกลับมา on point แล้วค่อย ๆ เริ่มวางนโยบายเปิดกว้างให้กับกลุ่ม LGBTQ+

แต่ก็อย่างว่าครับ เรื่องมันับซ้อนเหลือเกิน ซับซ้อนเกินกว่าจะมาตัดสินโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอ่าน พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้รู้ และได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวเอง

เมื่อพูดถึงเรื่องเพศ มันก็ต้องเชื่อมโยงไปเรื่องนโยบายลูกคนเดียว เรื่องวัฒนธรรมการแต่งงาน และเรื่องขงจื๊อ นี่ขนาดยังไม่ได้เอาเรื่องอุดมการณ์สังคมนิยมแบบฮาร์ดคอร์มาเล่านะครับ

อย่างไรก็ตามเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในจีนดีขึ้นมากแล้วครับ เราเริ่มได้เห็นผู้หญิงที่มีความสามารถได้เป็นเจ้าของธุรกิจพันล้าน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของชาติก็มีผู้หญิงอยู่ไม่น้อย ถึงแม้จะยังไม่สามารถเปิดกว้างในเรื่อง LGBTQ+ ได้เหมือนอย่างในประเทศไทย แต่กาลเวลานั้นเดินไปข้างหน้า ไม่ช้าก็เร็วประเทศจีนก็จะต้องมีที่ยืนให้กับกลุ่มคนเหล่านี้อย่างแน่นอน