Monday, 19 May 2025
Hard News Team

บีโอไอ เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เข้าสู่ซัพพลายเชนอีวี ผนึกกำลัง GAC AION จัดงาน 'AION Sourcing Day'

(7 พ.ย.67) บีโอไอจับมือ GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่จากจีน เร่งดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชน EV ผ่านการเจรจาธุรกิจในงาน 'AION Sourcing Day' ยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรในอาเซียน เผยยอดเจรจาธุรกิจ 74 บริษัท คาดเกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศเพิ่มอีกกว่า 2,250 ล้านบาท  

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 บีโอไอ และบริษัท GAC AION ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ ได้ร่วมกันจัดงาน 'AION Sourcing Day' ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เพื่อจัดหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตในประเทศสำหรับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท ซึ่งได้เริ่มเปิดโรงงานผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเน้น 7 กลุ่มชิ้นส่วนสำคัญ ได้แก่ Interior Parts, Exterior Parts, Electrical and Electronics Parts, Chassis Parts, Car Body Parts, Traction Motor Parts และ Battery Parts โดยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเข้าร่วมงานกว่า 400 คน จาก 220 บริษัท และในจำนวนนี้ มีผู้ที่ได้รับคัดเลือกให้เจรจาธุรกิจเป็นรายบริษัทกับ GAC AION จำนวน 74 บริษัท คาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 2,250 ล้านบาท  

บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือ GAC Group ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกจากประเทศจีน ด้วยยอดขายสะสมกว่า 2.5 ล้านคันทั่วโลก และเป็นบริษัทที่ใหญ่อันดับ 165 ของโลกจาก Fortune Global 500 โดย GAC AION ได้ตัดสินใจสร้างฐานการผลิตแห่งแรกนอกประเทศจีนที่ไทย ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 5,600 ล้านบาท โดยเฟสแรกได้ลงทุน 1,300 ล้านบาท เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) กำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี โดยมีแผนจะขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันยังใช้สำนักงานในไทยเป็น Regional Headquarters ในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

“การจัดงานครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความร่วมมือระหว่างบีโอไอกับ GAC AION ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะการยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ให้มีโอกาสเข้าสู่ Supply Chain ของ EV ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศ การรับช่วงการผลิต การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ร่วมกันของทุกฝ่าย โดย GAC AION ก็จะได้พบกับซัพพลายเออร์ในประเทศที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับค่ายรถยนต์ระดับโลกมาแล้ว อีกทั้งมีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงงานของ GAC AION จะช่วยให้โรงงานสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ลดลง ขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ” นายนฤตม์ กล่าว

นายโอเชียน หม่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอออน ออโตโมบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า GAC AION ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต จำหน่าย และการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนำระบบการผลิตที่ครบวงจรมาใช้ในประเทศไทย ไม่เพียงแค่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แต่รวมถึงชิ้นส่วน แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จ โดยจะร่วมกันส่งเสริมระบบซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งในประเทศไทย เพื่อผลักดันอุตสาหกรรม EV ในไทยสู่ตลาดโลก โดยปัจจุบัน GAC AION มีโชว์รูม 50 แห่งทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในปี 2568 และตั้งเป้าหมายขยายสถานีชาร์จให้ครบ 1,000 แห่ง ภายในปี 2570 นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มขยายสายการผลิตเพื่อผลิตรถรุ่น AION V ในช่วงกลางปี 2568 อีกด้วย

“GAC AION มีความเชื่อมั่นในอนาคตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และพร้อมที่จะสนับสนุนนโยบาย 30@30 ของรัฐบาลไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ให้ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเราจะดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาที่เน้นการเติบโตในระยะยาว ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งใจที่จะขยายฐานในประเทศไทย และนำระบบที่ครบวงจรเข้ามาพัฒนาต่อยอดในประเทศ งาน sourcing day ในครั้งนี้เป็นการยืนยันเจตนารมณ์ของ GAC Aion ที่จะช่วยผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถเติบโตสู่ระดับโลก” นายโอเชียน หม่า กล่าว

นอกจากนี้ GAC AION มีเป้าหมายชัดเจนที่จะพัฒนาซัพพลายเชน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยปัจจุบันมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศกว่าร้อยละ 47 และมีแผนจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้มากขึ้นในอนาคต โดยเหตุผลสำคัญของ GAC AION ในการเลือกผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมี 3 ประการ คือ 1) ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทยมีคุณภาพและมาตรฐาน 2) กลุ่มชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นขนาดใหญ่จะมีโอกาสมาก เพราะหากนำเข้าจากต่างประเทศ จะมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าการจัดซื้อในประเทศ และ 3) การจัดซื้อในประเทศมีข้อได้เปรียบเรื่องการบริการหลังการขาย ที่มีความสะดวกและรวดเร็วกว่า 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา บีโอไอได้จัดกิจกรรม Sourcing Day ร่วมกับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 5 ราย ได้แก่ BYD, NETA, MG, CHANGAN และ BMW ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดมูลค่าซื้อขายชิ้นส่วนในประเทศกว่า 45,000 ล้านบาท

หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กของท่าน ‘ทนายวิชัย ทองแตง’ เห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จึงนำมาแบ่งปันเป็นข้อคิด สอดรับกับกระแสความร้อนแรงของทนายโซเชียล! ซึ่งกระทบภาพลักษณ์ทนายความอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

(7 พ.ย. 67) นายประกิจ เพชรรัตน์ อดีตประธานสภาทนายความจังหวัดสุราษฎร์ธานี โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า วันนี้ผมมีเวลาหยิบหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กของท่านทนายวิชัย ทองแตง “เคล็ดลับความสำเร็จของทนายมือทอง” ซึ่งได้อ่านมา 2-3 รอบแล้ว เห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จึงนำมาแบ่งปันเป็นข้อคิดให้กับผู้สนใจในบางตอน สอดรับกับกระแสความร้อนแรงของทนายโซเชี่ยล! ซึ่งสร้างความสั่นคลอนและเป็นหลุมดำกระทบภาพลักษณ์และวิกฤตศรัทธาของประชาชน สังคม ต่อองค์กรสภาทนายความอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนครับ!!

สำหรับ “เคล็ดลับความสำเร็จของทนายมือทอง” มาจากหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กชื่อ จากทนายความมือทอง สู่เซียนหุ้นหมื่นล้าน  ‘ลงทุนสไตล์ วิชัย ทองแตง’ ไขรหัสลับสู่ความสำเร็จ The Last Masterpieces ที่ถ่ายทอดความลับ การลงทุนหมื่นล้าน! ของ ‘คุณวิชัย ทองแตง’ เจ้าของฉายานักเทคโอเวอร์หมื่นล้าน นักลงทุนหุ้น เทิร์นอราวด์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยติดอับดับมหาเศรษฐีหุ้นอันดับ 5 ของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันได้หันมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ตอัปให้เติบโต จนได้ฉายาใหม่ว่า ‘godfather of startup’ หรือแปลเล่น ๆ ว่า ‘พ่อทูนหัว’ ของวงการสตาร์ตอัปนั่นเอง

รมว.อุตสาหกรรม เรียกกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ถกเร่งแก้วิกฤตอุตสาหกรรมเหล็กของไทย

(4 พ.ย. 67) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดกระทรวง เชิญแกนนำกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก ร่วมหารือปัญหาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก และหาแนวทางแก้ไขเพื่อความอยู่รอดตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เป็นประธานในการประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม หารือกับผู้แทนอุตสาหกรรมเหล็กไทย นำโดย นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก คณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. และ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีสมาชิกรวม 510 บริษัท จ้างงานโดยตรงกว่า 50,000 อัตรา และจ้างงานทั้งระบบกว่า 3 แสนคน

นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานส.อ.ท. กล่าวขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของประเทศไทย โดยอุตสาหกรรมเหล็กเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของระบบอุตสาหกรรม เพราะเหล็กเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ได้แก่ ก่อสร้าง รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ โดยหลายประเทศต่างก็ปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศเพื่อรักษาความมั่นคงแห่งชาติของตน แต่ขณะนี้โลกเผชิญวิกฤตกำลังการผลิตเหล็กของโลกล้นเกินความต้องการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีนซึ่งประสบปัญหาเศรษฐกิจและธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศของจีนลดลง ในขณะที่ผู้ผลิตเหล็กในจีนยังคงผลิตเหล็กในสัดส่วนสูงมากราวร้อยละ 58 ของการผลิตเหล็กของทั้งโลกรวมกัน จีนจึงมุ่งส่งออกสินค้าเหล็กไปยังภูมิภาคหรือประเทศที่มีช่องโหว่ซึ่งจีนสามารถทุ่มตลาดได้ โดยในช่วง 9 เดือนแรก ประเทศจีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กแล้ว 81 ล้านตัน และคาดว่าทั้งปี 2567 จีนจะส่งออกสินค้าเหล็กมากสุดในรอบ 8 ปี ปริมาณสูงถึง 109 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 จากปีก่อนหน้า โดยสินค้าเหล็กจากจีนที่ส่งมายังประเทศไทยปีนี้มีแนวโน้มปริมาณมากกว่า 5.1 ล้านตัน และครองส่วนแบ่งปริมาณเหล็กนำเข้ามากที่สุดร้อยละ 44 ส่งผลให้ผู้ผลิตเหล็กในไทยมีการใช้กำลังการผลิต (Production Capacity Utilization) ถึงขั้นวิกฤตต่ำกว่าร้อยละ 30 แล้วจนหลายโรงงานเหล็กต้องทยอยปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานไป ดังนั้น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ 10 สมาคมเหล็ก จึงขอเสนอ 7 แนวทางบรรเทาวิกฤตอุตสาหกรรมเหล็ก ดังนี้

มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กเฉพาะประเภทที่มีกำลังการผลิตมากเกินความต้องการใช้ภายในประเทศไทยแล้ว ได้แก่ โรงงานเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เป็นต้น มาตรการส่งเสริมให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon การเร่งกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เหล็กโครงสร้างสำเร็จรูป มาตรการสงวนเศษเหล็กเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าเหล็กในประเทศ นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดการซากรถยนต์ เพื่อให้มีการบริหารจัดการและสามารถนำวัสดุต่างๆ มาแปรใช้ใหม่ (Recycle) ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด นโยบายส่งเสริมการใช้สินค้าที่ได้รับการรับรองจากส.อ.ท. ว่าผลิตในประเทศไทย (Made in Thailand หรือ MiT) ไม่เพียงแค่เฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น โดยขยายไปยังโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public – Private Partnership หรือ PPP) และโครงการก่อสร้างของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ด้วย

การสนับสนุนให้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ โดยเข้มข้นขึ้นตามสถานการณ์และทันท่วงที เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping หรือ AD) มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention หรือ AC) กับสินค้าเหล็กบางประเภทเท่านั้น โดยไม่มีการใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty หรือ CVD) และมาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard หรือ SG) แต่อย่างใด ในขณะที่ประเทศไทยยังคงถูกจีนส่งสินค้าเหล็กมาทุ่มตลาดปริมาณเฉลี่ยกว่า 4.2 แสนตันต่อเดือน

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันว่าอุตสาหกรรมเหล็กเป็นหนึ่งในหลายอุตสาหกรรมของประเทศไทยต้องสนับสนุนด้วยมาตรการต่างๆ อย่างทันท่วงที โดยกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็ต้องมีการปรับตัวรับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ทั้งนี้หลายข้อเสนอจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กก็สอดคล้องกับนโยบายและมาตรการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่ มาตรการห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานเหล็กบางประเภท การกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อาคารโครงสร้างเหล็ก มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมเศษเหล็ก รวมถึงการจัดการซากรถยนต์ เป็นต้น โดยจะเร่งรัดผลักดันมาตรการต่างๆ ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล็กยังคงอยู่เป็นพื้นฐานสำคัญในห่วงโซ่อุตสาหกรรมต่อเนื่องภายในประเทศไทย

ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์   0649646443

นึกยังไงก็นึกไม่ออกว่า เคยมีประธานบอร์ดคนไหน แสดงอำนาจใหญ่โต สร้างความเสียหายให้แบงก์ชาติ ก่อความพินาศให้เศรษฐกิจไทย จะมีก็แต่ผู้บริหารแบงก์ชาติทำพังเอง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ 2540

(6 พ.ย. 67) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัว ระบุว่า ความเคลื่อนไหวต่อต้านการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งปรากฏขึ้นพร้อมกัน ทั้งในกลุ่มอดีตผู้ว่าฯ นักวิชาการ นักธุรกิจ และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในวิถีประชาธิปไตย

แบงก์ชาติต้องดำเนินการโดยอิสระเป็นหลักสากล ผมเห็นด้วย แต่เท่าที่ตามดูทั้งข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติ ผมยังชั่งใจอยู่ว่าประธานบอร์ดแบงก์ชาติ จะมีฤทธิ์เดชขนาดที่บางฝ่ายกำลังวาดภาพหรือไม่

ผู้ว่าฯคนปัจจุบันจะหมดวาระกลางปีหน้า การแต่งตั้งคนใหม่ทำโดยกรรมการอีกคณะหนึ่ง ซึ่งตั้งโดยรมว.คลัง จากบุคคลที่มีคุณสมบัติตามกฎหมาย บอร์ดไม่มีอำนาจเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

อาจมีข้อสังเกตว่าผู้ว่าฯ มีข้อเห็นต่างกับรัฐบาลหลายครั้ง จะตั้งประธานบอร์ดเพื่อปลดผู้ว่าฯหรือไม่ กฎหมายก็เขียนว่าการปลดเป็นอำนาจครม.โดยคำแนะนำของรมว.คลัง เพราะประพฤติเสื่อมเสียร้ายแรง หรือทุจริต หรือครม.ปลดออกโดยการเสนอของรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของบอร์ด ซึ่งถ้าดูจากข้อเท็จจริงก็ยังไม่มีเหตุถึงขั้นนั้น และอีกไม่กี่เดือนจะมีผู้ว่าฯคนใหม่อยู่แล้ว รัฐบาลจะหาเรื่องปลดให้ยุ่งไปทำไม

กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจบอร์ดไปก้าวก่ายนโยบายการเงิน นโยบายสถาบันการเงิน และระบบชำระเงิน เรื่องพวกนี้มีกรรมการที่มีผู้ว่าแบงก์ชาติเป็นประธาน ทำงานโดยอิสระ อำนาจหน้าที่หลักของบอร์ดคือการควบคุมดูแลโดยทั่วไป ไม่ใช่ล้วงลูกลงลึก 

ผมนั่งนึกยังไงก็นึกไม่ออกว่า เคยมีประธานบอร์ดคนไหน แสดงอำนาจใหญ่โต สร้างความเสียหายให้แบงก์ชาติ ก่อความพินาศให้เศรษฐกิจไทย

จะมีก็แต่ผู้บริหารแบงก์ชาติทำพังเอง เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่เอาเงินทุนสำรองซึ่งกู้ IMF มา ไปสู้ค่าเงินกับกองทุนต่างชาติจนเจ๊งกันระเนระนาดทั้งประเทศ นายกรัฐมนตรีเผชิญแรงเสียดทานต้องลาออก แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบใดๆจากแบงก์ชาติ ทั้งในนามบุคคลและองค์กร หรือก่อน 2540 ก็เคยมีเหตุความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ถูกบันทึกว่าเกิดจากแบงก์ชาติมาแล้ว 

แบงก์ชาติต้องอิสระจากรัฐบาลแน่นอน แต่ดูไปบางมุมคล้ายอิสระจากสังคมและประชาชนด้วยหรือไม่

ผมพยายามค้นระเบียบ หลักเกณฑ์ภายใน พบว่าหายากมาก ทั้งที่หลายเรื่องน่าจะสัมผัสได้ เช่น มีส.ส.ฝ่ายค้านท่านหนึ่ง บอกว่าตั้งประธานบอร์ดแล้วก็จะใช้อำนาจตั้งกรรมการกนง. แทนคนเก่าซึ่งจะหมดวาระ 2 คน พูดจนคนเข้าใจไปว่างานนี้บอร์ดชงเองกินเอง ตั้งพวกตัวเองแน่ ๆ

ทั้งที่สอบถามจากผู้อาวุโสที่เคยเป็นบอร์ดเขายืนยันว่าไม่ใช่ บอร์ดต้องตั้งกนง.จริง แต่ตั้งตามชื่อที่แบงก์ชาติเสนอไม่ใช่คิดเอาเอง เช่น ถ้าว่าง 2 ที่ แบงก์ชาติจะเสนอชื่อมา 3 คนขึ้นไปแล้วบอร์ดพิจารณา ยังไงก็ต้องเป็นคนในโผจากผู้ว่าฯ

เรื่องนี้ก็หาระเบียบไม่พบ แต่ได้รับคำยืนยันว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ทำกันมา

การเสนอชื่อประธานบอร์ดขณะนี้มี 3 คน กระทรวงการคลังเสนอชื่อ 1 คน แบงก์ชาติ 2 คน หนึ่งในสองคนที่เสนอมาเป็นนักกฎหมาย ไม่เคยปรากฏว่าเชี่ยวชาญเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง 

อดีตผู้บริหารแบงก์ชาติและกลุ่มต่างๆค้านชื่อจากกระทรวงการคลัง แบบนี้ประชาชนมีสิทธิ์คิด
ว่าจะล็อคเป้าให้เข้าทางเฉพาะชื่อที่แบงก์ชาติเสนอเท่านั้นหรือไม่

ถ้าชื่อจากกระทรวงการคลังถูกมองว่าเป็นฝ่ายการเมือง แล้วชื่อจากแบงก์ชาติเป็นฝ่ายทางการเมือง หรือเคยเลือกข้างทางการเมืองมาบ้างหรือไม่

หลักคิดของผมคือ เรื่องนี้อย่าเอาการเมืองเป็นตัวตั้ง เสียงค้านรัฐบาลต้องฟัง แต่ฝ่ายเห็นต่างก็ต้องใช้เหตุผลด้วย ว่ากันที่คุณสมบัติก่อน ถ้ามีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ และคุณสมบัติตามกฎหมาย ทุกคนย่อมมีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือกได้ 

องค์กรที่ต้องเป็นอิสระย่อมต้องอิสระ แต่ความอิสระก็ไม่ควรล้นเกิน จนอาจถูกมองเป็นแดนสนธยา ที่ซึ่งตาเปล่าของประชาชนยากจะมองเห็นได้

'เผ่าภูมิ' บินเกาหลี หารือ KODIT ถกโมเดลค้ำสินเชื่อ เตรียมพร้อมก่อนตั้ง NaCGA ไทย 

ดร. เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมด้วยนางสาวสภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รักษาการที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน และนายสุพัฒน์ เมธีวรพจน์ ประธานกรรมการบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร่วมหารือกับ Korea Credit Guarantee Fund (KODIT) สถาบันค้ำประกันสินเชื่อของสาธารณรัฐเกาหลี 

โดยหารือเพื่อยกระดับและพัฒนาการค้ำประกันสินเชื่อ เสริมสร้างกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ แบบจำลองทางการเงิน การบริหารจัดการความเสี่ยง สนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งหารือการยกระดับโมเดลการให้คะแนนเครดิตค้ำประกันสินเชื่อ หรือ Credit Scoring ไปใช้กับรูปแบบธุรกิจใหม่ ปรับปรุงและยกระดับการดำเนินงาน

นอกจากนั้นยังได้หารือความพร้อมการจัดตั้ง “สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ” หรือ นากก้า (NaCGA : National Credit Guarantee Agency) ของรัฐบาล โดยขยายขอบเขตการค้ำประกันสินเชื่อในรูปแบบการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) ด้วยการเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบการ ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูล การประเมินความเสี่ยงรายบุคคล การคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง (Risk-Based Pricing) ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้มากยิ่งขึ้น ครอบคลุมความต้องการของผู้ประกอบการในทุกๆ กลุ่มได้มากขึ้น

ทั้งนี้ KODIT เป็นสถาบันค้ำประกันที่มุ่งเน้นการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลาง มีรูปแบบการค้ำประกันรายบุคคล (Individual Guarantee) และการให้บริการแบบโดยตรง Direct Approach Guarantee โดยมีกระบวนการอนุมัติค้ำประกันที่มีการวิเคราะห์และประเมินศักยภาพทางธุรกิจของ SMEs ด้วยการใช้แบบจำลองทางการเงิน KODIT Rating System และใช้ Corporate Rating System; CCRS Rating เพื่อพิจารณาระดับความเสี่ยงของ SMEs และสามารถกำหนดระดับอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันตามระดับความเสี่ยง

โดยมีธุรกรรมหรือผลิตภัณฑ์ค้ำประกันที่หลากหลายเพื่อรองรับผู้ประกอบการ SMEs ในแต่ละกลุ่ม การบริหารจัดการข้อมูลด้านสินเชื่อ การให้คำปรึกษาทางการเงินและด้านบริหารจัดการองค์กรหรือบริษัท และการลงทุนแบบ Guarantee-aligned Equity Investment เป็นต้น 

บุกตลาดลักซ์ชูรีรีสอร์ทแดนภารตะ ‘เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์’ กำหนดเปิด มีนาคม 2571

(7 พ.ย. 67) กลุ่มดุสิตธานีเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่องประกาศลงนามในข้อตกลงการบริหารจัดการโรงแรมเชิงกลยุทธ์กับบริษัทชราวันตี โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท ไพรเวท จำกัด ผู้พัฒนาโรงแรมและรีสอร์ทระดับลักซ์ชูรีชั้นนำในประเทศอินเดีย เพื่อดำเนินกิจการ เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ โดยมีกำหนดเปิดตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2571 ซึ่งถือเป็นโครงการ “เดวาราณา –ดุสิต รีทรีตส์” แห่งแรกที่ลงนามนอกประเทศจีน ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มดุสิตธานีในการขยายแบรนด์รีสอร์ทระดับลักซ์ชูรีไปยังจุดหมายปลายทางสุดพิเศษทั่วโลก 

มร. จิลล์ เครตัลเลช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ เป็นการให้บริการภายใต้แบรนด์ “เดวาราณา-ดุสิต รีทรีตส์” ซึ่งกลุ่มดุสิตธานีวางตำแหน่งแบรนด์ในระดับลักซ์ชูรี โดยเป็นการให้บริการครั้งแรกในประเทศอินเดีย และเป็นครั้งแรกที่มีการลงนามความร่วมมือนอกประเทศจีน เนื่องจากความสอดคล้องอย่างลงตัวระหว่างความงามตามธรรมชาติอันเงียบสงบของเมืองสากเลศปุระ กับแก่นแท้อันสมบูรณ์แบบของ เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์ ทำให้จุดหมายปลายทางอันงดงามแห่งนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ระดับลักซ์ชูรีของกลุ่มดุสิตธานี เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์

ออกแบบมาเพื่อมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่มีความหมายให้กับนักเดินทางทั้งในอินเดียและจากต่างประเทศ โดยที่พักประกอบด้วยวิลล่าและห้องสวีท 75 ห้องขนาดตั้งแต่ 47 ถึง 90 ตร.ม. โดยจะมี 25 ยูนิตที่มาพร้อมสระว่ายน้ำส่วนตัวผู้เข้าพักจะได้เพลิดเพลินไปกับสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสุขภาพ รวมถึง เดวาราณา เวลเนส เซ็นเตอร์ ที่มีทั้งคลับสุขภาพ สปา ห้องออกกำลังกาย ห้องอบไอน้ำ และซาวน่า นอกจากนี้ ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมไว้บริการ

ได้แก่ สระว่ายน้ำแบบอินฟินิตี้ ห้องอาหารที่ให้บริการอาหารอินเดียและห้องอาหารเพื่อสุขภาพที่เปิดตลอดทั้งวัน โดยเน้นไปที่การรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน สากเลศปุระ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่บนเทือกเขาฆาฏตะวันตก อยู่ห่างจากบังกาลอร์ เมืองหลวงของรัฐกรณาฏกะประมาณ 4 ชั่วโมงโดยรถยนต์ มีชื่อเสียงในเรื่องการทำไร่กาแฟ ชา และเครื่องเทศอันอุดมสมบูรณ์รวมถึงศาสนสถานโบราณ และเส้นทางเดินป่าอันงดงามโดยจะผ่านป่าสงวนไบเซิล ซึ่งเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมที่อยู่ไม่ไกล ได้แก่ ป้อมปราการมัญจาราบัดที่สร้างเป็นรูปดาว สามารถมองเห็นวิวเทือกเขาได้แบบพาโนรามา
และยอดเขาเจนุกัลลู กุดดา ที่สามารถมองเห็นทะเลอาหรับได้จากจุดนี้ สำหรับสนามบินนานาชาติมังกาลอร์ ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 130 กม. และสถานีรถไฟสากเลศปุระ อยู่ห่างจากที่พักเพียง 20 กม.

“เรามีความยินดีที่จะนำการต้อนรับอันอบอุ่นแบบไทยมาสู่เมืองสากเลศปุระและมีความมุ่งมั่นที่ปรารถนาสร้างประสบการณ์เพื่อการบำบัดและการเปลี่ยนแปลง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ซึ่งคัดสรรมาอย่างพิถีพิถันจากทั่วโลก เรามุ่งหวังที่จะมอบการเข้าพักเพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างไม่มีใครเหมือนให้กับทุกท่านที่มาเยือน ซึ่งจะเสริมสร้างทั้งจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ
รวมถึงยังได้เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติอันบริสุทธิ์และมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า ของรัฐกรณาฏกะอีกด้วย” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ดุสิตธานี กล่าว

มร. ซานโตช บาลากฤษณะ กรรมการบริหาร บริษัท ชราวันตี โฮเทล แอนด์รีสอร์ท ไพรเวท จำกัด กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มดุสิตธานีเพื่อเปิดตัวแบรนด์ เดวาราณา – ดุสิต รีทรีตส์ ในประเทศอินเดียด้วยความมุ่งมั่นของดุสิตฯ ในการสร้างประสบการณ์การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมให้ดียิ่งขึ้นนั้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราเพื่อสร้างโครงการพิเศษนี้ด้วยความเชี่ยวชาญของดุสิตฯ เรามีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า เดวาราณา สากเลศปุระ, กรณาฏกะ – อะ ดุสิต รีทรีตส์ จะมอบประสบการณ์เหนือระดับผสมผสานความหรูหราและความเป็นอยู่ที่ดีเข้าด้วยกันเพื่อเชื่อมโยงผู้มาเยือนสู่จุดหมายปลายทางได้อย่างมีคุณค่าซึ่งจะดึงดูดนักเดินทางผู้ที่กำลังแสวงหาแรงบันดาลใจจากความงามอันเงียบสงบของเทือกเขาฆาฏตะวันตก ในรัฐกรณาฏกะแห่งนี้”

ปัจจุบันกลุ่มดุสิตธานีมีโรงแรมในเครือทั้งหมด 301 แห่ง เปิดให้บริการใน 18 ประเทศ แบ่งเป็นโรงแรม 57 แห่งซึ่งดำเนินงานภายใต้ ดุสิต โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท และวิลล่าหรู 244 แห่งภายใต้แบรนด์อีลิท เฮเวนส์ ผู้ให้บริการเช่าวิลล่าระดับลักซ์ชูรีทั่วเอเชีย ซึ่งรวมถึงวิลล่าหรูหลายแห่งในรัฐกัวด้วย โดยในเดือนธันวาคมนี้ กลุ่มดุสิตธานีจะกลับมาให้บริการในประเทศอินเดียอีกครั้งด้วยการเปิดโรงแรมดุสิต ดีทู ฟากู ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาหิมาลัยอันอุดมสมบูรณ์ ใกล้กับเมืองชิมลา นอกจากนี้ กลุ่มดุสิตธานียังมีแผนเปิดโรงแรมอีก 4 แห่งในรัฐกรณาฏกะ ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในช่วงกลางปี ​​พ.ศ. 2569

สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดพิธีมอบรางวัลโครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 1 

(7 พ.ย.67) เวลา 10.00 น. พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , คุณพรรณี ปิติกุลตัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พร้อมหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมพิธีมอบรางวัลสุภาพบุรุษจราจร ประเภทบุคคลและหน่วยงาน ตามโครงการ “สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย” เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของตำรวจจราจร ลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ประชาชนมีความพึงพอใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชน ภาคีเครือข่าย และตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตำรวจจราจร ประชาชนมีความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ณ ห้องศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ    

สำหรับ 'โครงการสุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย' ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติกับบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โดยได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำนินตามโครงการ เป็นจำนวนเงิน 4,000,000 บาท ต่อเนื่องปีที่ 2 โดยให้ทุกกองบัญชาการ กองบังคับการ และสถานีตำรวจในสังกัดทั้ง 1,484 สถานี ขับเคลื่อนดำเนินการให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่จราจรทุกนาย ปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลัก 5S อันได้แก่ SMILE (ยิ้มแย้มแจ่มใส) , SMART (มีบุคลิกภาพที่ดี) , SALUTE (ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุภาพ) ,SERVICE MIND (ปฏิบัติหน้าที่ด้วยจิตใจบริการ) , STANDARD (ยกระดับการปฏิบัติให้มีมาตรฐานเดียวกัน) และให้หน่วยงานระดับกองบัญชาการ และกองบังคับการ ควบคุมกำกับดูแลให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ลดลงได้มากกว่าร้อยละ 5 หรือ 10 คนขึ้นไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี

ตามปีปฏิทิน (ปี พ.ศ.2564 ถึงปี พ.ศ.2566) , ข้อมูลการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจกวดขันวินัยจราจร เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี และผลการการบังคับใช้กฎหมาย (หมวก/เมา/เร็ว) เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง ตามปีปฏิทิน รวมทั้งมีการตรวจสอบติดตามประเมินผล เพื่อพิจารณาคัดเลือก สุภาพบุรุษจราจรประเภทบุคคล กองบังคับการละ 2 นาย แบ่งเป็น ระดับชั้นสัญญาบัตร 1 นาย และชั้นประทวน 1 นาย รวมจำนวนทั้งสิ้น 194 นาย และคัดเลือกสุภาพบุรุษจราจรประเภทหน่วยงานในสังกัดแต่ละกองบัญชาการที่ชนะเลิศ 1 หน่วยงาน รองชนะเลิศ 2 หน่วยงาน รวมทุกกองบัญชาการจำนวนทั้งสิ้น 32 หน่วยงาน โดยมอบรางวัล จำนวน 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 (เดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม 2567) มอบรางวัลเดือนกันยายน 2567 และครั้งที่ 2 (เดือนกันยายน ถึงธันวาคม 2567) มอบรางวัลเดือนมกราคม 2568 และยังมีรางวัลนวัตกรรมที่มอบให้กับหน่วยงานนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการลดอุบัติเหตุทางถนน โดยจะมีการมอบรางวัลในเดือนมกราคม 2568 

จากผลการขับเคลื่อนดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรได้เพิ่มความเข้มข้นในการกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลให้การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ลดลงจากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ใน เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม จำนวน 356 ราย คิดเป็น -8.55 เปอร์เซ็นต์

โดยในวันนี้เป็นการมอบรางวัลสุภาพบุรุษจราจรครั้งที่ 1 (ห้วงเดือนพฤษภาคม ถึงสิงหาคม 2567) โดยเป็นรางวัลประเภทบุคคล จำนวน 30 นาย เป็นสุภาพบุรุษจราจรในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล , มอบรางวัลสุภาพบุรุษจราจรประเภทหน่วยงาน ชนะเลิศ ระดับกองบังคับการ จำนวน 11 หน่วยงาน และมอบรางวัล ระดับกองบัญชาการ 3 หน่วยงาน โดยครั้งนี้ ตำรวจภูธรภาค 2 เป็นหน่วยงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ การจัดพิธีวันนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับตำรวจจราจร ที่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่และหน่วยงานที่ขับเคลื่อนโครงการฯได้เป็นอย่างดีต่อไป

‘สนธิ’ สวมกอด ‘ชูวิทย์’ อธิษฐานให้หายป่วย พร้อมให้อภัยทุกอย่าง – ลืมทุกเรื่องที่เคยขัดแย้ง

‘สนธิ’ กอดอธิษฐาน ให้ ‘ชูวิทย์’ น้องรักหายป่วย ลืมทุกเรื่องที่ผ่านมา ชูวิทย์ อวยพรให้พี่ชายเจริญ ๆ มีกำลังปราบมารต่อไป ส่วนผมเห็นปลายทางแล้ว

วันนี้ (7 พ.ย.67) ณ บ้านพระอาทิตย์ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือผู้จัดการ นำคณะผู้บริหาร พนักงาน ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 9 รูป เนื่องในโอกาสครบรอบวันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ครบรอบ 34 ปี และเนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุครบรอบ 77 ปี ซึ่งในงานได้มีแขกคนสำคัญหลายคนที่เข้ามาร่วมอวยพรในวันเกิด

โดยช่วงเวลา 10:30 น. นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ทันทีที่ได้เดินทางมาถึงบ้านพระอาทิตย์ นายสนธิ ได้เดินเข้าไปประคองตัวนายชูวิทย์และโผเข้ากอด พร้อมกับบอกว่า ”น้องรักเอ็งกอดพี่แน่น ๆ ขอหายใจเข้าลึก ๆ” และกล่าวต่อว่าจะถ่ายพลังที่ตนเองได้ปฏิบัติธรรมให้กับนายชูวิทย์ พร้อมกับกล่าวต่อว่า “หายใจเข้าลึก ๆ พุทธ หายใจออกโธ ” พร้อมอธิษฐานที่ได้สะสมบุญบารมีที่ตนมีมอบให้กับนายชูวิทย์ ที่เป็นน้องรัก และก็ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองพร้อมกับให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ

ก่อนที่นายชูวิทย์ จะมอบพวงมาลัยที่เตรียมมามอบให้นายสนธิ โดยนายชูวิทย์ บอกว่า "ขอบคุณพี่ที่อวยพร ขอให้พี่เจริญๆ ขอให้พี่มีกำลังใจที่เข้มแข็ง และช่วยปราบพวกมารต่างๆ ขอให้พี่ทำหน้าที่นี้ให้คนไทยสังคมไทย ส่วนผมเห็นปลายทางแล้ว"

ก่อนที่นายสนธิ จะบอกว่า "ไม่ ๆ ชูวิทย์ยังต้องอยู่ต่อ ชูวิทย์เป็นคนมีคุณูปการต่อสังคม ไม่ด้านใดด้านหนึ่ง พี่คิดว่าประชาชนทั้งหมดเขาซาบซึ้งจริง ๆ ที่ชูวิทย์ทำ แล้วทุกคนทุ่มเทกำลังใจให้ชูวิทย์ให้หาย พี่บอกมานานแล้วว่าพี่ลืมไปแล้ว พี่รู้แต่ว่าชูวิทย์เป็นน้องพี่ ไม่ต้องมาขอโทษพี่ มาให้พี่กอด เท่านั้นเป็นสิ่งที่พี่ต้องการ

ก่อนที่นายชูวิทย์จะบอกว่า มาถูกวัน มาวันที่พี่ไม่ด่าผม นายสนธิบอกว่า "ไม่...โถ่เอ้ย เอ็งจำได้ไหมเอ็งก็เคยมาหาพี่วันเกิด" ก่อนที่นายชูวิทย์จะตอบว่า "จำได้"

จากนั้นทั้งคู่ก็จูงมือกันเข้าไปด้านใน ในบ้านพระอาทิตย์ ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มารอติดตามทำข่าว

‘จิรัฏฐ์’ สส. พรรคประชาชน ยอมโพสต์ขอโทษ ปมพูดโจมตีฝ่ายตรงข้ามว่า “ตุ๊ด” อ้างเป็นคำพูดติดปาก

จากกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' ได้เผยแพร่คลิป นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สส.ฉะเชิงเทรา พรรคประชาชน ด่าฝ่ายตรงข้ามที่โจมตีว่า “ตุ๊ด” ไม่แมน ไม่ลูกผู้ชาย

ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ย.67) นายจิรัฏฐ์ ได้โพสต์ข้อความผ่าน X หรือทวิตเตอร์ว่า กราบขออภัยที่ผมได้พูดคำว่า “ตุ๊ด” ออกไปในรายการสดเป็นอย่างสูงครับ เป็นคำพูดติดปากซึ่งไม่เหมาะสม และไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นที่กำลังพูดถึงอยู่เลยด้วย ถึงแม้ผมจะขอโทษไปแล้วในรายการทันทีหลังจากที่หลุดพูดออกไป แต่อยากขอโทษเป็นทางการอีกครั้งครับ

ต่อมา เพจเฟซบุ๊ก 'วันนี้พรรคส้มโกหกอะไร' ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องดังกล่าวว่า พี่ลักแกง ขอโทษที่พูด “เหยียดตุ๊ด” อ้างว่า “เป็นคำพูดติดปาก” แบบนี้แสดงว่าพูดเหยียดบ่อยใช่มั๊ยคะ

ซึ่งมีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ขนาดออกสื่อยังขนาดนี้…ถ้าไม่ได้ออกสื่อ…! ตุ๊ดเขาไปคัดเลือกเกณฑ์ทหารกันนะจ๊ะ…

กมธ.อุตฯ หนุนออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ย้ำชัด ต้องเพิ่มโทษผู้ทำผิด - เร่งปราบปรามอย่างจริงจัง

กมธ.อุตสาหกรรม หนุน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมเพิ่มโทษผู้ทำผิดกฎหมาย เดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านอุตสาหกรรมของประเทศ

เมื่อวานนี้ (6 พ.ย.67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี เขต 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พร้อมด้วยกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้แถลงข่าวถึง การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ว่า จากกรณีเมื่อไม่กี่วันมานี้ได้มีการเข้าตรวจค้น รวมถึงปราบปรามผู้กระทำความผิดจากกรณีการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งปิดโรงงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี จนนำมาสู่การจับกุมรวมถึงตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก

ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม ได้เคยลงพื้นที่ไปยังโรงงานแห่งนี้ครั้งหนึ่ง และได้มีการกำชับให้มีการดำเนินการตามมาตรฐาน รวมถึงกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งต่อมาได้มีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ผู้ประกอบการยังคงลักลอบเปิดโรงงานจนนำมาสู่การตรวจค้นและจับกุมดังกล่าว และยังตรวจพบกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายที่มีน้ำหนักรวมมากกว่า 41 ตัน 

โดย จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อเป็นต้นแบบของการปราบปรามการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมที่ไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลภาวะต่าง ๆ 

ซึ่งทางนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีแนวนโยบายชัดเจนว่าจะต้องปราบปรามการกำจัดของเสียที่ไม่ถูกวิธีอย่างจริงจัง เพื่อคืนน้ำที่สะอาด คืนอากาศที่บริสุทธิ์ให้กับพี่น้องประชาชน ทางคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมเห็นด้วยกับแนวนโยบายดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง 

เพราะก่อนหน้านี้ได้มีหลายครั้งที่การจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมไม่ถูกวิธีนำมาซึ่งอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมาธิการก็ได้มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะในกิจการเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (โรงงานประเภท 101 105 และ 106) โดยทางคณะกรรมาธิการได้ติดตามอย่างใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ เมื่อเกิดเหตุการณ์พบสารแคดเมียม เรื่อยมาจนถึงการพบสารอะลูมิเนียมดรอส โดยได้มีการเสนอให้แก้ไขพระราชบัญญัติโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยการประชุมสมัยต่อไป 

นอกจากนี้ยังได้รับทราบว่ากระทรวงอุตสาหกรรมภายใต้การนำของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะได้มีการเสนอกฎหมายอีกฉบับหนึ่งในเรื่องนี้ด้วย คือ พ.ร.บ.จัดการกากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งต้องขอชื่นชมและสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้มีวิสัยทัศน์ในการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม เพื่อการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

โดยจะมีการกำหนดโทษทางอาญากับผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างหนัก เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับการจัดการของเสียโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย ดังนั้นการเพิ่มโทษแก่ผู้กระทำผิดดังกล่าวย่อมจะทำให้การบังคับใช้ และการป้องกันการกระทำความผิดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

แต่อย่างไรก็ดียังมีข้อห่วงใยว่า แม้จะมีการควบคุมการจัดการกากของเสียในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม พบว่า มีการลักลอบนำเข้ากากอุตสาหกรรม เช่น ของเสียอิเล็กทรอนิกส์ และกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ในหลากหลายช่องทาง 

ข้อห่วงใยดังกล่าวมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรไม่สามารถเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบได้ครบถ้วน ซึ่งในลำดับต่อไปทางกรรมาธิการจะเร่งศึกษาเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้มีการนำเข้ามาในประเทศได้ เพื่อไม่ให้กากของเสียอุตสาหกรรมสามารถทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างมลภาวะให้แก่พี่น้องประชาชน

จึงต้องขอเรียนไปยังพี่น้องประชาชนที่ติดตามการทำงานของคณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมว่า ทางคณะกรรมาธิการดำเนินการทำงานในเรื่องการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงขอชื่นชมในการทำงานของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ที่เอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการจัดการของเสียอุตสาหกรรมที่ผิดกฎหมาย เพื่อปกป้องพี่น้องประชาชนจากมลพิษที่จะเกิดขึ้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top