Saturday, 5 July 2025
Hard News Team

“โฆษกศบศ.”เผย “บิ๊กตู่”ขอบคุณทุกฝ่ายเดินหน้าสมุยพลัส เรียกความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ปลื้มประชาชนแห่ใช้สิทธิมาตรการรัฐเกือบ 34 ล้านคน ฟุ้งเงินสะพัดกว่า3หมื่นล้าน ทั้งคนละครึ่ง บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยิ่งใช้ยิ่งได้

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าเปิดการท่องเที่ยว  โดยล่าสุดมีการเปิดโครงการสมุยพลัสโมเดลตามแผนการเปิดประเทศไทยเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันเตรียมการและผลักดันการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสู่เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้รูปแบบสมุยพลัสโมเดล ซึ่งถือเป็นความต่อเนื่องจากการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ สะท้อนถึงการบริหารจัดการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เป็นไปตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการการเฝ้าระวังในพื้นที่ มาตรการป้องกันควบคุมโรค มาตรการป้องกันส่วนบุคคล มาตรการด้านสังคมและการกำกับติดตาม รวมทั้งระบบการรายงาน การส่งต่อและการรักษาอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติที่จะเดินทางมา เบื้องต้นจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่จะเข้ามาสมุยในระหว่างวันที่ 15 ก.ค. – 15 ส.ค. นี้ ราว 1,000 คน คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 180 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าเก่าของทั้งสามเกาะ เช่น กลุ่มยุโรป กลุ่มตะวันออกกลาง และกลุ่มครอบครัว  ขณะที่มีการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดโดยมีการเปิดเส้นทางการบินระหว่างเกาะสมุยและเกาะภูเก็ตบินแบบวันเว้นวันด้วย ทั้งนี้ ในเดือน ส.ค. 64 จะขยายพื้นที่นำร่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะพีพี ไร่เล และเกาะไหง จ.กระบี่ รวมถึงเขาหลัก และเกาะยาว จ.พังงา จากนั้นในเดือน ก.ย.จะเริ่มในพื้นที่ทางบก ได้แก่ พัทยา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโมโตจีพีต่อไป 
     
นายธนกร กล่าวว่า รัฐบาลยังได้วางแผนกระตุ้นการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศคู่ขนานกันไป โดยหลังจากที่รัฐบาลออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจออกไป มีเสียงตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศใช้จ่ายผ่านโครงการอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยอดการใช้จ่ายของแต่ละโครงการ ผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 33.87 ล้านคน ยอดใช้จ่าย สะสม รวม 30,885.4 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 20.70 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 27,922.5 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 14,105.7 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 13,816.8 ล้านบาท 2.โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 46,447 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 354.9 ล้านบาท 3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 12.46 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 2,477 ล้านบาท และ 4.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ มีผู้ใช้สิทธิสะสม 665,464 คน ยอดใช้จ่ายสะสม 131 ล้านบาท โดยใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า หรือผู้ให้บริการแบบพบหน้า (face-to-face) ก่อน ส่วนแนวทางขยายสิทธิในการสั่งซื้ออาหารผ่านผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่และทางออนไลน์นั้น ขณะนี้ธนาคารกรุงไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเงื่อนไขและพัฒนาระบบ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการอีกสักระยะ เพื่อให้มีความพร้อม สะดวกต่อการใช้งานของประชาชนในอนาคต ทั้งนี้ สำหรับยอดการลงทะเบียนล่าสุดของวันที่ 15 ก.ค. 2564 โครงการคนละครึ่งมีการลงทะเบียนแล้ว 29.62 ล้านคน เหลืออีก 1.37 ล้านคนจะครบ 31 ล้านคน ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ลงทะเบียนแล้ว 490,860 สิทธิ เหลืออีก 3,509,140 จะครบ 4 ล้านคน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเปิดให้ลงทะเบียนไปจนกว่าจะครบจำนวนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 

ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานฯ นำทีมร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม แก่รพ.สนาม จ.สมุทสาคร สู้โควิด-19 

นางสาวอนุสรี ทับสุวรรณ ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค พัดลม ในนามสถาบันอนุสรีรวมใจให้กัน มูลนิธิพุทธรังษี ร่วมกับ กลุ่ม "เฮียธิ พี่อาย ทนายกันต์" (ธิติรัตน์ พุ่มไสว อนุสรี และ กันต์กวี ทับสุวรรณ) แก่โรงพยาบาลสนามพื้นที่เทศบาลตำบลคลองมะเดื่อ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร โดยมี นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์และนายสุรศักดิ์ ผลยังส่ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นผู้รับมอบ มีหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย 

จากนั้น ประธานอนุกรรมาธิการการแรงงานด้านติดตามศึกษานโยบายแรงงาน และโฆษกคณะกรรมาธิการการแรงงาน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะได้เยี่ยมชมสถานที่ที่เป็น (Factory Quaranteen : FQ) ตามคำเชิญของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ตำบลท่าไม้ และที่โรงงานพัทยาฟูดส์  ซึ่งเป็นต้นแบบภาคเอกชนที่เสียสละให้พื้นที่แก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดมาเข้ารับการกักตัว โดยมีระบบติดตาม เฝ้าระวังจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

น.ส.อนุสรี กล่าวว่า การทำ FQ นี้ เป็นวิธีการแบ่งเบาภาระการขาดแคลนเตียงในการรักษาจากสถานพยาบาล โดยชุมชนร่วมกันดูแล ในลักษณะ Community Isolation ซึ่งในอนาคตหากมีปริมาณผู้ติดเชื้อมากขึ้น กลุ่มโรงงานเล็ก ๆ ที่ร่วมกันจัดตั้งสถานที่นี้ในชุมชน ช่วยกัน จะเป็นการช่วยคนป่วยที่ไม่มีเตียง และอยู่ในบ้านที่ไม่สามารถจัดการกักตัวได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ควรสนับสนุนภาคเอกชนในเรื่องการลดหย่อนภาษีด้วย ทั้งนี้ จะนำเรื่องดังกล่าวหารือในสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

 

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยัน ฐานะทางการคลัง ยังแกร่ง มีสภาพคล่อง รองรับมาตรการรัฐ ชี้ ระยะยาวเร่งเพิ่มประสิทธิภาพเก็บภาษี

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า รัฐบาลต้องการลดภาระให้กับประชาชน โดยเน้นครอบคลุมให้ตรงจุด จากการออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อให้กับประชาชน โดยยืนยันว่าปัจจุบัน ฐานะทางการคลัง มีความแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ที่จะรองรับมาตรการเยียวยาประชาชน

ทั้งนี้ในระยะสั้น และระยะกลาง จะต้องบริหารรายได้ รายจ่าย รวมทั้งเงินกู้ เพื่อทำให้เงินคงคลังอยู่ในระดับเหมาะสมส่วนในระยะยาวมีความจำเป็นที่ต้องเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ทำให้งบสมดุล ลดการขาดดุล เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต

“โฆษกศบศ.” แจง “บิ๊กตู่” สั่งเร่งช่วยลูกหนี้ 10 จังหวัดล็อกดาวน์ เผยคลังถกแบงค์ชาติเตรียมพักชำระหนี้ 2 เดือน ช่วยผู้ประกอบการ-แรงงาน ที่ปิดกิจการจากมาตรการของรัฐ ส่วนลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการแต่ได้รับผลกระทบ เตรียมพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามความจำเป็น

นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (13 ก.ค. 64) ให้รีบหารือกันโดยเร่งด่วน เพื่อหามาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือการเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกค้า ทั้งที่เป็นประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง รวมถึงช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมธนาคารไทย และสมาคมธนาคารนานาชาติ จึงร่วมกันออกออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน ให้กับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงทั่วประเทศ ซึ่งได้แก่ ลูกหนี้ทั้งที่เป็นนายจ้างและลูกจ้างในสถานประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 10 จังหวัด และนอกพื้นที่ควบคุมแต่ต้องปิดกิจการจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 หรือเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป แล้วแต่กรณี

นายธนกร กล่าวต่อว่า สำหรับลูกหนี้ที่ยังเปิดกิจการได้แต่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของภาครัฐจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามความจำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เริ่มตั้งแต่งวดการชำระหนี้เดือนกรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่งเมื่อหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว สถาบันการเงินจะไม่เรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างอยู่ในทันที เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนักกับลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยภายใต้มาตรการนี้ เป็นเพียงการเลื่อนการชำระออกไป ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพและสามารถชำระหนี้ได้ ควรชำระหนี้ต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระหนี้ในอนาคตเพิ่มขึ้นสูงเกินจำเป็น 

นายธนกร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือทั้งประชาชนและผู้ประกอบการหลายๆ มาตรการ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น สินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย ให้ผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain สามารถกู้เงินกับธนาคารออมสิน วงเงินต่อรายอยู่ที่ 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ซึ่งตอนนี้ อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว จำนวน 2,885 ราย วงเงินรวม 1,218 ล้านบาท
สินเชื่ออิ่มใจ ธนาคารออมสินให้กู้กับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม วงเงินต่อราย อยู่ที่ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 งวดแรก และสินเชื่อสำหรับ SMEs ขนาดย่อมและขนาดกลาง  ได้แก่ สินเชื่อ Extra cash โดย SME Bank ให้กู้กับ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น วงเงินรายละ 3 ล้านบาท ปัจจุบันอนุมัติแล้ว 4,283 ราย วงเงินรวม 7,335 ล้านบาท และสินเชื่อมีที่มีเงิน นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการทั่วไป ได้แก่ มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูอีกด้วย 

 

กอ.รมน. ร่วมบูรณาการทุกภาคส่วน เชิงรุก แก้ไขปัญหาหลบหนีเข้าเมือง ทุกพื้นที่ 

พล.ต.ธนาธิป  สว่างแสง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า กอ.รมน. ได้ประชุมหน่วยขึ้นตรง กอ.รมน. เพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนที่ผ่านมา โดยเป็นการจัดประชุมผ่านระบบวิดิทัศน์ทางไกล (VTC) เพื่อป้องกันการอยู่ร่วมกันเป็น หมู่คณะตามนโยบายของรัฐบาล และมาตรการที่ ศบค. กำหนด โดยมี พล.อ.วรเกียรติ  รัตนานนท์ เลขาธิการ กอ.รมน. เป็นประธานการประชุม ว่า ทางกอ.รมน. ได้ร่วมบูรณาการจัดตั้งทีมสหวิชาชีพ ดำเนินการเชิงรุกแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว และบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จับกุมบุคคลหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาการจับกุมบุคคลต่างด้าวที่ใช้ช่องทางธรรมชาติลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทย ยังคงมีการตรวจพบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลการจับกุมในพื้นที่ชายแดนมีแนวโน้มลดลง แต่มีผลการจับกุมที่ตรวจพบในสถานประกอบการเพิ่มขึ้น
 
โดยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย ยังคงตรวจพบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่ม (คลัสเตอร์) ใหม่ๆ และมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ, ปริมณฑล และจังหวัดเศรษฐกิจ/อุตสาหกรรมที่สำคัญ โดยให้ห้วงเดือนที่ผ่านมา  กอ.รมน. ร่วมบูรณการกับกระทรวงมหาดไทย กรมอนามัย และสภาอุตสาหกรรม ประชาสัมพันธ์ จึงขอความร่วมมือให้สถานประกอบการปฏิบัติตามแนวทางที่ดีของโรงงาน (Good Factory Practice) (GFP)  สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันโรค ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม มาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโควิค – 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่   Thai Stop COVID Plus (TSC) และร่วมจัดตั้งทีมสหวิชาชีพเข้าประเมินโรงงานแบบ on site ในระดับจังหวัด โดยจะสุ่มตรวจให้ทุกจังหวัดต้องมีการประเมินโรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 10-20 ตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้
  
พล.ต.ธนาธิป กล่าวอีกว่า การดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่ผ่านมามีการควบคุมโรคในรูปแบบพื้นที่ปิดเฉพาะ (Bubble and Seal) โดย กอ.รมน. ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐร่วมสกัดกั้นควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ตรวจสอบสถานประกอบการ ยกระดับมาตรการการป้องกันโรค และเร่งรัดการฉีดวัคซีน รวมทั้งหาแนวทางที่จะดำเนินการนำแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบการจ้างงานอย่างถูกต้อง ซึ่งหากมีการดำเนินการอย่างเข้มข้น คาดว่าจะสามารถควบคุมการแพร่การกระจายเชื้อโควิด - 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป  
 

โฆษกอ.รมน. กล่าวว่า กอ.รมน.จัดโครงการตู้ปันสุขช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิค - 19 โดยกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดทำโครงการตู้ปันสุข ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ที่ต้องการให้ กอ.รมน. มีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระในการครองชีพให้กับประชาชนในชุมชนใกล้เคียง ซึ่งกอ.รมน. ได้ดำเนินการจัดตั้งตู้ปันสุขที่บริเวณด้านหน้า กอ.รมน. และชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ซึ่งได้ประสานผู้นำชุมชนและให้ช่วยดูแลและบริหารจัดการในการแบ่งปันสิ่งของอุปโภค บริโภคในตู้ปันสุขให้กับประชาชนในชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม, ชุมชนซอยโซดา และชุมชนนครไชยศรี ให้ได้รับสิ่งของต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ โดยกำหนดเวลาการเติมสิ่งของในตู้ปันสุขในวันราชการ จำนวน 2 ครั้ง คือ 09.00 น. และ เวลา 14.00 น. ซึ่งที่ผ่านมาสามารถช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ได้ในระดับหนึ่ง 

“ก่อนปิดการประชุม พล.อ.วรเกียรติ ได้กล่าวถึงนโยบายของ นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ได้สั่งการให้เหล่าทัพสนับสนุนยุทโธปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิค – 19 (สีเขียว) ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีความประสงค์จะเดินทางกลับไปรักษายังภูมิลำเนา โดยที่  ผ่านมาได้ดำเนินการ “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ทบ. และ กอ.รมน. พาคนกลับบ้าน” เพื่อสนับสนุนรัฐบาลลดภาระระบบสาธารณสุขในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล สามารถช่วยแบ่งเบาภาระการรักษาผู้ป่วยฯ ของโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในระบบของกระทรวงสาธารณสุขได้ในระดับหนึ่ง โดยในห้วงต่อไปจะดำเนินการขยายผลโดยใช้อากาศยานของกองทัพบก สนับสนุนการเดินทางให้กับผู้ป่วยโควิค – 19 ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ห่างไกลสามารถเดินทางกลับไปพักรักษาตัวได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ กอ.รมน. ใคร่ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยดำเนินการขยายผลและประชาสัมพันธ์ให้ได้รับทราบต่อไป” พล.ต.ธนาธิป กล่าว

เข้าใจดีว่าอึดอัด ‘วิโรจน์’ ดีใจ ‘สาธิต’ ยอมเปิดปากกล้าสารภาพความจริงที่ ‘ประยุทธ์ - อนุทิน’ ปกปิด จี้ เปิดข้อมูลสำคัญที่ถูก ‘ถมดำ’ เพื่อประโยชน์ประชาชน ถามย้ำ ปชป.ยังจะร่วม ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ที่ก่อกรรมทำเข็ญกับประชาชนต่อไปอีกหรือ

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล  กล่าวถึงจากกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ออกมาสารภาพความจริง ให้ประชาชนได้รับทราบว่า สัญญาที่รัฐบาลได้ทำเอาไว้กับ AstraZeneca ไม่ได้ระบุว่าต้องส่งมอบเมื่อใดนั้น และเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลไม่น่าจะได้รับวัคซีนเพื่อนำมาใช้ปกป้องชีวิตของประชาชนคนไทยจากโรคระบาด ได้ครบ 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 นี้ โดยมีการขยายระยะเวลาการส่งมอบไปถึงเดือน พ.ค. ปี 65 ซึ่งถ้าสัญญา ไม่ได้ระบุ ระยะเวลาในการส่งมอบที่ชัดเจน ก็ไม่รู้ว่าจะถูกเลื่อนการส่งมอบอีกหรือไม่

วิโรจน์ กล่าวต่อกรณีนี้ว่า แม้จะรู้สึกคับแค้น และเสียใจที่ได้รับทราบข่าวดังกล่าว แต่ก็ยังดีที่วันนี้ได้รู้ความจริง จากปากของ นายสาธิต ที่กล้านำเอาความจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ไม่ยอมบอกกับประชาชน มาบอกให้ประชาชนได้ล่วงรู้ความจริง ว่าเรื่องวัคซีนจะมีเต็มโรงพยาบาล มีเต็มแขนของประชาชน คงจะเป็นไปได้ยากมากๆ แล้ว เข้าใจว่านายสาธิต คงต้องเผชิญแรงกดดันจากทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน เป็นอย่างมาก ที่นำเอาความจริงมาเปิดเผยในครั้งนี้ 

“ในเมื่อประชาชนได้รู้ความจริงแล้วว่า รัฐบาลนั้นเชื่อถือไม่ได้อีกแล้ว ต่อจากนี้ไป ประชาชนคงต้องเน้นพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามทุกข์ยามยากให้มากขึ้น” 

วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ในเรื่องการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ตนและภาคประชาชน ได้เตือนรัฐบาลมาโดยตลอด ว่าหากรัฐบาลไม่กระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเอาไว้ล่วงหน้า ถ้าเกิดปัญหาการส่งมอบวัคซีนล่าช้า หรือเกิดปัญหาประสิทธิผลของวัคซีนที่ไม่เพียงพอต่อการป้องกันการระบาด หรือเกิดปัญหาอาการไม่พึงประสงค์หลังรับการฉีดวัคซีนที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น หรือในกรณีที่ต้องเผชิญหน้ากับเชื้อกลายพันธุ์ แล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อปกป้องชีวิตของประชาชนได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม ในเมื่อนายสาธิต กล้าที่จะนำเอาความจริงมาเปิดเผยแล้ว ก็ควรจะเปิดเผยความจริงทั้งหมดให้กับประชาชนได้รับทราบ เพราะมีอีกหลายเรื่อง ที่ประชาชนอยากรู้ความจริง เช่น

1) ในเมื่อเงื่อนไขการอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาท ให้กับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ลงวันที่ 24 ส.ค. 63 ระบุชัดว่า มีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก และประเทศไทยจะมีสิทธิสั่งซื้อเป็นอันดับแรก แล้วเหตุใด ในรายละเอียดในหนังสือแสดงเจตจำนงในการทำสัญญา (Letter of Intent) ในวันที่ 12 ต.ค. 63 รัฐบาลจึงไปตกลงที่ยอมให้ AstraZeneca สามารถส่งออกได้ โดยปราศจากเงื่อนไข

2) ตกลงแล้วสัญญาวัคซีน AstraZeneca 26 ล้านโดส ที่ลงนามในวันที่ 12 ม.ค. 64 นั้นมีเงื่อนไขจำกัดการส่งออก และประเทศไทยมีสิทธิซื้อก่อน อยู่หรือไม่ แล้ว ณ วันนี้ ที่ประชาชนได้รับวัคซีนไม่เป็นไปตามแผน 10 ล้านโดสต่อเดือน รัฐบาลสามารถบังคับสัญญาได้หรือไม่

3) ในกรณีที่ไม่มีเงื่อนไขการจำกัดการส่งออก และสิทธิการซื้อวัคซีนก่อน แล้วสัญญารับทุนอุดหนุนของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่ลงนามในวันที่ 18 ธ.ค. 63 นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร

4) สัญญาที่เปิดเผย ณ วันนี้ นั้นเป็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ที่ปรากฎตัวเลขเพียง 26 ล้านโดส เท่านั้น จึงอยากจะสอบถามว่า ตัวเลขอีก 35 ล้านโดส เพื่อรวมเป็น 61 ล้านโดส นั้นอยู่ในสัญญาฉบับไหน และมีเงื่อนไขการสั่งซื้ออย่างไร

นอกจากนี้ วิโรจน์ ยังได้ทวงถามไปถึงนายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.กระทรวง อว. ว่า ปกติแล้วประชาชนทั่วไป จะสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลสต๊อกวัคซีนโควิด-19 ได้ผ่านระบบการติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็นของวัคซีนโควิด-19 ซึ่งพัฒนาโดยกระทรวง อว. แต่ทำไม ในปัจจุบัน จึงมีการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ จึงขอเรียกร้องให้กระทรวง อว. กลับมาเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลสต๊อกวัคซีน โดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือ ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของประชาชน ความโปร่งใสเท่านั้น ที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้ ยิ่งปิดกั้น ยิ่งทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือในรัฐบาล และจะทำให้รัฐบาลล่มสลายในความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในที่สุด

สุดท้าย วิโรจน์ ได้ให้กำลังใจนายสาธิต เพราะเข้าใจในความอึดอัดของนายสาธิตดี ที่ต้องทนเห็นประชาชนเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส เห็นประชาชนตายคาบ้าน เห็นคนรอคิวตรวจต้องนอนรอตามริมกำแพงวัด นอนรอบนฟุตบาท ต้องตากฝนรอ เห็นน้ำตาประชาชนที่หมดหนทางในการหาเตียง เห็นเด็กตัวเล็กๆ ต้องกำพร้าที่จะไม่ได้รับอ้อมกอดจากพ่อแม่อีก เห็นคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หมดอาลัยตายอยากในชีวิต

“ผมขอตั้งคำถามเชิงให้กำลังใจ ไปยังนายสาธิตว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังจะยอมให้กับ รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อกรรมเข็ญกับประชาชน ต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ จริงๆ หรือพรรคประชาธิปัตย์ ทำได้แค่เบือนหน้าหนี กัดริมฝีปากล่าง และแอบไปร้องไห้ปาดคราบน้ำตา กับภาพความทุกข์ยากสิ้นหวังของประชาชน ที่สาหัสขึ้นอยู่ทุกวัน ทำได้แค่นี้จริงๆ หรือ”  วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

 

พาณิชย์ชงครม.เร่งแก้แรงงานภาคธุรกิจขาดแคลน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ผ่านระบบ VDO conference โดยที่ประชุมได้หารือกันถึงเรื่องแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนสำหรับภาคการผลิตทั้งภาคการเกษตรอุตสาหกรรม โดยกระทรวงพาณิชย์รับว่า จะนำเรื่องนี้ไปรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบปัญหาและดำเนินการแก้ไขต่อไป รวมทั้งการใช้แรงงานข้ามเขตในบางกรณี เช่น ช่วยเก็บผลไม้หรือตามความจำเป็น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุมัติในแต่ละจังหวัดด้วย

ส่วนเรื่องการผลักดันการส่งออกนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าแม้ในปัจจุบันตัวเลขการส่งออกถือว่าดีมาก แต่ก็มีปัญหาเรื่องของตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้าและส่งออก เข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว ตัวเลขนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีจำนวน 2,200,000 TEU ส่งออก 2,000,000 TEU ยังมีตู้เหลืออยู่ประมาณ 200,000 TEUที่สามารถใช้ได้ แต่เนื่องจากในภาคปฏิบัติจริงจำนวนหนึ่งต้องรอขั้นตอนในการนำสินค้าออกทำให้ตู้ไม่ว่าง และภาคเอกชนบางส่วนเคลียร์ตู้ ทำให้บางช่วงตู้ขาดแคลนในบางช่วงเวลา 

ดังนั้นจึงเห็นว่าควรร่วมกันสร้างแรงจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังมากขึ้น โดยควรเปิดโอกาสเรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถถ่ายลำระหว่างทางไปยังประเทศอื่นได้ด้วย เรื่องนี้ที่ประชุมได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงคมนาคมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนหารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการออกมา ส่วนเรื่องค่าระวางเรือ ภาคเอกชนยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกราคาในตลาด อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม จึงได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนต่อไปว่ามีส่วนใดสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้บ้าง

‘สุริยะ’ เผย ขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ของรง.หมิงตี้ แล้ว 650 ตัน คาดแล้วเสร็จทั้งหมด 17 ก.ค.นี้ สั่ง กรอ. เร่งตรวจสอบโรงงานที่ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ในเขตชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตเป็นระยะเวลานาน

ความคืบหน้าการขนย้ายสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่ตกค้างในพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ

ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ระบุว่าได้ทำการขนย้ายสารเคมีสไตรีนโมโนเมอร์ไปแล้ว 650 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.ค. 64) คาดว่าจะสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้

นอกจากนี้ นายสุริยะ ยังได้สั่งการ กรอ.เร่งตรวจสอบโรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก โดยเน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรก

ด้านนายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) บอกว่า กรอ.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานที่มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์ พลาสติก จำนวน 92 โรงงาน และโรงงานประกอบกิจการทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัสดุเคมี ซึ่งมิใช่ปุ๋ย จำนวน 460 โรงงาน เน้นโรงงานในพื้นที่ชุมชนและเป็นโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเป็นระยะเวลานานเป็นอันดับแรก

โดยเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ได้มอบหมายให้นายวีระกิตติ์ รันทกิจธนวัชร์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 กองส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยโรงงาน และกองบริหารจัดการวัตถุอันตราย เข้าร่วมตรวจสอบโรงงาน บริษัท ไทยโทเรซินเทติคส์ จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นที่แรก

และมีแผนที่จะตรวจสอบโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ประมาณ 50 โรงงาน ตลอดเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนกรณีสารสไตรีนที่คงค้างอยู่ภายใน บริษัท หมิงตี้เคมีคอล จำกัด ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ข้อมูลเบื้องต้นเป็นการคาดการณ์ปริมาณสารที่ยังคงเหลืออยู่จากทีมปฏิบัติการฉุกเฉินและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทสารเคมีที่เข้าไปตรวจสอบว่ามีประมาณ 600 ตัน

เนื่องจากบริเวณที่วางถังบรรจุสไตรีนยังมีความเสี่ยงและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยหลังจากทีมปฏิบัติงานได้เข้าควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการทำปฏิกิริยาต่อเนื่องของสารเคมีจนปลอดภัยต่อการขนย้ายได้แล้ว จึงได้ตรวจวัดปริมาณสารอีกครั้ง พบว่ามีสารสไตรีนอยู่ประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งสารสไตรีนทั้งหมดจะดำเนินการขนส่งไปกำจัดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564

“เบื้องต้นสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ (สอจ.) มีคำสั่งมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 ให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดและให้จัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากเพลิงไหม้ให้เป็นไปตามกฎหมายและให้จัดการสารเคมีที่ตกค้างในภาชนะบรรจุให้มีสภาพปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งจากการประสานกับผู้แทนโรงงาน ได้รับคำยืนยันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเพลิงไหม้ทั้งหมด ทางบริษัท หมิงตี้ เคมีคอลฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะเดียวกันในส่วนของการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว กระทรวงฯ กำลังดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ 3 แห่ง ทั้งที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรอำเภอบางแก้ว และบริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบได้เข้ามายื่นคำขออย่างต่อเนื่อง


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

เลขาธิการสภากาชาดไทยยืนยันประสานผู้ผลิตในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก 1 ล้านโดส ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ และประชาชนด้อยโอกาสฟรี

รายงานจาก​ เลขาธิการสภากาชาดไทยยืนยัน ประสานผู้ผลิตในการจัดซื้อวัคซีนทางเลือก 1 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมทำสัญญากับบริษัทโมเดอร์นา โดยคาดว่า จะได้รับวัคซีนในไตรมาส 4 ของปีนี้ ฉีดให้บุคลากรการแพทย์ และประชาชนด้อยโอกาสฟรี

นายเตช บุนนาค เลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า วัคซีนที่สภากาชาดไทยจัดซื้อเป็นวัคซีนทางเลือกแบบ mRNA ซึ่งทางสภากาชาดไทยประสานกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นาตั้งแต่เดือนเมษายน

แต่ทางบริษัทระบุในขณะนั้นว่า จะทำสัญญากับหน่วยงานรัฐ ซึ่งล่าสุดทางองค์การเภสัชกรรมจะทำสัญญาซื้อ-ขายจำนวน 5 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมแจ้งว่า จะกันให้สภากาชาดไทย 1 ล้านโดส​ เนื่องจากเป็นองค์กรการกุศลที่เจรจาซื้อไว้ก่อนแล้ว ส่วนอีก 4 ล้านโดสขึ้นกับองค์การเภสัชกรรมว่า จะจัดสรรให้หน่วยงานใด

ทั้งนี้ ทางบริษัทแจ้งว่า จะส่งมอบได้ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เมื่อได้รับ ทางสภากาชาดไทยคาดว่า จะดำเนินการฉีดวัคซีนได้ช่วงปลายปี โดยฉีดให้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หญิงมีครรภ์ ป่วย ผู้ดูแลประจำศูนย์เด็กเล็ก และบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

นายเตชกล่าวต่อว่า งบประมาณในการจัดซื้อวัคซีน 1 ล้านโดสนี้ ทางสภากาชาดไทยมีงบประมาณส่วนหนึ่ง กำลังขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล และเตรียมขอรับการสนับสนุนจากประชาชนด้วย ซึ่งจะแจ้งช่องทางบริจาคสมทบทุนจัดซื้อวัคซีนหลังจากการประชุมคณะกรรมการในช่วงบ่ายนี้


ที่มา : https://tna.mcot.net/latest-news-739793


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

10 จังหวัดในประเทศที่ฉีดวัคซีนโควิดมากที่สุด

ประเทศไทย ยังทยอยฉีดวัคซีนโควิดอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด จากข้อมูล MOPH Immunization Center พบว่า จำนวนการได้รับวัคซีนในประเทศไทย สะสม ตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ - 14 กรกฎาคม 2564 มีทั้งสิ้น 13,533,717 ล้านโดส

แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 10,163,340 ล้านโดส และเข็มที่ 2 จำนวน 3,370,377 ล้านโดส

ส่วน 10 จังหวัดที่ฉีดวัคซีนโควิด มีที่ไหนบ้างไปดูกันเลย


โปรเด็ด! ถึง 31 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES

คลิก????https://lin.ee/vfTXud9


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top