ตร. ขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยกันป้องกันเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์
(29 ก.ย.2564) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้มี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น
ในปัจจุบัน เด็กหรือเยาวชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและโลกอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ในหลายรูปแบบ เพราะด้วยวัยที่ยังเป็นเด็ก ยังขาดในเรื่องของการใช้ความระมัดระวัง จึงอาจตกเป็นเป้าหมายที่หลอกล่อง่าย ในขณะที่ผู้ปกครองบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทำให้ไม่สามารถให้ความรู้หรือคำแนะนำแก่เด็กเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบของอาชญากรรมออนไลน์ที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ต่อเด็กหรือเยาวชน ดังนี้...
1.การเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีลักษณะเนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น ลามกอนาจาร การพนัน หรือการใช้ความความรุนแรงในลักษณะต่างๆ เป็นต้น แต่เนื่องจากเด็ก เยาวชนอาจยังขาดวุฒิภาวะในการแยกแยะข้อมูลที่ได้รับว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ จึงอาจเกิดการรับรู้หรือเรียนรู้ในเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวก่อนวัยอันควร และมีโอกาสที่จะมีพฤติกรรมเลียนแบบกลายเป็นคนชอบใช้ความรุนแรง เสพติดการพนัน หรือเกิดการเลียนแบบทำให้เกิดการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียนได้
2.การถูกหลอกเอาภาพที่ไม่เหมาะสมของเด็กและอาจนำไปสู่การบ่วงละเมิดทางเพศเด็ก เนื่องด้วยเด็กอาจจะขาดความระมัดระวังในการติดต่อสื่อสารทางสื่อสังคมออนไลน์กับบุคคลอื่น อาจทำให้เด็กถูกหลอกลวงจากคนร้ายที่แฝงตัวมาเป็นเพื่อนโลกออนไลน์ได้ง่าย ซึ่งอาชญากรรมส่วนใหญ่ที่เด็กตกเป็นเหยื่อในการหลอกลวงทางออนไลน์ คือการที่คนร้ายหลอกให้เด็กส่งภาพหรือวิดีโอคอลกับคนร้าย ในลักษณะที่เด็กไม่ได้สวมเสื้อผ้า หรือให้ถ่ายภาพในลักษณะลามกส่งให้คนร้าย จากนั้นคนร้ายก็จะติดต่อหาผู้ปกครองเพื่อข่มขู่เอาเงิน หรือนำภาพของเด็กที่ได้ไปขายตามเว็บไซต์ต่าง ๆ นอกจากนี้อาจมีการหลอกลวงให้เด็กไปพบและมีการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก
3.การถูกหลอกลวงในการซื้อสินค้า บริการหรือ ไอเทมเกม จะเกิดขึ้นกับเด็กที่ผู้ปกครองเปิดบัญชีธนาคารออนไลน์ให้กับเด็ก หรือ ผูกบัตรเครดิตกับโทรศัพท์ที่เด็กใช้งาน เนื่องด้วยการซื้อสินค้า บริการ หรือ ไอเทมเกมในปัจจุบันมีขั้นตอนในการชำระเงินที่ง่ายมาก ดังนั้นหากผู้ปกครองไม่ระมัดระวัง ไม่กำหนดมาตรการในการชำระเงินที่รัดกุม อาจทำให้เด็กถูกล่อลวงได้
4.การล่วงละเมิดบุคคลอื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ ด้วยการกลั่นแกล้งระรานในโลกไซเบอร์ (Cyberbullying) การทะเลาะหรือล้อเลียน กลั่นแกล้งดังกล่าวระหว่างเพื่อนของเด็กหรือคนรู้จักมักเกิดขึ้นได้ง่าย และข้อมูลที่กลั่นแกล้งอาจกระจายเป็นวงกว้าง อาจทำให้บุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจจนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าจนอาจนำไปสู่เหตุการณ์ร้ายแรงอย่างอื่นได้ และแม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นเด็กก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้
