Saturday, 10 May 2025
Hard News Team

ครม.ไฟเขียว ลดเงินสมทบ นายจ้าง-ลูกจ้าง ม.33 เหลือ 2.5 % เป็นเวลา 3 เดือน ผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละ 5% เหลือฝ่ายละ 2.5% ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิ.ย.-ส.ค.64

รวมเป็นเงินที่จะกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 20,163 ล้านบาท โดยการลดเงินสมทบครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ที่กระทรวงแรงงานเสนอ มาตรการแบ่งเบาภาระให้ลูกจ้างและนายจ้างในช่วงวิกฤตโควิด-19

นายสุชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับต่อนายจ้างและผู้ประกันตน ดังนี้ นายจ้าง 481,113 ราย ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย 1,189 ล้านบาท รวมผู้ประกันตนทุกมาตราจำนวน 12.9 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่ายลง 10,676 ล้านบาท

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทรวงแรงงานเล็งเห็นผลกระทบที่จะเกิดต่อแรงงานและนายจ้าง จึงดำเนินการเสนอให้ลดเงินสมทบกองทุนประกันสังคมลง ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2564 โดยครั้งแรกช่วยให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 23,119 ล้านบาท รวม 2 ครั้งในปีนี้สามารถเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 43,282 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่อง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าของนายจ้างและผู้ประกันตน ช่วยให้ชีวิดความเป็นอยู่ของผู้ประกันตนดีขึ้น และที่สุดรักษาการจ้างงานไว้” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนก.ย.64 เป็นต้นไป นายจ้าง ลูกจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ถึงจะกลับมาจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5% ในอัตราปกติตามกฎหมายกำหนด ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะกลับมาจ่าย 432 บาทต่อเดือนตามกฎหมายกำหนดเช่นกัน

‘บิ๊กแดง’ เป็นลูก ‘บิ๊กจ๊อด’

จากกรณีที่ทวิตเตอร์ ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม @ThammasatUFTD ได้โพสต์ข้อความเมื่อเวลา 18.32 น. วันที่ 17 พฤษภาคม ระบุว่า พฤษภาทมิฬ คือการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หรือ พ่อของ “แดง” อดีตผบ.ทบ. ปัจจุบันได้รับหน้าที่เป็นถึงองคมนตรี

แต่แท้ที่จริงแล้ว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นลูกของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์เเละดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11 หมายเลข 6 ไม่ได้เป็นลูกของพล.อ.สุจินดา คราประยูร และไม่ได้เป็นองคมนตรีแต่อย่างใด

ขณะที่ นายนริศโรจน์ เฟื่องระบิล อดีตเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ได้โพสต์เฟซบุ๊กสวนกลับว่า ในฐานะศิษย์เก่ามธ. โคตรอายเลยว่ะ ที่มีรุ่นน้องพร่องความรู้ทางประวัติศาสตร์เยี่ยงนี้


ที่มา : https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=1405748736448566&id=100010403598013

 

วัคซีนพระสงฆ์ ! “รมต.อนุชา” ให้พศ. นิมนต์พระสงฆ์เข้ารับการฉีดวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกัน ยับยั้งการแพร่ระบาดในวัด

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ติดตามและอำนวยการความสะดวกแก่พระสงฆ์ที่เข้ารับถวายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) ที่โรงพยาบาลสงฆ์จัดทำขึ้นโดยกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้มีพระสงฆ์เข้ารับถวายการฉีดวัคซีน ในวันแรก 350 รูป โดยข้อกำหนดของทางโรงพยาบาลที่จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่อถวายการฉีดวัคซีนแด่พระสงฆ์ อายุ 60 ปี ขึ้นไป พระสงฆ์อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคร่วม 7 โรค และพระสงฆ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาดสีแดงเข้ม

นายอนุชา กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง มีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีพุทธศาสนิกชนเดินทางไปเป็นประจำทุกวัน อีกทั้งมีการประกอบพิธีฌาปนกิจศพผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้พระสงฆ์จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการช่วยเหลือ การจัดโครงการถวายการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา-19 (COVID-19) แด่พระภิกษุสงฆ์ของโรงพยาบาลสงฆ์ จึงสอดคล้องกับแนวทางที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในวัด ซึ่งเป็นการป้องกันทั้งพระภิกษุสงฆ์เอง และญาติโยมที่เดินทางไปวัด 

นายอนุชา กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำรวจจำนวนพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าพระสงฆ์ที่ติดเชื้อและมีอาการอาพาธ มีจำนวน 14 ราย และพระสงฆ์และสามเณรที่มรณภาพ มีจำนวน 3 ราย ซึ่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติประสานไปยังวัดทั่วประเทศ ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด พร้อมหาแนวทางให้ความช่วยเหลือโดยด่วน

มณฑลกวางตุ้ง คุมเข้มสกัดโควิด-19 ออกมาตรการกักตัว และสังเกตอาการผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง รวมประเทศไทย เป็นเวลา 14 วัน บวกสังเกตอาการเพิ่มอีก 7 วัน

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ออกประกาศเมื่อวันที่ 16 พ.ค. ค.ศ.2021 แจ้งมาตรการเพิ่มเติมเพื่อประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ได้แก่ การตรวจเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ โดยต้องตรวจเชื้อ 2 ครั้งในระกว่างการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้เดินทางจากกลุ่มประเทศที่มีอัตราเสี่ยงการติดเชื้อฯ สูง ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย จะต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 1, 4, 7, 10, และ 14 ของการกักตัว

นอกจากนี้ ยังต้องอยู่ภายใต้มาตรการสังเกตอาการเพิ่มเติมอีก 7 วัน กล่าวคือ ผู้ที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว จะต้องสังเกตอาการอีก 7 วันในที่พักของตน โดยมีการตรวจเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 2 และวันที่ 7 ของช่วงสังเกตการนี้

สำหรับผู้เดินทางเข้าจีนที่เมืองเซินเจิ้น ต้องกักตัว 14 วัน และสังเกตอาการ 7 วันที่เมืองเซินเจิ้น ก่อนออกเดินทางไปเมืองอื่นๆ


https://mgronline.com/china/detail/9640000047686

ครม. เห็นชอบ มาตรการรับมือฤดูฝน เน้น ป้องกัน-ลดความเสียหายจากภัยพิบัติในฤดู

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือ ป้องกัน และลดความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติในฤดูฝน

ซึ่งประมาณการปริมาณน้ำในแหล่งน้ำทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 มีปริมาณน้ำรวม 38,722 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 47 ของความจุ) และเมื่อเข้าฤดูฝนจะมีการใช้น้ำเพิ่มขึ้นเป็น 96,249 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่ในอ่างเก็บน้ำถึง 57,527 ล้านลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น สทนช. จึงกำหนดแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน และมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564 ดำเนินการควบคู่กันไป โดยแผนการจัดสรรน้ำในฤดูฝน กำหนดให้ใช้น้ำฝนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นหลักเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน แบ่งประเภทการใช้น้ำ ดังนี้

1.) การอุปโภคบริโภค รวม 3,429 ล้านลูกบาศก์เมตร

2.) การรักษาระบบนิเวศ รวม 12,888 ล้านลูกบาศก์เมตร

3.) การเกษตรกรรม รวม 78,905 ล้านลูกบาศก์เมตร

4.) การอุตสาหกรรม รวม 1,027 ล้านลูกบาศก์เมตร  

น.ส.รัชดา กล่าวอีกว่า ส่วนพื้นที่จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรฤดูฝน กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ดังนี้

1.) ในเขตชลประทาน มีจำนวน 11.56 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่ 1 (นาปี) จำนวน 10.62 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 6.1 แสนไร่ และพืชผัก จำนวน 3.2 แสนไร่

2.) นอกเขตชลประทาน มีจำนวน 61.49 ล้านไร่ แบ่งเป็น นารอบที่1 (นาปี) จำนวน 48.95 ล้านไร่ พืชไร่ จำนวน 11.75 ล้านไร่ และพืชผัก จำนวน 7.9 แสนไร่ 

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ประกอบด้วย 10 มาตรการ ดังนี้

1.) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ โดยปรับปรุงข้อมูลทุกสิ้นเดือน  

2.) บริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก ตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 15 สิงหาคม 2564

3.) ปรับปรุงเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 เมษายน 2564

4.) ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์และระบบระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานภายใน 30 มิถุนายนนี้

5.) ปรับปรุงและแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

6.) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

7.) เตรียมความพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ ให้เสร็จภายใน 30 มิถุนายนนี้

8.) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำตลอดระยะเวลาฤดูฝน

9.) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อม ตลอดระยะเวลาฤดูฝน และ

10.) ติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ตลอดระยะเวลาฤดูฝน นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการดังกล่าวด้วย

ครม. ตั้ง "พสุ โลหารชุน" นั่ง ประธานบอร์ดเอ็กซ์ซิมแบงค์

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้แก่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็น กรรมการ, น.ส.ลดาวัลย์ คำภา เป็น กรรมการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ดังนี้

1.) นายพสุ โลหารชุน เป็น ประธานกรรมการ

2.) นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ เป็น กรรมการ

3.) นายคณิทธ์ สว่างวโรรส เป็น กรรมการ  

4.) นายสุวัฒน์ กมลพนัส เป็น กรรมการ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป 

ครม. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสนอแต่งตั้ง นายศุภชัย เอกอุ่น ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในปีแรกอัตราเดือนละ 465,000 บาท (ตามมติคณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการประชุมครั้งที่ 3/2564 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 ส่วนค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นรวมทั้งเงื่อนไขการจ้างและการประเมินการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ 

ครม.เห็นชอบมอบหมายให้ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมลำดับที่สอง แทน นายถาวร เสนเนียม ที่พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

ครม. ไฟเขียว ลดเงินสมทบ ม.33 ลูกจ้าง-นายจ้าง บรรเทาโควิด เหลือ 216 บาท 3 เดือน มิ.ย.-ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ….. เพื่อปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะปรับจากร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบลดลงจากเดิมเดือนละ 432 บาท เป็นเดือนละ 216 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-31 ส.ค. 2564 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับ แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกันตน รวมทั้งยังช่วยรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างด้วย

นายอนุชา กล่าวว่า การลดอัตราเงินสมทบเป็นเวลา 3 เดือน จะทำให้กองทุนจัดเก็บเงินสมบทได้ลดลงจำนวน 20,163 ล้านบาท แต่นายจ้างและผู้ประกันตนจะได้รับประโยชน์จากการลดภาระค่าใช้จ่าย ในส่วนของนายจ้างจำนวน 485,113 ราย จะลดค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท และผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11.1 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 9,487 ล้านบาท ผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.8 ล้านคน จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ 1,189 ล้านบาท และเมื่อรวมผู้ประกันตนทั้ง 12.9 ล้านคนแล้ว จะลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 10,676 ล้านบาท รวมเป็นเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 20,163 ล้านบาท

ผลสำรวจชาวบ้านแนะรัฐแจกเงินสดเยียวยาโควิด

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุม ครม.รับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ปี 64 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้สอบถามประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ จำนวน 9,000 คน ระหว่างวันที่ 8-15 มี.ค. 64 พบว่า ประชาชน 99.7% รับทราบมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐ โดยมีความพึงพอใจโดยรวมต่อมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 81.2% พอใจปานกลาง 15.9% พอใจน้อยถึงน้อยที่สุด 2.3% และไม่พึงพอใจ 0.6%  

ทั้งนี้ยังมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 3 อันดับแรกดังนี้ คือ ควรให้สิทธิแก่ทุกคนโดยไม่ต้องลงทะเบียน, ควรขยายระยะเวลาใช้บริการ และควรให้เป็นเงินสดเพื่อนำไปใช้บริการ ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และ ม.33 เรารักกัน ประชาชนมีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ทุกคนได้รับสิทธิเยียวยา, ควรเพิ่มวงเงิน และควรให้เป็นเงินสด

ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐที่ประชาชนต้องการให้ดำเนินการต่อไปมากที่สุดคือ โครงการเราชนะ 62.9% โครงการคนละครึ่ง 26.3% โครงการ ม.33 เรารักกัน 6.1% โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1.7% และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 0.6%

นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐพบว่า ประชาชน 60.7% มีความพร้อม 39.3% ไม่พร้อม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มั่นใจในความปลอดภัย กลัวฉีดแล้วมีอาการแพ้ และต้องการดูผลที่เกิดขึ้นจากการฉีดของคนอื่นก่อน อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่มีความพึงพอใจต่อการดำเนินการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของภาครัฐในระดับมากถึงมากที่สุด 66.3% 

ครม. เห็นชอบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศ ที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) 62 กิจกรรม รวม 881 โครงการ กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 66,502.24 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) ประกอบด้วยโครงการ/การดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ทั้ง 62 กิจกรรม รวม 881 โครงการ กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 66,502.24 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่ใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2564-2565 และงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยคณะรัฐมนตรียังมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock อย่างเคร่งครัด บูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ เพื่อผลักดันการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด 
   
ทั้งนี้ แผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการถ่ายระดับการดำเนินงานตามขั้นตอนและวิธีการของกิจกรรม Big Rock ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ไปสู่การปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยมีการระบุ (1) หน่วยงานร่วมดำเนินการ (2) เป้าหมายย่อย (Milestone) คือ เป้าหมายของการดำเนินการตามขั้นตอนและวิธีการที่จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายของกิจกรรม Big Rock (3) ระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จของแต่ละเป้าหมายย่อยโดยกำหนดระยะเวลาที่แล้วเสร็จ ณ สิ้นสุดไตรมาส และ (4) โครงการ/การดำเนินงานเพื่อการขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลผลิตตามเป้าหมายย่อยภายในระยะเวลาที่กำหนด ครอบคลุมรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ แหล่งงบประมาณ และวงเงินงบประมาณที่ใช้ ซึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของโครงการ/การดำเนินงานรองรับกิจกรรม Big Rock ใน 3 ระดับ คือ (1) มีความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด หากไม่ดำเนินการจะทำให้การปฏิรูปประเทศไม่บรรลุผลตามที่กำหนด (2) มีความจำเป็นเร่งด่วน และ (3) มีความจำเป็นเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนงบประมาณตามกฎหมายต่อไป   

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรียังได้ยกตัวอย่างกิจกรรม Big Rock ด้านเศรษฐกิจ เช่น การสร้างเกษตรมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมายย่อยคือการขยายพื้นที่ชลประทานอย่างเหมาะสม/มีการสร้างผู้ประกอบการ Smart Farmer/เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมอาหารและเศรษฐกิจชีวภาพ มีโครงการ/การดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ (Smart Big Farming) และโครงการส่งเสริมสินค้าเกษตรอินทรีย์ ปีงบประมาณ 2565 เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่จะได้คือ เกษตรกรสามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง และมีมูลค่าการจำหน่ายและการเจรจาธุรกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีงบประมาณ 2564 เป็นต้น

ครม. ไฟเขียว กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพ โดยกองทุนเงินทดแทนเป็น 5 หมื่นบาท

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบปรับปรุงกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพให้นายจ้างจ่าย ซึ่งให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่าทำศพในอัตรา 50,000 บาท เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงความตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 40,000 บาท ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าทำศพที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2563 โดยการปรับเพิ่มอัตราค่าทำศพดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคม และช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในการจัดการศพ  

ซึ่งครอบครัวผู้เสียชีวิตติดต่อยื่นเรื่องได้ที่สำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ นอกจากนี้การเพิ่มอัตราฯ ยังให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งสองกองทุน คือ กองทุนเงินทดแทนและกองทุนประกันสังคม ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพไว้ที่ 50,000 บาท เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ อัตราใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อสถานะกองทุนเงินทดแทน เนื่องจากกองทุนเงินทดแทนจัดเก็บเงินสมบทเฉลี่ยปีละ 3,941.82 ล้านบาท โดยจ่ายเป็นค่าทำศพรวม เฉลี่ยปีละ 33.75 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.96 ของเงินทดแทน ซึ่งในปี 2564 ที่กำหนดอัตราเงินค่าทำศพ 50,000 บาท จะมีค่าจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 6.75 ล้านบาท 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top