Tuesday, 29 April 2025
Hard News Team

"ชวน" ชี้สภาฯ ยังต้องเดินหน้ทำงานต่อ แต่ปรับมาตรการประชุมใช้ระบบซูมร่วม ยันถึงเวลาจะชี้แจงการทำงานช่วงเปิดสมัยสามัญ 22 พ.ค.นี้ เผย “เลขาสภาฯ”รายงานในสภาฯมีผู้ติดเชื้อโควิด 1 คน

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลภายนอกติดเชื้อโควิด-19 แล้วเข้ามาประชุม และมาปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง จะกระทบกับการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.นี้หรือไม่ว่า ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาชี้แจงกรณีการเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญ แต่จะมีการชี้แจงหลังจากนี้อีกครั้ง

ส่วนงานประชุมอื่นๆของรัฐสภา ตอนนี้ยังคงเป็นไปตามปกติ ส่วนใหญ่เป็นการประชุมผ่านระบบออนไลน์ หรือ ใช้แอปพลิเคชั่นซูม เพื่อไม่ให้การดำเนินงานเกิดความล่าช้า เช่นการประชุมคณะกรรมการข้าราชการรัฐสภาหรือก.ร. วันนี้(26 เม.ย.)จะมีบุคคลร่วมประชุมจากที่รัฐสภา 8 คนและประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 9 คน ซึ่งยอมรับว่าการทำงานในสถานการณ์นี้จะต้องมีการปรับตัว โดยเมื่อวันที่ 5 เม.ย.ทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในรัฐสภา 1 คน ส่วนคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็ให้กักตัว 14 วัน โดยรัฐสภาเข้มงวดในเรื่องนี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ก่อนการประชุมก.ร.วันนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สั่งกำชับเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างกับผู้เข้าร่วมประชุม ส่วนนายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ระบุว่า ผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของสมาชิกวุฒิสภ(ส.ว.) จำนวน 5 คน  และข้าราชการที่ไปร่วมกิจกรรมแจกอาหารและสิ่งของจำเป็นให้ผู้เดือนร้อนจากวิกฤตโควิด-19 เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ผลตรวจยังไม่ออกมา และกำลังติดตามอยู่

ปชป. ตั้งชุด DEM Call Team ช่วยประสานผู้ป่วยโควิด-19 ตกค้าง หลังเปิดศูนย์ฯ มีผู้ขอความช่วยเหลือต่อเนื่อง

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 พรรคประชาธิปัตย์ --นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่าหลังจากที่พรรคได้แถลงข่าวเปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุดไปเมื่อวานนี้ พบว่ามีผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และแกนนำชาวบ้านในชุมชนติดต่อผ่านเข้ามาในช่องทางต่าง ๆ ของพรรคอย่างต่อเนื่อง และได้ช่วยเหลือประสานให้มีสถานพยาบาลมารับตัวไปรักษาแล้ว 2 ราย

โดยศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) ของพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเข้าไปรับข้อมูล และประสานงานกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยประสานส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อ Covid-19 ในการดูแลตนเองและการป้องกันการแพร่กระจายของโรคในขณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล ในฐานะที่ตนเองเป็นหัวหน้าทีมรับผิดชอบประสานข้อมูลผู้ติดเชื้อเพื่อการส่งต่อในพื้นที่ กทม. พบว่าหลังจากเปิดศูนย์ฯ ได้มีผู้ประสานงานร้องขอความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทันเวลา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด จึงประสานกับพรรคตั้งชุด DEM Call Team ที่มีทั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีต ส.ส. อดีตผู้สมัคร ส.ส. อดีต ส.ก และทีมยุวประชาธิปัตย์เข้ามาเสริมทีม โดยพยายามให้มีตัวแทนครอบคลุมทุกพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้งกรุงเทพโซนเหนือ โซนตะวันออก โซนตะวันตก และกรุงเทพชั้นใน เพื่อให้สะดวกในการประสานและติดตามงานอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากตนเองแล้วยังมีพลตำรวจตรีวิชัย สังข์ประไพ นายชนินทร์ รุ่งแสง นางสาวอรอนงค์ กาญจนชูศักดิ์ ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล  นางสาวชมพูนุท นาครทรรพ ดร.อนันตชาติ บัวสุวรรณ และทีมยุวประชาธิปัตย์อีกหลายท่าน

“เป็นที่น่ายินดีว่า เราสามารถช่วยผู้ป่วยติดเชื้อที่ตกค้างให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้แล้ว 2 รายหลังจากที่รอเตียงมาหลายวัน ขอบคุณทุกท่านที่มาช่วยกัน ทุกคนเป็นจิตอาสา มาช่วยด้วยใจ เต็มใจ อยากเห็นบ้านเมืองก้าวข้ามผ่านวิกฤตไปได้ นาทีนี้ไม่มีพรรค ไม่มีพวก มีแต่คนไทยทุกคนที่ต้องช่วยเหลือกันและกันในยามที่ยากลำบาก” นางดรุณวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ DEM Call Team มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนการทำงานของภาครัฐโดยช่วยรับเรื่องราวร้องทุกข์จากพี่น้องประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อตกค้างที่ยังไม่สามารถเข้าระบบสาธารณสุขได้ที่จะส่งข้อมูลผ่านมาจากช่องทางทั้งแบบออฟไลน์คือ อดีต ส.ส. อดีต ส.ก และบุคลากรของพรรคในพื้นที่ กทม. และออนไลน์ 2 ช่องทางหลักคือ Facebook : facebook.com/DemocratPartyTH และ Twitter : twitter.com/democratTH เพื่อส่งข้อมูลไปยังหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขที่รับผิดชอบในการแก้ไขปัญหา ภายใต้แนวทางของภาครัฐต่อไป

'สหรัฐฯ' เดินหน้าฉีดวัคซีนจอห์นสันต่อ​ แม้มีผลข้างเคียง ยัน!! ยอมรับความเสี่ยงได้ เช่นเดียวกับวัคซีนอื่นทั่วโลก

หลังจากที่ กรมควบคุมโรคระบาด และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้ออกคำสั่งระงับวัคซีน Covid-19 จากบริษัท Johnson & Johnson ชั่วคราว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2021​ เพราะพบเคสผู้รับวัคซีนเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตัน 15 ราย และเสียชีวิต 1 ราย เมื่อได้รับวัคซีนไปแล้ว ตั้งแต่ 2 วัน ถึง 1 สัปดาห์

แต่เมื่อมีการตรวจสอบวัคซีนว่ามีความเชื่อมโยงกับอาการลิ่มเลือดอุดตัน และประเมินความเสี่ยงอย่างละเอียดแล้ว ก็กลับมาอนุมัติให้ฉีดวัคซีน J&J ได้อีกครั้ง หลังจากที่ระงับไปนานถึง 10 วัน

ถึงกระนั้น​ ก็จะมีการแจ้งคำเตือนให้กับผู้รับวัคซีนว่าอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งทางหน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐย้ำว่า มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันน้อยมาก ๆ หากดูจากตัวเลขการฉีดวัคซีนเฉพาะของ J&J ไปแล้วถึง 15 ล้านโดส แต่พบผู้ที่มีอาการลิ่มเลือดอุดตัน เพียง 15 ราย

การตัดสินใจครั้งนี้มาจากการโหวตของคณะกรรมการภายในหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐ ที่มองว่าการเดินหน้าฉีดวัคซีนมีความจำเป็นมากที่สุดในขณะนี้ เมื่อเทียบกับอาการข้างเคียงจากวัคซีนที่พบ​ นับว่าเกิดได้น้อยมาก

ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันอย่างรุนแรงพบเฉพาะกลุ่มผู้หญิง อายุระหว่าง 18-49 ปี โดย ดร.อาชิห์ จาห์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยบราวน์ ได้แนะนำว่าควรหยุดการใช้วัคซีน J&J เฉพาะกลุ่มนี้ แล้วฉีดให้กลุ่มอื่นๆ แทนที่จะระงับการใช้วัคซีนทั้งหมดไปเลย

เพราะการสั่งระงับการฉีดวัคซีนแบบไม่มีกำหนด จะมีผลต่อคิวที่นัดไว้ของผู้ที่จะเข้ารับวัคซีน แม้ว่าจะไม่ได้ใช้วัคซีนของ J&J ก็ตาม ที่จะทำให้โครงการวัคซีนล่าช้าออกไปโดยไม่จำเป็น

และสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในวัคซีนของประชาชน จนหลายคนเปลี่ยนใจไม่ยอมไปฉีดวัคซีนก็มีไม่น้อย

ล่าสุดจากการสำรวจของ สื่อ YouGov/Economist พบว่าข่าวการระงับการใช้วัคซีนของ J&J มีผลต่อความเชื่อมั่นของชาวอเมริกันอย่างชัดเจน ก่อนหน้าที่จะมีข่าว ชาวอเมริกันส่วนใหญ่กว่า 52% เชื่อมั่นถึงประสิทธิภาพของวัคซีนของ J&J แต่หลังจากที่มีคำสั่งให้ระงับวัคซีน ความเชื่อมั่นลดลงเหลือเพียง 37% ส่วนผลสำรวจของสำนักข่าว Axios-Ipsos พบว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะระงับโปรแกรมฉีดวัคซีนของ J&J

เรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงอย่างมากในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขของสหรัฐว่าคำสั่งเดี๋ยวฉีด เดี๋ยวหยุด เมื่อพบผู้ที่มีอาการข้างเคียงเพียง 6 รายหลังจากที่ฉีดไปแล้วนับล้านโดส อาจสร้างผลเสียต่อโครงการวัคซีนในเรื่องความเชื่อมั่น มากกว่าข้อดีที่ได้จากการฉีดวัคซีนให้ครบตามเป้าหมาย

และมีการหยิบยกกรณีศึกษาของ AstraZeneca ที่พบอาการลิ่มเลือดอุดตันเช่นเดียวกันในยุโรป ที่ทำให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปลังเล และบางประเทศมีคำสั่งให้ระงับการใช้วัคซีนไป

โดยมีการยกตัวอย่างเปรียบเทียบผลสำรวจจากประเทศที่ใช้วัคซีน AstraZeneca ไปแล้วอย่าง อังกฤษ และ เยอรมัน และมีการระงับใช้เพราะพบเคสที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเหมือนกัน

ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษยังคนเดินหน้าโครงการวัคซีน AstraZeneca ต่อเนื่อง แต่ระงับเฉพาะกลุ่มผู้รับวัคซีนที่มีรายงานว่าเกิดผลข้างเคียง ส่วนเยอรมันสั่งระงับการใช้วัคซีนทั้งหมดเป็นการชั่วคราว ก่อนจะตัดสินใจให้กลับมาใช้ได้อีกครั้งหลังวันที่ 4 มีนาคม ก็พบว่าชาวอังกฤษมีค่าความเชื่อมั่นในวัคซีน AstraZeneca สูงถึง 72% สูงกว่าเยอรมันที่มีคะแนนความเชื่อมั่นที่ 68%

พอรัฐบาลเยอรมันได้มีคำสั่งให้ระงับการใช้วัคซีน AstraZeneca ชั่วคราวยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาก แม้จะให้กลับมาฉีดวัคซีนได้อีกครั้ง ก็ไม่ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาได้ดังเดิม

แต่สิ่งที่น่ากังวลสำหรับ AstraZeneca คือ จำเป็นต้องฉีด 2 เข็ม ทำให้ "ความเชื่อมั่น" ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเริ่มสั่นคลอน​ เพราะมีหลายเคสที่ขอเลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่สองออกไป หลังจากมีการระงับการฉีดวัคซีน และมีหลายคนที่ไม่ยอมมาฉีดต่ออีกเลย

เมื่อการสร้างภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อ COVID-19 ยังคงแพร่กระจายต่อ ไม่ยอมหยุดง่าย ๆ

หลายฝ่ายจึงลงความเห็นว่า เมื่อมีการเดินหน้าโครงการวัคซีนแล้ว ควรทำอย่างต่อเนื่อง หากพบอาการข้างเคียงก็ควรพิจารณาเป็นรายเคส หรือเฉพาะกลุ่มที่พบอาการจะดีกว่า ส่วนทางรัฐบาลต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลที่ดี สร้างความเข้าใจ และเชื่อมั่นให้กับประชาชน ให้ตระหนัก แต่อย่าตระหนก และสนับสนุนให้ประชาชนเข้ารับวัคซีนตามโปรแกรม จะเป็นผลดีที่สุด

 

อ้างอิง:

https://abcnews.go.com/Politics/cdc-advisory-panel-jj-vaccine-resume/story?id=77254140

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/jj-covid-19-vaccine-pause-reviewed-us-officials-hope-resume-shots-2021-04-23/

https://time.com/5956221/johnson-covid-19-trust-europe/?utm_campaign=editorial&utm_source=line_app&utm_medium=social&ldtag_cl=m_loKVwRSTCgRA_BLJmpKwAA_oa

https://www.npr.org/sections/coronavirus-live-updates/2021/04/23/990001856/whats-next-for-the-j-j-vaccine-u-s-health-authorities-discuss-resuming-shots


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit

คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

‘บิ๊กตู่’ ถกวงเล็กเร่งกระจายวัคซีน

ด้านความเคลื่อนไหวที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26 เมษายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางเข้า ปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมหารือวงเล็บเกี่ยวกับเรื่องการกระจายวัคซีนที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสมช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ

เร่งเสนอแผนดึงนักลงทุนชง “บิ๊กตู่” ไฟเขียว

ม.ล.ชโยทิต กฤดากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกดึงดูดการลงทุนในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเร็ว ๆ นี้ ทีมปฏิบัติการเชิงรุกฯ จะเร่งเสนอแผนการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และแนวทางการแก้ปัญหาอุปสรรคที่เป็นรูปธรรมให้กับที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) พิจารณา โดยมีทั้งเป้าหมายในการชักจูงการลงทุนและในเรื่องของการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค หลังจากรับฟังความเห็นและประชุมออนไลน์กับนักลงทุนต่างประเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ระยะเวลาในการจัดทำแผนงานเชิงปฏิบัติให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน 

“การทำงานของคณะทำงานชักจูงการลงทุนในประเทศไทยก็ยังทำงานต่อเนื่อง ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกล่าสุดนี้จะไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากการระบาดรอบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และในหลายประเทศขณะนี้แม้จะมีการฉีดวัคซีนไปมากแล้วแต่ก็ยังเผชิญกับการแพร่ระบาด ก็จะประสบปัญหาเหมือนกัน เช่นในชิลีที่มีการฉีดไปแล้วกว่า 50% ก็ยังมีการระบาดเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในแต่ละวัน”  

ม.ล.ชโยทิต กล่าวว่า ขณะนี้ทุกประเทศมีการแข่งขันกันอยู่โดยเฉพาะในอาเซียน ธุรกิจที่จะเข้ามาคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ เป็นกลุ่มธุรกิจ 5จี และเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เราต้องการให้เข้ามาลงทุนจะมาก่อน และการเข้ามาลงทุนของแต่ละประเทศจะดึงเอาอุตสาหกรรมชั้นนำแต่ละประเทศ เช่น ในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งหลายประเทศมีความก้าวหน้าในเรื่องนี้มาก เช่น ประเทศจีน ส่วนที่เป็นสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ก็กำลังดูในส่วนของประเทศไต้หวัน ญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น

ผช.โฆษกทร. เผย มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า ขอเชิญร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19”

นางสาว ปรียาดา บัวสมบุญ (หมอพลอย) ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ได้เร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการรักษาผู้ป่วยจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน 
      
"ตั้งแต่เริ่มมีการระบาด บุคลากรทางการแพทย์ ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ และได้อุทิศตนทำงานอย่างหนักเพื่อฝ่าภาวะวิกฤตในครั้งนี้ นอกจากนี้เรายังคงต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพเป็นจำนวนมาก จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคประชาชนร่วมบริจาคสมทบทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19" 
    
ผู้ช่วยโฆษกกองทัพเรือกล่าวต่อไปว่า เงินที่ได้รับจากการบริจาค จะนำไปจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ ได้แก่ 

1.) Hi flow oxygen ผู้ใหญ่ จำนวน 10 เครื่อง
2.) เครื่อง end tidal co2 จำนวน 4 เครื่อง 
3.) สาย collugate ของ hi flow จำนวน 100 ชุด

โดยอุปกรณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นสิ่งที่ทางโรงพยาบาลต้องการเป็นการเร่งด่วน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามรายการที่แจ้งไว้ หรือบริจาคเงินผ่านมูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า “เพื่อผู้ป่วยไวรัสโควิด-19”   ทั้งนี้สามารถร่วมบริจาคได้ที่ ศูนย์รับบริจาค โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ หมายเลขโทรศัพท์ 02 475 2576 และ 06 3442 2614 หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ชื่อบัญชี “มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า” เลขที่บัญชี 040-2-00002-0 มูลนิธิสมเด็จพระปิ่นเกล้า โดย โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ ขอขอบคุณทุกกำลังใจที่มอบให้กับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกท่านด้วยดีตลอดมา

ปลัดสปน. สั่งเข้ม เพิ่ม เวิร์ก ฟรอม โฮม เป็น 95% - ขยายเวลาถึง 14 พค.

เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุด เรื่องการปฏิบัติงานภายในที่พักและปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ถึงผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่าปัจจุบัน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) มีการแพร่ระบาดในวงกว้างทั่วประเทศไทย โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ โดยยังคงส่งผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 2 สัปดาห์ 

นายธีรภัทร กล่าวว่า ซึ่งสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้กำหนดให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) ต่อเนื่องระหว่างวันที่ 16 - 30 เมษายน 2564 (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90) นั้น เมื่อรัฐบาล และ ศบค. ได้ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเต็มที่ โดยพบว่าสาเหตุสำคัญ คือการติดเชื้อในที่ทำงาน จึงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) และใช้การประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนำของ ศบค. และตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด 

นายธีรภัทร กล่าวว่า จึงขอให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สปน. ปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home) อย่างต่อเนื่องสูงสุด (จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95) ระหว่างวันที่ 26 เมษายน - 14 พฤษภาคม 2564 โดยให้ดำเนินการ คือ ให้รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนัก กอง ศูนย์ ตรวจสอบ และสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานภายในที่พักอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง รายงานผลการปฏิบัติงานให้ กองการเจ้าหน้าที่ทราบทุกวัน เพื่อประมวลผลรายงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทราบตามแนวทางที่ได้ปฏิบัติมา

นายธีรภัทร กล่าวว่า สำหรับงานบริการประชาชน การประชุมคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามกฎหมาย ขอให้พิจารณาดำเนินการประชุมผ่านระบบทางไกล (Video Conference) ทุกการประชุม , งานรับเรื่องราวร้องทุกข์และการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ขอให้ดำเนินการผ่านช่องทางทั้งโทรสายด่วน 1111 การส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์และระบบออนไลน์ที่กำหนดไว้

นายธีรภัทร กล่าวว่า ให้ติดตามสถานการณ์โควิด-19 และข่าวสารที่เกี่ยวข้องจาก ศบค. ทุกวัน รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้กับคนในครอบครัวและญาติมิตร อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตัวตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง , ขอให้ปฏิบัติงานอยู่ในที่พักเท่านั้น โดยหลีกเลี่ยงการเดินทาง สำหรับบุคคลที่เคยเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กิจกรรมที่เสี่ยง ขอให้เน้นย้ำมาตรการกักกันตนเอง (Self Quarantine) อย่างเคร่งครัด หากมีอาการน่าสงสัย ให้เข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลในพื้นที่ทันทีและแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย

นายธีรภัทร กล่าวว่า สปน.สนับสนุนการปฏิบัติงานของศบค. ในการติดตามสถานการณ์และควบคุมการลดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี จึงได้ให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ช่วยประสานงาน ติดตามและสนับสนุนการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกจังหวัด ผ่านระบบการประชุมทางไกล แล้วนำข้อมูลที่ได้เสนอ ศบค. เพื่อบูรณาการและสนับสนุนการปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง

นายธีรภัทร กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่จะร้องทุกข์และเสนอแนะความคิดเห็น และผู้ขอขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค ส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มาที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักนายกรัฐมนตรี ผ่านโทรสายด่วน 1111 (24 ชั่วโมง) รวมทั้งส่งทางไปรษณีย์ เวปไซต์ และไลน์ อีกทั้งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ ยกระดับการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนทุกสาขา เพื่อติดตามในภาพรวมของสถานการณ์และแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

ราเมศ เผย จุรินทร์ ย้ำ! ทุกภาคส่วนของพรรค ลุยช่วย ปชช สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์เต็มที่

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ว่า
ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ได้สั่งการให้บุคลากรของพรรคทุกคน ในทุกพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการประสานงานกับหน่วยงานของรัฐ ดูแลผู้ที่ลำบากในสถานการณ์ขณะนี้ ประชาชนจะสะดวกและคุ้นเคยกับบุคลากรของพรรคในพื้นที่อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว หากเมื่อต้องการความช่วยเหลือแล้วได้หาทางช่วยกันก็จะช่วยแบ่งเบา คลี่คลาย ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างมาก 

ด้วยพรรคมีบุคลากรครบทุกพื้นที่ มี ส.ส. อดีต ส.ส. อดีต ผู้สมัคร สาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำแต่ละเขตทั่วประเทศ จะร่วมประสานกันทำงานกับส่วนกลางและรัฐมนตรีของพรรคที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเต็มรูปแบบ ขณะนี้ทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ 
หัวหน้าพรรคได้ย้ำให้ทุกองคาพยพของพรรคขับเคลื่อนตามแนวทางดังกล่าวเต็มที่ ติดขัดส่วนไหนให้ประสานหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รองหัวหน้าพรรคที่รับผิดชอบแต่ละภาคได้ทุกคน

เมื่อวานนี้พรรคนำโดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค นางสาวจิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองเลขาธิการพรรค นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค ได้เปิดศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 (ศปฉ.ปชป.) เพื่อช่วยประสานคลี่คลายปัญหาผู้ป่วยติดเชื้อตกค้างได้ให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ก็จะทำงานร่วมกันกับทุกพื้นที่ ที่ทำการพรรคส่วนกลางยังเปิดทำการไม่มีวันหยุด เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือประชาชน ประชาชนสามารถใช้บริการได้ตลอดเวลา

นายราเมศกล่าวต่อว่า จากที่ได้มีการให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายโดยพรรคได้เปิดศูนย์บริการกฎหมายสู้ภัยโควิด 19 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 ขณะนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ ประชาชนยังใช้บริการช่องทางนี้อยู่ ผ่านทางโทรศัพท์สายตรงกับนักกฎหมายของพรรค โดยให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีความเดือดร้อนในเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางคนต้องถูกเลิกจ้างถูกพักงานเนื่องจากกิจการได้ปิดลงชั่วคราวหรือถึงขั้นไม่ได้ผ่อนจ่ายในภาระต่างๆจนถูกฟ้องคดี มีปัญหาหนี้สินที่จะถูกฟ้องหรือถูกฟ้องแล้ว รวมถึงการมีปัญหาในการเข้าถึงสิทธิต่างๆของรัฐที่ประชาชนพึ่งมีพึ่งได้ หรือบางรายมีหนี้สินเมื่อไม่มีรายได้ก็ต้องการประนอมหนี้หรือชะลอคดีไว้ก่อน และการช่วยร่างสัญญาต่างๆที่เร่งด่วน รวมถึงการสอบถามข้อปฏิบัติตนในพื้นที่ต่างๆ สิทธิที่พึงจะได้รับ ปัญหาข้อร้องเรียนอิ่นๆที่ผ่านมามีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก 

ขณะนี้ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าการช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจและอยู่เคียงข้างประชาชนรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็นส่วนสำคัญเป็นอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือ ประชาชน และทุกคนมีส่วนช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้ทุกคน โดยการปฎิบัติตนอย่างเคร่งครัดในการป้องกันตนเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ไม่รวมกลุ่มกันเป็นจำนวนมากในขณะนี้ คนไทยจะสามัคคีมีวินัย จับมือกันก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน พรรคขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนทุกคน

เทพไท ชื่นชม รัฐบาลใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท แจกเงินเยียวยาได้หมด 100% ดีกว่าใช้เงินป้องกันโควิด-19

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีตส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การตรวจสอบการใช้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ว่าตนได้ติดตามและตรวจสอบ เรื่องการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทอย่างใกล้ชิด และได้เรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ชี้แจงความคืบหน้าของการใช้เงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทต่อประชาชน แต่ก็เงียบหายไป ไม่มีคำชี้แจงใดๆจากฝ่ายรัฐบาล จึงได้ติดตามขอข้อมูลจาก ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาตรวจสอบ ติดตามการใช้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท 

ได้พบความจริงว่า ในส่วนของเงินกู้ 1 ล้านล้านนี้ ประกอบด้วย 3 แผนงาน หรือกลุ่มโครงการ คือ 1.แผนงานที่เกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 45,000 ล้าน 2.แผนงานที่เกี่ยวกับการเยียวยา ชดเชย และช่วยเหลือประชาชนรวมถึงเกษตรกร จำนวน 600,000 ล้าน และ 3.แผนงานที่เกี่ยวกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และกระตุ้นการบริโภค จำนวน 355,000 ล้าน 

ที่น่าจับตามองเป็นพิเศษ ก็คือเงินกู้ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้รับอนุมัติวงเงินไปกว่า 20,000  ล้าน แต่เบิกจ่ายไปเพียงกว่า 5,000 ล้านเท่านั้น (25%) แต่โครงการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้แก่ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงินอนุมัติ 170,000 ล้าน เบิกจ่าย 159,077 ล้าน (93.58%) แต่แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงินอนุมัติ 9,408 ล้าน เบิกจ่ายเพียง 735 ล้าน (7.82%)

อยากจะตั้งข้อสังเกตการเตรียมการความพร้อมด้านสถานพยาบาลและการเตรียมการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน(โควิด-19) ที่ได้รับวงเงินอนุมัติราว 11,500 ล้าน แต่มีการเบิกจ่ายเพียง 55 ล้านเท่านั้น นับว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐบาลในการใช้เงินกู้เพื่อรองรับการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างสิ้นเชิง

เมื่อติดตามและตรวจสอบการใช้เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จะพบข้อเท็จจริงว่า 
1.) งบประมาณด้านสาธารณสุข ที่ใช้รับมือกับโรคไวรัส โควิด-19 มีการเบิกจ่ายน้อยมาก รัฐบาลตั้งอยู่ในความประมาท ประเมินผิดพลาดคิดว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอีก จึงชะล่าใจไม่มีการเร่งรัดการใช้เงินให้เป็นไปตามเป้าหมาย 

2.) งบประมาณด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีการเร่งรัดจ่ายเกือบครบ 100% แสดงว่ารัฐบาลได้ใช้เม็ดเงินดังกล่าวในการหาเสียงสร้างความนิยมให้กับรัฐบาล จึงมีการระดมเงินแจกเงินให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว 

3.) งบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย รัฐบาลทบทวนโครงการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีการใช้เงิน ให้นำเม็ดเงินทั้งหมดมารวมกัน เพื่อใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมดมาใช้ในการซื้อเครื่องมือตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ซื้อวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด และซื้ออุปกรณ์เครื่องมือการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ

“บิ๊กป้อม” ขอบคุณ จนท.และชมรมคนริมน้ำช่วยกำจัดผักตบชวา/วัชพืช ป้องกันน้ำหลากฤดูฝน - ลดผลกระทบการสัญจร พร้อมกำชับ จนท.ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ภายใต้ New Normal เคร่งครัด

เมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2564  พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษกประจำรอง นรม. เปิดเผยว่า วันนี้  พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นรม./ผอ.กอนช. ได้กล่าวขอบคุณ เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐ และชมรมคนริมน้ำ ซึ่งเป็นจิตอาสาชุมชน ได้ร่วมกันกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างต่อเนื่อง โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานหลักของภาครัฐ ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่สำคัญอย่างยิ่งมีประชาชนจากชมรมคนริมน้ำ จำนวนมากที่ได้ให้ความร่วมมือ ร่วมใจในการดำเนินกิจกรรมกำจัดผักตบชวา และวัชพืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ด้วยดี  สำหรับพื้นที่ที่ได้ดำเนินการกำจัดแล้ว และกำลังดำเนินการอยู่ ในขณะนี้ อาทิ บริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยา อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท ,แม่น้ำลพบุรีและคลองพระครู อ.บางปะหัน  ,แม่น้ำน้อย อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ในการเดินเรือสัญจรทางน้ำ,การระบายน้ำ และการป้องกันน้ำเน่าเสีย จากความหนาแน่นของผักตบชวา และวัชพืช 

พล.อ.ประวิตร ยังได้กำชับ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงาน ที่รับผิดชอบดังกล่าวให้เร่งรัดกำจัดผักตบชวา และวัชพืชให้หมดไป อย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ที่ดำรงวิถีชีวิตอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและต้องใช้การสัญจรทางน้ำ พร้อมขอให้ ระมัดระวังอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายใต้มาตรการ ของ สธ.อย่างเคร่งครัด ในขณะนี้ด้วย และขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือด้วยดี ตลอดมา


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top