Thursday, 15 May 2025
Hard News Team

จีนเข้มปราบมิจฉาชีพออนไลน์ แบล็กลิสต์ 3 ปี คุกสูงสุด 5 ปี เริ่ม 1 ธ.ค.นี้

(28 พ.ย. 67) ซินหัวของทางการจีนรายงานว่า กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ และธนาคารประชาชนจีน ร่วมออกแนวปฏิบัติใหม่ที่มีชื่อว่า “มาตรการลงโทษการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง” กำหนดเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ธันวาคม 2567 มุ่งยกระดับการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและออนไลน์ของประเทศให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

แนวปฏิบัติดังกล่าวประกอบด้วย 18 บท มุ่งเป้าไปที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมลักษณะต่าง ๆ พร้อมกับกำหนดเกณฑ์ในการระบุตัวผู้กระทำผิดและกำหนดบทลงโทษตามสัดส่วนความผิด แนวปฏิบัติชี้ว่า ผู้กระทำผิดอาจต้องเผชิญกับข้อจำกัดทางการเงิน โทรคมนาคม และเครดิตนานถึง 3 ปี ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการมีส่วนร่วม ส่วนผู้ที่กระทำผิดซ้ำอาจได้รับโทษสูงสุดถึง 5 ปี

เจ้าหน้าที่จีนระบุว่า สาเหตุที่การฉ้อโกงทางโทรคมนาคมและเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะเศรษฐกิจใต้ดินที่สนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมายดังกล่าว ผู้ประกอบการในตลาดมืดและตลาดสีเทาเหล่านี้ให้เช่าหรือขายซิมการ์ดและบัญชีธนาคาร ซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ส่งเสริมการรับส่งข้อมูลออนไลน์ พัฒนาซอฟต์แวร์ และมีส่วนร่วมในแผนการฟอกเงิน

ศาลอาญาโลกเล็งเอาผิด "มิน อ่อง หล่าย" ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

(28 พ.ย. 67) อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เปิดเผยเมื่อวันพุธว่า ได้ยื่นคำร้องออกหมายจับพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพเมียนมา ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากกรณีการประหัตประหารชาวโรฮีนจาที่นับถือศาสนาอิสลาม ตามรายงานของรอยเตอร์  

รัฐบาลทหารเมียนมาตอบโต้ผ่านแถลงการณ์ว่า เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิก ICC และไม่ยอมรับอำนาจศาลหรือคำแถลงใดๆ ของ ICC  

ชาวโรฮีนจากว่าล้านคนต้องลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ ตั้งแต่ปฏิบัติการโจมตีของกองทัพเมียนมาเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม 2017 ซึ่งเจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุว่าเป็น "ตัวอย่างชัดเจนของการล้างเผ่าพันธุ์" โดยรายงานยังชี้ว่าทหาร ตำรวจ และประชาชนบางกลุ่มในเมียนมามีส่วนร่วมในการทำลายหมู่บ้าน ทรมาน สังหารหมู่ และข่มขืนชาวโรฮีนจาในรัฐยะไข่  

เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยยืนยันว่าสิ่งที่ทำเป็นปฏิบัติการทางกฎหมายเพื่อต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธที่โจมตีเจ้าหน้าที่

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาส่วนใหญ่ยังอาศัยอยู่ในค่ายที่แออัดและขาดแคลนในบังกลาเทศ โดยโมฮัมเหม็ด ซูแบร์ นักวิจัยด้านโรฮีนจาในค่ายผู้ลี้ภัย ระบุว่า มิน อ่อง หล่าย คือผู้สั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาผู้บริสุทธิ์ และกองทัพภายใต้การบัญชาของเขาได้สังหารชาวโรฮีนจาหลายพันคน รวมถึงทำร้ายทางเพศผู้หญิงและเด็กหญิงอย่างนับไม่ถ้วน  

นิโคลัส คูมจิอัน หัวหน้าคณะสอบสวนอิสระของสหประชาชาติ กล่าวว่า การร้องขอหมายจับนี้แสดงให้เห็นว่า "ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย" โดยขณะนี้คณะตุลาการ 3 คนของ ICC จะพิจารณาว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการออกหมายจับมิน อ่อง หล่าย  

กระบวนการพิจารณามักใช้เวลาราว 3 เดือน แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจนสำหรับการตัดสินใจในกรณีนี้ 

การขอหมายจับดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางแรงกดดันทางการเมืองต่อ ICC หลังการออกหมายจับผู้นำระดับสูงของอิสราเอล ซึ่งเป็นอีกกรณีที่สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติ

เปิดประวัติ คีธ เคลล็อกก์ อดีตนายพล ทรัมป์ตั้งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำยูเครนคนใหม่

(28 พ.ย.67) โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศว่าเขาได้เสนอชื่อพลเอก คีธ เคลล็อกก์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษประจำยูเครนและรัสเซียคนใหม่ 

"ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เสนอชื่อพลเอกคีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) ให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประธานาธิบดีและทูตพิเศษสำหรับยูเครนและรัสเซีย คีธเป็นผู้นำในอาชีพทหารและธุรกิจที่โดดเด่น รวมถึงรับหน้าที่ด้านความมั่นคงแห่งชาติที่ละเอียดอ่อนในรัฐบาลชุดแรกของผม" ทรัมป์ ระบุว่าแพลตฟอร์ม Truth Social

สำนักข่าวสปุตนิกได้เผยประวัติที่น่าสนใจของนายพลเคลล็อกก์ โดยเขามียศเป็นนายพลสามดาวของกองทัพสหรัฐฯ ที่เกษียณอายุราชการแล้วและได้รับการยกย่องอย่างสูง โดยเขามีประสบการณ์ด้านการทหารและกิจการระหว่างประเทศมากมาย

ก่อนเกษียณเคลล็อกก์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายในปี 2003 คือ ผู้บัญชาการกองบัญชาการ การควบคุม การสื่อสาร และคอมพิวเตอร์ เขายังทำหน้าที่ในตำแหน่งนี้ระหว่างการโจมตีด้วยการก่อการร้ายในวันที่ 11 กันยายนอีกด้วย

ล่าสุด เคลล็อกก์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติให้กับอดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ อีกหลายตำแหน่งในช่วงวาระแรกของทรัมป์

เมื่อเดือนเมษายน เขาร่วมเขียนงานวิจัยที่สนับสนุนการยุติความขัดแย้งในยูเครนด้วยสันติภาพ และเสนอเงื่อนไขในการจัดหาเสบียงทางทหารให้กับยูเครนโดยขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลเคียฟจะเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพกับรัสเซียหรือไม่

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเคียฟสามารถเจรจากับรัสเซียเพื่อเปลี่ยนจากจุดยืนที่แข็งกร้าว และหารือถึง การเก็บภาษีการขายพลังงานของรัสเซียเพื่อจ่ายสำหรับการฟื้นฟูยูเครน

เคลล็อกก์ระบุเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่าการที่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาวอาจทำให้สมาชิกนาโต้บางส่วนซึ่งจ่ายด้านการป้องกันประเทศไม่ถึง 2% ของ GDP อาจเสียสิทธิ์ในการคุ้มกันประเทศหากถูกโจมตีตามมาตรา 5 นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง เขาสามารถจัดการประชุมสุดยอดนาโต้ในเดือนมิถุนายน 2025 เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของพันธมิตร

ตามคำกล่าวของเคลล็อกก์ นาโต้อาจกลายเป็น 'พันธมิตรแบบแบ่งชั้น' ซึ่งสมาชิกบางส่วนได้รับการคุ้มครองมากขึ้น ตามอัตราการบริจาคเงินที่ให้กับนาโต้

พลังงาน - กกพ. ปรับลดค่าไฟฟ้า ม.ค.- เม.ย. 2568 เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่เสนอ 5.49 บาทต่อหน่วย ยืดจ่ายคืนหนี้ กฟผ.-ปตท. ช่วยลดภาระประชาชน

(28 พ.ย. 67) นายสยาม บางกุลธรรม ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์อธิบายถึงการลดค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เม.ย. 2568 จากปัจจุบัน 4.18 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยสรุปใจความสำคัญ ว่า ปัจจุบันค่าไฟหน่วยละ 4.18 บาท และตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 ทาง กกพ. เสนอปรับขึ้นเป็น 5.49 บาท แต่พี่ตุ๋ย- พีระพันธุ์  เสนอที่ 4.15 บาท เพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน และกฟผ.ยังชำระหนี้ได้ 13,000 ล้านบาท สมมติปัจจุบัน ใช้ไฟ 1,000 หน่วย/เดือน เท่ากับจ่ายอยู่ 4,180 บาท ถ้ายึดตามตัวเลข กกพ. ต้องจ่าย 5,490 บาท แต่ถ้าตามตัวเลขที่พี่ตุ๋ย เสนอ เราจะจ่ายเพียง 4,150 บาท ส่วนต่างคือเดือนละ 1,340 บาท”

โดยก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยการพิจารณาค่าไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 แนวทาง ดังนี้

กรณีที่ 1 ค่า Ft เท่ากับ 170.71 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย โดยค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้จะเป็นการจ่ายหนี้คืน กฟผ.ทั้งหมด 85,236 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 131.01 สตางค์ต่อหน่วย) รวมค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับภาคไฟฟ้าปี 2566 หรือ AFGAS ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) จำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.18 สตางค์ต่อหน่วย) รวมทั้งสิ้นจำนวน 154.19 สตางค์ต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่า Ft เท่ากับ 147.53 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับขึ้นเป็น 5.26 บาทต่อหน่วย โดยกรณีนี้ กฟผ.จะได้รับการทยอยชำระหนี้คืน 85,236 ล้านบาท ภายในเดือน เม.ย. 2568

และกรณีที่ 3 กรณีตรึงค่า Ft เท่ากับงวดปัจจุบัน (ข้อเสนอ กฟผ.) เท่ากับ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยคงที่เท่ากับ 4.18 บาทต่อหน่วย ซึ่งกรณีนี้จะทยอยชำระคืนภาระต้นทุนคงค้าง ( AF) ที่ค้างสะสมได้จำนวน 15,094 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 23.20 สตางค์ต่อหน่วย) โดยคาดว่า ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. และรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติ (กฟผ. และ ปตท.) รับภาระแทนประชาชนคงเหลืออยู่ที่ 85,226 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสิ้นสุดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในการประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2567 ได้มีมติเห็นชอบทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และค่าไฟฟ้าเรียกเก็บงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 โดยให้เรียกเก็บลดลงเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย เป็นผลจากการที่ได้มีการทบทวนตัวเลข และประมาณการที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกพ.จะได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป

สื่อแฉไบเดนกดดันยูเครน ลดอายุเกณฑ์ 18 ปี สู้ศึกรัสเซีย

(28 พ.ย.67) สำนักข่าวเอพีรายงานเมื่อวันพุธ โดยอ้างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า สหรัฐฯ เรียกร้องให้ยูเครนเพิ่มกำลังพลด้วยการลดอายุเกณฑ์ทหารจาก 25 ปี เหลือ 18 ปี พร้อมปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายฐานกำลังพลให้เพียงพอต่อการสู้รบกับรัสเซียที่มีกำลังทหารมากกว่า  

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวเผยว่า ยูเครนต้องการกำลังพลเพิ่มอีก 160,000 นาย จากปัจจุบันที่มีกำลังทหารรวมกว่า 1 ล้านนาย แต่สหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกมองว่ายังไม่เพียงพอ และชี้ว่ากำลังพลมีความสำคัญมากกว่าปัญหาอาวุธในสงครามนี้  

ประเด็นการเกณฑ์ทหารยังคงอ่อนไหวในยูเครน ตลอดสงครามที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 3 ปี โดยประชาชนบางส่วนกังวลว่าการลดอายุเกณฑ์จะส่งผลกระทบต่อแรงงานและเศรษฐกิจหลังสงคราม  

ด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่ายูเครนสามารถบริหารจัดการกำลังพลที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแก้ปัญหาผู้หลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหารหรือไม่เข้ารายงานตัว

‘รองนายกฯ ประเสริฐ’ รับมอบตำแหน่งประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2568 บูรณาการความร่วมมือประเทศสมาชิก ผลักดันพัฒนาลุ่มน้ำโขง สู่ ‘ศูนย์กลางความรู้และข้อมูลของอนุภูมิภาค’ เตรียมความพร้อมเผชิญความท้าทายทุกรูปแบบ

เมื่อวานนี้ (27 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ครั้งที่ 31 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 29 ณ เมืองหลวงพระบาง สปป.ลาว ร่วมกับคณะผู้แทนจาก สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ผู้แทนหุ้นส่วนการพัฒนา ประเทศคู่เจรจา และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ พร้อมด้วยคณะผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย นายฉัตริน จันทร์หอม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นางพัชรวีร์ สุวรรณิก ที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ รักษาราชการแทน รองเลขาธิการ สทนช. ผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ สทนช. โดย ฯพณฯ ดร.บุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2567 กล่าวเปิดการประชุม

นายประเสริฐ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ได้ร่วมหารือและกำหนดแนวทางความร่วมมือในการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยได้พิจารณาแผนการดำเนินงาน ปี 2568 - 2569 และรับทราบการดำเนินงานตามแผนฯ ปี 2567 เพื่อรับมือกับความท้าทายในลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความรุนแรงและความถี่มากขึ้น ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางน้ำ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมอันเกิดจากการพัฒนา ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยมีประชาชนกว่าหลายล้านคนในอนุภูมิภาคต้องเผชิญกับอุทกภัย ในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและความยั่งยืนของระบบนิเวศ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าความร่วมมือและความมุ่งมั่นร่วมกันจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้มีความพร้อมในการเผชิญกับความท้าทาย เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับวันพรุ่งนี้ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในโอกาสนี้ ยังได้รับมอบตำแหน่งประธานคณะมนตรี MRC ประจำปี 2568 ซึ่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งของประเทศไทย โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการบูรณาการความร่วมมือ ภายใต้กรอบ MRC ซึ่งเป็นกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ค.ศ. 1995 และยุทธศาสตร์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ค.ศ. 2021 - 2030 โดยเชื่อมโยงสอดคล้องกับกรอบความร่วมมืออาเซียน วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ และความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการสร้างประโยชน์ร่วมกัน ผ่านการมีกลไกการเจรจาหารือและการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ส่งเสริมการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรต่าง ๆ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน คำนึงถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้เกิดการรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการสร้างความยั่งยืนที่แท้จริง

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาสมดุลของระบบนิเวศท้องถิ่น และการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงสนับสนุนการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรร่วมกับการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้สามารถตัดสินใจบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างสอดคล้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันเวลาอย่างเหมาะสม เพื่อลดและบรรเทาผลกระทบข้ามพรมแดนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม อีกทั้งได้ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการตั้งรับ ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและจากการพัฒนาโครงการต่างๆ ในลุ่มน้ำโขงในอนาคต 

“รัฐบาลไทยมุ่งมั่นและสนับสนุนการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างกรอบ MRC กับกลุ่มประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ และกรอบความร่วมมืออื่นๆ ทั้งในระดับอนุภูมิภาค ภูมิภาค และนอกภูมิภาค เพื่อผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวในการขับเคลื่อนการบริหารทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมุ่งหวังให้มีการประสานงานความร่วมมืออย่างใกล้ชิด และบูรณาการการดำเนินงานผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การศึกษา และวิจัยร่วมกัน ผ่านบทบาทของ MRC ในฐานะ ‘ศูนย์กลางความรู้และข้อมูลของอนุภูมิภาค’ เพื่อประโยชน์โดยตรงของประชาชน อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยคำนึงถึงและยึดผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกเป็นสำคัญ ยกระดับให้แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และพร้อมที่จะเผชิญความท้าทายทุกรูปแบบ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี กล่าว 

ขณะที่ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานในภาพรวม การรายงานความก้าวหน้าของกิจกรรม/แผนงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การรายงานการสรรหาและคัดเลือกตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) คนที่ 9 การรายงานการดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติของ MRC การรายงานการติดตั้งสถานีใหม่แล้วเสร็จ และการดำเนินการเครือข่ายหลักในการติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง (Core River Monitoring Network: CRMN) การรายงานความร่วมมือกับหุ้นส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การรายงานการวางแผนระดับภูมิภาคเชิงรุก (PRP) และความก้าวหน้าโครงการศึกษาร่วม การรายงานสถานการณ์สภาพอุตุ-อุทกวิทยาและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขงตอนล่างของปี 2567 นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับกำหนดการประชุมคณะมนตรี MRC ครั้งที่ 32 และการประชุมหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 30 ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมด้วย

อีลอน มัสก์ ชี้ F-35 แพงไปไม่คุ้มใช้งาน แนะทัพสหรัฐพัฒนาโดรนโจมตีแทน เหมือนที่จีน

(27 พ.ย.67) อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อแห่งเทสลาและสเปซเอ็กซ์ ที่ได้รับการเสนอชื่อจากโดนัลด์ ทรัมป์ ให้รับผิดชอบในการตัดงบประมาณรัฐบาลกลาง ได้โพสต์ข้อความวิจารณ์ผ่านแพลตฟอร์ม X เกี่ยวกับการพัฒนาฝูงบินขับไล่รุ่นใหม่ F-35 ว่า เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินไป แพงเกินความจำเป็น และไม่คุ้มค่าต่อการใช้งาน

“การผลิตเครื่องบินที่ยังต้องอาศัยนักบินขับ อย่าง F-35 เป็นสิ่งที่ไม่ฉลาดและล้าสมัยในยุคนี้ เพราะเรามีโดรนที่สามารถทำงานนี้ได้โดยไม่ต้องเสี่ยงชีวิตนักบิน”

มัสก์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การออกแบบ F-35 ล้มเหลว เพราะมันเหมือนกับ 'Rube Goldberg machine' (อุปกรณ์ที่ทำงานง่าย ๆ แต่กลับมีกลไกซับซ้อนเกินไปหรือกระบวนการที่ยืดยาวเกินความจำเป็น) เนื่องจากมันถูกออกแบบให้ทำหลายหน้าที่เกินไป และยังมีราคาสูงเกินไปโดยไม่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่ง

พ.อ. คาเรน ควีตคอฟสกี้ อดีตเจ้าหน้าที่เพนตากอน และนายทหารประจำกองทัพอากาศสหรัฐ เผยต่อสปุตนิกว่า สิ่งที่อีลอน มัสก์ กล่าว มีความถูกต้องเพราะ F-35 แทบจะเป็นเครื่องจักร Rube Goldberg สมัยใหม่

ตามข้อมูลของกลาโหมสหรัฐฯพบว่า โครงการพัฒนา F-35 มีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่สุดโครงการหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

ควีตคอฟสกี้ ยังกล่าวว่า F-35 ได้รับการออกแบบบนพื้นฐานที่เน้นไปการบริโภคอย่างสูญเปล่าและฟุ่มเฟือย ในขณะที่ผู้นำกองทัพสหรัฐชุดปัจจุบันยังคงติดหล่ม ไม่สามารถแก้ปัญหาการด้านงบประมาณได้ 

คำกล่าวของควีตคอฟสกี้ ยังสอดคล้องกับมาริโอ นาฟัล ผู้ทรงอิทธิพลในแพลตฟอร์ม X ที่แสดงความเห็นด้วยกับมัสก์ โดยว่า จีนกำลังสร้างโดรนจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน คนโง่บางคนก็ยังคงสร้างเครื่องบินขับไล่ที่มีคนขับ เช่น F-35

ขณะที่ แมตต์ เกตซ์ อดีตสมาชิกสภาคองเกรสของสหรัฐฯ และผู้ได้รับเลือกจากทรัมป์ให้เป็นอัยการสูงสุด เรียก F-35 ว่า "ที่ทับกระดาษมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์"

แพทย์ฝรั่งเศสใช้หุ่นยนต์จีน ผ่าตัดผู้ป่วยในโมร็อกโก ผ่านเครือข่าย 5 G ทุบสถิติผ่าตัดระยะไกลที่สุดในโลก

(27 พ.ย. 67) ซินหัวรายงานว่า การผ่าตัดข้ามทวีปมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน โดยโยเนส อาฮัลลาล แพทย์ชาวฝรั่งเศสที่อยู่ในนครเซี่ยงไฮ้ เป็นการใช้งานหุ่นยนต์ถูม่าย (Toumai) ที่ช่วยให้สามารถถ่ายภาพแบบเรียลไทม์ที่มีความคมชัดสูง และควบคุมเครื่องจักรจากระยะไกลได้อย่างแม่นยำ โดยมีระยะการส่งข้อมูลแบบสองทางเกิน 30,000 กิโลเมตร สร้างสถิติเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยมนุษย์จากระยะไกลที่มีระยะห่างมากที่สุด

แขนกลการผ่าตัดในโมร็อกโกที่อยู่ในแอฟริกาเหนือ ทำงานตามคำสั่งการทั้งหมดจากคอนโซลควบคุมของแพทย์ในเซี่ยงไฮ้ที่อยู่ในเอเชีย สามารถตัดเนื้อร้ายที่ต่อมลูกหมากออกและเย็บแผลจนเสร็จเรียบร้อย อีกทั้งสามารถรักษาเส้นประสาท-หลอดเลือดและความยาวสูงสุดของท่อปัสสาวะเอาไว้ โดยการผ่าตัดใช้เวลาน้อยกว่า 2 ชั่วโมง และมีความหน่วงทางเดียว (one-way latency) เพียง 100 มิลลิวินาที

นายแพทย์อาฮัลลาลระบุว่า แม้ว่าการส่งสัญญาณวิดีโอแบบเรียลไทม์ครั้งนี้เชื่อมต่อผ่านบรอดแบนด์มาตรฐาน แทนเทคโนโลยี 5G แต่สัญญาณก็ค่อนข้างชัดเจนและราบรื่น หุ่นยนต์ผ่าตัดยังมีความยืดหยุ่น แม่นยำ และเสถียรอย่างมาก ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผ่าตัดที่ซับซ้อนและมีความยากสูง

การผ่าตัดดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่หุ่นยนต์ถูม่ายเคยถูกนำมาช่วยในการผ่าตัดซีสต์ที่ไตแบบแผลเล็กเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างแพทย์ในนครเซี่ยงไฮ้กับผู้ป่วยที่ท่าเรือโคโตนูในเบนินที่อยู่ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีระยะการส่งข้อมูลไป-กลับ 27,000 กิโลเมตร

การผ่าตัดทางไกลช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาโดยศัลยแพทย์ชั้นนำจากทั่วโลกได้มากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ ทั้งยังช่วยให้ศัลยแพทย์อาวุโสสามารถให้คำปรึกษาแก่เพื่อนร่วมงานรุ่นน้องในกระบวนการผ่าตัดที่มีความยากได้ผ่านทางระยะไกล

เหอเชา ประธานบริษัท ไมโครพอร์ต เม็ดบ็อต (MicroPort MedBot) ซึ่งพัฒนาหุ่นยนต์ถูม่ายเผยว่า หุ่นยนต์ถูม่ายถูกนำมาใช้ในการผ่าตัดทางไกลพิเศษ 5G มากกว่า 250 ครั้ง และมีอัตราความสำเร็จที่ร้อยละ 100 โดยมีระยะทางการส่งสัญญาณสะสมกว่า 4 แสนกิโลเมตร

ปัจจุบันหุ่นยนต์ถูม่ายซึ่งได้รับการรับรองกฎระเบียบว่าด้วยความปลอดภัย (CE certification) ของสหภาพยุโรปเมื่อเดือนพฤษภาคม ได้รับอนุมัติให้ใช้ในขั้นตอนการผ่าตัดหลายรายการแล้ว ซึ่งรวมถึงการผ่าตัดระบบทางเดินปัสสาวะ การผ่าตัดทั่วไป การผ่าตัดทรวงอก และการส่องกล้องทางนรีเวช

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หุ่นยนต์ผ่าตัดได้กลายมาเป็นแนวโน้มใหม่สำหรับกลุ่มสตาร์ทอัปเทคโนโลยีของจีน รายงานวิจัยอุตสาหกรรมล่าสุดระบุว่า ตลาดหุ่นยนต์ผ่าตัดของจีนจะมีขนาดใหญ่ถึง 38,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.33 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2569 คิดเป็นอัตราการเติบโตรายปีที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมาก

มีการคาดการณ์ว่า การใช้งานเครือข่าย 5G ที่แพร่หลายในจีนจะขยายศักยภาพของตลาดหุ่นยนต์สำหรับการผ่าตัดทางไกลอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การผ่าตัดทางไกลเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและเข้าถึงได้มากขึ้นในบริการด้านการดูแลสุขภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีน ระบุว่าจีนมีสถานีฐาน 5G มากกว่า 4 ล้านแห่ง เมื่อนับถึงสิ้นเดือนสิงหาคม

เปิดจดหมายปู่บัฟเฟตต์ ตั้งใจบริจาค 1.1 พันล้านดอลลาร์ สานต่อการกุศล ไม่หวังลูกหลานบริหารความรวยต่อ

(27 พ.ย.67) วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับโลกและผู้ก่อตั้งบริษัทเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ (Berkshire Hathaway) แสดงจุดยืนของเขาในฐานะที่มีแนวคิดต่างจากมหาเศรษฐีทั่วไปอีกครั้ง โดยการยืนยันว่าจะไม่ส่งต่อทรัพย์สินที่มีอยู่มหาศาลให้กับลูกหลานทายาท แต่เลือกที่จะบริจาคให้การกุศลแทน พร้อมแต่งตั้งดูแลทรัพย์สินอิสระ 3 คน เพื่อให้มั่นใจว่าทรัพย์สินของเขาจะถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  

ในจดหมายของบัฟเฟตต์ ที่เขียนถึงกลุ่มผู้ถือหุ้น นักลงทุนระดับตำนาน วัย 94 ปี ได้สะท้อนถึงความเป็นไปได้ของชีวิตเขาในช่วงบั้นปลาย โดยกล่าวว่า ครั้งหนึ่งที่เขาหวังว่าภรรยาคนแรกของเขาจะมีชีวิตยืนยาวกว่าและตัดสินใจเรื่องการกระจายทรัพย์สินหลังจากเขาจากไป "เวลาชนะเสมอ แต่สำหรับเขามักจะไม่แน่นอน แน่นอนว่ามันไม่ยุติธรรมและโหดร้ายมาก บางครั้งถึงขั้นจบชีวิตตั้งแต่แรกเกิดหรือหลังจากนั้นไม่นาน ในขณะที่บางคนก็ต้องรอเป็นศตวรรษก่อนเวลาที่พลัดพรากจะมาเยี่ยมเยียน" 

ในจดหมายที่มีความยาวเกือบ 1,300 คำ บัฟเฟตต์กล่าวว่าเขาหวังว่าลูก ๆ ทั้งสามของเขา ได้แก่ ซูซี ฮาวเวิร์ด และปีเตอร์ บัฟเฟตต์ ซึ่งมีอายุ 71, 69 และ 66 ปี จะมีชีวิตอยู่นานพอที่จะตัดสินใจได้ว่าทรัพย์สมบัติของพ่อของพวกเขาจะบริจาคให้กับองค์กรการกุศลใด เมื่อบัฟเฟตต์เสียชีวิต พวกเขาจะได้รับมอบหมายให้ การตัดสินใจเป็นเอกฉันท์ว่าจะบริจาคทรัพย์สมบัติของพ่ออย่างไร

“ผมไว้ใจลูกทั้ง 3 อย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับคนรุ่นต่อไป ผมไม่อาจคาดเดาความสามารถและความซื่อสัตย์ในการบริหารทรัพย์สินได้” 

บัฟเฟตต์ วางแผนไว้ว่า หากในกรณีที่ลูกๆ ทั้งสามคนของเขา ไม่สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวได้ หรือไม่สามารถดูแลทรัพย์สินของเขาตามเจตนารมณ์ได้ เขาได้แต่งตั้งผู้ดูแลทรัพย์สินที่อาจสืบทอดตำแหน่งอีก 3 คน (กองทรัสตี้ 3 คน) แต่ไม่ได้ระบุชื่อว่าเป็นใคร

ในจดหมายบัฟเฟตต์ยังระบุอีกว่า เขาจะเปลี่ยนหุ้น Class A จำนวน 1,600 หุ้นของบริษัทให้เป็นหุ้น Class B จำนวน 2.4 ล้านหุ้น ซึ่งมีสิทธิในการลงคะแนนน้อยกว่า โดย 1.5 ล้านหุ้นจะถูกบริจาคให้กับมูลนิธิซูซาน ทอมป์สัน บัฟเฟตต์ ซึ่งตั้งชื่อตามภรรยาคนแรกของเขาที่เสียชีวิต และอีก 300,000 หุ้นจะถูกแบ่งให้กับสามมูลนิธิที่บริหารโดยลูก ๆ ทั้ง 3 คน รวมมูลค่าเกือบ 1.2 พันล้านดอลลาร์ (ราว 41,500 ล้านบาท) 

“อายุขัยของลูก ๆ ของผมลดลงอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2006 ผมไม่เคยต้องการสร้างอาณาจักรความมั่งคั่งหรือแผนการใด ๆ ที่ยาวไปเกินลูก ๆ ของผม”

บัฟเฟตต์ ระบุในจดหมายว่า หากในวันที่เขาลาโลกและลูก ๆ ยังคงมีความสามารถในการจัดการทรัพย์สิน เขาตั้งใจให้ลูก ๆ กระจายหุ้น Berkshire ทั้งหมดของเขาซึ่งคิดเป็น 99.5% ไปในการบริจาคด้านการกุศลตามองค์กรต่าง ๆ

“ผมไม่เคยต้องการสร้างอาณาจักรความมั่นคงหรือดำเนินการตามแผนเพื่อความร่ำรวยใด ๆ ที่จะขยายออกไปไกลเกินกว่าลูกๆของผมจะบริหารได้”

ทั้งนี้ ตามรายงานของฟอส์บส์ระบุว่า ตลอดชีวิตของบัฟเฟตต์ น่าจะมหาเศรษฐีเป็นผู้ใจบุญมากที่สุดตลอดกาล โดยเขาได้บริจาคเงินมากกว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ให้กับองค์กรการกุศลต่าง ๆ ตลอดชีวิตของเขา จากการประเมินของฟอส์บส์ บัฟเฟตต์เป็นมหาเศรษฐีที่มีความร่ำรวยสุทธิราว 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เขาเป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดอันดับ 6 ของโลก

'การบินไทย' ขายหุ้นเพิ่มทุน 4.48 บาท ระดม 44,000 ล้านบาท 6-12 ธ.ค.นี้ มั่นใจเดินหน้าตามแผนฟื้นฟูกิจการ

(27 พ.ย.67) 'การบินไทย' เผยผลตอบรับการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการดีเกินคาด มีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมทะลัก 3 เท่าตัว เดินหน้าสู่เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนอีก 9,822.5 ล้านหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงาน และ Private Placement มูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่าง 6-12 ธันวาคม 2567

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การบินไทย ขอขอบคุณทุกการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตลอดระยะเวลาในช่วงฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา ที่ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการนำพาการบินไทยบรรลุผลสำเร็จที่คาดหวังไว้ เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับฝูงบินและเส้นทางการบิน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่เปี่ยมศักยภาพกว่าที่เคย ในวันนี้การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วย (1) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น 

โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 และ (2) การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท พร้อมทั้ง (3) การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่ายรวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น 

โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ ตามลำดับ จะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาเสนอขายเดียวกันต่อไป โดยการกำหนดราคาดังกล่าวที่กำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความเหมาะสม โดยการพิจารณาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การประเมินมูลค่ายุติธรรม ทั้งจากวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนตลาด (Market Comparable Approach) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Enterprise Value to EBITDA Ratio: EV/EBITDA) อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) และวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดของกิจการ (Discounted Cash Flow) ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ความเสี่ยงของนักลงทุนจากการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้นจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”

นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลประกอบการของการบินไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 แสดงถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าในการฟื้นฟูกิจการ โดยมีจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) อยู่ที่ 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากแผนฟื้นฟูกิจการที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า  

ในส่วนของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีกำไร 29,330 ล้านบาท EBITDA ของงวดนี้อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท เทียบกับ 37,590 ล้านบาทในปีก่อน การลดลงดังกล่าวเกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เช่น ค่าซ่อมบำรุงอากาศยานที่สูงขึ้นตามจำนวนเครื่องบินใหม่ ค่าบริการการบินที่เพิ่มขึ้นทั้งจากจำนวนเที่ยวบินและอัตราค่าบริการต่อเที่ยว ตลอดจนค่าใช้จ่ายด้านการขายและโฆษณาที่เพิ่มตามปริมาณการจองเที่ยวบิน  

อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าการลงทุนเหล่านี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และช่วยให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top