โฆษกกห. เผย ผลการประชุม รมว.กห.อาเซียน กับ รมว.กห.ประเทศคู่เจรจา (ADMM-Plus) ครั้งที่ 8
ที่กระทรวงกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทน รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน กับ รมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8 (ADMM-Plus) ผ่านระบบ VTC ณ ศาลาว่าการกลาโหม โดย กระทรวงกลาโหมบรูไนเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น
ที่ประชุมโดย รมว.กลาโหม ทั้ง 18 ประเทศ รับทราบพัฒนาการความร่วมมือของอาเซียนที่ผ่านมา และได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงของภูมิภาคและระหว่างประเทศร่วมกัน ซึ่งภาพรวมที่ประชุมให้ความสำคัญกับการรับมือกับความท้าทายที่เป็นปัญหาร่วมกันและส่งผลกระทบกับภูมิภาค โดยเฉพาะภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ทั้งภัยธรรมชาติ ภัยจากไซเบอร์ การก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รวมทั้งภัยคุกคามจากโรคระบาด COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ซึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องร่วมกันรับมือกับความท้าทายที่เป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไปถึงการสนับสนุนฟื้นฟูประเทศร่วมกัน
นอกจากนั้น ยังมีความกังวลร่วมกันถึงปัญหาความมั่นคงทางทะเล ทั้งคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ที่ทุกประเทศจำเป็นต้องอยู่บนพื้นฐานความไว้เนื้อเชื่อใจและเคารพกันและกัน ยึดถือปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช้กำลังทหารแก้ปัญหา ร่วมกันหาทางออกด้วยสันติวิธี โดยใช้ทุกกลไกที่มีอยู่ร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดจากนิวเคลียร์ และให้ทะเลจีนใต้ เป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและเสรีในการคมนาคม สำหรับปัญหาในเมียนมา ที่ประชุมได้เรียกร้องไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง ร่วมแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีและคำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยให้เป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อ ของการประชุมผู้นำอาเซียน
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้ย้ำความสำคัญของการร่วมมือและช่วยเหลือกันและกันรับมือกับ COVID-19 อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการจัดตั้งกองทุนอาเซียนและแผนการฟื้นฟูอาเซียน ภายหลัง COVID-19 ร่วมกับการขับเคลื่อนความร่วมมือของศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนและเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ด้านเคมี ชีวภาพและรังสี พร้อมทั้งให้ความสำคัญร่วมรับมือกับภัยคุกคามจากไซเบอร์ จากกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติและกลุ่มก่อการร้าย ที่มีการใช้ไซเบอร์มากขึ้นภายใต้สถานการณ์ COVID-19 พร้อมทั้งยืนยัน ไทยสนับสนุนฉันทามติ 5 ข้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม รวมถึงสนับสนุนเมียนมาในการรับมือกับ COVID-19 ในฐานะครอบครัวอาเซียนด้วยกัน
จากนั้น ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองปฏิญญาบันดาร์ เสรี เบกาวัน ของการประชุม รมว.กลาโหมอาเซียน กับรมว.กลาโหมประเทศคู่เจรจา ว่าด้วยการส่งเสริมและการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต สันติภาพและความมั่นคงของอาเซียน ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ ในการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือตอบสนองสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 การเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยคุกคามในภูมิภาคถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยคุกคามด้านเคมี ชีวภาพและรังสี การส่งเสริมความร่วมมือในบทบาทและการมีส่วนร่วมของสตรีในการเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคง รวมทั้งบทบาทของความเป็นแกนกลางและเอกภาพของอาเซียน เพื่อร่วมเสริมความมั่นคงของภูมิภาคให้มีความยั่งยืนร่วมกัน