Thursday, 15 May 2025
Hard News Team

รู้จัก ‘พล.ท.เจียรนัย วงศ์สอาด’ มือทำงาน ‘พีระพันธุ์’ ผู้เบรกงานเหมาขุดถ่านหินเหมืองแม่เมาะกว่า 7 พันล้าน เพื่อประโยชน์ประชาชน

เมื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย...ต้องมาก่อน!
‘รองพีร์’ เบรกจ้างเหมา-ขนถ่านหินเหมืองแม่เมาะ

ตามที่ ‘รองพีร์’ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ระงับโครงการจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะ สัญญาที่ 8/1 ซึ่ง บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ (SQ) เป็นผู้ได้รับกำคัดเลือกจาก กฟผ.ที่เสนอราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านที่เหมืองแม่เมาะจำนวน 2 รายการ มูลค่าสัญญารวม 7,170 ล้านบาท (รวมค่ากระแสไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่ปี 2567-2571 นั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีหนังสือแจ้งว่า ได้คัดค้านการอนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด- ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะสัญญาที่ 8/1 โดยวิธีพิเศษ ในวงเงินงบประมาณ 7,250 ล้านบาท ในการประชุมกลั่นกรองของคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และในเวลาต่อมา บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้มีหนังสือขออุทธรณ์และขอความเป็นธรรมจากการพิจารณาผู้ชนะการประกวดราคางานจ้างเหมาขุด-ขนดิน และถ่าน ที่เหมืองแม่เมาะ 2 รายการ โดยวิธีพิเศษ ซึ่ง ‘รองพีร์’ เห็นควรให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยด่วน จึงมีหนังสือถึงผู้ว่าฯ กฟผ. ให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างเหมาขุด-ขนถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะไว้จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น 

พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ผู้เสนอให้ระงับโครงการฯ ดังกล่าว ได้รับการแต่งตั้งกรรมการ กฟผ. ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 เป็นผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงกลาโหม และอดีตอาจารย์กองวิชาคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า มีประสบการณ์และผลงานมากมาย โดยเคยเป็น ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ, ประธานกรรมการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม, กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ที่ปรึกษาธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, อนุกรรมการกลั่นกรองโครงการและงบประมาณ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กสทช., ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, กรรมการเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศแห่งชาติ, กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน), ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, ที่ปรึกษาคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม และ อนุกรรมการบริหารความเสี่ยง สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

สำหรับประวัติของพลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สอาด ที่น่าสนใจคือเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยรุ่นที่ 135 นักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 29 และหลังจากจบการศึกษาวทบ. (โยธา) โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 40 ได้ศึกษาต่อปริญญาโทวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอก รีโมทเซนซิ่งและเอิร์ธซายน์ มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน เวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัยด้านรีโมทเซนซิ่ง (Remote Sensing and Earth Science) ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่า เป็นหนึ่งในนักวิจัยระดับโลกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญการใช้ข้อมูลดาวเทียมตั้งแต่ใต้พื้นดินไปจนถึงอวกาศ และได้นำองค์ความรู้มาสร้างมาตรการเตือนภัยเพื่อหลีกเลี่ยงและลดความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติภัยทางธรรมชาติ ด้วยวิธีการจัดการอย่างถูกต้องและในเวลาที่เหมาะสม และเป็นผู้เสนอให้ประเทศไทยสร้างศูนย์รวมข้อมูลเตือนภัยจากดาวเทียมเป็นของตัวเองเพื่อนำข้อมูลนั้นมาส่งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมก่อนเกิดภัย ในห้วงที่ประเทศต้องเผชิญกับเหตุการณ์สึนามิ และภัยพิบัติในภาคเหนือ

ด้วยประสบการณ์มากมายในฐานะนักฎหมาย ‘รองพีร์’ จึงมีความเข้มงวดกับโครงการต่าง ๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งหากมีการร้องเรียนหรืออาจเข้าข่ายไม่เป็นธรรมแล้ว ก็จะให้มีการตรวจสอบทันที ทั้งนี้ พลโท ดร. เจียรนัย วงศ์สะอาด เป็นบุคคลที่ ‘รองพีร์’ ให้ความไว้วางใจ และยังเคยช่วยงาน ‘รองพีร์’ มาแล้ว อาทิ คณะทำงานศึกษาแนวทางการแก้ปัญหาความเสียหายของรัฐโครงการระบบขนส่งทางรถไฟ เพื่อต่อสู้ในคดีโฮปเวลล์ ทั้งนี้ ในการสั่งการให้ตรวจสอบของ ‘รองพีร์’ มาจากการที่พลโท ดร.เจียรนัย วงศ์สอาด กรรมการ กฟผ. ยื่นหนังสือคัดค้านการอนุมัติผลประมูล ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กฟผ. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2567 ก่อนที่ ITD จะยื่นอุทธรณ์อย่างเป็นทางการ สำหรับประเด็นที่ต้องทำการตรวจสอบ คือ ความโปร่งใสของการใช้ ‘วิธีพิเศษ’ ในการประมูล เพื่อพิจารณาถึงเหตุผลที่ กฟผ. ไม่เลือกวิธีประมูลแบบเปิด รวมไปถึงการกำหนดคุณสมบัติผู้เข้าประมูลที่อาจเอื้อประโยชน์ ความเชื่อมโยงระหว่างผู้มีอำนาจตัดสินใจกับบริษัทที่เข้าประมูล นอกจากนี้ ‘รองพีร์’ ยังได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ระงับการสรรหาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่ครบวาระจำนวน 4 ท่าน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน แทนตำแหน่งที่ว่างลง จึงขอให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงาน และการประชุมคณะกรรมการสรรหาไว้ก่อน จนกว่าจะแจ้งให้ทราบต่อไป เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบมากมายและสำคัญต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องมีการพิจารณาทบทวนอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้มีความถูกต้องสมบูรณ์ เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยต่อไป

รู้จัก สส.หญิงแกร่งแห่งเมืองโอ่ง ‘กุลวลี นพอมรบดี’ กับผลงานเด่นสานต่อแก้ภัยแล้งช่วยชาวบ้าน จ.ราชบุรี

(27 พ.ย. 67) ‘กุลวลี นพอมรบดี’สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ราชบุรี เขต 1 พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือที่คนในพื้นที่จะเรียกกันติดปากว่า ‘สส. แคมป์’ เป็น สส. ที่มาจากครอบครัวนักการเมือง และทำงานรับใช้ชาวบ้านในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยเริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่อายุ 25 ปี ในระดับท้องถิ่น สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก่อนลงเลือกตั้งสนามใหญ่ในปี 2562 และได้รับเลือกเป็น สส. สมัยแรก และในปี 2566 ยังได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่เขต 1 ราชบุรี เลือกเป็น สส. เป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน 

สำหรับ ‘กุลวลี’ อยู่ครอบครัวการเมือง นางกอบกุล นพอมรบดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี พรรคไทยรักไทย ในปี 2549 นางกอบกุล เสียชีวิต ขณะนั้น กุลวลี ศึกษา ด้าน accounting finance อยู่ที่ออสเตรเลีย มีการปรึกษากันในครอบครัวว่าจะหยุดเส้นทางการเมืองของตระกูลหรือเดินหน้าต่อ ได้ผลสรุปเดินหน้าต่อ กุลวลี จึงเริ่มเส้นทางการเมืองจากระดับท้องถิ่น ในวัย 25 ปี ในฐานะสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี จนก้าวเข้าการเมืองระดับประเทศ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

หนึ่งในผลงานของ กุลวลี ที่สำคัญต่อพื้นที่เขต 1 ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่ ต.บางป่า ที่ผ่านมาพื้นที่ดังกล่าวเคยประสบปัญหาภัยแล้ง ต่อมามีการสร้างคลองขุดลัดขึ้น ต.บางป่าเป็นพื้นที่เกษตรสวนมะพร้าว อาศัยน้ำจากคลองขุดลัดในการทำการเกษตร ในปี 2557 ซึ่ง นายมานิต นพอมรบดี  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี เขต 1 พรรคภูมิใจไทย ผู้เป็นบิดา ได้ริเริ่มโครงการไว้ และทาง สส.แคมป์ ได้ลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการดำเนินโครงการต่อเนื่องมา มีการวางแผนวางท่อส่งน้ำเข้าไปตามสวนของกรมชลประทาน และการสร้างประตูกั้นน้ำ มีสถานีสูบน้ำเติมปริมาณน้ำตลอดเวลา 

อีกพื้นที่คือ ต.พงสวาย เส้นทางเดียวกันกับต.บางป่า ในแนวคลองขุดลัด ที่กำลังดำเนินการของบประมาณในการดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งมีการตั้งโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการเป็นสถานที่ปั่นจักรยาน และวิ่งเพื่อสุขภาพ 

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนการส่งเสริมการท่องเที่ยวอุทยานหินเขางู ทาง สส.แคมป์ มีแนวทางที่จะพัฒนาร่วมกันกับ สำนักงานป่านันทนาการ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ และความร่วมมือกับส่วนท้องถิ่น วางแนวโครงการสร้างสกายวอล์ค และมีพื้นที่ หุบลับ หรือ ภูผาแรด เป็นหนึ่งในอันซีน ที่อยู่ในแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวปี 2569

กล่าวได้ว่า ตลอดระยะเวลาการทำงานการเมืองกว่า 10 ปีที่ผ่านมา สส.แคมป์ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรในการแก้ปัญหาต่าง ๆ พร้อมกับสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพทางด้านการท่องเที่ยวให้กับทางจังหวัดราชบุรี เพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวบ้านในพื้นที่ตลอดเวลา เป็นนักการเมืองที่ทำงานเพื่อชาวบ้านอย่างแท้จริง

ตร.ลาวรวบ 8 เวียดนาม ต้องสงสัยเอี่ยวเหล้าเถื่อนโฮสเทลวังเวียง หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเสียชีวิตต่อเนื่อง 6 ศพ

ตำรวจลาวรวบแล้ว 8 ราย ฐานเอี่ยวเหล้าเถื่อนคร่าชีวิตนักท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ (25 พ.ย.67) เว็บไซต์ The Laotian Times รายงานว่า ตำรวจเมืองวังเวียงได้จับกุมผู้ต้องสงสัย 8 ราย ซึ่งเป็นพนักงานของ Nana Backpackers Hostel ในข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยทั้งหมดเป็นชาวเวียดนาม อายุระหว่าง 23-44 ปี  

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตรวม 6 ราย ได้แก่ ชาวอเมริกัน 1 ราย, ชาวเดนมาร์ก 2 ราย, ชาวออสเตรเลีย 2 ราย และชาวอังกฤษ 1 ราย สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการดื่มเครื่องดื่มปนเปื้อนเมทานอล  

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เมืองวังเวียง ร่วมกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังเร่งสืบสวนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง รวมถึงรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม  

มีรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติอีก 12 คนในพื้นที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหลังดื่มเครื่องดื่มปนเปื้อนจากโฮสเทลเดียวกัน โดยพบเมทานอลในเหล้าและเบียร์  

สถานทูตของเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ กำลังดำเนินการนำร่างผู้เสียชีวิตกลับประเทศ ขณะที่คณะทำงานเฉพาะกิจยังคงสอบสวนขอบเขตของเหตุการณ์นี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่าอาจมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม แต่ยังไม่ได้รับการยืนยัน

‘เอกนัฏ’ เยือนญี่ปุ่น คุยตัวต่อ 6 CEO ค่ายรถยนต์ใหญ่ ดึงการลงทุนเพิ่มกว่าแสนล้าน รักษาฐานการผลิตในไทย

(27 พ.ย. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยผลการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายแรกที่ตนอยากไปพบหารือผู้บริหารระดับสูงภายหลังเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และหารือแนวทางการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมทั้งหารือร่วมกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อรับฟังปัญหา และข้อเสนอแนะ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยระบุว่า ในการเข้าพบหารือกับ นายมุโต โยจิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจากทั้งสองประเทศ ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว มีประเด็นสำคัญ คือ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่ METI มีความร่วมมืออันดีที่มีต่อไทย และย้ำถึงความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้หารือแนวทางและมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตในไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) และรถยนต์ไฮบริด (HEV) โดยเฉพาะรถยนต์ที่เป็น Product champion ได้แก่ รถปิคอัพ และ Eco car ที่กำลังถูกดิสรัป (Disrupt) จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (xEV) 

นายเอกนัฏฯ กล่าวว่า ตนและคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประชุมหารือกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้สร้างฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัทแบบตัวต่อตัว (One to One) ณ สำนักงานใหญ่/สำนักงานสาขากรุงโตเกียว โดยได้พบหารือกับผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ โตโยต้า มาสด้า มิตซูบิชิ และอิซูซุ และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า และนิสสัน ซึ่งตนได้แสดงความห่วงใยต่อผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ในประเทศไทยหดตัวลงอย่างมาก สาเหตุหลักเนื่องจาก ความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อของไฟแนนซ์ สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัว รวมทั้ง ปัญหาค่าครองชีพและสัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ที่ส่งผลให้ความต้องการและกำลังซื้อของประชาชนลดลง โดยเฉพาะในสินค้าที่เป็น Product Champions ของไทย ได้แก่ 

รถปิกอัพ และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) โดยล่าสุด กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ปรับเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2567 จากเดิมที่ตั้งไว้ 1.9 ล้านคัน ปรับลดมาเป็น 1.7 ล้านคัน โดยเป็นการปรับลดในส่วนของการผลิตเพื่อตลาดในประเทศ เหลือเพียง 550,000 คัน ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศยังคงยึดเป้าหมายเดิม คือ 1.15 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม ตนได้ให้ความมั่นใจกับผู้ผลิตรถยนต์ทุกรายว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 4 ปี 2567 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับ รัฐบาลได้พยายามปลดล็อคเรื่องการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด และอยู่ระหว่างพิจารณาออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (Stimulus) และการจับจ่ายใช้สอย จึงมั่นใจได้ว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศในปีหน้า (2568) จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

“การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสู่ความยั่งยืน (Sustainable Mobility) รัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาสร้างความสมดุลระหว่างมิติด้านสิ่งแวดล้อมและมิติด้านเศรษฐกิจควบคู่กันไป โดยในมิติด้านสิ่งแวดล้อมรัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพื่อลดปัญหาโลกเดือด (Global Boling) ซึ่งปัจจุบันรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้มีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (EV) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงรถยนต์ที่ได้รับการพัฒนาตามความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ เช่น รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการติดตั้งอุปกรณ์ช่วยลดมลพิษ/ประหยัดพลังงาน รวมทั้ง รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) อีกด้วย ในขณะที่มิติด้านเศรษฐกิจนั้น รัฐบาลมุ่งส่งเสริมรถยนต์สู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมเศรษฐกิจของไทย ผ่านกลไกการกำหนดให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ (Local Content) เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน และสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ ซึ่งการที่จะตอบโจทย์ทั้ง 2 มิติได้นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างระบบนิเวศ (ECO System) และปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ (Infrastructure) ให้มีความสมดุลและเท่าเทียมกัน เพื่อให้รัฐบาลสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 รวมทั้ง เป้าหมายการส่งเสริมให้ฐานการผลิตหลักของประเทศ (ร้อยละ 70) ซึ่งเป็นรถ ICE ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า (xEV) ในอนาคต” นายเอกนัฏฯ กล่าว

นายเอกนัฏฯ พร้อมสานต่อการจัดตั้งกลไกการหารือ Energy and Industrial Dialogue ตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เพื่อยกระดับความร่วมมือในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาการชะลอตัวของอุปสงค์ อุปสรรคทางกฎระเบียบ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และโครงการ Global South Future-Oriented Co-Creation Project เป็นโครงการที่ส่งเสริมความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ร่วมกัน (All-win) ระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยไทยพร้อมสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ขณะที่การพัฒนาบุคลากร ทั้งสองฝ่ายยืนยันที่จะสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะโครงการ LASI, LIPE, และ Smart Monodzukuri ซึ่งมีบุคลากรไทยได้รับการพัฒนาแล้วกว่า 1,800 คน นอกจากนี้ ยังได้แสดงความยินดีต่อญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดงาน World Expo 2025 ในช่วงเดือนเมษายน 2025 ณ จังหวัดโอซาก้า

ด้านนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังแผนการลงทุนในอนาคตของทุกบริษัท รวมทั้งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางหรือมาตรการที่เสนอให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งในส่วนของมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับการผลิตของโรงงาน เช่น มาตรการกระตุ้นตลาด การส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฮบริด (HEV) เป็นต้น และ มาตรการระยะกลางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม เช่น การจัดการซากรถยนต์เก่า (End-of-Life Vehicles) มาตรการรถเก่าแลกรถใหม่เพื่อกระตุ้นตลาด และมาตรการส่งเสริมการส่งออก เป็นต้น 

“ผลการหารือกับผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายญี่ปุ่น ได้รับสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่า ทุกบริษัทยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพการเป็นฐานการผลิตและส่งออกของประเทศไทย และจะมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในการผลิตรถปิกอัพ รถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (ECO Car) และรถยนต์ไฮบริด เพื่อตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก (ทั้งในรูปแบบของ รถยนต์สำเร็จรูป และชิ้นส่วนครบชุด) โดยคาดว่า ในช่วงเวลา 3-5 ปีนี้ มูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 120,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายญี่ปุ่นขอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ให้ชัดเจน และเร่งส่งเสริมการลงทุนโดยเร็ว โดยเฉพาะในโครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดและชิ้นส่วนสำคัญ ซึ่งคาดว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ จะเสนอเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในปีนี้”นายณัฐพลฯ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 21 – 23 พฤศจิกายน 2567 นี้ คณะของกระทรวงอุตสาหกรรม ประกอบด้วย นายเอกนัฏ พร้อมพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย 
ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ที่ปรึกษาประธานกรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ โดยได้หารือกับแต่ละบริษัทแบบตัวต่อตัว (One on One) ระหว่างผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมกับผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัทแม่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่ได้มีการตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย จำนวน 6 บริษัท ประกอบด้วยผู้บริหารระดับ CEO จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ 1.นายอากิโอะ โตโยดะ (Mr. TOYODA Akio), ประธานกรรมการบริหาร, กรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 2.นายมาซาฮิโร โมโร (Mr.MORO Masahiro), กรรมการผู้จัดการ,ประธาน และ CEO บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 3.นายทาคาโอะ คาโตะ (Mr.KATO Takao), กรรมการบริหาร, ประธาน และ CEO บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น 4.นายชินสึเกะ มินามิ (Mr.MINAMI Shinsuke), ประธาน และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีซูซุ มอเตอร์ส ลิมิเต็ด, ญี่ปุ่น  และผู้บริหารระดับ EVP จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ นางอาซาโกะ โฮชิโนะ (Ms.HOSHINO Asako), รองประธานบริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด (NML) และนายชินจิ อาโอยามะ (Mr.AOYAMA Shinji), กรรมการ, รองประธานบริหาร และ กรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น 

จีนที่หนึ่งเที่ยวไทย 6 ล้านคน!! ตามด้วย มาเลเซีย รัสเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ รวมยอด 11 เดือนต่างชาติเที่ยวไทยรวมแล้ว 31 ล้านคน

(27 พ.ย.67) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ถึง 24 พ.ย. 2567 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 31,313,787 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายกว่า 1,466,408 ล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจาก 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 6,096,010 คน มาเลเซีย 4,443,173 คน อินเดีย 1,868,802 คน เกาหลีใต้ 1,647,328 คน และรัสเซีย 1,455,398 คน  

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-24 พ.ย.) นักท่องเที่ยวกลุ่มระยะใกล้ (Short haul) ฟื้นตัวชัดเจน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีสะสมกว่า 6 ล้านคน และชาวเกาหลีใต้ที่เพิ่มขึ้น 14.28% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนกลุ่มตลาดระยะไกล (Long haul) ชะลอตัวตามฤดูกาล แต่คาดว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นในเดือน ธ.ค.  

สัปดาห์นี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 749,306 คน เพิ่มขึ้น 1,362 คน (0.18%) จากสัปดาห์ก่อนหน้า เฉลี่ยวันละ 107,044 คน โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน 122,020 คน มาเลเซีย 81,886 คน รัสเซีย 50,071 คน อินเดีย 46,259 คน และเกาหลีใต้ 38,959 คน  

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (25 พ.ย.-1 ธ.ค.) คาดว่านักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยสำคัญ เช่น ฤดูกาลท่องเที่ยวของกลุ่มตลาดระยะไกล โดยเฉพาะยุโรป มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เพิ่มจำนวนที่นั่งเข้าไทย 10% ตั้งแต่ ก.ค. ถึงสิ้นปี รวมถึงมาตรการอำนวยความสะดวก เช่น การยกเว้นบัตร ตม.6 และการกระตุ้นให้สายการบินเพิ่มเที่ยวบิน

'สุริยะ' ดันต่ออายุรถไฟฟ้า 20 บาท อีก 1 ปี เตรียมเสนอเข้า ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้

(27 พ.ย. 67) ‘สุริยะ’ เตรียมเสนอ ครม.สัญจร 29 พ.ย.นี้ ต่อมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครอบคลุมสายสีแดง และสายสีม่วงอีก 1 ปี มีผลทันทีถึง 30 พ.ย.2568 ขณะที่ พรบ. ตั๋วร่วม คาดเสนอสัปดาห์ถัดไป มั่นใจดึงรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายในราคาเดียวกันตามเป้า ก.ย.ปีหน้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่จังหวัดเชียงใหม่ (ครม.สัญจร) วันที่ 29 พ.ย.นี้ กระทรวงฯ จะเสนอวาระขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ซึ่งมาตรการเดิมจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 พ.ย.2567

โดยการเสนอขออนุมัติขยายมาตรการปรับลดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าดังกล่าว จะครอบคลุมเป็นเวลา 1 ปี โดยมีผลทันทีถึงวันที่ 30 พ.ย.2568 นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่ทำให้เกิดการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงฯ ยังอยู่ระหว่างเดินหน้าขยายมาตรการค่าโดยสาร 20 บาทในเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทุกสีทุกสายภายในเดือน ก.ย.2568

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า การผลักดันมาตรการรถไฟฟ้า 20 บาททุกสีทุกสาย เนื่องด้วยต้องมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... เพื่อจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม จัดหาแหล่งเงินมาชดเชยค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ปรับลดลงให้แก่เอกชนคู่สัญญา จึงจำเป็นต้องรอให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องด้วย โดยกระทรวงฯ คาดว่าจะสามารถเสนอร่าง พรบ.ตั๋วร่วม เพื่อให้ ครม.พิจารณาได้ในวันที่ 3 ธ.ค.นี้ ก่อนผลักดันตามขั้นตอนและมีผลบังคับใช้ตามเป้าหมายในเดือน ก.ย.2568

ทั้งนี้ ภายในร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... จะมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับกองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม ไว้ในมาตรา 29 และมาตรา 30 โดยแบ่งเป็น

มาตรา 29 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนในการดำเนินงาน การพัฒนา และการส่งเสริมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม รวมทั้งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อส่งเสริมและอุดหนุนประชาชนผู้ใช้บริการระบบตั๋วร่วมให้สามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะด้วยความสะดวก โดยมีต้นทุนการเดินทางที่สมเหตุสมผล

2. เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วมของผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากการเข้าร่วมระบบตั๋วร่วม

3. เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกู้ยืมสำหรับดำเนินการลงทุน ปรับปรุง และพัฒนาการให้บริการระบบตั๋วร่วม

แหล่งที่มาของเงินกองทุนฯ มีการกำหนดไว้ใน มาตรา 30 กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้
1. เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้

2. เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้

3. เงินค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาต

4. เงินที่ได้รับตามมาตรา 31 ว่าด้วยให้ผู้รับใบอนุญาตนำส่งเงินเข้ากองทุน

5. เงินที่ได้รับจากผู้ให้บริการขนส่ง เมื่อมีสัญญาสัมปทาน สัญญาร่วมงาน หรือสัญญาร่วมลงทุนแล้วแต่กรณี มีข้อสัญญาให้ผู้ให้บริการขนส่งจะต้องส่งเงินเข้ากองทุน

6. เงินค่าปรับทางปกครองตามมาตรา 40

7. เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้แก่กองทุน

8. ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

ทั้งนี้ เงินอุดหนุนตาม 2 นั้น ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น เงินและทรัพย์สินของกองทุนตามวรรคหนึ่ง ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ลือสะพัดไบเดนทิ้งทวน จ่อมอบนิวเคลียร์ให้ยูเครน

(27 พ.ย.67) นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน แถลงตอบโต้รายงานของ นิวยอร์กไทมส์ ที่อ้างคำพูดเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจพิจารณาส่งมอบอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนก่อนหมดวาระดำรงตำแหน่ง  

เปสคอฟระบุว่า หากรายงานดังกล่าวเป็นจริง ถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบอย่างยิ่ง พร้อมกล่าวว่า “นี่คือการถกเถียงที่ขาดความเข้าใจในความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง และแสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบจากผู้ที่ไม่เปิดเผยตัวตน”  

ขณะเดียวกัน ดมิทรี เมดเวเดฟ เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงระดับสูงของรัสเซีย เตือนว่า หากชาติตะวันตกจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครน รัสเซียจะถือว่าเป็นการโจมตีโดยตรงต่อมอสโก และอาจเป็นเหตุให้รัสเซียตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์  

ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวเมื่อเดือนที่ผ่านมา ว่าการส่งอาวุธนิวเคลียร์ให้ยูเครนและการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต คือวิธีเดียวที่จะป้องปรามรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นครพนม - ผบ.มทบ.210/รอง ผบ.นบ.ยส.24 (2) ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานมอบนโยบาย ข้อสั่งการ และข้อเน้นย้ำ แนวทางการปฏิบัติงานของหน่วย นบ.ยส.24

(27 พ.ย. 67) ที่ห้องประชุม หน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่ายพระยอดเมืองขวาง ตำบลกุรุคุ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม พลตรี ฉัฐชัย มีชั้นช่วง รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) โดยได้รับฟังบรรยายสรุปผลการปฏิบัติงาน  สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่ในห้วง ที่ผ่านมา พร้อมทั้งมอบนโยบาย ข้อสั่งการ และข้อเน้นย้ำ แนวทางการปฏิบัติงาน รวมถึงรับทราบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ เพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการในการพัฒนาความร่วมมือด้านการข่าวในพื้นที่รับผิดชอบสู่แผนการปฏิบัติ พร้อมทั้งให้กำลังใจกับกำลังพลที่เสียสละในการปฏิบัติงานต่อไป

โดยมี พันเอก ศรณณัฐ นวลมณี รองผู้อำนวยการส่วนบัญชาการหน่วยบัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (รอง ผอ.ส่วนอำนวยการ นบ.ยส.24 (5)) พร้อมด้วยส่วนอำนวยการ นบ.ยส.24 ให้การต้อนรับ​ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เรื่อง กำหนดพื้นที่ที่มีความเร่งด่วนจำเป็นเร่งด่วน และผู้รับผิดชอบเพื่อสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งมอบให้กองทัพภาคที่ 2 จัดตั้งหน่วยบัญชาการสกัดกั้น และปราบปราม และยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์  ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นบ.ยส.24) รับภารกิจในการกัดกั้น ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด และแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 25 อำเภอชายแดนของ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย, จังหวัดหนองคาย, จังหวัดบึงกาฬ, จังหวัดนครพนม, จังหวัดมุกดาหาร, จังหวัดอำนาจเจริญ, จังหวัดอุบลราชธานี

พลโท บุญสิน   พาดกลาง แม่ทัพภาคที่ 2/ผู้บัญชาการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด สารตั้งต้น และเคมีภัณฑ์ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24) กล่าวว่าในห้วงที่ผ่านมา มีสถิติการจับกุมตรวจยึดยาเสพติดของ นบ.ยส.24  ภายใน 57 วัน จับกุมผู้ต้องหาเย้ยอำนาจรัฐ  จำนวน  321 คน สกัดกั้นตรวจยึดยาบ้า จำนวน 24,647,483 เม็ด ยาไอซ์ 1,193.548 กิโลกรัม เฮโรอีน 91.83 กิโลกรัม เคตามีน 3.79 กิโลกรัม ยาอี 6 กิโลกรัม ฝิ่น 0.66 กิโลกรัม

ภาพ/ข่าว : นายพรพิพัฒน์   เพ็ชรสังหาร
เด​วิท​ โชคชัย​ มุกดาหาร​ รายงาน​ 092-5259777​

‘ในหลวงร.๗’ พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ | THE STATES TIMES Story EP.158

‘ในหลวงรัชกาลที่ 7’ หรือ ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ทรงมีพระราชกรณียกิจเพื่อปวงชนชาวไทยมากมาย และยังเป็น ‘นักประชาธิปไตย’ เต็มตัว 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร พระองค์ต้องทรงเสด็จออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ จวบจนสวรรคต และที่สำคัญ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

วันนี้ THE STATES TIMES Story ได้รวบรวมเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ 7 พระมหากษัตริย์ไทยผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ
 จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปฟังกัน…

อินโดฯ ปัดดีล Apple ลงทุน 100 ล้านดอลลาร์ ชี้ข้อเสนอน้อยไปเมื่อเทียบที่ลงทุนในไทย-เวียดนาม

(26 พ.ย. 67) รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียเผยว่า ข้อเสนอการลงทุนมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์จาก Apple ยังไม่เพียงพอที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามขาย iPhone 16 ในประเทศ หลังบริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศอย่างน้อย 40% ซึ่งบังคับใช้กับสมาร์ทโฟนทุกแบรนด์ รวมถึง Google  

Apple ยื่นข้อเสนอเงินลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งแบน แต่รัฐมนตรีอากัส กุมิวัง ระบุว่าข้อเสนอนี้ "ไม่เป็นธรรม" เมื่อเทียบกับการลงทุนในไทยและเวียดนาม หรือคู่แข่งอย่าง Samsung และ Xiaomi ที่ลงทุนในอินโดนีเซียถึง 8 ล้านล้านและ 55 ล้านล้านรูเปียห์ตามลำดับ  

Apple เคยให้คำมั่นลงทุน 1.7 ล้านล้านรูเปียห์ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ แต่ยังเหลืออีก 10 ล้านดอลลาร์ที่ต้องส่งมอบตามสัญญาเดิม และต้องปรับแผนลงทุนเพิ่มสำหรับปี 2567-2570  

ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีมาตรการปกป้องเศรษฐกิจในประเทศมาโดยตลอด เช่น บังคับให้ TikTok แยกฟีเจอร์ช็อปปิ้งออกเพื่อปกป้องค้าปลีกจากสินค้าจีน  

ตลาดอินโดนีเซียเป็นที่จับตามองของบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยประชากรหนุ่มสาวและผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนกว่า 350 ล้านเครื่อง การเจาะตลาดระยะยาวในประเทศที่กำลังเติบโตนี้จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับ Big Tech ทั่วโลก


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top